จงให้ความสำคัญต่อสิ่งที่ถูกต้อง มากกว่าสิ่งที่ถูกใจ
Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2555
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
5 พฤษภาคม 2555
 
All Blogs
 
เงื่อนไขการปฏิวัติ - บทที่ 8 คลื่นใต้น้ำที่สงบนิ่ง (ตอนที่ 4)

โดย พ.ค.อ. พุฒ  บูรณสมภพ

เขียนระหว่างปี 2526 - 2528

บทที่ 8 - คลื่นใต้น้ำที่สงบนิ่ง
ตอนที่ 4

ความยุ่งยากสับสนทางการเมืองในสมัยต้น ๆของการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี ๒๔๗๕ นั้น มีอยู่เป็นระยะยาวนานหลายปี แต่คณะรัฐบาลก็คงรักษาความสงบและกุมอำนาจไว้ได้ และในสมัยนั้นก็ได้มีการออกเสียงเลือกตั้งผู้แทนราษฎรในสภา ใช้พระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งเดิมเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์มาเป็นตึกรัฐสภา ผู้แทนราษฎรสมัยนั้นต่างก็เป็นบุคคลที่กำลังตื่นเต้นกับอำนาจที่ยึดมาได้จากรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชด้วยกันทั้งนั้น

ท่านเจ้าคุณพหล ฯ ซึ่งได้อำนาจเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยนั้น อดทนต่อการแสดงฝีปากของผู้แทนในสภาไม่ไหวหลายครั้งหลายหน ถึงกับลาออกจากตำแหน่ง และก็ได้รับการแต่งตั้งเข้ามาอีก เพราะยังไม่มีใครที่เหมาะสมกว่าในคณะ ฯ อาวุโสยังไม่ถึงบ้าง ฝีมือยังไม่ถึงบ้าง ต่างก็แย่งกันจะขึ้นครองประเทศ ด้วยความตื่นในอำนาจใหม่ ท่านเจ้าคุณพหล ฯ ซึ่งเป็นหัวหน้าที่แท้จริงจึงปล่อยมือไม่ได้

ท่านเจ้าคุณฯ ได้ลาออกจากตำแหน่งนายก ฯ นี้ถึงสองครั้งสองครา และได้รับการแต่งตั้งให้เข้ามาดำรงตำแหน่งนี้อีกทั้งสองครั้งในปี พ.ศ. ๒๔๗๖ และ ๒๔๗๗ ครั้งสุดท้ายเมื่อปี ๒๔๘๐

จะเห็นได้ว่า ความยุ่งยากในทางการเมืองสมัยนั้นมีอยู่เป็นคลื่นใต้น้ำตลอดเวลา คอยก่อกวนให้เกิดความยุ่งยากในทางการเมืองอยู่เป็นระยะ ๆ จนท่านเจ้าคุณ ฯ ผู้เป็นบุคคลที่เป็นที่นับถือของคนสมัยนั้น เพราะเป็นบุคคลไม่เคยมีรอยด่างพร้อยในประวัติชีวิต ไม่อาจทนอยู่ได้ ครั้นจะทิ้งมือไปเสียเลยทีเดียวก็ยังหาตัวบุคคลที่เหมาะสมขึ้นมาแทนไม่ได้ จะให้บุคคลในคณะอื่นขึ้นมาก็ไม่ได้ ตัวอย่างมีให้เห็นแล้วเมื่อคราวที่ยกตำแหน่งนายกฯ ให้ท่านเจ้าคุณมโนปกรณ์ ฯ ครั้งนั้น

ผลสุดท้าย เมื่อท่านเหลืออดเหลือทนจริง ๆ ต่อการรบกวนของท่านผู้แทนราษฎรทั้งหลาย ท่านก็เลยสั่งยุบสภาเสียเลย ในวันที่ ๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๑ และรักษาการณ์ในตำแหน่งนายกฯ ต่อไปในช่วงระยะเวลาที่ให้มีการเลือกตั้งผู้แทนชุดใหม่ ซึ่งกำหนดขึ้นอีกสามเดือนต่อมา ตามรัฐธรรมนูญ

