ยูโทเพียไทย
เศรษฐศาสตร์
เพื่อความเป็นธรรม

 

พรที่เราร่วมกันบันดาลได้

แน่นอนว่าทุกคนอยากหางานทำได้ง่าย ๆ
อยากให้มีคนมาลงทุนเพื่อจะได้เพิ่มตำแหน่งงาน
อยากได้เงินเดือนค่าจ้างค่าแรงมาก ๆ โดยไม่ถูกหักภาษี
อยากให้ข้าวของสินค้าราคาถูก รวมทั้งบ้าน โดยไม่ต้องมีภาษีมาเพิ่มค่าใช้จ่าย
และอยากให้ที่ดินไร่นาที่จะใช้ทำกินและอยู่อาศัยราคาถูก
สรุปก็คือ อยากให้รายได้เพิ่ม ลดรายจ่าย และขยายโอกาส
ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำให้ชีวิตมีสุข ไม่ต้องเดินเตะฝุ่นหางานทำ และพ้นจากความยากจน
ไม่ต้องทนทุกข์ทรมานเห็นลูกเมียต้องอดอยากหิวโหยโดยแทบจะช่วยอะไรไม่ได้ อย่างที่เคยเป็น

สิ่งดี ๆ หรือพรอย่างนี้เราร่วมกันบันดาลได้ครับตามแนวของเฮนรี จอร์จ
//th.wikipedia.org/wiki/เฮนรี_จอร์จ
คือ ลด-เลิกภาษีเงินได้และภาษีทั้งหลายที่เก็บจากการผลิตสินค้า การบริการ รวมทั้งการค้า
รายได้ของรัฐควรจะมาจากที่ดินซึ่งมีราคาสูงขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเหตุที่ชุมชนหนาแน่นขึ้น มีกิจกรรมมากขึ้น รวดเร็วและสะดวกสบายด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกทันสมัยยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ
ผลดีที่ทำให้ที่ดินมีราคาเหล่านี้ควรจะเป็นของทั้งสังคม ไม่ใช่เป็นฟรีลันช์หรือของฟรีเฉพาะแก่เจ้าของที่ดินมากขึ้น ๆ

นโยบายที่ผิดพลาดมานานได้ทำให้ผู้คนเคยชิน ไม่ได้คิดว่าเป็นสิ่งผิด เป็นการทำให้คนจนยากที่จะหลุดพ้นจากความยากจน และแม้คนชั้นกลางก็ต้องลำบากมากขึ้นกว่าที่ควรจะเป็น อาชญากรรมต่าง ๆ เกิดขึ้นเป็นภัยร้ายแก่ทุกคน รวมทั้งแก่คนรวย โอกาสที่จะเกิดความวุ่นวายเกิดปฏิวัตินองเลือดเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองก็มากขึ้น

แม้กระนั้นก็ควรค่อย ๆ เปลี่ยนแปลง เพื่อมิให้เจ้าของที่ดินเดือดร้อนเกินไป เช่น เพิ่มภาษีที่ดินปีละ 3 % ของค่าเช่าประเมินรายปี ไม่รวมสิ่งปลูกสร้างปรับปรุง ใช้เวลากว่า 30 ปีภาษีจึงเท่ากับหรือเกือบเท่าค่าเช่าที่ควรจะเป็น

การเก็บภาษีที่ดินเพิ่ม และเลิกภาษีอื่น ๆ มีความเป็นธรรม
1. ทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้ต้องมีที่ดินเพื่ออยู่อาศัยและทำกิน เพราะถ้าไม่มี เขาตาย

2. ไม่มีมนุษย์คนไหนลงแรงหรือลงทุนผลิตหรือสร้างที่ดินขึ้นมา จึงไม่ควรมีใครอ้างว่ามีสิทธิ์ในที่ดินเหนือผู้อื่น

3. มูลค่าของที่ดินส่วนใหญ่ (โดยเฉพาะที่ดินย่านชุมชนซึ่งมีราคาสูง) เกิดจากกิจกรรมของส่วนรวมที่แยกไม่ออกว่าเป็นของคนไหนเท่าไรและจากภาษีที่เก็บเอาไปสร้างสิ่งสาธารณูปโภค แต่ที่แน่ ๆ คือมูลค่าที่ดินไม่ได้เกิดจากบุคคลในฐานะเจ้าของที่ดิน (ยกเว้นการเก็งกำไรที่ดิน) เจ้าของที่ดินอาจลงแรงลงทุนก่อสร้างดัดแปลงและทำการผลิตหรือค้าในที่ดินของตนเอง แต่ที่ทำเช่นนั้นเขาทำในฐานะผู้ลงแรงและหรือผู้ลงทุน ซึ่งเขาควรได้รับผลตอบแทนจากการลงแรงหรือลงทุนของเขาเต็มที่ ส่วนประโยชน์จากมูลค่าที่ดินควรเป็นของส่วนรวม (แต่ไม่ใช่เอาที่ดินมาแบ่งกันเพราะที่ดินมีมูลค่าแตกต่างกันตามทำเลและสภาพอื่น ๆ ที่แตกต่างกัน ซึ่งให้ผลตอบแทนแก่การลงแรงลงทุนต่างกัน และจะต้องแบ่งกันไม่รู้จบเพราะคนในครอบครัวมีตายมีเกิดทำให้จำนวนเปลี่ยนแปลงเรื่อย ๆ)

