HR Management and Self Leadership
<<
กันยายน 2555
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
30 
10 กันยายน 2555

ผู้บริหารระดับสูงกับการบริหารทรัพยากรบุคคลขององค์กร

ในอดีตงานด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลขององค์กรนั้น หรือเราเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า การบริหารบุคคล (ยังไม่มีคำว่าทรัพยากรเข้ามา) หรือภาษาอังกฤษใช้คำว่า Personnel Management นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นภาพของงานบุคคลในเชิง Admin มากหน่อย เช่นเป็นผู้รวบรวมจัดเก็บจัดหาข้อมูลต่างๆ ทางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล ซึ่งผู้บริหารระดับสูงเองก็ไม่ได้มองว่าเป็นหน่วยงานที่สำคัญอะไรมากนัก บางองค์กรไม่มีหน่วยงานนี้เลยด้วยซ้ำไป และมักจะไปฝากไว้กับฝ่ายบัญชี

แต่ในปัจจุบันคำว่า Personnel ก็เปลี่ยนไปเป็นคำว่า Human Recourses และเกิดคำแปลกๆ ใหม่ๆ ขึ้นอีกมากมายไม่ว่าจะเป็น Human capital หรือ HR Champion ฯลฯ แต่คำใหม่ๆ เหล่านี้ต่างก็แสดงความหมายไปในทางเดียวกันก็คือ การบริหารทรัพยากรบุคคล คือเป็นการมองว่า คนที่เข้ามาทำงานในองค์กรนั้นถือเป็นทรัพยากรอย่างหนึ่งที่จะทำให้องค์กรไปสู่เป้าหมายได้ และในยุคปัจจุบันนี้เองที่ผู้บริหารระดับสูงเข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องการบริหารทรัพยากรบุคคลมากขึ้น องค์กรใดที่ผู้บริหารระดับสูงไม่ได้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการบริหารทรัพยากรบุคคลมักจะเป็นองค์กรที่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จในเรื่องนี้มากนัก บางแห่งก็เรียกได้ว่ามีแต่ปัญหาเกิดขึ้นมากมายในการบริหารคนขององค์กร

แล้วมีเรื่องอะไรบ้างในการบริหารทรัพยากรบุคคลที่ผู้บริหารระดับสูงจะต้องเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องด้วยบ้าง หลายๆ ท่านอาจจะมองว่าไม่เห็นจะเกี่ยวกับผู้บริหารระดับสูงเลย แค่เรื่องของการบริหารคน ก็ให้ผู้จัดการฝ่ายบุคคลดำเนินการก็พอแล้ว ไม่เห็นต้องขึ้นไปถึงผู้บริหารระดับสูง ใครที่คิดแบบนี้ รับรองได้เลยว่า การบริหารทรัพยการบุคคลขององค์กรนั้นจะต้องเต็มไปด้วยปัญหาอย่างแน่นอน ลองมาดูกันนะครับว่ามีเรื่องอะไรบ้างในการบริหารคนที่ผู้บริหารระดับสูงจะต้องเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

