ยูโทเพียไทย
เศรษฐศาสตร์
เพื่อความเป็นธรรม

 
เศรษฐศาสตร์ยุคเก่าสำหรับนักคิดรุ่นใหม่

เศรษฐศาสตร์ยุคเก่าสำหรับนักคิดรุ่นใหม่
(แปลจากบทความ Progress and Poverty Today โดย Kris Feder, Ph.D., Professor of Economics, Bard College, Annandale-on-Hudson, NY จาก //www.schalkenbach.org/library/federintro.html ซึ่งใช้เป็นคำนำหนังสืออเมริกันดีเด่น Progress and Poverty ฉบับย่อ ค.ศ. 1997 หนังสือนี้ฉบับเต็มแปลเป็นไทยชื่อ “ความก้าวหน้ากับความยากจน” ขึ้นเว็บที่ //geocities.com/utopiathai/ProgressAndPoverty )

ขณะที่ Henry George กำลังเขียนหนังสือ Progress and Poverty การปฏิวัติอุตสาหกรรมกำลังทำให้ทวีปอเมริกาและยุโรปเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ในเวลาเพียงร้อยปีเศรษฐกิจที่ทำงานด้วยกำลังลม น้ำ และแรงกาย ได้เปลี่ยนเป็นใช้พลังไอน้ำ ถ่านหิน และ ไฟฟ้า ระบบเศรษฐกิจภูมิภาคได้เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายการแลกเปลี่ยนระดับชาติและระดับโลกด้วยคลอง ทางรถไฟ เรือไอ และโทรเลข สหรัฐฯ เหยียดยาวออกจากฝั่งมหาสมุทรหนึ่งถึงอีกฝั่งหนึ่ง ชายแดนตะวันตกก็หายไป

Henry George นักหนังสือพิมพ์และบรรณาธิการชาวอเมริกัน รู้สึกอัศจรรย์ในความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยี ที่น่าประหลาดใจ แต่ก็ตกใจในแนวโน้มอันเลวร้าย ทำไมความสามารถในการผลิตที่สูงขึ้นมากอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนจึงมิได้ขจัดความขาดแคลนและความอดอยากไปจากบรรดาประเทศที่เจริญแล้ว และยกระดับชนชั้นแรงงานจากความยากจนขึ้นสู่ความมั่งคั่ง? ตรงกันข้าม George ได้เห็นว่าการแบ่งงาน การที่ตลาดขยายกว้างออกไป และ การขยายเขตชุมชนเมืองอย่างรวดเร็ว ได้ทำให้ผู้ใช้แรงงานที่ยากจนกลับต้องพึ่งพาอำนาจที่พวกตนเองไม่สามารถควบคุมได้มากขึ้น ผู้ใช้แรงงานที่ยากจนกลายเป็นกลุ่มที่ถูกผลกระทบมากที่สุดเสมอยามเศรษฐกิจตกต่ำ และฟื้นตัวได้ช้าที่สุด การว่างงานและความยากไร้ได้ปรากฏขึ้นในอเมริกา และที่จริงปรากฏในภาคตะวันออกซึ่งพัฒนาแล้วมากกว่าในภาคตะวันตกที่กำลังแสวงหา มันเป็น “เสมือนมีลิ่มอันใหญ่โตตอกแทรก มิใช่เข้าหนุนยกใต้สังคม แต่เข้ากลางสังคม พวกที่อยู่เหนือขึ้นไปถูกยกขึ้น แต่พวกที่อยู่ต่ำถูกบดขยี้ลง” “ปริศนาใหญ่หลวงแห่งยุคของเรา” นี้ คือปัญหาซึ่ง George ได้พยายามหาทางแก้ในหนังสือ Progress and Poverty

นักเศรษฐศาสตร์จะจำได้ว่าการวิเคราะห์ของ George เป็นต้นเหตุให้เกิดทฤษฎีการแบ่งผลตอบแทนแก่ปัจจัยการผลิตตามผลิตภาพหน่วยท้ายสุด คำอธิบายของ George ใช้ภาษาซึ่งปัจจุบันเรียกว่าเศรษฐศาสตร์สำนักคลาสสิก แม้ George จะพยายามหลีกเลี่ยงความไม่สอดคล้องกันในคำจำกัดความและการให้เหตุผล ซึ่ง George ได้แสดงให้เห็นว่าได้ทำให้นักเศรษฐศาสตร์อื่น ๆ หลงทางไป