4. การซื้อที่ดินมิใช่การลงทุนที่แท้ คือลงทุนผลิตของกินของใช้ (โภคทรัพย์) หรือเครื่องมือช่วยการผลิต (ทุน) แต่เป็นการซื้อสิทธิ์สืบต่อตามกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมเพื่ออำนาจเรียกแบ่งผลตอบแทนจากผู้ทำงานและผู้ลงทุน และการเก็งกำไรกักตุนที่ดินกันไว้มาก ๆ ทำให้ที่ดินแพง ค่าแรงต่ำ หางานทำยาก คนจนก็เดือดร้อนยิ่งขึ้น

5. การเก็บภาษีจากรายได้จากการลงแรงลงทุนผลิต (รวมทั้งจำหน่าย) ไม่ยุติธรรม เพราะเป็นการเอาจากแต่ละคนไปบำรุงส่วนรวม แต่ควรเก็บจากมูลค่าที่ดินเพราะมูลค่าที่ดินเกิดจากกิจกรรมของส่วนรวมและสิ่งอำนวยความสะดวกรวดเร็วทั้งของรัฐและเอกชนที่หวังผลกำไร และภาษีมูลค่าที่ดินจะขจัดความได้เปรียบเสียเปรียบกันเนื่องจากการได้ครอบครองที่ดินมากน้อยดีเลวผิดกันออกไปด้วย


ผลดีของการการมุ่งเก็บภาษีที่ดินแทนภาษีแรงงานและทุน
(ภาษีทั้งหลายเก็บจากสิ่งใด ก็มีผลทำให้สิ่งนั้นแพงขึ้น แต่ภาษีที่ดินมีผลตรงข้าม)

1. ให้เสรีมากขึ้น ลดการถูกเรียกตรวจสอบจากเจ้าพนักงานภาษีของรัฐ เพราะเหลือแต่ภาษีที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม

2. คำว่า “มนุษย์เกิดมาเท่าเทียมกัน” เป็นจริงมากขึ้น เพราะภาษีที่ดินแบบนี้ทำให้ทุกคนดุจเป็นเจ้าของที่ดินเสมอภาคกัน ใครทำงาน ใครลงทุน ได้เท่าไรก็เป็นของเขาทั้งหมด โดยตัดความได้เปรียบเสียเปรียบจากการได้ครอบครองที่ดินมากน้อยดีเลวผิดกัน หรือไม่มีที่ดินเลย ออกไปด้วยภาษีที่ดิน

3. การลด/เลิกภาษีจากแรงงานและทุนเช่นนี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างมาก ซึ่งดีกว่าแบบของสหรัฐฯ ที่ทำมาหลายครั้งแล้ว แต่ก็ทำได้เพียงชั่วคราว มิฉะนั้นรัฐบาลจะเป็นหนี้มหาศาล เพราะไม่ได้เก็บภาษีที่ดินแบบที่ผมเสนอมาชดเชย ซึ่งภาษีที่ดินก็เป็นอีกแรงหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

4. ราคา/ค่าเช่าที่ดินจะลด เพราะที่ดินไม่เสียเปล่ามากมายมหาศาลจากการเก็งกำไรเก็บกักปิดกั้นไว้ (ไปไหน ๆ ก็เห็นแต่ที่ดินมีเจ้าของแล้ว) แต่จะเปิดออกเพื่อหาประโยชน์ให้คุ้มกับที่จะต้องเสียภาษีที่ดิน รวมทั้งให้เช่า หรือทำประโยชน์เอง หรือมิฉะนั้นก็ขายให้แก่ผู้ที่เห็นทางหาประโยชน์ การทำประโยชน์ก็มักต้องหาคนมาทำงานให้ เจ้าของที่ดินต่างคนต่างต้องทำอย่างนี้ ก็เกิดแข่งขันกันเอง การว่างงานจะลด ค่าแรงจะเพิ่ม ผลตอบแทนต่อการใช้ทุนก็เพิ่ม

5. ซ้ำแรงงานและทุนไม่ต้องเสียภาษีทางตรงจำพวกภาษีเงินได้ หรือเสียน้อย จึงมีรายได้สุทธิเพิ่ม

6. สินค้าจะมีราคาถูก เพราะการลด/เลิกภาษีทางอ้อมจำพวกภาษีมูลค่าเพิ่ม อากรสรรพสามิต และอากรขาเข้า ความสามารถแข่งขันกับต่างประเทศจะสูงขึ้นด้วย และต่างชาติจะนิยมมาลงทุนและเที่ยวไทย แบบฮ่องกง สิงคโปร์ (ที่เป็นปัญหาก็คือแรงงานต่างด้าวจะทะลักเข้าไทย ต้องป้องกันให้ได้ผลมากกว่าปัจจุบัน)

