|
 |
 |
 |
 |
|
ยิ่งพัฒนาเจริญก้าวหน้า ยิ่งเกิดความเหลื่อมล้ำ คนรวยรวยขึ้น คนจนจนลง
ความเจริญก้าวหน้าทั้งหลายช่วยให้มนุษย์มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นก็จริง แต่กลับทำให้คนจนที่เป็นฐานล่างของสังคมยิ่งเดือดร้อนในระบบภาษีปัจจุบันซึ่งเก็บภาษีน้อยเกินไปจากที่ดิน และเก็บภาษีมากเกินไปจากการทำงานและการลงทุนผลิตสินค้าและบริการ (รวมทั้งการแลกเปลี่ยนซื้อขาย) Henry George (ค.ศ.1839-1897) เจ้าตำรับภาษีเดี่ยว เป็นคนแรกที่อธิบายสาเหตุของความยากจนได้ดียิ่ง
พลังใหม่ ๆ นั้นถึงแม้จะมีลักษณะที่จะช่วยปรับปรุงให้ดีขึ้น แต่ก็มิได้กระทำต่อโครงสร้างของสังคมมาจากเบื้องล่างดังที่ได้หวังและเชื่อกันมานานแล้ว หากได้อัดแทรกเข้าที่จุดกึ่งกลางระหว่างยอดกับฐาน เปรียบเสมือนมีลิ่มอันใหญ่โตตอกแทรกเข้าไปในระหว่างสังคม มิใช่หนุนสังคมขึ้นจากเบื้องล่าง ผู้ที่อยู่เหนือจุดแบ่งแยกนั้นถูกยกขึ้น แต่ผู้ที่อยู่ใต้จุดนั้นถูกบดขยี้ลง คนโดยทั่วไปไม่แลเห็นผลร้ายอันนี้ เพราะว่ามันไม่ปรากฏชัดเนื่องจากได้มีชนชั้นที่พอจะประทังชีวิตอยู่ได้เท่านั้นเช่นนี้มานานแล้ว
(เฮนรี จอร์จ. ความก้าวหน้ากับความยากจน หน้า 9 //www.utopiathai.webs.com/PP-p001-088bk01.doc )
ปัจจัยที่ทำให้ที่ดินมีราคา (ทั้ง 7 ข้อนี้ มีเพียงข้อ 7 ที่เป็นการกระทำของเจ้าของที่ดิน แต่เป็นข้อที่ก่อผลเสียร้ายแรงที่สุด คือทำให้ที่ดินหายากและราคาสูงเกินกว่าที่ควรเป็น) 1. ความอุดมสมบูรณ์ของที่ดิน 2. ประชากรเพิ่ม ราคาที่ดินก็สูงขึ้น 3. เทคโนโลยีก้าวหน้า สามารถผลิตของกิน ของใช้ ของโชว์ ของเล่นคลายเครียดเพิ่มความสุขสนุกสำราญได้ประณีตพิสดารขึ้น (ล้วนต้องมาจาก ที่ดิน) ยิ่งเพิ่มความกระหายสำหรับผู้มีโอกาสมีความสามารถ ราคาที่ดินก็สูงขึ้น 4. เมื่อคนเราทำงานมากขึ้นเป็นการทั่วไป (รวมทั้งแม่บ้านออกทำงานด้วยจากเดิมที่พ่อบ้านทำงานคนเดียว) ก็เกิดผลเช่นเดียวกัน คือ ราคาที่ดินสูงขึ้น 5. การมารวมกันเป็นชุมชนเมือง ประชากรหนาแน่น มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ทำให้การร่วมมือกันด้วยการแบ่งงานผลิตสินค้าและบริการแล้วเอามาแลกเปลี่ยนซื้อขายกันเป็นไปโดยรวดเร็ว ที่ดินก็แพงขึ้น 6. ราษฎรเสียภาษีให้รัฐเอาไปใช้ดูแลความสงบเรียบร้อยปลอดภัยไร้โจร คอยป้องกันอัคคีภัย สร้างถนน ท่อระบายน้ำเสีย มีพนักงานเก็บกวาด ตรวจตราป้องกันการก่อมลพิษ และบริการประชาชนด้านอื่นๆ อีก ก็ทำให้สังคมน่าอยู่ขึ้นหรือแม้เพียงดำรงความน่าอยู่เดิมไว้ ราคาที่ดินก็สูงขึ้นหรือดำรงราคาเดิมอยู่ได้ 7. การเก็งกำไรสะสมที่ดินเป็นการทั่วไปก็ทำให้ราคาที่ดินยิ่งสูงขึ้นไปอีก
ดังนั้น ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามให้เกิดความสะดวกสบาย เจริญขึ้น แก่ส่วนรวม จะมีแต่ทำให้ผู้มีสิทธิ์ถือครองที่ดินเป็นฝ่ายได้เพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้น ทุกคนที่พอมีกำลังทรัพย์ มีปัญญา เห็นดังนั้น ก็เอาอย่างกัน เกิดการรวมหัวผูกขาดโดยไม่ได้นัดหมาย แสวงหาที่ดินกันเอาไว้มาก ๆ เท่าที่จะทำได้ เป็นการเก็งกำไรที่กว้างขวางที่สุดของโลก ขนาดที่ไปไหน ๆ ก็เจอที่ดินว่างเปล่าหรือใช้ประโยชน์น้อยเกินไปมีเจ้าของแล้ว ผลผลิตของชาติจึงต่ำ เกิดการหางานทำยาก ค่าแรงต่ำ คนยากจน ด้อยโอกาส ไร้ความสามารถที่จะร่วมแข่งขันหาที่ดินมาเป็นของตนเอง จึงเดือดร้อน ที่ดินต้องเช่า ซึ่งแพงขึ้นๆ ภาษีทางอ้อม เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็ต้องเสียในรูปของราคาสินค้าที่สูงขึ้น
และยังก่อวิกฤตวัฏจักรเศรษฐกิจฟองสบู่ที่ทั้งคนรวยคนจนเดือดร้อนอย่างมากเป็นระยะ ๆ ตลอดมา
การซื้อที่ดินมิใช่การลงทุนผลิตสินค้าหรือบริการ แต่คือการซื้อสืบต่อสิทธิ์ที่จะเรียกราคา/ค่าเช่าที่ดินสูงขึ้น เจ้าของที่ดินไม่ได้มีส่วนในการผลิต แต่กลับมีสิทธิ์เรียกส่วนแบ่งของผลผลิตจากผู้ทำงานและผู้ลงทุนผลิต สิทธิ์นี้จะสูงขึ้นเรื่อยๆ ตามปัจจัย 7 ข้อที่กล่าว ภาษาอังกฤษเรียก unearned increment ส่วนเพิ่มที่ได้โดยไม่ต้องลงแรงลงทุน
ทางแก้ก็คือเพิ่มภาษีที่ดิน และลด/เลิกภาษีอื่นๆ ที่เป็นภาระแก่ผู้ผลิต รวมทั้งภาษีเงินได้ นี่คือวิธีดีที่สุดในการค่อยๆ ทำให้ที่ดินกลายเป็นของส่วนรวมร่วมกันตามที่ควรจะเป็น ความเจริญก้าวหน้าทั้งหลายจึงจะกลับมาเป็นประโยชน์แก่ผู้คนในสังคมโดยทั่วหน้า.
Create Date : 30 กรกฎาคม 2553 |
Last Update : 30 กรกฎาคม 2553 10:12:32 น. |
|
0 comments
|
Counter : 884 Pageviews. |
 |
|
|
|
|
|
|
 |
 |
 |
 |
|
|