HR Management and Self Leadership
<<
มกราคม 2553
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
21 มกราคม 2553

องค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ระบบบริหารผลงานประสบความสำเร็จ



คำว่าบริหารผลงาน (Performance Management) ยังคงอยู่ในความสนใจของหลายๆ บริษัท โดยเฉพาะบริษัทที่ต้องการเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรใหม่ ให้เน้นผลงาน แต่อย่างไรก็ดี ก็ยังมีหลายบริษัทที่ยังคงเข้าใจเรื่องของการบริหารผลงานผิดอยู่ดี เพราะเข้าใจว่า การบริหารผลงานก็คือ การประเมินผลงานที่ชัดเจนขึ้น สามารถกำหนดผลงานที่วัดได้ชัดเจน และนำเอาระบบบริหารผลงานเข้ามาใช้แทนระบบการประเมินผลงานเดิมของบริษัท


สิ่งที่ผมอยากบอกก็คือ การบริหารผลงาน และการประเมินผลงานนั้นมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง คำว่าบริหารผลงาน โดยตัวคำมันเองก็บอกอยู่แล้วว่า “บริหารผลงาน” ซึ่งก็คือ การทำให้ผลงานเกิดขึ้นจริงตามเป้าหมายที่วางไว้ ดังนั้นการบริหารผลงานก็คือ การบริหารจัดการเพื่อให้องค์กรสามารถบรรลุเป้าหมายผลงานที่ต้องการได้ โดยอาศัยพนักงานแต่ละคนในองค์กรช่วยกันทำงานตามเป้าหมายของตนเอง ซึ่งเป้าหมายของพนักงานก็ต้องสอดคล้องกับเป้าหมายขององค์กรด้วย


จะเห็นว่าการบริหารผลงานนั้น กินความหมายกว้างกว่าคำว่า การประเมินผลงานมากมายเลยทีเดียว ดังนั้นบริษัทที่ต้องการใช้ระบบบริหารผลงาน ก็คือ บริษัทที่จะเน้นผลงานขององค์กรให้บรรลุเป้าหมาย เน้นไปที่การหาวิธีการทำให้องค์กรไปสู่ผลสำเร็จที่ต้องการมากกว่า แค่ต้องการแค่เครื่องมือในการประเมินผลงานพนักงาน


เพียงแต่ถ้าองค์กรใดนำเอาระบบบริหารผลงานมาใช้นั้น ก็จะสามารถนำเอาระบบนี้มาใช้ในการประเมินผลงานได้ด้วย เพราะด้วยตัวระบบมันมีเครื่องมือช่วยให้การประเมินผลงานทำได้อย่างชัดเจนมาก ขึ้น

ถ้าเราต้องการให้ระบบบริหารผลงานของเราประสบความสำเร็จ องค์ประกอบที่สำคัญจะมีดังนี้ครับ

* Agreement ก็คือมีการกำหนดเป้าหมายร่วมกันในการทำงาน เป้าหมายนี้จะต้องเริ่มตั้งแต่เป้าหมายขององค์กรเลยนะครับ พนักงานทุกคนจะต้องเข้าใจ และมองเห็นเป้าหมายเดียวกันว่าองค์กรจะไปไหน และต้องการบรรลุเป้าหมายอะไรบ้าง พอเข้าใจเป้าหมายขององค์กรแล้ว ก็ต้องเข้าใจเป้าหมายของหน่วยงานซึ่งสอดรับมาจากเป้าหมายขององค์กร จากนั้นก็จะถ่ายทอดลงสู่เป้าหมายของพนักงานแต่ละคน ว่าจะต้องสร้างผลงานอะไร และผลงานที่สร้างนั้นจะมีผลต่อเป้าหมายของหน่วยงาน และต่อเป้าหมายขององค์กรอย่างไร

* Measurement เป้าหมายที่กำหนดนั้นจะต้องมีวิธีการที่ บอกได้ว่าบรรลุหรือไม่บรรลุ จะต้องมีเครื่องมือชี้วัดเป้าหมายที่ชัดเจน วัดและประเมินได้ว่าสำเร็จหรือไม่สำเร็จ โดยที่พนักงานทุกคนจะต้องเข้าใจในเครื่องมือวัดนี้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเรียกกันว่าตัวชี้วัดผลงาน (Performance Indicator) ตัวชี้วัดเหล่านี้ต้องเริ่มตั้งแต่ตัวชี้วัดระดับองค์กรเช่นกันว่า องค์กรต้องทำเป้าอะไร ทำเท่าไร จึงจะถือว่าบรรลุเป้าหมายผลงาน และตัวชี้วัดขององค์กรก็จะกระจายลงสู่ระดับหน่วยงาน และระดับพนักงาน

* Feedback เมื่อมีการกำหนดเป้าหมายร่วมกัน และมีตัวชี้วัดผลงานที่สามารถวัดได้แล้ว สิ่งถัดไปที่ต้องมีก็คือ ระบบการให้ Feedback ผลงานแก่พนักงานทุกคน เพื่อให้พนักงานรู้ว่าขณะนี้ผลงานของเขาบรรลุไปได้มากน้อยแค่ไหน และต้องปรับปรุงและพัฒนาอะไรบ้าง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ เรื่องของการให้ Feedback นี้เองที่เป็นจุดอ่อนของคนไทยส่วนใหญ่ เพราะยังมีความรู้สึกเกรงใจลูกน้องอยู่ ทำให้ไม่กล้าบอกว่าผลงานไม่ดีอย่างไร ต้องแก้ไขอะไรบ้าง ซึ่งจุดนี้เองที่เป็นอุปสรรคสำหรับหลายองค์กรที่ต้องการนำเอาระบบบริหารผล งานมาใช้ ซึ่งก็ต้องแก้ไขโดยการสนับสนุนการให้ Feedback ที่ดี และมีระบบในการตรวจสอบการให้ Feedback ของหัวหน้างาน

