ยูโทเพียไทย
เศรษฐศาสตร์
เพื่อความเป็นธรรม

 

ศัพท์เศรษฐศาสตร์ ดร. บุญเสริม

ศัพท์เศรษฐศาสตร์
ECONOMICS GLOSSARY
ดร.บุญเสริม บุญเจริญผล
จากคุณ vilo_oliv ที่ //board.art2bempire.com/index.php?topic=19058.0
และจาก //learners.in.th/file/rexkrabb/Glossary%20of%20Economic.doc
(เดิมจาก ดร. บุญเสริม เองที่ //www.krirk.ac.th/economicboard/questiondetail.asp?qid=582)

Absolute advantage : ความสามารถในการผลิตที่เหนือกว่าโดยสมบูรณ์ ซึ่งประเทศหนึ่งผลิตสินค้าอย่างหนึ่งได้มากกว่าอีกประเทศหนึ่ง โดยใช้ทรัพยากรที่เหมือนกันและปริมาณเท่ากัน
Accelerator theory of investment : ทฤษฎีที่กล่าวว่า ปริมาณการลงทุนจะมากตามปริมาณรายได้ประชาชาติที่เพิ่มขึ้น หรือกล่าวอีกอย่างคือ เมื่อรายได้ประชาชาติเพิ่มขึ้นเป็นตัวเร่งให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้น
ad valorem tax : ภาษีที่คิดตามราคาสินค้า เช่น 10%ของราคาสินค้า ตรงข้ามกับ per-unit tax, specific tax
Aggregate demand (AD) : มูลค่าความต้องการซื้อสินค้าและบริการรวมทั้งหมดทั้งประเทศในเวลา 1 ปี ของผู้บริโภค ธุรกิจ รัฐบาล และ ต่างประเทศ
Aggregate supply (AS) : มูลค่ารวมของสินค้าและบริการที่ผลิตทั้งประเทศ ในเวลา1ปี
Asset : สินทรัพย์ มูลค่าของทรัพย์สิน(สิ่งที่ตีค่าเป็นเงินได้)ที่บุคคลหรือธุรกิจครอบครอง
Asymmetric information : ระดับข่าวสารต่างๆที่บุคคลหรือธุรกิจมีอยู่ในระดับต่างกันไม่เท่าเทียมกัน ทำให้อำนาจต่อรองและการตัดสินใจได้เปรียบเสียเปรียบกัน
Average fixed cost (AFC) : ต้นทุนคงที่เฉลี่ย คิดโดย นำต้นทุนคงที่รวมตั้ง หารด้วย ปริมาณผลผลิต
Average product (AP) : ผลผลิตเฉลี่ย คิดโดย นำปริมาณผลผลิตรวมตั้ง หารด้วย ปริมาณปัจจัยผันแปรที่นำมาใช้ในการผลิต
Average propensity to consume (APC) : ความโน้มเอียงเฉลี่ยในการบริโภค คิดโดย นำค่าใช้จ่าย การบริโภคทั้งหมดตั้ง หารด้วย รายได้ คือ (C/Y)
Average propensity to import : ความโน้มเอียงเฉลี่ยของการซื้อสินค้าเข้าจากต่างประเทศ คิดโดยนำค่าสินค้าทั้งหมดที่ซื้อจากต่างประเทศตั้ง หารด้วย รายได้รวม คือ (M/Y)
Average propensity to save (APS) : ความโน้มเอียงเฉลี่ยในการออม คิดโดย นำมูลค่าการออมทั้งหมดตั้ง หารด้วย รายได้ทั้งหมด
Average revenue (AR) : รายได้เฉลี่ย คิดโดย นำรายได้รวมตั้ง หารด้วย จำนวนสินค้าที่ขายได้
Average total cost (ATC, AC) : ต้นทุนรวมเฉลี่ย คิดโดย นำต้นทุนรวมตั้ง หารด้วย จำนวนสินค้าที่ผลิตได้
Average variable cost (AVC) : ต้นทุนแปรผันเฉลี่ย คิดโดย นำต้นทุนแปรผันรวมตั้ง หารด้วยจำนวนสินค้าที่ผลิตได้
Backward-bending labour supply curve : การตอบสนองของแรงงานต่อค่าจ้างที่เป็นลบ คือ เมื่อค่าแรงงานต่อชั่วโมง ต่อวัน ต่อชิ้น เพิ่มขึ้น แรงงานจะทำงานน้อยลง เพราะว่ามีเงินรายได้พอแล้ว จึงขอเพิ่มเวลาไม่ทำงานมากขึ้น เพื่อพักผ่อนมากขึ้น นายจ้างหลายรายใช้วิธีนี้เอาเปรียบลูกจ้าง โดยให้ค่าแรงต่ำเพื่อเร่งให้ลูกจ้างทำงานมากขึ้น เป็นการเอาเปรียบที่ไม่เป็นธรรม
Balanced budget : งบประมาณสมดุล คือ รายได้ เท่ากับ รายจ่าย
Balance of payments accounts : บัญชีดุลการชำระเงิน คิดโดยเปรียบเทียบรายรับทุกอย่างที่เป็นเงินตราจากต่างประเทศ กับ รายจ่ายทุกอย่างที่เป็นเงินตราไปยังต่างประเทศ
Balance of trade : ดุลการค้า คือ มูลค่าสินค้าออกขายไปต่างประเทศ ลบด้วย มูลค่าสินค้าเข้าที่ซื้อจากต่างประเทศ คิดด้วยหน่วยเงินตราเดียวกัน
Barriers to entry : อุปสรรคกีดกันมิให้ผู้อื่นเข้าสู่กิจกรรมหรือธุรกิจนั้น
Barter : การแลกสินค้า คือ การค้าที่ใช้สินค้าหรือบริการแลกกันแทนการใช้เงินตรา
Base year : ปีฐาน คือ ปีที่ถือเป็นมาตรฐานในการเปรียบเทียบในการทำดัชนี ปีฐานมีค่าดัชนีเป็น 100
Bid : ราคาที่ผู้ซื้อเสนอซื้อในการประมูล
Bilateral monopoly : การผูกขาดที่มีผู้ขายคนเดียวผู้ซื้อคนเดียว
Bills of exchange : ตั๋วแลกเงิน เอกสารแสดงว่าจะจ่ายเงินโดยระบุจำนวนเงินและเวลาที่จะจ่ายให้แก่ผู้ถือเอกสารนี้ ส่วนมากใช้กับการค้าต่างประเทศ ซึ่งเอกสารกล่าวว่าจะจ่ายเงินให้เมื่อได้รับสินค้า
Bond : พันธบัตร คือ เอกสารการกู้เงิน ที่แสดงเงินต้น ดอกเบี้ย และ เวลาชำระคืน เป็นวิธีการกู้ยืมที่ไม่มีหลักประกันหนี้ มีเพียงกระดาษประกาศความเป็นหนี้อย่างเดียว ใช้ในธุรกิจหรือรัฐบาล
Boom : สภาพเศรษฐกิจรุ่งเรือง มีการผลิตมาก มีงานทำมาก ค้าขายคล่อง
Break-even point : จุดคุ้มทุน คือ จำนวนผลผลิตที่คุ้มทุนพอดี ไม่ขาดทุน ไม่กำไร
Broad money : เงินในความหมายกว้าง คือ ประกอบด้วยเงินสด (ธนบัตร เหรียญกษาปณ์) เงินฝากกระแสรายวัน (เขียนเช็ค) เงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากประจำ ปัจจุบัน เรียกว่าเงิน M4 บางตำราอาจเป็น M ร ะดับอื่น
Budget constraint : มีเงินซื้อจำกัด การตั้งงบประมาณเงินซื้อไว้จำกัด
Budget deficit : การขาดดุลงบประมาณ คือ สถานะการเงินที่รายได้น้อยกว่ารายจ่าย
Budget line : เส้นงบประมาณ คือ เส้นที่แสดงว่า ในจำนวนเงินที่กำหนด จะซื้อสินค้าสองอย่างร่วมกันเป็นปริมาณอย่างละเท่าใด
Budget surplus : การเกินดุลงบประมาณ คือ สถานะการเงินที่รายได้มากกว่ารายจ่าย
Business cycles : วัฏจักรธุรกิจ คือ สภาพที่เศรษฐกิจเจริญขึ้น และ ตกต่ำลงสลับกัน อันเป็นธรรมดาของวงจรเศรษฐกิจของประเทศและของโลก บางทีเรียกว่า Economic cycles หรือ Trade cycles
Capital : ทุน, เครื่องมือการผลิต เช่น โรงงาน เครื่องจักร เครื่องมือ ที่ใช้ในการผลิตสินค้า ถ้าหมายถึงเงินที่ใช้จ่ายเพื่อการผลิต เรียกว่า money capital
Capital account : บัญชีทุน แสดงเงินลงทุนระหว่างประเทศที่ไหลเข้าประเทศและไหลออกจากประเทศหนึ่ง
Capital consumption allowance : ค่าเสื่อมของเครื่องมือการผลิต ที่เกิดจากการนำเครื่องมือการ ผลิตไปใช้ผลิตสินค้า บางทีเรียกว่า depreciation
Capital deepening, Capital intensive : การผลิตที่ใช้เครื่องจักรเครื่องมือมากกว่าใช้แรงงาน
Capitalism : ระบบนายทุน ระบบทุนนิยม หมายถึง ระบบเศรษฐกิจที่เอกชนเป็นเจ้าของกิจการทางธุรกิจ มีการแลกเปลี่ยนซื้อขายผ่านตลาด บางทีหมายถึงการใช้เงินต่อเงิน
Capital goods : สินค้าทุน คือ สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อนำไปใช้เป็นเครื่องมือการผลิตสินค้า
Capital-labour ratio : อัตราส่วนทุนต่อแรงงาน คิดโดย นำจำนวนเงินที่จ่ายไปในการใช้เครื่องมือ หารด้วยจำนวนเงินที่จ่ายไปในการใช้แรงงาน เพื่อร่วมกันผลิตสินค้าอย่างหนึ่งขึ้นมา หรืออาจคิดเป็นสัดส่วนของจำนวนเครื่องมือต่อจำนวนแรงงานก็ได้ ถ้าเครื่องมือเป็นอย่างเดียวกันหมด และ แรงงานมีคุณภาพเหมือนๆกันหมด
Capital-output ratio : อัตราส่วนทุนต่อผลผลิต คิดโดย นำมูลค่าการใช้เครื่องมือเพื่อการผลิตตั้ง หารด้วย มูลค่าผลผลิตที่ได้นั้น
Capital stock : มูลค่าเครื่องมือที่มีอยู่ในเวลานั้น
Cartel : กลุ่มธุรกิจที่รวมกันเหมือนเป็นธุรกิจเดียว เพื่อหวังผลการผูกขาด
Central bank : ธนาคารกลาง หรือ ธนาคารชาติ เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นธนาคารที่ตั้งขึ้นเพื่อให้ธนาคารต่างๆ รวมทั้งรัฐบาล ได้กู้ยืมเงิน ปัจจุบันเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐบาล มีหน้าที่กำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ให้บริหารงานไม่เกิดความเสียหายแก่สังคมด้วย และ มักมีหน้าที่ออกธนบัตร ควบคุมปริมาณเงินให้มีปริมาณพอเหมาะแก่เศรษฐกิจของประเทศ
Ceteris paribus : ปัจจัยอื่นคงที่ไว้ก่อน จะกล่าวถึงปัจจัยอย่างหนึ่งมีผลอย่างไร ตามศัพท์แปลว่า สิ่งอื่นทั้งหมดเท่ากัน (All other things being equal) ซึ่งไม่มีความหมายอะไร
Checking deposit : การฝากเงินแบบเขียนเช็คจ่ายเงินให้ผู้รับเช็คนำไปรับเงินได้
Closed economy : เศรษฐกิจปิด คือ ระบบเศรษฐกิจที่ไม่มีการค้ากับต่างประเทศ บางทีเรียกว่า Autarky
Collectivized farm : นารวม การเกษตรร่วมกัน คือ เกษตรกรหลายคนร่วมกันบริหารงาน โดยมีรัฐบาลเป็นเจ้าของและควบคุม
Command economy, Central planned economy : เศรษฐกิจแบบที่มีรัฐบาลกำหนดผลผลิตและราคา เศรษฐกิจในประเทศคอมมิวนิตส์
Commodity money : เงินที่ใช้สินค้าเป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยน ไม่สะดวก แต่อาจเหมาะในบางกรณี
Common market : ตลาดร่วม คือ กลุ่มประเทศร่วมกันเปิดการค้าเสรี ไม่เก็บภาษีกันในการค้าระหว่างกัน แต่กีดกันการค้าประเทศที่อยู่นอกกลุ่ม
Communism : ระบบเศรษฐกิจที่ให้ปัจจัยการผลิตทุกชนิดเป็นของส่วนรวม
Comparative advantage : การได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ คือ การที่ประเทศหนึ่งใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ผลิตสินค้าอย่างหนึ่ง โดยเสียโอกาสการผลิตสินค้าอีกอย่างหนึ่งน้อยกว่าประเทศอื่น แต่ถ้าผลิตสินค้าอีกอย่างหนึ่ง จะเสียโอกาสการผลิตสินค้าแรกมากกว่าประเทศอื่น
Competition : การแข่งขัน
Concentration ratio : อัตราการกระจุกตัว เป็นการวัดอำนาจการผูกขาดการค้าทางอ้อมอย่างหนึ่งคิดโดยนำมูลค่าการขายสินค้าอย่างหนึ่งของบริษัทหนึ่ง หารด้วย มูลค่าการขายสินค้าอย่างนั้นของธุรกิจทั้งหมดในตลาด ตัวตั้งอาจคิดเป็นกลุ่ม 4 ถึง 8 บริษัท แทนที่จะเป็นบริษัทเดียวก็ได้ แล้วแต่ความต้องการ
Constant returns : ผลตอบแทนคงที่จากการขยายขนาดการผลิต เช่น ขยายปัจจัยการผลิตทุกปัจจัยเป็น 5 เท่าของจำนวนปัจจัยเดิม ได้ผลผลิตก็เป็น 5 เท่าของปริมาณผลผลิตเดิม
Comsumer price index (CPI) : ดัชนีราคาผู้บริโภค เป็นการเปรียบเทียบราคาสินค้าบริโภคหลายชนิดในปัจจุบันเทียบกับในอดีตซึ่งถือเป็นปีฐาน (ปีที่เอาเป็นหลัก)
Consumers’ surplus : ส่วนเกินของผู้บริโภค คือ เงินที่ผู้บริโภคประหยัดลงได้กว่าที่ตั้งใจจ่าย เนื่องจากราคาตลาดต่ำกว่าราคาที่ตั้งใจยอมซื้อ
Consumption : การบริโภค คือ การได้กิน การได้ใช้ การได้สิทธิครอบครอง สินค้าและบริการ เพื่อสนองความต้องการของมนุษย์
Consumption function : ฟังค์ชันการบริโภค คือ การแสดงว่าค่าใช้จ่ายการบริโภคขึ้นอยู่กับสาเหตุใดบ้าง เช่น ขึ้นอยู่กับรายได้ อัตราดอกเบี้ย ค่านิยม เป็นต้น
Corporate income tax : ภาษีเก็บจากกำไรของบริษัท
Corporation : บริษัท
Cost-benefit analysis : การวิเคราะห์โครงการ เป็นการประเมินว่าโครงการนี้มีค่าใช้จ่ายเท่าไร ได้ผลประโยชน์เท่าไร ซึ่งอาจประเมินทั้งภายในโครงการและการเกี่ยวข้องรวมถึงส่วนอื่นๆของสังคม
Craft union : สมาคมอาชีพ รวมผู้ที่ประกอบอาชีพอย่างเดียวกันเป็นสมาชิกสมาคม
Cross-elasticity of demand, Cross-price elasticity of demand : ความยืดหยุ่นไขว้ของอุปสงค์ เป็นความไวในการตอบสนองของความต้องการซื้อ เมื่อราคาสินค้าที่เกี่ยวข้อง (ไม่ใช่สินค้าที่ต้องการซื้อ) เปลี่ยนแปลงไป เช่น เมื่อราคาไก่เพิ่มขึ้น 1% ทำให้การซื้อปลาเพิ่มขึ้น 5% ความยืดหยุ่นไขว้เท่ากับ 5
Crowding-out effect : การหักล้างทำให้ไม่เกิดผลเต็มที่ เช่น เมื่อรายได้ประชาชาติเพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายบริโภคโดยรวมของประชาชนก็เพิ่มขึ้น แต่ไม่เพิ่มมาก เพราะว่าเมื่อรายได้ประชาชาติเพิ่ม ทำให้อัตราดอกเบี้ยเพิ่ม ประชาชนจึงซื้อสินค้าบริโภคลดลงบ้าง ไม่เพิ่มมากอย่างที่คาด
Currency : เงินที่มีรูปร่าง เช่น ธนบัตร เหรียญกษาปณ์
Current account balance : ดุลบัญชีเดินสะพัด คือ มูลค่าสินค้าออก ลบด้วย มูลค่าสินค้าเข้า บวกรายได้สุทธิของปัจจัยการผลิตที่อยู่ต่างประเทศ (เช่น ค่าจ้าง ค่าเช่า ดอกเบี้ย และกำไร นอกเหนือจากการค้าขายผ่านแดน) บวก เงินโอน (ให้เปล่า ช่วยเหลือ) สุทธิจากต่างประเทศ
Customs union : การตกลงร่วมมือกันเรื่องอัตราภาษีสินค้าผ่านแดนกันและกัน

