จงให้ความสำคัญต่อสิ่งที่ถูกต้อง มากกว่าสิ่งที่ถูกใจ
Group Blog
 
<<
เมษายน 2555
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
 
26 เมษายน 2555
 
All Blogs
 

เงื่อนไขการปฏิวัติ - บทที่ 8 คลื่นใต้น้ำที่สงบนิ่ง (ตอนที่ 1)

โดย พ.ต.อ. พุฒ บูรณสมภพ


เขียนระหว่างปี พ.ศ. 2526 - 2528

บทที่ 8 คลื่นใต้น้ำที่สงบนิ่ง
ตอนที่ 1

หลังจากการปราบปรามกบฏ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๒ เรียบร้อยลงไปแล้ว ความสงบเงียบที่ตามมานั้น เป็นความสงบที่มีคลื่นใต้น้ำก่อตัวขึ้นมาอย่างเงียบๆ เหมือนกัน

อำนาจนั้นเป็นสิ่งหอมหวน ในขณะเดียวกันมันก็เป็นสิ่งยอกหัวใจของผู้สูญเสียอำนาจไปด้วย ตราบใดที่ชีวิตยังไม่สิ้น และได้มองเห็นคณะบุคคลที่ช่วงชิงอำนาจไปจากตัวนั้นได้เสวยสุขอยู่กับอำนาจนั้น ในใจมันก็ต้องคิดวุ่นวาย แค้นเคือง หาทางที่จะช่วงชิงเอาอำนาจกลับมาให้ได้

การลำดับเหตุการณ์ที่ผมได้เขียนมาตั้งแต่ต้น เริ่มตั้งแต่เมื่อคณะราษฎร์ได้คิดทำการโค่นอำนาจคณะพระบรมวงศานุวงศ์ลงมาได้เมื่อ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เอาคอพาดเขียงอย่างกล้าหาญและเสียสละอย่างเสี่ยงต่อชีวิตและทุกสิ่งทุกอย่างของตัวเองมาแล้วนั้น ครั้งนั้นเป็นการคิดก่อการที่ต้องเสียสละจริงๆ

ก่อนหน้านั้น การปกครองประเทศอยู่ในกำมือของเจ้านายชั้นสูงส่วนมาก แทบจะเรียกว่าทั่วประเทศ การแต่งตั้งเสนาบดีว่าการกระทรวงต่าง ๆ ก็ดี ตลอดจนการแต่งตั้งผู้ว่าราชการไปประจำต่างจังหวัดเป็นผู้ดูแลปกครองก็เรียกกันว่า ต่างพระเนตรพระกรรณ คือเป็นตัวแทนของพระเจ้าอยู่หัวที่จะต้องรับผิดชอบต่อการปกครองหัวเมืองแทนพระองค์ ฉะนั้น การที่จะให้ใครกินตำแหน่งนี้นั้นก็ต้องเป็นผู้ที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยเป็นอย่างมาก เพราะจะต้องเป็นผู้ที่เก็บภาษีอากร ดูแลในการจัดการเรื่องความสงบเรียบร้อยของแต่ละจังหวัดที่ถูกส่งไปนั้นต่างพระเนตรพระกรรณจริงๆ

การคมนาคมสมัยนั้นไม่ได้มีถนนหนทาง หรือเครื่องบิน ที่จะไปมาหาสู่กันได้สะดวกรวดเร็วอย่างเช่นในปัจจุบันนี้ หนทางการติดต่อกันระหว่างจังหวัดต่าง ๆส่วนมากต้องใช้เรือ หรือไม่ก็เดินเท้า หรือเดินทางโดยทางเกวียน กินเวลาหลายวันจากจังหวัดหนึ่งไปอีกจังหวัดหนึ่ง และโดยเฉพาะการติดต่อกันระหว่างกรุงเทพ ฯอันเป็นเมืองหลวงกับต่างจังหวัดแล้วก็ยิ่งใช้เวลานับเป็นวัน ๆ หรือไม่ก็เป็นสัปดาห์ เหมาะ ๆ อาจจะเป็นเดือน ๆ เอาเลยทีเดียว การสื่อสารทางไปรษณีย์น่ะหรือ เดินทางไปหากันยังจะเร็วกว่าในที่บางแห่ง

ผู้ถูกส่งไปเป็นข้าราชการชั้นสูงสุดของแต่ละจังหวัดนั้น เรียกกันว่า เจ้าเมือง สมัยโน้นถือกันว่า ให้ไปกินเมืองเลยทีเดียว คือไปอยู่เป็นเจ้าเมืองนั้น เรียกเก็บภาษีอากรในจังหวัดเอาเอง ใช้เงินส่วนหนึ่งจากภาษีอากรนั้น ๆบำรุงจังหวัดของตนส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งก็ต้องจัดเก็บส่งเข้ามาในเมืองหลวงเข้าท้องพระคลัง