  • การสรรหาคัดเลือกพนักงาน จริงๆ ก็ต้องเกี่ยวตั้งแต่เรื่องแรกของการบริหารคนเลยก็คือ การหาคนและการคัดเลือกพนักงานเข้ามาทำงานในองค์กร ถ้าผู้บริหารระดับสูงไม่ได้สร้างวัฒนธรรมองค์กรให้แข็งแรง ก็จะทำให้เราไม่รู้เลยว่า องค์กรของงเรานั้นต้องการคนแบบไหนเข้ามาทำงาน HR ก็จะหาคนแบบไม่มีเป้าหมาย หามาแล้วก็อยู่ทำงานได้ไม่นานก็ไป บางองค์กรผู้บริหารระดับสูงเข้ามามีส่วนในการสัมภาษณ์ผู้สมัครด้วยตนเองก็มีครับ ผลก็คือองค์กรจะมีคุณลักษณะของคนที่เข้ามาแล้วมีความเหมาะสมกับองค์กรและสามารถขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมายด้วยค่านิยมอันเดียวกันนั่นเอง
  • การพัฒนาพนักงาน ผู้บริหารระดับสูงจะต้องให้นโยบาย และให้ความสำคัญในเรื่องของการพัฒนาพนักงานอย่างจริงจัง การพัฒนาพนักงานจึงจะเกิดประสิทธิผลตามที่ตั้งใจ หลายองค์กรที่ผู้บริหารระดับสูงแค่ประกาศว่ามีการพัฒนาพนักงานในองค์กร แต่พอถึงเวลาที่จะพัฒนากันจริงๆ ก็อ้างว่า งบน้อยบ้าง ไม่มีเงินบ้าง หรืองานเยอะบ้าง ทำให้การพัฒนาคนขาดความต่อเนื่อง แต่กลับมาคาดหวังว่าพนักงานจะต้องรับงานที่ยากชึ้นได้ และต้องทำงานได้ตามเป้าหมาย ลองคิดดูดีๆ นะครับ ต้องการสิ่งที่ยากขึ้นทุกปี ด้วยพนักงานที่มีความรู้และทักษะเท่าเดิมแบบนี้ จะเป็นไปได้สักแค่ไหน
  • การประเมินผลงาน เรื่องนี้ผู้บริหารระดับสูงจะต้องเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องมากหน่อย เพราะเป็นเรื่องของผลงาน ในอดีตเรามองแยกกันระหว่างผลงานของพนักงาน กับผลงานขององค์กร ผลงานพนักงานก็ให้ฝ่ายบุคคลดูไป ส่วนผลงานขององค์กรก็ให้ผู้บริหารดูไป แต่จริงๆ แล้วทั้งผลงานของพนักงานและผลงานขององค์กรนั้นล้วนแต่เป็นเรื่องเดียวกัน และเป็นเรื่องที่มีความต่อเนื่องกัน ถ้าผู้บริหารระดับสูงไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องผลงานของพนักงาน การประเมินผลงานก็จะมีปัญหาทุกปี ดังนั้นผู้บริหารระดับสูงจะต้องเป็นผู้กำหนดแนวทาง และให้ความจริงจังกับเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน ตั้งแต่การกำหนดเป้าหมายและความสำเร็จขององค์กรให้ชัดเจน และถ่ายทอดเป้าหมายนั้นลงไปสู่แต่ละหน่วยงาน จากนั้นก็บริหารให้เกิดผลงานขึ้นตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ องค์กรที่ผู้บริหารระดับสูงไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องประเมินผลงาน ก็จะเกิดปัญหามากมาย ต่างคนต่างประเมินกันเอง ต่างคนต่างที่จะอยากให้ใครดีก็ให้ไป โดยไม่มีการมองไปที่เป้าหมายขององค์กร
  • การบริหารค่าจ้างเงินเดือน เรื่องนี้ผู้บริหารยิ่งต้องเข้ามามีส่วนในการกำหนดนโยบายและแนวทางในการบริหารค่าตอบแทนทั้งหมด เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทั้งองค์กร ส่วนใหญ่บทบาทของผู้บริหารระดับสูงก็คือ การกำหนดตำแหน่งการจ่ายค่าจ้างขององค์กรว่าควรจะอยู่ในระดับใด เช่น P50 หรือ P75 และจากนั้นก็ต้องยึดนโยบายที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด บางองค์กรผู้บริหารปากก็บอกว่าจะบริหารค่าตอบแทนอย่างเป็นธรรม แต่พอในทางปฏิบัติกลับบริหารตามใจตนเองมากกว่า ผลก็คือการบริหารค่าตอบแทนในองค์กรก็จะเกิดปัญหาตามมามากมาย ไม่สามารถที่จะดึงดูดรักษาพนักงานที่มีฝีมือไว้ได้เลย
  • การบริหารคนเก่ง หรือที่ปัจจุบันเราเรียกกันว่า Talent Management หลายองค์กรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก เพื่อที่จะเป็นการรักษาคนเก่งให้ทำงานและสร้างผลงานให้กับองค์กร ถ้าผู้บริหารระดับสูงมองคนเก่งว่าเป็นคนที่อยู่มานาน นั่นก็แปลว่ามองแค่เรื่องอาวุโส การบริหารคนเก่งก็จะไม่ได้ผลใดๆ ดังนั้นเรื่องนี้อีกเช่นกันที่จะต้องเริ่มต้นจากผู้บริหารระดับสูงอีกเช่นกัน
  • การสร้างความผูกพันของพนักงานต่อองค์กร เรื่องนี้ก็เป็นอีกเรื่องที่ปัจจุบันหลายองค์กรให้ความสำคัญมาก และจากผลการวิจัยที่เกี่ยวกับเรื่องของการสร้างความผูกพันของพนักงานนั้น ก็ออกมาชัดเจนมากกว่า ผู้บริหารระดับสูงมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างความผูกพันให้เกิดขึ้นกับพนักงานอย่างมาก เพราะจะเป็นผู้ที่นำพาองค์กรไปสู่ทิศทางที่ถูกต้อง ถ้าผู้บริหารบริหารแบบผิดเพื้ยนไป และยิ่งไปกว่านั้นยังทำตัวเป็นปัญหาซะเอง แบบนี้พนักงานก็ย่อมจะไม่เกิดความผูกพันใดๆ กับองค์กรที่ทำงานอยู่อย่างแน่นอน

จะว่าไปแล้ว เรื่องราวเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรบุคคลเกือบทุกเรื่องล้วนต้องเริ่มต้นทางผู้บริหารระดับสูงที่จะต้องให้ความสำคัญ และเอาจริงเอาจังกับเรื่องเหล่านี้ เพราะถ้าผู้บริหารไม่เอาจริง ก็เป็นสัญญานที่ส่งไปให้กับพนักงานรู้ว่า ที่นี่ไม่ให้ความสำคัญกับการบริหารคนเลย ผู้บริหารรักใครชอบใครก็ใช้อำนาจของตนที่มีอยู่ดำเนินการไปตามใจตนเอง HR จะกำหนดนโยบายการบริหารคนได้ดีเพียงใด แต่ถ้าผู้บริหารระดับสูงไม่ให้ความสนใจหรือใส่ใจ มันก็เหมือนไม่มีแผนการบริหารคนอยู่ดีครับ




Create Date : 10 กันยายน 2555
Last Update : 10 กันยายน 2555 6:11:37 น. 0 comments
Counter : 2368 Pageviews.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

singhip
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 72 คน [?]




ประคัลภ์ ปัณฑพลังกูร
ที่ปรึกษาทางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล
และการพัฒนาภาวะผู้นำ

วางระบบการบริหารค่าจ้างเงินเดือน ระบบบริหารผลงาน และระบบการบริหารงานทรัพยากรบุคคลให้กับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน
[Add singhip's blog to your web]