HR Management and Self Leadership
<<
ตุลาคม 2554
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
21 ตุลาคม 2554

ค่าจ้างกับอายุงาน

ไม่ทราบว่าแนวทางในการจ่ายค่าจ้างของบริษัทท่านนั้นเป็นไปตามระบบอาวุโสเป็นหลัก หรือเป็นไปตามผลงาน และค่างานของตำแหน่งงานเป็นหลัก มีหลายองค์กรที่ประกาศอย่างชัดเจนว่า เราจ่ายค่าจ้างตามผลงานและความสามารถของพนักงาน แต่พอถึงเวลาขึ้นเงินเดือน และให้โบนัสตามผลงาน คนที่ได้ไปเยอะๆ มักจะเป็นคนที่ทำงานมานานๆ

สาเหตุที่ทำให้นโยบายกับปฏิบัติออกมาคนละทางก็เพราะ ระบบการประเมินผลงานขององค์กรมีปัญหา ไม่สามารถที่จะบอกได้ว่าพนักงานคนไหนผลงานดีกว่าใคร จริงๆ ระบบประเมินผลงานไม่ได้มีปัญหาหรอกครับ คนประเมินนี่แหละครับที่เป็นปัญหา พอหัวหน้างานไม่สามารถที่จะบอกได้ว่าพนักงานคนไหนที่ผลงานดีกว่าคนไหน สุดท้ายก็เลยให้พนักงานทุกคนผลงานดีเท่ากันทั้งหมด

พอทุกคนผลงานเท่ากันหมด ก็ไม่รู้ว่าจะให้ใครมากกว่าใคร นายจ้างก็ยังเชื่อว่าผลงานของพนักงานไม่น่าจะเท่ากันทั้งหมดจริงๆ ในเมื่อผู้จัดการไม่สามารถที่จะประเมินความต่างในเรื่องผลงานได้ ก็เลยเอาเรื่องของอายุงานมาเป็นตัวตัดสิน เพราะมันชัดเจนมาก ใครอยู่มานานก็แปลว่าซื่อสัตย์ต่อองค์กร ดังนั้นก็ควรจะได้รับการขึ้นเงินเดือน และโบนัสที่สูงกว่าคนที่เพิ่งเข้ามาทำงานในบริษัท

นี่คือเหตุผลที่ผมได้ยินมากับหูตัวเองจากผู้บริหารระดับสูงขององค์กรแห่งหนึ่ง ผู้บริหารเองอยากจะให้ตามผลงาน แต่หัวหน้างานและผู้จัดการไม่สามารถที่จะบอกได้ว่าใครผลงานดีกว่าใคร ก็เลยเอาเรื่องของอายุงานมาเป็นตัวตัดสิน

ผลก็คือ พนักงานที่สร้างผลงานที่ดีให้กับบริษัท เป็นคนหนุ่มสาว ไฟแรง ต่างก็ทยอยออกจากบริษัทไปเพราะบริษัทไปให้ความสำคัญกับคนที่มีอายุงานมากๆ

ในปัจจุบันแนวทางในการจ่ายค่าจ้างเงินเดือนมักจะมุ่งไปที่เรื่องของผลงาน และความสามารถของพนักงาน เรื่องของอายุงานเริ่มลดความสำคัญลงไปมาก

แต่พอเราเริ่มเอาระบบประเมินผลงานมาใช้ เพื่อที่จะได้ให้รางวัลได้ตรงตามผลงานจริงๆ ปัญหาถัดมาก็เกิดขึ้นทันที ก็คือเหล่าบรรดาหัวหน้าและผู้จัดการไม่สามารถที่จะประเมินผลงานพนักงานของตนเองได้ หรือไม่ก็มีแต่เข้าข้างลูกน้องตนเองให้ผลงานดีกันทุกคน

แนวทางในการแก้ไขที่ดีก็คือ ให้ความรู้แก่ผู้จัดการในการมองและประเมินผลงานของคนให้ได้ แม้ว่าจะเป็นลักษณะผลงานที่ไม่สามารถวัดเป็นตัวเลขได้ ก็ต้องมองให้ออกว่าใครดีกว่าใคร

โดยปกติผมคิดว่าผู้จัดการทุกคนมองออกนะครับ ว่าลูกน้องของเราคนไหนผลงานดีกว่าใคร แต่เขาไม่อยากจะตัดสินเพราะมันมีคนได้คนเสีย และทำให้เขาต้องไปอธิบายพนักงาน หัวหน้างานก็ไม่อยากทำให้พนักงานรู้สึกไม่ดี ก็เลยไม่อยากจะตัดสินใจเรื่องผลงาน สุดท้ายก็เลยให้ทุกคนเท่าๆ กัน

มีบางองค์กรผู้บริหารระดับสูงแจ้งกับผู้จัดการเลยว่า ถ้าผู้จัดการคนไหนไม่สามารถที่จะบอกได้ว่าลูกน้องคนไหนผลงานใครดีกว่าใคร ตัวผู้จัดการเองนั่นแหละที่จะถูกประเมินว่าผลงานไม่ดีซะเอง ก็เป็นตัวกระตุ้นให้ผู้จัดต้องใช้ดุลยพินิจให้ออกให้ได้

เมื่อเราสามารถที่จะแยกแยะผลงานของพนักงานได้อย่างชัดเจนและมีเหตุมีผลประกอบ เรื่องของอายุงานก็จะค่อยๆ หมดไป และระบบในการให้รางวัลขององค์กรก็จะค่อยๆ เปลี่ยนทิศทางไปในเรื่องของผลงานได้อย่างแท้จริง




 

Create Date : 21 ตุลาคม 2554
1 comments
Last Update : 21 ตุลาคม 2554 6:30:46 น.
Counter : 1369 Pageviews.

 

 

โดย: bigindyza 21 ตุลาคม 2554 8:00:34 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


singhip
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 72 คน [?]




ประคัลภ์ ปัณฑพลังกูร
ที่ปรึกษาทางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล
และการพัฒนาภาวะผู้นำ

วางระบบการบริหารค่าจ้างเงินเดือน ระบบบริหารผลงาน และระบบการบริหารงานทรัพยากรบุคคลให้กับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน
[Add singhip's blog to your web]