HR Management and Self Leadership
<<
ธันวาคม 2554
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
7 ธันวาคม 2554

ค่าจ้างเงินเดือน ควรบริหารโดยใคร


วันนี้ขอแตะประเด็นการบริหารค่าจ้างเงินเดือนพนักงานของบริษัท ว่าควรจะให้ใครบริหารค่าจ้างเงินเดือน ระหว่าง ฝ่ายบุคคล หรือ ผู้จัดการฝ่ายต่างๆ ให้เขาไปบริหารกันเองดี ประเด็นนี้ผมได้รับข้อถกเถียงจากผู้จัดการตามสายงานของบริษัทหนึ่ง ซึ่งสอบถามมาว่า ทำไมไม่ให้แต่ละหน่วยงานบริหารค่าจ้างพนักงานกันเอง เพราะเขาถือว่าเขาเป็นผู้บริหารของหน่วยงาน ดังนั้นเขาน่าจะบริหารทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับพนักงานที่สังกัดหน่วยงานของเขา


ไม่ทราบว่าท่านผู้อ่านคิดอย่างไรครับ


ประเด็นสาเหตุของความขัดแย้งระหว่างฝ่ายบุคคลกับผู้จัดการสายงานรายนี้ก็คือ ผู้จัดการสายงานต้องการว่าจ้างพนักงานใหม่ และทุกครั้งที่มีการว่าจ้างพนักงานใหม่นั้น พอผู้จัดการคนนี้สัมภาษณ์เสร็จปุ๊ป ถ้าพอใจผู้สมัครเขาก็จะทำการตกลงเงินเดือนกับผู้สมัครคนนั้นเลย โดยไม่หารือ กับฝ่ายบุคคล และไม่พิจารณาโครงสร้างเงินเดือน และอัตราเงินเดือนของพนักงานที่ทำงานอยู่ในปัจจุบันด้วยซ้ำไป


ซึ่งผลของการทำแบบที่กล่าวมา ปัญหาก็คือ เมื่อพนักงานมาคุยกันเอง ก็รู้เงินเดือนของกันและกัน ปัญหาก็เลยเกิดขึ้นว่า ทำไมคนใหม่ที่เข้ามายังไม่รู้เรื่องอะไร ผลงานก็ยังไม่ได้สร้างเลย แต่ได้เงินเดือนสูงกว่าพนักงานเก่าที่ทำงานและสร้างผลงานมาก่อนอีก ซึ่งปัญหานี้ ผู้จัดการคนนี้ก็ตอบกลับมาว่า “อันนี้ต้องไปปรึกษาฝ่ายบุคคลเอาเอง ไม่ใช่หน้าที่ของผม” ซะงั้น!!!


ปัญหาเกิดที่ตัวผู้จัดการคนนี้เป็นคนเริ่มต้นโดยการกำหนดอัตราเงินเดือนพนักงานด้วยตนเอง แต่ฝ่ายบุคคลก็ผิดที่ยอมให้เข้ามาด้วยเงินเดือนนั้นๆ ทั้งๆ ที่รู้ว่าอาจจะเกิดปัญหาตามมาในอนาคต แต่ก็อย่างว่า อำนาจสู้ไม่ได้ เพราะผู้จัดการคนนี้วิ่งเข้าหาผู้บริหารระดับสูงเพื่อของอนุมัติเลย


ปัญหาเรื่องการบริหารค่าจ้างเงินเดือนในกรณีแบบนี้ ไม่ควรจะเกิดขึ้นในองค์กรเพราะทำให้เกิดความระส่ำระส่ายของพนักงาน พนักงานเองจะรู้สึกว่าบริษัทไม่เป็นธรรมในการจ่ายค่าจ้างเงินเดือน ดังนั้นถ้าจะให้ดี เรื่องของการบริหารค่าจ้างเงินเดือนนั้น ควรจะบริหารดังต่อไปนี้ครับ



  • ฝ่ายบุคคลเป็นผู้กำหนดอัตราแรกจ้างตามวุฒิการศึกษา และกำหนดอัตราโครงสร้างเงินเดือนของบริษัททั้งหมดในภาพรวม โดยมีผู้บริหารระดับสูงเป็นผู้อนุมัติให้ใช้ เมื่อมีโครงสร้างเงินเดือนแล้ว จะต้องบริหารตามโครงสร้างที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด



  • ผู้จัดการตามสายงานจะไม่มีอำนาจในการกำหนดอัตราเงินเดือนให้พนักงานด้วยตนเอง ถ้าสัมภาษณ์แล้วชอบใจผู้สมัคร อาจจะพูดคุยเรื่องของอัตราเงินเดือนได้ แต่สุดท้ายจะให้เท่าไหร่นั้น จะต้องให้ฝ่ายบุคคลเป็นผู้พิจารณากำหนดอัตรา เพื่อไม่ให้เกิดปัญหากับคนในด้วย ประเภทคนใหม่ได้รับเงินเดือนมากกว่าคนเก่าที่มีฝีมือดีๆ



