ยูโทเพียไทย
เศรษฐศาสตร์
เพื่อความเป็นธรรม

 
แก้ไขซ่อมแซมทุนนิยม

แก้ไขซ่อมแซมทุนนิยม
(แปลจากบทบรรณาธิการของ The Progress Report เรื่อง Fixing Capitalism โดย ศ. ดร. Fred E. Foldvary กุมภาพันธ์ 2545 ที่ //www.progress.org/archive/fold235.htm)

Jean-Yves Calvez นักเทววิทยาและนักเขียนหนังสือด้านสังคมชาวฝรั่งเศสได้เขียนหนังสือเรื่อง Changer le capitalisme เกี่ยวกับลัทธิทุนนิยมมีอะไรผิดพลาดและจะแก้ไขอย่างไร เขาเน้นไปที่ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ และกล่าวว่าจะต้องมีการกระจายรายได้ให้เท่าเทียมกันมากขึ้นเพื่อความยุติธรรมทางสังคม เขากล่าวด้วยว่าเราต้องการดุลยภาพระดับหนึ่งระหว่างปัจเจกนิยมกับความเป็นปึกแผ่นของสังคมหรือน้ำใจเพื่อส่วนรวม มีประเพณีนิยมในนิกายคาทอลิก รวมทั้งกลุ่มเยซูอิต ที่จะตรวจสอบระบบเศรษฐกิจต่าง ๆ และเสนอการปฏิรูปที่มีความเป็นธรรมมากขึ้น

วิธีแก้ไขความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจที่เสนอกันส่วนมากมักเป็นการให้รัฐบาลทำการควบคุมจำกัดวิสาหกิจ เช่น กำหนดชั่วโมงและสภาพการทำงาน และกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำทางกฎหมาย วิธีแก้ไขที่นักปฏิรูปสังคมมักเสนอกันก็คือการปรับการกระจายรายได้ (redistribution of income) จากคนรวยไปให้คนจน และจัดให้มีบริการทางเศรษฐกิจ เช่น การรักษาพยาบาล การเคหสงเคราะห์ และการช่วยเหลือด้านสวัสดิการสำหรับผู้มีบุตร ส่วนการศึกษานั้นรัฐบาล [สหรัฐฯ] ได้จัดให้และให้ทุนอย่างกว้างขวางอยู่แล้ว

อุปสรรคใหญ่หลวงที่สุดต่อการปฏิรูปทางเศรษฐกิจน่าจะเป็นการใช้ศัพท์ “ลัทธิทุนนิยม” เฮนรี จอร์จ นักปรัชญาสังคมและนักเศรษฐศาสตร์อเมริกัน เขียนไว้ว่าการกระทำย่อมเป็นไปตามความคิด เมื่อเราวิจารณ์ “ทุนนิยม” เราต้องให้ชัดเจนแน่นอนว่ามันคืออะไร ระบบเศรษฐกิจทุกระบบต่างก็ใช้ ทุนทางการเงิน และ สินค้าประเภททุน ดังนั้นการใช้คำว่า “ลัทธิ” กับคำว่าทุนจึงไม่มีความหมายอะไรเลย

เมื่อเราพูดถึงปัญหาของทุนนิยมหรือการเปลี่ยนแปลงและซ่อมแซมทุนนิยม คำนี้ก็หมายถึงระบบเศรษฐกิจปัจจุบัน ระบบนี้คืออะไร ? ขณะนี้มีระบบเศรษฐกิจแบบรัฐควบคุม (command economies) เหลืออยู่ในโลกเพียงหนึ่งหรือสองแห่งเท่านั้น ประเทศนอกนั้นมีระบบเศรษฐกิจผสมระหว่างระบบตลาดเสรีกับการควบคุมโดยรัฐบาล

“ระบบตลาดเสรี” คืออะไร ? ระบบตลาดเสรีที่แท้คือระบบที่กิจกรรมต่างๆ ของทั้งสังคมดำเนินไปโดยความสมัครใจทั้งสิ้น รัฐบาลอาจมีบทบาทสองประการที่แตกต่างกัน คืออาจเป็นการช่วยระบบตลาดเสรีถ้าช่วยเหลือสังคมให้กิจกรรมต่าง ๆ เป็นไปโดยสมัครใจ เช่น ห้ามและลงโทษการขโมย หรืออาจเป็นการทำร้ายระบบตลาดเสรี เช่น เมื่อการแทรกแซงของรัฐบาลเป็นการจำกัดการกระทำที่สมัครใจหรือทำให้การกระทำที่สมัครใจนั้นสิ้นเปลืองมากขึ้น

