ยูโทเพียไทย
เศรษฐศาสตร์
เพื่อความเป็นธรรม

 
เก็บภาษีที่ดินแรง ๆ ค่าเช่าหรือราคาที่ดินและสินค้าจะกลับต่ำ

เก็บภาษีที่ดินแรง ๆ ค่าเช่าหรือราคาที่ดินและสินค้าจะกลับต่ำ
ยินดีให้เผยแพร่ต่อด้วยความขอบคุณ
(บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวเพื่อแนะนำภาษีเดี่ยวจากที่ดินตามแนวของเฮนรี จอร์จ ซึ่งควรค่อย ๆ เพิ่มขึ้น พร้อมกับลดภาษีจากการลงแรงลงทุนชดเชยกัน เพื่อแก้ความเหลื่อมล้ำ และ ความยากจน)

ขอพูดถึงคำอธิบายทางวิชาการก่อน
ที่ดินเป็นของมีอยู่ตามธรรมชาติ ผลิตเพิ่มไม่ได้และถึงใช้ก็ไม่สิ้นเปลืองไป ซึ่งผิดกับเศรษฐทรัพย์ (wealth) การเก็บภาษีที่ดินที่คิดตามส่วนกับค่าเช่าหรือราคาที่ดินในอัตราเดียวกันจึงไม่กระทบกระเทือนต่ออุปทานของที่ดิน คือ ปริมาณที่ดินมิได้เพิ่มหรือลด และไม่ทำให้ต้นทุนการผลิตที่ดินสูงขึ้น (เพราะไม่มีการผลิตที่ดินอยู่แล้ว) ราคาหรือค่าเช่าที่ดินจึงจะไม่สูงขึ้น

อีกประการหนึ่ง จากกฎว่าด้วยค่าเช่า ค่าเช่าที่ดินจะมากหรือน้อยเพียงไร ย่อมขึ้นอยู่กับประโยชน์ของที่ดินแห่งนั้นเมื่อเทียบกับที่ดินที่ขอบริมแห่งการผลิต ภาษีที่ดินไม่ได้ทำให้ประโยชน์ดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปสำหรับผู้เช่า ดังนั้นถึงแม้เจ้าของที่ดินจะถูกเก็บภาษีที่ดิน เขาก็เรียกค่าเช่าเพิ่มจากผู้เช่าไม่ได้

ทีนี้ถ้าสมมติบ้างว่ารัฐบาลเรียกเก็บภาษีที่ดินจากผู้เช่า แทนที่จะเก็บจากเจ้าของที่ดินหรือถ้าเจ้าของจะซัดไปให้ผู้เช่าเป็นผู้ชำระภาษีที่ดินก็ตาม ผลประโยชน์ของที่ดินแห่งนั้นย่อมจะลดลงสำหรับผู้เช่าเท่ากับภาษีที่จะต้องเสีย ดังนั้นค่าเช่าที่ดินแห่งนั้นๆ ย่อมจะลดลงได้ส่วนกัน ซึ่งเป็นไปตามกฎธรรมชาติว่าด้วยค่าเช่า

ต่อไปนี้ผมขออธิบายแบบธรรมดาๆ
ถ้าเก็บภาษีที่ดินแรงขึ้น ผู้ถือครองที่ดินโดยเก็งกำไรโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์หรือใช้ประโยชน์เหมือนกันแต่ไม่เต็มที่ จะหาทางใช้ประโยชน์จากที่ดินให้มากขึ้น เช่น ให้ผู้ อื่นเช่าทำประโยชน์อีกต่อหนึ่งหรือดำเนินการเอาเองหรือจ้างคนอื่นมาใช้ประโยชน์ที่ดินไม่ว่า จะเป็นการทำไร่นา หรือประกอบธุรกิจหรืออุตสาหกรรม หัตถกรรม หรือสร้างบ้านหรือแฟลตให้เช่า การจะหาทางใช้ที่ดินให้เป็นประโยชน์มากขึ้นเช่นนี้จะต้องแข่งขันกันเองในบรรดาเจ้าของที่ดิน เพราะถ้าที่ดินไม่ได้รับการทำประโยชน์มากขึ้น ก็จะไม่คุ้มกับภาษีที่จะต้องจ่าย ดังนั้นเจ้าของที่ดินจะเรียกค่าเช่าได้ต่ำลง สำหรับการหาคนมาทำงานในที่ดินก็จะต้องจ่ายค่าแรงสูงขึ้น

