HR Management and Self Leadership
<<
เมษายน 2555
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
23 เมษายน 2555

อย่ามัวแต่หาทางปรับค่าจ้างให้น้อยที่สุด ควรมองผลที่จะเกิดขึ้นด้วย

เดือนเมษายนนี้เป็นเดือนที่ร้อนมากนะครับ แต่มีอีกเรื่องที่ร้อนไม่แพ้กันก็คือ เรื่องของการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ ซึ่งเรื่องราวในการปรับค่าจ้างขั้นต่ำนี้ ยังคงร้อนแรง และเป็นเรื่องที่หลายบริษัทยังไม่มีข้อสรุปว่าจะปรับกันเท่าไหร่ และอย่างไร

แค่เพียงช่วงเดือนเมษายนนี้ ผมได้รับคำถามเกี่ยวกับการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำนี้มาอย่างมากมายครับ แต่ละคำถามก็ต้องการจะหาทางในการเลี่ยงการปรับค่าจ้างที่สูงมาก ซึ่งในฝ่ายนายจ้างเองก็คงจะคิดหนัก เพราะเป็นต้นทุนที่สูงขึ้นอย่างมากภายในปีเดียว นายจ้างต้องใช้เงินเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 30% ทั้งองค์กร ในการปรับค่าจ้างนี้ ซึ่งถ้าไม่มีกรณีนี้เกิดขึ้น ปกติแต่ละองค์กรก็ใช้เงินประมาณ 5-8% โดยเฉลี่ยในการปรับค่าจ้างให้กับพนักงานทั้งองค์กร

แต่จะทำอย่างไรได้ เพราะนี่คือกฎหมายที่บังคับใช้กับภาคธุรกิจที่มีการจ้างงานแรงงาน สิ่งที่นายจ้างต้องทำต่อไปก็คือ เปลี่ยนระบบและวิธีการบริหารงาน บริหารทรัพยากรบุคคลใหม่ ให้เกิดประสิทธิผลมากขึ้นกว่าเดิม ถ้ามัวแต่มาคิดว่าจะปรับอย่างไรให้น้อยที่สุด หรือจะทำอย่างไรที่ไม่ต้องปรับค่าจ้างให้กับพนักงานบางคน ถ้ามัวแต่คิดแต่เรื่องเหล่านี้ผมคิดว่า ปัญหาจะเกิดขึ้นในระยะยาวมากกว่า

สิ่งที่ผมสังเกตเห็นก็คือ มีหลายบริษัทมากนะครับ ที่แจ้งกับพนักงานว่า จะปรับสภาพการจ้างพนักงานรายเดือนเดิม ให้เปลี่ยนสภาพมาเป็นพนักงานวัน เพื่อที่จะจ่ายค่าจ้างโดยการคูณจำนวนวันทำงาน ไม่ต้องคูณด้วย 30 วัน ผลก็คือ อัตราค่าจ้างที่จ่ายในแต่ละเดือนก็จะต่ำลงว่าการจ่าย 300 บาทเต็มๆ เช่น 300x22 ก็เท่ากับ 6,600 เท่านั้น หรือบางบริษัทคูณด้วย 26 ก็ได้เท่ากับ 7,800 บาทเท่านั้นเอง ไม่ถึง 9,000 บาท ซึ่งนายจ้างหลายบริษัทเห็นช่องว่างนี้อยู่ก็เลยคิดถึงวิธีการปรับจากรายเดือนเป็นรายวัน

ประเด็นถูก หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมายนั้น ผมคงไม่แตะมากนักเพราะน่าจะเห็นๆ อยู่ว่าเป็นอย่างไร แต่ประเด็นที่สำคัญกว่านั้นก็คือ ประเด็นเรื่องของการแข่งขันในการว่าจ้างพนักงาน และรักษาพนักงานมากกว่าครับ สิ่งที่นายจ้างจะต้องคิดให้รอบคอบก็คือ การบริหารในระยะยาวมากกว่านะครับ เพราะถ้าเราพยายามหาวิธีการที่จะจ่ายให้ต่ำที่สุด เช่นเปลี่ยนจากรายเดือนเป็นรายวัน สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ

