HR Management and Self Leadership
<<
กุมภาพันธ์ 2554
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728 
16 กุมภาพันธ์ 2554

ผลงานของคนกับองค์กรจำเป็นต้องไปด้วยกันหรือไม่

ผมได้รับคำถามเกี่ยวข้องกับเรื่องของการบริหารผลงานว่า ผลงานขององค์กรจะมีผลต่อผลงานของพนักงานหรือไม่ หรือในทางตรงกันข้าม ผลงานของพนักงานนั้นจะต้องเป็นไปในทางเดียวกับผลงานขององค์กรหรือไม่ กล่าวคือ องค์กรมีผลงานที่ไม่ค่อยจะดีเท่าไร แต่ผลงานพนักงานออกมาดีมาก เกือบทุกคน มันเป็นไปได้หรือไม่ นี่คือประเด็นที่ผมสรุปได้จากคำถามที่ผมได้รับมาจากท่านผู้อ่านท่านหนึ่ง

ถ้าอ้างอิงถึงหลักของการบริหารผลงาน (Performance Management) แล้ว ก็ต้องบอกว่า ผลงานขององค์กรและผลงานของพนักงานจะต้องไปด้วยกันเสมอครับ เพราะหลักในการบริหารผลงานนั้น จะตั้งต้นที่ผลงานของบริษัท หรือผลงานขององค์กรก่อนเลย ว่าในแต่ละปีนั้นจะต้องบรรลุอะไรบ้าง ต้องกำหนดให้ชัดเจน ซึ่งเรียกกันอย่างเป็นทางการว่า ตัวชี้วัดผลงานระดับองค์กร

และจากนั้นด้วยระบบบริหารผลงานอีกเช่นกัน ก็จะนำเอาตัวชี้วัดขององค์กรที่ได้มานั้น มาเป็นตัวตั้งในการกำหนดความสำเร็จของแต่ละหน่วยงาน โดยพิจารณาว่า แต่ละหน่วยงานในองค์กรนั้นจะต้องทำอะไรให้สำเร็จ เพื่อให้องค์กรไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้แต่แรก ซึ่งสิ่งที่กำหนดออกมานี้ ก็จะเรียกว่า ตัวชี้วัดผลงานระดับหน่วยงาน ซึ่งแต่ละหน่วยงานก็จะต้องสร้างผลงานให้ได้ตามที่เป้าหมายองค์กรกำหนดไว้ และเมื่อเอาผลงานของแต่ละหน่วยงานมารวมกับแล้ว ก็จะได้ผลสำเร็จขององค์กรนั่นเอง

ต่อจากนั้น ก็จะนำเอาตัวชี้วัดผลงานในระดับหน่วยงานนี้ มาเป็นตัวตั้งอีก เพื่อกำหนดตัวชี้วัดผลงานในระดับตำแหน่งงาน ก็คือพิจารณาว่า ภารกิจของตำแหน่งงานแต่ละตำแหน่งในหน่วยงานนั้นๆ จะต้องทำอะไรเพื่อให้หน่วยงานบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ ซึ่งก็จะมีชื่อเรียกว่า ตัวชี้วัดผลงานของตำแหน่งงาน

ตัวชี้วัดผลงานของตำแหน่งงานนี้เองครับ ที่จะถูกถ่ายทอดลงสู่พนักงงานแต่ละคน ตามตำแหน่งหน้าที่และความรับผิดชอบของตำแหน่งงานที่พนักงานดำรงอยู่ เพื่อให้เป็นเป้าหมายให้กับพนักงาน และก็จะใช้เป้าหมายอันนี้เป็นเครื่องมือในการพิจารณาผลงานของพนักงานด้วยเลย ถ้าพนักงานทำได้ตามเป้าหมายก็ถือว่าผลงานเข้าเกณฑ์มาตรฐาน และถ้าพนักงานทุกคนทำได้ตามเป้าหมาย หน่วยงานก็ได้ตามเป้าหมาย ทุกหน่วยงานได้ตามเป้าหมาย องค์กรก็จะได้ตามเป้าหมายเช่นกัน

