จงให้ความสำคัญต่อสิ่งที่ถูกต้อง มากกว่าสิ่งที่ถูกใจ
Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2555
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
5 พฤษภาคม 2555
 
All Blogs
 
เงื่อนไขการปฏิวัติ - บทที่ 8 คลื่นใต้น้ำที่สงบนิ่ง (ตอนที่ 3)

โดย พ.ต.อ. พุฒ  บูรณสมภพ

ประพันธ์ระหว่างปี 2526 - 2528

บทที่ 8 - คลื่นใต้น้ำที่สงบนิ่ง
ตอนที่ 3

การเปลี่ยนแปลงการปกครองที่เกิดขึ้นไม่ว่าครั้งใด ย่อมเกิดขึ้นจากความกดดันที่ว่านี้ ที่ต้องระเบิดออกมาวันหนึ่ง อยู่ที่ว่าจังหวะจะเปิดให้เมื่อใด หรือเมื่อความกดดันถูกอัดจนถึงจุดระเบิดด้วยตัวของมันเอง ความกดดันนี้เกิดขึ้นจากเงื่อนไขที่บริวารของท่านผู้มีอำนาจได้สร้างขึ้นเอง

แต่ว่า เงื่อนไขของการปฎิวัตินั้นใช่ว่าจะเกิดจากความกดดันอย่างว่านี้แต่ประการเดียว บางครั้งมันก็เกิดขึ้นจากความทะเยอทะยานของตัวบุคคลนั้นเองก็ได้ เช่นตนได้อยู่ในตำแหน่งนี้มานานเกินไป บุคคลซึ่งเป็นหัวหน้าไม่รู้จะขยับขยายไปไหน รวบแต่อำนาจไว้แต่ผู้เดียวไม่ขยับขยาย เอาตัวขึ้นมาให้ได้อำนาจเท่ากันบ้าง มนุษย์นั้นโดยธรรมชาติย่อมมีความทะเยอทะยานเป็นนิสัยด้วยกันทั้งนั้น เว้นแต่จะหลีกความทะเยอทะยานนั้นเสียด้วยการสละกิเลสเข้าไปถือเพศบรรพชิตเสียได้ นั่นก็พาตัวเองออกไปเสียได้จากวัฏจักร หมดเวรหมดกรรมไป เราจะไม่พูดถึงบุคคลประเภทนั้น เป็นเรื่องนอกเหนือคำว่า ปุถุชน

ฉะนั้น หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี ๒๔๗๕แล้ว เราก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลชั้นปกครองกันอีกหลายครั้งหลายหน และการเปลี่ยนแปลงนี้จะสำเร็จได้ก็จากพรรคพวกเดียวกันนั่นเอง อย่างที่ผมได้เขียนไว้ตอนต้น ๆ

เมื่อท่านเจ้าคุณพหลพลพยุหเสนาเป็นหัวหน้าก่อการเปลี่ยนแปลงเมื่อปี ๒๔๗๕ สำเร็จใหม่ ๆ นั้น ท่านก็ยกตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้กับ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ซึ่งเป็นคนนอกคณะ แทนที่จะยกตัวเองหรือบุคคลในคณะที่ร่วมก่อการด้วยกันมาขึ้นเป็น จะด้วยความละอายใจหรืออะไรก็ไม่ทราบ อาจเกรงไปว่าประชาชนทั่วไปจะหาว่า กระทำการครั้งนั้นเพื่อตัวเองก็อาจเป็นได้ ผลของการยกตำแหน่งอันสำคัญให้กับบุคคลนอกคณะนี่เอง ทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยของคณะผู้ก่อการ ดีแต่ว่ารู้สึกตัวไม่ช้าเกินไป จึงได้มีโอกาสปลดท่านเจ้าคุณมโน ฯออกจากตำแหน่งได้เสียก่อน ก่อนที่จะเสียอะไรต่ออะไรไปจนแก้ไขไม่ได้ แล้วจึงขึ้นเป็นนายก ฯ เสียเอง

