Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2563
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
17 มิถุนายน 2563
 
All Blogs
 

น่าน น้าน นาน (3)

ได้เวลาออกไปต่างอำเภอแล้วครับ

วันนี้มีคิวเดินทางไปยังที่พัก อ.ปัว แต่ทว่า ไม่ใช่ตรงไปยังที่นั่น มันง่ายไป ระดับเราต้องใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1169 น่าน - สามแยกบ้านดู่พงษ์ อ.สันติสุข



หลังจากที่โรงเรียนและส่วนราชการต่างๆ เริ่มทำงานกันแล้ว สองคนพี่น้องล้อเริ่มหมุนออกจากที่พัก ข้ามสะพานพัฒนาภาคเหนือ ไปยังวัดพระธาตุแช่แห้ง พระอารามหลวง ตั้งอยู่ที่ ต.ม่วงตึ๊ด อ.ภูเพียง อยู่ฝั่งตะวันออกแม่น้ำน่านนี้เอง

เมื่อ พ.ศ.1896 พญาการเมือง เจ้าผู้ครองนครน่าน (องค์ที่ 5) ได้รับพระราชทานพระบรมสารีริกธาตุรวม 7 องค์ พร้อมด้วยพระพิมพ์ทองคำ 20 องค์ พระพิมพ์เงิน 20 องค์ จากพระเจ้าไสลือไท กษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัย

พระเถระชั้นผู้ใหญ่ พิจารณาเห็นว่า ดอยภูเพียงแช่แห้ง เป็นชัยภูมิดี จึงอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ พร้อมด้วยพระพิมพ์ทอง พระพิมพ์เงิน ไปยังดอยภูเพียงแช่แห้ง ประจุลงในเต้าปูน ทองสำริด แล้วพอกด้วยสะตาย (ปูนขาวผสมยางไม้) แล้วขุดหลุมลึก 1 วา อาราธนาพระบรมสารีริกธาตุ ประจุไว้ในหลุมกลบดินแล้วก่อเจดีย์สูง 1 วา ทับไว้อีกชั้น

ในกาลต่อมาจึงย้ายเมืองวรนคร (นครน่าน) จากท้องที่อำเภอปัว (ในปัจจุบัน) มาสร้างเมืองใหม่ขึ้นที่เชิงดอยภูเพียงแช่แห้ง ทรงขนานนามตามชื่อดอยว่า “เมืองภูเพียงแช่แห้ง” สืบมา

พญาการเมือง ปกครองเมืองใหม่นี้ได้เพียง 5 ปี ก็ถึงแก่พิราลัย พญาผากองผู้เป็นโอรส ได้ขึ้นครองเมืองสืบมาอีก 6 ปี เห็นว่าที่ตัวเมืองภูเพียงแช่แห้งเป็นที่กันดารน้ำในฤดูแล้ง ชัยภูมิริมฝั่งแม่น้ำน่านฝั่งตรงข้าม คือ บริเวณห้วยไคร้ ห่างจากเดิมไปทางทิศตะวันตก ประมาณ 60 เส้น เป็นที่เหมาะสมกว่า

ปี พ.ศ.1911 พญาผากองจึงอพยพไพร่พล ประชาชน ข้ามลำน้ำน่าน มาตั้งเมือง คือที่ตั้งตัวเมืองน่าน หรือจังหวัดน่านในปัจจุบัน

กิ่งอำเภอภูเพียงจึงตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของจังหวัดน่าน โดยแยกออกจากอำเภอเมืองน่านตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 1 มิถุนายน 2540 มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2540 ได้รับยกฐานะเป็นอำเภอตามพระราชกฤษฎีกา ประกาศในพระราชกิจจานุเบกษาฉบับกฤษฎีกา เล่ม 124 ตอนที่ 46 ก. ลงวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ.2550 โดยมีผลบังคับเมื่อพ้นสิบห้าวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งส่งผลมีฐานะเป็นอำเภอตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน พ.ศ.2550 เป็นต้นไป

Cr. ภาพประกอบจาก Google Earth



วัดพระธาตุแช่แห้ง อยู่ห่างจากตัวเมืองออกไปประมาณ 3 กิโลเมตร องค์พระธาตุตั้งอยู่บนเนินเขาลูกเตี้ยๆ เป็นสีทองสุกปลั่ง สามารถมองเห็นได้แต่ไกล เนื่องจากสูงถึง 2 เส้น เป็นอนุสรณ์ของความรักและความสัมพันธ์ ระหว่างเมืองน่านกับเมืองสุโขทัยในอดีต

ปัจจุบันทางมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตั้งวิทยาเขตน่าน อยู่ที่นี่ด้วย



