จงให้ความสำคัญต่อสิ่งที่ถูกต้อง มากกว่าสิ่งที่ถูกใจ
Group Blog
 
<<
เมษายน 2555
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
 
5 เมษายน 2555
 
All Blogs
 

เงื่อนไขการปฏิวัติ - บทที่ 4 วิกฤติกาลที่สร้างเงื่อนไข (ตอนที่ 5)

โดย พ.ต.อ. พุฒ  บูรณสมภพ


เขียนระหว่างปี พ.ศ. 2526 - 2528

บทที่ 4 - วิกฤติกาลที่สร้างเงื่อนไข
ตอนที่ 5

สโลแกน “ เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย ” ของท่านฉมังนัก

คนไทยแทบจะทั้งประเทศก็ตามท่านไปจริงๆ เพราะเชื่อท่านผู้นำ ทุกคนออกมาเดินถนนต้องมีหมวกอยู่บนหัว เครื่องแต่งกายต้องเป็นกางเกงแบบสากล จะนุ่งกางเกงแพร หรือผ้าโจงกระเบนมาเดิมไม่ได้ เกิดสโลแกนใหม่ขึ้นมาหลายประโยค เพื่อเป็นการชักจูงใจประชาชน

สำนักวัฒนธรรมเกิดขึ้นมาตอนนั้น จนกลายมาเป็น กระทรวงวัฒนธรรม มีท่านผู้หญิง ละเอียด ศรีภริยาของท่าน เป็นรัฐมนตรี

ไอ้ที่มาแปลกสมชื่อของท่านก็คือ ข้าราชการที่จะออกจากบ้านไปทำงาน ต้องจูบเมียเสียทีหนึ่ง ก่อนที่จะออกไปทำงาน จึงจะถูกต้องตามวัฒนธรรมไทย แล้วก็ไอ้ที่หนักกว่านั้น คือ ไอ้ลูกจะพูดกับพ่อ ก็ต้องพูดว่า

“พ่อ ฉันจะไปโรงเรียนละนะ ท่านจะไปทำงานหรือยัง ”

ตัวพ่อก็ต้องพูดกับลูกว่า “ เออ ท่านไปเถอะ เดี๋ยวฉันจะไปเหมือนกัน แม่อยู่ไหน มาให้พ่อจูบหน่อย ”

เป็นสมัยนี้ก็ถูกเตะ ไอ้ลูกนั่นแหละ ถูกเตะก่อน

สมัยนั้น พ่อก็คงอยากเตะลูกอยู่เหมือนกัน ตอนที่มันพูดยังงั้น แต่เกรงว่ามันจะเอาไปฟ้องท่านนายก ฯ อาจถูกออกจากงาน ก็ต้องกลืนความอยากเตะเอาไว้เงียบ ๆ

สมัยนั้น การคิดปฏิวัติจึงไม่มี เพราะเอาไปใช้ในการปฏิวัติทางวัฒนธรรมเสียหมดแล้ว มัวแต่ยุ่งอยู่กับการที่จะพูดกันยังไง กับใครต่อใครที่จะต้องพูดด้วย

เหตุการณ์ทางสงคราม ถึงแม้เยอรมันกำลังต้องถอยทัพทางด้านรัสเซีย แต่ทางด้านเอเชีย ญี่ปุ่นกำลังเป็นใหญ่อยู่ ยึดครองพื้นที่ได้ตลอดแถบเอเชียบูรพา ญี่ปุ่นเรียกสงครามสมัยนั้นว่า สงครามมหาเอเชียบูรพา ซึ่งญี่ปุ่นกำชัยชนะไว้ทั้งหมด แต่ญี่ปุ่นไม่หยุดยั้งเพียงแค่นั้น ญี่ปุ่นส่งกำลังขึ้นบุกเกาะฮาวาย (Pearl Harbor) ต่ออีกขั้นหนึ่ง และในการยกพลขึ้นบุกเกาะฮาวายนี้ ญี่ปุ่นได้ทำลายเรือรบอเมริกันขนาดใหญ่ลงไปหลายลำ ด้วยการจู่โจมแบบไม่ให้รู้ตัว อเมริกันเสียหายมากในการจู่โจมของญี่ปุ่นครั้งนั้น ต้องแตกพ่ายและเสียกำลังรี้พลไปมากมาย ญี่ปุ่นฮึกเหิมในชัยชนะครั้งนั้นมาก

