|
 |
 |
 |
 |
|
ข้อเสียของการแก้ปัญหาที่ดินโดยจำกัดการถือครอง
สมมุติตามที่นิยมกันว่าครอบครัวละ 50 ไร่ (หรือคนละ 50 ไร่ ?) ข้อนี้ใช้ได้กับที่ดินด้านเกษตรเท่านั้น แล้วที่ดินในเมืองซึ่งราคาแพงจะปล่อยให้เจ้าของได้ประโยชน์ต่อไปตามเดิมหรือ ? คนไหนมีที่ดิน 50 ไร่ในเมืองนี่เป็นมหาเศรษฐีพันหรือหมื่นล้านเลยนะครับ
อย่าลืมว่าที่ดินไม่มีมนุษย์ผู้ใดสร้าง มูลค่าของที่ดินกลางเมือง โดยเฉพาะที่ดินเปล่า มีราคาสูงขึ้น ๆ ได้อย่างไร เพราะความเป็นเมืองใช่หรือไม่ ? นั่นคือเพราะกิจกรรมและสิ่งอำนวยความสะดวกรวดเร็วปลอดภัยที่ค่อย ๆ มาก ขึ้นดีขึ้นจากส่วนรวมของคนเมือง รวมทั้งภาษีที่พวกเขาจ่าย มูลค่าหรือค่าเช่าที่ดินจึงควรกลับมาเข้าส่วนรวม แทนที่จะเข้ากระเป๋าเจ้าของที่ดิน ด้วยวิธีการภาษี ซึ่งใช้ได้กับที่ดินที่มีราคาทุกแห่ง ไม่ว่าจะในเมืองหรือนอกเมือง
แล้วที่ว่าจำกัดครอบครัวละหรือคนละ 50 ไร่นั้น จะให้สิทธิอย่างไรสำหรับบริษัทหรือธุรกิจนิติบุคคล ? มิกลายเป็นว่าคนมีเงินร่วมกันประกอบกิจการจะได้สิทธิถือครองที่ดินมากกว่าคนจนไปหรือ ? แต่จะไม่ให้สิทธิที่มากกว่านี้ การจำกัดขนาดที่ดินก็จะกลายเป็นการทำให้เสียประสิทธิภาพการผลิตไป
วิธีแก้ปัญหาที่ดินโดยเก็บภาษี ถ้าค่อย ๆ ทำ จนในที่สุดสัก 30 ปีก็เท่ากับค่าเช่าที่ดิน จะทำให้ที่ดินไม่มีราคา (ราคาเป็นศูนย์) แต่รัฐ (คือส่วนรวม) ได้ภาษีมากพอที่จะยกเลิกภาษีเงินได้และภาษีอื่น ๆ จากการลงแรงลงทุนที่ก่อผลผลิตและบริการเอามาแลกเปลี่ยนซื้อขายกัน (ค่อย ๆ ลดไปเท่ากับที่ได้ภาษีที่ดินเพิ่ม) นับเป็นการส่งเสริมการลงแรงลงทุนอย่างดี ผลผลิตไม่เสียภาษีก็มีราคาต่ำ ขายแข่งสู้ต่างประเทศได้ดีขึ้น
ถ้าไม่เก็บภาษีที่ดินเช่นนี้ ที่ดินจะยังคงมีราคาสูงและสูงขึ้นไป เป็นที่หมายปองของคนรวยอีกต่อไป คนจนไม่มีที่ดินอาจจะลดน้อยลงบ้าง แต่จะยังมีอยู่ คนที่ไม่รวยนักคงต้องกู้เงินมาลงทุนเหมือนเดิม และจะยังคงสูญเสียที่ดินที่เอาไปค้ำประกันเงินกู้ต่อไปตามเดิม และวิกฤตวัฏจักรเศรษฐกิจฟองสบู่แตกก็จะยังคงมีอยู่ก่อความเสียหายแก่ทั้งคนรวยคนจนต่อไป (สำหรับคนจนคือต้องถูกปลดออกกลายเป็นคนว่างงาน)
จาก utopiathai.webs.com
Create Date : 09 กรกฎาคม 2554 | | |
Last Update : 9 กรกฎาคม 2554 22:27:23 น. |
Counter : 805 Pageviews. |
| |
|
|
|
|
ค่าแรงทุกแห่งย่อมหักลงหาค่าแรงที่ที่ดินชายขอบ
(ยินดีให้เผยแพร่ต่อ ด้วยความขอบคุณครับ)
ผลตอบแทนต่อปัจจัยการผลิตแต่ละปัจจัยไม่ว่าจะอยู่ที่แห่งใด ย่อมขึ้นอยู่กับผลิตภาพ (Productivity) ของที่ดินชายขอบ ซึ่งสมัยเศรษฐศาสตร์คลาสสิกเรียกกันว่า ขอบริมแห่งการเพาะปลูก หรือ ขอบริมแห่งการผลิต (Margin of Cultivation หรือ Margin of Production) คำนี้จึงถือว่ามีความสำคัญมาก แต่กลับไม่ค่อยปรากฏในหนังสือจำพวกหลักเศรษฐศาสตร์ยุคปัจจุบันที่สำนักนีโอคลาสสิกกลายเป็นกระแสหลักยึดกุมความคิดของผู้เกี่ยวข้องมาตั้งแต่ก่อนเริ่ม ค.ศ.1900 ดร. Fred E. Foldvary ศาสตราจารย์เศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัย Santa Clara และบรรณาธิการอาวุโสของ The Progress Report กล่าวในบทบรรณาธิการเรื่อง The Margin of Production เมื่อกรกฎาคม ค.ศ.1999 (//www.progress.org/archive/fold97.htm) ว่าปัจจุบันผู้ที่จบปริญญาโท-เอกทางเศรษฐศาสตร์จำนวนมากไม่รู้จักคำนี้
ในหนังสือ Progress and Poverty (ความก้าวหน้ากับความยากจน) ของ Henry George ซึ่งพิมพ์ครั้งแรก ค.ศ.1879 เราจะได้เห็นคำนี้และกฎการแบ่งผลตอบแทนระหว่างปัจจัยการผลิตทั้งสาม ที่เรียกว่า Laws of Distribution (กฎว่าด้วยวิภาคกรรม) ซึ่งกล่าวสั้นๆ ได้ดังนี้
ขอบริมแห่งการผลิต คือ ที่ดินที่เลวที่สุดที่จำเป็นต้องใช้กัน ซึ่งในขณะเดียวกันก็เป็นที่ดินที่ดีที่สุดที่จะหาได้โดยไม่ต้องเสียค่าตอบแทน