ถ้าเจ้าของที่ดินไม่รู้ว่าจะใช้ประโยชน์อย่างไรดี จึงจะคุ้มกับภาษีที่จะต้องเสีย หรือไม่อยากยุ่งยากเป็นภาระ ก็มีอีกทางหนึ่งคือ ขายที่ดินไปเสียเลย ซึ่งเมื่อมีผู้ต้องการขายที่ดินมากขึ้น ราคาที่ดินก็ย่อมจะลดต่ำลง สำหรับผู้จะซื้อที่ดินก็จะไม่ยินยอมซื้อในราคาสูงเพราะรู้อยู่ว่าตนจะต้องรับภาระภาษีที่ดินอีกอย่างหนึ่งด้วย

ยังมีอีกประการหนึ่ง คือ เมื่อมีการทำประโยชน์ในที่ดินมากขึ้น ก็หมายถึงว่ามีการผลิตมากขึ้นหรือสร้างอาคารมากขึ้น ดังนั้นราคาสินค้าและค่าเช่าอาคารก็จะลดลง ยิ่งถ้าลดภาษีเงินได้และภาษีอื่นๆ ซึ่งถ่วงการผลิตและทำให้ของแพงเป็นการชดเชยกับภาษีที่ดินซึ่งเพิ่มขึ้น มนุษย์ก็จะมีกำลังใจทำงานหรือผลิตมากขึ้น และสินค้าจะยิ่งมีราคาต่ำลงอีก

นี่คือเหตุผลกว้างๆ ที่ว่าภาษีที่ดินจะไม่ทำให้ค่าเช่าที่ดินหรือราคาสินค้าสูงขึ้น แต่กลับต่ำลง

แต่ก็มีผู้ท้วงว่า ที่ดินซึ่งมีการเช่ากันอยู่ก่อนแล้วนั่นแหละเจ้าของจะขอขึ้นค่าเช่าโดยอ้างเอาการถูกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นมาเป็นเหตุผล ข้อนี้เองครับที่จะต้องอธิบายเพิ่มเติมกันให้มากขึ้น
การเช่าโดยปกติจะมีสัญญาเช่า เจ้าของที่ดินจะต้องรอให้ครบกำหนดเสียก่อนจึงจะเรียกค่าเช่าเพิ่มได้ การเรียกค่าเช่าเพิ่มนี้ปกติในระบบปัจจุบันก็มีอยู่แล้วโดยอ้างว่าค่าเช่าที่ดินทั่วไปสูงขึ้นก็ต้องขอเพิ่มบ้างเป็นเรื่องของธุรกิจ และเพราะเห็นว่าผู้เช่าต้องยอม เช่น ผู้เช่าได้ลงทุนตั้งโรงงานไว้แล้ว ผู้เช่ามีธุรกิจการค้าซึ่งลูกค้าในย่านนั้นรู้จักและติดอยู่ในความนิยมแล้ว หรือถ้าเป็นไร่นาผู้เช่าก็อาจจะปรับปรุงบำรุงที่ดินไว้แล้วคงไม่อยากจะไปบุกเบิกหักร้างถางพงใหม่ การเรียกค่าเช่าเพิ่มแบบนี้มีอยู่แล้วในระบบปัจจุบัน
ส่วนการทำสัญญาเช่าที่กำหนดให้ผู้เช่าเป็นผู้จ่ายค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินด้วยนั้น อาจแก้ได้โดยออกบทเฉพาะกาลให้ผู้เช่าไม่ต้องจ่ายภาษีที่ดินตามระบบใหม่ในส่วนที่เกินกว่าค่าเช่าขณะนั้นบวกค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินเดิมที่ถูกแทนที่ด้วยภาษีที่ดินตาม พ.ร.บ.ฉบับใหม่ โดยเจ้าของที่ดินต้องรับภาระในส่วนที่เกินเอง
ส่วนในระบบภาษีที่ดิน ถึงแม้เจ้าของที่ดินจะมีเหตุผลว่าถูกเก็บภาษีเพิ่มขึ้น แต่ผู้เช่าก็มีเหตุผลโต้แย้งว่าภาษีนี้รัฐบาลเรียกเก็บเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมเป็นธรรมในสังคม ไม่ใช่จะให้เจ้าของที่ดินผลักภาระมาให้แก่ผู้เช่า ซ้ำเมื่อค่าเช่าที่ดินโดยทั่วไปลดลงแล้ว เจ้าของที่ดินจะกล้าเรียกเอาค่าเช่าจากผู้เช่าเดิมให้เพิ่มรุนแรงขึ้นกว่าในระบบปัจจุบันได้อย่างไรก็ยังน่าสงสัย