* Positive Reinforcement ก็คือ การส่งเสริมให้พนักงานสร้างผลงาน โดยเน้นการพัฒนาเป็นหลัก เพื่อให้พนักงานรู้สึกอยากพัฒนาผลงานต่อไปเรื่อยๆ เมื่อพนักงานทำผลงานไม่ได้ตามเป้าที่กำหนด หัวหน้างานก็ต้องคอยสนับสนุน ให้การพัฒนา ให้การสอนงาน และให้กำลังใจ เพื่อให้พนักงานสามารถสร้างผลงานได้ตามเป้าหมายที่กำหนด ไม่ใช่เอาแต่ดุด่าว่ากล่าว และตำหนิอย่างเสียๆ หายๆ แล้วก็ไม่มีการพัฒนาแต่อย่างใด แบบนี้พนักงานที่ไหนจะอยากทำงานให้ ผลงานก็จะไม่เกิดขึ้น เมื่อพนักงานไม่สามารถทำผลงานได้ตามเป้า หัวหน้าก็ไม่ได้เป้า หน่วยงานก็ไม่ได้เป้า มันก็ไล่ไปจนถึงองค์กรก็ไม่ได้เป้าเช่นกัน ดังนั้นถ้าจะนำระบบบริหารผลงานมาใช้อย่างจริงๆ จะต้องสร้างบรรยากาศในการทำงานเชิงบวกขึ้นให้ได้ ผลงานไม่ดี ก็ต้องเน้นการพัฒนา และทำให้ดี เน้นการให้ความช่วยเหลือพนักงานเพื่อให้บรรลุผลงานให้ได้ (ผมเคยเห็นหัวหน้างานนั่งหัวเราะด้วยความสะใจที่ลูกน้องของตนเองไม่สามารถ บรรลุเป้าหมายผลงานที่กำหนดไว้)

* Dialog ก็คือการสื่อความเรื่องของผลงาน จะต้องมีการพูดคุยกันอย่างเปิดเผยในเรื่องของผลงาน มีการสื่อความกันอย่างสม่ำเสมอทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ เพื่อดูความคืบหน้าของผลงาน การให้ Dialog เรื่องผลงานของหัวหน้างาน ก็จะประกอบไปด้วย การติดตามผลงาน การสอนงาน และการให้คำปรึกษาแก่พนักงาน

* Reward ตัวสุดท้ายที่ขาดไม่ได้ก็คือ การให้รางวัลตอบแทนผลงาน ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นแค่ตัวเงินนะครับ รางวัลตอบแทนผลงานนั้นมีมากมาย ส่วนใหญ่ก็แยกออกเป็นรางวัลที่จับต้องได้ เช่น การให้โบนัสผลงาน การให้เงินรางวัลผลงาน ฯลฯ และรางวัลที่จับต้องไม่ได้ก็คือ คำชมเชย การให้ความสำคัญกับพนักงาน การให้การยอมรับนับถือพนักงาน และการส่งเสริมให้พนักงานได้รับความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน การฝึกอบรม ฯลฯ เมื่อพนักงานทำงานได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ องค์กรเองก็ต้องมีการจัดให้มีระบบการให้รางวัลตามผลงาน ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องของโบนัสตามผลงาน เช่น ถ้าสามารถช่วยกันทำงานจนองค์กรบรรลุเป้าหมายที่กำหนด ก็จะมีการจ่ายโบนัสให้กี่เดือนก็ว่ากันไป

สิ่งเหล่านี้ก็คือองค์ประกอบที่สำคัญในการทำระบบบริหารผลงานให้ประสบความ สำเร็จ ลองนำไปพิจารณาดูนะครับว่า ในองค์กรของเรายังมีจุดอ่อนในเรื่องใดบ้าง ผมเองก็มักจะใช้ทั้งหกตัวนี้ในการประเมินว่า ระบบบริหารผลงานของแต่ละองค์กรนั้นยังต้องปรับปรุงเรื่องอะไรบ้าง ซึ่งจากประสบการณ์ของผมเองนั้น ส่วนใหญ่จะขาดเรื่องของ Soft Skill มากกว่า ก็คือ การให้ Feedback การใช้ dialog การขาดการสนับสนุนจากผู้บริหารระดับสูงเรื่องของ Positive Reinforcement และสุดท้ายก็คือ Reward ที่ไม่เชื่อมกับระบบบริหารผลงานเลย

แล้วจะเหลืออะไรล่ะครับเนี่ยะ คำตอบก็คือ องค์กรจะมีเพียงแต่ตัวชี้วัดผลงานเท่านั้น แต่ไม่มีวิธีการทำให้ตัวชี้วัดนั้นไปสู่เป้าหมายอย่างแท้จริง เพราะพนักงานเองก็ยังคงทำงานเหมือนเดิมทุกวัน มีตัวชี้วัดก็เหมือนไม่มี การบริหารผลงานก็เลยไม่สามารถไปสู่ความสำเร็จได้



Create Date : 21 มกราคม 2553
Last Update : 21 มกราคม 2553 5:54:36 น. 0 comments
Counter : 1245 Pageviews.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

singhip
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 72 คน [?]




ประคัลภ์ ปัณฑพลังกูร
ที่ปรึกษาทางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล
และการพัฒนาภาวะผู้นำ

วางระบบการบริหารค่าจ้างเงินเดือน ระบบบริหารผลงาน และระบบการบริหารงานทรัพยากรบุคคลให้กับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน
[Add singhip's blog to your web]