ยูโทเพียไทย
เศรษฐศาสตร์
เพื่อความเป็นธรรม

 
สัจธรรมของผลพวงที่ไม่ได้คาดคิด

{จาก สัจธรรมของผลพวงที่ไม่ได้คาดคิด (The Law of Unintended Consequences)
โดย วินัย วงศ์สุรวัฒน์ คณะวิทยาการจัดการ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) มติชนรายวัน วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 10945 //www.nidambe11.net/ekonomiz/2008q1/2008February27p5.htm }

เมื่อเร็วๆ นี้ ศาสตราจารย์ Steven D. Levitt แห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก และ Stephen J. Dubner เจ้าของหนังสือ Freakonomics ซึ่งติดอันดับหนังสือยอดฮิตในปี 2007 ได้เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์ The New York Times เพื่อเตือนสติผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนใหม่ ถึงข้อพึงระวังในการวางนโยบายบริหารประเทศ

ข้อพึงระวังดังกล่าว เป็นที่รู้จักกันในวงวิชาการว่า สัจธรรมของผลพวงที่ไม่ได้คาดคิด

ความรู้และเข้าใจในสัจธรรมข้อนี้ อาจจะเป็นประโยชน์ต่อบรรดาผู้ก้าวเข้ามาเป็นรัฐบาลชุดใหม่ของไทยเราด้วยก็ได้

กฎหมายและนโยบายต่างๆ ที่รัฐบาลร่างออกมาบังคับใช้บริหารประเทศนั้น ส่วนใหญ่ถือได้ว่าเป็นกฎข้อขังคับซื่อๆ (หรือทื่อๆ) ที่รัฐบาลพยายามนำมาใช้เพื่อจัดระเบียบ และควบคุมระบบสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งต่างเป็นระบบที่ละเอียดอ่อนซับซ้อน

ตัวอย่างทางประวัติศาสตร์มากมายสอนให้เรารู้ว่าการพยายามใช้เครื่องมือทื่อๆ มาจัดระเบียบ หรือควบคุมระบบที่สลับซับซ้อนนั้น มักเกิดผลพวงอื่นๆ ที่มิได้มีผู้ใดคาดคิดไว้ก่อนตามมา ผลพวงที่ไม่ได้คาดคิดเหล่านี้ เกิดขึ้นบ่อยเสียจนจะเรียกได้ว่าเป็นสัจธรรมเลยทีเดียว

ต่อไปนี้ จะขอยกตัวอย่างกรณีผลพวงอันมิได้คาดคิดที่สำคัญๆ หรือสนุกๆ ในสหรัฐมาวิเคราะห์ดูสักสามเรื่องด้วยกัน

ตัวอย่างที่หนึ่ง : มาจัดระเบียบสังคมกันเถอะ!

ความพยายามจัดระเบียบสังคมครั้งใหญ่ในสหรัฐ ในช่วงทศวรรษที่ 1920 คือการออกกฎหมายห้ามซื้อ-ขาย และบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

บรรดาผู้สนับสนุนข้อบังคับนี้เชื่อว่าเครื่องดื่มมึนเมาทั้งหลายนั้น เป็นต้นตอของความชั่วมากมาย อาทิ ความเกียจคร้านไม่ทำงานทำการ การละเมิดสิทธิสตรี และความรุนแรงในครอบครัว

ดังนั้น หากรัฐทำให้การดื่มสุราเป็นสิ่งผิดกฎหมายแล้ว สังคมก็จะเกิดสันติสุข เพราะต้นตอของปัญหาและอาชญากรรมหลายอย่าง ได้ถูกกำจัดทิ้งไป

ความตั้งใจของผู้สนับสนุนกฎหมายห้ามบริโภคแอลกอฮอล์ถือได้ว่าเป็นความตั้งใจที่ดีและบริสุทธิ์ อย่างไรก็ตาม กฎหมายดังกล่าวกลับนำไปสู่ผลลัพธ์ที่หลายฝ่ายมิได้คาดคิด