ผู้ว่าราชการหรือเจ้าเมืองสมัยนั้น สามารถที่จะออกคำสั่งประหารชีวิตผู้ที่กระทำความผิดถึงขั้นฉกรรจ์ได้  โดยไม่ต้องนำความเข้ามาขอคำสั่งจากเมืองหลวง  เรียกว่าได้พระราชอำนาจไปปกครองจริง ๆและมีอำนาจที่จะชี้ชะตาชีวิตของผู้คนในความปกครองได้อย่างเด็ดขาดแต่ผู้เดียวของจังหวัดนั้นที่ตนเป็นเจ้าเมืองอยู่ เรียกว่าได้รับมอบพระราชอำนาจจากองค์พระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์ตามพระบรมราชโองการแต่งตั้ง

อำนาจอันเด็ดขาดและสูงส่งอันนี้ ทำให้ผู้ที่ได้รับพระราชอำนาจบางคนได้ไปกระทำการอันเป็นการรังแกประชาชนก็มีไม่น้อย ซึ่งเป็นธรรมดาของมนุษย์ที่จะต้องมีคนหลงอำนาจและถือตนเองเป็นใหญ่โดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของคนในปกครองอยู่บ้าง จนเป็นเหตุให้เกิดความไม่พออกพอใจของบุคคลหลายคนบางกลุ่ม

หากการปกครองที่เป็นธรรมมีอยู่ในที่ใด ที่นั่นก็ย่อมมีแต่ความสงบสุข แต่ว่าจิตใจของมนุษย์ปุถุชนนั้นยังไม่พ้นกิเลสไปได้ก็ย่อมต้องมีบุคคลที่แสวงหาความสุขและความมั่งมีจากการใช้อำนาจอันไม่เป็นธรรมปะปนอยู่บ้างในคณะบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งให้ไปเป็นเจ้าเมืองต่างๆ ที่ห่างไกลเหล่านั้น

ความเดือดร้อนของประชาชนดังกล่าวนี้ค่อยๆ ก่อหวอดขึ้นเป็นความไม่พอใจ แล้วก็เติบโตขึ้นเป็นความโกรธแค้นชิงชัง เติบโตต่อไปเป็นการรวมตัวกันของผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนนั้นเป็นหมู่คณะ เติบใหญ่ขึ้นเป็นกลุ่มชนที่มีพลังที่จะแก้แค้นตอบโต้ความไม่เป็นธรรมของบุคคลผู้ที่ใช้อำนาจในทางไม่เป็นธรรมเหล่านั้น พฤติกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นในชุมชนจังหวัดต่าง ๆที่ผู้ปกครองไม่มีความเป็นธรรม แล้วมันก็ลุกลามไปทั่วประเทศจนเข้ามาถึงในเมืองหลวง

คณะบุคคลที่ร่วมกันคิดการคณะนี้จะเริ่มก่อตัวกันขึ้นอย่างไร ไม่มีใครบันทึกเอาไว้ให้เป็นหลักฐานของการเริ่มต้นในทางความคิด แต่ก็ปรากฏว่า ส่วนหนึ่งของผู้ก่อการนี้เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ทั้งในวงการทหารและพลเรือน มีบุคคลธรรมดาสามัญอยู่เป็นส่วนน้อยเสียด้วยซ้ำ

ขณะนั้นเป็นช่วงเวลาสมัยที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงในทางลัทธิการปกครองในต่างประเทศบางประเทศแล้ว อย่างในรัสเซีย พระเจ้าซาร์นิโคลาสแห่งราชวงศ์โรมานอพ ก็ได้เสียพระราชอำนาจให้กับการปฏิวัติของปวงชน นำโดยคณะบอสเชวิคซึ่งมีเลนินเป็นหัวหน้า และนำเอาลัทธิคอมมิวนิสต์มาใช้ในการปกครองประเทศ กวาดล้างสถาบันกษัตริย์ไปจนหมดสิ้น ที่หลบหนีไม่ทันก็ถูกประหารอย่างทารุณ ระบอบเจ้าเชื้อพระวงศ์ในรัสเซียถูกทำลายพินาศในยุคนั้น

สาเหตุเกิดขึ้นจากการกดขี่ข่มเหงประชาชนของผู้มีอำนาจจนลืมตัว ทำให้ความความชิงชังก่อตัวขึ้นทั่ว ๆ ไป จากเล็กน้อยจนเติบโตเป็นพลังมหาชน และเมื่อประชาชนยอมรับเพื่อที่จะให้ได้ความเป็นอยู่ที่ดีกว่า การเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้นโดยประสบความสำเร็จ