  • ผู้บริหารระดับสูงสุดเองก็ต้องเดินตามนโยบายที่ตนเป็นผู้อนุมัติเอง ไม่ใช่พอผู้จัดการฝ่ายเข้ามาขอให้ให้เงินเดือนตามที่เขาขอ โดยข้ามฝ่ายบุคคล แล้วผู้บริหารก็ตัดสินใจเลย แบบนี้จะสร้างปัญหามากกว่า ดังนั้นถ้าเกิดกรณีแบบนี้ขึ้น ผู้บริหารระดับสูงจะต้องชี้แจงให้ไปหารือกับทางฝ่ายบุคคล เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายหลักของบริษัท จะได้ไม่เกิดปัญหา ไม่งั้นคราวหน้าผู้จัดการฝ่ายทุกคนก็จะเดินหน้าเข้าหาผู้บริหารระดับสูงเพื่อขออนุมัติเงินเดือนพนักงานกันเองเลย ซึ่งรังแต่จะสร้างปัญหาในการบริหารค่าจ้างเงินเดือนในระยะยาว เพราะไม่มีมาตรฐานกำหนดไว้



  • ฝ่ายบุคคลเองก็ต้องทำหน้าที่ในการปรับปรุงข้อมูลเรื่องค่าจ้างเงินเดือนให้ทันสมัยที่สุด ว่าอัตราที่เราใช้อยู่นั้นยังสามารถว่าจ้างพนักงานได้หรือไม่ ไม่ใช่มั่นใจในอัตราของตนเองมาก โดยไม่ได้พิจารณาอัตราของตลาดเลย และยังคงคิดว่าเราจ่ายได้ดีอยู่ ทั้งๆ ที่ตลาดขยับแซงหน้าไปนานแล้ว ถ้าเป็นแบบนี้ผู้จัดการฝ่ายเองก็จะไม่เชื่อถือในฝ่ายบุคคล เพราะอัตราที่กำหนดไม่สามารถที่จะดึงดูดพนักงานใหม่ได้เลย ก็เลยเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้จัดการฝ่ายอยากกำหนดเงินเดือนเอง



  • ส่วนเรื่องของการขึ้นเงินเดือนตามผลงานนั้น โดยหลักการแล้ว ฝ่ายบุคคลจะผู้คำนวณอัตราการขึ้นเงินเดือนโดยใช้งบประมาณที่ได้รับอนุมัติจากฝ่ายบริหาร ส่วนคนที่จะต้องทำหน้าที่ขึ้นเงินเดือนให้พนักงานก็คือ บรรดาผู้จัดการฝ่ายต่างๆ โดยแต่ละฝ่ายจะได้รับงบประมาณตามสัดส่วนที่กำหนดไว้ และให้นำงบประมาณก้อนนี้ไปขึ้นเงินเดือนตามผลงานให้กับพนักงานในฝ่ายตามผลงานที่แต่ละคนทำได้ ซึ่งจะทำให้ผู้จัดการแต่ละคนจะต้องทำหน้าที่ในการให้คุณให้โทษพนักงานไปในตัว ผู้จัดการคนใด ที่บอกว่าพนักงานของคนเองนั้น A หมดฝ่าย ก็คงต้องให้ทุกคนเท่ากันเพราะทั้งฝ่ายมีงบประมาณกำหนดไว้ และในการให้ทุกคนเท่ากันก็แปลว่าทุกคได้แค่ C เท่านั้น ไม่ใช่ A ผลก็คือผู้จัดการฝ่ายจะต้องพิจารณาผลงานพนักงานอย่างรัดกุม เพราะพนักงานจะถามแน่ๆ ว่าทำไมถึงได้เท่านี้ และถ้าผู้จัดการฝ่ายไม่มีคำตอบที่ดีให้ ความน่าเชื่อถือในการบริหารคนของเขาก็จะลดน้อยลงไปด้วย


ดังนั้นการที่เราจะบริหารค่าจ้างเงินเดือนของบริษัทให้ได้ผลดีนั้น ฝ่ายบุคคลจะต้องร่วมกับผู้จัดการฝ่ายทำความเข้าใจหลักการและวิธีการบริหารค่าจ้างเงินเดือนทั้งหมดของบริษัท และรับทราบอำนาจหน้าที่ของตนเองในการบริหารค่าจ้างเงินเดือนให้ชัดเจน ว่าอะไรทำได้ อะไรทำเองไม่ได้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาในอนาคตครับ






Free TextEditor


Create Date : 07 ธันวาคม 2554
Last Update : 7 ธันวาคม 2554 6:19:15 น. 0 comments
Counter : 1312 Pageviews.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

singhip
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 72 คน [?]




ประคัลภ์ ปัณฑพลังกูร
ที่ปรึกษาทางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล
และการพัฒนาภาวะผู้นำ

วางระบบการบริหารค่าจ้างเงินเดือน ระบบบริหารผลงาน และระบบการบริหารงานทรัพยากรบุคคลให้กับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน
[Add singhip's blog to your web]