กล่าวคือเมื่อสุราที่ถูกกฎหมายไม่มีให้คนดื่ม เจ้าพ่อทรงอิทธิพล เช่น อัล คาโปน ก็เห็นช่องทางในการดำเนินธุรกิจเหล้าเถื่อน เพื่อตอบสนองความต้องการของคอเหล้า ธุรกิจเหล้าเถื่อนนี้สร้างกำไรจำนวนมหาศาลให้กับบรรดามาเฟีย (เพราะคู่แข่งไม่ค่อยมี)

และแน่นอน เมื่อมีมาเฟียที่ร่ำรวยทรงอิทธิพล ปัญหาอาชญากรรมความรุนแรงต่างๆ ก็ตามมา

นี่คือตัวอย่างแรกของสัจธรรมแห่งผลพวงที่ไม่ได้คาดคิด สุดท้ายผู้นำสหรัฐต่างสรุปตรงกันว่า กฎหมายห้ามแอลกอฮอล์นั้น มีข้อดีไม่คุ้มข้อเสีย จึงได้ยกเลิกกฎหมายนี้ในเวลาต่อมา

อย่างไรก็ดี นักประวัติศาสตร์บางคนเชื่อว่า ผลกระทบจากนโยบายทื่อๆ ในอดีตข้อนี้ ยังส่งผลต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน เพราะภูมิปัญญาในการผลิตสุราพื้นบ้าน รวมถึงไวน์ต่างๆ ในสหรัฐ ได้สูญหายไปเป็นจำนวนมากเพราะกฎหมายนี้

ตัวอย่างที่สอง : อาชญากรหายไปไหนหมด

ชัยชนะสำคัญอันหนึ่งของนักรณรงค์สิทธิสตรีในสหรัฐ คือคำตัดสินของศาลสูงสุดว่า สตรีมีสิทธิทำแท้งได้ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ คำตัดสินข้อนี้ประกาศออกมาในปี 1972 และยังมีผลบังคับใช้ในปัจจุบัน

เจตนารมณ์ของกฎหมายมีอยู่ว่า สตรีมีสิทธิในร่างกายของตนเอง ดังนั้นรัฐจึงไม่มีสิทธิที่จะออกกฎหมายห้ามมิให้สตรีทำแท้ง

แม้ว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายนี้จะจำเพาะเจาะจงอยู่กับเรื่องสิทธิเสรีภาพของสตรีสหรัฐ แต่ผลลัพธ์ของกฎหมายซึ่งมิได้มีใครคาดคิดมาก่อนก็มีมาให้เห็นจนได้ในเวลาหลายสิบปีต่อมา

โดยศาสตราจารย์ Steven D. Levitt และ John J. Donohue ได้เสนอผลวิจัยทางสถิติออกมาว่า การอนุญาตให้สตรีสามารถทำแท้งได้อย่างถูกกฎหมายนั้น อาจเป็นสาเหตุสำคัญข้อหนึ่ง ที่ช่วยอธิบายการลดลงของอัตราการเกิดอาชญากรรมรุนแรงในสหรัฐ ในช่วงทศวรรษที่ 1990

ทั้งนี้ก็เพราะว่าบรรดาเด็กที่ถูกทำแท้งไปหลังปี 1972 นั้น มักเกิดจากพ่อ-แม่ ที่อายุน้อย และขาดความพร้อมในการดูแลลูก เด็กที่เกิดมาในสภาวะแวดล้อมเช่นนี้ มีความเสี่ยงที่จะโตไปเป็นอาชญากรค่อนข้างมาก

Levitt และ Donohue สรุปว่า การที่อัตราอาชญากรรมรุนแรงลดลงในช่วงทศวรรษที่ 1990 นั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบรรดาเด็กที่จะโตขึ้นมาเป็นอาชญากร ถูกทำแท้งไปเลยไม่ได้มีโอกาสโตขึ้นมาก่อคดีตอนเป็นวัยรุ่นนั่นเอง

ตัวอย่างข้อนี้แสดงให้เห็นว่า สัจธรรมแห่งผลพวงที่ไม่ได้คาดคิดนี้ มิได้ทำนายว่าผลพวงที่เกิดตามมาจากกฎหมายหรือนโยบายของรัฐนั้น จะเป็นปัญหาปวดหัวให้สังคมเสมอไป