กฎว่าด้วยค่าเช่าที่ดิน (Law of Rent) ค่าเช่าที่ดินกำหนดได้ด้วยผลผลิตของที่ดินนั้น ในส่วนที่เกินกว่าผลผลิต ณ ขอบริมแห่งการผลิต ในเมื่อใช้แรงงานและทุนเท่ากัน
กฎว่าด้วยค่าแรง (Law of Wages) ค่าแรงทั่วไปถูกกำหนดด้วยผลผลิตที่แรงงานสามารถผลิตได้ ณ ขอบริมแห่งการผลิต (แรงงานมีทั้งแรงสมองและแรงกาย รวมทั้งการประกอบการ การจัดการ)
กฎว่าด้วยดอกเบี้ย (Law of Interest) ดอกเบี้ยจะสูงขึ้นหรือต่ำลงเช่นเดียวกับค่าแรง และขึ้นอยู่กับขอบริมแห่งการผลิตเช่นเดียวกัน (ดอกเบี้ยคือผลตอบแทนต่อทุนซึ่งรวมถึงเครื่องมือช่วยการผลิต การผลิตหมายรวมถึงการแลกเปลี่ยน)
ที่ขอบริมแห่งการผลิต ค่าเช่าเป็นศูนย์ ผลตอบแทนของการผลิตตกเป็นของแรงงานและทุนทั้งหมด
กฎทั้งสามนี้เป็นไปเองตามธรรมชาติ (ไม่ใช่แบบที่กำหนดค่าจ้างเฉพาะขั้นต่ำโดยคณะกรรมการระดับชาติ) โดยมี ขอบริมแห่งการผลิต เป็นฐานร่วมกัน อธิบายอีกทางหนึ่งก็คือ ขอบริมแห่งการผลิตเป็นฐานกำหนดระดับค่าแรงและดอกเบี้ยทั่วไป ที่ดินอื่นซึ่งมีผลิตภาพสูงกว่าขอบริมแห่งการผลิต แม้จะให้ผลตอบแทนมากกว่า แต่ส่วนที่ได้มากกว่านี้จะไปสู่เจ้าของที่ดินเป็นค่าเช่า
ค่าเช่าที่ดินเป็นส่วนที่หักผลตอบแทนออกไปจากผลผลิตรวม ทำให้ผลตอบแทนส่วนที่เหลือมีแนวโน้มที่จะเกิดความเท่าเทียมกันไม่ว่าจะใช้ที่ดินดีเลวแตกต่างกันอย่างไร คือจะพยายามลดลงมาเหลือเท่ากับผลตอบแทนที่ขอบริมแห่งการผลิตเหมือนๆ กัน ทั้งค่าแรงและดอกเบี้ย แม้จะมีปัจจัยต่างๆ ทำให้ค่าแรงและดอกเบี้ยแตกต่างกันไปได้มาก เช่น แรงงาน ณ ที่ดินชายขอบอาจไม่ใช่แรงงานเฉพาะทาง แต่ทำงานหลายอย่าง เครื่องมือ (ทุน) ซึ่งได้ผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ย ก็อาจซับซ้อนผิดกันและต่างชนิดกันไป
เมื่อมีการขยายการผลิตออกไปยังที่ดินที่เลวลง ค่าเช่าที่ดินเดิมๆ ก็ย่อมสูงขึ้น เพราะฐานสำหรับเปรียบเทียบคือขอบริมแห่งการผลิตใหม่นั้นปกติจะมีผลิตภาพต่ำกว่าขอบริมแห่งการผลิตเดิม
และยิ่งประชากรเพิ่ม ยิ่งเทคโนโลยีเจริญก้าวหน้า การสนองความต้องการของมนุษย์ก็ยิ่งทำได้มากขึ้น ดีขึ้น ประณีตขึ้น และต้องใช้ที่ดินมากขึ้นไปด้วย ประโยชน์ที่ไหลเข้าเจ้าของที่ดินก็ยิ่งสูงขึ้น ความต้องการที่ดินที่เพิ่มมากขึ้นก็เช่น สนามกอล์ฟ สวนสนุก อู่ต่อเรือสำราญ แหล่งพักผ่อน-ผจญภัย ตลอดไปถึงแหล่งที่จะให้วัตถุดิบสำหรับสร้างสิ่งต่างๆ เหล่านั้น และคนที่อยู่ชั้นบนๆ ของสังคมก็ต้องการที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยกว้างขวางขึ้น เช่น มีสระว่ายน้ำ สวนเล็กบ้างใหญ่บ้าง ลำธาร-น้ำตกประดิษฐ์ ฯลฯ อยู่ภายในบริเวณบ้านนั่นเอง
แต่ขอบริมแห่งการผลิตมักขยายออกไปเกินกว่าที่ควรมากมายเพราะการเก็งกำไรสะสมที่ดินกันเป็นการกว้างขวางทั่วไป ซึ่งเป็นการเก็งกำไรที่ใหญ่หลวงที่สุดไม่มีการเก็งกำไรชนิดใดเทียมเท่า อันมีสาเหตุจากการที่รัฐบาลปล่อยให้เจ้าของที่ดินได้ประโยชน์จากที่ดินของตนที่สูงขึ้น ๆ ซึ่งมิใช่เฉพาะด้วยการเปรียบเทียบกับขอบริมแห่งการผลิตที่ขยายออกไปยังที่ดินที่เลวลงเรื่อยๆ เท่านั้น แต่ยังรวมถึงสาเหตุที่บริเวณที่ตั้งของที่ดินเดิมๆ มีประชากรหนาแน่นขึ้น มีสิ่งอำนวยความสะดวกดีขึ้นมากขึ้น อันมิใช่การกระทำของเจ้าของที่ดิน แต่เป็นการกระทำของส่วนรวม ซึ่งรวมทั้งภาษีที่เก็บไปบำรุง บริหาร บริการ ทำให้ที่ดินเดิมๆ มีความปลอดภัย สะดวก น่าอยู่ และสามารถประกอบธุรกิจได้มากขึ้นเร็วขึ้นด้วย (ที่ดินย่านธุรกิจแพงกว่าที่ดินเกษตรเพราะมีผลตอบแทนหรือผลิตภาพสูงกว่า)