เข้านมัสการพระประธานในพระอุโบสถเพื่อความเป็นศิริมงคลแก่ตัวเองกันก่อน



องค์พระธาตุตั้งอยู่บนเชิงเนินปูด้วยอิฐสวยเด่น เป็นสง่าตั้งแต่ไกลครับ

พระธาตุแช่แห้ง เป็นพระธาตุประจำนักษัตรคนที่เกิดปีเถาะ (กระต่าย)  มีงานฉลองพระธาตุประจำปี ราวกลางเดือนหกฝ่ายเหนือ ซึ่งตรงกับเดือนสี่ฝ่ายใต้



มองลงมาตามทางลาดที่ขึ้นไปยังยอดเนิน ซึ่งกว้างประมาณ 20 วา มีบันไดนาคขนาบทั้งสองข้าง เรียกว่าทหารเดินเรียงหน้ากระดานแถวละ 100 คน ยังเดินขึ้นไหว ไม่แออัด

ภายหลังทางจังหวัดได้ทำถนนลาดยางเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ขึ้นมานมัสการ



ไม่เกี่ยวกับคนประจำปีเกิดนักษัตรปีเถาะ แต่ขอเป็นนางแบบที่วัดพระธาตุแช่แห้งเฉยๆ 



จากวัดพระธาตุแช่แห้ง พระอารามหลวง ผมก็วนเวียนดูที่ว่าการอำเภอภูเพียงและส่วนราชการประจำอำเภอ ก่อนที่จะขับตามเส้นทางหลวงชนบทผ่านสี่แยกบ้านม่วงตึ๊ด โดยไม่คาดฝัน

รีบจอดรถข้างรั้วโรงเรียนบ้านม่วงตึ๊ด แล้วบันทึกภาพเป็นที่ระลึกว่า เรานี้ได้มาถึงแล้ว หลังจากคาใจกับชื้อ "ม่วงตึ๊ด" นี้มานาน  เป็นหมู่บ้านหนาแน่นทีดียว ยังมีฐานะเป็น อบต.ยังไม่ยกระดับเป็นเทศบาลตำบลแต่อย่างใด



แถมวัดม่วงตึ๊ดให้อีกรูปหนึ่งครับ



หลังจากแวะร้านริมทาง หามื้อเช้าใส่ท้องกันแล้ว ก็เข้าเมือง เติมน้ำมันเต็มถัง ก่อนที่จะข้ามสะพานกลับมาใหม่  แต่คราวนี้เลี้ยวซ้ายใกล้เชิงสะพานฝั่งตะวันออก สู่ทางหลวงหมายเลข 1169 ไปยังบ้านดู่พงษ์ อ.สันติสุข และ อ.แม่จริม ต่อไป

Cr. ภาพประกอบจาก Google Earth



ผมเข้าใจว่าเส้นทางสายนี้แต่เดิม คงเป็นเส้นทางในหมู่บ้านที่มีชุมชนสองข้างทางหนาแน่น และเส้นทางคดเคี้ยว จนต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษเวลาขับรถผ่าน  ภายหลังกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำน่านทางด้านเหนือของตัวจังหวัด ทำให้จำนวนรถบรรเทาลงไปได้มาก

Cr. ภาพประกอบจาก Google Earth



พอออกจากย่านชุมชน ถนนรีบขยายออกเป็นสี่เลนทันใด จนกระทั่งถึงสามแยกเส้นทางข้ามสะพานนครน่านพัฒนา สู่ตัวเมืองน่านด้านเหนือ บริเวณโรงพยาบาลน่าน

Cr. ภาพประกอบจาก Google Earth



ค่อยโล่งใจหน่อย แต่พอข้ามสะพานนครน่านพัฒนา มองหาที่จอดรถ พบว่าเป็นที่จอดแบบเสียสตางต์เรียบร้อยแล้ว มีผู้มาอุดหนุนคับคั่ง เช่นกับโรงพยาบาลประจำจังหวัดทั่วไป

Cr. ภาพประกอบจาก Google Earth



เลี้ยวซ้ายไปตามถนนผ่านบริเวณโรงพยาบาล หมายใจจะหาที่กลับรถ เลยได้ที่กลับรถเหมาะๆ ในวัดพระเนตรนี่แหละ  สังเกตว่าวัดในเขตเทศบาลเมืองน่าน ล้วนแต่สะอาด แถมมีดอกไม้ประดับตามบริเวณวัดสวยงามอีกด้วย