Deadweight loss : การสูญเสียแก่ผู้ผลิตและผู้บริโภค เนื่องจากการผลิตสินค้าออกมาขายมีจำนวนไม่เหมาะสม
Debt instrument : ตราสารหนี้ คือ เอกสารแสดงว่าใครเป็นหนี้ เป็นจำนวนเงินต้นเท่าไร อัตราดอกเบี้ยเท่าไร กำหนดชำระคืนเมื่อไร
Decreasing returns : ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นน้อยจากการขยายขนาดการผลิต เช่น ขยายปัจจัยการผลิตทุกปัจจัยเป็น 5 เท่าของจำนวนปัจจัยเดิม ได้ผลผลิตเป็น 3 เท่าของปริมาณผลผลิตเดิม
Deficit : สภาพที่รายได้น้อยกว่ารายจ่าย
Deflation : สภาพเศรษฐกิจที่ราคาสินค้าโดยทั่วไปต่ำลง
Demand : ความต้องการซื้อ บางตำราเรียกว่า อุปสงค์ แสดงเป็นจำนวนสินค้าหรือมูลค่าที่ซื้อสินค้า โดยกำหนดช่วงเวลากำกับไว้ เช่น ความต้องการซื้อข้าว 10 ตัน ในช่วง 1 เดือน
Demand curve : เส้นความต้องการซื้อ บางตำราเรียกว่า เส้นอุปสงค์ เป็นเส้นแสดงปริมาณสินค้าที่ต้องการซื้อ ณ ระดับราคาต่างๆ เช่น ถ้าราคา 5 บาท ต้องการซื้อ 20 กล่อง ถ้าราคา 10 บาท ต้องการซื้อ 3 กล่อง เมื่อลากเส้นแสดงปริมาณซื้อที่ 2 ราคา นี้ก็เป็นเส้นความต้องการซื้อ
Demand for money : ปริมาณเงินที่พอดีซื้อสินค้าและบริการที่ผลิตได้ในสังคมหมดพอดีในรอบปี (ตำราส่วนมากแปลว่า ความต้องการถือเงิน ทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ เพราะปริมาณเงินที่ประชาชนต้องการถือย่อมไม่มีขอบเขตจำกัด ทำให้ไม่มีความหมายในการอธิบายปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจ) ถ้ามีการใช้เงินซื้อสินค้าและบริการต่อๆกันไปหลายๆทอดอย่างรวดเร็ว ปริมาณเงินที่ประชาชนมีถืออยู่ก็ไม่ต้องมากก็สามารถซื้อสินค้าและบริการที่ผลิตได้ในสังคมได้หมดพอดี ถ้าปริมาณเงินที่มีให้ประชาชนถือมีน้อยเกินไป สินค้าและบริการที่ผลิตได้ก็ขายไม่หมด ถ้ามีเงินถือมากเกินไป ก็เกิดการซื้อมากเกินไป ทำให้เกิดสภาพเงินเฟ้อ ธนาคารกลางจึงประมาณว่า ประชาชนและธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน ควรมีเงินที่นำมาใช้จ่ายต่อๆกันไปเป็นปริมาณเท่าใดจึงพอดีซื้อสินค้าและบริการที่ผลิตได้ในสังคมหมดพอดี
Demand function : การแสดงความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณสินค้าที่ต้องการซื้อ กับ ปัจจัยหรือสาเหตุที่ทำให้เกิดการซื้อเป็นปริมาณนั้น เช่น ปริมาณสินค้าที่ต้องการซื้อ ขึ้นอยู่กับ เกิดความต้องการสินค้านั้น มีเงินซื้อ ราคาสมคุณภาพ เป็นต้น หรือปริมาณสินค้าที่ต้องการซื้อ ขึ้นอยู่กับ ราคา รายได้ของผู้ซื้อ ราคาสินค้าที่เกี่ยวข้อง และ ความนิยม เป็นต้น
Demand schedule : ตารางแสดงปริมาณจำนวนสินค้าที่ซื้อ ณ ระดับราคาต่างๆ
Depreciation : การเสื่อมค่า
Depression : เศรษฐกิจตกต่ำ เป็นสภาพที่เศรษฐกิจซบเซา สินค้าและบริการขายยาก คนว่างงาน มีหนี้มาก
Derived demand : ความต้องการซื้อต่อเนื่อง เช่น เมื่อมีความต้องการสินค้าและบริการสุดท้ายเพื่อบริโภค ทำให้กิดความต้องการต่อเนื่องที่จะต้องซื้อปัจจัยการผลิต หรือ อาจเป็นเรื่องอื่นๆที่มีความต้องการต่อเนื่องกันไปทำนองเดียวกันนี้
Developed countries : ประเทศร่ำรวยทางเศรษฐกิจ (แต่อาจยากจนเรื่องอื่น) ได้แก่ ประเทศอเมริกา ประเทศต่างๆในยุโรปตะวันตก ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น สิงคโปร์
Developing countries : ประเทศยากจน ประเทศกำลังพัฒนา ได้แก่ประเทศส่วนมากในเอเซีย อเมริกาใต้ อัฟริกา บางทีเรียกว่า ประเทศพัฒนาน้อย (less developed countries, LDCs) ประเทศด้อยพัฒนา (underdeveloped countries) ประเทศล้าหลัง (backward countries)
Diminishing marginal utility : ความพอใจต่อหน่วยสินค้าลดลงเมื่อบริโภคสินค้านั้นมากขึ้น
Diminishing returns : อัตราผลตอบแทนลดลง เมื่อใช้ปัจจัยการผลิตเพิ่มขึ้นหนึ่งหน่วย ผลผลิตที่ได้รับจะลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้ปัจจัยการผลิตน้อยกว่านี้
Direct tax : ภาษีทางตรง คือ ภาษีที่ผู้ถูกเก็บต้องรับภาระเองโดยตรง ไม่สามารถผลักภาระให้ผู้อื่นได้ เช่น ภาษีเงินได้ประจำปี
Discount rate : อัตราการลดค่า ที่ทำให้มูลค่าของรายได้ในอนาคตกลับมาเป็นรายได้ปัจจุบัน ปกติ มักใช้อัตราดอกเบี้ยเป็นอัตราลดค่า
Diseconomies of scale : สภาพการผลิตที่ต้นทุนเฉลี่ยสูงขึ้นเมื่อขยายการผลิตมากขึ้น
Disposable income : รายได้ที่ใช้จ่ายได้ คือ รายได้ของครัวเรือนหลังเสียภาษีเงินได้แล้ว สามารถนำไปใช้จ่ายได้
Dividends : เงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้น
Division of labour : การแบ่งงานกันทำตามความสามารถ
Dumping : การทุ่มตลาด เพื่อให้คู่แข่งขันพ่ายแพ้หนีออกไปจากตลาด
Duopoly : ตลาดที่มีผู้ขายสองราย duo แปลว่า สอง
Economic profit : กำไรแบบเศรษฐศาสตร์ คือ การคิดกำไรโดยคิดค่าเสียโอกาส (ที่ไม่ได้จ่ายเป็นเงิน เช่น ค่าเสียโอกาสค่าเช่าจากการใช้บ้านตัวเอง) เป็นต้นทุนด้วย ในปัจจุบันทางบัญชีก็คิดอย่างเศรษฐศาสตร์เหมือนกัน
Economic rent : ค่าเช่าแบบเศรษฐศาสตร์ เป็นส่วนเกินที่เจ้าของปัจจัยการผลิตได้รับผลตอบแทนมากว่าปกติ ซึ่งหากคิดจากความสามารถแท้ๆในการมีส่วนร่วมในการผลิตแล้ว เขาไม่ควรได้ค่าตอบแทนมากถึงเพียงนั้น เช่น ได้ค่าจ้างแพงเกินไป ศัพท์คำนี้ไม่ควรนำมาใช้ เพราะว่าทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ง่าย เป็นสำนวนที่ David Ricardo คิดใช้ขึ้น แล้วมีผู้รับมาใช้ต่อๆกัน
Economies of scale : การประหยัดจากการขยายการผลิต คือ เมื่อผลิตมากขึ้น ทำให้ต้นทุนเฉลี่ยลดลง ซึ่งทำให้ธุรกิจใหญ่ได้เปรียบธุรกิจเล็กในเรื่องต้นทุนเฉลี่ยต่ำ (แต่ธุรกิจใหญ่ก็มีข้อเสียเปรียบธุรกิจเล็กในบางเรื่อง)
Economies of scope : การประหยัดจากการผลิตสินค้าหรือบริการหลายอย่าง คือ เมื่อผลิตสินค้าหลายอย่าง ทำให้ต้นทุนเฉลี่ยลดลง เนื่องจากใช้ปัจจัยบางอย่างร่วมกันได้ โดยเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเล็กน้อย หรือไม่เพิ่มเลย หรือ สามารถใช้วัสดุเหลือใช้ที่จะต้องทิ้ง นำมาผลิตต่อ ก็ได้ผลผลิตอีกอย่าง นำมาขายได้รายได้เพิ่มมากกว่าต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย
Economy : เศรษฐกิจ คือ สภาพกิจกรรมการผลิต และ การซื้อขายสินค้า รวมทั้งองค์ประกอบต่างๆ โดยทั่วไปของระบบการทำมาหากินของประชาชนทั้งหมด เช่น ระดับราคา สินค้าโดยทั่วไป การมีงานทำ ดุลการค้า การออมของครัวเรือนและธุรกิจ เป็นต้น
Effective exchange rate : อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ โดยคิดรวมถ่วงน้ำหนักกับเงินตราต่างประเทศหลายสกุล
Efficiency wage : ค่าจ้างที่สูงกว่าค่าจ้างดุลยภาพ เพื่อจูงใจให้ลูกจ้างทำงานมีประสิทธิภาพคุณภาพดีขึ้น
Elastic : มีความไวตอบสนองมาก มีความยืดหยุ่นมาก ถ้าคำนวณก็ได้ค่าความยืดหยุ่นเกิน 1 (ไม่คิดเครื่องหมายลบ)
Emission tax : ภาษีมลภาวะ คิดตามปริมาณมลพิษที่ปล่อยออกสู่สาธารณะ
Endogenous variable : ตัวแปรที่ได้รับอิทธิพลจากตัวแปรอื่นๆในระบบเดียวกัน คือ มีค่ามากน้อยเพียงใดขึ้นกับค่าตัวแปรอื่นๆในระบบเป็นตัวกำหนด
Entrepreneur : เจ้าของกิจการ คนที่ไม่เป็นลูกจ้าง ได้รายได้จากกำไร (ถ้าโชคร้ายก็ขาดทุน)
Equilibrium : ดุลยภาพ สิ่งที่ต้องการ พอดีกับ สิ่งที่มีให้ หรือ มูลค่าทางด้านเข้าเท่ากับมูลค่าทางด้านออก หรือ การตกลงกันได้อย่างพอใจทุกฝ่ายจากการต่อรองกัน
Equilibrium price : ราคาที่ทำให้จำนวนสินค้าที่ผู้ซื้อต้องซื้อ เท่ากับ จำนวนสินค้าที่ผู้ขายต้องการขาย
Equilibrium quantity : จำนวนสินค้าที่ผู้ซื้อต้องการซื้อ เท่ากับ จำนวนสินค้าที่ผู้ขายต้องการขาย
Excess demand : จำนวนสินค้าที่ต้องการซื้อ มากกว่า จำนวนสินค้าที่ต้องการขาย
Excess supply : จำนวนสินค้าที่ต้องการขาย มากกว่า จำนวนสินค้าที่ต้องการซื้อ
Exchange rate : อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ เช่น 40 บาท แลกได้ 1 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา
Excise tax : ภาษีคิดตามมูลค่าสินค้า เก็บตอนซื้อสินค้า
Exogenous variable : ตัวแปรนอกระบบที่มีอิทธิพลต่อตัวแปรอื่นๆในระบบ แต่ตัวแปรนี้ไม่ถูกกำหนดโดยตัวแปรอื่นในระบบ เพราะมันอยู่นอกระบบ แต่เข้ามามีอิทธิพลต่อระบบ (ควรอ่าน Endogenous variable เปรียบเทียบ)
Expected value : ค่าที่เกิดจาการทดลองซ้ำอินฟินิทีครั้ง แล้วนำมาเฉลี่ย (ถ้าแปลว่า ค่าที่คาดหวัง ก็จะเข้าใจผิดได้)
Export : การขายสินค้าหรือบริการไปสู่ต่างประเทศ
Externalities : ผลดีผลเสียที่เกิดขึ้นแก่สังคมนอกธุรกิจนั้น อันธุรกิจนั้นมิได้คำนึงถึงหรือไม่ได้รับผล เช่น ผู้เลี้ยงกุ้งกุลาดำ ทำให้เกิดน้ำเน่าน้ำเค็มเสียหายแก่ผู้อื่น ผลเสียหายนั้น เป็นผลที่เกิดขึ้นแก่ผู้อื่น คนเลี้ยงกุ้งซึ่งเป็นต้นเหตุไม่ได้รับความเสียหาย (นอกจากถูกฟ้องร้อง) หรือ ในทางตรงข้ามธุรกิจบางอย่างทำให้ธุรกิจของคนภายนอกได้กำไรมากขึ้น มีงานทำมากขึ้น ก็เป็นผลดีเกิดขึ้นแก่สังคม เป็นผลภายนอกทาง บวก ผู้ผลิต และ ผู้ขายสุรา ทำให้เกิดผลเสียแก่สังคมมาก โดยตนไม่ต้องรับผิดชอบ เป็นผลภายนอกทางลบ เหล่านี้เป็น externalities
Face value : มูลค่าตามที่บอกไว้ในพันธบัตรหรือหุ้น
Factor, Factor of production : ปัจจัยการผลิต ได้แก่ ที่ดิน อาคาร เครื่องมือ แรงงานคน พลังงาน เวลา วัตถุดิบ เทคโนโลยี และ เจ้าของกิจการ ตำราส่วนมากกล่าวว่า ปัจจัยการผลิตได้แก่ ที่ดิน ทุน แรงงาน และ ผู้ประกอบการ ซึ่งปัจจัยเพียงแค่นี้ไม่พอที่จะผลิตสินค้าได้ในปัจจุบัน เป็นปัจจัยการผลิตสมัยโบราณที่ผลิตการเกษตรแบบดั้งเดิม
Fiat money : เงินตราที่ธนาคารกลาง (ได้แก่ธนาคารแห่งประเทศไทย) หรือผู้มีอำนาจเป็นผู้ออกให้ประชาชนใช้เป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยน ได้แก่ ธนบัตร และ เหรียญกษาปณ์
Final product : สินค้าขั้นสุดท้ายสำหรับผู้บริโภค มิใช่สินค้าที่อยู่ระหว่างการผลิต หรือ นำไปเป็นปัจจัยการผลิต
Financial capital : เงินที่ใช้ซื้อ เช่า สร้าง เครื่องมือการผลิต
Financial intermediary : สถาบันการเงินที่นำเงินของผู้ออมไปให้ผู้ลงทุนยืม
Firm : หน่วยธุรกิจ เช่น บริษัท ห้างหุ้นส่วน ธุรกิจเจ้าของคนเดียว
Fiscal policy : นโยบายการคลัง คือ นโยบายหารายได้จากภาษีหรือวิธีการอื่น และ นโยบายการใช้จ่ายเงินงบประมาณ มีผลสำหรับบริการอำนวยความสะดวกให้ประชาชน บริหารจัดการให้สังคมโดยรวม และ มีผลพลอยได้กระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ
Fixed capital formation : การลงทุนในปัจจัยคงที่ เช่น อาคาร โรงงาน เครื่องจักรกล
Fixed cost : ต้นทุนคงที่ ได้แก่ค่าใช้จ่ายในการผลิตสินค้าที่ค่าใช้จ่ายนนี้ไม่เปลี่ยนแปลงตามจำนวนสินค้าที่ผลิต เช่น ค่าเช่าอาคาร ค่าเงินเดือนผู้จัดการ ค่าโฆษณา
Fixed factor : ปัจจัยคงที่ คือ ปัจจัยการผลิตสินค้าที่ไม่เปลี่ยนแปลงตามจำนวนสินค้าที่ผลิต เช่น อาคาร เครื่องจักรขนาดใหญ่ ผู้จัดการ
Flat tax : ภาษีที่คิดอย่างอัตราคงที่ตลอด
Foreign direct investment FDI : การลงทุนที่คนในประเทศหนึ่งลงทุนในอีกประเทศหนึ่ง โดยเข้าไปมีส่วนบริหารจัดการ มิใช่เพียงซื้อหุ้นเก็งกำไร
Foreign exchange : เงินตราต่างประเทศ
Free trade : การค้าเสรี หมายถึง การค้าระหว่างประเทศที่รัฐบาลไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกีดกันหรือเก็บภาษี
Free-trade area, FTA : เขตการค้าเสรี พื้นที่ที่ประเทศต่างๆตั้งแต่สองประเทศขึ้นไปตกลงกันให้มีการค้าเสรีระหว่างกัน โดยตกลงในขอบเขตเงื่อนไขว่าจะอนุญาตให้ค้าเสรีในสินค้าหรือบริการใดบ้าง โดยไม่กีดกัน ไม่เก็บภาษี ขณะเดียวกันก็กีดกันประเทศอื่นๆ โดย เก็บภาษี หรือ มีเงื่อนไขต่างๆกีดกัน
Frictional unemployment : การว่างงานตามปกติธรรมชาติ เนื่องจากมีการลาออกจากงานเพื่อหางานทำใหม่ ซึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา จะไม่เดือดร้อนรุนแรง
Fringe benefits : ผลประโยชน์เพิ่มเติมจากค่าจ้างที่เป็นเงิน
Futures market : ตลาดล่วงหน้า ซื้อไว้ก่อนส่งมอบสินค้ากันในอนาคต
GDP : ย่อจาก Gross Domestic Product ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หมายถึงมูลค่าของสินค้าและบริการสุดท้ายเพื่อการบริโภค และ สามารถขายได้ ที่ผลิตในประเทศ (ไม่ว่าเป็นของคนในชาติหรือคนต่างชาติ) คิดบัญชีในรอบหนึ่งปี รัฐบาลทุกประเทศมักนำค่า GDP มากล่าวหลอกประชาชนว่า GDP เติบโตมาก แสดงว่าเศรษฐกิจของประเทศดีมาก ที่จริงอาจเป็นเศรษฐกิจดีของคนต่างชาติหรือของกลุ่มคนจำนวนน้อย ประชาชนทั่วไปอาจยากจนยิ่งขึ้นทั้งที่ค่า GDP สูงมากๆก็ได้