คนจนไม่สามารถร่วมแข่งขันเก็งกำไรที่ดินด้วยได้ ต้องเช่าที่ดินแพงกว่าปกติ และค่าแรงก็ยิ่งต่ำกว่าที่ควร ยิ่งที่ดินถูกเก็งกำไรปิดกั้นไม่ได้ทำประโยชน์หรือทำประโยชน์น้อยไป ก็ยิ่งลดโอกาสที่แรงงานจะเข้าใช้ที่ดินเพื่อการผลิตทำมาหากิน ค่าแรงก็ยิ่งต่ำ ทั้งๆ ที่เขามีส่วนร่วมในกิจกรรมที่ทำให้ที่ดินทั้งหมดมีประโยชน์สูงขึ้นเหมือนคนอื่นๆ ภาษีก็ต้องจ่าย โดยเฉพาะคือภาษีทางอ้อม เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีศุลกากร ภาษีสรรพสามิต ซึ่งถือว่าเป็นภาษีถอยหลัง คือคนมีรายได้ต่ำยิ่งจ่ายมาก (เมื่อเทียบกับรายได้)
ในระบบปัจจุบัน คนจนเดือดร้อนเพราะ 1) ค่าเช่าที่ดินซึ่งควรเป็นของส่วนรวม (รวมทั้งคนจน) กลับเข้ากระเป๋าเจ้าของที่ดิน 2) จึงต้องเก็บภาษีอื่นๆ มาก ซึ่งทำให้ของแพง ต้นทุนผลิตสูง ความสามารถแข่งขันต่ำ และลดกำลังใจที่จะลงแรงลงทุนผลิต 3) เกิดการเก็งกำไรสะสมที่ดินซึ่งทำให้ขอบริมแห่งการผลิตยิ่งขยายออกไปยังที่ดินซึ่งผลิตภาพต่ำลง ค่าเช่าที่ดินเดิมยิ่งสูง แปลว่าส่วนที่เหลือเป็นค่าแรงและดอกเบี้ยยิ่งต่ำ อีกทั้งเมื่อที่ดินถูกเก็บไว้ไม่ใช้ประโยชน์หรือทำประโยชน์น้อยไปก็ทำให้เกิดการสูญเปล่า การว่างงานมากขึ้น ค่าแรงต่ำ นอกจากนี้การเก็งกำไรที่ดินยังทำให้เศรษฐกิจขึ้นลงเป็นวัฏจักรที่รุนแรงมากขึ้นด้วย 4) จึงยิ่งทำให้คนจนอ่อนแอ กลายเป็นเหยื่อแก่นายทุนและผู้อื่นซ้ำเข้าไปอีก
ดังนั้น ถ้าประโยชน์ยังเข้าเจ้าของที่ดิน ก็จะยังมีการเก็งกำไรสะสมที่ดิน คนจนก็จะยังเดือดร้อนต่อไป
การเก็บภาษีที่ดินเท่าหรือเกือบเท่ากับค่าเช่าศักย์ และเลิก/ลดภาษีอื่นๆ ชดเชยกัน แบบค่อยเป็นค่อยไป จึงนับว่าเป็นธรรมที่สุด.
Create Date : 05 กรกฎาคม 2554 | | |
Last Update : 5 กรกฎาคม 2554 15:34:43 น. |
Counter : 758 Pageviews. |
| |
|
|
|
|
ภาษีมูลค่าที่ดินทั่วโลกโดยสรุป
(สุธน หิญ แปลจาก Land Value Taxation Around the World ซึ่งปรากฏที่ //www.henrygeorge.org/rem4.htm )
ยังไม่มีประเทศใดใช้หลักการเก็บภาษีที่ดิน (แบบถือว่าที่ดินเป็นของรัฐหรือของส่วนรวม) ในเกณฑ์ที่สูงมาก ๆ และยกเลิกภาษีอื่น ๆ ทั้งหมดเลย คงมีแต่เพียงเก็บภาษีมูลค่าที่ดินเป็นบางส่วน และยกเว้นภาษีสิ่งปรับปรุง (improvements) ทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งก็ให้ผลดีตามส่วนกับการนำมาใช้ โดยสรุปมีดังนี้:
เดนมาร์ก เดนมาร์กมีรายได้มากจากภาษีเงินได้และภาษีผลิตภัณฑ์ แต่ก็ยังเก็บภาษีประมาณ 50 % ของค่าเช่าที่ดินทั้งสิ้นรายปีโดยวิธีต่าง ๆ มีการประเมินราคาที่ดินราวทุก 5 ปี วิธีการของเดนมาร์กมีดังนี้: 1. ให้เกษตรกรเช่าที่ดินซึ่งรัฐบาลจัดหาให้ในอัตรา 4 % ของราคาขาย มีเกษตรกรรายย่อยราว 12,000 รายที่เช่าที่ดินแบบนี้ 2. เก็บภาษีมูลค่าที่ดินระดับท้องถิ่นและระดับชาติ และลดภาษีที่เก็บจากสิ่งปรับปรุง 3. เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มของที่ดินในระดับชาติ ปัจจุบัน การเช่าที่ดินไร่นาในเดนมาร์กมีไม่ถึง 5 % (ค.ศ.1850 มี 42.5 %) ผลิตภาพและมาตรฐานการครองชีพอยู่ในระดับสูง
ออสเตรเลีย ทั้ง 6 รัฐและเทศบาลส่วนใหญ่ของเครือรัฐออสเตรเลียเก็บภาษีมูลค่าที่ดินในบางระดับ บางแห่งก็ยกเว้นภาษีสิ่งปรับปรุงทั้งหมดหรือบางส่วน อย่างไรก็ดี ยังมีการเก็บภาษีอื่น ๆ อยู่มากที่ไม่ใช่ภาษีอสังหาริมทรัพย์
รัฐนิวเซาท์เวลส์เป็นตัวอย่างหนึ่งที่หน่วยเก็บภาษีท้องถิ่นทุกแห่งเก็บแต่ภาษีมูลค่าที่ดินอย่างเดียว ในระดับรัฐไม่มีภาษีมูลค่าที่ดิน แต่มีค่าภาคหลวงจากแร่ นครซิดนีย์ (เมืองหลวงของรัฐนิวเซาท์เวลส์) เป็นนครใหญ่ที่สุดในโลกที่รายได้ทั้งหมดของเทศบาลได้มาจากภาษีมูลค่าที่ดินเพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นแรงจูงใจให้เกิดการก่อสร้างปรับปรุง ทำให้แหล่งเสื่อมโทรม (ชุมชนแออัด) หายไป และราคาที่ดินมีเสถียรภาพ