หากเจ้าของที่ดินจะขอขึ้นค่าเช่าให้ได้ ก็เป็นธรรมดาที่ผู้เช่าอาจต้องยินยอมบ้าง อย่างที่ยินยอมมาแล้วในระบบปัจจุบัน แต่โอกาสที่ผู้เช่าจะไม่ยินยอมเสียค่าเช่าเพิ่มขึ้นจะมีมากขึ้น เพราะสามารถย้ายออกไปหาที่เช่าใหม่ได้ง่ายขึ้นโดยเสียค่าเช่าต่ำกว่าในระบบปัจจุบันด้วยซ้ำ ย่านธุรกิจเองก็เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ เช่น จากบางลำพู พาหุรัด ไปเป็นราชประสงค์ และสยามสแควร์ เป็นต้น และถึงแม้การย้ายจะทำไม่ได้ทุกราย แต่ถ้ามีผู้สามารถย้ายได้เพียง 10% หรือ 20% ก็จะมีผลอย่างมากต่อการกำหนดอัตราค่าเช่าทั่วไป เพราะเจ้าของที่ดินจะถูกบังคับทางอ้อมด้วยภาษีที่ดินให้ต้องดิ้นรนงอนง้อหาคนเช่า เพื่อให้คุ้มกับที่ตนจะต้องรับภาระภาษีตามระบบใหม่

ผู้อยู่ในบ้านซึ่งมีบริเวณที่ดินกว้างขวาง ก็อาจต้องแบ่งที่ดินขาย หรือให้เช่า หรือปลูกบ้านหรืออาคารในที่ดินของตนให้เช่า เพื่อมิให้ตนเองรับภาระภาษีคนเดียวซึ่งหนักไป บ้านชั้นเดียวแคบๆ อาจกลายเป็นตึก 10 ชั้น กว้างขวางเกือบเต็มพื้นที่ เพื่อให้คุ้มกับภาษี ทำให้คนมีที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นมากมาย และค่าเช่าถูกลง

อีกประการหนึ่ง ถ้าผู้เช่าจะต้องเสียค่าเช่าเพิ่มขึ้นโดยเหตุที่เจ้าของที่ดินจะผลักภาระภาษีให้แก่ผู้เช่าแทนที่จะลดลง โรงงานและธุรกิจต่างๆ อาจจะย้ายไปอยู่ห่างเมืองออกไป (ซึ่งที่ดินราคาถูกและภาษีที่ดินก็ต่ำ) นี่เป็นการต่อต้านกันไปในตัว ซึ่งจะทำให้ค่าเช่าที่ดินทำเลดีในเมืองสูงไปกว่าเดิมมิได้ ซ้ำ ที่ดินในเมืองหรือใกล้เมืองที่ยังว่างอยู่ก็มี ซึ่งจะรับธุรกิจหรือโรงงานเหล่านี้ไว้ได้ไม่น้อย