ขอแวะนมัสการองค์พระประธานในพระอุโบสถกันเล็กน้อย



ย้อนกลับมาคราวนี้ ได้ที่จอดเหมาะๆ ใกล้เชิงสะพานนครน่านพัฒนา แล้วลงทุนเดินข้ามสะพานอีกนิดหนึ่ง



เข้าใจว่า เป็นโครงการขุดลอกแม่น้ำน่านข่วงผ่านตัวเมืองให้กว้างขึ้นจากอุทกภัยที่ผ่านมา ซึ่งมีสิ่งกีดขวางลำน้ำ ทำให้น้ำไหลไม่สะดวก



มองไปทางด้านใต้ครับ

ชาวน่านเล่าให้ฟังว่า ในช่วงหน้าฝน หากมีข่าวน้ำท่วมที่ อ.ท่าวังผา แล้ว ชาวเมืองจะมีเวลาโยกย้ายข้าวของไปอยู่ชั้นบนภายในเวลา 48 ชม. เพราะน้ำท่วมจะไหลมาถึงตัวเมืองแน่นอน



ตัวสะพาน จะมีชานยื่นออกไปเพื่อติดตั้งอุปกรณ์วัดระดับน้ำเบื้องล่าง หรือเป็นจุดชมวิวไม่อาจทราบได้ แต่น้องผมของจองไว้เป็นชัยภูมิถ่ายภาพล่ะ

ต้องตามใจเขาหน่อย เพราะเป็นสปอนเซอร์รายใหญ่ แถมมีโอกาสมาเที่ยวน่านอย่างจริงจังคราวนี้เอง



จากฝั่งใต้ ย้ายมาฝั่งเหนือบ้าง ก่อนที่จะออกเดินทางกันต่อไ



เส้นทางตอนนี้จะเริ่มขึ้นเขา เป็นการเตือนให้ซ้อมฝีมือถึงทางโค้งหลายหลากข้างหน้า  มีป้ายเตือนระวังน้ำยางหกด้วยนะ

Cr.ภาพจาก Google Earth



สามแยกบ้านดู่พงษ์ อ.สันติสุข หากเลี้ยวซ้าย จะไปยัง อ.ปัว และ อ.บ่อเกลือ ถ้าเลี้ยวขวา จะไปยัง อ.แม่จริม

ถ้าเป็นสมัยก่อน จะเป็นเส้นทางสายยุทธศาสตร์ ตัดสู่พื้นที่สีแดงของ ผกค. เพื่อตัดเส้นทางลำเลียง และนำความเจริญเข้าสู่พื้นที่ท่างไกล ซึ่งเรียกว่า "ถนนถึงไหน คอมมิวนิสต์พ่ายที่นั่น" นั่นแหละ

Cr.ภาพจาก Google Earth



วิ่งมาได้ไม่นาน จะถึงสามแยก ต.อวน อ.ปัว โดยแยกซ้าย จะไปยัง ต.ศิลาเพชร อ.ปัว ใกล้ที่พักในคืนนี้ของผมกับน้อง

ถ้าแยกขวา จะเป็นเส้นทางไปยัง อ.บ่อเกลือ ลัดเลาะชายแดน ไทย - สปป.ลาว บริเวณเทือกเขาหลวงพระบาง สู่ อ.เฉลิมพระเกียรติ

โดยมีป้ายเตือนไว้ตั้งแต่แรกเห็นว่า เส้นทางบนเขาคดเคี้ยว ลาดชัน โปรดระมัดระวังในการขับรถ ระยะทางบอกไว้ตามป้ายว่า อ.เฉลิมพระเกียรติ 77 กม.

เราจะเลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 1081 อ.ปัว - อ.เฉลิมพระเกียรติ ที่ ต.อวน อ.ปัว ลัดเลาะไปตามไหล่เขาสู่ อ.บ่อเกลือ ชมบ่อเกลือโบราณที่นั่น 

ถ้าวิ่งตามปกติ คงใช้เวลาประมาณชั่วโมงเศษ แต่เอาเข้าจริง เป็นกิโลแม้ว เพราะเป็นเส้นทางบนเขา จึงไม่มีรถบรรทุกขนาดใหญ่วิ่งผ่านเส้นทางสายนี้ มีเพียงรถบรรทุกหกล้อกลางเท่านั้น

Cr.ภาพจาก Google Earth



ลัดเลาะไปตามเขาชายขอบอุทยานแห่งชาติดอยภูคาอยู่พักหนึ่ง จะเห็นจุดชมวิว

น้องสาวผมตาไว อาจทำการบ้านมาดีก็ได้ รีบบอกให้จอดรถ ก่อนคว้ากล้องเดินดุ่มๆ ไปเก็บรูปที่อยู่ด้านขวาล่างของภาพ