พูดถึงคำว่ารัฐธรรมนูญนี้ มีเรื่องขำขันเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลเปลี่ยนแปลงการปกครองสำเร็จแล้ว ได้ร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาปกครองประเทศ จำกัดอำนาจพระมหากษัตริย์ ในโรงเรียนต่าง ๆ ก็ต้องถูกบังคับให้เอารัฐธรรมนูญนี้เข้าไปสอนให้เด็กๆ รับรู้ เมื่อครูตั้งคำถามกับเด็กนักเรียนว่า “ รัฐธรรมนูญคืออะไร ”

เด็กนักเรียนคนหนึ่งที่ถูกชี้นให้ตอบ ก็ลุกขึ้นตอบว่า

“ลูกพระยาพหล ฯ ครับ ”

เด็ก ๆ รู้แต่ว่า นายกรัฐมนตรีที่ปกครองประเทศอยู่ขณะนั้นชื่อเจ้าคุณพหล ฯ  เมื่อถามเด็ก ๆ ว่า รัฐธรรมนูญคืออะไร ก็คิดว่าเป็นลูกท่านเจ้าคุณไป

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เล่ากันมาในสมัยนั้น เป็นเรื่องขำขัน ซึ่งอาจจริงก็ได้

เมื่อการเลือกผู้แทนเสร็จลง ได้ตัวแทนเข้ามานั่งในสภา ท่านเจ้าคุณพหล ฯ ก็ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง และมอบหมายตำแหน่งนี้ให้กับ พันเอกหลวงพิบูลสงคราม นายทหารหนุ่ม ผู้บังคับการทหารปืนใหญ่ ผู้ซึ่งเพิ่งจะสำเร็จจากโรงเรียนนายทหารปืนใหญ่ที่ฟองแตนโบล (Fontainebleau) ประเทศฝรั่งเศส โรงเรียนเดียวกับที่นะโปเลียนสำเร็จออกมา ท่านนะโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoleon Bonaparte) ผู้นำสมัยหนึ่งของประเทศฝรั่งเศสท่านนั้นแหละครับ

ท่านพันเอกหลวงพิบูลสงคราม เข้ารับตำแหน่งนายก ฯ เมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๔๘๑ ในขณะที่ยุโรปกำลังวุ่นอยู่กับการสู้รบ เพราะสงครามล้างชาติที่เยอรมันก่อขึ้นโดย ฮิตเลอร์ (Hitler) – ผู้นำของเยอรมันขณะนั้น 

ปีนั้นเป็นปีที่ผมเข้าเรียนอยู่โรงเรียนนายร้อยทหารบกปีที่สอง รุ่นผมเกือบจะต้องออกรับราชการกลางคันเพื่อออกรบ

ข่าวคราวญี่ปุ่นจะบุกเอเชียดังหนาหู ในขณะที่เยอรมันกำลังตะลุยยุโรปอย่างเมามันอยู่ จนถึงขั้นยึดครองประเทศฝรั่งเศสได้ทั้งหมด และกำลังจะบุกขึ้นเกาะอังกฤษ 

เมื่อความจำเป็นยังไม่มี รุ่นผมจึงได้เรียนจนจบหลักสูตร

ผมเท้าความเก่าจนมาถึงตอนนี้ก็เพื่อที่จะชี้ให้ท่านผู้อ่านเห็นว่า คลื่นใต้น้ำที่ก่อตัวขึ้นเงียบ ๆในแต่ละยุค ตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี ๒๔๗๕ มานั้น มันได้ก่อตัวขึ้นมาเงียบ ๆ อยู่เสมอ และระเบิดขึ้นเมื่อได้โอกาส เป็นแต่ว่าโอกาสใดจะเหมาะหรือไม่เท่านั้น ถ้าเหมาะก็สำเร็จ ถ้าไม่เหมาะ ระเบิดเอาตอนผิดจังหวะก็เข้าคุก หรือถูกยิงเป้าไป คลื่นใต้น้ำนี้มีอยู่ตลอด เวลาที่อำนาจยังเป็นสิ่งที่น่าพิศมัย 




Create Date : 05 พฤษภาคม 2555
Last Update : 7 พฤษภาคม 2555 0:24:32 น. 1 comments
Counter : 858 Pageviews.

 
ขอบคุณมาก..


โดย: ก้นกะลา วันที่: 8 พฤษภาคม 2555 เวลา:2:17:50 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ธารน้อย
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 26 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add ธารน้อย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.