GDP deflator : ตัวลดค่า GDP ที่คิดเป็นเงินลง เพื่อให้เป็นค่า GDP มองในสภาพแวดล้อมเรื่องราคา อย่างปีฐาน หรืออาจกล่าวว่าเป็นการทำค่า GDP ในรูปของเงิน เป็น GDP ในรูปที่แท้จริง (real GDP) คือเป็นค่าในเชิงวัตถุ ปกติใช้ดัชนีราคาเป็นตัวปรับค่า GDP
Giffen good : สินค้าด้อยคุณภาพ ตามความคิดของ Giffen ที่กล่าวว่า สินค้าด้อยคุณภาพบางอย่างมีลักษณะประหลาด เมื่อราคาสูงขึ้นคนก็ซื้อมากขึ้น ความคิดของ Giffen ไม่ดีต่อการเรียนเศรษฐศาสตร์ ทำให้นักศึกษาสับสน Giffen ยกตัวอย่าง ขนมปังยิ่งแพง คนยิ่งซื้อมาก ที่จริงแล้ว อาหารอย่างอื่นก็แพง ขนมปังก็แพง แต่แพงน้อยกว่าอาหารอย่างอื่น ฉะนั้นโดยเปรียบเทียบแล้ว ขนมปังราคาถูกลง เมื่อเทียบกับสินค้าอื่น เมื่อราคาถูกลง คนก็ซื้อมากขึ้น ไม่ใช่เรื่องมหัศจรรย์อย่างใด
Gini coefficient : สัมประสิทธ์จินิ เป็นตัวเลขบอกความแตกต่างของรายได้ของประชาชนในสังคม ถ้าค่า 0 แปลว่าทุกคนมีรายได้เท่ากัน ถ้ากับ 1 แปลว่ารายได้ทั้งหมดอยู่กับคนคนเดียว นอกนั้นไม่มีรายได้เลย
Globalization : ถึงกันทั่วโลก เนื่องจากการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพขึ้น และ ความพยายามที่ประเทศต่างๆต้องการค้าขายและมีผลประโยชน์ข้ามชาติ ทำให้เกิดความเกี่ยวข้องถึงกันทั่วโลก
GNP : ย่อจาก Gross National Product ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ หมายถึงมูลค่าของสินค้าและบริการสุดท้ายเพื่อการบริโภค และ สามารถขายได้ ที่คนของชาตินั้น (คนไทย) ผลิตได้ทั้งอยู่ในประเทศ หรือที่อยู่นอกประเทศ คิดบัญชีในรอบหนึ่งปี
Goods : สินค้า
Gross Domestic Product : คือ GDP โปรดอ่านความหมายของ GDP
Gross investment : การลงทุนรวม หมายถึงปริมาณเงินลงทุนเพื่อสร้างหรือซื้อเครื่องมือการผลิตใหม่ และเพื่อซ่อมแซมเครื่องมือการผลิตเดิมที่ชำรุด
Hedge : การลดการเสี่ยงอันเนื่องจากราคา เป็นวิธีการซื้อโดยทำสัญญาว่าจะซื้อขายกันในอนาคตด้วยราคาที่ตกลงกันไว้นี้
High-powered money : เงินที่ธนาคารกลางสามารถควบคุมปริมาณได้ ได้แก่ เงินสด (ธนบัตร เหรียญกษาปณ์)ในมือประชาชน เงินสำรองของธนาคารพาณิชย์ที่ถูกบังคับให้มี และ เงินกู้จากธนาคารกลาง
Human capital : สตอคทุนมนุษย์ คือ ความรู้ความสามารถที่อยู่ในตัวคนทำงานในประเทศหนึ่งๆ มักเกิดจากการศึกษา ฝึกฝน และ ค่านิยมของคนในชาติ
Hyperinflation : เงินเฟ้อรุนแรง
Identification problem : ปัญหาการบ่งชี้สมการ เป็นปัญหาทางสถิติที่เกิดขึ้นในระบบที่มีสมการหลายสมการ ซึ่งไม่สามารถบ่งชี้ได้ว่าสมการที่สร้างขึ้นเป็นสมการอะไร เช่น เป็นสมการอุปสงค์ หรือสมการอุปทาน
IMF : ย่อจาก International Monetary Fund โปรดอ่าน International Monetary Fund
Import : การซื้อสินค้าและบริการจากต่างประเทศ
Import substitution : การผลิตเพื่อทดแทนสินค้านำเข้า
Income-consumption curve : เส้นแสดงการบริโภคเพิ่มขึ้นเมื่อรายได้เพิ่มขึ้น เป็นเส้นลากต่อจุดสัมผัสหลายจุดของเส้นความพอใจเท่ากันกับเส้นงบประมาณ
Income effect : ผลจากรายได้ ที่ทำให้บริโภคสินค้ามากขึ้นเมื่อรายได้มากขึ้น
Income elasticity of demand : การตอบสนองของการซื้อสินค้าเมื่อรายได้เปลี่ยนแปลง เช่น เมื่อรายได้ลดลง 1% ทำให้จำนวนซื้อสินค้าลดลง 3% การตอบสนองของการซื้อสินค้าเมื่อรายได้เปลี่ยนแปลงเท่ากับ 3
Increasing returns : ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นมากจากการขยายการผลิต เช่น ขยายการผลิต โดยใช้ปัจจัยทุกอย่างเป็น 2 เท่าของปัจจัยเดิม ได้ผลผลิตเป็น 3 เท่าของผลผลิตเดิม
Indifference curve : เส้นความพอใจเท่ากัน เป็นเส้นลากต่อจุดหลายจุดที่ปรับปริมาณการบริโภคสินค้า 2 อย่างเป็นสัดส่วนต่างกัน แต่ให้ความพอใจแก่ผู้บริโภคเท่ากัน
Indirect tax : ภาษีทางอ้อม เป็นภาษีที่สามารถผลักภาระให้ผู้อื่นได้ (อาจผลักภาระได้มากหรือน้อย)
Industrialized country : ประเทศที่มีอุตสาหกรรมเป็นหลักของรายได้ทั้งประเทศ
Industry : กลุ่มธุรกิจที่ผลิตสินค้าเหมือนกันหรือใกล้เคียงกัน ในความหมายนี้ ไม่ควรแปลว่า อุตสาหกรรม เพราะว่าทำให้เข้าใจผิดได้ง่าย
Inelastic : การตอบสนองไม่ไว ปกติค่าความยืดหยุ่นต่ำกว่า 1 (ไม่คิดเครื่องหมาย) เช่น ราคาเพิ่มขึ้น 1% จำนวนสินค้าที่ซื้อลดลงน้อยกว่า 1%
Infant industry : อุตสาหกรรมเริ่มแรกตั้ง
Inferior good : สินค้าด้อยคุณภาพ เป็นสินค้าที่ผู้บริโภคลดการซื้อ เมื่อเขามีรายได้เพิ่มขึ้น
Inflation : เงินเฟ้อ เป็นสภาพเศรษฐกิจที่สินค้าหลายๆอย่างมีระดับราคาเพิ่มขึ้น
Inflationary gap : รายได้ที่มากเกินปกติเนื่องจากเงินเฟ้อ บางตำราแปลว่า ช่องว่างเงินเฟ้อ คือ รายได้ที่เกิดขึ้นในประเทศมากเกินความสามารถของประเทศ แต่มากขึ้น เพราะว่าเกิดเงินเฟ้อ มีแต่โทษ ไม่มีประโยชน์ใดๆ เป็นเพียงภาพลวงตา
Infrastructure : โครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวกที่ทำให้เศรษฐกิจเจริญขึ้น เช่น การขนส่ง การคมนาคม การชลประธาน พลังงาน
Innovation : การใช้ความรู้ใหม่เพื่อสร้างผลผลิตใหม่หรือผลผลิตที่มีคุณภาพดีขึ้น บางคนแปลว่า นวัตกรรม ซึ่งคนส่วนมากอ่านแล้วก็ไม่เข้าใจ (ควรเลิกลัทธิแปลภาษาต่างประเทศ เป็นภาษาต่างประเทศ เสียเวลาเปล่าโดยไม่มีประโยชน์ คนทั้งหลาย ไม่ควรยอมรับคำแปลแบบนี้)
Input : ปัจจัยการผลิตสินค้าและบริการ
Intellectual property : ทรัพย์ในหัว ทรัพย์สินทางปัญญา คือ สิทธิที่เกิดจากการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆขึ้น รวมทั้งงานเขียน ความรู้ความสามารถเช่นนี้นำไปขายเป็นเงินได้เหมือนมีทรัพย์อยู่ในหัว
Interest : ดอกเบี้ย เป็นค่าเช่าเงินเมื่อนำเงินของผู้อื่นมาใช้จ่าย ภายหลังก็นำเงินไปคืน พร้อมทั้งค่าเช่าที่เราเรียกเป็นภาษาเฉพาะว่า“ดอกเบี้ย”
Intermediate product, Intermediate good : ผลผลิตที่ยังไม่สำเร็จรูป ผลผลิตระหว่างกลาง ผลผลิตกึ่งสำเร็จรูป
Internal economies : การขยายกิจการจากการใช้ปัจจัยที่มีอยู่แล้วภายในหน่วยธุรกิจ
Internatonal Monetary Fund : ย่อเป็น IMF กองทุนการเงินระหว่างประเทศ เป็นองค์การระหว่างประเทศ ตั้งขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อแก้ปัญหาประเทศที่ขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ (ซึ่งจำเป็นสำหรับซื้อสินค้าและบริการของต่างประเทศ) โดยการให้กู้ยืมเงินตราต่างประเทศหรือชักชวนให้ประเทศที่มีเงินตราต่างประเทศมากให้กู้
Inventory : สินค้าคงเหลือที่ผลิตแล้วยังไม่ได้จำหน่าย
Investment : การลงทุน มีหลายความหมาย ความหมายที่ตรงที่สุดทางเศรษฐศาสตร์ หมายถึงการจ่ายเงินเพื่อผลิตสินค้าหรือบริการขึ้นมาใหม่ บางทีหมายถึง การเสียสละความสะดวกสบายในปัจจุบันเพื่อสร้างความสามารถให้หารายได้ได้มากในอนาคต เช่น การศึกษา ส่วนนักการพนันให้ความหมายในทางการซื้อหุ้นเพื่อเก็งกำไร เรียกว่าการลงทุนทางการเงิน ซึ่งไม่ใช่ความหมายของการลงทุนทางเศรษฐศาสตร์
Invisible hand : มือที่มองไม่เห็น เป็นความคิดของนักเศรษฐศาสตร์อังกฤษ ชื่อ Adam Smith กล่าวว่า เมื่อปล่อยให้การค้าขายในตลาดเป็นไปอย่างเสรี รัฐบาลไม่ต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวแทรกแซง กลไกตลาดจะทำงานของมันเอง โดยกิเลสความอยากของมนุษย์จะชักจูงให้คนผลิตสินค้าออกมามาก เศรษฐกิจของประเทศก็เจริญ ซึ่งภายหลังทฤษฎีนี้ถูกคัดค้าน เพราะว่าถ้าปล่อยเสรี คนที่แข็งแรงในทางเศรษฐกิจจะเอาเปรียบคนที่อ่อนแอกว่า และประโยชน์ที่มากขึ้นของคนเพียงบางคน อาจทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นได้ ฉะนั้นรัฐบาลจึงควรแทรกแซงเศรษฐกิจ
Involuntary unemployment : การว่างงานโดยไม่สมัครใจ หมายความว่า ต้องการทำงาน ณ ระดับค่าจ้างและผลตอบแทนระดับนั้นๆ แต่หางานทำไม่ได้
IS curve : เส้นดุลยภาพในตลาดสินค้า เป็นสภาพดุลภาพเมื่อไม่มีรัฐบาล ไม่มีการค้าต่างประเทศ เกิดจากสมมุติฐานว่า I = S (ซึ่งไม่จริง แม้เศรษฐกิจปิด และไม่มีรัฐบาล เป็นความเชื่อผิดตามท่าน John Maynard Keynes)
Iso-cost line : เส้นต้นทุนเท่ากัน โดยใช้ปัจจัยการผลิต 2อย่าง ที่ปรับสัดส่วนต่างๆแล้วเสียเงินเท่ากัน
Isoquant : เส้นผลผลิตเท่ากัน โดยใช้ปัจจัยการผลิต 2อย่าง ที่ปรับสัดส่วนปัจจัยสองอย่างแล้วได้ผลผลิตเท่ากัน
Labour : แรงงาน หมายถึงแรงงานกล้ามเนื้อ และ ความคิด ของมนุษย์ ที่ใช้เพื่อการผลิตสินค้าและบริการ
Labour force : กำลังแรงงาน มักหมายถึงจำนวนคนที่ทำงานได้
Labour intensive : การผลิตที่ใช้แรงงานมาก ใช้เครื่องจักรน้อย (ใช้ทุนน้อย)
Labour productivity : ผลผลิตต่อแรงงานหนึ่งหน่วย เช่น คนหนึ่งคนทำงานหนึ่งวัน ได้ผลผลิต 15 ชิ้น
Labour saving : ประหยัดแรงงาน หมายถึงการผลิตที่ลดแรงงานลง ใช้ปัจจัยอื่น (เช่น เครื่องจักร หรือ คอมพิวเตอร์) เพิ่มขึ้น
Life-cycle model : ความเชื่อว่าผู้บริโภคจะใช้จ่ายบริโภคในปัจจุบันมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับความคาดหมายว่าเขาจะมีรายได้ตลอดชีวิตสักเท่าไร ยิ่งกว่าขึ้นอยู่กับรายได้ปัจจุบัน ซึ่งความคิดแนวนี้ไม่ค่อยมีผู้เห็นด้วย
Liquidity : สภาพคล่อง คือ ความง่ายในการเปลี่ยนสินทรัพย์ให้เป็นเงิน
Liquidity preference : ความชอบที่จะถือเงินสดยิ่งกว่าถือทรัพย์สินที่ได้ดอกเบี้ย หมายความว่า อยากถือเงินสดไว้มากกว่าปล่อยให้กู้
LM curve : เส้นดุลยภาพในตลาดเงิน เป็นสภาพดุลภาพเมื่อเงินที่ประชาชนควรมีถือในมือ หรือหยิบฉวยมาได้ง่าย เท่ากับ เงินที่มีให้ประชาชนถือจริง เกิดจากสมมุติฐว่า L = M คือ เงินที่ประชาชนควรมีถือในมือ หรือหยิบฉวยมาได้ง่าย เท่ากับ เงินที่มีให้ประชาชนถือจริง
Long run : การพิจารณาเป็นระยะยาว เป็นการพิจารณาต้นทุนหลายเวลาพร้อมกัน แต่ละเวลาก็มีต้นทุนคงที่ ซึ่งไม่เท่ากัน แต่นำมาคิดรวมเป็นต้นทุนรวมและต้นทุนเฉลี่ย
Lorenz curve : เส้นแสดงความแตกต่างรายได้ของคนในสังคม
M0 : ปริมาณเงินสดในมือประชาชนนอกสถาบันการเงิน บวก จำนวนเงินที่สถาบันการเงินฝากไว้กับธนาคารกลาง บางทีเรียกว่า ฐานเงิน (monetary base) บางทีเรียกว่า เงินพลังสูง (high-power money) ซึ่งใช้เป็นเครื่องมือเพิ่มลดปริมาณเงินได้ง่าย
M1 : เงินในความหมายอย่างแคบ (narrow money) เป็นเงินที่ใช้เป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยน ได้แก่ เหรียญกษาปณ์ (เศษสตางค์) ธนบัตร เช็ค และ ตั๋วแลกเงินสำหรับนักเดินทาง (travelers’ check)
M2 : เงินในความหมายอย่างกว้าง (broadmoney) บางทีเรียกว่า สิ่งที่แปลงเป็นเงินได้ง่าย (near-money) ได้แก่ M1 บวกกับ เงินฝากออมทรัพย์กับธนาคาร (บางธนาคารเรียกว่า เงินฝากสะสมทรัพย์) บวกกับเงินฝากประจำ บวกกับทรัพย์สินทางการเงินอื่นๆที่เปลี่ยนเป็นเงินได้แต่อาจเสียเวลาบ้าง เช่น กองทุนซื้อหุ้นที่มอบให้สถาบันการเงินจัดการให้ เป็นต้น การแบ่ง M1, M2, …. นี้ ไม่มีมาตรฐานแน่นอน บางตำราแบ่งซอยถึง M8 ซึ่งต้องพิจารณาเป็นกรณีไป
Macroeconomics : เศรษฐศาสตร์มหภาค เป็นการศึกษาถึงเรื่องเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม เช่น รายได้ประชาชาติ การมีงานทำ เงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย ดุลการค้า ดุลการชำระเงิน การเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็นต้น
Managed float : การปล่อยให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นไปตามกลไกตลาด แต่ธนาคารกลางก็เข้าแทรกแซงบ้างตามควร
Mandated benefit : ส่วนของกำไรที่กฎหมายบังคับให้ต้องแบ่งให้ลูกจ้างของบริษัท (ไม่พบในประเทศไทย)
Marginal cost (MC) : ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเมื่อเพิ่มผลผลิตขึ้นอีก 1 หน่วย (หรือลดลงในทางกลับกัน)
Marginal efficiency of capital : อัตราผลตอบแทนของทุน ควรใช้คำว่า rate of return of capital จะตรงกว่า เพราะว่าคำนี้ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับ marginal ซึ่งคือการเอาส่วนเพิ่มมาหารกัน
Marginal product (MP) : ผลผลิตที่เพิ่มขึ้นเมื่อเพิ่มปัจจัยการผลิตอย่างหนึ่งขึ้นอีก 1หน่วย (หรือลดลงในทางกลับกัน)
Marginal physical product (MPP) : เหมือน marginal product
Marginal propensity to consume (MPC): ค่าใช้จ่ายบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป เมื่อรายได้เปลี่ยนแปลงไป 1 หน่วย
Marginal propensity to import (MPM, MPI) : ค่าใช้จ่ายซื้อสินค้าต่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป เมื่อรายได้เปลี่ยนแปลงไป 1 หน่วย
Marginal propensity to save (MPS) : ปริมาณเงินออมที่เพิ่มขึ้นเมื่อรายได้เพิ่มขึ้น 1 หน่วย

