HR Management and Self Leadership
<<
กุมภาพันธ์ 2555
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
26272829 
1 กุมภาพันธ์ 2555

ทำไมระบบบริหารผลงานจึงทำให้สำเร็จยากนัก



ผมมักได้รับคำถามว่า ในการวางระบบบริหารผลงานให้ประสบความสำเร็จนั้น
ประเด็นปัจจัยความสำเร็จของการวางระบบนี้อยู่ที่ไหนกันแน่ บางคนก็คิดว่า
อยู่ที่การกำหนดตัวชี้วัดผลงานให้ชัดเจน บางคนก็คิดว่า
อยู่ที่ระบบและแบบฟอร์มในการบริหารผลงานที่ต้องชัดเจน บางคนก็บอกว่า
อยู่ที่การสื่อความระหว่างกันในเรื่องผลงานระหว่างปีมากกว่า
สุดท้ายแล้วประเด็นไหนกันแน่ที่ทำให้ระบบบริหารผลงานในองค์กรประสบความ
สำเร็จได้


โดยทั่วไปกระบวนการบริหารผลงานจะประกอบไปด้วย 3 ขั้นตอน คือ



  • การวางแผนผลงาน
    ขั้นตอนนี้ถ้าพูดให้ง่ายเข้าก็คือ การที่หัวหน้ากับลูกน้องมานั่งคุยกันว่า
    ปีนี้หัวหน้าคาดหวังผลงานอะไรจากลูกน้องบ้าง
    ซึ่งโดยทั่วไปก็กำหนดเป็นตัวชี้วัดผลงานออกมา ความยากก็คือ
    ระบบบริหารผลงานที่ดี
    จะต้องกำหนดตัวชี้วัดผลงานของแต่ละตำแหน่งจะต้องสอดคล้องกับตัวชี้วัดของ
    หน่วยงาน และขององค์กรด้วย ไม่ควรต่างกันต่างตั้งและกำหนดกันเอง
    เพราะทำได้แล้วองค์กรไม่บรรลุผลงานที่ดี
    นี่ก็ไม่ใช่ระบบบริหารผลงานที่ดีเช่นกันครับ



  • การทบทวนผลงาน การให้ Feedback และการสอนงาน

    ขั้นตอนนี้คือการที่หัวหน้างานกับลูกน้องมานั่งพูดคุยและทบทวนผลงานในช่วง
    เวลาสั้นๆ เช่น ทุกสัปดาห์ ทุกเดือน หรือทุกไตรมาส
    เป็นการที่หัวหน้าจะต้องเก็บข้อมูลผลงานการทำงานของลูกน้องแต่ละคน
    และนำมาให้ Feedback แก่ลูกน้องตนเอง เพื่อเน้นการพัฒนามากกว่า
    การตำหนิเพื่อความสะใจ
    ทั้งนี้เพื่อเป็นการช่วยให้พนักงานทำงานได้ตามตัวชี้วัดที่กำหนดไว้นั่นเอง
    ครับ ผมคิดว่าขั้นตอนนี้แหละครับ ที่เรียกว่า “บริหารผลงาน” จริงๆ



  • การประเมินผลงาน
    ขั้นตอนนี้ก็คือ เมื่อจบปีแล้ว
    หัวหน้ากับลูกน้องก็ต้องมานั่งคุยกันในเรื่องของผลงานในภาพรวมทั้งปีว่า
    สุดท้ายแล้วผลงานของพนักงานเป็นอย่างไร ได้ตามเป้าหมาย สูงกว่า หรือ
    ต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้
    ทั้งนี้ก็เพื่อนำผลที่ได้ไปวางแผนพัฒนาพนักงานในปีถัดไป
    และนำผลนี้ไปใช้ในการให้รางวัลพนักงานตามผลงานของแต่ละคน


จาก 3 ขั้นตอนดังกล่าว ท่านผู้อ่านคิดว่า ขั้นตอนไหนที่มีความสำคัญ และเป็นหัวใจของการบริหารผลงานให้ประสบความสำเร็จครับ


จากประสบการณ์วางระบบบริหารผลงานให้กับบริษัทต่างๆ บอกผมดังนี้ครับ



  • บริษัท
    ส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่การกำหนดตัวชี้วัดผลงานมากเกินไป มองว่า
    การบริหารผลงานคือการกำหนด KPI กำหนดได้แล้วก็จบ จากนั้นก็จบจริงๆ ครับ คือ
    ระบบบริหารผลงานทั้งระบบที่ทำไว้ ก็จบ เพราะไม่มีขั้นตอน หรือระบบอื่นๆ
    รองรับ

  • เอาระบบบริหารผลงานมาแก้ไขปัญหาการประเมินผลงาน
    ซึ่งเอาเข้าจริงๆ
    แล้วระบบบริหารผลงานนั้นมีไว้เพื่อพัฒนาผลงานขององค์กรมากกว่า
    ที่จะเอามาเพื่อแก้ไขปัญหาในการประเมินผลงานของหัวหน้างานนะครับ
    ถ้าลองไปทบทวนวัตถุประสงค์ของการบริหารผลงานจริงๆ แล้ว
    มันชัดเจนมากว่าระบบนี้มีขึ้นเพื่อทำให้ธุรกิจของเราไปสู่เป้าหมายได้เร็ว
    ขึ้น

