|
 |
 |
 |
 |
|
ลองคิดภาพสังคมที่เจริญถึงขั้นหุ่นยนต์ทำงานแทนมนุษย์
ลองนึกภาพดูว่าสังคมจะมีลักษณะอย่างไร ถ้าเทคโนโลยีการผลิตสินค้าและบริการเจริญก้าวหน้ามาก มีเครื่องจักรกลและหุ่นยนต์ทำงานและควบคุมดูแลการทำงานผลิตสินค้า ตั้งแต่การเกษตร การดึงวัตถุดิบมาจากพื้นโลก อุตสาหกรรม การขนส่ง และการค้าขายที่รวมถึงการค้าปลีก ตลอดจนการบริการชนิดต่างๆ และ . . . การกำจัดขยะและมลพิษที่เกิดจากการทำงานของเครื่องจักรกล หุ่นยนต์ และการกินอยู่ของมนุษย์ รวมทั้งชิ้นส่วนเก่าๆ ของเครื่องจักรกล หุ่นยนต์ และมนุษย์เอง
คงจะดูเหมือนยุคพระศรีอาริย์ มนุษย์คงแทบไม่ต้องทำงาน
แต่ . . ถ้าไม่ทำงานจะได้เงินมาซื้อสินค้าและบริการหรือ? ใครจะให้เงินมาฟรีๆ ? นายทุนเขาก็ต้องการผลตอบแทนจากการลงทุน เจ้าของที่ดินก็ต้องการผลตอบแทนจากที่ดินของเขา
ความต้องการของมนุษย์ไม่มีที่สิ้นสุด ยิ่งมีความต้องการก็ยิ่งต้องใช้ที่ดินมาก บ้านพวกเขาต้องหรูหราอ่าโอ่ ตั้งอยู่กลางสวน มีสนามเทนนิส สระว่ายน้ำ สปา เซาน่า ห้องพักรับรองแขก ฯลฯ มีบ้านพักตากอากาศ มีเรือสำราญ หรือขอขึ้นอวกาศสักหน ถ้าเป็นนายทุนก็ขอมีที่ดินไว้เป็นหลักประกันยามแก่เฒ่าด้วย เจ้าของที่ดินก็อาจเป็นนายทุนไปพร้อมกัน
แรงงานที่มีฝีมือและแรงงานใช้สมองอาจได้ผลตอบแทนมาก สามารถเป็นเจ้าของที่ดิน หรือ/และ นายทุนไปแล้ว
คนที่ไร้ที่ดินไร้ทุนคงมีแต่แรงงานชั้นล่าง แม้จะเข้ายุคพระศรีอาริย์ก็ต้องพยายามหางานทำ แต่งานแทบไม่มีให้ทำเสียแล้ว อยากอยู่ในสังคมเมืองที่มีแสงสีศิวิไล ที่ปลอดภัย สะดวกสบาย มีสิ่งน่ารื่นรมย์นานาชนิด ก็คงเป็นไปได้เฉพาะแรงสมองแรงกายที่มีความรู้ความชำนาญสูง นอกนั้นคงต้องออกไปหางานทำไกลสังคมเมือง ทั้งที่พวกเขามีส่วนร่วมสร้างเมืองทำให้ที่ดินในเมืองสูงค่าขึ้นมา พวกเขาอาจถึงต้องไปยังที่ดินชายขอบ !