เมื่อเราเสนอวิธีแก้ไขปัญหาสังคม เราอาจมีการปฏิรูปที่ต่างกันเป็นสองแบบ แบบหนึ่งคือเพียงแต่บำบัดผลลัพธ์หรืออาการ อีกแบบหนึ่งคือหาสาเหตุมูลฐานของปัญหาและกำจัดสาเหตุนั้น เป็นการแก้ไขปัญหาโดยไม่ต้องมีการบำบัดอีกต่อไป

วิธีแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมกัน เช่น การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ การช่วยเหลือสวัสดิการ และการปรับการกระจายรายได้ เหล่านี้เป็นเพียงการแก้ไขตามอาการ เมื่อไม่แก้ที่สาเหตุ ปัญหาก็ยังคงมีอยู่ต่อไป และกลับยิ่งเลวร้ายลงเพราะการแทรกแซง มีการแทรกแซงมากมายในแทบทุกประเทศในปัจจุบัน แต่ความยากจน ความไม่เท่าเทียมกันอย่างมาก การว่างงาน และภาวะมลพิษ ก็ยังมีอยู่

การปรับการกระจายรายได้คือการลงโทษการผลิต การบริโภค การใช้แรงงาน และการลงทุน ทำให้ผู้ทำงานและคนจนมีฐานะเลวร้ายลงไป กลับต้องการการปรับการกระจายรายได้ใหม่อีกกลายเป็นวงจรอุบาทว์ของลัทธิรัฐสวัสดิการ เราจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร ? เหล่านักเศรษฐศาสตร์ฝรั่งศสได้ค้นพบวิธีแก้ไขที่ได้ผลมากว่า 200 ปีแล้วและเรียกสิ่งที่ค้นพบนี้ว่า “หลักบังคับแห่งกฎธรรมชาติ” (physiocracy, rule of natural law) พวกเขาแสดงว่าการสอดแทรกของรัฐบาล เช่น การเก็บภาษีการค้าเป็นการทำร้ายตลาด ซึ่งก็คือการทำร้ายคนงานและเพิ่มความยากจน กฎเศรษฐศาสตร์ธรรมชาติที่พวกเขาค้นพบและเรียกว่า “ปล่อยเราตามลำพัง” (laissez faire หรือลัทธิเสรีนิยม) นี้คือเราจะมีความรุ่งเรืองสูงสุดเมื่อปล่อยให้เศรษฐกิจธรรมชาติทำงานโดยเสรี ไม่มีการควบคุมจำกัดหรือมีการทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นสำหรับการค้าที่สันติและสุจริต

กฎธรรมชาติอีกข้อหนึ่งที่พวกเขาค้นพบคือระบบเศรษฐกิจธรรมชาติได้ทำให้เกิด “ผลผลิตสุทธิ” (net product) แก่สังคม ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ปัจจุบันเรียกว่า “ส่วนเกินทางสังคม” (social surplus) ผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ [ที่ดิน] นี้แสดงให้เห็นในรูปค่าเช่าที่ดินในระบบตลาด พวก physiocrats เห็นว่าควรให้ค่าเช่านี้เป็นรายได้ของรัฐบาล

Adam Smith ผู้ก่อตั้งเศรษฐศาสตร์คลาสสิกได้เดินทางไปฝรั่งเศสและพบกับพวกฟิสิโอแครต แอดัม สมิธเองได้เขียนไว้ว่าการค้าเสรีจะทำให้เกิด “เศรษฐทรัพย์หรือความมั่งคั่งของชาติ” (Wealth of Nations) มากที่สุด สมิธเป็นอีกผู้หนึ่งที่กล่าวว่าค่าเช่าที่ดินเป็นแหล่งรายได้ที่ดีที่สุดของรัฐบาล เพราะเจ้าของที่ดิน “เก็บเกี่ยวโดยที่ไม่ได้หว่าน“ (reap where they don't sow) David Ricardo นักเศรษฐศาสตร์คลาสสิกอีกผู้หนึ่งได้ตั้งทฤษฎี “กฎว่าด้วยค่าเช่า” ที่ถูกต้องมากขึ้น อธิบายว่าค่าเช่าที่ดินเกิดจากความแตกต่างในคุณภาพของที่ดินแปลงต่าง ๆ อย่างไร