ฮ่องกงและสิงคโปร์ ดินแดนทั้งสองนี้มีพื้นที่ขนาดเล็ก ลักษณะเป็นชุมชนเมืองอย่างมากและมีประชากรหนาแน่น ที่ดินเป็นของหายาก ที่ดินส่วนมากของดินแดนทั้งสองจึงเป็นของรัฐบาลและให้นักพัฒนาที่ดินเช่าระยะยาว วิธีนี้ทำให้ค่าเช่าที่ดินเป็นส่วนใหญ่ของรายได้สาธารณะ และภาษีเงินได้ทั้งของบุคคลธรรมดาและของบรรษัทเป็นส่วนน้อย นอกจากนี้ ราษฎรจำนวนมากยังอยู่อาศัยในที่พักซึ่งการเคหะก่อสร้างด้วย (86 % ของประชากรสิงคโปร์ และราวครึ่งหนึ่งของประชากรฮ่องกง) ซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายด้านที่พักอาศัยต่ำ พลอยทำให้ต้นทุนของนายจ้างไม่สูงมาก และช่วยให้ธุรกิจมีความสามารถในการแข่งขัน ฮ่องกงได้กลับคืนไปอยู่ในเขตอำนาจของจีนแล้ว แต่นโยบายด้านสิทธิถือครองที่ดินไม่เปลี่ยน และยังคงความรุ่งเรืองอยู่ [เพิ่มเติมโดยผู้แปล - สิงคโปร์ ฮ่องกง ที่ดินเขาแพงเพราะอยู่ในทำเลดี อยู่ใกล้เส้นทางเดินเรือ เดิมก็มีที่เหมาะสำหรับจอดเรือ สร้างอู่ซ่อมสร้างเรือ ทำให้มีงานมากมายให้คนทำ แล้วมันก็ขยายออกไปรวมถึงกิจการอื่น ๆ ด้วย ที่สำคัญคือรัฐบาลเป็นเจ้าของที่ดินส่วนใหญ่ จึงมีรายได้จากที่ดินมาก เขาก็เก็บภาษีจากการลงแรงและการลงทุนน้อย ต้นทุนการผลิตและการค้าจึงต่ำ ก็เลยเป็นแหล่งที่ชาวต่างชาติ รวมทั้งคนไทย ไปท่องเที่ยวและจับจ่ายซื้อข้าวของกัน]
อดีตรัฐโซเวียต ขณะที่บรรดารัฐโซเวียตแต่เดิมกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี ประชาชนในรัฐเหล่านี้ก็ไม่ลืมว่าที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติทั้งหมดเคยเป็นทรัพย์สินของรัฐมาก่อน ได้มีการเคลื่อนไหวที่จะให้รับรองว่าที่ดินเป็นทรัพย์สินของส่วนรวมและทุนเป็นกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล อนาคตของรัสเซียยังไม่แน่นอน แต่ความเข้าใจที่ว่าที่ดินคือทรัพย์สินร่วมกันสำหรับคนรัสเซียก็ยังไม่จางหายไป ส่วนในเอสโตเนีย กลุ่มนักประเมินราคาที่ดินเอกชนอเมริกันได้จัดเตรียมวิธีบริหารระบบภาษีมูลค่าที่ดินให้ และระบบรายได้สาธารณะใหม่ก็ทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้าที่น่าประทับใจ แต่อีกทางหนึ่ง รัสเซียได้ยอมให้กลุ่มคณาธิปไตยมีอำนาจควบคุมนโยบายเศรษฐกิจ พวกเขาไม่สนใจนโยบายที่จะถือเอาค่าเช่าที่ดินเป็นรายได้ของรัฐและได้ใช้วิธีขายทรัพยากรธรรมชาติที่มีผลเสียร้ายแรง การยอมละทิ้งกรรมสิทธิ์ที่ดินของรัฐมีผลสำคัญยิ่งต่อเศรษฐกิจรัสเซียยุคหลังโซเวียต
แคนาดา ในภาคตะวันตกของแคนาดา มีหลายนครที่เก็บภาษีมูลค่าที่ดินในอัตราสูงกว่าสิ่งปรับปรุง ในรัฐบริติชโคลัมเบีย เทศบาล 54 แห่งใน 104 แห่งยกเว้นสิ่งปรับปรุง 50 % อีก 13 แห่งยกเว้นมากกว่า 50 % สำหรับเทศบาลนครนิวเวสต์มินสเตอร์ 86 % ของหัวหน้าครัวเรือนมีบ้านและที่ดินเป็นของตนเองและไม่มีการเก็งกำไรที่ดิน รัฐแอลเบอร์ตากำหนดให้นครทั้งเจ็ดยกเว้นสิ่งปรับปรุง 40 % รัฐนี้เก็บภาษีมูลค่าที่ดินในระดับหนึ่ง รวมทั้งภาษีการโอนที่ดินที่เรียกว่า ภาษีส่วนเพิ่มที่ไม่ได้ลงทุนลงแรง (unearned increment tax) รัฐนี้มีรายได้มากจากการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับน้ำมันและค่าภาคหลวง (รูปแบบหนึ่งของค่าเช่าที่ดิน ซึ่งทำให้สามารถตั้ง กองทุนมรดก Heritage Fund) ในรัฐซัสแคตเชวัน นครและเมืองทุกแห่งยกเว้นแห่งเดียวได้ยกเว้นมูลค่าสิ่งปรับปรุง 40 % ริไจนาเมืองหลวงของรัฐนี้ยกเว้น 70 % เทศบาลในชนบทมีภาษีมูลค่าที่ดินเป็นแหล่งหลักของรายได้ ในรัฐแมนิโทบานครและเมืองต่างๆยกเว้นภาษีสิ่งปรับปรุง 1/3
