สูตรลับ
ตะพาบกิโลเมตรที่ 164 "สูตรลับ" เป็นโจทย์ของ น้อง เป็ดสวรรค์
"สูตรลับ" ถ้าให้ฉันตีความ ก็หมายถึง "สิ่งที่ เป็นสุดยอดของ
เรื่องใดเรื่องหนึ่ง ที่เป็นเรื่องสุดยอด ของเจ้าของ ที่เขาหวงแหน
ไม่อยากให้ใครรู้ หรือ มาลอกเลียนไป จะถ่ายทอดให้ลูกหลานของเขา
เท่านั้น ตัวอย่างเช่น "สูตรลับ"เรื่อง การทำขาหมูพะโล้ "สูตรลับ"
ในการทำกระเพาะปลา เป็นต้น ซึ่ง "สูตรลับ" เหล่านี้
มีการขายสูตรด้วยค่ะ
ในฐานะที่ฉันเป็นครูที่สอนหนังสือมา รุ่นแล้วรุ่นเล่า เกือบ 40 รุ่น
ก็มีการค้นคิด "สูตรลับ" หรือ เรียกว่า "เคล็ดลับ" เพื่อให้เด็ก ๆ
ได้จดจำง่ายขึ้นในการเรียน และนำไปสู่การทำข้อสอบแข่งขัน
ให้ทันตามกำหนดเวลาที่บังคับไว้ ซึ่ง "สูตรลับ" หรือ "เคล็ดลับ"
เหล่านี้ ฉ้นไม่เคยคิดที่จะนำไป ขาย หรือเก็บงำไว้เพื่อไป
สอนพิเศษ อิอิ แต่ได้สอนและบอก "เคล็ดลับ" หรือ "สูตรลับ"
ให้แก่เด็ก ๆ ที่ฉันสอน ทุกรุ่นไป
"สูตรลับ" ที่ฉันได้คิดค้นและให้เด็ก ๆ นำไปใช้ ก็คือ
การบอกเสียง วรรณยุกต์ ของคำ โดยไม่ต้องไปเทียบเสียง
ทุกคน คงทราบดีว่า เสียงวรรณยุกต์ในภาษาไทย ถือว่า
เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของภาษาไทยของเรา ในโลกนี้ มีเพียงสอง
ชาติที่มีเสียงและรูปวรรณยุกต์ใช้ คือ ไทย กับ จีน
เสียงวรรณยุกต์ถ้าต่างกัน ความหมายก็จะต่างกันไปด้วย
เช่น ไข ไข่ ไข้ จะเห็นว่า หน้าตาของคำ 3 คำนี้ แตกต่างกัน
ที่ วรรณยุกต์ ความหมายก็แตกต่างกันไปคนละเรื่องทีเดียว
เวลาสอบ เรื่องการให้บอกเสียงวรรณยุกต์ ก็ออกสอบเป็นประจำ
และคำถาม ไม่ใช่ถาม เพียงคำเดียว แต่ถามเสียงวรรณยุกต์
เป็นประโยคเลยทีเดียว ถ้าเรามัวแต่ไปเทียบเสียงกับอักษรกลาง
ซึ่งเป็นอักษรหมู่เดียวที่สามารถผันได้ครบห้าเสียง ก็จะเป็นการ
เสียเวลามากที่เดียวเลย ฉันจึงต้องค้นหา "สูตรลับ"
เพื่อให้ผันเสียงวรรณยุกต์โดยไม่ต้องไปเทียบเสียง
กับอักษรหมู่กลาง เอาชนิด มองปุ๊บ รู้ปั๊บ
ว่าคำนั้น เป็นเสียงวรรณยุกต์อะไร เพื่อความรวดเร็วในการทำ
ข้อสอบ โดยเฉพาะ ข้อสอบแข่งขันเข้าศึกษาต่อหรือบรรจุ
เข้าทำงาน "สูตรลับ" ง่าย ๆ ของฉัน มีดังนี้ ค่ะ
1. คุณต้องจำอักษรหมู่กลางและหมู่อักษรสูงให้ได้ เพราะอักษร
ทั้งสองหมูนี้ มีรูปและเสียงวรรณยุกต์ตรงกัน ดังนั้น
ถ้าคุณเห็นรูปวรรณยุกต์ใดอยู่บนตัวอักษรหมู่อักษรกลาง
และอักษรสูงท่านก็บอกได้ทันทีเลยว่า เป็นเสียงวรรณยุกต์นั้น ๆ
เช่น คำว่า ดั่ง เป็นเสียงวรรณยุกต์เอก เพราะ ด เป็นอักษรกลาง
เห็นรูปวรรณยุกต์เอกเสียงวรรณยุกต์จะเป็นเสียงเอก
ถ้าเห็นคำว่า ข้า ก็บอกได้ทันทีว่าเป็นเสียงวรรณยุกต์โท
เพราะว่า ข เป็นอักษรสูง รูปและเสียงวรรณยุกต์ตรงกัน
(ข้อสำคัญ คุณต้องจำอักษรหมู่กลางและสูงให้ได้ ค่ะ)
สำหรับ หมู่อักษร ต่ำ เราไม่ต้องจำค่ะ เพราะเมื่อจำหมู่อักษรสูง