ต่อมา Karl Marx และผู้ที่เชื่อตามได้ทำให้เกิดความยุ่งเหยิงขึ้นในภาษาและความคิด มาร์กซ์ต้องการแยกคนงานออกต่างหากจากคนทั้งปวงที่มีสินทรัพย์ ดังนั้นมาร์กซ์จึงเอาที่ดินรวมเข้าเป็นทุนด้วย นับแต่นั้นมา นักเศรษฐศาสตร์ส่วนมากก็เอาอย่างมาร์กซ์ในการให้ความสนใจเฉพาะกับแรงงานและทุน การเน้นเรื่องที่ดินของพวกฟิสิโอแครตและพวกคลาสสิกถูกเขี่ยอออกไปนอกทาง ความคิดเศรษฐกิจแบบนีโอคลาสสิกซึ่งเกิดต่อจากสำนักคลาสสิกได้ถูกชักจูงให้ลืมเรื่องที่ดิน เพราะมันเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มที่มีส่วนได้เสียจากที่ดินผู้ให้เงินทุนสนับสนุนอยู่ และยังทำให้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ง่ายขึ้นเมื่อมีปัจจัยเพียงสองปัจจัยแทนที่จะเป็นสาม จากนี้ไป เราจะเรียกระบบนี้ว่า “ทุนนิยม”

แต่ทุนเป็นปัญหาหรือ ? ทุนทำให้มีการลงทุน และการลงทุนและเทคโนโลยีที่ดีขึ้นคือสิ่งที่ได้ยกมาตรฐานการครองชีพขึ้นทั่วโลก ลัทธิ “ทุนนิยม” ได้ทำให้ผู้ประกอบการและเจ้าของทุนกลายเป็นผู้ร้าย แต่กฎว่าด้วยค่าเช่าของริคาร์โดแสดงว่าส่วนใหญ่ของกำไรจากการค้าและเทคโนโลยีกลับไปตกอยู่แก่เจ้าของที่ดินในรูปของค่าเช่า เพราะค่าแรงทุกแห่งมีแนวโน้มที่จะตกลงไปเป็นเท่ากับระดับค่าแรงที่ที่ดินชายขอบหรือขอบริมแห่งการผลิต (margin of production) ซึ่งให้ผลผลิตต่ำสุด

เฮนรี จอร์จพยายามนำปัจจัยที่ดินกลับคืนมา เขาตระหนักว่าความไม่เท่าเทียมกันอย่างมากในเศรษฐทรัพย์และรายได้จะมาจากการได้ครองที่ดินไม่เท่าเทียมกันเสมอ นี่ไม่ใช่การค้นพบใหม่ แต่ได้เป็นที่รับรู้กันทุกแห่งนานมาแล้ว ในหนังสือ Progress and Poverty (ค.ศ.1879) จอร์จได้อ้างคำกล่าวของพราห์มณ์อินเดียโบราณไว้ว่า “ผู้ใดได้ครอบครองที่ดินไม่ว่า ณ กาลใด ผู้นั้นย่อมจักได้ครอบครองผลแห่งที่ดินด้วย เศวตฉัตรและช้างสารอันเมามันไปด้วยความลำพองใจคือดอกผลแห่งการให้สิทธิ์ในที่ดิน”

จอร์จไปไกลกว่าสำนักคลาสสิกและฟิสิโอแครต โดยเพิ่มด้านศีลธรรมเข้าไปในเศรษฐศาสตร์ในข้อที่ว่า คนงานมีสิทธิตามธรรมชาติในแรงงานและค่าแรงของตน และเนื่องจากไม่มีมนุษย์ผู้ใดสร้างที่ดินขึ้นมา เพื่อความเท่าเทียมกันจึงต้องให้ทุกคนมีส่วนโดยเท่าเทียมกันในผลประโยชน์ของที่ดินตามที่แสดงออกในรูปค่าเช่า ยิ่งไปกว่านั้น โดยที่มูลค่าที่ดินสูงขึ้นเพราะกิจการสาธารณะของรัฐบาล จึงเป็นความยุติธรรมที่จะจ่ายค่าเช่าที่สูงขึ้นนั้นกลับคืนเพื่อบำรุงกิจการเหล่านั้น