7. เกิดความคล่องตัวในการย้ายถิ่นฐาน เพราะทั้งที่ดินและบ้านจะมีราคา/ค่าเช่าถูกลง และหาได้ง่ายขึ้น ที่ดินในเมืองจะได้รับการใช้ประโยชน์มากขึ้น มีบ้าน แฟลต คอนโดให้เช่ามากขึ้น ค่าเช่าต่ำลง ปัญหาการเดินทางเช้าเข้าเมืองเย็นกลับออกนอกเมืองที่ติดขัดอัดแอเสียเวลามากจะบรรเทาลง ปัญหาแหล่งเสื่อมโทรมหรือชุมชนแออัดในเมืองจะบรรเทาลงเช่นเดียวกัน

8. กรณีพิพาทขัดแย้งแย่งกรรมสิทธิ์ที่ดินจะลดลงมากโดยอัตโนมัติ (ถ้าเก็บภาษีที่ดินเท่าค่าเช่าศักย์ ราคาที่ดินจะเป็นศูนย์หรือเกือบศูนย์ คนเราจะเลือกซื้อที่ดินให้เหมาะกับความต้องการได้ง่าย แม้ราคาที่ดินจะเป็นศูนย์ เอาเป็นหลักทรัพย์ค้ำกู้ไม่ได้ แต่การซื้อขายที่ดินเองก็คงไม่ต้องกู้แล้ว และก็จะทำให้คนเรากู้หนี้เพื่อลงทุนอย่างอื่นเกินตัวไม่ได้ ถูกหลักเศรษฐกิจพอเพียง)

โอกาสต่อไปเราน่าจะมาช่วยกันเลือกผู้แทนของเราที่เขารับปากว่า
จะมุ่งเพิ่มภาษีมูลค่าที่ดินและลด/เลิกภาษีรายได้และภาษีการผลิตการค้านะครับ.

จากเว็บเศรษฐศาสตร์เพื่อความเป็นธรรม
//utopiathai.webs.com
ขอบคุณครับ




 

Create Date : 01 มกราคม 2553    
Last Update : 1 มกราคม 2553 7:01:44 น.
Counter : 563 Pageviews.  

ชาติคอมมิวนิสต์ที่เปลี่ยนเป็นทุนนิยมได้เปรียบชาติที่เป็นทุนนิยมมาตลอด

เชื่อไหมครับ ชาติคอมมิวนิสต์ที่เปลี่ยนเป็นทุนนิยมมีสิทธิทำให้ประเทศก้าวหน้าอย่างทั่วถึงเท่าเทียมกันทั่วหน้าดีกว่าชาติที่เป็นทุนนิยมตลอดมา โดยไม่เคยเป็นคอมมิวนิสต์ (ถ้าชาติคอมมิวนิสต์นั้นไม่ได้ปล่อยที่ดินกลับเป็นของเอกชนไปแล้ว)
คือเขาจะสามารถเก็บภาษีที่ดิน (จะเรียกว่าค่าเช่าก็ได้) อย่างเต็มที่จากราษฎร
และไม่ต้องเก็บภาษีจากการลงแรงลงทุน (รวมทั้งภาษีเงินได้) เลย

สหรัฐฯ เขากระตุ้นเศรษฐกิจเป็นระยะ ๆ มาเรื่อย ๆ ด้วยการลดภาษีเงินได้
แต่ทำตลอดไปไม่ได้ เพราะรายได้ของรัฐบาลกลางจะไม่พอกับรายจ่าย
แต่คอมมิวนิสต์จะสามารถเลิกภาษีเงินได้ไปเลย เศรษฐกิจเขาจึงมีทางไปโลด
แล้วยังเลิกภาษีอื่น ๆ ได้ด้วย ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงมหาศาล ขายแข่งกับทุนนิยมได้แสนสบาย รวมทั้งการท่องเที่ยว จนคนของเขาไม่ต้องกลัวการว่างงาน

ความเท่าเทียมกันในประเทศคอมมิวนิสต์จะเกิดขึ้นเพราะภาษีที่ดินจะขจัดความได้เปรียบเสียเปรียบจากการได้ใช้ที่ดินมากน้อยดีเลวต่างกันไปเสีย
การเก็บค่าเช่าหรือภาษีที่ดินนี้น่าจะมีอุปสรรคน้อย เพราะเขายึดที่ดินเป็นของรัฐอยู่แล้ว
เมื่อเก็บภาษีที่ดินเช่นนี้ ก็ไม่มีการเก็งกำไรให้ตนเองได้ที่ดินไว้มาก ๆ แบบประเทศทุนนิยม ผู้คนจะขอมีที่ดินก็ต่อเมื่อถึงโอกาสจะใช้ประโยชน์จากที่ดินเท่านั้น
ที่ดินจะมีว่างมากมายให้ผู้คนเลือกใช้ตามความเหมาะสมกับครอบครัวและความถนัดของตน โอกาสที่จะต้องว่างงานก็น้อย นายทุนจะไม่สามารถกดค่าแรงไว้ได้

สรุปก็คือ รายได้ก็จะสูง สินค้าของกินของใช้ก็จะราคาถูก

ผมแปลกใจว่าทำไมชาติคอมมิวนิสต์เขาจึงไม่ทำอย่างที่ผมว่ามา ชนชั้นผู้นำเขามีผลประโยชน์อะไรแอบแฝงหรือ ? เห็นมีแต่เอสโตเนีย (ใต้อ่าวฟินแลนด์) ซึ่งหลุดออกมาจากสหภาพโซเวียต แต่ก็ไปเก็บภาษีที่ดินจากไร่นาเท่านั้น (ที่จริงควรเก็บภาษีที่ดินทุกแห่งที่มีราคา รวมทั้งในเมือง) ถึงกระนั้นข่าวก็ว่าความเจริญเป็นที่น่าประทับใจ (//www.henrygeorge.org/rem4.htm และ //www.progress.org/geonomy/geono05.php ).