  • บริษัทส่วนใหญ่ทำระบบเสร็จแล้ว
    ไม่ทำให้ครบตามกระบวนการบริหารผลงาน ก็คือ มีแค่การกำหนดตัวชี้วัดผลงาน
    จากนั้นก็ไปประเมินผลงานปลายปีเลย ไม่มีการพูดคุยกันเรื่องผลงานในระหว่างปี
    ระหว่างหัวหน้ากับลูกน้อง


จากปัญหาดังกล่าว
ก็เลยทำให้ระบบบริหารผลงานที่อุตสาห์จ้างที่ปรึกษามาวางระบบ
และลงทุนลงแรงพนักงานในการช่วยกันกำหนดตัวชี้วัดผลงาน
ออกมาแล้วไม่ได้ผลอะไรขึ้นมาเลย


ในความคิดเห็นของผมนั้น การที่เราจะบริหารผลงานพนักงานให้ได้ตามที่เราคาดหวังนั้น ประเด็นที่เป็นปัจจัยส่งเสริมความสำเร็จก็คือ “การสื่อความอย่างต่อเนื่องในเรื่องของผลงาน”
มากกว่า ลองคิดดูว่า ถ้าเรากำหนด KPI แล้ว จากนั้นหัวหน้ากับลูกน้อง
ก็ต่างคนต่างทำงาน ไม่มีการพูดคุยกัน ไม่มีการ Feedback กัน
ไม่มีการสอนงานกัน เป้าหมายตาม KPI
ที่เราตั้งไว้ให้กับลูกน้องเขาจะทำได้จริงๆ หรือ


ในการกำหนดเป้าหมาย
และตัวชี้วัดผลงานนั้น แต่ละปีจะกำหนดให้ยากขึ้นเรื่อยๆ
เพราะเป็นธรรมชาติของธุรกิจที่ต้องการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
แปลว่าผลงานถ้าทำได้เท่ากับปีที่แล้ว แปลว่า ผลงานแย่ลง จริงมั้ยครับ
เพราะไม่มีการพัฒนานั่นเองครับ


ในเมื่อปีนี้เราต้องการผลงานที่ดีขึ้น
แล้วหัวหน้าจะต้องทำอย่างไรที่จะทำให้พนักงานทำผลงานได้ดีขึ้น ก็คือ
ต้องมีการสอนงาน พัฒนางาน และมีการบอกให้พนักงานทราบว่า สิ่งที่ทำออกมานั้น
ดี หรือไม่ดี หรือต้องพัฒนาอะไรบ้างอย่างไร
เพื่อสุดท้ายจะได้ทำให้ผลงานของพนักงานได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้นั่นเอง
ครับ นี่แหละครับ ที่เรียกกว่า หัวหน้ากำลังบริหารผลงานของลูกน้องอยู่


จากที่ผมเก็บข้อมูลมาว่า ทำไมระบบบริหารผลงานไม่สำเร็จนั้นเกิดจากสาเหตุดังนี้ครับ



  • ขาดการสื่อความด้านผลงานอย่างต่อเนื่อง       60%

  • การกำหนดตัวชี้วัดผลงานไม่ชัดเจน               30%

  • ระบบประเมินผลงานไม่ชัดเจน                      10%


ข้อมูล
นี้มาจากที่ผมไปบรรยาย และวางระบบบริหารผลงานกับลูกค้านะครับ
ดังนั้นถ้าบริษัทใดอยากให้ระบบบริหารผลงานที่วางไว้ประสบความสำเร็จอย่าง
จริงจัง ก็ต้องไปเริ่มต้นที่การวางระบบการสื่อความเรื่องผลงานมากกว่า
เรื่องของการกำหนดตัวชี้วัผลงานนั้น เอาเข้าจริงๆ กำหนดไม่ยากหรอกครับ
งานทุกงานมันมีเป้าหมาย และมีความคาดหวังในผลงานของแต่ละตำแหน่งงานอยู่แล้ว


ปัญหาก็คือ เราจะบริหารผลงานอย่างไรให้พนักงานไปสู่เป้าหมายมากกว่าครับ






Free TextEditor




 

Create Date : 01 กุมภาพันธ์ 2555
0 comments
Last Update : 1 กุมภาพันธ์ 2555 7:47:28 น.
Counter : 1134 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


singhip
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 72 คน [?]




ประคัลภ์ ปัณฑพลังกูร
ที่ปรึกษาทางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล
และการพัฒนาภาวะผู้นำ

วางระบบการบริหารค่าจ้างเงินเดือน ระบบบริหารผลงาน และระบบการบริหารงานทรัพยากรบุคคลให้กับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน
[Add singhip's blog to your web]