ตัวอย่างที่สาม : จะช่วยหรือจะทำร้ายเขากันแน่

ประเทศสหรัฐอเมริกาประกาศกฎหมายคุ้มครองประชาชนทุพพลภาพในปี 1990 ด้วยเจตนารมณ์เพื่อช่วยเหลือคนทำงาน ที่มีความพิการทางกายหรือทางจิต กฎหมายนี้ห้ามมิให้นายจ้างปฏิเสธที่จะจ้าง หรือเลิกจ้างคนงานด้วยเหตุผลที่เกี่ยวข้องกับความทุพพลภาพ

ฟังดูแล้ว กฎหมายนี้น่าจะมีแต่ข้อดี เพราะคนส่วนใหญ่มักจะเห็นด้วยกับการสนับสนุนให้คนพิการทำงาน และมีส่วนร่วมในกิจกรรมสังคม

น่าเสียดายที่ว่าผลลัพธ์ของมันกลับกลายเป็นตรงกันข้าม ด้วยสัจธรรมของผลพวงที่ไม่ได้คาดคิด

Daron Acemoglu และ Joshua Angrist อาจารย์และนักวิจัยจาก MIT ศึกษาข้อมูลการทำงานของคนพิการในสหรัฐ ทั้งก่อนและหลังการประกาศใช้กฎหมายคุ้มครองประชาชนทุพพลภาพ พวกเขาพบว่าการจ้างงานคนพิการ ลดฮวบหลังจากกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ ทั้งนี้เพราะบรรดานายจ้างต่างกลัวที่จะจ้างคนพิการ เพราะถ้าจ้างแล้ว เกิดมีความจำเป็นต้องให้ออก เพราะเศรษฐกิจไม่ดีหรือด้วยเหตุผลอื่นใดก็ตาม ก็จะเกิดความเสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้องให้ชดใช้ค่าเสียหาย ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายคุ้มครองประชาชนทุพพลภาพ

พูดง่ายๆ ก็คือกฎหมายนี้ทำให้คนงานทุพพลภาพ กลายเป็นคนงานที่ไม่น่าจ้างเป็นพิเศษ ทั้งนี้ก็เพราะจ้างแล้วมีข้อผูกมัด และความเสี่ยงสูง

สรุปว่าแทนที่กฎหมายจะช่วยคนงานพิการ กลับกลายเป็นการทำร้ายพวกเขาไปเสียได้ (เพราะทำให้พวกเขาหางานยากขึ้นนั่นเอง)

นักเศรษฐศาสตร์หลายคนเชื่อว่ากฎหมายที่มีเจตนารมณ์ช่วยเหลือคนจนหลายๆ ฉบับ สุดท้ายแล้วมีผลทำร้ายคนจนที่กฎหมายตั้งใจจะช่วยมากกว่า

ด้วยเหตุผลคล้ายๆ กับที่เล่ามาข้างต้น เช่นกฎหมายค่าแรงขั้นต่ำ ความจริงแล้วอาจส่งผลให้คนงานการศึกษาต่ำ หางานยากเข้าไปใหญ่ เพราะพวกเขาทำงานได้ไม่คุ้มค่าจ้างขั้นต่ำตามที่กฎหมายบังคับ

หรือกฎหมายควบคุมราคาหอพักในนครนิวยอร์กที่ร่างออกมาด้วยเจตนารมณ์เพื่อช่วยเหลือประชาชน ในการหาที่อยู่อาศัยในเมือง กลับส่งผลให้หอพักหายากและถูกปล่อยให้ชำรุดทรุดโทรม เพราะไม่มีนายทุนคนไหน อยากสร้างหอพักใหม่ หรือบำรุงซ่อมแซมหอเก่า ในเมื่อถูกกฎหมายบังคับให้ปล่อยเช่าในราคาขาดทุน