ดังนั้นด้วยหลักการนี้แล้ว โดยปกติ ถ้าผลงานขององค์กรดีมากกว่าเป้าหมายที่กำหนด นั่นก็แสดงว่าพนักงานทำงานได้ดีกว่าเป้าหมายเช่นกัน (โดยหลักการนะครับ) แต่ในทางปฏิบัติอาจจะไม่ใช่ทุกคนที่ถึงเป้าหมาย พนักงานบางคนอาจจะทำงานไม่ถึงเป้าหมาย แต่หัวหน้างานเข้ามาแก้ไขสถานการณ์ได้ทันเวลา ก็เลยทำให้หน่วยงานได้เป้า แต่พนักงานคนนั้นไม่ได้เป้า ผลงานก็จะออกมาในเกณฑ์ที่จะต้องปรับปรุง แบบนี้ก็เป็นไปได้ครับ

ในทางตรงกันข้าม ถ้าผลงานพนักงานออกมาดีเลิศกันเกือบหมดองค์กร แต่บริษัทกลับขาดทุน ยอดขายก็ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด การบริหารต้นทุนก็ไม่ได้ตามตัวชี้วัดที่ได้ตกลงกัน ผมว่ากรณีแบบนี้มันเป็นไปไม่ได้เลยครับที่ผลงานพนักงานจะออกมาดี แต่ถ้าออกมาแบบนี้จริงๆ แสดงว่าคนประเมินกำลังประเมินตามใจตัวเองมากกว่าที่จะประเมินโดยใช้ความสำเร็จของงานจริงๆ มาเป็นตัววัด

ยิ่งไปกว่านั้นถ้าองค์กรนี้ทำระบบ Pay for Performance ด้วยแล้ว ยิ่งไม่รู้ว่าจะไปเอาเงินจากที่ไหนมาจ่ายให้กับพนักงาน เพราะบริษัทยอดขายตก ขาดทุน ไม่มีเงิน แต่ผลงานพนักงานกลับดีเลิศกันไปหมด เอาเข้าจริงๆ แล้วระบบการให้รางวัลผลงานนั้น จะต้องมีแหล่งของเงินที่จะมาให้พนักงานด้วย ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือ เงินในส่วนของกำไรของบริษัท ซึ่งถือเป็นผลงานของบริษัทนั่นเอง บริษัทที่มีกำไรมาก ก็สามารถนำเงินส่วนนี้มาแบ่งได้มากกว่าบริษัทที่ได้กำไรน้อยกว่า

สภาพที่ผมเคยพบมากับบางบริษัทก็คือ พนักงาน A ยกฝ่าย แต่ผลงานขององค์กรกลับไม่ถึงเป้าหมาย ถ้าเป็นแบบนี้ก็คือ องค์กรไม่ได้สร้างความเชื่อมโยงเป้าหมายขององค์กรลงสู่หน่วยงาน และลงสู่ตำแหน่งงานนั่นเอง ทำให้ผู้จัดการและหัวหน้างานต่างใช้เหตุผลส่วนตัวในการประเมินผลงานพนักงาน ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้จริงๆ ระบบ Pay for Performance ก็จะไม่สามารถนำมาใช้ได้อย่างยุติธรรมครับ


Create Date : 16 กุมภาพันธ์ 2554
Last Update : 16 กุมภาพันธ์ 2554 6:03:31 น. 0 comments
Counter : 1168 Pageviews.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

singhip
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 72 คน [?]




ประคัลภ์ ปัณฑพลังกูร
ที่ปรึกษาทางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล
และการพัฒนาภาวะผู้นำ

วางระบบการบริหารค่าจ้างเงินเดือน ระบบบริหารผลงาน และระบบการบริหารงานทรัพยากรบุคคลให้กับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน
[Add singhip's blog to your web]