(มีต่อครับ)




 

Create Date : 02 กรกฎาคม 2554    
Last Update : 2 กรกฎาคม 2554 16:15:11 น.
Counter : 7094 Pageviews.  

"ผาสุก พงษ์ไพจิตร" แฉอุปสรรค "ภาษีที่ดิน" ไม่ใช่สำนักงานทรัพย์สินฯ แต่เป็นรัฐสภาแลนด์ลอร์ด

//www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1304752251&grpid=01&catid=01
วันที่ 07 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 เวลา 14:53:04 น.

เมื่อวันที่ 7 พ.ค. ได้มีการจัดงาน "ชุมนุมปาฐกถา 70 ปี ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ" ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์)

ในการนี้ ศ. ผาสุก พงษ์ไพจิตร อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวปาฐกถาหัวข้อ "เศรษฐศาสตร์(ของ)การเมืองไทย" ว่า ประเทศไทยยังมีปัญหาในเรื่องของการกระจุกตัวของรายได้ และการกระจายรายได้ยังถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ จากบทความของ The economist ได้ระบุไว้ว่า ผลของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจนั้น ส่วนมากเงินทุนจะกระจายไปสู่นายทุนมากกว่าแรงงาน ถ้าดูสถิติของประเทศทั่วโลกแล้ว ปัญหาเหล่านี้มักจะนำไปสู่ความไม่เท่าเทียมกันของสังคม ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาสำคัญของโลก นายทุนมีกำไรมากขึ้น แต่สัดส่วนของค่าจ้างลดลง

The economist ยังได้ระบุสาเหตุของการกระจุกตัวของรายได้แล้วทำให้นายทุนมีรายได้เพิ่มขึ้นนั้น มาจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี กล่าวคือ ภาคอุตสาหกรรมสามารถผลิตสินค้าได้มากขึ้น โดยไม่อาศัยคนงานหรือมีการจ้างงานน้อยลง มีการใช้เครื่องจักรเข้ามาแทนที่กำลังคน ประสิทธิภาพของแรงงานก็สูงขึ้นด้วย ต่อมาก็คือ การต่อรองของกลุ่มแรงงานลดลง ทำให้สมาชิกของสหภาพแรงงานน้อยลงตามไปด้วย

ในระหว่างนั้นรัฐบาลก็ใช้กระบวนการต่างๆ ในการกดสหภาพแรงงาน โดยมีนายทุนยักษ์ใหญ่กำกับอยู่เบื้องหลังเพื่อไม่ต้องการให้มีสหภาพแรงงาน อีกทั้งมีการใช้นโยบายเสรีนิยมใหม่เข้ามาแทนที่ มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ตลาดมีความยืดหยุ่นสูง ส่งผลให้นายทุนมีอิทธิพลมากขึ้น ทั้งนี้ยังมีสถาบันทางการเงินหรือบริษัทไฟแนนซ์ต่างๆ ที่ทำตัวคล้ายกับมาเฟียอยู่เบื้องหลังรัฐ คอยกำกับให้รัฐดำเนินนโยบายเอื้อประโยชน์ให้แก่สถาบันการเงิน หากไม่เอื้อประโยชน์ให้ก็มักจะมีอ้างถอนเงินทุน


เมื่อปี 2010 ที่ sao paolo ได้ประชุมและออกแถลงการณ์ 10 ข้อ โดยมองว่ารายได้ของคนงานลดลงขณะที่กำไรของนายทุนเพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดการสะสมความมั่งคั่ง และเสนอการแก้ไขโดยการให้รัฐ การันตีให้แรงงานได้ทำงานทุกคน และมีรายได้เพียงพอต่อการยังชีพ ขณะที่ โปรเฟสเซอร์ yong chul park ได้พูดถึงความจำเป็นในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่า ต้องมีการปรับยุทธศาสตร์พัฒนา (rebalancing strategy) การส่งออกอุตสาหกรรม เพื่อให้มีการเพิ่มการลงทุนในภาคเอกชน เพิ่มการบริโภคในประเทศให้มากขึ้น

นอกจากนี้ โปรเฟสเซอร์ yong chul park ยังระบุอีกว่าการที่รัฐมีบทบาทมากขึ้นนั้น จะสามารถจัดการสวัสดิการได้ดีมากขึ้นด้วย เช่น การบริการทางด้านสาธารณสุข เรียนฟรี มีเงินสำรองหลังจากเกษียณ ทั้งนี้ไม่ได้เสนอให้รัฐลดบทบาทแต่ควรเปลี่ยนบทบาท และการพูดให้รัฐเปลี่ยนบทบาทเพื่อให้เกิดสวัสดิการพูดง่าย แต่มักเป็นปัญหาใหญ่ ว่าจะหาเงินมาใช้จ่ายในโครงการเหล่านั้นได้อย่างไร เพราะการให้สวัสดิการนั้นต้องใช้เงินจำนวนมาก แต่โดยหลักแล้วก็มักจะได้จากการเก็บภาษีและมีรายได้จากรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นรายได้หลัก


ส่วนคำถามที่ว่าสภาพรายได้จากภาษีเป็นอย่างไรนั้น ศ.ผาสุก ได้อธิบายไว้ว่า ภาษีอันแรกที่เป็นแหล่งรายได้นั่นก็คือ ภาษีนิติบุคคล หรือรายได้สุทธิจากธุรกิจ แต่แนวโน้มของ GDP ลดลง เพราะบริษัทไฟแนนซ์มีแรงต่อรองกับรัฐมากขึ้น มีการแข่งขันมากขึ้น หรือท้ายที่สุดมีการย้ายเงินทุนออก ต่อมาก็คือภาษีรายได้ส่วนบุคคล ในประเทศที่พัฒนาแล้วมักจะเก็บได้สูง ส่วนในประเทศไทยเก็บได้น้อย ทั้งนี้หากเก็บเยอะขึ้นก็เกิดแรงจูงใจในการเสียภาษีน้อยลง ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มไทยก็เก็บได้น้อยคือ 7 % ขณะที่ก่อนหน้านี้เคยเก็บได้ 10 %


สุดท้ายก็คือภาษีสินค้าเข้าออก ปัจจุบันเริ่มหมดความสำคัญเพราะผลของการเกิดโลกาภิวัตน์ เกิดเขตการค้าเสรีเพิ่มขึ้น ในอาเซียนจะลดการเก็บภาษีสินค้าเหลือ 0 % ในปี 2015 แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ภาษีทรัพย์สินมากกว่า หรือภาษีที่ดิน แม้จะมีการย้ายทุนแต่ที่ดินนายทุนไม่สามารถเอาไปได้ และเป็นสิ่งที่รัฐสามารถหาประโยชน์ได้มาก


อย่างไรก็ตามเมื่อเราเห็นที่มาของรายได้ ทำให้เกิดยุทธศาสตร์ที่รัฐควรพิจารณา คือการหาประโยชน์จากที่ดินมาแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมกัน และการหาสินค้าสาธารณะมาให้บริการมากขึ้น หรือการเพิ่มสวัสดิการให้ครอบคลุมทั้งประเทศ


ในประเทศไทยตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ.2549 สำนักงานสถิติแห่งชาติได้รวบรวมข้อมูลแล้วแบ่งกลุ่มครัวเรือนออกเป็น 10 กลุ่ม ปรากฎว่ากลุ่มที่รวยสุด กับกลุ่มที่จนสุด ห่างกันถึง 69 เท่า ส่วนรอง รวยที่สุดกับรองจนที่สุดก็ห่างกันมากเช่นกัน สรุปแล้วก็คือ การกระจุกอยู่ที่คน 10 % ของประเทศ แต่ที่ยุโรปมีไม่เยอะเพราะว่าใช้ภาษีความมั่นคงมานาน


ส่วนข้อมูลการถือครองที่ดินสูงสุด 10 จังหวัด กรุงเทพมหานครมีการถือครองที่ดินของนิติบุคคลรายเดียว มีที่ดินมากที่สุด 14,776 ไร่ ภูเก็ต 3, 152 ไร่ ปทุมธานี 28,999 ไร่ สมุทรปราการ 17,016 ไร่ นนทบุรี 6,691 ไร่ ระนอง 4,618 ไร่ นครนายก 34,000 ไร่

ผู้ถือครองที่ดิน 50 อันดับแรก มีที่ดินรวมกันเป็น 10% ของที่ดินทั้งหมด

คำถามต่อมาก็คือว่า ทำอย่างไรถึงจะลดการกระจุกตัวได้

เมื่อรัฐบาลนายอภิสิทธิ์เสนอร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ ต่อมาได้เลื่อนออกไป ทั้งที่ข้อดีของพ.ร.บ.นี้ก็คือ ให้ที่ดินว่างเปล่าสามารถใช้ประโยชน์ได้ มีการเก็บในอัตรา 0.05-2.00 % โดยให้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นเป็นผู้จัดเก็บทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการเก็บภาษี


อุปสรรคของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง อยู่ที่ไหน บางคนอาจคิดว่าอยู่ที่สำนักงานทรัพย์สินฯ แต่มีข้อมูลน่าเชื่อถือว่าไม่ใช่ ....

กรณีญี่ปุ่น สมเด็จจักรพรรดินีของญี่ปุ่น เมื่อได้รับมรดกเป็นคฤหาสน์และที่ดิน ท่านต้องเสียภาษีมรดก แต่ไม่สามารถมีเงินสดมาเสียภาษีได้ จึงขายที่ดินให้รัฐบาล พสกนิกรจำนวนหนึ่งเดินขบวนเรียกร้องให้ยกเว้นภาษีนี้กับท่าน เพราะต้องการให้เก็บเอาสมบัติครอบครัวเอาไว้ แต่ท่านออกแถลงการณ์ขอร้องให้ยกเลิกการเดินประท้วง และบอกว่าท่านเป็นพลเมืองคนหนึ่งของญี่ปุ่น

ดังนั้น จึงจะเสียภาษีอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และได้ขายที่ดินนั้นไป รัฐบาลต่อมาขายให้ อปท. อปท.ก็มีนโยบายนำที่ดินนั้นไปเป็นส่วนสาธารณะ พสกนิกรจำนวนหนึ่งมาต่อต้านเมื่อจะมีการรื้อคฤหาสน์ แต่ก็ต้องเลิก เพราะกฎหมายที่ญี่ปุ่นก็คือ กฎหมาย


ก่อนหน้านี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยข้อมูลของนักการเมืองประเทศไทยในการถือครองที่ดินพบว่า พรรคเพื่อไทย มีจำนวน ส.ส. 173 คน ถือครองที่ดิน 21,000 ไร่ คิดเป็นมูลค่า 5 พันกว่าล้านบาท พรรคประชาธิปัตย์ 160 คน ถือครองที่ดิน 15,000 กว่าไร่ มูลค่ากว่า 6 พันล้านบาท พรรคภูมิใจไทย 31 คน ถือครอง 4,000 ไร่ มูลค่า 730 ล้าน

พรรคเพื่อแผ่นดิน 29 คน ถือครอง 5,000 ไร่ มูลค่า พันกว่าล้าน ส่วนวุฒิสภาจำนวน 145 คน ถือครองที่ดินรวม 19,000 กว่าไร่ รวมมูลค่า 10,000 กว่าล้านบาท