ดังนั้นวิธีแก้ความยากจนและความไม่เท่าเทียมกันจึงแจ่มชัด ความไม่เท่าเทียมกันและการตกต่ำของค่าแรงสามารถแก้ได้ด้วยการให้ทุกคนมีส่วนเท่าเทียมกันในค่าเช่าที่ดินโดยให้ค่าเช่าเป็นรายได้สาธารณะและรายได้ของรัฐบาล หรือ แจกให้ราษฎรทุกคนเท่า ๆ กัน ความไม่เท่าเทียมกันจากค่าแรงที่ต่างกันในส่วนที่เหลือก็จะมีความรุนแรงน้อยลงมากและมีเหตุผลสมควรในฐานะเป็นรางวัลสำหรับการใช้ความพยายาม ความสามารถพิเศษ และ ทักษะของมนุษย์

ขณะนี้มีผู้เรียกนโยบายของจอร์จว่าลัทธิ "geoism" คำว่า geo หมายถึงแผ่นดิน geoism ซ่อมแซมลัทธิ “ทุนนิยม” โดยแก้ที่สาเหตุของความยากจนและความไม่เท่าเทียมกัน ทำให้รัฐบาลไม่ต้องปรับการกระจายรายได้ใหม่ ไม่ต้องจัดให้มีรัฐสวัสดิการ และไม่ต้องกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ geoism ทำให้เกิดความเท่าเทียมกันในขณะเดียวกับที่ทำให้ประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจสูงขึ้นด้วย โดยการกำจัดภาษีที่เก็บจากค่าแรง กำไร สินค้า และการลงทุน ซึ่งภาษีเหล่านี้ล้วนแต่ทำร้ายระบบตลาดเสรี geoism ยังทำให้เกิดการประสานสอดคล้องกันระหว่างปัจเจกบุคคลกับสังคม โดยปล่อยให้ปัจเจกบุคคลได้ค่าแรงไปเต็มที่ในขณะที่ให้ความเป็นปึกแผ่นแก่สังคมด้วยผลประโยชน์จากธรรมชาติและพระผู้เป็นเจ้า

บรรดานักปฏิรูปสังคมอย่าง Calvez จากทุกศาสนาได้แสวงหาระบบเศรษฐกิจที่ทั้งยุติธรรมและก่อผลผลิต ถ้าท่านเชื่อว่าพระเจ้าสร้างโลกและมนุษย์แล้วจะเป็นไปได้หรือที่พระผู้ทรงความยุติธรรมจะให้มนุษย์มาอยู่ในโลกโดยไร้เครื่องมือที่จะทำให้ชีวิตเศรษฐกิจอุดมสมบูรณ์สำหรับทุกคน ? นั่นย่อมเป็นเรื่องที่ไม่สามารถคิดได้ ดังนั้นจะต้องมีกฎเศรษฐศาสตร์ธรรมชาติที่จะทำให้เกิดความรุ่งเรืองเป็นการทั่วไป ยิ่งไปกว่านั้น กฎธรรมชาติเหล่านี้จะต้องไม่ลึกลับเสียจนกระทั่งมนุษย์ไม่สามารถค้นพบและเข้าใจได้ง่าย ๆ กฎแห่งความรุ่งเรืองมีอยู่ในพระคัมภีร์มาแล้วกว่า 2,000 ปี - “ผลกำไรของแผ่นดินโลกนั้นสำหรับทุกคน” (Ecclesiastes 5:9)