จากเว็บเศรษฐศาสตร์เพื่อความเป็นธรรม
//utopiathai.webs.com




 

Create Date : 29 ธันวาคม 2552    
Last Update : 29 ธันวาคม 2552 7:22:49 น.
Counter : 636 Pageviews.  

ร้อยแก้วที่ไพเราะที่สุดและใช้เรียนในวิชาวรรณคดีอังกฤษ ม.อ็อกซฟอร์ด

ร้อยแก้วที่ไพเราะที่สุดและใช้เรียนในวิชาวรรณคดีอังกฤษ ม.อ็อกซฟอร์ด

เชื่อไหมครับว่านี่คือหนังสือดีเด่นทางเศรษฐศาสตร์ของเฮนรี จอร์จเรื่อง Progress and Poverty
(จากส่วนหนึ่งของคำปราศรัยเรื่อง Henry George and The Reconstruction Of Capitalism โดย ศาสตราจารย์ปรัชญากิตติคุณ ดร. Robert V. Andelson ต่อที่ประชุมสถาบันวิจัยเศรษฐกิจอเมริกันเมื่อ 9 ก.ค. 1992 แก้ไขเมื่อ 22 ก.ย. 2008 และขึ้นเว็บที่ //www.schalkenbach.org/library/andelson-reconstruction.html )

เฮนรี จอร์จเกิดในฟิลาเดลเฟียใน ค.ศ. 1839 และตายที่นิวยอร์ก ค.ศ.1897 เขาเขียนหนังสือที่มีชื่อเสียงเล่มนี้ที่ซาน ฟรานซิสโกในทศวรรษที่เริ่มแต่ ค.ศ. 1870 ชีวิตในวัยผู้ใหญ่ของเขาส่วนใหญ่เป็นการทำงานด้านหนังสือพิมพ์ เริ่มตั้งแต่ฝึกเรียงพิมพ์ แล้วไต่เต้าขึ้นไปจนถึงโต๊ะบรรณาธิการ ชีวิตของเขาเปรียบเสมือนนิยายผจญภัยแบบแคลิฟอร์เนียนที่มีลักษณะพิเศษ ความคิดของเขาหล่อหลอมขึ้นมาจากการช่างสังเกตถึงสภาพในมลรัฐใหม่ที่กำลังเจริญเติบโต ซึ่งเขาสามารถตรวจสอบการกำเนิดและพัฒนาการของกระบวนการทางสังคมและเศรษฐกิจได้ราวกับอยู่ในห้องทดลอง

Progress and Poverty (//www.schalkenbach.org/library/george.henry/ppcont.html ) ได้รับการแปลออกเป็นภาษาต่าง ๆ อย่างน้อย 27 ภาษา (คงจะรวมภาษาไทยที่ผมแปลด้วยแล้ว ซึ่งพิมพ์เพียง 1,000 เล่มใน พ.ศ. 2545 ด้วยเงินของมูลนิธิ Robert Schalkenbach เพื่อแจกส่วนราชการและสถานอุดมศึกษาด้านสังคม และขณะนี้ขึ้นเว็บที่ //utopiathai.webs.com/ProgressAndPoverty.html )

สถิติการจำหน่ายของหนังสือนี้ในบรรดาหนังสือจำพวกสารคดี (non-fiction) เป็นรองแต่เพียงพระคริสตธรรมคัมภีร์เท่านั้นเป็นเวลาหลายทศวรรษ ภาควิชาวรรณคดีอังกฤษ มหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ดได้ใช้หนังสือ Progress and Poverty เป็นแบบอย่างของร้อยแก้วที่ไพเราะที่สุดด้วย ชีวิตต่อมาทั้งหมดของเฮนรี จอร์จคือการรณรงค์ต่อสู้เพื่อความยุติธรรมทางสังคม ซึ่งตอนจบก็ได้เป็นผู้เสียสละเพื่อเพื่อนมนุษย์ (martyr) โดยเข้าแข่งขันในการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีนครนิวยอร์กเป็นครั้งที่ 2 แม้แพทย์จะทักท้วงเรื่องสุขภาพ ในที่สุดจอร์จก็ตายก่อนการเลือกตั้ง 4 วัน งานศพของเขามีผู้คนกว่าแสนมาเคารพศพและร่วมขบวนไปยังสุสานใน Brooklyn