ผมยกกล้องถ่ายรูปตามหลัง ถึงรู้ว่าตัวเองมาถึงจุดชมวิว โค้งเลข 3 บนเส้นทางหมายเลข 1081 แทบไม่รู้ตัว  ถ้าขับรถมาคนเดียว คงเลยไปแล้วก็ได้



มาหยุดชมวิวอีกจุดหนึ่ง ที่ กม.48 บนเส้นทางสายนี้ ขาเที่ยวทั้งหลายขนานนามว่า จุดชมวิวโคตรสูง ชายขอบอุทยานแห่งชาตดอยภูคา อ.ปัว แต่ฝุ่นลูกรังละเอียดดีจัง



มองไปยังถนนเบื้องล่างที่ลัดเลาะขึ้นมา สมชื่อที่เขาตั้งว่า จุดชมวิวโคตรสูงจริงๆ



ขอเก็บภาพเป็นที่ระลึกกันหน่อย ร้านข้างหลังนั้น จะเปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวช่วงวันหยุดยาว  แต่ตอนนี้นักท่องเที่ยวมีน้อย ร้านเลยปิด



จอดอ่อยเหยื่อได้สักพัก มีรถอีกคันมาจอดพรืดอยู่ข้างๆ สงสัยเอาเราเป็นเพื่อนกระมัง ? หรือว่าวิวคงสวยก็ไม่ทราบ ฮ่า...



ลัดเลาะไปตามไหล่เขาจนถึงเวลาราวห้าโมงเช้า เข้าเขตชุมชนอำเภอบ่อเกลือ โดยที่ทำการอำเภอและส่วนราชการจะอยู่บนเนินเขาด้านขวามือ  หากตรงไปอีกนิดหนึ่ง จะมีเส้นทางลงจากถนนใหญ่ด้านซ้ายสู่บ่อเกลือโบราณ ต.บ่อเกลือเหนือ อ.บ่อเกลือ

ผมคิดว่า แถวนี้คงรู้สึกถึงแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ใน สปป.ลาว เมื่อไม่นานมานี้แน่ๆ จนถึง อ.เฉลิมพระเกียรติ นั่นแหละ



ที่จอดรถ กว้างขวางพอรับรถของผู้มาเยือนได้สะดวก



มองมุมกว้างจากที่จอดรถครับ



ขอดูป้ายบรรยายความเป็นมาของบ่อเกลือโบราณกันสักหน่อย



ตามจริงแล้วมีป้ายบรรยายเรื่องราวของบ่อเกลือโบราณนี้เช่นกัน แต่ตัวอักษรเล็ก ไม่เหมาะกับสายตาคนแก่เช่นผม เลยขอสละสิทธิ์



จบสรุปคำบรรยายจากที่ว่าการอำเภอบ่อเกลือเพียงแค่นี้ เรารีบสาวเท้าก้าวเข้าไปดูข้างในดีกว่า



เริ่มจากศาลเจ้าพ่อชายคำ ผู้คุ้มครองปกปักรักษาบ่อเกลือโบราณแห่งนี้ ตามความเชื่อของชาวบ้าน



บ่อเกลือโบราณ ที่ยังมีการต้มเกลืออยู่ และรูปปั้นวัวต่างในสมัยโบราณ ที่ขนสินค้ามาแลกเปลี่ยนกับเกลือจากบ่อนี้



เห็นรูปปั้นวัวต่างแล้ว นึกถึงภาพป้ออุ๊ยผมสมัยยังหนุ่มตามขบวนวัวต่างจากพะเยาไปลำปาง ต้องค้างระหว่างทางถึง 3 คืนด้วยกัน  บางครั้งต้องเดินทางรอนแรมไปถึงเชียงรายก่อนที่จะกลับบ้าน

ครอบที่ปากวัวนั้น สวมไว้เพื่อมิให้วัวหยุดเล็มหญ้าระหว่างทาง อันเป็นเหตุให้การเดินทางล่าช้า



ดูให้ชัดๆ แยกส่วนเลยนะครับ มีป้ายห้ามปีนขอบบ่อด้วย

ผมคิดว่า นอกจากจะทำให้บ่อสกปรกแล้ว หากพลัดตกลงไป คงอีกนานจะมีคนมาช่วย แถมน้ำในบ่อยังเป็นน้ำเค็มอีกด้วย




ลองก้มดูภายในบ่อสักหน่อย

มีวงบ่อ ติดรั้วรอบขอบชิดกันไม่ให้สัตว์เลี้ยงเข้าไปใกล้บ่อ  แต่ไม่มีท่อสูบน้ำจากบ่อขึ้นมาข้างบนแม้แต่ท่อนเดียว คงใช้วิธีนำถังพลาสติกผูกคันโพงลงไปตักน้ำในบ่อลงใส่รางไม้ข้างนอกเท่านั้น

