|
 |
 |
 |
 |
|
ปัญหาความยากจนจาก *ระบบ* ของรัฐเอง
ปัญหาความยากจนจาก *ระบบ* ของรัฐเอง 1. ความก้าวหน้าอย่างมโหฬารของเครื่องจักรกลที่ช่วยเพิ่มผลผลิต กลับทำให้คนงานยากจนจากค่าแรงต่ำ 2. ค่าแรงทั่วไปมีแต่จะต่ำลงในขณะที่ที่ดินกลับมีแนวโน้มแพงขึ้น เพราะความเจริญก้าวหน้าของส่วนรวมไปเพิ่มราคาให้ที่ดิน 3. การเก็งกำไรกักตุนที่ดินยิ่งทำให้ที่ดินแพง หาที่ดินทำกินและหางานทำยากมากขึ้นไปอีก ค่าแรงยิ่งต่ำ และทำให้วัฏจักรเศรษฐกิจแกว่งตัวรุนแรง ก่อความเดือดร้อนทุกข์ยากมากขึ้น
สาเหตุ 1. รัฐปล่อยให้เอกชนถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโดยเก็บภาษีเพียงเล็กน้อย 2. ทำให้รัฐต้องเก็บภาษีจากการลงแรงลงทุนของแต่ละบุคคลเป็นส่วนใหญ่ ยิ่งเป็นการลดรายได้ของเอกชน และเพิ่มต้นทุนการผลิตทำให้ค่าครองชีพสูง ถ้าปล่อยไว้ ไม่แก้ไข เจ้าของที่ดินยิ่งได้ประโยชน์ คนจนยิ่งเดือดร้อน
วิธีแก้ไข 1. เก็บภาษีการถือครองที่ดินเท่าหรือเกือบเท่าค่าเช่ารายปีที่ควรเป็น 2. ยกเลิกภาษีทั้งหลายที่เป็นภาระแก่การลงแรงลงทุน เช่น ภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม [ผมเห็นว่าควรค่อย ๆ เพิ่มภาษีที่ดิน เพื่อมิให้เจ้าของที่ดินเดือดร้อนมากนัก และค่อย ๆ ลดภาษีจากแรงงานและทุนชดเชยกัน อาจใช้เวลา 25-30 ปี]
มองในด้านลัทธิ ลัทธิภาษีเดี่ยวจากมูลค่าที่ดินของเฮนรี จอร์จเช่นนี้จะว่าเป็นสังคมนิยม แรงงานนิยม หรือ ทุนนิยม ก็ได้ทั้งนั้น
ที่ว่าเป็นสังคมนิยมนั้นถูกเมื่อคิดเฉพาะปัจจัยที่ดิน (คือถือว่าที่ดินเป็นของสังคม จึงเก็บภาษีที่ดินมาบำรุงสังคม เพราะภาษีที่ดินจะตัดความได้เปรียบเสียเปรียบจากการได้ใช้ที่ดินมากน้อยดีเลวผิดกันออกไป) แต่ไม่ต้องการให้รัฐเข้าไปจัดการที่ดินโดยตรง เช่น บังคับจัดแบ่งที่ดิน ทั้งนี้ตามหลักให้รัฐมีหน้าที่น้อยที่สุด เพื่อให้ตรวจสอบง่าย ไม่กลายเป็นอำนาจกดขี่คอร์รัปชัน และเพราะแบ่งอย่างไรก็จะไม่ได้ตรงตามความพอใจ ความชอบ ความถนัดในอาชีพ แบ่งแล้วก็จะต้องแบ่งใหม่อีกเรื่อย ๆ เพราะมีคนเกิดคนตาย แต่งงานมีครอบครัวเพิ่มขึ้น จึงควรปล่อยให้เจ้าของมีกรรมสิทธิ์ที่ดินตามเดิม ไม่ต้องบังคับย้ายผู้คนไปสู่ที่ดินที่รัฐจัดแบ่ง รัฐไม่ต้องบงการว่าจะใช้ที่ดินอย่างไร ปล่อยเสรี ถ้าไม่มีผลเสียต่อคนใกล้เคียง แต่การเก็บภาษีที่ดินนั้น เพื่อมิให้เจ้าของที่ดินเดือดร้อนเกินไป ผมเห็นว่าควรค่อย ๆ เพิ่มขึ้น จนในที่สุด สัก 30 ปี ให้ภาษีเท่าหรือเกือบเท่ากับค่าเช่าศักย์ของที่ดินนั้น ๆ ไม่ว่าเจ้าของจะใช้ที่ดินเองหรือให้เช่า (เก็บแต่ภาษีที่ดิน ไม่คิดภาษีบ้านอาคารโรงเรือนโรงงาน พืชผลต้นไม้)