สหรัฐอเมริกา ภาษีทรัพย์สินทั่วไปและภาษีอสังหาริมทรัพย์ในส่วนที่เก็บจากมูลค่าที่ดินถือเป็นรายได้จากค่าเช่าที่ดินส่วนหนึ่งสำหรับมลรัฐและท้องถิ่น ในนครจำนวนมากมีการคิดค่าทำถนน ท่อประปา ไฟฟ้า ฯลฯ จากทรัพย์สินที่อยู่ติดกันกับสิ่งเหล่านี้โดยวิธีประเมินพิเศษ การที่รัฐบาลเก็บค่าภาคหลวงจากที่ดินแหล่งแร่ บ่อน้ำมัน ฯลฯ ตลอดจนที่ดินสาธารณะถือเป็นการเก็บค่าเช่าที่ดินส่วนหนึ่ง ภาษีทรัพย์สินนั้นแม้จะถือว่าเป็นเพียงส่วนหนึ่งของภาษีที่มีฐานกว้างจำนวนมาก แต่องค์การปกครองระดับต่าง ๆ ในสหรัฐฯ ก็ได้รับความสำเร็จในการนำค่าเช่าที่ดินส่วนหนึ่งมาเป็นรายได้สาธารณะ
การปฏิรูปภาษีทรัพย์สินแบบสองอัตรา ขณะนี้นคร 19 นครในมลรัฐเพนซิลเวเนียและอีกนครหนึ่งในนิวยอร์กได้ใช้ แผนภาษีแบ่งระดับ (graded tax plan) ซึ่งคิดภาษีที่ดินในอัตราสูงกว่าสิ่งปรับปรุง ถึงแม้แผนนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิด สมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาครั้งที่ 2 (Renaissance II) ของนครพิตสเบิร์กในรอบทศวรรษนับแต่ ค.ศ.1980 แต่เมื่อเกิดการผิดพลาดในการประเมินภาษีปี 2003 ซึ่งเจ้าของบ้านขนาดเล็กจำนวนมากต้องเสียภาษีสูง พิตสเบิร์กก็เลิกใช้ภาษีสองอัตรา อย่างไรก็ดี นครอื่น ๆ ในเพนซิลเวเนีย โดยเฉพาะคือเมืองหลวงแฮร์ริสเบิร์ก ได้รับความสำเร็จอย่างมากในการใช้ภาษีสองอัตรา
แคลิฟอร์เนีย ใน ค.ศ.1909 สภานิติบัญญัติมลรัฐแคลิฟอร์เนียได้กำหนดให้เขตชลประทานใหม่ (และให้สิทธิเขตชลประทานเดิมที่จะเลือก) เก็บภาษีมูลค่าที่ดินอย่างเดียว โดยยกเว้นสิ่งปรับปรุง พืชผล ฯลฯ ปัจจุบันมีเขตชลประทานใช้ระบบนี้กว่า 100 เขตรวมพื้นที่ 4 ล้านเอเคอร์ซึ่งเป็นที่ดินไร่นาดีที่สุดและให้พืชผลประมาณ 75 % ของทั้งมลรัฐ การเก็งกำไรที่ดินหายไป และบทบาทสำคัญของแคลิฟอร์เนียด้านการเกษตรของสหรัฐฯ ได้เริ่มขึ้นในช่วงนั้น
อะแลสกา มลรัฐนี้เป็นเจ้าของที่ดินแหล่งน้ำมันจำนวนมากในบริเวณอ่าว Prudhoe และเก็บค่าภาคหลวง 12 % ทำให้มีรายได้เกินรายจ่ายสาธารณะมาก จึงจ่ายเงินปันผลให้ราษฎรทุกคนและยกเลิกภาษีเงินได้
แฟร์โฮป มลรัฐแอละแบมา นี่เป็นนิคมของบรรษัทภาษีเดี่ยวแฟร์โฮปซึ่งถือกรรมสิทธิ์ที่ดินจำนวนมากในนครแฟร์โฮปและให้ผู้อยู่อาศัยเช่าที่ดิน บรรษัทเก็บค่าเช่าที่ดินแล้วใช้ค่าเช่านี้ชำระภาษีทรัพย์สินในระดับมลรัฐ เทศมณฑล (county) และนคร เงินที่เหลือก็ใช้ปรับปรุงสิ่งสาธารณะ แฟร์โฮปมีความเจริญเติบโตสูงกว่าเมืองข้างเคียงมาก แต่โชคไม่ดีที่มีแรงกดดันทางการเมืองภายในทำให้บรรษัทต้องเลิกนโยบายเก็บค่าเช่าที่ดินที่ได้ผลดีนี้
อาร์เดนทั้งสาม มลรัฐเดลาแวร์ สามเมืองนี้คือ Arden, Ardentown และ Ardencroft ซึ่งให้เช่าที่ดิน ไม่มีการเก็บภาษีจากสิ่งปรับปรุง กองทุนค่าเช่าที่ดินของอาร์เดนเป็นผู้จ่ายภาษีท้องถิ่นแทนผู้ที่พักอาศัยในพื้นที่ของตน และบางครั้งก็ใช้ปรับปรุงสิ่งสาธารณะด้วย เมืองเหล่านี้เป็นที่รู้กันดีว่าเป็นชุมชนที่พักอาศัยที่สวยงาม อย่างไรก็ดี ที่ดินในอาร์เดนมีราคาสูง แสดงว่าชุมชนไม่ได้เก็บค่าเช่าสูงใกล้เคียงกับมูลค่าเต็มที่ของค่าเช่าที่ดินเลย.
ดูเพิ่มเติมได้จาก Where a Tax Reform Has Worked: 28 Case Summaries ที่ //www.progress.org/geonomy/Numbers.html (ศลิษา ทองสังข์เรียบเรียงบางส่วนไว้ในบทความ บนผืนดินที่เป็นธรรม ที่ //blogazine.prachatai.com/user/landless/post/1430 ) และขอเชิญดูหนังสือและบทความเกี่ยวกับวิธีแก้ความยากจน (จากระบบภาษีที่ไม่เป็นธรรม) ซึ่งเกิดคู่ขนานไปกับความเจริญก้าวหน้า ที่ // utopiathai.webs.com ครับ
หมายเหตุผู้แปล - ภาษีสิ่งปรับปรุงเป็นตัวถ่วงกำลังใจทำให้เจ้าของบ้านไม่อยากสร้าง/ซ่อมอาคารเรือนโรงให้ดูสวยงามมีราคาขึ้นมา เพราะจะถูกประเมินภาษีทรัพย์สินเพิ่ม แต่ถ้าไม่มีการซ่อมหรือปรับปรุงก็จะหักค่าเสื่อมราคาของอาคารเรือนโรงได้เต็มที่ตามสิทธิ์ จะได้ลดภาษีสิ่งปรับปรุงที่จะต้องเสียลงไปเรื่อยๆ.