เป็นสิ่งที่แปลกประหลาดอย่างหนึ่งที่ว่า ลัทธิคอมมิวนิสต์อันมีเจ้าของความคิดที่ชื่อว่าคาร์ล มาร์กซ์ นั้นเป็นลัทธิที่เกิดขึ้นจากความคิดของคนเยอรมัน หนังสือเผยแพร่ลัทธินี้เขียนขึ้นโดยคนเยอรมัน คือคาร์ล มาร์กซ์ ไปเผยแพร่ก่อตัวขึ้นในฝรั่งเศส เป็นวิชาการด้วยตัวหนังสือที่นั่น แล้วก็มาเติบโตในรัสเซีย ไปวางรากฐานเอาในประเทศที่มีระบอบกษัตริย์ ฝรั่งเศสนั้นการล้มราชวงศ์กษัตริย์ก็มีมาก่อนรัสเซียหลายปี เมื่อหัวหน้ากบฏซึ่งชื่อ โรแบสเปียร์-ดังตองต์และมาราต์ ซึ่งเป็นคณะบุคคลที่คบคิดกันล้ม พระนางมารี-อังตัวเนต ลงได้นั้น

สมัยนั้นรัสเซียมีพระเจ้าซาร์ปกครองประเทศอยู่อย่างมั่นคงทรงอำนาจเด็ดขาด คณะบุคคลที่ล้มล้างราชบัลลังก์ลงได้นั้น รับเอาลัทธิของคาร์ล มาร์กซ์ไปใช้ในการปกครองประเทศ ความคิดของคาร์ล มาร์กซ์ไปเติบโตเอาในฝรั่งเศสจนแทรกซึมเข้ารัสเซียได้เพราะเหตุการณ์ทางการเมืองเปิดโอกาสให้ โดยมีความเดือดร้อนของประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากชนชั้นปกครอง เป็นที่เพาะเชื้อรวมกำลังความคิดและกำลังคนเติบใหญ่ขึ้น จนในที่สุด ความไม่แยแสและหลงไหลในอำนาจของคณะผู้ปกครองนั่นเองที่ก่อให้เกิดความประมาท คิดเสียว่าไม่มีใครที่จะมาเปลี่ยนแปลงฐานะของพวกตนได้ ความประมาทต่อเหตุการณ์นี่เองที่ทำให้ต้องสูญเสียอำนาจ

บทเรียนอันเป็นสัจจะอันนี้ใช้ได้กับทุกๆ ประเทศที่มีการปกครองด้วยคณะบุคคลที่ไม่เอาใจใส่กับประชาชนคนเดินดิน และยิ่งในประเทศที่กำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนาด้วยแล้ว โอกาสที่จะมีการเปลี่ยนแปลงย่อมมีสูง ประชาชนย่อมยอมรับของใหม่ที่จะทำให้วิถีชีวิตของเขามีการเปลี่ยนแปลง แต่จะเปลี่ยนแปลงไปหาสิ่งที่ดีกว่าหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ไม่คำนึงถึง ขอให้ได้รับการเปลี่ยนแปลงในช่วงนั้นก็พอใจแล้ว

การเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะบุคคลที่เรียกตัวเองว่าคณะราษฎร์ฯ เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ประชาชนส่วนใหญ่ยินดีต้อนรับ จะเห็นได้ว่าในสมัยนั้น อำนาจของฝ่ายปกครองมีอยู่ล้นเหลือ และโทษของการคิดกบฎนั้นมีถึงประหารชีวิต แต่คณะบุคคลคณะนั้นก็ยังกล้าคิดกล้าทำ เพราะเหตุการณ์เปิดโอกาสให้ทำ บรรยากาศทางการเมืองเอื้ออำนวยให้ และประชาชนอยู่ในฐานะที่ต้องการความเปลี่ยนแปลง นอกเสียจากในหมู่สังคมข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และข้าราชบริพารเท่านั้นที่ยังหลงใหลอยู่กับความสมบูรณ์พูนสุขในหมู่คณะของตน เมื่อได้รับการเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน ก็ไม่สามารถที่จะยอมรับได้ มีการเคียดแค้นและคุกรุ่นอยู่เงียบ ๆ ทั่ว ๆ ไป

ความรู้สึกอันนี้ทำให้เกิดการพยายามที่จะช่วงชิงเอาอำนาจที่เสียไปนั้นกลับคืนมาในทุกวิถีทาง ไม่ว่าจะเป็นวิธีใด ซึ่งจะได้เขียนให้อ่านในตอนต่อ ๆ ไป

นอกจากที่ได้เขียนไปแล้วถึงกรณีกบฏบวรเดช ซึ่งทำให้ต้องสูญเสียนายทหารชั้นดีไปหลายท่าน และได้มีอนุสาวรีย์ที่หลักสี่ สี่แยกบางเขน เพื่อเป็นอนุสรณ์ของเหตุการณ์อันน่าสลดครั้งนั้น





 

Create Date : 26 เมษายน 2555
1 comments
Last Update : 5 พฤษภาคม 2555 2:03:33 น.
Counter : 917 Pageviews.

 

ขอบคุณมาก..

 

โดย: ก้นกะลา 5 พฤษภาคม 2555 18:10:43 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ธารน้อย
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 26 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add ธารน้อย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.