แต่ญี่ปุ่นกะการณ์ผิด รบกับใครไม่รบ ไปรบกับเศรษฐี

อเมริกันถอยไปก็จริง แต่เป็นการถอยไปตั้งหลัก

อเมริกันกลับมาใหม่ด้วยกำลังรี้พลที่สดชื่นและด้วยกำลังเงินที่หนุนหลังมหาศาล ตีญี่ปุ่นแตกกระจุยกระจายไปทุกทิศทุกทาง จนต้องถอยร่นไปอยู่ที่เกาะญี่ปุ่น ดินแดนที่เคยยึดครองไว้ ถูกยึดคืนหมด ทางเมืองไทยเกิดกำลังเสรีไทยขึ้น ทำการก่อกวนญี่ปุ่นที่เป็นพันธมิตร ญี่ปุ่นถูกทำลายจนอ่อนเปลี้ย แต่ก็ยังไม่ยอมแพ้ทั้ง ๆที่พรรคพวกฝ่ายอักษะทางด้านยุโรป ยอมแพ้ไปแล้วราบคาบ แต่ญี่ปุ่นก็ยังไม่ยอม

อเมริกันนั้นขี้เกียจทำสงครามยืดเยื้อ ปล่อยระเบิดปรมาณูลงที่ ฮิโรชิม่า ก่อนหนึ่งลูก ญี่ปุ่นก็ยังไม่ยอม ปล่อยลูกที่สอวงลงที่ นางาซากิ ทำลายบ้านเมืองผู้คนย่อยยับไปเป็นล้าน ญี่ปุ่นก็ยังไม่ยอมแพ้ เลือดบูชิโดไม่ยอมง่าย ๆ กัดฟันสู้ต่อ ทั้งๆ ที่มองไม่เห็นทางชนะ

ในที่สุด อเมริกันต้องยื่นคำขาดครั้งสุดท้าย ถ้าไม่ยอม ลูกระเบิดปรมาณูลูกที่สามจะปล่อยลงที่กรุงโตเกียว เมืองหลวงและพระราชวังของมหากษัตริย์จะถูกทำลายพินาศ นั่นแหละ ญี่ปุ่นจึงได้ยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไข นายพลญี่ปุ่นหลายคนทำพิธีฮาราคีรี ถวายพระมหากษัตริย์ ในการที่ยอมแพ้อย่างหมดศักดิ์ศรีครั้งนั้น

งครามโลกครั้งที่สองก็สงบ

ความเปลี่ยนแปลงในเมืองไทยก็เริ่มขึ้นใหม่ ในทางการเมืองและการปกครอง

กองกำลังเสรีไทยที่ก่อตั้งขึ้นสมัยสงคราม และได้ทำการช่วยเหลือฝ่ายอเมริกันอยู่เบื้องหลัง ก็เปิดเผยตัวออกมา ผู้นำของกองกำลังนี้คือ ท่านปรีดี พนมยงค์ ก็กลับมามีอำนาจใหม่ กำลังกองทัพ ทั้งพันธมิตรอเมริกันและอังกฤษ เข้ามายึดครองกองกำลังของญี่ปุ่นในเมืองไทย ซึ่งเมื่อยอมแพ้แล้ว ก็ยอมอย่างราบคาบ ไม่มีการต่อต้านแต่อย่างใด

จอมพลป. ถูกบังคับให้ลาออกจากตำแหน่ง และกลายเป็นอาชญากรทางสงคราม ต้องถูกจับดำเนินคดี ตกเป็นจำเลยในคดีอาชญากรสงครามครั้งนั้น พร้อมด้วยผู้ใหญ่ในคณะรัฐบาลอีกหลายคน ผู้ที่ออกคำสั่งก็คือ ท่านปรีดี ฯ ซึ่งขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทน และท่านปรีดี ฯ ผู้นี้ ก็คือเพื่อนสนิทของท่านจอมพล ป. ที่ได้คบคิดกันทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราช มาเป็นการปกครองประชาธิปไตย เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ นั่นเอง

จอมพลป. ถูกพิจารณาในขั้นศาลด้วยข้อหา อาชญากรสงคราม ตามกฎหมายที่ออกใหม่ หลังจากสงครามสงบแล้วนั้น การดำเนินการในศาลไม่เยิ่นเย้อ ทนายที่ว่าความให้ เป็นผู้พิพากษาเก่าที่ลาออกมา เพื่ออ่านความให้ในคดีนี้โดยเฉพาะ ผมจะไม่ออกชื่อว่าเป็นท่านผู้ใด