น้องผมให้ข้อมูลว่า บ่อเกลือโบราณแห่งนี้จะหยุดต้มเกลือในช่วงวันเข้าพรรษา  อาจเป็นเพราะมีน้ำฝนไหลลงไปปนน้ำในบ่อมาก เสียเวลาต้ม เลยหยุดพักดีกว่า



ขอเข้าห้องน้ำแป๊บหนึ่ง มีเครื่องกั้นหยอดเหรียญอัตโนมัติ ราคาครั้งละ 3 บาทด้วยสิ ไม่ต้องหาพนักงานมาเฝ้าอีกต่อไป

กองฟืนนั้น กองไว้เพื่อเป็นเชื้อเพลิงต้มเกลือครับ



กอไผ่ซาง สร้างบรรยากาศที่เป็นธรรมชาติจนบอกไม่ถูก



กลับเข้าไปชมที่โรงต้มเกลือกันใหม่ เตานี้คงเริ่มต้ม ยังได้เกลือน้อยอยู่



แต่เตานี้ เกลือเต็มตะกร้าเลย เขาปล่อยให้น้ำเกลือหยดลงสู่กระทะ จนกว่าเกลือจะเแห้งดีครับ



ผลผลิตที่ได้จากเตาเกลือโบราณแห่งนี้ มีตั้งแต่เกลือผสมไอโอดิน เกลือผสมเนื้อ และมาแรงก็เกลือสปา

น้องผมบอกหลังจากได้มีโอกาสคุยกับลุงทีเข้าเวรต้มเกลือว่า ทางเจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้มาแนะนำให้ผสมไอโอดินลงในเกลือ ปรากฎว่า คลุกถนอมอาหารแล้ว อาหารเสียไวกว่าปกติ เลยลงตัวที่ว่า ถ้าเป็นเกลือปรุงอาหาร จะผสมไอโอดิน ส่วนเกลือถนอมอาหารและเกลือสปา จะเป็นเกลือธรรมชาติ



เถลไถลไปยังโรงต้มเกลืออีกแห่งหนึ่ง โชคอำนวยมากที่มีโอกาสเห็นเขากำลังต้มเกลือพอดี เลยบันทึกภาพไว้เป็นที่ระลึ



ตักขึ้นมาใส่ตะกร้าแบบนี้แหละ ปล่อยให้น้ำเกลือที่ค้างอยู่ไหลจากตะกร้าลงสู่กระทะ จนกว่าเกลือจะแห้งดี ถึงนำไปเก็บในยุ้งต่อไป



จากกล้องของน้องผม แสดงให้เห็นถึงกระทะต้มเกลือที่ล้างทำความสะอาด พักการใช้งานจนกว่าจะต้มเกลือรอบใหม่



แถมได้ภาพชาวบ้านใช้คันโพงตักน้ำเกลือในบ่อขึ้นมาใส่ภาชนะไม้ริมปากบ่อ ก่อนไขผ่านท่อ pvc ลงสู่กระทะเพื่อต้มต่อไป



กำลังตักน้ำเกลือในบ่อ



ตักขึ้นมาเทเลยล่ะ แต่ภาชนะที่ใช้คงไม่มีโลหะเป็นแน่ เพราะน้ำเกลือจะกัดกร่อนหมด



ร้านจำหน่ายของที่ระลึกอยู่ท้ายสุด มีห่ออะไรที่น่าสนใจจำหน่ายด้วยน้อ ?



จากการสอบถามเจ้าของร้าน ได้รับคำตอบว่าเป็น "มะแขว่น" พืชเครื่องเทศ เป็นพืชเศรษฐกิจท้องถิ่นของจังหวัดภาคเหนือ เช่น ต.เมืองลี อ.นาหมื่น และ ต.ยอด อ.สองแคว จ.น่าน จนถึงกับมีการจัดงาน มะแขว่น ขึ้นทุกปี

ส่วนใหญ่ที่ผมเห็นมักใช้ผสมกับน้ำพริกลาบ ทำให้ลาบทางเหนือ มีรสชาติออกไปทางเผ็ด ซ่าลิ้น แตกต่างจากลาบทางภาคอีสานอย่างชัดเจน



ดูจนทั่ว ได้ของที่ระลึกสมใจอยากแล้ว ถึงเวลาไปหามื้อเที่ยงลงกระเพาะบ้างล่ะ เพราะเป็นเวลาร่วมเที่ยงเศษแล้ว



