จงให้ความสำคัญต่อสิ่งที่ถูกต้อง มากกว่าสิ่งที่ถูกใจ
Group Blog
 
 
มีนาคม 2555
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
31 มีนาคม 2555
 
All Blogs
 
เงื่อนไขการปฏิวัติ - บทที่ 3 รอยเท้าที่ถูกเดินตาม (ตอนที่ 3)

โดย พ.ต.อ. พุฒ  บูรณสมภพ

เขียนระหว่างปี พ.ศ. 2526 - 2528

บทที่ 3 - รอยเท้าที่ถูกเดินตาม
ตอนที่ 3

ความรักใคร่เคารพนับถือกันระหว่างพี่ ๆ น้อง ๆ ที่ได้อยู่ร่วมรั้วโรงเรียนกันมานี่แหละครับ ทำให้เขาปกป้องกันมาทุกกาลสมัย เราจะตั้งข้อสังเกตได้ว่า รัฐบาลที่มีพลเรือนเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น มักจะอยู่ไม่ใคร่ครบเทอม ถึงแม้ว่าตัวนายก ฯ เอง จะแอบไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อที่จะคุมอำนาจทหารไว้ ก็ไม่สามารถที่จะคุมได้สำเร็จ ผมได้เขียนไว้แล้วว่า กำลังสำคัญในการใช้ปฏิวัตินั้นต้องมาจากทหารบก เป็นหลักยุทธวิธีเบื้องต้น เพราะเขาสอนไว้ว่า ทหารราบเป็นเหล่าหลักในการรบ เป็นเหล่าเดียวที่รักษาและยึดพื้นที่ได้ เมื่อยึดได้แล้วก็ต้องรักษาให้ได้ด้วย ฉะนั้น จะใช้ทหารเหล่าอื่นย่อมทำไม่ได้ รถถังเสียอีกยังต้องมีทหารราบคุ้มครอง จะแล่นโด่ ๆ ไปตามลำพังไม่ได้ ขืนแล่นโด่ ๆ ไปลำพัง เดี๋ยวก็ได้พังทั้งคัน โดนอีกฝ่ายหนึ่งย่องไปหยอดลูกระเบิดลงไปในปล่อง ก็แหลกทั้งคัน

ฉะนั้น ไม่ต้องกลัวหรอกครับ รถถังน่ะ ให้มีปืนใหญ่ ๆ ยาว ๆ กี่กระบอกก็ได้ ไอ้ปืนพวกนั้นมันยิงได้แต่ระยะไกล ๆ ย่องเข้าไปที่ตัวรถ มันก็ยิงไม่ได้ ลำกล้องปืนมันงอเข้ามาหาไม่ได้เหมือนลำกล้องอย่างอื่น

ทีนี้ พอพวกพลเรือนมาปกครองประเทศ ผมหมายถึงมาเป็นนายกรัฐมนตรี ถ้าไม่เอาใจทหารไว้ก็มักจะไปไม่รอด และพวกพลเรือนก็มักจะไม่รู้ใจทหารว่า เขาต้องการอะไร ไม่เคยได้ลิ้มรสความเฉียบขาดและวินัยของทหาร ทำอะไรทะเร่อทะร่าไป เขาก็เชิญให้ลงมาจากเก้าอี้เสียดี ๆ ถ้าไม่ลงมาดี ๆ ก็ต้องมีอันเป็นไปนอนตีพุงอยู่ที่บ้านด้วยความช้ำ

เมื่อรัฐบาลมีนายกฯ เป็นทหาร พวกทหารเขาก็ช่วยกันคุ้มครอง และโดยมากก็มักจะเป็นรุ่นพี่ที่ขึ้นไปนั่งเป็นนายก ฯ รุ่นน้องก็ต้องช่วยกันประคับประคองให้ เพราะพี่คนนั้นก็ต้องเคยประคับประคองพี่คนก่อนมาแล้ว เมื่อยังอยู่ในราชการทหาร มีอำนาจควบคุมกำลังอยู่ ฉะนั้น ถ้าหากมีคนอื่นซึ่งไม่ใช่ทหาร จะมาโค่นรัฐบาลของพี่ เขาก็จะตอกหน้าแงเอา เพียงแต่พูดว่า เดี๋ยวก็ต้องออกเอ็กเซอร์ไซส์เสียนี่ เท่านั้น คนที่ฟังก็ต้องถอยหลบฉากไป