ลักษณะสำคัญของสำนักคลาสสิกของอังกฤษคือการจำแนกทรัพยากรการผลิตออกเป็น “ปัจจัยการผลิต” ๓ ปัจจัย คือ แรงงาน ที่ดิน และ ทุน นักเศรษฐศาสตร์สำนักคลาสสิกส่วนมากคิดถึงเรื่องนี้ในแง่ชนชั้นทางสังคมใหญ่ ๆ ๓ ชนชั้น (คนงาน เจ้าที่ดิน และ นายทุน) แต่ George ถือว่าเป็นการแบ่งประเภทตามหน้าที่ ซึ่งต่างกันตามภาวะที่ปัจจัยนั้น ๆ มีส่วนในการผลิต

ในระบบเศรษฐกิจที่มีการแข่งขัน ผลตอบแทนต่อปัจจัยการผลิตต่าง ๆ ย่อมเป็นไปตามส่วนกับการที่ปัจจัยนั้น ๆ ช่วยเพิ่มมูลค่าของผลผลิต เงินที่จ่ายสำหรับการใช้แรงงานเรียกว่า ค่าแรง สำหรับการใช้ที่ดินเรียกว่า ค่าเช่า รายได้ของทุนคือ ดอกเบี้ย George กล่าวว่าความทุกข์ยากของชนชั้นแรงงานเป็นเพราะค่าแรงจริงอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่องยาวนาน เขาตั้งคำถามว่า “ทำไมค่าแรงจึงมีแนวโน้มลงต่ำสุดเพียงให้ประทังชีวิตอยู่ได้เท่านั้น ทั้งที่ความสามารถในการผลิตได้เพิ่มขึ้น ? ”

ข้อเขียนของเขาดำเนินไปอย่างเป็นระบบ ขั้นแรก George สำรวจคำอธิบายที่เป็นวิชาการและเป็นที่นิยมอยู่ในขณะนั้น ซึ่งอาศัยทฤษฎีประชากรอันโด่งดังของ Malthus เป็นสำคัญ ร่วมกับทฤษฎี “กองทุนค่าแรง” ของเศรษฐศาสตร์อังกฤษ สองทฤษฎีนี้รวมกันก็ส่อความว่ารายได้รวมของแรงงานย่อมขึ้นอยู่กับปริมาณทุนที่จัดไว้สำหรับจ่ายเป็นค่าแรง ค่าแรงจะเพิ่มได้ก็ต้องมีการเพิ่มปริมาณทุนต่อคนงานแต่ละคนก่อน อย่างไรก็ดี เมื่อมาตรฐานการครองชีพขึ้นสูงกว่าระดับเพียงประทังชีวิต คนงานก็จะแต่งงานเร็วขึ้นและมีบุตรมากขึ้นจนการเพิ่มประชากรทำให้ปริมาณทุนต่อคนงานแต่ละคน – และค่าแรง – กลับลดลง ยิ่งไปกว่านั้น การเพิ่มประชากรทำให้ผลิตภาพของการเกษตรลดเพราะต้องหันไปใช้ที่ดินซึ่งคุณภาพต่ำลง ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการสะสมทุนอาจทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรืองขึ้นได้ระยะหนึ่ง – แต่ในที่สุด การใช้แรงงานมากขึ้นในที่ดินปริมาณคงที่จะเพิ่มผลผลิตในอัตราที่ลดน้อยถอยลง พูดสั้น ๆ มีความเชื่อกันกว้างขวางทั่วไปว่าความยากจนที่ปรากฏต่อเนื่องยาวนานอยู่นี้เป็นเพราะกฎธรรมชาติที่จะไม่มีวันเปลี่ยนไป นั่นคือ หลักจำนวนประชากร และ กฎว่าด้วยผลตอบแทนลดน้อยถอยลงแก่ที่ดิน