ศาสตราจารย์ Andelson แจ้งว่ามีผู้มีชื่อเสียงที่ยกย่องเฮนรี จอร์จจำนวนมาก เช่น ปราชญ์ John Dewey และ Mortimer J. Adler ประธานาธิบดี Woodrow Wilson และ Dwight D. Eisenhower นักวิทยาศาสตร์ Alfred Russel Wallace และ Albert Einstein นักเขียน John Ruskin และ Albert Jay Nock นักกฎหมาย Louis D. Brandeis and Samuel Seabury นักเขียนคอลัมน์ประจำ William F. Buckley และ Michael Kinsley และรัฐบุรุษ Winston Churchill และ Sun Yat-sen ท่านเหล่านี้มึความคิดทางการเมืองหลากหลายครอบคลุมตั้งแต่อนุรักษนิยมไปจนถึงเสรีนิยม แต่ทุกท่านก็มองเห็นบางสิ่งที่มีคุณค่าล้นเหลือในความคิดของเฮนรี จอร์จ ซึ่งเขาขอยกตัวอย่างท่านเดียว คือ คุณหมอซุน ยัตเซ็น

ซุน ยัตเซ็น (12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2409 – 12 มีนาคม พ.ศ. 2467 ตรงนี้ต้องระวังเวลาคิด พ.ศ. จาก ค.ศ. เพราะสากลขึ้นปีใหม่เดือนมกราคม แต่ไทยยังขึ้นปีใหม่เดือนเมษายนจนถึง พ.ศ. 2483 โดยใน พ.ศ. 2483 มีเพียง 9 เดือนคือ เม.ย. – ธ.ค. พอขึ้น ม.ค. ก็กลายเป็น พ.ศ. 2484 ตามระบบสากล) ผู้ก่อตั้งและประธานาธิบดีคนแรกของจีนในระบอบสาธารณรัฐ ท่านกล่าวว่า “ข้าพเจ้าตั้งใจจะอุทิศอนาคตของข้าพเจ้าเพื่อสวัสดิการของประชาชนจีน
คำสอนของเฮนรี จอร์จจะเป็นมูลฐานแห่งโครงการปฏิรูปของเรา”

ศาสตราจารย์ Andelson คิดว่าเราอาจจะพูดได้อย่างปลอดภัยว่าถ้าคุณหมอซุนยังมีชีวิตอยู่เพื่อปฏิบัติตามสัญญาของท่าน แผ่นดินใหญ่จีนวันนี้จะไม่เป็นคอมมิวนิสต์ ส่วนไต้หวันซึ่งได้ทำ แม้ไม่เต็มที่แต่ก็มากพอควร และก็ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมากจากความยากจนร้ายแรงมาเป็นความรุ่งเรืองคึกคักที่กระจายตัวออกเป็นประโยชน์แก่ประชากรทุกระดับ.




 

Create Date : 23 ธันวาคม 2552    
Last Update : 23 ธันวาคม 2552 7:27:58 น.
Counter : 699 Pageviews.  

ช่วยให้คนจนมีที่ดิน แต่คนไร้ที่ดินเพิ่ม เพราะระบบทำจน

ช่วยให้คนจนมีที่ดิน แต่คนไร้ที่ดินเพิ่ม เพราะระบบทำจน

การช่วยให้คนจนไร้ทิ่ดินได้มีที่ดินทำกินจะช่วยได้เพียงทีละไม่กี่คน
ยังเหลือคนจนไร้ที่ดินอีกจำนวนมหาศาล ไม่รู้อีกกี่สิบปีจะช่วยได้หมด
แถมยังจะมีคนจนไร้ที่ดินเพิ่มจำนวนให้มากขึ้นอีกเรื่อย ๆ ต่างหาก

เพราะระบบเศรษฐกิจของเราและแทบทุกประเทศทำให้เกิดความยากจน
ยากจนเพราะระบบภาษีที่ผู้ลงทุนและผู้ลงแรงกายและแรงสมองท้อถอย
คือต้องเสียภาษีเงินได้ ภาษีกำไร (ส่วนมากคือดอกเบี้ยสำหรับทุน) ภาษีมูลค่าเพิ่มและอื่น ๆ
ภาษีเหล่านี้มาลดรายได้ แต่เพิ่มรายจ่าย (ของแพง ค่าแรงต่ำ) ทำให้รายได้ไม่พอรายจ่าย
สินค้าเราแพงก็เสียเปรียบสินค้าต่างชาติ รวมทั้งการท่องเที่ยว
ผู้มีทุนไม่อยากลงทุน แรงงานก็หางานทำยาก ต้องง้อนายทุนของานทำ ไม่งั้นอาจอดตาย

อีกทั้งระบบของเราส่งเสริมการเก็งกำไรเก็บกักที่ดินหวังราคาสูงขึ้นเรื่อย ๆ ที่ดินแพง
มันทำให้ที่ดินถูกใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า ผลผลิตของชาติต่ำ คนหางานทำยาก ค่าแรงต่ำกว่าที่ควร
วิกฤตเศรษฐกิจฟองสบู่สหรัฐฯ ปี 2551-52 ที่ว่าเพราะสินเชื่อบ้านนั้น ที่จริงมีที่ดินรวมอยู่

ที่ดินนั้นมนุษย์ไม่ได้สร้าง แต่ทุกคนต้องมีที่ทำกินที่อยู่หลับนอน ขาดที่ดินคือตาย
ปล่อยให้มนุษย์ด้วยกันเก็บกักเก็งกำไร แรงงานพื้นฐานจำนวนมากย่อมเดือดร้อน
นอกจากภาษีของกินของใช้ที่ไม่ควรต้องจ่ายแล้ว ค่าเช่าบ้าน-ที่ดินยังสูงกว่าที่ควรเป็น