Create Date : 04 กรกฎาคม 2554 | | |
Last Update : 4 กรกฎาคม 2554 2:19:06 น. |
Counter : 860 Pageviews. |
| |
|
|
|
|
ที่ดินไม่เหมือนทุนหรือทรัพย์สินอื่น
ที่ดิน กับ ทรัพย์สินอื่น ๆ (รวมทั้งทุน) มีความแตกต่างกันอย่างมาก ทรัพย์สินอื่น ๆ ใช้แรงงานและทุนผลิตขึ้นมา ใช้แรงงานและทุนของใครบ้าง ก็ควรเป็นของเขาตามส่วน และเขาจะแลกเปลี่ยนซื้อขายกับใครก็ได้ ผู้ซื้อหรือแลกเปลี่ยนก็มีสิทธิต่อไปในทรัพย์นั้น ๆ แต่การผลิตก็ต้องอาศัยที่ดินด้วย จึงต้องคิดหักผลตอบแทนจากที่ดินออกให้แก่ส่วนรวม (ผู้ทำหน้าที่แทนส่วนรวมคือรัฐและองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น)
John Stuart Mill (1806-1873) กล่าวว่า: เจ้าของที่ดินรวยขึ้นขณะนอนหลับโดยไม่ต้องทำงาน เสี่ยง หรือ หาทางประหยัด การที่ที่ดินมีมูลค่าสูงขึ้น อันเนื่องมาจากการใช้ความพยายามของทั้งประชาคม ควรเป็นของประชาคม มิใช่เป็นของปัจเจกชนผู้อาจถือกรรมสิทธิ์ (จาก //www.earthsharing.org.au/2006/10/13/quotations )
ที่ดินว่าง ๆ อยู่แท้ ๆ ไม่มีอะไรเลย แต่ถ้าอยู่กลางเมือง ทำไมมันจึงมีราคาวาละหลายแสนบาท
และยังมีความแตกต่างอื่น ๆ อีก: 1. ผู้ใดใช้แรงงานของตนผลิตสิ่งใด ผู้นั้นย่อมมีสิทธิในสิ่งนั้นโดยชอบ แต่สำหรับที่ดิน ไม่มีผู้ผลิต 2. ผู้ลงทุนซื้อผลผลิตจากผู้ผลิตหรือจากผู้มีสิทฺธิในผลผลิตโดยชอบ ย่อมมีสิทธิในสิ่งนั้น 3. เมื่อเกิดความต้องการสินค้าหรือบริการมากขึ้น จะมีผู้ผลิตแข่งขันกัน ผลิตสินค้าหรือบริการนั้น ๆ เพิ่มขึ้น ราคาจะกลับสู่ดุลยภาพ แต่เมื่อเกิดความต้องการตำบลที่หรือทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้น ไม่มีใครผลิตเพิ่มได้ ราคาจึงมีแนวโน้มสูงขึ้น เจ้าของที่ดินบางคนกักตุนที่ดินไว้ หวังราคาที่จะสูงขึ้นในอนาคต ทำให้ราคาที่ดินยิ่งสูงขึ้นไปอีก 4. เมื่อเราต้องการผลิตเศรษฐทรัพย์บางอย่าง เราก็ต้องมีที่ดิน อันเป็นแหล่งกำเนิดของทั้งชีวิตและเศรษฐทรัพย์ ถ้ามีการกักตุนสินค้า แม้จะเป็นจำนวนมาก ผู้อื่นสามารถผลิตเพิ่ม แต่ถ้ากักตุนทรัพยากรธรรมชาติ - แหล่งที่มาของสินค้า - และที่ดิน - ตำบลที่ซึ่งใช้ทำงาน จะเป็นการกีดกันผู้อื่นมิให้ทำงานผลิต (จาก //www.progress.org/geonomy/Earth.html )
แก้ปัญหาที่ดินได้ก็หมดปัญหานายทุนกดค่าแรง ชนชั้นปัจจุบันยังไม่ได้เหลือสอง คือ ผู้ใช้แรงงาน กับ นายทุน เท่านั้น ชนชั้นเจ้าของที่ดินยังมีอยู่ และมีอิทธิพลสูง เฉพาะชนชั้นเจ้าของที่ดินเท่านั้นที่ขัดผลประโยชน์กับผู้ใช้แรงงาน และขัดผลประโยชน์กับนายทุนด้วย
ที่จริง คนเดียวอาจเป็น ๒ หรือทั้ง ๓ ฐานะ คือ เจ้าของที่ดิน ผู้ใช้แรงงาน และ นายทุน (ผู้ประกอบการคือผู้ใช้แรงงาน ซึ่งใช้แรงสมองเป็นส่วนมาก) แต่เมื่อจะพิจารณาเรื่องเช่นนี้ เราก็ต้องแยกทั้ง ๓ ฐานะออกจากกัน
คนในสังคมไม่ว่าจะชนชั้นไหนไม่ควรจะต้องเป็นศัตรูทำลายล้างกัน ระบอบประชาธิปไตยขณะนี้ได้พัฒนาขึ้นมากแล้ว ภาคประชาชนก็เข้ามีส่วนร่วมตรวจสอบพฤติการณ์ของฝ่ายบริหารอย่างแข็งขันขึ้น ขอเพียงให้วิธีแก้ไขอย่างถูกต้องในปัญหาความไม่เป็นธรรมด้านที่ดินและภาษี อันเป็นฐานรากที่แผ่กว้างทั่วสังคมมนุษย์ ได้เป็นที่รู้กันแพร่หลายเท่านั้น แล้วประชาธิปไตยจะแก้ไขนำความอยู่ดีกินดีมาให้เอง
น่าเสียดายที่รัสเซียและประเทศในยุโรปตะวันออกซึ่งได้ละทิ้งระบบเศรษฐกิจ แบบคอมมิวนิสต์ส่วนมากไม่ได้คิดดึงเอาที่ดินไว้เป็นของรัฐต่อไป ถ้าประเทศเหล่านี้ เพียงแต่เก็บภาษีเท่ากับค่าเช่าที่ดินตามที่ประเมินได้ว่าควรจะเป็นเท่าใด (ซึ่งย่อมแตกต่างกันไปตามแต่ทำเล) ไม่ว่าผู้ถือครองจะให้เช่าหรือใช้ทำประโยชน์เองหรือไม่ก็ตาม รวมทั้งค่าภาคหลวงจากการนำทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญขึ้นมาใช้ประโยชน์ (ซึ่งเป็นแบบหนึ่งของภาษีที่ดิน) ที่ส่วนใหญ่จะได้จากการลงทุนของต่างชาติ ก็จะได้ภาษีมากพอที่จะยกเลิกภาษีอื่น ๆ (รวมทั้งภาษีเงินได้ และภาษีที่มีแต่ไปเพิ่มราคาสินค้าให้แพงขึ้น) ซึ่งก็จะทำให้ผู้ทำงานมีเงินได้สุทธิเพิ่มขึ้น และของกินของใช้ราคาถูกลง ก่อความอยู่ดีกินดีแก่คนหมู่มาก