ค่าเช่าที่ดินย่อมมีแนวโน้มที่จะเป็นไปตาม “กฎว่าด้วยค่าเช่า” เสมอ สำหรับภาษีที่ดินเป็นเพียงส่วนแบ่งค่าเช่าที่รัฐบาลเรียกเก็บจากเจ้าของที่ดิน เท่ากับว่ารัฐบาลมีหุ้นส่วนอยู่ในที่ดินด้วยเท่านั้น ถ้ารัฐบาลเรียกเก็บภาษีมากขึ้นก็เท่ากับว่ารัฐบาลมีหุ้นส่วนมากขึ้น และเอกชนเจ้าของที่ดินมีหุ้นส่วนน้อยลง

อย่างไรก็ดี ถ้าสมมติว่าเจ้าของที่ดินจะเกิดสามารถขึ้นค่าเช่าได้จริง ตามที่หลายคนกลัวกัน เราก็ยังมีทางแก้ คือ ให้รัฐบาลประกาศควบคุมค่าเช่าสำหรับที่ดินที่มีการเช่ากันอยู่แล้ว (เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า) พร้อมกันกับที่ประกาศใช้ระบบภาษีที่ดิน เมื่อพ้นระยะหนึ่งไปแล้วจะมีการสร้างบ้านหรืออาคารมากขึ้น ค่าเช่าย่อมจะลดลงตามธรรมชาติ

ในเรื่องของราคาสินค้าที่เกรงว่าจะสูงขึ้นนั้น เมื่อค่าเช่าที่ดินไม่สูงขึ้น (และโดยทั่วไปจะกลับต่ำลง) ต้นทุนการผลิตสินค้าก็จะไม่สูงขึ้น และถึงแม้ค่าแรงจะสูงขึ้นก็เป็นในส่วนที่ได้จากการต้องยอมเสียของเจ้าของที่ดิน และเมื่อการผลิตมีมากขึ้นตามที่ได้อธิบายมาแล้ว ราคาสินค้าก็จะลดต่ำลง

ขออธิบายเพิ่มเติมเล็กน้อยว่า ในกรณีที่บริษัทผู้ผลิตเป็นเจ้าของที่ดินเอง ต้นทุนการผลิต (Cost of Production) ก็จะยังคงคิดรวมค่าเช่าที่ดินไว้ด้วย (โดยคิดราคาที่ดินเป็นทุนหรือ Capital ที่จะต้องได้ดอกเบี้ย) สำหรับในระบบภาษีที่ดินซึ่งที่ดินเป็นเสมือนทรัพย์สินของส่วนรวมร่วมกัน ราคาที่ดินจะเป็นศูนย์หรือต่ำมาก ในกรณีนี้ต้นทุนการผลิตในด้านที่ดินจะคิดจากภาษีที่ดินซึ่งบริษัทจะถูกเก็บ หรือค่าเช่า แทนที่จะคิดจากดอกเบี้ยของราคาที่ดิน

ขอหมายเหตุไว้อีกชั้นหนึ่งว่า การคิดค่าเช่าที่ดินเป็นต้นทุนการผลิตตามที่กล่าวไว้นั้นได้อธิบายตามหลักการคิดบัญชีหรือธุรกิจ แต่ตามหลักเศรษฐศาสตร์ ต้นทุนการผลิตน่าจะคิดจากการลงแรงลงทุนที่ขอบริมแห่งการผลิต ถ้าเป็นที่ดินแห่งอื่นๆ ซึ่งมีค่าเช่าก็ย่อมจะได้ผลผลิตหรือมีรายได้มากขึ้น (โดยลงทุนลงแรงเท่าเดิม) เป็นการชดเชยกันไปในตัว ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์จึงกล่าวว่าค่าเช่าที่ดินไม่ใช่สาเหตุที่ไปเพิ่มต้นทุนการผลิต (แต่เป็นผลจากการได้ผลผลิตหรือมีรายได้เพิ่มขึ้น) อย่างไรก็ดีถ้ามีการเก็งกำไรเก็บกักที่ดิน ขอบริมแห่งการผลิตก็จะขยายออกไปยังที่ดินซึ่งเลวลง ต้นทุนการผลิตจะต้องสูงขึ้นกว่าเดิม จึงทำให้สินค้ามีราคาสูงขึ้น