สำหรับ George การวิเคราะห์แบบของ Malthus นั้นน่ารังเกียจชิงชัง เพราะเหมือนจะยืนยันว่าการปฏิรูปด้านสถาบันจะไม่สามารถเปลี่ยนแบบรูปของการแบ่งรายได้ในขั้นรากฐานได้เลยและความใจบุญช่วยเหลือผู้ยากไร้จะมีแต่ไปเพิ่มความยุ่งยาก – ด้วยการลดอัตราตายและเพิ่มอัตราเกิด แต่โชคดีที่ George ได้พบว่าทฤษฎีค่าแรงเช่นนี้มีข้อบกพร่องทางทฤษฎีอยู่หลายประการ George พบด้วยว่าทฤษฎีนี้ไม่สอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง (ข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ - empirical facts) โดยอาศัยการศึกษากรณีประวัติศาสตร์จากไอร์แลนด์ จีน อินเดีย สหรัฐฯ และที่อื่นๆ บัดนี้ นักเศรษฐศาสตร์พัฒนาการส่วนใหญ่เห็นด้วยกับ George ที่ว่าความอดอยากและความยากจนของคนหมู่มากนั้นเป็นเพราะเหตุผิดพลาดทางสถาบันของมนุษย์มากกว่าขีดจำกัดของธรรมชาติ
ในการวิเคราะห์ของ George เอง เขาได้ใช้ความระมัดระวังอย่างมากเพื่อหลีกเลี่ยงความไม่สอดคล้องต้องกันของคำจำกัดความและการอธิบายเหตุผล ในฐานะผู้สังเกตการณ์ด้านการเมืองและเศรษฐกิจที่หลักแหลม George ค่อย ๆ ดำเนินเรื่องราวไปอย่างช้า ๆ ตรวจสอบหาความจริงด้วยวิธีไร้เดียงสาแบบของ Socrates ดังนั้น เราจะไม่ทำให้ท่านผู้อ่านเสียความรู้สึกตื่นเต้นกระหายรู้ไปเสียก่อนด้วยการเปิดเผยข้อสรุปของ George ตั้งแต่แรก แต่เราจะพยายามบอกกล่าวว่าทำไมหนังสือนี้จึงยังคงคุ้มค่าที่จะอ่าน

ข้อโต้แย้งสาธารณะเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจในปัจจุบันก็เหมือน ๆ กับที่เคยเป็นมาเสมอ นั่นคือมักจะเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างเป้าหมายหลักทางสังคมสองประการ นักเศรษฐศาสตร์และผู้กำหนดนโยบายไม่สบายใจที่จะต้องมีการยอมเสียอย่างใดอย่างหนึ่งไปเสมอระหว่างประสิทธิภาพกับความยุติธรรม (trade-off between efficiency and equity) นโยบายส่งเสริมการออมและการก่อทุนถูกถือว่าทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำกันมากขึ้น ในขณะที่นโยบายปรับการกระจายรายได้ (เช่นการเก็บภาษีรายได้อัตราก้าวหน้า) ก็บั่นทอนแรงจูงใจที่จะผลิตและหารายได้ การโต้แย้งเรื่องการปฏิรูปการสวัสดิการและนโยบายสุขภาพคือแบบอย่างล่าสุดของการโต้แย้งทางสังคมที่มีต่อเนื่องมาเรื่อย ๆ และการต้องยอมได้อย่างเสียอย่างเช่นนี้ก็ปรากฏในประเทศอื่น ๆ ห่างไกลสหรัฐฯ ออกไปด้วย ประชาชนของเหล่าประเทศที่เคยเป็นคอมมิวนิสต์สงสัยว่าการได้ประสิทธิภาพสูงขึ้นจากการมีเศรษฐกิจระบบตลาดจะคุ้มค่ากับต้นทุนทางสังคมหรือ ประเทศทั้งที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาต้องต่อสู้กับปัญหาการส่งเสริมความเติบโตทางเศรษฐกิจโดยไม่เร่งความเสื่อมถอยของสิ่งแวดล้อม

นักเศรษฐศาสตร์ส่วนมากถือเป็นหน้าที่ของตนที่จะประเมินประสิทธิภาพของการเลือกนโยบาย แต่อ้างว่าไม่มีความรู้เฉพาะด้านทางจริยธรรม จึงปล่อยให้เป็นหน้าที่ของนักปรัชญาและกระบวนการทางการเมืองที่จะประเมินปัญหาความยุติธรรม จริงหรือที่การจัดดำเนินการของสังคมเพื่อให้ได้สิ่งอันเป็นที่ต้องการร่วมกันจะต้องพบกับปัญหาได้อย่างเสียอย่างระหว่างความเท่าเทียมกันกับประสิทธิภาพ – ระหว่างสิ่งที่ยุติธรรมกับสิ่งที่เป็นไปได้ ?