หากรวมทั้งหมดทั้ง ส.ส.และส.ว.มีมากถึง 72,247ไร่ มูลค่า 24,805.3 ล้านบาท คิดเป็นค่าเฉลี่ย ส.ส. 121 ไร่ต่อคน ส่วน ส.ว. 123 ไร่ต่อคน


ปัญหาต่อมาก็คือไทยเก็บภาษีทางตรงได้น้อยกว่าทางอ้อม และเมื่อปี 2553 จากจำนวนประชากร 67 ล้านคน คนที่จะต้องเสียภาษีมีจำนวน 38 ล้านคน เสียภาษีเพียง 9 ล้านคน และจ่ายจริงเพียง 2.3 ล้านคนเท่านั้น

ประสบการณ์ของประเทศเกาหลีใต้ ก่อนหน้านี้เคยประสบปัญหาว่างงาน รายได้ประเทศลดลง ที่ดินมีราคาสูง มีการเดินประท้วง กลุ่มประชาคมต่างๆ รวมตัวกันเพื่อให้รัฐบาลดำเนินการเก็บภาษีที่ดิน จนทำให้ปี พ.ศ.2540 เกิดการปฎิรูประบบประกันสังคมและเสนอนโยบายการการันตีรายได้ขั้นต่ำ ให้คนจนสามารถอยู่ได้ จนทำให้ครัวเรือนมีรายได้ขั้นต่ำครัวเรือนละ 35,550 บาท

นอกจากนี้เกาหลีใต้ยังมีการปรับปรุงระบบสินค้าสาธารณะให้ครอบคลุม สามารถแก้ปัญหาการว่างงานให้ดีขึ้น และความสงสัยที่ว่าเขาหาเงินมาจากไหน พบว่าร้อยละ 58 มาจากการเก็บภาษีที่ดิน และร้อยละ 42 มาจากการเก็บภาษีอื่นๆ และรายได้หลักทั่วไป

อย่างไรก็ตามการหารายได้จากทรัพย์สินของรัฐถือว่าเป็นพลวัตที่น่าสนใจ สามารถเอารายได้จากมาตรการภาษีที่ดินมาใช้ได้ แล้วประเทศไทยถึงทำไม่ได้กับมาตรการตรงนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ของรัฐ และลดช่องว่างการกระจุกตัวของรายได้ สุดท้ายประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น.




 

Create Date : 21 มิถุนายน 2554    
Last Update : 21 มิถุนายน 2554 10:30:12 น.
Counter : 756 Pageviews.  

ประชาธิปไตยหรือเผด็จการ อธิบายด้วยเรื่องปากท้อง

ประชาธิปไตยหรือเผด็จการ อธิบายด้วยเรื่องปากท้อง
โดย วินัย วงศ์สุรวัฒน์ คณะวิทยาการจัดการ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (AIT) มติชนรายวัน วันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11525
//nidambe11.net/ekonomiz/2009q3/2009september29p5.htm

ทำไมการเมืองในบางประเทศจึงเป็นประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพมั่นคง ในขณะที่ประชาธิปไตยในบางประเทศมาๆ ไปๆ สลับกับระบบเผด็จการและการปฏิวัติยึดอำนาจ เหตุใดทุกวันนี้จึงมีระบบเผด็จการทั้งแบบสงบมั่นคง (เช่นในสิงคโปร์) และแบบที่เต็มไปด้วยความยากเข็ญและการกดขี่ข่มเหง

ดารอน อาเซมากลู และ เจมส์ โรบินสัน นักวิชาการจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งรัฐแมสซาชูเซตส์ (เอ็มไอที) และมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา พยายามอธิบายความแตกต่างข้างต้น ในหนังสือ The Economic Origins of Dictatorship and Democracy (สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2006) โดยใช้เครื่องมือการวิเคราะห์จากวิชาเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่ เช่น ทฤษฎีเกม

นายอาเซมากลู หนึ่งในผู้เขียนหนังสือเล่มที่ว่า ถือเป็นนักเศรษฐศาสตร์ดาวรุ่งคนสำคัญของยุคนี้ นักเศรษฐศาสตร์เชื้อสายตุรกีผู้นี้เพิ่งได้รับเหรียญรางวัลของนายจอห์น เบทส์ คลาร์ก ไปเมื่อปี 2005 รางวัลดังกล่าวมอบให้นักเศรษฐศาสตร์อายุต่ำกว่า 40 ปีที่มีผลงานทางวิชาการอันโดดเด่น และถือเป็นเครื่องทำนายรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ได้อย่างค่อนข้างแม่นยำ ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลดังๆ ไม่ว่าจะเป็นนายพอล ครุกแมน นายโจเซฟ สติกลิทส์ และนายเคนเนธ แอร์โรว ล้วนเคยได้รับเหรียญรางวัลของนายจอห์น เบทส์ คลาร์ก เมื่อสมัยหนุ่มๆ มาแล้วทั้งสิ้น

นายอาเซมากลู และนายโรบินสันเสนอคำอธิบายการก่อกำเนิดและเสถียรภาพของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยด้วยปัจจัยหลักๆ 2 ประการคือ 1) ความไม่เท่าเทียมของสังคม และ 2) ต้นทุน ผลประโยชน์ และความคุ้มของการก่อการปฏิวัติ-รัฐประหาร

ความไม่เท่าเทียมของสังคม

ความเหลื่อมล้ำในเรื่องปากท้องตลอดจนโอกาสในการทำมาหากินเป็นต้นตอสำคัญอย่างหนึ่งของความตึงเครียดในระบบการปกครองแบบเผด็จการ หากคนรวยซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่กุมอำนาจทางการเมืองไว้นั้น กินอยู่กันเหมือนเทวดา ในขณะที่คนส่วนใหญ่ในสังคมยากจนข้นแค้น ไม่ช้าก็เร็วความระส่ำระสายอันเกิดมาจากความเคียดแค้นของคนหมู่มากย่อมเกิดขึ้น

ยิ่งความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมมีมากเท่าไร ความเสี่ยงต่อการที่คนจนจะลุกฮือขึ้นมาโค่นล้มอำนาจของพวกคนรวยก็ยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น

แน่นอนว่าคนรวยย่อมพยายามทุกวิถีทางเพื่อปกป้องอภิสิทธิ์ของตน การหลอกล่อคนจนด้วยนโยบายประชานิยมชั่วครั้งชั่วคราวอาจทำให้คนจนลืมความโกรธ-ความเคียดแค้นไปได้ชั่วครู่ แต่สุดท้ายคนจนย่อมตระหนักว่านโยบายดังกล่าวเป็นเพียงผักชีโรยหน้า ซึ่งไม่สามารถแก้ไขต้นตอของปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม (คือระบบเผด็จการ) ได้

เมื่อความเสี่ยงของการลุกฮือของคนจนเพิ่มขึ้นจนใกล้ถึงจุดเดือด ไม่วันใดก็วันหนึ่ง พวกคนรวยจะต้องตัดสินใจเลือกระหว่างการแบ่งอำนาจของตนให้คนจน หรือการโดนแขวนคอภายหลังมวลชนลุกฮือขึ้นโค่นล้มเผด็จการ เมื่อชั่งน้ำหนักดูระหว่างทางเลือกทั้งสองนี้ ชนชั้นสูงก็มักจะเลือกแนวทางการแบ่งอำนาจมากกว่าการเสี่ยงที่จะโดนแขวนคอ

ประเทศสิงคโปร์เป็นตัวอย่างของประเทศเผด็จการที่มีความเหลื่อมล้ำทางสังคมไม่มาก ด้วยเหตุนี้เผด็จการในสิงคโปร์จึงดำรงอยู่ได้โดยปราศจากความเสี่ยงต่อการลุกฮือขึ้นของมวลชน

ในทางตรงกันข้าม เผด็จการในบางประเทศ เช่น พม่าหรือเกาหลีเหนือเลือกใช้วิธีการกดขี่ประชาชนอย่างรุนแรงจนผู้คนส่วนใหญ่แทบจะไม่มีโอกาสโงหัวขึ้นมาต่อกรกับชนชั้นปกครองได้ เมื่อคนจนโดนกดหัวเสียจนหมดพลังและความน่ากลัว ระบบเผด็จการก็สามารถดำรงอยู่ได้เช่นเดียวกัน

ต้นทุน ผลประโยชน์

และความคุ้มของการก่อการปฏิวัติ-รัฐประหาร

เมื่อประชาธิปไตยได้เกิดขึ้นมาแล้ว บางทีระบอบการปกครองดังกล่าวอาจสร้างความล่อแหลมต่อสถานภาพทางเศรษฐกิจของชนชั้นสูงในสังคมจนคนเหล่านี้มิอาจจะทานทนได้

คนรวยย่อมต้องการป้องกันทรัพย์สินเงินทองของตนจากนโยบายต่างๆ ของรัฐที่มุ่งเน้นเอาใจคนจน เช่น นโยบายการเพิ่มความก้าวหน้าของภาษีเงินได้ การขึ้นภาษีที่ดินและมรดกให้แพงๆ และการเพิ่มอัตราเงินเฟ้อเพื่อช่วยเกษตรกรที่เป็นลูกหนี้ หากความล่อแหลมดังกล่าวมีสูง พวกคนรวยก็จะเริ่มมองการปฏิวัติ-รัฐประหารเป็นทางเลือกที่น่าดึงดูดใจมากยิ่งขึ้น

นายอาเซมากลูและนายโรบินสันได้เสนอปัจจัยหลายอย่างที่อาจเพิ่มหรือลดความล่อแหลมของประชาธิปไตยต่อสถานภาพของคนรวย ปัจจัยเหล่านี้อาจเป็นตัวแปรสำคัญที่จะกำหนดว่าประชาธิปไตยในสังคมหนึ่งจะมีเสถียรภาพยืนยาวหรือล้มลุกคลุกคลานสลับไปกับระบบเผด็จการ ตัวอย่างของปัจจัยที่น่าสนใจมีดังต่อไปนี้

ก. ที่มาของความร่ำรวยของชนชั้นสูง

หากชนชั้นสูงร่ำรวยขึ้นมาเพราะการยึดครองที่ดินหรือทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ พวกเขาก็อาจหวาดระแวงประชาธิปไตยมากเป็นพิเศษ ทั้งนี้เพราะรัฐบาลของคนจนอาจออกกฎหมายเวนคืนหรือขึ้นอัตราภาษีที่เก็บจากทรัพย์สินพวกนี้ได้ไม่ยาก

เมื่อลองพิจารณาดูความเสี่ยงของการล้มล้างระบอบประชาธิปไตย หากการปฏิวัตินำไปสู่ความความขัดแย้งรุนแรง ที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติที่คนรวยถือครองก็คงไม่โดนทำลายเสียหายไปมากเท่าไหร่

ในกรณีเช่นนี้ คนรวยจะมีแรงจูงใจในการพยายามล้มล้างประชาธิปไตยอยู่บ่อยๆ เพราะบวก-ลบ-คูณ-หารดูแล้ว การทำปฏิวัติ-รัฐประหารเพื่อล้มล้างประชาธิปไตยถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ากับความเสี่ยง

ในทางตรงกันข้ามหากคนรวยเป็นพวกนายทุนหรือนักธุรกิจ การเวนคืนหรือเก็บภาษีจากคนเหล่านี้จะทำได้ยากกว่า เพราะธุรกิจที่ยึดมามีสิทธิเจ๊งภายใต้การบริหารจัดการของรัฐ และเงินทุนของคนรวยก็สามารถส่งไปฝากในต่างประเทศได้

ในกรณีนี้ คนรวยอาจลดความหวาดระแวงที่มีต่อระบอบประชาธิปไตยและไม่เลือกที่จะทำการปฏิวัติ-รัฐประหาร เพราะประโยชน์ที่จะได้รับจากการปฏิวัตินั้น ไม่คุ้มกับผลเสียที่อาจตามมา เช่น ความเสียหายของเครื่องจักรโรงงานและธุรกิจส่งออกหากเกิดสงครามการเมืองขึ้น

ข. โอกาสการเข้าครอบงำสถาบันทางการเมืองของคนรวย

ปัจจัยอีกอย่างหนึ่งที่อาจช่วยทำให้คนรวยลดความหวาดระแวงต่อระบอบประชาธิปไตยก็คือการมีประชาธิปไตยเพียง "ครึ่งใบ" ระบอบการปกครองแบบนี้มีช่องทางให้ชนชั้นสูงแทรกซึมเข้าไปกุมอำนาจทางการเมืองได้ด้วยวิถีทางอื่นที่อาจไม่เป็นไปตามครรลองประชาธิปไตย

อภิสิทธิ์ดังกล่าวจะทำให้นโยบายการกระจายผลประโยชน์จากคนรวยไปสู่คนจนเกิดความติดขัดอยู่เนืองๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ คนรวยก็จะไม่มีแรงจูงใจที่จะก่อการปฏิวัติเพราะประชาธิปไตยแบบครึ่งใบที่เป็นอยู่ก็สะดวกปลอดภัยดีอยู่แล้ว