หากเราเกรงราคาสินค้าจะสูงขึ้นเนื่องจากภาษีที่ดินแล้ว ที่น่าจะเกรงมากกว่าก็คือราคาสินค้าจะสูงเพราะภาษีอื่นๆ ซึ่งเก็บกันอยู่ในระบบปัจจุบัน เพราะภาษีอื่นๆ เหล่านี้สามารถผลักภาระภาษีได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือภาษีทางอ้อม และแม้แต่ภาษีมรดกหรือภาษีเงินได้ซึ่งถือกันว่าเป็นภาษีทางตรงก็ยังทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้นได้ เพราะเมื่อจะต้องถูกเก็บภาษีมากๆ การลงทุนลงแรงก็จะได้รับผลตอบแทนสุทธิต่ำทำให้กำลังใจที่จะขยายการผลิตลดลง ถ้าเป็นภาษีมรดกก็จะทำให้กำลังใจที่จะทำงานเพื่อสะสมมรดกลดลง เพราะฉะนั้นการผลิตหรือโรงงานจะไม่ขยายหรือไม่เพิ่มขึ้นเท่าที่ควร ผลร้ายจะกลับเกิดแก่ประเทศชาติและผู้ใช้แรงงาน คือ ผลผลิตของทั้งประเทศต่ำ การว่างงานมีมากขึ้น ค่าแรงต่ำ และเมื่อการผลิตน้อย สินค้าก็จะมีราคาสูงขึ้นครับ

บทความที่เกี่ยวข้อง
นิยามศัพท์และกฎมูลฐานทางเศรษฐศาสตร์แบบของจอร์จ
//www.oknation.net/blog/utopiathai/2011/06/29

จากเว็บ utopiathai.webs.com



Create Date : 05 กันยายน 2554
Last Update : 5 กันยายน 2554 22:35:07 น. 1 comments
Counter : 916 Pageviews.

 
มีหลายคนเป็นห่วงว่าคนจนที่มีที่ดินเป็นของตนเองอยู่ขณะนี้จะเดือดร้อนเพราะต้องเสียภาษีแรงเสมือนกลายเป็นผู้เช่าที่ดินจากรัฐ เกรงจะรักษาที่ดินไว้ไม่ได้
ผมก็ขอให้นึกถึงคนจนเยอะแยะที่ต้องเสียค่าเช่าที่ดิน-บ้านอยู่แล้วในปัจจุบัน (เกินควรด้วย เพราะการเก็งกำไรกักตุนที่ดิน)
แถมยังต้องเสียภาษีการลงแรงลงทุนผลิตและค้าอีก รวมถึงภาษีมูลค่าเพิ่มแทบทุกครั้งที่ซื้อของกินของใช้ (ซึ่งในระบบภาษีเดี่ยวจากที่ดิน จะไม่มีภาษีพวกนี้)
อนึ่ง ระบบภาษีที่ดินควรจะค่อย ๆ เพิ่ม ใช้เวลาราว 30 ปี เพิ่มปีละ 1/30 ของค่าเช่าที่ควรเป็นในแต่ละปี พร้อมกับลดภาษีการทำงานและการลงทุนลงเท่า ๆ กัน ดังนั้น ภาระภาษีก็ไม่น่าจะหนักเกินไป ถ้าคนจนที่มีที่ดินอยู่แล้วไม่ได้มีที่ดินมีมูลค่ามากเกินส่วนเมื่อเทียบกับความสามารถทำงานของเขา

ส่วนเรื่องมรดกที่ดินที่ได้มาจะสูญเสียไป ควรเลิกคิดได้ เพราะในระบบใหม่ ความคิดเปลี่ยนเป็นว่าที่ดินควรเป็นสมบัติเท่าเทียมกันของพลเมืองทุกคน

