|
 |
 |
 |
 |
|
แก้ปัญหาที่ดินได้ ปัญหานายทุนขูดรีดแรงงานจะหมดไปด้วย
แก้ปัญหาที่ดินได้ ปัญหานายทุนขูดรีดแรงงานจะหมดไปด้วย (ยินดีให้เผยแพร่ต่อ ด้วยความขอบคุณ - สุธน หิญ)
ชนชั้นปัจจุบันยังไม่ได้เหลือสอง คือ ผู้ใช้แรงงาน กับ นายทุน เท่านั้น ชนชั้นเจ้าของที่ดินยังมีอยู่ และมีอิทธิพลสูง เฉพาะชนชั้นเจ้าของที่ดินเท่านั้นที่ขัดผลประโยชน์กับผู้ใช้แรงงาน และขัดผลประโยชน์กับนายทุนด้วย
ที่จริง คนเดียวอาจเป็น ๒ หรือทั้ง ๓ ฐานะ คือ เจ้าของที่ดิน ผู้ใช้แรงงาน และ นายทุน (ผู้ประกอบการคือผู้ใช้แรงงาน ซึ่งใช้แรงสมองเป็นส่วนมาก) เมื่อจะพิจารณาเรื่องเช่นนี้ เราก็ต้องแยกทั้ง ๓ ฐานะออกจากกัน
คนในสังคมไม่ว่าจะชนชั้นไหนไม่ควรจะต้องเป็นศัตรูทำลายล้างกัน ระบอบประชาธิปไตยขณะนี้ได้พัฒนาขึ้นมากแล้ว ภาคประชาชนก็เข้ามีส่วนร่วมตรวจสอบพฤติการณ์ของฝ่ายบริหารอย่างแข็งขันขึ้น ขอเพียงให้วิธีแก้ไขอย่างได้ผลในปัญหาความไม่เป็นธรรมด้านที่ดินและภาษี อันเป็นฐานรากที่แผ่กว้างทั่วสังคมมนุษย์ ได้เป็นที่รู้กันแพร่หลายเท่านั้น แล้วประชาธิปไตยจะแก้ไขนำความอยู่ดีกินดีมาให้เอง
น่าเสียดายที่รัสเซียและประเทศในยุโรปตะวันออกซึ่งได้ละทิ้งระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ส่วนมากไม่ได้คิดดึงเอาที่ดินไว้เป็นของรัฐต่อไป ถ้าประเทศเหล่านี้เพียงแต่เก็บภาษีเท่ากับค่าเช่าที่ดินตามที่ประเมินได้ว่าควรจะเป็นเท่าใด (ซึ่งย่อมแตกต่างกันไปตามแต่ทำเล) ไม่ว่าผู้ถือครองจะให้เช่าหรือใช้ทำประโยชน์เองหรือไม่ก็ตาม รวมทั้งค่าภาคหลวงจากการนำทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญขึ้นมาใช้ประโยชน์ (ซึ่งเป็นแบบหนึ่งของภาษีที่ดิน) ที่ส่วนใหญ่จะได้จากการลงทุนของต่างชาติ ก็จะได้ภาษีมากพอที่จะยกเลิกภาษีอื่น ๆ (โดยเฉพาะคือ ภาษีเงินได้ และภาษีที่มีแต่ไปเพิ่มราคาสินค้าให้แพงขึ้น) ซึ่งก็จะทำให้ผู้ทำงานมีเงินได้สุทธิเพิ่มขึ้น และของกินของใช้ราคาถูกลง ก่อความอยู่ดีกินดีแก่คนหมู่มาก
แต่มีคนเตือนว่านักลงทุนต่างชาตินั่นแหละจะล้อบบี้ไม่ให้ตนเองต้องจ่ายภาษีที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ
ระบบปัจจุบันเอื้ออำนวยให้เจ้าของที่ดินได้รับประโยชน์ไปโดยไม่ต้องทำอะไร วันเวลาผ่านไป บ้านเมืองเจริญขึ้น ราคา/ค่าเช่าที่ดินก็สูงขึ้นไปเรื่อย ๆ