ธรรมชาติของสังคมมนุษย์ เมื่อชุมชนเจริญขึ้น ที่ดินบริเวณนั้นจะมีค่าเช่า/ราคาสูงขึ้นตามกันไป
มูลค่าของที่ดินแสดงถึงประโยชน์ที่เจ้าของมีทางจะได้รับหากทำประโยชน์เหมาะสมกับทำเล
แต่มูลค่านี้ได้มาจากการเจริญขึ้นของสังคม จากกิจกรรมของส่วนรวม ไม่ใช่จากเจ้าของที่ดินแต่ละคน
ภาษีมูลค่าที่ดินจะขจัดความได้เปรียบเสียเปรียบจากการได้ครองที่ดินมากน้อยดีเลวต่างกันออกไป

“การผลักภาษี จากผลิตกรรมและปริวรรตกรรม ไปให้เป็นภาระแก่ราคาหรือค่าเช่าที่ดิน จะไม่แต่เพียงก่อให้เกิดแรงกระตุ้นใหม่แก่การผลิตเศรษฐทรัพย์เท่านั้น มันจะเปิดโอกาสใหม่ ๆ ออกด้วย เพราะภายใต้ระบบนี้จะไม่มีใครอยากยึดถือที่ดินไว้ นอกจากเพื่อจะใช้ให้เป็นประโยชน์ และที่ดินซึ่งบัดนี้ถูกยึดถือไว้มิได้ใช้ประโยชน์ก็จะเปิดออกสำหรับการปรับปรุงทุกหนแห่ง
ราคาขายของที่ดินจะตกต่ำลง การเก็งกำไรจากที่ดินจะถึงซึ่งวาระสุดท้าย การผูกขาดที่ดินจะไม่ก่อประโยชน์อีกต่อไป…

“ผลแห่งการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ต่อตลาดแรงงาน การแข่งขันจะไม่เป็นฝ่ายเดียวเช่นในสมัยนี้อีกต่อไป แทนที่แรงงานจะแข่งขันกันเองเพื่อหางานทำ และตัดราคาค่าแรงลงจนถึงระดับที่พอจะยังชีพอยู่ได้เท่านั้น นายจ้างก็จะกลับต้องแข่งขันกันหาแรงงานทุกหนทุกแห่ง และค่าแรงจะสูงขึ้นจนถึงระดับที่แรงงานทำมาหาได้อย่างเป็นธรรม… นายจ้างของแรงงานจะไม่แต่เพียงต้องประมูลแข่งขันกันเองกับนายจ้างคนอื่น ๆ ซึ่งทุกคนรู้สึกถึงแรงกระตุ้นแห่งธุรกิจที่มากขึ้นและผลกำไรที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ยังต้องแข่งกับความสามารถของแรงงาน ที่จะเป็นนายจ้างของตนเอง กระทำต่อโอกาสธรรมชาติ ซึ่งเปิดให้แก่ตนอย่างเสรีโดยภาษีที่ป้องกันการผูกขาดอีกด้วย …

“กสิกรจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์มากจากการเก็บภาษีเดี่ยวจากมูลค่าที่ดินแทนภาษีทั้งหลายเหล่านี้ ทั้งนี้เพราะภาษีจากมูลค่าที่ดินมิใช่จะตกหนักที่สุดอยู่แก่ย่านเกษตรกรรมซึ่งที่ดินมีราคาค่อนข้างต่ำ แต่ตกอยู่แก่เมืองเล็กใหญ่ซึ่งที่ดินมีราคาสูง ส่วนภาษีจากทรัพย์สินส่วนตัวและสิ่งปรับปรุงนั้นเป็นภาระหนักเท่า ๆ กันทั้งในชนบทและในเมือง…ผลลัพธ์ก็คือราคาที่ดินเนื่องจากการเก็งกำไรจะลดลง และไร่นาที่ได้รับการเพาะปลูกและปรับปรุงจะไม่ต้องเสียภาษีจนกว่าพื้นที่รอบ ๆ จะมีผู้คนอพยพมาอยู่อาศัยมากขึ้นแล้ว ที่จริงแล้ว ถึงแม้ในขั้นแรกจะดูไม่น่าเชื่อสำหรับกสิกรเหล่านี้ แต่ผลของการเก็บภาษีทั้งสิ้นจากมูลค่าที่ดินก็คือจะปลดเปลื้องกสิกรผู้ทำงานหนักให้พ้นจากภาษีทั้งหลาย …”

(จาก ความก้าวหน้ากับความยากจนฉบับย่อสั้น //utopiathai.webs.com/PPsupercondensed.html )