ระบบปัจจุบันเอื้ออำนวยให้เจ้าของที่ดินได้รับประโยชน์ไปโดยไม่ต้องทำอะไร วันเวลาผ่านไป บ้านเมืองเจริญขึ้น ราคา/ค่าเช่าที่ดินก็สูงขึ้นไปเรื่อย ๆ
ใคร ๆ ที่พอมีเงินเห็นดังนี้ก็พากันซื้อหาที่ดินเก็บกักกันไว้ หวังราคา/ค่าเช่าที่จะสูงขึ้น เป็นการรวมหัวผูกขาดที่กว้างขวางที่สุดโดยไม่ต้องนัดหมาย ไปที่ไหน ๆ ก็เจอแต่ที่ดินมีเจ้าของแล้วแทบทั้งนั้น ส่วนใหญ่รกร้างหรือทำประโยชน์น้อยเกินไป คนจนก็ยิ่งลำบากมากขึ้นในการจะขวนขวายหาที่ดินเป็นของตนเอง มิหนำซ้ำยังต้องจ่ายค่าเช่าสูงขึ้นเพราะการเก็งกำไรเก็บกักที่ดินกันทั่วไปนี้
การที่เจ้าของที่ดินแต่ละคนมีที่ดินมากเกินส่วนเฉลี่ยย่อมเป็นการบั่นทอนสิทธิเข้าถึงที่ดินของคนส่วนที่เหลือ ซึ่งที่ดินนั้นจำเป็นเสมอต่อการเป็น ที่อยู่อาศัย และ ประกอบอาชีพ
ที่ดินเป็นเงื่อนไขของชีวิต ขาดที่ดิน ชีวิตก็ดับ
การซื้อที่ดินมิใช่การลงทุนที่แท้ (การลงทุนที่แท้คือการลงทุนที่ก่อผลผลิตและบริการ) แต่เป็นเพียงการสืบต่อสิทธิในสิ่งที่ไม่ได้เกิดจากการลงทุนลงแรงผลิต
หากราชการเก็บภาษีเท่าค่าเช่าที่ดินประเมิน โดยมีการประเมินใหม่เป็นระยะ ๆ การเก็งกำไรที่ดินจะหายไป ค่าเช่าที่ดินส่วนที่สูงเกินจริงจะหายไป ราคาที่ดินจะเป็นศูนย์ ที่ดินจะเปิดออกให้คนได้เข้าทำกินมากขึ้น และการเลิก/ลดภาษีอื่น ๆ จะเป็นแรงกระตุ้นจูงใจให้มีการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น การต้องพึ่งพานายจ้างจะลด การว่างงานจะลด การต้องแย่งกันหางานทำจะลด นายทุนจะกลับต้องเป็นฝ่ายวิ่งหาคนงาน ค่าแรงจะสูงขึ้น ซึ่งเป็นส่วนที่มาจากการลดของราคา/ค่าเช่าที่ดินและส่วนที่เจ้าของที่ดินเคยได้ไป นายทุนจะไม่สามารถกดค่าแรงไว้ได้เหมือนแต่ก่อนอีกต่อไป แต่นายทุนก็จะได้ดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนต่อทุนสูงขึ้น เหมือนค่าแรง จากการที่ราคา/ค่าเช่าที่ดินลดและการลดภาษีอื่น ๆ
แต่การเปลี่ยนแปลงฮวบฮาบจะก่อความเดือดร้อนแก่เจ้าของที่ดิน การเปลี่ยนแปลงระบบภาษีเช่นนี้จึงควรค่อยเป็นค่อยไป อาจใช้เวลา ๒๕๓๐ ปี ซึ่งในที่สุดเจ้าของที่ดินจะต้องเปลี่ยนฐานะเป็นนายทุนหรือผู้ใช้แรงงานไป หรือใช้เงินทองหรือทรัพย์สินอื่น ๆ ที่ตนสะสมไว้
คาร์ลมาร์กซ์กล่าวไว้ว่า Monopoly of land is the basis of monopoly in capital. นี่แปลว่า ถ้า Monopoly of land หมดไปแล้ว ก็ไม่มี monopoly in capital ใช่ไหมครับ ? นั่นคือ นายทุนจะไม่สามารถกดค่าแรงไว้ได้
จากเอกสารเรื่อง Henry George and Karl Marx ที่ Frank McEachran เสนอ ในการประชุมระหว่างประเทศของกลุ่มผู้นิยมจอร์จที่ลอนดอนในเดือนกันยายน ค.ศ.1936 //www.cooperativeindividualism.org/mceachran_hgeorge_and_kmarx มีข้อความตอนหนึ่งว่า พวกเสรีนิยมอ้าง และแม้แต่มาร์กซ์เองก็เห็นด้วย ว่ามูลฐานหลักของการขูดรีดโดยทางประวัติศาสตร์คือ การกั้นรั้วล้อมที่ดิน และถ้าที่ดินเป็นเสรีอย่างแท้จริง [น่าจะหมายถึงไม่ถูกเก็งกำไรเก็บกักไว้] การผูกขาด มูลค่าส่วนเกิน ก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ (The Liberals claim and even Marx himself agreed, that the fundamental basis of exploitation was historically land enclosure and that if the land had been really free no monopoly of "surplus value" could have grown up.)
