HR Management and Self Leadership
<<
กุมภาพันธ์ 2554
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728 
8 กุมภาพันธ์ 2554

โครงสร้างเงินเดือนไม่ได้แก้ไขปัญหาได้ทุกอย่าง

ผมได้รับทราบความต้องการของหลายๆ บริษัทในเรื่องของการหาที่ปรึกษาเพื่อเข้ามาวางโครงสร้างเงินเดือน เพื่อใช้ในการบริหารค่าจ้างเงินเดือนของพนักงาน สิ่งที่ผมจะต้องตรวจสอบก่อนก็คือ บริษัทนั้นๆ มีปัญหาทางด้านนี้จริงๆ หรือไม่ กล่าวคือ เงินเดือนและค่าจ้างมีผลต่อการบริหารงานบุคคลอย่างแท้จริง ทั้งในด้านของการดึงดูด และรักษาพนักงาน มีบางบริษัทหลังจากที่ผมได้พูดคุยกับ ผู้จัดการฝ่ายบุคคล และผู้บริหารระดับสูงแล้วก็พบว่า จริงๆ แล้วบริษัทไม่มีปัญหาเรื่องของการจ่ายค่าจ้างเงินเดือนเลย แต่เป็นปัญหาทางด้านอื่นๆมากกว่าที่ทำให้พนักงานขาดแรงจูงใจในการทำงาน

สำหรับบริษัทที่ต้องการจะวางโครงสร้างเงินเดือนนั้น จะต้องถามตัวเองให้ชัดเจนก่อนว่า สาเหตุของปัญหาในการบริหารงานบุคคลนั้นเป็นผลมาจากการบริหารค่าจ้างเงินเดือนใช่หรือไม่ เพราะเงินเดือนนั้นเป็นเพียงสาเหตุเดียวในอีกหลายสาเหตุที่ทำให้การบริหารทรัพยากรบุคคลไม่ได้ผลอย่างที่ตั้งใจไว้

คำถามที่ควรถามตนเองก่อนที่จะใช้วิธีการวางระบบบริหารเงินเดือนใหม่ หรือวางโครงสร้างเงินเดือนนั้น ก็มีดังนี้ครับ

- เรารับสมัครพนักงานใหม่ไม่ได้ เนื่องจากอัตราแรกจ้างที่ต่ำกว่าตลาดทั่วไปใช่หรือไม่

- เราเสียพนักงานมือดี ให้กับองค์กรอื่น โดยที่เกินกว่า 70% ของพนักงานมือดีที่ลาออกไปนั้นมาจาก สาเหตุที่ว่า เราจ่ายค่าจ้างต่ำกว่าบริษัทอื่น ใช่หรือไม่

- มีเสียงบ่นจากพนักงานว่า การบริหารจัดการเรื่องของค่าจ้างเงินเดือนนั้นไม่เป็นธรรม เช่น คนใหม่มาได้รับเงินเดือนมากกว่าคนเก่า ที่ทำผลงานได้ในเกณฑ์ดี หรือการขึ้นเงินเดือนไม่ตอบเรื่องของผลงานพนักงานจริงๆ ใครที่ขยัน ทำงานได้ดี แต่กลับได้รับการขึ้นเงินเดือนที่น้อยกว่า หรือใกล้เคียงกับพนักงานที่ผลงานไม่ดี ใช่หรือไม่

- พนักงานที่อายุงานเยอะๆ มีแนวโน้มจะได้รับค่าจ้างเงินเดือนสูงกว่าพนักงานที่อายุน้อยๆ โดยไม่พิจารณาจากความยากง่ายของงาน และผลงาน โดยเฉพาะพนักงานในตำแหน่งล่างๆ เช่น พนักงานพิมพ์ดีด พนักงานขับรถ พนักงานธุรการ พนักงานรับโทรศัพท์ ฯลฯ ที่อยู่กับบริษัทมานานมาก มีอายุงานนานๆ จนเงินเดือนสูงเกินกว่าตำแหน่งงานที่มีคุณค่าต่อบริษัท ใช่หรือไม่

- พนักงานเริ่มหาอาชีพเสริมนอกเวลางานมากขึ้น จนบางครั้งอาชีพเสริมนั้นมาบดบังเวลาในการทำงานหลักของบริษัท ใช่หรือไม่

ถ้าตอบคำถาม 5 ข้อนี้ว่า “ใช่” เกินกว่า 3 ข้อ นั่นแสดงว่า บริษัทของเรามีแนวโน้มว่าระบบค่าจ้างเงินเดือนมีปัญหาต่อแรงจูงใจและต่อการทำงานของพนักงาน ดังนั้น การวางระบบบริหารเงินเดือนใหม่ ก็น่าจะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้

แต่บางบริษัทพอเห็นว่าอัตราการลาออกของพนักงานมีมากเข้า ก็สรุปกันเองเลยว่า เป็นสาเหตุมาจากค่าจ้างเงินเดือนของบริษัทน้อยเกินไปต้องปรับให้สูงขึ้น หรือเป็นระบบมากขึ้น แต่พอได้เข้าไปศึกษาจริงๆ จังๆ แล้วก็พบว่า อัตราค่าจ้างเงินเดือนของบริษัทนั้น เมื่อเทียบกับตลาดแล้วอยู่ในเกณฑ์ที่แข่งขันได้ และแทบจะไม่มีปัญหาเรื่องของค่าจ้างเงินเดือนเลยด้วยซ้ำ แต่สาเหตุที่ทำให้พนักงานอยู่ไม่ได้ และต้องพากันลาออกไปก็เป็นเรื่องของการบริหารงานภายในมากกว่า เช่น ปัญหาจากหัวหน้างาน ปัญหาจากความขัดแย้งกันเองภายในบริษัท ปัญหาผู้บริหารขาดวิสัยทัศน์ และการขาดสื่อสารที่ดี ฯลฯ

ถ้าสาเหตุมาจากปัญหาดังกล่าวแล้วล่ะก็ การวางระบบบริหารเงินเดือน และวางโครงสร้างเงินเดือนใหม่นั้น จะไม่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาได้เลย เพราะแก้ไม่ตรงจุดครับ


Create Date : 08 กุมภาพันธ์ 2554
Last Update : 8 กุมภาพันธ์ 2554 5:52:13 น. 0 comments
Counter : 1153 Pageviews.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

singhip
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 72 คน [?]




ประคัลภ์ ปัณฑพลังกูร
ที่ปรึกษาทางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล
และการพัฒนาภาวะผู้นำ

วางระบบการบริหารค่าจ้างเงินเดือน ระบบบริหารผลงาน และระบบการบริหารงานทรัพยากรบุคคลให้กับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน
[Add singhip's blog to your web]