ใคร ๆ ที่พอมีเงินเห็นดังนี้ก็พากันซื้อหาที่ดินเก็บกักกันไว้ หวังราคา/ค่าเช่าที่จะสูงขึ้น เป็นการรวมหัวผูกขาดที่กว้างขวางที่สุดโดยไม่ต้องนัดหมาย ไปที่ไหน ๆ ก็เจอแต่ที่ดินมีเจ้าของแล้วแทบทั้งนั้น ส่วนใหญ่รกร้างหรือทำประโยชน์น้อยเกินไป คนจนก็ยิ่งลำบากมากขึ้นในการจะขวนขวายหาที่ดินเป็นของตนเอง มิหนำซ้ำยังต้องจ่ายค่าเช่าสูงขึ้นเพราะการเก็งกำไรเก็บกักที่ดินกันทั่วไปนี้
การที่เจ้าของที่ดินแต่ละคนมีที่ดินมากเกินส่วนเฉลี่ยย่อมเป็นการบั่นทอนสิทธิเข้าถึงที่ดินของคนส่วนที่เหลือ ซึ่งที่ดินนั้นจำเป็นเสมอต่อการเป็น ที่อยู่อาศัย และ ประกอบอาชีพ
ที่ดินเป็นเงื่อนไขของชีวิต ขาดที่ดิน ชีวิตก็ดับ
การซื้อที่ดินมิใช่การลงทุนที่แท้ (การลงทุนที่แท้คือการลงทุนที่ก่อผลผลิตและบริการ) แต่เป็นเพียงการสืบต่อสิทธิในสิ่งที่ไม่ได้เกิดจากการลงทุนลงแรงผลิต
หากราชการเก็บภาษีเท่าค่าเช่าที่ดินประเมิน โดยมีการประเมินใหม่เป็นระยะ ๆ การเก็งกำไรที่ดินจะหายไป ราคา/ค่าเช่าที่ดินส่วนที่สูงเกินจริงจะหายไป ที่ดินจะเปิดออกให้คนได้เข้าทำกินมากขึ้น และการเลิก/ลดภาษีอื่น ๆ จะเป็นแรงกระตุ้นจูงใจให้มีการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น การต้องพึ่งพานายจ้างจะลด การว่างงานจะลด การต้องแย่งกันหางานทำจะลด นายทุนจะกลับต้องเป็นฝ่ายวิ่งหาคนงาน ค่าแรงจะสูงขึ้น ซึ่งเป็นส่วนที่มาจากการลดของราคา/ค่าเช่าที่ดินและส่วนที่เจ้าของที่ดินเคยได้ไป นายทุนจะไม่สามารถกดค่าแรงไว้ได้เหมือนแต่ก่อนอีกต่อไป แต่นายทุนก็จะได้ดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนต่อทุนสูงขึ้น เหมือนค่าแรง จากการที่ราคา/ค่าเช่าที่ดินลดและการลดภาษีอื่น ๆ
แต่การเปลี่ยนแปลงฮวบฮาบจะก่อความเดือดร้อนแก่เจ้าของที่ดิน การเปลี่ยนแปลงระบบภาษีเช่นนี้จึงควรค่อยเป็นค่อยไป อาจใช้เวลา ๒๕๓๐ ปี ซึ่งในที่สุดเจ้าของที่ดินจะต้องเปลี่ยนฐานะเป็นนายทุนหรือผู้ใช้แรงงานไป หรือใช้เงินทองหรือทรัพย์สินอื่น ๆ ที่ตนสะสมไว้
* *
คาร์ลมาร์กซ์กล่าวไว้ว่า Monopoly of land is the basis of monopoly in capital. นี่แปลว่า ถ้า Monopoly of land หมดไปแล้ว ก็ไม่มี monopoly in capital ใช่ไหมครับ ? นั่นคือ นายทุนจะไม่สามารถกดค่าแรงไว้ได้