(จาก //bbznet.com/scripts2/view.php?user=tangnamo&board=1&id=365&c=1 )
ในการเลือกตั้งผู้แทนครั้งต่อไป ขอให้พวกเราช่วยกันเลือกผู้ที่เขาสัญญาว่า จะมุ่งสนับสนุนการเพิ่มภาษีที่ดิน และลด-เลิกภาษีจากการลงแรงลงทุน ที่ก่อผลผลิตและบริการ รวมทั้งการค้าขายแลกเปลี่ยน ด้วยนะครับ
ขอบคุณครับ จากเว็บเศรษฐศาสตร์เพื่อความเป็นธรรม //utopiathai.webs.com
Create Date : 26 พฤษภาคม 2554 | | |
Last Update : 26 พฤษภาคม 2554 23:43:03 น. |
Counter : 1024 Pageviews. |
| |
|
|
|
|
ความยากจนเกิดจากแทบทุกรัฐมุ่งเก็บภาษีจากแรงงานและทุน แทนที่จะเป็นที่ดิน
ระบบภาษีของเราและแทบทั่วโลกสวนกลับทาง 180 องศากับที่ควรเป็นมานานแล้ว คือรังแกผู้ทำงานและผู้ลงทุนก่อผลผลิตและบริการ แทนที่จะส่งเสริม เช่น
ขั้นที่ 1 ภาษีเงินได้ภาษีกำไรไปลดรายได้ ภาษีการผลิตการค้าทำให้ของแพง แข่งต่างชาติก็ยาก
ขั้นที่ 2 การเก็บภาษีที่ดินในอัตราต่ำ ทำให้มีการเก็งกำไรสะสมที่ดินกันทั่วไป ราคา-ค่าเช่าที่ดินแพงเกินจริง ซึ่งไปลดผลตอบแทนส่วนที่เหลือสำหรับเจ้าของปัจจัยการผลิตอีก 2 ปัจจัย คือ ผู้ใช้แรงงาน (กาย+สมอง) และผู้ลงทุน ให้ต่ำเกินจริงลงไปอีก ยิ่งเป็นการถ่วงการก่อผลผลิตและบริการ
ขั้นที่ 3 ที่ดินที่กักตุนไว้โดยไม่ค่อยได้ใช้ประโยชน์ ทำให้ที่ดินที่จะใช้ประโยชน์ได้ของชาติลด แรงงานและทุนพลอยหางานทำไม่ค่อยจะได้ ผลผลิตของชาติจึงต่ำกว่าที่ควร คนว่างงานมากขึ้น ค่าแรงยิ่งต่ำ ที่สาหัสคือคนจน ซึ่งยิ่งเดือดร้อน อ่อนแอ กลายเป็นเหยื่อนายทุนผู้จ้าง นายทุนเงินกู้ และผู้หลอกลวงอีกต่อหนึ่ง
ขั้นที่ 4 การเก็งกำไรกักตุนที่ดิน ผสมกับสาเหตุทางการเงิน ยังก่อวิกฤตวัฏจักรเศรษฐกิจฟองสบู่ ทำความเสียหายใหญ่หลวงซ้ำซากเป็นระยะ ๆ เรื่อยมา บริษัทล้ม คนว่างงาน ดังเช่นปี 2551-52 ในสหรัฐฯ และลามไปทั่วโลกจนถึงเดี๋ยวนี้
ถ้าไม่มีการเก็งกำไรที่ดินอย่างกว้างขวาง ก็ไม่มีการกู้เงินอย่างกว้างขวาง และไม่มีวัฏจักรราคาที่ดินที่เหวี่ยงตัวรุนแรง วิกฤตการเงินที่แผ่ลามทั่วโลกก็ไม่เกิด เก็งกำไรที่ดินมีในลัทธิที่ดินนิยม ที่ดินนิยมคือเชื้อแห่งความเสื่อม เป็นกาฝากร้ายมาตลอดในระบบของเราที่เรียกกันว่า "ทุนนิยม" เมื่อที่ใดเกิดชุมชนหนาแน่น มีสิ่งอำนวยความสะดวกรวดเร็ว ธุรกิจดี ที่ดินก็ราคาสูง เจ้าของที่ดินไม่ต้องทำอะไร ค่าเช่า/ราคาที่ดินก็สูงขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งเกิดการเก็งกำไรกักตุนที่ดิน ในที่สุดค่าแรงและผลตอบแทนทุนยิ่งต่ำ คนจนยิ่งเดือดร้อน นั่นคือ ความเจริญยิ่งเพิ่มความยากจน จนกว่าเราจะหันมาเก็บภาษีที่ดินแทนภาษีจากการทำงานและการลงทุนก่อผลผลิตและบริการ (คำว่า ภาษีที่ดิน ไม่รวมภาษีสิ่งปลูกสร้างสิ่งปรับปรุงซึ่งเกิดจากการลงแรงลงทุนสร้างหรือผลิต)
ถ้าเราแก้ไขระบบภาษี โดยมุ่งเก็บแต่ภาษีที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ และเก็บค่าการก่อความเสียหายแก่สิ่งแวดล้อม พร้อมกับลด-เลิกภาษีการลงแรงลงทุนผลิตและค้าสินค้าและบริการชดเชยกันไป อาจทำเป็นโครงการระยะยาวสัก 30 ปี เพื่อมิให้เกิดความเดือดร้อนวุ่นวายเกินไป ปัญหาสังคมต่าง ๆ จะลดลงมาก การหางานทำยาก ค่าแรงต่ำ ความยากจน จะแทบหมดไป อาชญากรรม ศีลธรรมเสื่อม ภัยโจรผู้ร้ายที่คุกคามคนรวยจะลดต่ำ ความต้องการการสวัสดิการจากรัฐจะเหลือเพียงน้อยนิด
บทความที่เกี่ยวข้อง ผลดีและความเป็นธรรมของการมุ่งเก็บภาษีที่ดินและเลิกภาษีจากการลงแรงลงทุน //bbznet.com/scripts2/view.php?user=tangnamo&board=1&id=242&c=1 ผสมสองทฤษฎีสกัดวัฏจักรเศรษฐกิจฟองสบู่ //bbznet.com/scripts2/view.php?user=tangnamo&board=1&id=46&c=1 แก้ปัญหาที่ดินได้ก็หมดปัญหานายทุนกดค่าแรง //bbznet.com/scripts2/view.php?user=tangnamo&board=1&id=365&c=1
Create Date : 07 พฤษภาคม 2554 | | |
Last Update : 7 พฤษภาคม 2554 23:53:15 น. |
Counter : 667 Pageviews. |
| |
|
|
|
|
|
|
|
|
 |
 |
 |
 |
|
|