Henry George มิใช่จะเพียงแต่ปฏิเสธข้อนี้ เขายังยืนยันเป็นตรงกันข้ามด้วย การยอมรับนับถืออย่างเต็มที่ในสิทธิและความรับผิดชอบทางเศรษฐกิจจะเผยให้เห็นว่าเป้าหมายแห่งความเสมอภาคและประสิทธิภาพต่างเสริมพลังให้แก่กัน ความยุติธรรมทางสังคมหรือระบบตลาดเสรีซึ่งทำงานได้อย่างดีเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างเดียว โดยไม่มีอีกอย่างหนึ่งนั้น จะเป็นไปได้ก็ไม่ยั่งยืน George ประกาศว่า “บรรดากฎแห่งสากลจักรวาลย่อมมีความประสานสอดคล้องกันเอง” การวิเคราะห์ของเขาแสดงให้เห็นว่าสาเหตุรากฐานที่เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้นนั้นมิใช่อยู่ที่กฎธรรมชาติ แต่อยู่ที่การปรับตัวไม่ได้ทางสังคมซึ่งไม่ใส่ใจในกฎธรรมชาติ ยิ่งไปกว่านั้น การละเมิดความยุติธรรมซึ่งเป็นเหตุแห่งปัญหาความยากจนนั้น มักจะเกิดขึ้นคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจแล้วก็ไปขัดขวางการพัฒนา ทำให้ความเหลื่อมล้ำยิ่งมากขึ้น

George เน้นว่าการแบ่งรายได้ไม่เท่าเทียมกันทำให้ไม่เกิดทรัพย์สินมากเท่าที่ควร เพราะการว่างงาน และการใช้แรงงานต่ำกว่าระดับปกติแปลว่าพลังงานและสติปัญญาไม่ได้ใช้ประโยชน์เต็มที่ เขากล่าวว่าสำหรับผู้ที่หางานได้ ค่าแรงสูงจะกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ การค้นคิดประดิษฐ์ และการปรับปรุง ส่วนค่าแรงต่ำจะทำให้เกิดความไม่เอาใจใส่ การที่คนจนได้รับการศึกษาไม่เพียงพอทำให้ความสูญเสียเกิดขึ้นทับทวี มีความเสียหายจากความชั่วและอาชญากรรมที่เกี่ยวเนื่องกับความยากจน และต้องเสียค่าใช้จ่ายมากในการปกป้องสังคมจากสิ่งเหล่านี้ คนรวยต้องรับภาระสนับสนุนการสวัสดิการสำหรับคนยากไร้ – มิฉะนั้นก็อาจเสี่ยงกับการเกิดความวุ่นวายทางสังคม George กล่าวว่ายิ่งไปกว่านั้น สถาบันหรือระบบทางสังคมซึ่งทำให้บางคนร่ำรวยโดยคนอื่นต้องยากจนลงนั้นจะทำให้ความสามารถพิเศษและทรัพยากรที่ควรจะได้ใช้ก่อผลผลิตต้องถูกใช้หมดสิ้นไปในความขัดแย้งขณะที่หลายคนได้พบว่าการแข่งขันหาความได้เปรียบทางการเมืองได้ผลตอบแทนงามกว่าการแข่งขันหาความสำเร็จในระบบตลาด

กล่าวสั้น ๆ ระบบเอกสิทธิ์และสิทธิพิเศษที่ไม่เป็นธรรมมักทำให้การจัดสรรทรัพยากรเป็นไปอย่างไม่เหมาะสม เศรษฐกิจมหภาคขาดเสถียรภาพและชะงักงัน มีคอร์รัปชันทางการเมือง และเกิดความขัดแย้งในสังคมซึ่งในที่สุดก็อาจเป็นภัยคุกคามอารยธรรมทั้งหลาย