คณะที่โค่นล้มรัฐบาลทหารได้ ก็ต้องเป็นพวกทหารกันเอง และที่แล้ว ๆมาก็มักจะเป็นพวกที่ได้ร่วมกันโค่นรัฐบาลก่อนมาด้วยกัน แล้วมาแตกคอกัน จะด้วยเรื่องอะไรก็แล้วแต่ บางทีก็ด้วยเรื่องแค่ขออะไรไม่ได้ดั่งใจ จะขอทำมาค้าขาย หาเงินสักหน่อย ก็ไม่ยอมให้กัน ยังงี้ต้องใช้กำลังขอเอา ก็เชิญลงมาจากเก้าอี้เสียดี ๆ ซึ่งส่วนมากก็จะยอมลงมาดี ๆ เพราะไอ้น้องมันเอาจริง มันมีกำลังเป็นปึกแผ่นจริง ต้องยอมมัน และเมื่อลงมาดี ๆ แล้ว ไอ้น้องก็จะให้ไปพักผ่อนอารมณ์เสียก่อน ให้ไปต่างประเทศบ้าง ให้ไปนอนเฉย ๆอยู่ที่บ้านซักพัก แล้วค่อยมาพูดกันใหม่

แต่ถ้าเป็นพวกอื่นที่จะมาโค่นรัฐบาลของพี่ เขาก็จะรวมตัวกันเล่นงานพวกนั้น พวกนั้นจะมาแหยมได้ยังไง ได้ยินเสียงรถถังออกมาลากตีนตะขาบตามถนน ก็ไม่รู้จะวิ่งไปทางไหนแล้ว เรื่องเงื่อนไขที่จะนำมาอ้าง ยังไง ๆ เขาก็ไม่ฟัง

ฉะนั้น เงื่อนไขในการปฏิวัติ มันจึงมีได้ร้อยแปด ที่พูดว่า “ ผมจะไม่วัดร้อยเท้าท่าน ” นั่นแหละครับ ดีนัก

พูดกันยังไม่ทันหมดกลิ่นขี้ฟัน ก็เอาเสียแล้ว ผมว่า คุณ ๆก็เคยได้ยินกันมาแล้ว นี่ก็ได้ยินแว่ว ๆว่า มีคนพูดประโยคนี้มาเข้าหู เมื่อไม่กี่วันมานี้อีกแล้ว แฮ่ม !

ไอ้ที่เขาพูดออกมาก็ต้องหมายความว่า มันมีอะไรที่ทำให้ต้องพูด อยู่ดี ๆ เขาคงไม่พูดออกมายังงั้น เหมือนกับไอ้น้อง มันพูดกับพี่ของมันว่า “ พี่ ผมไม่แย่งพี่กินหรอกน่า ” มันก็ต้องหมายความว่า ไอ้พี่ต้องมีอะไรที่น่ากินอยู่ในจาน แล้วเหลือบมามองเห็นไอ้น้องแอบมอง ๆ ไอ้อะไรที่น่ากินนั้น ก็ต้องถอยจานออกไปห่าง ๆ ไอ้น้องเห็นพี่ถอยจานออกไปห่าง ก็ชักจะหงุดหงิด ก็ต้องพูดออกมาว่า “ ผมไม่แย่งพี่กินหรอกน่า ” แต่ในใจ ใครจะไปรู้ว่า ไอ้น้องมันอยากกินหรือเปล่า บางทีมันก็อาจจะหมั่นไส้ ทำเป็นถอยจานออกไปห่าง ๆ เลยแย่งกินเสียเลย ทั้ง ๆที่พูดไว้ว่า “ ผมไม่แย่งพี่กินหรอกน่า” นั่นแหละ

อันนี้ ผมไม่ได้เขียนเปรียบเปรยถึงใคร เป็นแต่เพียงยกตัวอย่างให้อ่านกัน ใครจะคิดอะไรในใจ ผมจะไปหยั่งรู้ได้ยังไง อาจจะพูดจริง ๆ จากใจก็ได้ แต่ก็อีกนั่นแหละ ของพรรค์นี้ มันเปลี่ยนใจกันได้ เกิดอยากแย่งกินขึ้นมาเพราะพี่ชักจะกินมูมมาม หรือกินไม่เป็น ก็ต้องแย่งเอามากินเสียก่อนที่คนอื่นจะแย่งเอาไปกิน