ตัวอย่างกฎหมายที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ตรงกันข้ามกับเจตนารมณ์ที่ตั้งไว้แต่แรกนั้นมีอีกมาก ที่น่าทึ่งเป็นพิเศษอีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ กฎหมายคุ้มครองที่อยู่ของอาศัยสัตว์หายาก (ในสหรัฐอีกเหมือนกัน) กฎหมายนี้ห้ามมิให้ใครทำลายสถานที่ที่นก หรือสัตว์หายาก จะมาใช้อาศัยทำรัง ด้วยเจตนารมณ์ที่จะอนุรักษ์พันธุ์สัตว์หายากนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยผู้ศึกษาผลกระทบของกฎหมายนี้พบว่า ที่อาศัยของสัตว์หายากกลับยิ่งลดน้อยลง หลังจากกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ ทั้งนี้ก็เพราะว่าเจ้าของที่ดินส่วนใหญ่ เมื่อรับรู้ถึงกฎหมายใหม่ก็รีบออกมาถางหญ้า ฟันต้นไม้ในที่ดินของตน เพื่อป้องกันไม่ให้มีสัตว์หายากมาอยู่อาศัยได้

เพราะถ้าเจ้าสัตว์หายากมันดันเลือกมาทำรังในเขตที่ดินเมื่อไหร่ เจ้าของที่ก็จะหมดโอกาสนำที่นั้นมาใช้ประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้นเพราะว่าต้องสงวนไว้ให้สัตว์ได้อยู่อาศัยเท่านั้น ตามที่กฎหมายคุ้มครองสัตว์หายากบัญญัติไว้

ผลสุดท้าย กฎหมายคุ้มครองที่อยู่อาศัยของสัตว์หายากกลับส่งผลให้บรรดาสัตว์หายากมีที่อยู่น้อยลงอีกอย่างไม่น่าเชื่อ

ตัวอย่างสัจธรรมของผลพวงที่ไม่ได้คาดคิดข้างต้น น่าจะเป็นอุทาหรณ์ให้บรรดาผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเราที่กำลังคิดจะโชว์พลัง โดยการจัดระเบียบโน่น-แบนนั่น-บังคับนี่ ให้คิดดูให้ดีอีกสักรอบ

เพราะกฎหมายหรือนโยบายอันซื่อและทื่อนั้น แม้จะคิดขึ้นมาด้วยเจตนารมณ์อันแสนดี และบริสุทธิ์เพียงใด ก็มักจะมีผลพวงประหลาดๆ ซึ่งไม่เป็นที่พึงปรารถนาตามมาได้อย่างไม่คาดฝันเสมอ


Create Date : 06 พฤษภาคม 2551
Last Update : 8 พฤษภาคม 2551 7:23:40 น. 0 comments
Counter : 443 Pageviews.
 
 

สุธน หิญ
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




แก้ความอยุติธรรมขั้นฐานราก
ตามแนวเฮนรี จอร์จ
http://utopiathai.webs.com
เลิกภาษีการลงแรงลงทุนผลิตและค้า
เลิกภาษีเงินได้ เพิ่มภาษีที่ดิน
ค่อยๆ เปลี่ยนแปลง ใช้เวลาสัก 30 ปี


เปิดเว็บต่างแดนดูไม่ได้ ให้ google ช่วยหา free anonymous proxy server ของต่างประเทศซึ่งมีอยู่มากเพื่อเปิดให้แทนครับ (ในไทยอาจมีการปิดกั้นเว็บของต่างแดน เว็บย่อยที่คนไทยอาศัยใช้กันก็พลอยถูกปิด)

เว็บหลักของผม ยูโทเพียไทย_1
* หน้ารวมลิงก์ยูโทเพียไทย_1 *

หนังสือดีเด่นแปล Progress and Poverty หนังสือ ความยากจนที่ไม่เป็นธรรม และ บทความ ของผม ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ยินดีให้เผยแพร่ต่อด้วยความขอบคุณ ยกเว้นบทความแปลกรุณาอ่านเงื่อนไขจากต้นฉบับภาษาอังกฤษที่อ้างไว้ครับ


- ศัพท์เศรษฐศาสตร์ ดร.บุญเสริม
- ภาษีทรัพย์สินสหรัฐฯ
- ภาวะตลาดอสังหาฯ
- ภาวะตลาดที่อยู่อาศัย 2537-51
- ราคาที่ดินทั่วไทยรายแปลง
- สรุปราคาประเมินใน กทม.ปี 2551-54
- การเปลี่ยนแปลงราคาที่ดินใน กทม.และปริมณฑลปี 2528-50


[Add สุธน หิญ's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com
pantip.com pantipmarket.com pantown.com