ตอนต้นๆ ของบทนี้ ผมได้เขียนไว้ว่า พระมหากษัตริย์ท่านก็ได้ทรงคิดที่จะให้ประชาชนได้มีส่วนในการปกครองกันเองในระบอบประชาธิปไตย โดยทรงวางแผนที่จะให้ประชาชนได้รู้จักวิธีการปกครอง ด้วยการตั้งดุสิตธานีขึ้นในสมัยรัชกาลที่๖ แต่ต้องมาเกิดกบฏ ร.ศ. ๑๓๐ จนต้องหยุดยั้งการเปิดโอกาสไปนั้น มาในสมัยรัชกาลที่ ๗ สมเด็จพระปกเกล้า ฯ พระองค์ท่านก็ได้ทรงดำริจะมอบอำนาจให้กับประชาชนปกครองกันเองอยู่แล้ว แต่ก็มีคณะผู้ก่อการชึ่งทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองเสียก่อนเช่นกัน

ว่ากันว่า เหตุการณ์ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอำนาจจากสมบูรณาญาสิทธิราช มาเป็นประชาธิปไตยนั้น เป็นพระราชดำรัสของสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกรัชกาลที่ ๑ ที่ทรงตรัสทำนายเอาไว้ว่า อำนาจของกษัตริย์จะสิ้นสุดลงเมื่อกรุงรัตนโกสินทร์มีอายุมาถึงปีที่ ๑๕๐

ปีที่ขึ้นครองราชย์นั้นเป็นปี พ.ศ. ๒๓๒๕ และปีที่คณะผู้ก่อการได้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองสำเร็จนั้นเป็นปี๒๔๗๕ ร้อยห้าสิบปีพอดี ตามที่ทรงตรัสทำนายไว้

ผมได้รับทราบความนี้จากท่านผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง และดูเหมือนคำตรัสนี้จะปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์ชาติไทยด้วย

การเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี๒๔๗๕ นั้น พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญที่คณะราษฎร์ ฯได้เขียนขึ้นให้กับคณะรัฐบาลด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง และทรงตรัสไว้ว่า

“ข้าพเจ้ามอบอำนาจการปกครองให้กับประชาชนไทย มิใช่มอบให้กับบุคคลคณะใดคณะหนึ่ง ”

นี่เป็นพระราชดำรัสของพระองค์ท่านที่ไม่มีวันตายและปรากฏบันทึกอยู่ในประวัติศาสตร์ เป็นที่รับรู้กันทั่วไปในหมู่ประชาชน ต่างก็แซ่ซ้องสรรเสริญพระองค์ท่าน ประเทศไทยก็ได้การปกครองระบอบประชาธิปไตย  โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขตั้งแต่บัดนั้น

แต่เมื่อภายหลังปรากฏว่า อำนาจที่พระองค์ทรงพระราชทานให้นั้น ได้ถูกนำเอาไปใช้กันเป็นส่วนของบุคคลและหมู่คณะตามชอบใจ ด้วยการหลงอำนาจของคณะผู้ก่อการบางคน พระองค์จึงทรงสละพระราชสมบัติด้วยความเด็ดเดี่ยวในพระราชหฤทัย ที่การณ์มิได้เป็นไปตามที่ทรงดำรัสไว้ และไม่เสด็จกลับประเทศไทยอีกเลย ทรงประทับอยู่ที่พระตำหนักของพระองค์ในประเทศอังกฤษจนเสด็จสวรรคตที่นั่น ไม่ทรงยอมเป็นพระมหากษัตริย์ของหมู่คนที่ไม่รักษาพระบรมราชโองการอีกต่อไป

คนไทยนั้นขาดพระมหากษัตริย์ไม่ได้ ในหัวใจของคนไทยทุกคนย่อมมีพระมหากษัตริย์เทิดทูนไว้เหนือหัว ใครจะมาแตะต้องพระองค์ท่านไม่ได้ ฉะนั้น เมื่อได้รับทราบถึงการสละพระราชสมบัติ  ต่างก็หดหู่ใจทั่วกัน และบางท่านผู้ใหญ่ถึงกับแสดงความเกรี้ยวกราดออกมากับคณะผู้ก่อการ

เหตุการณ์อันทำให้ในหลวงรัชกาลที่ ๗ ต้องสละพระราชสมบัตินี้เอง ก่อให้เกิดคลื่นใต้น้ำอย่างเงียบ ๆ