ผมจะลำดับการปฏิวัติตั้งแต่ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นประชาธิปไตยเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นต้นมาว่า การปฏิวัติ หรือ การกบฏ (ปฏิวัติไม่สำเร็จ) หรือการปฏิรูป หรือการรัฐประหาร อะไรก็แล้วแต่จะเรียกกันไป ซึ่งมันก็มีวิธีการเหมือน ๆ กัน แต่เรียกกันแปลกไปให้มันเวียนหัวเล่นทำไมก็ไม่รู้ จะลำดับให้อ่านกันว่า มีมาแล้วกี่ครั้ง แต่ละครั้ง มีเงื่อนไขอะไรบ้าง

เริ่มตั้งแต่ท่านเจ้าคุณพหลฯ เป็นหัวหน้า ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ปี ๒๔๗๕เป็นต้นมาให้อ่านกัน การกบฏก่อนหน้านี้ ผมยังไม่เกิด จะไม่เล่า

การเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎร์ฯ ในปี ๒๔๗๕ นั้น เป็นการยึดอำนาจจากพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งคณะราษฎร์ ฯ เขาเห็นว่า ออกจะมากเกินไป อยากจะเอาอำนาจนั้นมาแบ่งปันให้ประชาชนคนธรรมดาเสียบ้าง

การยึดอำนาจในครั้งนั้น เป็นไปอย่างค่อนข้างจะง่ายดาย ทั้ง ๆ ที่กำลังทหารส่วนใหญ่ อยู่ในความปกครองของเจ้านายเชื้อพระวงศ์เป็นส่วนใหญ่ ผู้ที่เริ่มคิดก่อการครั้งนั้น นับว่าเสี่ยงต่อการคอขาดอย่างมาก เพราะถ้าทำไม่สำเร็จ คอก็ต้องหลุดออกจากบ่าสถานเดียว ที่ทำได้สำเร็จผมได้ยินมาจากผู้หลักผู้ใหญ่สมัยนั้นพูดกันว่า เป็นเพราะในหลวงรัชกาลที่ ๗ ท่านทรงมีพระราชดำริอยู่แล้ว ที่จะพระราชทานอำนาจส่วนหนึ่งของพระองค์ให้แก่ราษฎร ให้เกิดมีประชาธิปไตยทีละน้อย จนกว่าราษฎรจะได้เรียนรู้ว่า ประชาธิปไตยนั้นคืออะไร เขาปกครองอย่างไร ตอนที่พระองค์ยอมสละอำนาจให้คณะราษฎร์ ฯนั้น พระองค์ได้รับสั่งไว้ว่า

“ฉันมอบอำนาจนี้ให้แก่ประชาชนชาวสยาม มิได้มอบให้แก่ผู้ใดผู้หนึ่ง ”

ข้อความที่ตรัสไว้นี้ อาจจะไม่ตรงทีเดียว แต่ก็มีเป็นข้อความที่ตีความหมายเช่นนั้น ต่อเมื่อภายหลัง ผู้ที่ได้รับมอบพระราชอำนาจนั้น กลับรวบอำนาจนั้นไว้เสียแต่คณะเดียว พระองค์ท่านจึงทรงสละพระราชสมบัติด้วยพระองค์เอง ไม่ทรงยอมเป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบการปกครองที่ผิดพระราชประสงค์ และไม่ยอมเสด็จกลับประเทศไทยอีกเลย ประทับอยู่ ณ ประเทศอังกฤษจนเสด็จสวรรคตที่นั่น

จะเป็นด้วยเหตุนี้ก็ไม่ทราบ ที่เราต้องมาเปลี่ยนชื่อ ประเทศสยาม มาเป็น ประเทศไทย





Create Date : 31 มีนาคม 2555
Last Update : 31 มีนาคม 2555 0:21:58 น. 2 comments
Counter : 1148 Pageviews.

 
ท่านเขียนเหตุและผลของการปฏิวัติได้น่าอ่านมากครับ


โดย: Insignia_Museum วันที่: 31 มีนาคม 2555 เวลา:8:25:53 น.  

 
ขอบคุณมาก..


โดย: ก้นกะลา วันที่: 31 มีนาคม 2555 เวลา:19:54:18 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ธารน้อย
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 26 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add ธารน้อย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.