“เมื่อเราเก็บภาษีจากบ้าน พืชผล เงิน เครื่องเรือน ทุน หรือทรัพย์สมบัติในรูปแบบใด ๆ
นั่นคือเราเอามาจากปัจเจกบุคคลซึ่งสิ่งอันเป็นของเขาโดยชอบ
เราละเมิดสิทธิในทรัพย์สิน และทำการชิงทรัพย์ในนามของรัฐ
แต่เมื่อเราเก็บภาษีมูลค่าที่ดิน เราเอามาจากปัจเจกบุคคลซึ่งสิ่งอันมิใช่ของเขา แต่เป็นของประชาคม
และซึ่งมิสามารถปล่อยให้เป็นของปัจเจกบุคคล โดยไม่เป็นการชิงทรัพย์ของปัจเจกบุคคลอื่น ๆ”
- เฮนรี จอร์จ The Single Tax: What It Is and Why We Urge It
//www.schalkenbach.org/library/george.henry/SingleTax.htm

โอกาสต่อไปเราน่าจะมาช่วยกันเลือกผู้แทนของเราที่เขารับปากว่าจะมุ่งเพิ่มภาษีมูลค่าที่ดินและลด/เลิกภาษีรายได้และภาษีการผลิตการค้านะครับ.




 

Create Date : 13 ธันวาคม 2552    
Last Update : 13 ธันวาคม 2552 23:23:08 น.
Counter : 689 Pageviews.  

กฏเกี่ยวกับวิภาคกรรมหรือการแบ่งผลตอบแทน

กฏเกี่ยวกับวิภาคกรรมหรือการแบ่งผลตอบแทน (The Laws of Distribution)

จากหนังสืออเมริกันดีเด่น ความก้าวหน้ากับความยากจน (Progress and Poverty) ฉบับตัดตอนเหลือเพียง 2 %
Henry George แต่ง พ.ศ. 2422, James L. Busey ย่อ พ.ศ. 2500
(ต้นฉบับย่อภาษาอังกฤษอยู่ที่ unitax.org/progress)

ที่ดิน แรงงาน และ ทุน เป็น ปัจจัยของการผลิต
คำว่า ที่ดิน หมายรวมถึงโอกาสหรือพลังธรรมชาติทั้งปวงด้วย
คำว่า แรงงาน หมายถึงการใช้ความพยายามทั้งปวงของมนุษย์ และ
คำว่า ทุน หมายถึงเศรษฐทรัพย์ทั้งปวงที่ใช้เพื่อผลิตเศรษฐทรัพย์ให้มากขึ้น

ผลผลิตทั้งสิ้นถูกแบ่งสันปันส่วนออกเป็นผลตอบแทนแก่ปัจจัยทั้งสามนี้
ส่วนที่ไปสู่เจ้าของที่ดินเป็นค่าการใช้โอกาสธรรมชาติ เรียกว่า ค่าเช่า
ส่วนที่เป็นรางวัลแห่งการใช้ความพยายามของมนุษย์เรียกว่า ค่าแรง และ
ส่วนที่เป็นผลตอบแทนสำหรับการใช้ทุนเรียกว่า ดอกเบี้ย
คำเหล่านี้ต่างขจัดซึ่งกันและกันออกไป

รายได้ของบุคคลใด ๆ อาจได้มาจากแหล่งใดแหล่งหนึ่ง หรือสอง หรือทั้งสามแหล่งเหล่านี้
แต่ในการพยายามที่จะค้นให้พบกฎเกี่ยวกับวิภาคกรรม เราจะต้องแยกมันออกจากกัน

กฎ หรือความสัมพันธ์ ซึ่งกำหนดว่าเจ้าของที่ดินจะสามารถเรียกเอาค่าเช่าหรือราคาได้เท่าไร … เรียกกันว่า กฎว่าด้วยค่าเช่า …
กฎว่าด้วยค่าเช่าอันเป็นที่ยอมรับกันนี้ … บางครั้งก็เรียกกันว่า "กฎว่าด้วยค่าเช่าของริคาร์โด"
กฎนี้คือ "ค่าเช่าที่ดินถูกกำหนดโดยผลผลิตของมันส่วนที่เกินกว่าที่การใช้ (แรงงาน) เช่นเดียวกันจะได้รับจากที่ดินอันมีผลิตภาพน้อยที่สุดที่ใช้กันอยู่ (ที่ดินที่ค่าเช่าเป็นศูนย์)"
กฎนี้…ย่อมจะใช้กับที่ดินที่ใช้เพื่อการอื่นนอกจากเกษตรกรรมด้วย…
ซึ่งที่แท้ประดิษฐกรรมและปริวรรตกรรมให้ค่าเช่าสูงสุด
ดังจะเห็นได้จากการที่ที่ดินมีราคาสูงในเมืองประดิษฐกรรมและเมืองพาณิชย์

จะเห็นได้ทันทีว่าค่าเช่าที่เพิ่มขึ้น ซึ่งดำเนินไปในประเทศที่ก้าวหน้า เป็นกุญแจสำคัญที่จะอธิบายว่า ทำไมค่าแรงและดอกเบี้ยจึงมิได้เพิ่มขึ้นตามการเพิ่มของพลังการผลิต

เพราะว่าเศรษฐทรัพย์ที่ผลิตขึ้นมาในประชาคมทุกแห่งย่อมถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนด้วยสิ่งที่อาจจะเรียกได้ว่า ระดับค่าเช่า (Rent Line)
ซึ่งถูกกำหนดด้วยขอบริมแห่งการผลิต (Margin of Production) หรือผลตอบแทนที่แรงงานและทุนสามารถจะได้รับจากโอกาสตามธรรมชาติที่ตนจะใช้ได้เปล่าโดยไม่ต้องจ่ายค่าเช่า