ความรู้สึกของคนทั่ว ๆ ไป โดยเฉพาะในหมู่ปัญญาชน  โยนเอาเหตุที่เกิดขึ้นนี้ไปเป็นความผิดของคณะผู้ก่อการฯ ถึงแม้ว่าชาวคณะผู้ก่อการ ฯ จะได้พยายามที่จะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น และได้พยายามแก้ไขโดยศึกษากฎมณเฑียรบาล ถึงการสืบพระราชสันตติวงศ์อย่างแท้จริง สรรหาพระบรมราชวงศ์ที่ใกล้ชิดที่สุดขึ้นครองราชย์ เพราะสมเด็จพระปกเกล้า ฯ นั้นไม่มีพระราชโอรสที่จะสืบราชสมบัติ จึงจำต้องประชุมคณะรัฐบาลและพระบรมวงศานุวงศ์ เพื่อที่จะหารือกันถึงเรื่องที่จะอัญเชิญเจ้านายพระองค์ใดขึ้นครองราชย์ต่อเป็นรัชกาลที่ ๘

รายละเอียดในเรื่องนี้ ผมจะไม่เขียนถึง เพราะเป็นเรื่องที่ทราบกันอยู่แล้ว ในที่สุดเราก็ได้พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๘ ความรู้สึกของประชาชนในทางลบกับคณะผู้ก่อการฯ ก็ค่อย ๆ จางลงไป เพราะยังเห็นว่าคณะราษฎร์ ฯนี้ยังให้ความเทิดทูนในสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ ชาวประชาจึงได้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่มาเป็นที่เคารพสักการบูชาตามประเพณี นี่ก็เห็นได้ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลกก็ว่าได้ที่ประชาชนมีความจงรักภักดี และเทิดทูนพระมหากษัตริย์ของเขามากมายยิ่งกว่าประเทศใด ๆ ในโลก เรียกกันว่าทรงเป็นองค์สมมุติเทวราชของประชา

แต่กระนั้น คลื่นใต้น้ำที่ค่อยสงบลงไป  ก็ยังคุกรุ่นอยู่ในใจของบุคคลบางคณะอยู่ การแอบคบคิดกันที่จะทำลายคณะผู้ก่อการ ฯ ยังมีอยู่ในคณะบุคคลบางคณะอย่างเงียบๆ ต่อไป คอยหาโอกาสที่จะลุกขึ้นมาเมื่อจังหวะเปิดให้ ข่าวคราวการหาจังหวะทำลายล้างทางการเมืองนี้ก็ย่อมต้องเข้าหูฝ่ายรัฐบาลบ้าง หน่วยสืบสวนทางการเมืองจึงถูกตั้งขึ้นมา เพื่อหาข่าวทางการเมือง จุดเริ่มต้นของตำรวจสันติบาลก็เกิดขึ้นในสมัยนั้น

เมื่อหน่วยสันติบาลเป็นหน่วยที่ตั้งขึ้นใหม่ ๆความเจนจัดในทางการข่าวก็ยังไม่มีเท่าใด ตัวบุคคลที่จะทำงานด้านนี้ก็ต้องเป็นบุคคลที่ไว้ใจได้และใกล้ชิด คนที่ไว้ใจได้และใกล้ชิดนั้นจะมีฝีมือไปทุกคนย่อมไม่ได้ ดังนั้น ข่าวเปะปะส่งเดชจึงต้องมีปะปนเข้ามา และบางคนก็ฉวยโอกาสใส่ข่าวให้กับบุคคลที่ไม่ชอบกัน  หรือมีผลประโยชน์ขัดกัน  จึงมีการให้ข่าวทำลายกันหลายประการ มีการจับกุมผู้ต้องหาทางการเมืองหลายครั้ง และจนถึงตั้งศาลพิเศษ ยิงเป้าไปเลยก็มี





Create Date : 05 พฤษภาคม 2555
Last Update : 7 พฤษภาคม 2555 0:18:35 น. 1 comments
Counter : 613 Pageviews.

 
ขอบคุณมาก..


โดย: ก้นกะลา วันที่: 8 พฤษภาคม 2555 เวลา:2:14:27 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ธารน้อย
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 26 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add ธารน้อย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.