งานเขียนของ George มุ่งไปที่การแสดงให้เห็นว่าการแยกความแตกต่างระหว่างทรัพย์สินส่วนบุคคลกับทรัพย์สินส่วนรวมจะเป็นเกณฑ์ที่มีเหตุผลในการแยกอาณาเขตของกิจกรรมสาธารณะออกจากกิจกรรมของแต่ละบุคคล การแยกความแตกต่างนี้นำเขาไปสู่ทฤษฎีหนึ่งของการคลังสาธารณะซึ่งสามารถทำให้เกิดความปรองดองกันได้ระหว่างความคิดฝ่ายสังคมนิยมกับฝ่ายทุนนิยมเสรี ด้วยวิธีการคลังง่าย ๆ เราก็อาจจะเก็บรายได้อันเกิดจากทรัพย์สินของส่วนรวมมาเข้าคลังแผ่นดินเพื่อใช้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม ซึ่งทำให้รัฐบาลสามารถทำหน้าที่ทั่วไปที่จำเป็นโดยไม่ต้องรบกวนแรงจูงใจส่วนบุคคล แทบทุกคนจะมีส่วนร่วมในผลประโยชน์ของการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ทรัพยากรอันจำกัดของโลกจะได้รับการดูแลจัดการเพื่อผลประโยชน์ของทุกคน รวมทั้งคนรุ่นหลัง รัฐบาลจะไม่เป็นอำนาจกดขี่ แต่จะกลายเป็น “องค์การบริหารสังคมสหกรณ์ที่ยิ่งใหญ่ จะกลายเป็นเพียงองค์การตัวแทนที่จัดการทรัพย์สินของส่วนรวมเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน”

ความเห็นแจ้งของ George สามารถนำไปใช้ได้กับปัญหาสมัยใหม่หลาย ๆ ปัญหา การกระจายทรัพย์สินทั้งในประเทศและระหว่างประเทศมีความเหลื่อมล้ำกันมากยิ่งขึ้น ยุโรป อเมริกาเหนือ และญี่ปุ่นก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วในขณะที่ประเทศที่ยากจนกว่าจำนวนมากชะงักงันหรือเสื่อมถอย จำนวนมากมีภาระหนี้สินหนัก

นโยบายการเงินการคลังสมัยใหม่มิได้แก้ปัญหาความผันผวนด้านมหภาค แต่สมัยก่อนหน้า Keynes ครึ่งศตวรรษ George ได้ให้ภาพคร่าว ๆ ของทฤษฎีเศรษฐกิจเฟื่องฟูและตกต่ำ (boom and bust) ซึ่งอธิบายภาวะขาดเสถียรภาพของเศรษฐกิจระบบตลาดภายใต้สถาบันการคลังปัจจุบัน การทำงานของระบบการเงินและสินเชื่อปัจจุบันมีแต่ทำให้ความไร้เสถียรภาพนั้นรุนแรงขึ้น ทฤษฎีของเขาสอดคล้องกับสถานการณ์หลากหลายกรณี รวมทั้งการถดถอยและการฟื้นตัวที่หยุดลงของญี่ปุ่น และความเสียหายของระบบการออมและการกู้ยืมในสหรัฐฯ เมื่อไม่นานมานี้

การวิเคราะห์เศรษฐกิจแนว Georgist หรือ geoclassical นี้มีความเกี่ยวข้องตรงประเด็นกับความยุ่งยากของรัสเซียและชาติอื่น ๆ ที่หลุดพ้นจากลัทธิคอมมิวนิสต์ วิกฤตการณ์หนี้ระหว่างประเทศ และแรงกดดันทั่วโลกด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มันมีความเกี่ยวเนื่องกับประสบการณ์ธรรมดาด้านการขาดดุลงบประมาณเรื้อรังทั้งระดับเทศบาลและรัฐบาลกลาง การวิเคราะห์นี้สามารถนำไปใช้กับปัญหาคอร์รัปชันในรัฐบาลและการที่การกระจุกตัวของอำนาจการเมืองสัมพันธ์กับการกระจุกตัวของทรัพย์สิน มันให้กรอบความคิดที่ดีสำหรับการวิเคราะห์มลภาวะ สิ่งแวดล้อมและการกำหนดนโยบายสิ่งแวดล้อม ที่จริงแล้วท่านผู้อ่านจะสังเกตได้ว่าขบวนการสิ่งแวดล้อมสมัยใหม่ในบางด้านมีทีท่าว่าจะพยายามกลับไปค้นพบข้อเสนอแบบ Georgist ใหม่อีกครั้งหนึ่ง