ค่าแรงและดอกเบี้ยจะต้องได้รับจ่ายจากผลผลิตส่วนที่อยู่ใต้ระดับนี้ลงไป
ส่วนที่อยู่เหนือขึ้นไปทั้งสิ้นย่อมไปสู่เจ้าของที่ดิน

ดังนั้นในที่ซึ่งที่ดินมีราคาต่ำ อาจจะมีการผลิตเศรษฐทรัพย์น้อย แต่ก็มีอัตราค่าแรงและดอกเบี้ยสูงได้ ดังเช่นที่เราเห็นจากประเทศใหม่ ๆ
และในที่ซึ่งที่ดินมีราคาสูงอาจจะมีการผลิตเศรษฐทรัพย์มากมาย แต่อัตราค่าแรงและดอกเบี้ยต่ำ ดังที่เราเห็นในประเทศเก่า ๆ

การที่ค่าเช่าเพิ่มขึ้นเป็นเหตุผลที่แสดงว่าทำไมค่าแรงและดอกเบี้ยจึงไม่เพิ่ม
สาเหตุซึ่งเอื้ออำนวยให้แก่ผู้ถือครองที่ดินก็คือสาเหตุซี่งปฏิเสธแก่แรงงานและเจ้าของทุน…
ดังนั้นอัตราค่าแรงและดอกเบี้ยทุกแห่งจึงมิได้ถูกกำหนดด้วยผลิตภาพของแรงงานมากเท่ากับที่ถูกกำหนดด้วยราคาที่ดิน
ทุกแห่งที่ราคาที่ดินต่ำ ค่าแรงและดอกเบี้ยย่อมสูง
ทุกแห่งที่ที่ดินมีราคาสูง ค่าแรงและดอกเบี้ยก็ต่ำ…
…และดังนั้นการที่พลังการผลิตซึ่งเพิ่มขึ้นมิได้เพิ่มค่าแรงขึ้นด้วย
จึงเป็นเพราะว่ามันไปเพิ่มราคาที่ดินเสีย
ค่าเช่ากลืนเอาส่วนที่เพิ่มขึ้นไปเสียสิ้น ความยากเข็ญจึงเกิดเคียงข้างไปกับความก้าวหน้า

ถ้าต้องการจะเห็นมนุษยชาติในสภาพที่เสื่อมทรามที่สุด อนาถาที่สุด และไร้ความหวังที่สุด ท่านจะต้องไม่ไปยังท้องทุ่งที่ไม่มีรั้วกั้นและกระท่อมที่ทำด้วยซุงในบริเวณซึ่งเพิ่งถากถางใหม่ ๆ ในป่า ซึ่งคนเรากำลังเริ่มต่อสู้กับธรรมชาติอย่างโดดเดี่ยวและที่ดินยังไม่มีราคาแต่อย่างใด
แต่จะต้องไปยังเมืองใหญ่ ซึ่งการเป็นเจ้าของที่ดินเพียงเล็กน้อยก็นับเป็นโชคลาภมหาศาล.




 

Create Date : 02 ธันวาคม 2552    
Last Update : 2 ธันวาคม 2552 23:36:21 น.
Counter : 834 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  
 
 

สุธน หิญ
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




แก้ความอยุติธรรมขั้นฐานราก
ตามแนวเฮนรี จอร์จ
http://utopiathai.webs.com
เลิกภาษีการลงแรงลงทุนผลิตและค้า
เลิกภาษีเงินได้ เพิ่มภาษีที่ดิน
ค่อยๆ เปลี่ยนแปลง ใช้เวลาสัก 30 ปี


เปิดเว็บต่างแดนดูไม่ได้ ให้ google ช่วยหา free anonymous proxy server ของต่างประเทศซึ่งมีอยู่มากเพื่อเปิดให้แทนครับ (ในไทยอาจมีการปิดกั้นเว็บของต่างแดน เว็บย่อยที่คนไทยอาศัยใช้กันก็พลอยถูกปิด)

เว็บหลักของผม ยูโทเพียไทย_1
* หน้ารวมลิงก์ยูโทเพียไทย_1 *

หนังสือดีเด่นแปล Progress and Poverty หนังสือ ความยากจนที่ไม่เป็นธรรม และ บทความ ของผม ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ยินดีให้เผยแพร่ต่อด้วยความขอบคุณ ยกเว้นบทความแปลกรุณาอ่านเงื่อนไขจากต้นฉบับภาษาอังกฤษที่อ้างไว้ครับ


- ศัพท์เศรษฐศาสตร์ ดร.บุญเสริม
- ภาษีทรัพย์สินสหรัฐฯ
- ภาวะตลาดอสังหาฯ
- ภาวะตลาดที่อยู่อาศัย 2537-51
- ราคาที่ดินทั่วไทยรายแปลง
- สรุปราคาประเมินใน กทม.ปี 2551-54
- การเปลี่ยนแปลงราคาที่ดินใน กทม.และปริมณฑลปี 2528-50


[Add สุธน หิญ's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com
pantip.com pantipmarket.com pantown.com