วิธีการบั่นทอนประชาธิปไตยให้เหลือเพียงแค่ครึ่งใบนั้น นิยมทำกันโดยการออกแบบระบบผู้แทนให้มีความสลับซับซ้อนและขาดความโปร่งใส นายอาเซมากลูและนายโรบินสันวิเคราะห์ว่า การเมืองแบบรัฐสภาเป็นกลไกอย่างหนึ่งที่ช่วยเพิ่มความสับสนในการเลือกผู้นำ เมื่อการเมืองขาดความโปร่งใสและคนรวยสามารถแผ่อิทธิพลเข้าไปบงการอำนาจทางการเมืองได้สะดวกแล้ว ความจำเป็นในการทำปฏิวัติ-รัฐประหารก็จะลดลง ส่งผลให้ประชาธิปไตย (แบบครึ่งใบ) มีเสถียรภาพมั่นคงขึ้นได้

ค. ชนชั้นกลาง

นักเศรษฐศาสตร์มองว่าผลประโยชน์ของชนชั้นกลางนั้นมีความสอดคล้องใกล้เคียงกับผลประโยชน์ของชนชั้นสูงมากกว่าผลประโยชน์ของชนชั้นต่ำ

ดังนั้น สังคมประชาธิปไตยที่มีฐานเสียงของชนชั้นกลางจำนวนมากก็มักมีรัฐบาลที่ออกกฎหมายมาเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อคนรวยมากกว่าคนจน

เมื่อเป็นเช่นนี้เสถียรภาพของระบอบประชาธิปไตยก็จะมีมากขึ้น เพราะคนรวยไม่มีแรงจูงใจในการก่อการปฏิวัติ-รัฐประหาร

ในทางตรงกันข้าม หากสังคมใดไม่ค่อยมีคนชั้นกลาง คนรวยกับคนจนก็มีโอกาสประจันหน้ากันทางการเมืองอยู่เสมอ หากเสียงของคนส่วนใหญ่ซึ่งเป็นคนจนเริ่มผลักดันนโยบายต่างๆ ที่บั่นทอนฐานะของคนรวย

โอกาสที่คนรวยจะเลือกล้มกระดานด้วยการก่อการปฏิวัติ-รัฐประหารก็มีสูง เพราะทางเลือกดังกล่าวเย้ายวนเกินห้ามใจ

หน้า 6




 

Create Date : 30 กันยายน 2552    
Last Update : 30 กันยายน 2552 7:22:02 น.
Counter : 531 Pageviews.  

เกษตรมิใช่เสาเอกของไทยแล้ว

มายาคติว่าด้วยการเกษตร และประเทศไทย

โดย มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มติชนรายวัน วันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11462

เชื่อหรือไม่ว่า คนไทยจำนวนมากยังให้คำนิยามประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ข้อมูลนี้ได้จากการสอนนักศึกษาปริญญาตรีปีสุดท้ายและปริญญาโทปีแล้วปีเล่า

เมื่อถามต่อไปว่า ทำไมถึงคิดเช่นนั้น เอาอะไรมาเป็นตัวชี้วัด

นักศึกษามักจะตอบว่า แรงงานไทยอยู่ในภาคเกษตรมากที่สุด หรือเราส่งออกสินค้าเกษตรมากที่สุด หรือภาคเกษตรเป็นภาคที่สร้างรายได้ให้แก่ประเทศมากที่สุด

แต่ความจริงก็คือ แรงงานไทยอยู่ในภาคเกษตรไม่ถึงครึ่ง จำนวนแรงงานหนุ่มสาวในภาคเกษตรได้เริ่มลดลงตั้งแต่ปี 2532 เดี๋ยวนี้ภาคเกษตรต้องอาศัยแรงงานต่างด้าว ส่วนรายได้ (ที่วัดด้วยมูลค่าเพิ่ม) ภาคเกษตรคิดเป็นร้อยละ 10 ของจีดีพีเท่านั้น

ส่วนการส่งออกของภาคอุตสาหกรรมก็มีมูลค่าสูงกว่าภาคเกษตรมาตั้งแต่ปี 2528 หรือกว่า 30 ปีมาแล้ว

สรุปได้ว่า ประเทศไทยและภาคชนบทไทยไม่ได้พึ่งพาภาคเกษตรเป็นเสาเอกอีกต่อไป

ที่น่าตกใจไปมากกว่านั้นก็คือ นักการเมืองใหญ่ๆ หลายคนนอกจากจะคิดว่าเราเป็นประเทศเกษตรแล้ว ยังหลงคิดไปอีกว่าเราเป็นมหาอำนาจด้านเกษตร และยังคิดว่าเราควรร่วมมือกับเวียดนามและเขมรกำหนดราคาข้าวในทำนอง OREC เคียงคู่ไปกับ OPEC อีกด้วย

ที่จริงแล้วเราไม่สามารถกำหนดราคาข้าวได้เหมือนที่ OPEC สามารถกำหนดราคาน้ำมัน เพราะข้าวที่ซื้อขายกันในตลาดโลกคิดเป็นสัดส่วนอันน้อยนิด คือ ประมาณ 7% ของการผลิตโลก ตลาดข้าวจึงเป็นตลาดที่บางมาก และได้รับอิทธิพลจากการเปลี่ยนแปลงผลผลิตของผู้ผลิตและผู้บริโภครายใหญ่ เช่น จีน อินเดีย และอินโดนีเซียได้ง่าย เมื่อเทียบกับน้ำมันที่กลุ่ม OPEC ควบคุมการผลิตโลกได้ถึง 45% และควบคุมการค้าได้ถึง 60% เมื่อเทียบกับการผลิตของโลก

ยิ่งไปกว่านั้น เรายังควบคุมระดับการผลิตข้าวไม่ได้ เพราะอิทธิพลลมฟ้าอากาศที่มีต่อการผลิตข้าวค่อนข้างสูง

มิหนำซ้ำหากประเทศที่ผลิตข้าวเป็นจำนวนมาก เช่น จีน (ซึ่งมีผลผลิตคิดเป็น 30% ของการผลิตโลก) หรืออินเดียเกิดน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ผิดปกติ หรือเกิดข้าวยากหมากแพง จะมีผลต่อราคาข้าวในตลาดโลกอย่างยิ่ง

สรุปสั้นๆ ได้ว่า ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มิอาจคุมอำนาจในตลาดโลกของข้าวได้หากจีนหรืออินเดียไม่ร่วมด้วย

กลับมาค้นหาความเป็นจริงก็คือ ภาคเกษตรของไทยได้เปลี่ยนไปแล้ว ชนบทไทยก็เปลี่ยนตามไปด้วย ภาคชนบทไม่ได้ผลิตสินค้าเกษตรเป็นหลักอีกต่อไป รายได้หลักในครัวเรือนก็ไม่ใช่รายได้เกษตร

ในอีสานเวลานี้หลายพื้นที่กลายเป็นภาคบริการที่รับเลี้ยงหลานให้ลูกที่ไปหางานทำใน กทม. หรือจังหวัดอื่น หลายหมู่บ้านกลายเป็น Long-stay service ของชาวต่างชาติที่มาเกษียณ แต่ต่างจากนักท่องเที่ยวทั่วไปตรงที่มีภรรยาเป็นคนไทย

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับภาคเกษตรของไทย ทำให้เราเคยฝันหวานไปว่า เมื่อจีนเปิดประเทศแล้วเราก็จะสามารถขายสินค้าเกษตรให้จีนเป็นจำนวนมาก เพราะไทยเป็นประเทศอุดมสมบูรณ์ น่าจะได้ประโยชน์จากการขายอาหารให้จีน

แต่การณ์กลับกลายเป็นเราขายสินค้าเกษตรให้จีนได้ไม่กี่ตัว เช่น มันสำปะหลัง น้ำตาล ข้าวคุณภาพสูง แต่เรากลับขนซื้ออาหารจากจีนหลายอย่าง ตั้งแต่ขนมกรุบกรอบ ช็อกโกแลต กระเทียม แอปเปิ้ล สาลี่ เห็ดหอม ผักดอง ลูกพลับแห้ง ฯลฯ

รวมทั้งนมผงอีกด้วย ถ้าความไม่แตกเสียก่อน เด็กไทยอาจตายเพราะเมลามีนในนมที่นำเข้าจากจีนก็ได้

การที่คนไทย เยาวชนไทย รวมทั้งนักการเมืองไทย มีความเข้าใจเกี่ยวกับโครงสร้างเกษตร และโครงสร้างประเทศไทยคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างไร

คำตอบก็คือ หากกลุ่มของนักการเมืองหรือผู้กำหนดนโยบายระดับสูงไม่เข้าใจโครงสร้างที่แท้จริง ก็ย่อมไม่สามารถดำเนินนโยบายสาธารณะที่เหมาะสมและถูกต้องได้ รวมถึงอาจเกิดการจัดลำดับความสำคัญของปัญหาผิดไป

สำหรับคนไทยและเยาวชนทั่วไปความไม่เข้าใจภาพที่แท้จริงของประเทศทำให้ไม่สามารถวางแผนการศึกษา การค้า การลงทุนที่เหมาะสมได้ และไม่สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการชาติอื่นๆ ซึ่งศึกษาสภาพความความเป็นจริงของไทยอย่างเอาจริงเอาจังและครบถ้วนได้

ถ้าเป็นเช่นนี้แล้วไทยยังเป็นครัวของโลกได้หรือไม่ คำตอบก็คือ ไทยก็ยังเป็นได้อยู่แต่เป็นครัวคนละอย่างกับจีน แม้แต่สหรัฐอเมริกาซึ่งภาคเกษตรมีขนาดเล็กกว่า 5% ของ GDP ก็ยังเป็นประเทศที่ส่งออกอาหารได้ เพราะแต่ละประเทศก็มีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบไม่เหมือนกัน ฝรั่งเศสถนัดไปทางไวน์ ไทยก็คงถนัดไปทางอาหารสำเร็จรูป หรืออาหารที่นำเสนอในภัตตาคาร

มีผู้ให้ความเห็นว่า สิ่งที่คนไทยถนัดไม่ใช่การทำเกษตร แต่เป็นสิ่งที่ต้องการ "human touch" ซึ่งเครื่องจักรทดแทนไม่ได้ และไม่ใช่แรงงานฝีมือเท่านั้น แต่เป็นแรงงานจากใจ หรือแรง+ใจ ซึ่งเป็นแรงงานอันประณีต คนไทยจึงเก่งในการเพาะเลี้ยงกล้วยไม้ การแกะสลัก สปา ปั้นถ้วยเขียนลาย หรืองานที่ต้องมีจิตบริการ ฯลฯ

นอกจากความเชื่อที่ล้าสมัยว่าเรายังอยู่ในยุคเกษตร ก็ยังมีความเข้าใจผิดอีกหลายเรื่องตามมา เช่น เข้าใจว่าเกษตรกรเป็นคนจน ดังนั้นโครงการอะไรที่ทำให้เกษตรกรก็เป็นโครงการช่วยคนจน

โครงการรับจำนำข้าวเป็นโครงการเกษตรที่สำคัญเพราะเราต้องช่วยคนจน เนื่องจากชาวนาเป็นคนจน

จริงอยู่คนที่ยากจนมักจะเป็นชาวนา แต่ไม่ใช่ชาวนาทุกคนเป็นคนจน และชาวนาที่ปลูกข้าวเหลือพอขายได้จำนวนมากไม่ใช่คนจนเสมอไป

การศึกษาของอาจารย์อัมมาร สยามวาลา และ ดร.สมชัย จิตสุชน นักวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย พบว่า หากแบ่งชาวนาเป็น 10 กลุ่มรายได้ กลุ่มที่จนที่สุด 4 กลุ่มแรกมีข้าวเหลือกินรวมกันเพียง 26% ของข้าวเหลือกินทั้งหมด

ในขณะที่กลุ่มชาวนารวย 4 กลุ่มแรกที่มีรายได้สูงสุด แม้กลุ่มนี้จะปลูกข้าวเหลือกินเป็นสัดส่วนน้อยกว่า (เพราะส่วนหนึ่งไม่ได้ปลูกข้าวแต่ไปปลูกพืชที่ขายได้แพงกว่าข้าว) หรือไม่ได้ปลูกข้าวอย่างเดียว แต่ข้าวส่วนที่เหลือของกลุ่มนี้รวมกันมากกว่ากลุ่มชาวนาจนถึง 2 เท่า ทั้งนี้เป็นเพราะกลุ่มนี้อยู่ในพื้นที่ชลประทานที่ปลูกข้าวได้มากว่าหนึ่งครั้ง และมีผลผลิตต่อไร่สูงกว่า

ดังนั้นเมื่อรัฐบาลมีนโยบายอะไรก็ตามที่จะขึ้นราคาข้าว ชาวนารวยก็จะได้ประโยชน์มากกว่า นี่ยังไม่นับถึงความเสียหายของโครงการรับจำนำข้าวที่มีข้าวลม ข้าวเสื่อมคุณภาพ ข้าวขายไม่ออก

ถึงเวลาหรือยังที่เราจะหันมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับตัวเราเองให้ดีขึ้น และไม่จมอยู่ในภวังค์อันโรแมนติค ว่าด้วยเรื่องชนบทไทยซึ่งนับวันจะเปลี่ยนแปลงไปจากภาพในละครทีวีที่ล้วนนำเสนอภาพเกษตรที่เป็นภาพอดีต

แล้วเราถึงจะรู้ว่า เราควรจะปฏิรูปตัวเราเองจากอะไรให้เป็นอะไร




 

Create Date : 03 สิงหาคม 2552    
Last Update : 3 สิงหาคม 2552 12:05:31 น.
Counter : 545 Pageviews.  

