HR Management and Self Leadership
<<
พฤศจิกายน 2555
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
22 พฤศจิกายน 2555

การปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ทั่วประเทศ

และแล้วเรื่องของการปรับค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศไทย 300 บาท ก็ถูกครม.อนุมัติออกมาเรียบร้อยแล้วนะครับ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 ที่จะถึงนี้ ซึ่งก็คงจะทำให้ลูกจ้างรู้สึกดีขึ้น เพราะได้รับค่าจ้างที่เพิ่มสูงขึ้นนั่นเอง แต่ฝ่ายนายจ้างก็คงต้องปรับตัวกันยกใหญ่ เพราะต้นทุนทางด้านแรงงานสูงขึ้นอีกอย่างน้อย ก็ประมาณ 25 – 30% แม้ว่ารัฐบาลเองจะมีความพยามยามที่จะสร้างมาตรการในการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดเล็ก ซึ่งก็ยังไม่ออกมาเป็นรูปธรรมว่าจะช่วยเหลือในด้านใดบ้าง ซึ่งตอนนี้เราคงต้องช่วยเหลือตัวเองไปก่อนสำหรับองค์กรที่พอจะแบกรับภาระค่าจ้างที่สูงขึ้นได้

เรามาว่ากันในมุมผลกระทบต่อนายจ้างกันก่อนว่าจะมีผลกระทบอะไรบ้าง และจะต้องเตรียมตัว และเตรียมการอะไรกันบ้างอีกครั้งนะครับ หลังจากที่เมื่อเดือนเมษายนปี 2555 ก็มีการปรับไปแล้ว 1 ระลอก และก็ก่อให้เกิดปัญหากันในด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลไปแล้ว ถ้ายังจำกันได้ มาครั้งนี้ จากประสบการณ์ที่เคยเกิดขึ้น ก็น่าจะไม่เกิดปัญหาเดิมซ้ำอีก มาตรการอะไรบ้างที่นายจ้างควรจะทำเนื่องจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำใหม่