John Locke ปราชญ์ด้านกฎธรรมชาติรับรองเมื่อ ค.ศ.1690 ว่าพระผู้เป็นเจ้าได้ประทานโลกนี้แก่มนุษย์เป็นส่วนรวมร่วมกัน และรับรองด้วยว่าถ้าจะไม่ให้มนุษย์แต่ละคนต้องตกเป็นทาสแก่ผู้อื่น เขาก็ต้องมีสิทธิทางศีลธรรมต่อร่างกายของเขาเองและแรงงานของเขา ดังนี้ กฎทางศีลธรรมซึ่งให้ความยุติธรรมก็สอดคล้องกับกฎต่าง ๆ ทางเศรษฐศาสตร์ซึ่งให้ความรุ่งเรือง - จงมีส่วนร่วมกันในแผ่นดินและรับส่วนที่ตนทำมาหาได้ไว้ ไม่จำเป็นต้องทำให้เกิดความเท่าเทียมกันในกรรมสิทธิ์ของทรัพย์สินที่ผลิตขึ้นมา ถ้าเราทำให้เกิดความเท่าเทียมกันในกรรมสิทธิ์ของแผ่นดินโลก

ลัทธิทุนนิยมปัจจุบันมีการแทรกแซงที่ทำร้ายระบบตลาดเสรี ซึ่งเก็บภาษีไปจากรายได้ของแรงงานเพื่อสนับสนุนกิจการสาธารณะ ซึ่งปรับการกระจายเศรษฐทรัพย์ไปให้แก่เจ้าของที่ดินในรูปของค่าเช่าและมูลค่าที่ดินที่สูงขึ้น เพื่อความยุติธรรมทางสังคม จะต้องมีการซ่อมแซมและกำจัดการแทรกแซงแทนที่จะขัดขวางการกระทำที่เป็นการสมัครใจ ถ้าสัจจะอันยิ่งใหญ่นี้ได้เป็นที่รับรู้กัน ก็แน่นอนว่าการปฏิบัติที่ถูกต้องจะเกิดขึ้นตามมากับความคิดที่ชอบธรรม.

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ทุนนิยมแท้คือรัฐสวัสดิการที่ไม่มีภาษีก้าวหน้า
//bbznet.com/scripts2/view.php?user=tangnamo&board=1&id=267&c=1
ผลดีและความเป็นธรรมของภาษีที่ดิน
//bbznet.com/scripts2/view.php?user=tangnamo&board=1&id=242&c=1


Create Date : 08 มิถุนายน 2552
Last Update : 12 มิถุนายน 2552 6:59:22 น. 1 comments
Counter : 735 Pageviews.

 
เอาไป post ไปเผยแพร่ต่อ ได้ไหมครับ


โดย: ohmohm IP: 110.164.31.65 วันที่: 28 กันยายน 2552 เวลา:22:10:42 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 
 
 

สุธน หิญ
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




แก้ความอยุติธรรมขั้นฐานราก
ตามแนวเฮนรี จอร์จ
http://utopiathai.webs.com
เลิกภาษีการลงแรงลงทุนผลิตและค้า
เลิกภาษีเงินได้ เพิ่มภาษีที่ดิน
ค่อยๆ เปลี่ยนแปลง ใช้เวลาสัก 30 ปี


เปิดเว็บต่างแดนดูไม่ได้ ให้ google ช่วยหา free anonymous proxy server ของต่างประเทศซึ่งมีอยู่มากเพื่อเปิดให้แทนครับ (ในไทยอาจมีการปิดกั้นเว็บของต่างแดน เว็บย่อยที่คนไทยอาศัยใช้กันก็พลอยถูกปิด)

เว็บหลักของผม ยูโทเพียไทย_1
* หน้ารวมลิงก์ยูโทเพียไทย_1 *

หนังสือดีเด่นแปล Progress and Poverty หนังสือ ความยากจนที่ไม่เป็นธรรม และ บทความ ของผม ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ยินดีให้เผยแพร่ต่อด้วยความขอบคุณ ยกเว้นบทความแปลกรุณาอ่านเงื่อนไขจากต้นฉบับภาษาอังกฤษที่อ้างไว้ครับ


- ศัพท์เศรษฐศาสตร์ ดร.บุญเสริม
- ภาษีทรัพย์สินสหรัฐฯ
- ภาวะตลาดอสังหาฯ
- ภาวะตลาดที่อยู่อาศัย 2537-51
- ราคาที่ดินทั่วไทยรายแปลง
- สรุปราคาประเมินใน กทม.ปี 2551-54
- การเปลี่ยนแปลงราคาที่ดินใน กทม.และปริมณฑลปี 2528-50


[Add สุธน หิญ's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com
pantip.com pantipmarket.com pantown.com