ผ่านร้านสปา หนึ่งในจำนวนหลายๆ แห่งที่นี่ อันเป็นธุรกิจต่อเนื่องจากบ่อเกลือโบราณ



ร้านอาหารตามสั่งที่มีป้ายข้างหน้า คือที่ฝากท้องประจำเที่ยงวันนี้  ซึ่งแม่ครัวพอทำอาหารเสร็จ มองดูทีท่าว่าลูกค้าไม่สั่งอะไรเพิ่มอีกแล้ว ก็เดินข้ามถนนไปทานมื้อกลางวันร่วมกับร้านฝั่งตรงข้าม

เป็นกันเองเสียไม่มี



ก่อนที่จะออกเดินทางต่อไป จนกระทั่งเห็นป้ายหนึ่ง อยู่ฝั่งขวามือ บอกว่า "ต้นกำเนิดแม่น้ำน่าน"

ผมจอดรถแล้วมองหน้ากับน้องว่าจะไปดูกันไหม ?



ไม่เคยเห็นต้นกำเนิดแม่น้ำสักสาย นอกจากที่นี่แหละ แถมระยะทางก็ไม่ไกลด้วย  น้องผมผงกศรีษะรับ งั้นก็ลุย



ต่างคนต่างเตรียมกล้องกันให้เรียบร้อย ก็สาวเท้าเข้าไปตามทางเดินในป่านั้น



ก่อนได้ฤกษ์ เอนหลังเป็นนางแบบเอาเชิงกันก่อน




เส้นทางในป่าช่วงแล้ง ไม่ค่อยลำบากอะไรนัก แต่แมลงวันกับแมลงหวี่ชอบเข้ามาตอม เพราะผิดกลิ่นในป่า  ทำให้ผมนึกถึงทหารที่ได้รับบาดเจ็บในสนามรบจาก ผกค. มีแมลงวันเข้ามาตอมตามกลิ่นคาวเลือด แถมวางไข่บนแผลอีก  จะส่งเสียงก็ไม่ได้ เพราะศัตรูอาจย้อนกลับเข้ามาโจมตีเมื่อใดก็ได้  กว่าพวกเดียวกันเข้ามาช่วยเหลือซึ่งกินเวลานานหลายวัน อาจสูญเสียแขนขาจากแผลเน่าเปื่อยโดยไม่จำเป็น



จากกล้องของน้อง คิดว่าซ้อมเดินป่าก็แล้วกัน ดีกว่าหน้าฝนตั้งแยะ



บางช่วงก็ออกกำลังกายเหนี่ยวเถาวัลย์ขึ้นไปตามทางเดินตามประสาคน สว.



กว่าจะถึง ขอพักเหนื่อยเอาแรงสักนิด



พอกำลังกลับคืนมาแล้ว ขอเป็นนางแบบเช่นเคย



มองดูรอบๆ แล้ว มีฝายประชาอาสาตั้งอยู่ใกล้ๆ นั้นลูกหนึ่ง แต่ไม่มีน้ำขังอยู่เลย เป็นอันว่าตัดข้อกังขาว่าต้นกำเนิดแม่น้ำน่านจะอยู่เหนือจากนั้นขึ้นไปได้

จุดสนใจเลยมาสรุปตรงที่ตาน้ำเล็กๆ ที่มีน้ำไหลผุดขึ้นมานั่นแหละ แม้แต่ยามแล้ง

ตรงนี้ เป็นจุดกำเนิดแม่น้ำน่านของจริง



ช่วยกันยืนยันทั้งคนพี่



และก็คนน้องอีกด้วย



ขอเซลฟี่ไว้เป็นหลักฐานหน่อย น้องผมว่าอย่างนั้น ก่อนออกเดินทางต่อไป



คราวนี้ ถนนเริ่มคดเคี้ยว พอๆ กับเส้นทางสายแม่มาลัยไป อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน



เข้าเขต อ.เฉลิมพระเกียรติ แล้ว แต่อีกกี่ กม.ก็ไม่ทราบเหมือนกัน



เส้นทางช่วงนี้ ทางแขวงฯ น่านที่ 2 เพิ่งปรับปรุงทางแล้วเสร็จเมื่อไม่นานนี้เอง



จากต้นกำเนิดแม่น้ำน่าน เราจะข้ามแม่น้ำน่านสะพานแรกบนทางหลวงสายนี้ สังเกตผิวจราจรยังอยู่ในสภาพเดิม  ปัจจุบันได้ถูกปรับปรุงลาดยางใหม่แล้ว