ศาลตัดสินปล่อยในเวลาอันสั้น เพราะคดีนี้เกิดก่อนที่กฎหมายจะออกมาบังคับ ตามหลักกฎหมายนั้น กฎหมายจะมีผลย้อนหลังไม่ได้ ความผิดของท่านจอมพล ป.เกิดขึ้นก่อนที่กฎหมายจะตราออกมาบังคับ ก่อนหน้านี้ เมืองไทยก็ไม่เคยมีกฎหมายอย่างว่านี้มาก่อน จอมพล ป.ก็พ้นคดีออกมาจากที่คุมขังด้วยวิธีอันง่าย ๆ เช่นนี้

ท่านจอมพลป. ไปใช้ชีวิตอย่างง่าย ๆ อยู่ที่บ้านเดิม อำเภอลำลูกกา ปทุมธานี และอยู่ที่นั่นอย่างสงบเสงี่ยม ไม่มีพฤติการณ์อะไร ที่จะทำให้การปกครองบ้านเมืองต้องยุ่งยาก

จะคิดกันว่า นั่นเป็นการหาทางออกอย่างแนบเนียนให้กับเพื่อนรักของท่านปรีดี ฯ ซึ่งมีอำนาจอยู่ในขณะนั้น ก็เห็นจะไม่ผิด

บ้านเมืองกลับเข้าสู่ความสงบอีกครั้ง

ท่านปรีดี ฯ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน นายทวี บุณยเกตุ ซึ่งถูกยกขึ้นมาเชิดก่อน เมื่อสงครามสงบใหม่ ๆ และท่านจอมพล ป. ต้องหลุดออกจากเก้าอี้ไปที่คุมขัง นายทวี เป็นนายก ฯ อยู่เพียงสิบเจ็ดวัน ก็ก้าวลงจากเก้าอี้อย่างเต็มอกเต็มใจ ให้ท่านปรีดี ฯ ขึ้นนั่งแทน ตามแผนที่รู้ ๆ กันอยู่แล้ว

ท่านจอมพลป. กลับไปใช้ชีวิตอย่างสงบอยู่ที่บ้านเดิมก็จริง แต่ชีวิตของท่านได้สงบเพียงชั่วครู่เท่านั้น  ผมเคยเขียนไว้ในตอนต้น ๆ ว่า  ให้ท่านผู้อ่านจำชื่อนี้ไว้ให้ดี ๆ  ท่านผู้อ่านที่อายุไม่ถึงสี่สิบปีในขณะที่กำลังอ่านข้อเขียนของผมอยู่นี้   (หรือปัจจุบันน่าจะต้องมีอายุหก-เจ็ดสิบปี – ธารน้อย)  อาจจะไม่เคยได้ยินชื่อนี้  หรือเคยได้ยิน แต่ไม่รู้จักว่า  เป็นใคร  ผมจึงให้จำชื่อนี้ไว้ให้ดี

ท่านจอมพลป. สมัยที่ยังเป็น พันเอก มีนายทหารคนสนิทอยู่คนหนึ่ง ที่ท่านเอามาไว้ใกล้ตัว ตั้งแต่นายทหารผู้นั้นมียศเพียง ร้อยตรี นายทหารผู้นั้นชื่อ ร้อยตรี เผ่า  ศรียานนท์ ชื่อนี้ก็ต้องจำไว้ให้ดีอีกชื่อหนึ่งด้วย

ผมเห็นจะต้องขอลาไว้แค่นี้ก่อน ไว้พบกันใหม่ใน เงื่อนไขการปฏิวัติ ตอนที่ ห้า

สวัสดีครับ

 




 

Create Date : 05 เมษายน 2555
2 comments
Last Update : 6 เมษายน 2555 3:22:56 น.
Counter : 993 Pageviews.

 

มาติดตามต่อครับ กำลังสนุกเลย

 

โดย: Insignia_Museum 6 เมษายน 2555 9:02:04 น.  

 

ขอบคุณมาก..

..ขอบคุณสำหรับคำอวยพรที่มอบให้..และเช่นเดียวกัน..ขอให้ท่านจงมีแต่ความสุขและสุขภาพแข็งแรงตลอดไปจ้ะ...

 

โดย: ก้นกะลา 6 เมษายน 2555 17:20:14 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ธารน้อย
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 26 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add ธารน้อย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.