HR Management and Self Leadership
<<
กุมภาพันธ์ 2556
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
2425262728 
19 กุมภาพันธ์ 2556

การสรรหาคัดเลือกพนักงาน โดยให้พนักงานมีส่วนร่วมคัดเลือก

อ่านชื่อเรื่องวันนี้แล้วงงมั้ยครับ จริงๆ เป็นเทคนิคการสรรหาคัดเลือกแนวทางหนึ่ง ซึ่งไม่ค่อยมีบริษัทไหนเขาทำกันสักเท่าไหร่ เพราะถ้าพูดถึงการสรรหาคัดเลือกพนักงานใหม่ ก็มักจะถูกมองว่าเป็นหน้าที่ของฝ่ายบุคคลเป็นหลัก ซึ่งฝ่ายบุคคลก็จะเป็นคนกำหนดแนวทางในการสรรหาคัดเลือก พอได้ผู้สมัครมา ก็จะให้ผู้จัดการสายงานต่างๆ เข้ามาสัมภาษณ์เพื่อทำการคัดเลือกต่อไป คำถามก็คือ ทำไมไม่มีการให้พนักงานซึ่งเป็นพนักงานของหน่วยงานนั้นๆ ที่กำลังต้องการหัวหน้าทีม เป็นคนสัมภาษณ์เพื่อช่วยหาหัวหน้าของตนเองอีกทางหนึ่ง

โดยปกติแล้วการคัดเลือกพนักงานมักจะเป็นหน้าที่ของหัวหน้า หรือผู้จัดการ หรือคนที่มีตำแหน่งที่สูงกว่าตำแหน่งที่กำลังจะรับเข้ามา ทำหน้าที่คัดเลือก โดยพิจารณาจากคุณสมบัติต่างๆ ถ้าผ่านการคัดเลือกก็คือ เหล่าบรรดาผู้จัดการที่มีตำแหน่งที่สูงกว่ามองว่า ผู้สมัครรายได้เหมาะกับบริษัท และน่าจะมีศักยภาพที่ทำงานกับเราได้

แต่สิ่งที่ผู้จัดการเหล่านี้มักไม่ค่อยได้มองก็คือ คนที่จะรับเข้ามานั้น จะทำงานกับลูกน้อง และทีมงานของเขาในอนาคตได้หรือไม่ ค่านิยมส่วนตัว กับค่านิยมของพนักงานในทีมงานจะไปด้วยกันได้หรือไม่ แทบจะไม่ได้คิดแทนกลุ่มพนักงานเลย

ผลที่เกิดขึ้นก็คือ สายตาของคนคัดเลือกมองว่าน่าจะทำงานได้ แต่พอเริ่มงานปุ๊ปปัญหาก็มาปั๊ป บางคนก็ยังพอปรับตัวเข้าหากันได้ แต่บางคนไม่สามารถที่จะปรับตัวเข้ากับทีมงานได้เลย สุดท้ายก็คือ ผลงานไม่ออก เพราะตัวหัวหน้าที่เราคัดเลือกเข้ามานั้น ไม่สามารถที่จะบริหารทีมงานของตนเองได้

สิ่งที่ผมนั่งคิดเล่นๆ ก็คือ ทำไมเราไม่ให้พนักงานในทีมงานนั้น เข้ามามีส่วนในการเลือกหัวหน้าของตนเองด้วยล่ะครับ เพราะเขาน่าจะพอมองออกว่า ผู้สมัครคนไหนที่จะมีความสามารถ และมีค่านิยมในการทำงานที่จะเข้ากับทีมงานของตนได้

ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านคงจะสงสัยว่า ถ้าใช้วิธีนี้แล้วมันจะไม่ยุ่งหรือ จริงๆ ก็คงยุ่งเอาการอยู่ถ้าเราไม่มีระบบกำหนดไว้ให้ชัดเจน ถ้าเราอยากจะให้พนักงานเข้ามามีส่วนร่วมในการเลือกหัวหน้าของตนเองด้วย ก็คงต้องมีการเตรียมการในหลายๆ ด้าน อาทิ

  • เตรียมพนักงานให้พร้อม พนักงานทุกคนคงจะเข้ามาสัมภาษณ์ หรือคัดเลือกได้ไม่หมดทุกคนนะครับ จะต้องผ่านการฝึกอบรมทักษะการสัมภาษณ์ด้วย และต้องมีความเข้าใจวัฒนธรรมภายในของทีมตัวเองเป็นอย่างดี และอีกประการหนึ่งก็คือ ควรจะเป็นพนักงานที่มีผลงานที่ดี เพราะถ้าเราเอาพนักงานที่มีผลงานไม่ดีมาเลือกนาย ก็คงเลือกนายที่ไม่ค่อยได้ดีเท่าไหร่ เนื่องจากไม่อยากเจอนายที่เข้ามาแล้วมาใช้งานเขามากไปกว่าสิ่งที่เขาเคยอยู่นั่นเอง
  • ให้พนักงานเข้ามาเป็นคณะกรรมการคัดเลือกด้วย เมื่อพนักงานพร้อมแล้ว เวลาที่จะมีการเลือกหัวหน้า หรือผู้จัดการใหม่ ก็จะให้พนักงานที่มีความพร้อมเข้ามามีส่วนในการสัมภาษณ์ และแสดงความคิดเห็นต่อผู้สมัครที่กำลังจะมาเป็นหัวหน้าเขา
  • กำหนดบทบาทในขณะสัมภาษณ์ ในการสัมภาษณ์ก็คงต้องมีการกำหนดบทบาทของผู้สัมภาษณ์แต่ละคนให้ชัดเจน คนที่เป็นหัวหน้าหรือผู้จัดการก็คงต้องตั้งคำถามในแนวทางที่แตกต่างไปจากคนที่เป็นระดับพนักงาน โดยการสัมภาษณ์แต่ละครั้งจะต้องมีการวางแผนกันล่วงหน้า เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนที่สุดก่อนที่จะตกลงว่าจะเลือกใครเข้ามาทำงาน

ด้วยวิธีการนี้ ผมคิดว่า เราจะได้มุมมองจากหลายๆ ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบุคคล หัวหน้างาน และผู้จัดการ รวมทั้งมุมมองของพนักงานเองอีกมุมหนึ่ง ซึ่งก็น่าจะช่วยให้เราสามารถตัดสินใจเลือกพนักงานได้ดีขึ้น และเหมาะสมกับทีมงานของเรามากที่สุด

มิฉะนั้นอาจจะเข้าข่ายว่า เลือกหัวหน้าใหม่เข้ามา แล้วเราก็เสียลูกน้องมือดีๆ ในทีมไป เพราะทำงานด้วยกันไม่ได้นั่นเอง




Create Date : 19 กุมภาพันธ์ 2556
Last Update : 19 กุมภาพันธ์ 2556 7:35:40 น. 0 comments
Counter : 1982 Pageviews.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

singhip
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 72 คน [?]




ประคัลภ์ ปัณฑพลังกูร
ที่ปรึกษาทางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล
และการพัฒนาภาวะผู้นำ

วางระบบการบริหารค่าจ้างเงินเดือน ระบบบริหารผลงาน และระบบการบริหารงานทรัพยากรบุคคลให้กับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน
[Add singhip's blog to your web]