ที่ว่าเป็นแรงงานนิยมก็ถูกเพราะพยายามไม่เก็บภาษีจากแรงงานเลย
และก็ต้องถือว่าเป็นทุนนิยมสุดขั้วอย่างไม่เคยปรากฏ เพราะพยายามไม่เก็บภาษีจากทุนเหมือนกัน
แนวคิดของเฮนรี จอร์จนี้ไม่ต้องการเอาของที่ส่วนบุคคลควรมีควรได้ (ลงแรงลงทุนหามาได้) คือค่าแรงสมอง/แรงกาย และผลตอบแทนต่อทุน มาเป็นของส่วนรวมเลย จึงคิดเลิกภาษีเงินได้ ภาษีกำไร และภาษีทางอ้อมที่ไปเพิ่มต้นทุนการผลิตทำให้ของแพงทั้งสิ้น เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิต ภาษีศุลกากร จะเก็บแต่ภาษีที่ดินอย่างเดียว
(สมัยนี้คงต้องเก็บภาษีการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้สิ้นเปลืองไป หรือค่าภาคหลวง ค่าเอกสิทธิ์ ค่าสัมปทาน และค่าชดใช้การก่อมลภาวะทำความเสียหายแก่แผ่นดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และ สิ่งแวดล้อม ด้วย)
วิธีของเฮนรี จอร์จซึ่งแก้ไขบางอย่างแล้วเช่นนี้จะ 1. ให้เสรีมากขึ้น ลดการถูกเรียกตรวจสอบจากเจ้าพนักงานภาษีของรัฐ เพราะเหลือแต่ภาษีที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม 2. เกิดความยุติธรรม คือใครทำงาน ใครลงทุน ได้เท่าไรก็เป็นของเขาทั้งหมด โดยตัดความได้เปรียบเสียเปรียบจากการได้ครอบครองที่ดินดีเลว มากน้อยผิดกัน หรือไม่มีที่ดินเลย ออกไปด้วยภาษีที่ดิน 3. เกิดผลดี คือที่ดินไม่เสียเปล่ามากมายมหาศาลจากการเก็บกักเก็งกำไร การว่างงานจะลด ค่าแรงเพิ่ม และเมื่อคนไม่เสียภาษีเงินได้ก็ได้ค่าจ้างเงินเดือนกลับบ้านเต็มที่ ของกินของใช้ไม่ถูกภาษี ก็จะราคาต่ำลง คนจนก็สบายขึ้น และพลอยขายแข่งกับต่างประเทศได้สบายขึ้นด้วย คนต่างชาติก็จะอยากมาเที่ยวมาใช้เงินมาลงทุนที่เมืองไทยมากขึ้น ที่เป็นปัญหาก็คือแรงงานต่างด้าวจะทะลักเข้าไทย ต้องป้องกันให้ได้ผลมากกว่าปัจจุบัน.
Create Date : 11 กรกฎาคม 2551 |
Last Update : 7 มีนาคม 2552 9:28:36 น. |
|
0 comments
|
Counter : 703 Pageviews. |
 |
|
|
|
|
|
|
 |
 |
 |
 |
|
|