Cr. ภาพจาก Google Earth




จนบ่ายคล้อย สองคนพี่น้องได้มาถึงทางแยกเข้าสู่บ้านน้ำรีพัฒนา อ.เฉลิมพระเกียรติ

ที่นั่น เป็นที่ตั้งของสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ ภูพยัตฆะราชดำริ หรืออดีตที่ตั้งของสำนัก 708 อันเป็นที่ตั้งศูนย์กลางพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในช่วงปี 2516 - 2519 โดยมีลุงชัด (มิตร สมานันท์) เลขาธิการพรรค ลุงธาร (วิรัช อังคถาวร) ลุงดิน (ธง แจ่มศรี) ลุงบา (ทรง นพคุณ) ลุงท่ง (ประสิทธิ์ ตะเพียนทอง) ลุงจำรัส (เปลื้อง วรรณศรี) ลุงคำตัน (พ.ท.โพยม จุลานนท์) ลุงไฟ หรือลุงมะ (อัสนีย์ พลจันทร์) และลุงดั่ง (ดำริ เรืองสุธรรม) เป็นกลุ่มผู้นำพรรค และมีสำนักนอกสำหรับต้อนรับผู้มาติดต่อ คือ หน่วยนา 708 มีสหายเสริม เป็นเจ้าสำนัก

ขื่อสำนักมาจากที่ระลึกวันเสียงปืนแตกนั่นเอง

ในปี 2520 มีประเทศเพื่อนบ้าน เสนอต่อ พคท.ว่าจะให้การสนับสนุนด้วยกำลังในการบุกยึดภาคอีสาน

หลังจากพิจารณากันอย่างเคร่งเครียดหลายครั้ง พคท.เห็นว่า จะเป็นผลเสียต่อความรู้สึกของประชาชนในระยะยาวว่าเป็นผู้ร้าย จึงได้ตอบปฏิเสธ ทางประเทศเพื่อนบ้านจึงประกาศตัดความสัมพันธ์กับ พคท. ทำให้สูญเสียหลังพิง และที่มั่นทางทหารทั้งภาคเหนือและอีสานติดกับประเทศเพื่่อนบ้านไปมาก ทำให้มีการหดตัวลง รวมทั้งมีการแตกแยกทางความคิดระหว่างกลุ่มผู้นำพรรคเองอีกด้วย

ประกอบกับกับรัฐบาลไทย ได้ประกาศใช้นโยบาย 66/2523 ทำให้ผู้คนออกจากป่ามาขึ้น จนฐานที่มั่นสิ้นสุดลง โดยไม่มีการสู้รบกับฝ่ายรัฐบาลอีก เมื่อปี 2526

Cr.ภาพจาก Google Earth



หลังจากผ่านแยกบ้านน้ำรีพัฒนา เส้นทางจะตัดใจแยกจากเทือกเขาหลวงพระบาง มุ่งทางทิศตะวันตกสู่ อ.เฉลิมพระเกียรติ โดยลัดเลาะเขาจนถึงระดับต้นสนขึ้นเลยล่ะ



ขออาศัยภาพจาก Google Earth เข้าไปดูที่ว่าการอำเภอเฉลิมพระเกียรติ สักหน่อยครับ เพราะอยู่ห่างจากทางหลวงหมายเลข 1081 เข้าไปข้างใน

Cr.ภาพจาก Google Earth



ใกล้โรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ น่าน จะมีทางแยกเข้าไปยังอนุสรณ์ทหารกล้าห้วยโก๋น ที่กองกำลังแม้วแดงตีแตก เมื่อปี 2510 จนทำให้เกิดศึกยืดเยื้อมานาน ระหว่างกำลังทหารกับฐาน 708 ของ พคท. ที่ถือว่าเป็นเขตงานของตน

Cr. ภาพจาก Google Earth



แล้วเราก็มาถึงจนได้ในยามบ่ายคล้อย ที่สามแยกบรรจบกับทางหลวงหมายเลข 101 จากน่าน ที่บ้านห้วยโก๋น อ.เฉลิมพระเกียรติ

Cr. ภาพจาก Google Earth



สุดทางที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองห้วยโก๋น อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน กับด่านตรวจคนเข้าเมือง เมืองเงิน แขวงไซยะบุรี สปป.ลาว

Cr. ภาพจาก Googe Earth



กลับเข้ามาฝีมือเราดีกว่า กับสภาพตัวด่านในปัจจุบัน



นัยว่า เป็นตัวอาคารด่านตรวจคนเข้าเมืองแห่งใหม่เพิ่งจะก่อสร้างแล้วเสร็จ แต่ยังไม่เปิดทำการ