จากเอกสารเรื่อง Henry George and Karl Marx ที่ Frank McEachran เสนอในการประชุมระหว่างประเทศของกลุ่มผู้นิยมจอร์จที่ลอนดอนในเดือนกันยายน ค.ศ.1936 //www.cooperativeindividualism.org/mceachran_hgeorge_and_kmarx มีข้อความตอนหนึ่งว่า พวกเสรีนิยมอ้าง และแม้แต่มาร์กซ์เองก็เห็นด้วย ว่ามูลฐานหลักของการขูดรีดโดยทางประวัติศาสตร์คือ การกั้นรั้วล้อมที่ดิน และถ้าที่ดินเป็นเสรีอย่างแท้จริง [น่าจะหมายถึงไม่ถูกเก็งกำไรเก็บกักไว้] การผูกขาด มูลค่าส่วนเกิน ก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ (The Liberals claim and even Marx himself agreed, that the fundamental basis of exploitation was "historically land enclosure and that if the land had been really free no monopoly of "surplus value" could have grown up.)
* *
ความคิดข้างต้นนั้นส่วนใหญ่ได้มาจากหนังสือ Progress and Poverty ของ Henry George ในหลายประเทศขณะนี้มีสถาบันต่าง ๆ ตั้งขึ้น ส่วนใหญ่เพื่อให้การศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์และปรัชญาสังคมตามแนวของ Henry George โดยไม่มุ่งหวังกำไร บางส่วนก็ทำงานวิจัยในเรื่องบทบาทของที่ดินต่อเศรษฐกิจและความเหมาะสมของการถือเอามูลค่าที่ดินเป็นฐานภาษี บ้างก็เผยแผ่เรื่องภาษีมูลค่าที่ดินรวมทั้งการพิมพ์เอกสารที่เกี่ยวข้อง รายการบุคคล/องค์กรที่สนับสนุนแนวคิดแบบเฮนรี จอร์จ ทั่วโลก //www.progress.org/cgo/showcgo.php เชิญเรียนเศรษฐศาสตร์ภาษาอังกฤษสั้น ๆ ทางอินเทอร์เนต หรือจะแค่อ่านเองก็ได้ ที่ //www.henrygeorge.org ท่านที่สนใจหนังสือ Progress and Poverty ที่เขียนไว้ตั้งแต่ ค.ศ. 1879 จะอ่านได้ที่ //www.schalkenbach.org/library/george.henry/ppcont.html ภาคไทย คือ ความก้าวหน้ากับความยากจน ขึ้นเว็บที่ //utopiathai.webs.com/ProgressAndPoverty.html
ในการเลือกตั้งผู้แทนครั้งต่อไป ขอให้พวกเราช่วยกันเลือกผู้ที่เขาสัญญาว่าจะมุ่งสนับสนุนการเพิ่มภาษีที่ดิน และลด-เลิกภาษีจากการลงแรงลงทุนที่ก่อผลผลิตและบริการ รวมทั้งการค้าขายแลกเปลี่ยน ด้วยนะครับ
นี่คือวิธีแก้ปัญหาความยากจนซึ่งเกิดจากระบบที่ไม่เป็นธรรมของรัฐเอง (แทบทุกรัฐ) โดยสันติ
จากเว็บเศรษฐศาสตร์เพื่อความเป็นธรรม //utopiathai.webs.com
ขอบคุณครับ
Create Date : 15 กุมภาพันธ์ 2553 |
Last Update : 15 กุมภาพันธ์ 2553 23:03:19 น. |
|
0 comments
|
Counter : 921 Pageviews. |
 |
|
|
|
|
|
|
 |
 |
 |
 |
|
|