เมืองในสหรัฐฯ จำนวนมากต้องเผชิญปัญหาการเสื่อมของเมืองคู่ไปกับการขยายตัวอย่างหลวมเกินพอดีของชานเมือง ข่ายถนนและทางหลวงต้องขยายออกเพื่อรับกับการเดินทางที่ไกลยิ่งขึ้นในการเข้ามาทำงานในเมือง เพื่อหนีปัญหาต่าง ๆ ของเมือง พลเมืองก็สร้างบ้านใหม่ในชนบทที่เงียบสงบ แล้วก็ต้องพบว่าปัญหาจราจรติดขัด มลภาวะ เสียง และปัญหาของสังคมเมืองได้ขยายออกตามมากับการเคลื่อนย้ายของประชากร นักสังคมวิทยาไม่เห็นด้วยกับการสูญเสียชุมชนในขณะที่นักสิ่งแวดล้อมเตือนถึงผลร้ายของมลภาวะจากรถยนต์ การสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัย ป่าไม้ และระบบนิเวศ นักเศรษฐศาสตร์ชี้ให้เห็นความสูญเสียหลายพันล้านดอลลาร์จากทุนทางกายภาพและทุนมนุษย์ที่ถูกทิ้งไว้ในเมืองที่กำลังเสื่อมสภาพ - คนจนที่ติดค้างอยู่ในเมืองต้องดูแลตนเอง แต่มีงานให้ทำน้อย และบริการสาธารณะลดลงตามรายได้จากภาษีของเทศบาล แต่ก่อนจะเกิดมีรถยนต์หลายปี Henry George ได้วิเคราะห์พลวัตของความเจริญและความเสื่อมของเมืองไว้แล้ว เขาได้อธิบายกระบวนการมูลฐานซึ่งทำให้การกระจายตัวของประชากรทางภูมิศาสตร์เป็นไปอย่างไม่เหมาะสม การใช้ที่ดินอย่างขาดประสิทธิภาพ และการเสื่อมสภาพของเมือง นักเศรษฐศาสตร์ชุมชนเมืองและนักวางแผนการขนส่งปัจจุบันที่รู้แจ้งแล้วต่างสนับสนุนการปฏิรูปนโยบายแบบ Georgist ในระดับเทศบาล

บทสังเคราะห์ของ George จึงเป็นการให้ข่าวสารแก่โครงการวิจัยอย่างกว้างขวาง นักเขียนบางคนเห็นว่าความคิดของ George เป็นกระบวนทัศน์ (paradigm) หรือแบบแผนความคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่แตกต่าง ซึ่งประนีประนอมความขัดแย้งระหว่างกระบวนทัศน์ของสองสำนักที่สำคัญในโลกปัจจุบัน – สำนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักนีโอคลาสสิกซึ่งมักจะมุ่งสนใจในด้านประสิทธิภาพที่น่าประทับใจของระบบตลาดเสรี และ สังคมนิยมแบบของ Marx นักเขียนอื่นๆ ที่นิยม George เชื่อว่าความคิดของ George นั้นอาจและควรจะอธิบายเป็นภาษาเศรษฐศาสตร์นีโอคลาสสิกสมัยใหม่ได้ ที่แน่ ๆ ก็คือความคิดแบบ geoclassic นี้มีความเกี่ยวพันตรงประเด็นกับข้อโต้แย้งสำคัญ ๆ บางเรื่องในอเมริกาและโลกปัจจุบัน.


Create Date : 20 มิถุนายน 2552
Last Update : 20 มิถุนายน 2552 8:31:14 น. 4 comments
Counter : 768 Pageviews.

 
ข้อมูลยาวมากอ่านตาลายเลยค่ะ
แวะมาทักทายนะคะ


โดย: ดีเจ..เมวิกา หน้าหวาน วันที่: 20 มิถุนายน 2552 เวลา:12:38:48 น.  

 
แวะมาทักทายค่ะ


โดย: CrackyDong วันที่: 20 มิถุนายน 2552 เวลา:22:39:16 น.  

