จงให้ความสำคัญต่อสิ่งที่ถูกต้อง มากกว่าสิ่งที่ถูกใจ
Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2555
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
18 พฤษภาคม 2555
 
All Blogs
 

เงื่อนไขการปฏิวัติ - บทที่ 9 คลื่นใต้น้ำปะทุ (ตอนที่ 6 - สุดท้าย)

โดย พ.ต.อ. พุฒ  บูรณสมภพ


เขียนระหว่างปี พ.ศ. 2526 - 2528

บทที่ 9 คลื่นใต้น้ำปะทุ
ตอนที่ 6  (สุดท้าย)

ผมเคยได้เขียนมาแล้วหลายตอนว่า การปฏิวัติที่จะสำเร็จลงได้นั้น ต้องใช้กำลังทหารบก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งทหารราบ และตัวผู้บัญชาการทหารบกต้องเอาด้วย หาไม่แล้ว การปฏิวัตินั้นจะสำเร็จลงได้ยาก

คณะรัฐประหาร ๘ พ.ย.๙๐ ที่ทำการสำเร็จอย่างง่ายดายนั้น ก็เพราะผู้บัญชาการทหารบกท่านวางเฉย ถึงแม้ท่านจะไม่เล่นด้วย ท่านก็ไม่ได้ขัดขวาง เพียงแต่สั่งถอดลูกเลื่อนปืนเล็กยาวของทหารที่จะไปจับท่านปรีดีออกหมดทุกกระบอกเท่านั้น การปฏิวัติด้วยปืนที่ไม่มีลูกเลื่อนก็ยังสำเร็จ

กบฏแมนฮัตตันคราวนั้นมีแต่กำลังทหารเรือฝ่ายเดียว ถึงแม้จะมีกำลังฝ่ายทหารบกร่วมอยู่ก็เป็นกำลังนาวิกโยธินเพียงสองกองพัน และหน่วยนาวิกโยธินนั้นถือเป็นกำลังหลักไม่ได้ เป็นไปได้แต่เพียงกำลังเสริมที่จะช่วยทางภาคพื้นดินได้บ้างเท่านั้น กำลังเป็นปึกแผ่นนั้นต้องกำลังทหารบกแท้ ๆ จึงสามารถที่จะยึดพื้นที่ได้อย่างมั่นคง

เสร็จจากเรื่องแมนฮัตตันแล้ว กำลังฝ่ายทหารเรือก็ถูกลิดรอนลงมาก หน่วยนาวิกโยธินถูกยุบไปให้ออกจากพื้นที่ภายใน ต้องไปอยู่ที่สัตหีบไกลออกไปทางฝั่งทะเลตะวันออกโน่น และมีบางหน่วยที่ตั้งขึ้นทางฝั่งทะเลทางใต้ เพื่อเป็นกำลังสนับ สนุน ทหารบกป้องกันชายแดนด้านนั้น

หน่วยนาวิกโยธินที่สัตหีบ ได้ผู้บังคับบัญชาคนใหม่ ชื่อว่า พลเรือจัตวา ประสงค์ พิบูลสงคราม ซึ่งโยกย้ายไปจากกำลังทหารเรือในกรุง ผู้บังคับบัญชาหน่วยนาวิกโยธินคนใหม่นี้ ดูชื่อแล้ว ไม่ต้องบอกก็ได้ว่าเป็นใคร ฝ่ายไหน

เหตุการณ์หลังจากนั้น ฝ่ายรัฐบาลก็คุมสถานการณ์ไว้ได้ในกำมือ และสามารถที่จะรักษาสถานการณ์ทางด้านการเมืองได้อย่างมั่นคง มีกำลังเป็นปึกแผ่นที่จะรักษาอำนาจไว้ได้

เมื่อเหตุการณ์สงบลงด้วยดี ก็ต้องมีการขอบำเหน็จความชอบกันทั่ว ๆ ไป หลายฝ่ายได้เสี่ยงชีวิตทำการปราบปรามการปฏิวัติที่เรียกว่ากบฏ ครั้งนั้น

ผมไม่ด้เขียนรายงานขอความชอบอะไรกับเขา เพราะเขียนไม่ออก จนถึงกับท่านผู้ช่วย อตร. ขณะนั้น คือ พลตำรวจตรี พิชัย กุลละวนิชย์ ต้องเรียกตัวผมไปที่ทำงาน ถามว่า ทำไมถึงยังไม่เห็นรายงานการปฏิบัติงานของผม ใคร ๆ เขาเขียนส่งกันมาหมดแล้ว

ผมเรียนขอดูรายงานของการปฏิบัติการด้านกองสัญญาณ ท่านก็ให้ผมดู มีรายงานเป็นปึกของผู้ที่เขียนส่งมา ผมอ่านดูแล้วก็เขียนไม่ลง เพราะตรงที่ผมปฏิบัติงานอยู่นั้น มีรายงานของท่านนายตำรวจใหญ่ ๆ หลายท่านเขียนไว้ว่า ได้ไปร่วมทำงานอยู่ด้านนั้น และได้นำรถเกราะเข้าโจมตีกองสัญญาณร่วมกับผมด้วยหลายท่าน จนยึดกองสัญญาณได้ ผมอ่านดูแล้วก็งง เพราะผมไม่เคยเห็นท่าน ๆเหล่านั้นในขณะที่ผมนำรถเกราะเข้าไปพังเสียตั้งสามคันนั่นเลย ก็ไม่ทราบว่าท่านเหล่านั้นแอบเข้าไปบุกกองสัญญาณกับผมเมื่อไร แล้วเหตุการณ์ที่ท่านบรรยายไว้ในรายงานนั้นก็ไม่ยักเหมือนกับที่ผมได้ประสบมา อาจเป็นกองสัญญาณคนละกองก็เป็นได้ ผมส่งคืนรายงานหลายฉบับนั้นให้ท่านผู้ช่วยอตร.แล้วก็โค้งลาออกมา