  • อย่าลืมปรับค่าจ้างของพนักงานเก่าที่ได้รับค่าจ้าง 300 บาทอยู่แล้ว เพราะมิฉะนั้นแล้วก็จะเกิดปัญหาอย่างที่เคยเกิดขึ้น ก็คือ พนักงานที่อยู่ทำงานมานาน สร้างผลงานให้กับองค์กรมาพอสมควร กลับไม่ได้รับการปรับเพราะเงินเดือนค่าจ้างอยู่ที่ 300 บาทอยู่แล้ว นายจ้างปรับเฉพาะคนที่ต่ำกว่า 300 บาท ก็จะทำให้ค่าจ้างของคนสองกลุ่มเท่ากัน ซึ่งนี่คือความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น และจะทำให้ลูกจ้างขาดแรงจูงใจในการทำงาน และขอลาออกในที่สุด ผมเองเคยให้สูตรวิธีการปรับผลกระทบไว้ ถ้าสนใจก็ลอง search ดูใน blog ครับ
  • กำหนดมาตรการทางด้านผลงานให้ชัดเจนมากขึ้น หลังจากปรับค่าจ้างขั้นต่ำใหม่สูงขึ้นแล้ว สิ่งที่นายจ้างต้องการก็คือ ผลงานที่ได้จากพนักงานต้องดีขึ้น และสูงขึ้น สิ่งที่ควรนำมาปรับใช้ก็คือ แนวทางในการบริหารผลงาน หรือการประเมินผลงาน โดยให้มีการกำหนดเป้าหมายในการทำงานของพนักงานแต่ละคนให้ชัดเจน เพื่อให้เกิดผลงานที่คุ้มค่ากับค่าแรงที่สูงขึ้น
  • ลดจำนวนพนักงานลง มาตรการนี้ ก็เกิดขึ้นมาแล้ว และมีนายจ้างหลายแห่งคิดว่าจะใช้มาตรการนี้อย่างแน่นอน เพราะต้นทุนสูง ทำให้ไม่สามารถจ้างพนักงานได้ตามจำนวนเดิม การจะทำให้ต้นทุนค่าจ้างเท่าเดิม ก็คือต้องลดพนักงานลง พอลดพนักงานลง พนักงานแต่ละคนก็จะต้องรับผิดชอบงานที่มากขึ้น ซึ่งนายจ้างก็มองว่า ก็น่าจะคุ้มกับค่าจ้างที่เพิ่มสูงขึ้น
  • ไม่มีนโยบายเพิ่มพนักงานใหม่อีกต่อไป ในช่วงปีหน้าหลังจากที่มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำแล้ว มีหลายองค์กรที่ประกาศออกมาแล้วว่า จะไม่มีการรับพนักงานใหม่เพิ่มเติมอีกต่อไป ใครที่ลาออกไป งานตรงนั้นก็จะถูกถ่ายให้กับพนักงานที่ยังทำงานอยู่เป็นผู้รับผิดชอบต่อ และคิดว่าน่าจะมีการปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานกันมากขึ้นเพื่อให้ต้นทุนการทำงานไม่สูงขึ้นมากนัก และสามารถสร้างผลงานได้มากขึ้นด้วย
  • นำเอาเทคโนโลยีและเครื่องจักรเข้ามาใช้มากขึ้น มาตรการนี้เริ่มต้นมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ที่เริ่มมีข่าวเรื่องของค่าจ้างขั้นต่ำที่สูงขึ้น นายจ้างก็เลยตัดสินใจสั่งซื้อเครื่องจักรเข้ามาใช้แทนคน อาจจะลงทุนสูงในช่วงแรก แต่ก็ทำให้ผลผลิตที่ได้มีความมั่นคง ไม่แกว่งไปตามความสามารถของพนักงานที่ผลิต อีกทั้งการจ้างพนักงานก็จะจ้างจำนวนน้อยลง จ้างแค่คนดูแลเครื่องจักรให้ได้ก็พอ
  • ผลกระทบสุดท้ายอีกอย่างที่น่าจะเกิดขึ้นก็คือ นายจ้างปิดกิจการ เพราะไม่สามารถรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้นได้ ทำไปก็ไม่คุ้มกับต้นทุน ดังนั้นปิดกิจการดีกว่า

เราคงไม่มาวิพากษ์วิจารณ์นโยบายนี้ของทางรัฐบาล เพราะพูดไปก็เท่านั้นไม่มีประโยชน์อะไรเลย เนื่องจากประการใช้เรียบร้อยแล้ว ดังนั้นสิ่งที่องค์กร และผู้ประกอบการควรจะดำเนินการก็คือ เตรียมการ เตรียมตัว และวางแผนเพื่อให้ไม่เกิดปัญหาตามมามากกว่านี้

หลายองค์กรอาจจะมองว่า นี่คือวิกฤตอีกครั้งหนึ่ง แต่ก็ลองพยายามหาทางพลิกวิกฤตินี้ให้เป็นโอกาสในการพัฒนาองค์กรของเราให้อยู่รอดต่อไป ดีไม่ดี เราอาจจะได้แนวทางในการทำธุรกิจแบบใหม่ก็ได้ ใครจะรู้




Create Date : 22 พฤศจิกายน 2555
Last Update : 22 พฤศจิกายน 2555 5:44:13 น. 0 comments
Counter : 1711 Pageviews.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

singhip
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 72 คน [?]




ประคัลภ์ ปัณฑพลังกูร
ที่ปรึกษาทางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล
และการพัฒนาภาวะผู้นำ

วางระบบการบริหารค่าจ้างเงินเดือน ระบบบริหารผลงาน และระบบการบริหารงานทรัพยากรบุคคลให้กับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน
[Add singhip's blog to your web]