 
เข้ามาเพราะอยากเป็นนักโบราณคดีเข้ามามั่วๆอ่ะตอนนี้
เราอายุ10ขวบไม่รุว่าทำไมอยากเปนแม่เราบอกว่าเน้น
ไทย+สังคม ส่วนใหญ่ต้องจำหาข้อมูลเยอะๆแหะๆเราก็
เนอะอายุแค่นี้อยากเปนซะและแต่ช่างเหอะเราเลือกอยุนิ
เปน สถาปนิกหรือนักโบราณคดีเลยแวะมาอ่านแต่อานนี้มันไม่ค่อยเกี่ยวกับวิทีแปลยุคเก่าเท่าไหร่อ่ะถ้าเปนจาอ่าน
ห๊ายโม๊ดดดเลย
ก็นะเดียวกินข้าวก่อนแปปเดียวไปหาต่องิใครรุวิทีแปลหรือแนะนำพวกวัตถุโบราณอ่ะแอดเรามากหน่อยporing_44อ่ะบายเน้อ แง่งต้องลบอารมเยยรมเสียรุยงิ


โดย: ดรีม IP: 115.87.75.132 วันที่: 21 สิงหาคม 2552 เวลา:18:19:15 น.  

 
เมื่อมาตรฐานการครองชีพขึ้นสูงกว่าระดับเพียงประทังชีวิต คนงานก็จะแต่งงานเร็วขึ้นและมีบุตรมากขึ้น
ู^
^
ผมว่าในความเป็นจริงมันตรงกันข้ามนะ พอมาตรฐานครองชีพสูงขึ้น การเกิดกลับลดลง en.wikipedia.org/wiki/Demographic-economic_paradox

เอ๊ หรือเป็นเพราะว่าเก็บภาษีจากแรงงานและการบริโภค ค่าใช้จ่ายในการมีบุตรเพิ่ม การเกิดจึงลดลง
แบบนี้ ในเอ็นทรีโน้น ค่าจ้างเงินเดือนสูงขึ้น แต่ของกินของใช้ถูกลง! https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=utopiathai&date=24-01-2008&group=1&gblog=35 อาจเป็นไปได้เพราะประชากรลด ทำให้อุปทานแรงงานลดและอุปสงค์ของกินจองใช้ลด ค่าแรงจึงสูงขึ้นและของกินของใช้ถูกลง


โดย: ohmohm IP: 110.164.24.206 วันที่: 4 กันยายน 2552 เวลา:11:50:29 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 
 
 

สุธน หิญ
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




แก้ความอยุติธรรมขั้นฐานราก
ตามแนวเฮนรี จอร์จ
http://utopiathai.webs.com
เลิกภาษีการลงแรงลงทุนผลิตและค้า
เลิกภาษีเงินได้ เพิ่มภาษีที่ดิน
ค่อยๆ เปลี่ยนแปลง ใช้เวลาสัก 30 ปี


เปิดเว็บต่างแดนดูไม่ได้ ให้ google ช่วยหา free anonymous proxy server ของต่างประเทศซึ่งมีอยู่มากเพื่อเปิดให้แทนครับ (ในไทยอาจมีการปิดกั้นเว็บของต่างแดน เว็บย่อยที่คนไทยอาศัยใช้กันก็พลอยถูกปิด)

เว็บหลักของผม ยูโทเพียไทย_1
* หน้ารวมลิงก์ยูโทเพียไทย_1 *

หนังสือดีเด่นแปล Progress and Poverty หนังสือ ความยากจนที่ไม่เป็นธรรม และ บทความ ของผม ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ยินดีให้เผยแพร่ต่อด้วยความขอบคุณ ยกเว้นบทความแปลกรุณาอ่านเงื่อนไขจากต้นฉบับภาษาอังกฤษที่อ้างไว้ครับ


- ศัพท์เศรษฐศาสตร์ ดร.บุญเสริม
- ภาษีทรัพย์สินสหรัฐฯ
- ภาวะตลาดอสังหาฯ
- ภาวะตลาดที่อยู่อาศัย 2537-51
- ราคาที่ดินทั่วไทยรายแปลง
- สรุปราคาประเมินใน กทม.ปี 2551-54
- การเปลี่ยนแปลงราคาที่ดินใน กทม.และปริมณฑลปี 2528-50


[Add สุธน หิญ's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com
pantip.com pantipmarket.com pantown.com