  • ปัญหาในการหาพนักงานใหม่ เพราะถ้าเราจ่ายต่ำกว่าที่อื่น ที่เขาให้กันที่ 9,000 บาท แต่เราให้ไม่ถึง หรือให้เป็นรายวันแทนนั้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ เราจะหาพนักงานยากขึ้นไปอีกครับ เพราะคงไม่มีพนักงานคนไหนที่งานปกติเป็นรายเดือน จะต้องเปลี่ยนสภาพมาเป็นรายวัน โดยที่ยังมีทางเลือกก็คือบริษัทอื่นข้างนอกก็จ่ายมากกว่า ผู้สมัครก็จะไม่มาทำงานกับบริษัทเราแน่นอน ผลก็คือ เราจะหาคนยากขึ้นไปอีก งานก็จะช้าลง เพราะขาดคนทำงาน ผลงานก็ไม่ออกอีก
  • ปัญหาถัดไปก็คือ ปัญหาในการรักษาพนักงานเดิมในบริษัท เพราะถ้าเราปรับให้น้อยกว่าที่อื่นที่เขาปรับกัน หรือหาทางเลี่ยงในการปรับ ก็จะทำให้นายจ้ายใช้เงินปรับน้อยลง แต่สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาก็คือ พนักงานเกิดการเปรียบเทียบกับองค์กรอื่น ที่ปรับเป็น 9,000 บาท แล้ว ผมเชื่อว่า ไม่นานหรอกครับ พนักงานที่มีความสามารถพอ มีทักษะในการทำงานที่เป็นที่ต้องการ ก็จะลาออกและไปทำงานกับบริษัทอื่นที่จ่ายดีกว่า ในงานที่ยากพอๆ กันกับที่เราทำในบริษัทเดิม ผลก็คือ เราจะขาดคนเก่งๆ ไป และยังหาคนใหม่ยากอีก สุดท้าย ผลงานขององค์กรก็จะไม่ออกตามเป้า เพราะขาดกำลังคน
  • ผลกระทบถัดไปก็คือ พนักงานที่ไม่สามารถไปไหนได้ อันเนื่องจากฝีมือไม่ดี ผลงานไม่ค่อยเข้าตา จะไปทำงานที่อื่นก็ไม่มีใครรับ สุดท้ายก็อยู่ในบริษัทเรา โดยอาศัยฝีมือที่แย่ๆ สร้างผลงานให้กับบริษัท คิดว่าบริษัทจะไปได้ไกลอีกสักเท่าไหร่
  • หลายคนอาจจะมองว่าส่วนใหญ่ที่กระทบก็เป็นแค่ระดับแรงงานเท่านั้น แต่เชื่อมั้ยครับว่า ระดับแรงงานนี่แหละครับ ที่หลายบริษัทบ่นว่า หาคนยากมาก ขนาดบางบริษัทจ่ายค่าจ้างรายวันสูงกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตั้งเยอะ ก็ยังหาคนมาทำงานแทบไม่ได้เลย แล้วถ้าท่านยิ่งจ่ายต่ำกว่าที่กำหนดไว้ ผมว่าจะยิ่งหาแรงงานกลุ่มนี้ได้ยากขึ้นไปอีก เพราะคนอื่นเขาอาจจะจ่ายสูงกว่าเรา
  • ประเด็นสุดท้ายที่สำคัญมากก็คือ นายจ้างหลายบริษัท ไม่มีนโยบายในการปรับผลกระทบให้กับพนักงานเก่าที่ทำงานกับองค์กรมาก่อน โดยกำหนดนโยบายการปรับค่าจ้างไว้สำหรับพนักงานที่ได้รับเงินเดือนต่ำกว่า 9,000 บาท ก็จะปรับให้เป็น 9,000 ส่วนใครที่ได้ 9,000 อยู่แล้ว หรือมากกว่า 9,000 ก็จะไม่ได้รับการปรับใดๆ ซึ่งนโยบายแบบนี้ไม่ผิดกฎหมายเลย แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ ขวัญและกำลังใจของพนักงานเก่าที่ทำงานมาสักพัก จะหดหายไปในทันที เพราะคนใหม่ เข้ามายังไม่ทันไร ก็ได้เงินเดือนเท่ากับที่เขาที่หลังขดหลังแข็งทำงานมาพักใหญ่ แต่กลับได้เงินเดือนเท่ากัน หรือใกล้เคียงกันมาก ผลสุดท้ายถ้าพนักงานคนนั้นเป็นคนที่เก่งพอ ก็จะไปจากบริษัทอย่างแน่นอน

ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ผมเน้นไปที่ประเด็นการบริหารค่าจ้างเงินเดือนมากกว่าประเด็นทางกฎหมายนะครับ เป้าหมายหลักของการบริหารค่าจ้างเงินเดือนก็คือ “ดึงดูด และ รักษา” พนักงานให้ทำงานกับองค์กร รวมทั้งสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในการจ่ายค่าจ้าง

ผมอยากให้นายจ้างลองพิจารณาว่าสิ่งที่บริษัทเราทำเกี่ยวกับการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำนั้น มันขัดกับหลักการบริหารค่าจ้างหรือไม่ เพราะนี่คือสาเหตุของปัญหาในการบริหารทรัพยากรบุคคลที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาอีกมากมายครับ




 

Create Date : 23 เมษายน 2555
0 comments
Last Update : 23 เมษายน 2555 6:46:23 น.
Counter : 1542 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


singhip
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 72 คน [?]




ประคัลภ์ ปัณฑพลังกูร
ที่ปรึกษาทางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล
และการพัฒนาภาวะผู้นำ

วางระบบการบริหารค่าจ้างเงินเดือน ระบบบริหารผลงาน และระบบการบริหารงานทรัพยากรบุคคลให้กับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน
[Add singhip's blog to your web]