(สมัยนี้ควรเพิ่มภาษีอีก 2 อย่างคือภาษีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญหมดเปลืองไปในการผลิต และ ค่าชดใช้การทำความเสียหายแก่สิ่งแวดล้อม)

เมื่อภาษีเท่ากับค่าเช่าที่ควรเป็น ราคาที่ดินจะเป็นศูนย์ (ไม่มีราคา) บ้านก็ราคาต่ำลง เพราะไม่มีภาษีสิ่งก่อสร้างและภาษีการลงแรงลงทุนก่อสร้าง จะทำให้คนสามารถย้ายที่อยู่ได้ง่ายขึ้นมาก ทำให้การใช้ที่ดินมีประสิทธิภาพสูงขึ้น

ถ้าไม่เก็บภาษีที่ดินเท่าค่าเช่าที่ควรเป็น ที่ดินก็จะยังเป็นที่หมายปองของนักเก็งกำไรที่ดินต่อไป
ผลร้ายที่มีอยู่จะยังคงมีต่อไป ดังนี้:

คนจนต้องเช่าที่ดิน (และบ้าน) แพงกว่าที่ควรเป็น หาที่ดินทำกินเป็นนายของตนเองได้ยาก หางานทำยาก ค่าแรงถูกกดต่ำ
และจะยังต้องเก็บภาษีจากการทำงานและการลงทุนต่อไป เป็นการลดรายได้ และ ทำให้สินค้าแพง ค่าครองชีพสูง ขายแข่งสู้ต่างประเทศได้ยาก ค่าแรงยิ่งต่ำ
ซ้ำยังต้องทุกข์ยากจากวิกฤตฟองสบู่วัฏจักรเศรษฐกิจเป็นระยะ ๆ อีกต่อไป

นี่คือผลการรังแกผู้ลงแรงลงทุนผลิต (ก่อความเจริญ) แต่เอื้อประโยชน์แก่เจ้าของที่ดิน - เสือนอนกิน

จาก //www.utopiathai.webs.com


โดย: สุธน หิญ วันที่: 5 กันยายน 2554 เวลา:22:42:47 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 
 
 

สุธน หิญ
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




แก้ความอยุติธรรมขั้นฐานราก
ตามแนวเฮนรี จอร์จ
http://utopiathai.webs.com
เลิกภาษีการลงแรงลงทุนผลิตและค้า
เลิกภาษีเงินได้ เพิ่มภาษีที่ดิน
ค่อยๆ เปลี่ยนแปลง ใช้เวลาสัก 30 ปี


เปิดเว็บต่างแดนดูไม่ได้ ให้ google ช่วยหา free anonymous proxy server ของต่างประเทศซึ่งมีอยู่มากเพื่อเปิดให้แทนครับ (ในไทยอาจมีการปิดกั้นเว็บของต่างแดน เว็บย่อยที่คนไทยอาศัยใช้กันก็พลอยถูกปิด)

เว็บหลักของผม ยูโทเพียไทย_1
* หน้ารวมลิงก์ยูโทเพียไทย_1 *

หนังสือดีเด่นแปล Progress and Poverty หนังสือ ความยากจนที่ไม่เป็นธรรม และ บทความ ของผม ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ยินดีให้เผยแพร่ต่อด้วยความขอบคุณ ยกเว้นบทความแปลกรุณาอ่านเงื่อนไขจากต้นฉบับภาษาอังกฤษที่อ้างไว้ครับ


- ศัพท์เศรษฐศาสตร์ ดร.บุญเสริม
- ภาษีทรัพย์สินสหรัฐฯ
- ภาวะตลาดอสังหาฯ
- ภาวะตลาดที่อยู่อาศัย 2537-51
- ราคาที่ดินทั่วไทยรายแปลง
- สรุปราคาประเมินใน กทม.ปี 2551-54
- การเปลี่ยนแปลงราคาที่ดินใน กทม.และปริมณฑลปี 2528-50


[Add สุธน หิญ's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com
pantip.com pantipmarket.com pantown.com