และกลางได้ที่เหลือ ก็คือ หมู่อักษรต่ำ ไงคะ
2.หมู่อักษรต่ำ เป็นอักษรหมู่ที่มีรูปและเสียงวรรณยุกต์ไม่ตรงกัน
มีตรงกันเพียงรูปวรรณยุกต์จัตวาเท่านั้น
ถึงจะมีเสียงวรรณยุกต์และรูปวรรณยุกต์ ไม่ตรงกัน
แต่ก็มีข้อสังเกตง่าย ๆ คือ
ถ้าเห็นรูปวรรณยุกต์เอกบนอักษรต่ำ เสียงวรรณยุกต์จะเป็นเสียงโท
แต่ถ้าเห็นรูปวรรณยุกต์โท บนตัวอักษรต่ำ เสียงวรรณยุกต์
จะเป็นเสียงตรี เช่น ค่า จะมีเสียงวรรณยุกต์ โท เพราะ ค
เป็นอักษรต่ำ เห็นรูปเอก จะเป็นเสียงโท หรือ
คำว่า ไม้ เป็นเสียง ตรี เพราะ ม เป็นอักษรต่ำ เห็นรูปโท
เสียงจะเป็น ตรี ค่ะ แต่ถ้าเป็นรูปจัตวา จะเป็นเสียงจัตวา
ตรงเพียงเสียงเดียว เช่น ม๋ด รูปจัตวา เสียงจัตวา เป็นต้น
ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น ถ้าท่านสังเกตดี ๆ จะเห็นว่า
เป็น "สูตรลับ"ที่มีรูปวรรณยุกต์ให้สังเกตได้ แต่ในภาษาไทย
ยังมีคำที่ไม่มีรูปวรรณยุกต์กำกับ พวกนี้ คือ คำพื้นเสียง
ของอักษรทั้ง 3 หมู่
3. เราจึงต้องจำคำพื้นเสียงของอักษรทั้ง 3 หมู่ ไว้ ซึ่งมีทั้งหมด 7 เสียง
คือ อักษรกลาง คำเป็น จะมีพื้นเสียง สามัญ เช่น
จาน เป็นเสียง สามัญ เพราะว่า จ เป็นอักษรกลาง
จะมีพื้นเสียงเป็นเสียง สามัญ
อักษรกลาง คำตาย จะมีพื้นเสียงเป็นเสียงเอก เช่น จาด
เป็นคำตาย เพราะ จ เป็น อักษรกลาง คำตาย จึงมีเสียง เอก
อักษรสูง คำเป็น จะมีพื้นเสียงเป็นเสียง จัตวา เช่น ขาย เป็นเสียง
จัตวา เพราะว่า ข เป็นอักษรสูง คำเป็น จึงมีพื้นเสียงเป็นเสียงจัตวา
อักษรสูง คำตาย มีพื้นเสียง เป็นเสียง เอก เช่น ขาด
เป็นเสียง เอก เพราะว่า ข เป็นอักษรสูง คำตาย
จะมีพื้นเสียงเป็นเสียง เอก
อักษรต่ำ คำเป็น มีพื้นเสียงเป็นเสียง สามัญ เช่น งู
เป็นเสียงสามัญ เพราะว่า ง เป็นอักษรต่ำ คำเป็น
มีพื้นเสียงเป็นเสียงสามัญ
อักษรต่ำ คำตาย เสียงยาว เป็นเสียง โท เช่น โคก
เป็นเสียงโท เพราะค เป็นอักษรต่ำ คำตายเสียงยาว จึงมีเสียงโท
อักษรต่ำคำตายเสียงสั้น มีเสียงเป็นเสียงตรี เช่น มด
มีเสียงตรี เพราะ ม เป็นอักษรต่ำ คำตายเสียงสั้น มด จึงมีเสียงตรี
ทั้งหมดที่กล่าวมา เป็น "สูตรลับ" ในการบอกเสียงวรรณยุกต์
โดยไม่ต้องเทียบเสียงวรรณยุกต์จากหมู่ อักษรกลาง
ที่ฉันได้คิดค้นตอนยังสอนหนังสืออยู่ แต่ไม่ได้เป็น "สูตรลับ"
สำหรับลูกศิษย์ ที่ฉันสอน อิอิ
และฉันยังได้นำ "สูตรลับ" เกี่ยวกับวรรณยุกต์ จัดทำเป็น
บทเรียนสำเร็จรูป และ ฝากเป็นของที่ระลึกแจกใน
วันกษียณอายุราชการของฉัน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อ
วงการศึกษาต่อไป ค่ะ
งาน ตะพาบ "สูตรลับ" ครั้งนี้ คงเป็นเรื่อง หนักสมอง
เพราะว่าเนื้อหาเป็น วิชาการล้วน ๆ แต่ฉันก็หวังว่า จะเป็นประโยชน์
ต่อเพื่อนชาวบล็อก ที่มีลูกหลาน จะได้นำ "สูตรลับ" นี้ไปใช้ใน
การเรียนได้บ้างพอสมควร ค่ะ
สุดยอดเลยค่ะอาจารย์
เก่งจริงๆ เลยค่ะ