ตั้งอยู่ถัดจากตลาดชายแดนห้วยโก๋น โดยมีถนนเชื่อมกับเส้นทางเดิม



ยืนยันได้ว่า เราเดินทางมาถึงชายแดนไทย - สปป.ลาว อีกแห่งหนึ่งแล้ว



น้องผมกำลังให้ความสนใจกับป้ายห้ามนำเข้าเนื้อสัตว์ผ่านด่านประเทศเพื่อนบ้านครับ



ดูจากป้ายเต็มดีกว่า ห้ามนำเข้าเนื้อสัตว์ที่เป็นโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever) หากตรวจพบ จะมีการยึดและนำไปทำลายทันที



ระหว่างนั้น มีรถบริการซึ่ง กฟผ.เช่าเหมานำคนงานไปยังโรงไฟฟ้าหงสา สปป.ลาว ที่บริษัท ไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง ในเครือของ กฟผ.เข้าไปถือหุ้นอยู่ จอดส่งคนงานเพื่อผ่านกรรมวิธีขาออกด่านพอดี



แถมให้สำหรับผู้ที่ไม่ทราบว่า โรงไฟฟ้าแห่งนี้ตั้งอยู่ที่ใดนะครับ

Cr.ภาพจาก Google Earth



ซูมให้เห็นจากอวกาศเลย

Cr.ภาพจาก Google Earth



ไหนๆ ก็ไหนๆ แถมเขื่อนไซยะบุรี สปป.ลาว ซึ่งบรรดา NGO บ้านเรา ขัดใจที่ประท้วงอะไรไม่ได้ เพราะอยู่ในเขตบ้านของเขา ขืนไปทำรุ่มร่ามที่นั่น เป็นได้ถูกจับขังลืมแน่นอน มีโทษหนักด้วยสิ

Cr.ภาพจาก Google Earth



แสดงว่าตัวเมืองไซยะบุรี อันเป็นที่ตั้งแขวงชื่อเดียวกัน ไม่ได้ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขงดังที่เข้าใจกันแต่แรก  ดังนั้น ผู้ที่นั่งรถ บขส.จาก จ.เลย ไปยังแขวงหลวงพระบาง จะไม่เห็นแม่น้ำโขงในช่วงนี้้เข่นกัน

Cr.ภาพจาก Google Earth



มาแล้ว รถบรรทุกขาเข้าจาก สปป.ลาว ไปยัง จ.น่าน  คนขับส่งยิ้มให้ด้วยสิ



ขอเป็นนางแบบกลางถนนส่งท้ายวันนี้ โดยไม่เกรงต่อการถูกรถชนครับ ฮ่า...

จากนั้นก็ล่องมาตามทางหลวงหมายเลข 101 จนถึง อ.ทุ่งช้าง ถนนจึงขยายออกเป็นสี่เลน ผ่าน อ.เชียงกลาง แวะทานมื้อเย็นที่ตลาด อ.ปัว  ก่อนเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 1081 อีกเล็กน้อย ถึงทางแยกเข้าสู่หมู่บ้าน ผ่านสู่รีสอร์ท ซึ่งเจ้าของลงทุนเปิดไฟสว่างไสวเป็นที่หมายเห็นได้ตั้งแต่ไกล

ลมภูเขาคืนนั้น พัดตั้งแต่หัวค่ำ จนถึงเที่ยงคืน ชนิดที่เปิดหน้าต่างไม่ได้ สมกับคำรับรองจากเจ้าของรีสอร์ทซึ่งเป็นชาว อ.ปัว ว่า ไม่มียุงมารบกวนแต่อย่างใด ถึงแม้จะเตรียมมุ้งไว้ให้ก็ตาม




 

Create Date : 17 มิถุนายน 2563
5 comments
Last Update : 17 มิถุนายน 2563 14:51:13 น.
Counter : 1192 Pageviews.

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณทนายอ้วน, คุณสายหมอกและก้อนเมฆ, คุณโน้ตตัวดำ, คุณKavanich96, คุณhaiku, คุณnewyorknurse

 

ตามไปเที่ยวน่านด้วยคราบ

 

โดย: ทนายอ้วน 17 มิถุนายน 2563 16:03:52 น.  

 

ได้เลยครับ

 

โดย: owl2 17 มิถุนายน 2563 22:21:46 น.  

 

ขอบคุณที่แบ่งปัน

 

โดย: Kavanich96 18 มิถุนายน 2563 17:31:32 น.  

 

ครับผม

 

โดย: owl2 18 มิถุนายน 2563 20:25:14 น.  

 

น่าไปเที่ยวครับ แต่ไกลจังเลย

 

โดย: ไวน์กับสายน้ำ 20 มิถุนายน 2563 10:15:51 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


owl2
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




Friends' blogs
[Add owl2's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.