ที่ดินชายขอบ ! เมื่อเทคโนโลยีเจริญก้าวหน้า การผลิตก็ขยายไกลเมืองออกไป ชายขอบเดิมที่ไม่มีราคาเพราะไม่ค่อยมีคนใช้ ก็มีราคาขึ้นมา ที่ดินที่มีราคาอยู่แล้วก็มีราคาสูงขึ้นตามส่วนไปด้วยกัน ที่ดินชายขอบใหม่มักให้ผลผลิตเป็นค่าแรงลดลง (แต่ก็มีคนไปจับจองไว้ก่อนแล้ว)
ยุคพระศรีอาริย์ อนาคตแรงงานชั้นล่างกลับยิ่งดูมืดมัว ความเจริญก้าวหน้าดูว่าจะต้องมีความยากจนเกิดขึ้นตามมา ทั้งๆ ที่ผู้ทำงานและผู้ลงทุนร่วมกันผลิต สร้าง ซื้อ ขาย เช่า ให้เช่า และจ่ายภาษีบำรุงสังคม เช่นเอาไปสร้างถนน ประปา ไฟฟ้า ยิ่งเจริญ ยิ่งมีสิ่งอำนวยความสะดวก ที่ดินยิ่งมีราคา/ค่าเช่า ผู้ทำงานและผู้ลงทุนควรได้ผลตอบแทนนี้ ไม่ใช่เจ้าของที่ดิน
เจ้าของที่ดินหามีส่วนในการผลิตไม่ จึงมิใช่ผู้ทำให้ที่ดินมีค่า (ยกเว้นที่ราคาสูงเพราะการเก็งกำไร) การซื้อที่ดินหาใช่การลงทุนผลิต เป็นเพียงการสืบต่อสิทธิ์เรียกผลตอบแทนจากผู้ผลิต ภาษีซึ่งเจ้าของที่ดินจ่ายก็มาจากผู้ผลิต ผู้ผลิตต้องเลี้ยงดูเจ้าของที่ดินด้วยค่าเช่าที่สูงขึ้นๆ ไม่สิ้นสุดหรือ? ภาระนี้ทำให้ผู้มีแต่แรงงานชั้นล่างพ้นจากความจนได้ยาก
ก็ถูก ใครใช้ที่ดินดีเลวมากน้อยเท่าไรควรเสียค่าเช่าตามส่วน แต่ค่าเช่านี้ทำไมจึงปล่อยให้เจ้าของที่ดินได้ไปไม่มีวันสิ้นสุด และนับวันยิ่งมากขึ้นๆ จริงอยู่เขาอาจต้องเสียเงินซื้อหาที่ดิน ซึ่งไม่ผิดกฎหมาย ใครๆ ที่มีเงินก็มักทำกัน แต่มันไม่เป็นธรรม จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเพื่อช่วยผู้ลงแรงลงทุนผลิตหรือ? ช่วยให้เขาได้ความเป็นธรรม ไม่ใช่ช่วยให้ได้เปรียบผู้อื่น อย่างที่เจ้าของที่ดินได้เปรียบมาตลอด
วิธีแก้ไม่ใช่จัดสรรที่ดินให้คนจน เพราะมีคนเกิดใหม่เรื่อยๆ แต่ควรเก็บภาษีจากเจ้าของที่ดินเท่าค่าเช่าตามที่ควรเป็น และติดตามแก้ไขให้ทันสมัยเป็นระยะๆ แต่เพื่อมิให้เจ้าของที่ดินเดือดร้อนมาก ควรใช้วิธีค่อยๆ ลดความได้เปรียบของเจ้าของที่ดิน โดยค่อยๆ เพิ่มภาษีที่ดินอาจเป็นปีละ 2-3 % ของค่าเช่า แล้วนำมาแจกราษฎรทุกคนเท่าๆ กัน หรือลด/เลิกภาษีการลงแรงลงทุนชดเชยกับภาษีที่ดินที่เพิ่ม หรือจะแบ่งทำทั้งสองอย่างก็ได้ แล้วแต่เสียงข้างมาก
ถ้าทำแบบนี้ไม่ต้องกลัวหุ่นยนต์มาแย่งงานมนุษย์ ทุกคนจะมีสุขเหมือนถึงยุคพระศรีอาริย์ เพราะทุกคนจะเสมือนเป็นเจ้าของที่ดินเท่าเทียมกัน แม้ไม่ได้ทำงานก็มีรายได้ . . จากที่ดิน.
Create Date : 08 กรกฎาคม 2551 |
Last Update : 11 กรกฎาคม 2551 23:41:54 น. |
|
0 comments
|
Counter : 620 Pageviews. |
 |
|
|
|
|
|
|
 |
 |
 |
 |
|
|