ภาษีที่ดิน ภาษีทรัพย์สิน การคลังใหม่ ?

วันที่ 26 พฤษภาคม 2552 00:01
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
//www.bangkokbiznews.com/home/detail/property/property/20090526/45278/หวั่นรัฐดันภาษีที่ดินไม่จริง.html

หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ จัดเสวนาเรื่อง "ถึงเวลาต้องจัดเก็บภาษีที่ดินหรือยัง" หลากหลายความคิดเห็นที่หนุนให้เกิด แต่หวั่นว่ารัฐจะทำไม่จริง

"ถามว่าไทยพร้อมแค่ไหน บอกได้ว่าไทยพร้อมร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ควรจะเริ่มหรือยัง บอกว่า เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่ต้องมีระบบต่างๆ มาช่วยดูแลการจัดเก็บรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะสามารถมีรายได้ในการทำประโยชน์ในท้องถิ่น สำหรับประชาชน" ดร.ดวงมณี เลาวกุล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

"ถ้ารัฐบาลสามารถทำได้ ผมก็เห็นด้วยว่าควรจะมีกฎหมายภาษีที่ดินฯ ขึ้นมา เพราะจะเป็นประโยชน์ ทำให้คนนำที่ดินมาใช้ประโยชน์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างที่เราเห็นในไต้หวันและญี่ปุ่น ที่ปลูกข้าวในเมือง เพราะเขาใช้พื้นที่ที่ว่างให้เป็นประโยชน์ทุกตารางนิ้ว" นายอิสระ บุญยัง นายกสมาคมบ้านจัดสรร

"การคิดภาษีที่ดินก้าวหน้า น่าจะส่งผลให้นายทุนทั้งหลายชะลอการสะสมที่ดิน และการซื้อเก็บเก็งกำไร ทำให้ชาวบ้านมีโอกาสเข้าถึงที่ดินได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตามการเก็บภาษีที่ได้ไม่ใช่เป็นคำตอบสุดท้ายในการปฏิรูปที่ดิน เพราะรัฐบาลต้องแก้ปัญหาอื่นๆ ที่เกี่ยวกับความเป็นธรรมในสังคมไปพร้อมๆ กันด้วย" นายบุญ แซ่จุง เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย

หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ โดยรายการ "ตรงประเด็นกับกรุงเทพธุรกิจ" ทางคลื่นเอฟเอ็ม 102 จัดเสวนาโต๊ะกลมหัวข้อ "ถึงเวลาต้องจัดเก็บภาษีที่ดินหรือยัง" โดยผู้เข้าร่วมเสวนาส่วนใหญ่ เห็นว่าถึงเวลาแล้ว และเป็นเรื่องท้าทายของรัฐบาล ที่จะผลักดันอย่างจริงจังในการตรากฎหมายที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งหากทำสำเร็จ จะเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปที่ดิน รวมทั้งผลักดันให้ใช้ทรัพยากรที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวมต่อไป

ดร.ดวงมณี เลาวกุล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า รูปแบบการจัดเก็บภาษีทั่วไปมาจาก 3 ฐาน ได้แก่ ฐานรายได้ ฐานการบริโภค และ ฐานทรัพย์สิน แต่สำหรับประเทศไทยยังไม่จัดเก็บจากฐานทรัพย์สิน ที่ใกล้เคียงที่สุดคือภาษีบำรุงท้องที่และโรงเรือน และเป็นการจัดเก็บจากฐานรายปี 12.5% ของราคาประเมิน ทำให้เป็นช่องโหว่ให้คนเลี่ยงภาษี

นอกจากนี้ยังมีข้อยกเว้น ค่าลดหย่อนมาก ทำให้ฐานรายได้ไม่ชัดเจน อยู่ในดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ ส่งผลให้รายได้ภาษีดังกล่าวจัดเก็บได้ไม่มาก ทั้งราคาประเมินที่ใช้ก็กำหนดมาตั้งแต่ปี 2521-2524 ซึ่งล้าสมัยไปแล้ว ประเทศไทยจึงควรจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตราก้าวหน้า เพื่อเป็นการปฏิรูประบบภาษีของประเทศให้เป็นธรรม ส่วนหนึ่งจะส่งผลให้การใช้ทรัพยากรที่ดินของประเทศมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ดร.ดวงมณี กล่าวว่า จากผลการศึกษา ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เก็บจากฐานภาษีที่แท้จริง 3 ด้าน ได้แก่
1.พื้นที่เกษตร เก็บไม่เกิน 0.05%
2.พื้นที่ที่อยู่อาศัย เก็บไม่เกิน 0.1% และ
3.พื้นที่เพื่อการพาณิชย์ เก็บไม่เกิน 0.5%

ขั้นตอนการจัดเก็บ จะมีคณะกรรมการกลางขึ้นมาพิจารณาอัตราที่เหมาะสมในแต่ละภาคเศรษฐกิจ และความจำเป็นของหน่วยงานท้องถิ่น ที่ต้องทำหน้าที่จัดเก็บ แต่ต้องไม่เกินตามที่กฎหมายกำหนด ทำให้ท้องถิ่นมีความอิสระทางการคลังมากขึ้น ตามแผนกระจายอำนาจ

"ถามว่าไทยพร้อมแค่ไหน บอกได้ว่าไทยพร้อมร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ควรจะเริ่มหรือยัง บอกว่า เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่ต้องมีระบบต่างๆ มาช่วยดูแลการจัดเก็บรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะสามารถมีรายได้ในการทำประโยชน์ในท้องถิ่น สำหรับประชาชน"

เอกชนแนะปิดจุดบอดให้มากที่สุด
นายอิสระ บุญยัง นายกสมาคมบ้านจัดสรร กล่าวว่า ถ้ารัฐบาลถือว่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นการปฏิรูปภาษี รัฐบาลต้องชี้แจงในประเด็นต่างๆ ก่อน เช่น ภาษีที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน คือ ภาษีโรงเรือน และภาษีบำรุงท้องที่ ไม่ดีหรือเปล่า เมื่อนำมาใช้แล้วจะกระจายรายได้หรือไม่ จะลดช่องว่างในสังคมได้จริงไหม และจะสามารถแก้ปัญหาการกักตุนที่ดิน รวมถึงแก้ปัญหาที่ดินรกร้างว่างเปล่าได้หรือไม่

"ถ้ารัฐบาลสามารถทำได้ ผมก็เห็นด้วยว่าควรจะมีกฎหมายภาษีที่ดินฯ ขึ้นมา เพราะจะเป็นประโยชน์ ทำให้คนนำที่ดินมาใช้ประโยชน์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างที่เราเห็นในไต้หวันและญี่ปุ่น ที่ปลูกข้าวในเมือง เพราะเขาใช้พื้นที่ที่ว่างให้เป็นประโยชน์ทุกตารางนิ้ว"

นอกจากนี้ รัฐบาลต้องแก้ปัญหาเรื่องของการเสียภาษีที่ซ้ำซ้อน รวมถึงราคาประเมินที่ดิน ที่ปัจจุบันนี้จะประเมินไม่ถึง 50% ของ 30 ล้านแปลงทั่วประเทศ ซึ่งคงต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะประเมินได้ครบ แถมการประเมินยังไม่ชัดเจน ไม่ได้ลงลึกรายละเอียดนัก

อีกทั้งอัตราภาษีควรกำหนดตามสภาพแวดล้อมของการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ และยังเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งในการกำหนดแนวทางการพัฒนาของแต่ละพื้นที่ได้ด้วย

"พิเชษฐ"ติงไม่ควรให้ท้องถิ่นเก็บ
นายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล ส.ส.กระบี่ พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เขาไม่ได้เห็นด้วย หรือคัดค้านการออกภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แต่ก็ต้องการให้รัฐบาลรอบคอบก่อนออกกฎหมายที่จะส่งผลกระทบในวงกว้าง และรายได้ที่จะได้เข้ามานั้นคุ้มค่าหรือไม่ด้วย

ปัจจุบันภาษีโรงเรือนและบำรุงท้องที่ ได้จัดเก็บแต่ละปีประมาณ 2 หมื่นล้านบาท แต่เมื่อลงลึกในรายละเอียด จะพบว่า เป็นภาษีที่เก็บได้เฉพาะใน กทม. และเมืองใหญ่ๆ เท่านั้น แต่เมืองเล็ก หรือเขตชนบท มีเพียงหลักแสนบาทเท่านั้น

นอกจากนี้ ยังมีอุปสรรคในการจัดเก็บ กรณีที่กฎหมายกำหนดให้ท้องถิ่นเป็นผู้จัดเก็บ ซึ่งถือว่าเป็นการโยนภาระไปให้ท้องถิ่น ที่อาจจะไม่ได้ผล ท้องถิ่นไม่กล้าจัดเก็บ จะเกิดการต่อต้านจากคนในพื้นที่ เพราะผู้บริหารองค์กรส่วนท้องถิ่นจะต้องคำนึงถึงฐานเสียงของตัวเอง ขณะเดียวกันปัจจุบันนี้พบว่าที่ดินทั่วประเทศมากกว่า 50% ยังไม่มีเอกสารสิทธิ ไม่สามารถไปจัดเก็บภาษีได้ ทางออกต้องให้กรมสรรพากร เป็นผู้ดำเนินการเหมือนเดิม แล้วส่งคืนให้ท้องถิ่น

ชาวบ้านชี้เข้าถึงที่ดินมากขึ้น
นายบุญ แซ่จุง เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาษีที่ดินจะเป็นส่วนหนึ่งในการปฏิรูปที่ดิน เพื่อให้ประชาชนที่ไม่มีที่ดินทำกินสามารถมีที่ดินทำกินได้ง่ายขึ้น จากปัจจุบันทรัพยากรที่ดินถูกดึงเข้าสู่ระบบทุนนิยม บรรดานายทุนมุ่งครอบครองที่ดินไม่มีที่สิ้นสุด พร้อมๆ กับถูกนำไปปั่นราคาจนชาวบ้านไม่สามารถเข้าถึงที่ดินได้

"การคิดภาษีที่ดินก้าวหน้า น่าจะส่งผลให้นายทุนทั้งหลายชะลอการสะสมที่ดิน และการซื้อเก็บเก็งกำไร ทำให้ชาวบ้านมีโอกาสเข้าถึงที่ดินได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตามการเก็บภาษีที่ได้ไม่ใช่เป็นคำตอบสุดท้ายในการปฏิรูปที่ดิน เพราะรัฐบาลต้องแก้ปัญหาอื่นๆ ที่เกี่ยวกับความเป็นธรรมในสังคมไปพร้อมๆ กันด้วย"




 

Create Date : 13 มิถุนายน 2552    
Last Update : 14 มิถุนายน 2552 7:22:39 น.
Counter : 732 Pageviews.  

1  2  3  4  5  
 
 

สุธน หิญ
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




แก้ความอยุติธรรมขั้นฐานราก
ตามแนวเฮนรี จอร์จ
http://utopiathai.webs.com
เลิกภาษีการลงแรงลงทุนผลิตและค้า
เลิกภาษีเงินได้ เพิ่มภาษีที่ดิน
ค่อยๆ เปลี่ยนแปลง ใช้เวลาสัก 30 ปี


เปิดเว็บต่างแดนดูไม่ได้ ให้ google ช่วยหา free anonymous proxy server ของต่างประเทศซึ่งมีอยู่มากเพื่อเปิดให้แทนครับ (ในไทยอาจมีการปิดกั้นเว็บของต่างแดน เว็บย่อยที่คนไทยอาศัยใช้กันก็พลอยถูกปิด)

เว็บหลักของผม ยูโทเพียไทย_1
* หน้ารวมลิงก์ยูโทเพียไทย_1 *

หนังสือดีเด่นแปล Progress and Poverty หนังสือ ความยากจนที่ไม่เป็นธรรม และ บทความ ของผม ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ยินดีให้เผยแพร่ต่อด้วยความขอบคุณ ยกเว้นบทความแปลกรุณาอ่านเงื่อนไขจากต้นฉบับภาษาอังกฤษที่อ้างไว้ครับ


- ศัพท์เศรษฐศาสตร์ ดร.บุญเสริม
- ภาษีทรัพย์สินสหรัฐฯ
- ภาวะตลาดอสังหาฯ
- ภาวะตลาดที่อยู่อาศัย 2537-51
- ราคาที่ดินทั่วไทยรายแปลง
- สรุปราคาประเมินใน กทม.ปี 2551-54
- การเปลี่ยนแปลงราคาที่ดินใน กทม.และปริมณฑลปี 2528-50


[Add สุธน หิญ's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com
pantip.com pantipmarket.com pantown.com