“อ้าวเฮ้ย ” เสียงของท่านผู้ช่วย อตร.ดังไล่หลังผมมา “ ไอ้หมา ทำไมจะไปเสียล่ะ ”

ท่านผู้ช่วย อตร.ท่านนี้ชอบเรียกเด็ก ๆ ที่ท่านรักว่า “ ไอ้หมา ”

ผมหันไปยิ้มรับสมญาของผมแล้วว่า

“แล้วผมจะส่งมาทีหลังครับ ”

ผมไม่ได้ส่งรายงานมาตามที่ผมบอก ผมจะเขียนได้ยังไง ถ้าผมเขียนขึ้นมา รายงานของท่านเหล่านั้นก็ต้องเป็นรายงานเท็จ เพราะมันจะต้องไม่ตรงกันกับของผม ผมก็ไม่ทราบว่าท่านเหล่านั้นกล้าได้กล้าเสียถึงขนาดนั้นได้อย่างไร ถึงกับกล้าเขียนรายงานเท็จเพื่อขอความดีความชอบเอาง่าย ๆ อย่างนั้น

แล้วก็ท่านนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่ผมเห็นเดินถอดเครื่องแบบเกร่อยู่แถวประตูน้ำ ตอนที่ผมนำรถเกราะผ่านไปทางนั้น ท่านก็เขียนรายงานว่า ท่านอยู่ที่รถเกราะกับผมด้วย และได้นำรถเกราะเข้าไปตีกองสัญญาณโดยบุกเข้าไปกับรถเกราะด้านถนนวิทยุด้วย

ยังงี้ผมจะเขียนรายงานของผมออกไปได้อย่างไร?

แต่ในที่สุด ผมก็พลอยได้ความดีความชอบกับเขาด้วย ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เขียนรายงานส่งขึ้นไป ผมได้เงินเดือนขึ้นสามขั้นในปีนั้น ได้ติดยศ พันตำรวจตรี มีมงกุฎครอบดาวเดียวแทนสามดาวอุ่น ๆ 

ก่อนที่จะได้ติดดาว ผมถูกนายเรียกเข้าไปด่าว่า ทำไมไม่เห็นรายงานการปฏิบัติการของผม ผมก็เรียนท่านไปตรง ๆ ว่า ผมเขียนไม่ออก

เจ้านายถามว่าทำไม

“ ผมขี้เกียจครับ” ผมตอบไปเสียยังงั้น

“ มึงละก็เป็นเสียยังงี้ ” ท่านรำพึงออกมาดัง ๆ

การกวาดล้างได้ตัวนาวาตรี มนัส จารุภา และนาวาโท อานนท์ ปุณฑริกาภา ผู้บังคับการเรือศรีอยุธยา หลังจากเหตุการณ์นั้นมาอีกหลายเดือน สองคนนี่แอบเข้ามาเงียบ ๆเมื่อเห็นว่าเรื่องน่าจะเงียบได้แล้ว แต่ทางฝ่ายสืบสวนจมูกไว ได้ข่าวทั้งคู่แอบหลบมากบดานที่ไหน ก็ต้องส่งคนไปจับ ผมเป็นคนที่ถูกสั่งให้ไปจับคุณมนัส ได้ตัวอย่างละม่อมที่บ้านของแกนั่นเอง

ระหว่างทางคุมตัวมาวังปารุสก์ฯ แกยังถามผมว่า 

“ จะเอาผมไปยิงทิ้งที่ไหน ”

ทั้งสองคนถูกส่งขึ้นศาล รวมทั้งนายทหารเรือและผู้ร่วมการอีกหลายคน ตัวผู้บัญชาการทหารเรือ ก็ถูกควบคุมตัวด้วย ร่วมกับนายและพลหลายคน ศาลตัดสินคดีนี้อย่างรวดเร็ว ถูกลงโทษทั้งหมด เข้าไปสงบสติอารมณ์ในบางขวางกันเป็นแถว ๆ

นั่นเป็นเหตุการณ์ปฏิวัติครั้งล่าสุด ก่อนที่จะถึงการปฏิวัติ ๒๕๐๐ ซึ่งเป็นการปฏิวัติที่ผมเองโดนเข้าอย่างเต็มตัว จนต้องออกไประเหเร่ร่อนในต่างประเทศถึง ๑๒ปีเต็ม ๆ

- จบ -

 หมายเหตุ

ช่วงต่อจากนี้  กรุณาย้อนไปอ่านใน Blog เรื่อง 13 ปีกับบุรุษเหล็กแห่งเอเชีย

จะต่อเนื่องกันค่ะ





 

Create Date : 18 พฤษภาคม 2555
1 comments
Last Update : 21 พฤษภาคม 2555 0:48:09 น.
Counter : 723 Pageviews.

 

ขอบคุณมาก..

ชอบทุกเรื่อง...จะรออ่านจ้ะ..

 

โดย: ก้นกะลา 22 พฤษภาคม 2555 1:27:57 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ธารน้อย
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 26 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add ธารน้อย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.