|
 |
 |
 |
 |
|
ผิดศีลคือระบบภาษีของไทยและแทบทุกประเทศทั่วโลก
ศีลที่ว่านี้คือ อทินนาทานา เวรมณี (เว้นการลักขโมย รวมทั้งเอาทรัพย์ของผู้หนึ่งไปให้แก่ผู้อื่น) จึงได้เกิดความยากจนแก่คนส่วนใหญ่ และโลกต้องเดือดร้อนเป็นระยะๆ เรื่อยมาจากวิกฤตฟองสบู่วัฏจักรอสังหาริมทรัพย์จากการเก็งกำไรที่ดิน โดยรัฐให้เก็บภาษีจากสิ่งที่ควรเป็นของส่วนบุคคลมาบำรุงส่วนรวม เช่น ภาษีจากการลงแรงลงทุนทำการผลิต การค้า และการบริการ แต่สิ่งที่ควรเป็นของส่วนรวมกลับเก็บภาษีเพียงน้อยนิด เช่นภาษีที่ดิน ซึ่งที่ดินมิใช่สิ่งที่มนุษย์ผู้ใดสร้าง และการที่ที่ดินมีราคา/ค่าเช่าขึ้นมาก็เป็นเพราะการมีชุมชนและกิจกรรมของส่วนรวม ดังจะเห็นได้จากที่ดินว่างเปล่า เจ้าของที่ดินไม่ได้ทำอะไร แต่อยู่กลางเมือง กลับมีราคาตารางวาละเป็นแสน แม้แรงงาน (กาย/สมอง) จะมีการศึกษามีความรู้ความเชี่ยวชาญสูงขึ้นเป็นการทั่วไป หรือเกิดความเจริญก้าวหน้า พลังความสามารถการผลิตจะสูงขึ้นด้วยนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีก็ตาม แต่ถ้าภาษีที่ดินต่ำ ค่าแรงย่อมจะขึ้นสูงไม่ได้ เพราะมันไปเพิ่มความคาดหวังว่าที่ดินจะยิ่งมีราคาสูงขึ้นไปอีก ก็ยิ่งมีการซื้อกักตุนที่ดิน ราคา/ค่าเช่าที่ดินยิ่งสูง ส่วนแบ่งผลตอบแทนที่เหลือสำหรับแรงงานและทุนจึงไม่เพิ่มหรือกลับลด การแก้ปัญหาที่ถูกต้องเป็นธรรม คือ ค่อย ๆ เพิ่มภาษีที่ดิน จนในที่สุดเท่าค่าเช่าศักย์ของที่ดินนั้นๆ ขณะเดียวกันก็ลดภาษีการผลิตการค้าการบริการ และภาษีเงินได้ ลงชดเชยกันครับ แนวคิดคือควรถือว่าที่ดินเป็นของส่วนรวมทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน มิใช่ว่าใครจะถือครองเท่าไรก็ได้ มิฉะนั้น จะมีคนที่ไม่มีที่ดินอยู่ด้วย และเขาจะรอดชีวิตอยู่ได้ก็แต่โดยจ่ายค่าเช่าให้แก่ผู้มาถือครองไว้ก่อน ที่ดินนั้นมีที่ดินชั้นดีเลวซึ่งราคาก็ลดหลั่นตามกันไป ซึ่งขึ้นกับทำเล (location) ที่เขาพูดกันว่ามีเกณฑ์พิจารณา ๓ ประการ คือ ๑. ทำเล ๒. ทำเล และ ๓. ทำเล
ที่ดินที่ขณะนี้ไม่มีราคา เรียกว่า ที่ดินชายขอบ หรือ ขอบริมแห่งการผลิต (margin of production) ซึ่งมีนิยามว่าคือ ที่ดินที่เลวที่สุดที่จำเป็นต้องใช้กัน ซึ่งในขณะเดียวกันก็เป็นที่ดินที่ดีที่สุดที่จะหาได้โดยไม่ต้องเสียค่าตอบแทน (จาก นิยามศัพท์และกฎมูลฐานทางเศรษฐศาสตร์แบบของจอร์จ//www.oknation.net/blog/utopiathai/2011/06/29 )
ค่าเช่าศักย์ของที่ดินหรือคือค่าเช่าที่ทางการประเมิน ซึ่งถ้าถูกต้องดี ก็ควรจะเท่ากับค่าเช่าตามกลไกตลาด และจะเป็นตัวบอกความได้เปรียบเสียเปรียบกันในการได้ครองที่ดินดีเลวผิดกัน ดังนั้น ถ้าค่อย ๆ เพิ่มภาษีที่ดิน สมมุติว่าเพิ่มปีละ ๑/๓๐ ของค่าเช่าศักย์ในแต่ละปี ราว ๓๐ ปีก็จะได้ภาษีที่ดินเท่าค่าเช่า ราคาที่ดินก็จะเป็นศูนย์ วิธีนี้ผมถือว่านิ่มนวลในการปฏิรูปที่ดินด้วยภาษี ต่อไปจะไม่มีใครได้เปรียบใครในด้านการถือครองที่ดิน และทุกคนจะไม่ต้องจ่ายภาษีที่เกิดจากผลตอบแทนการผลิต การค้า และ การบริการ (รวมทั้งภาษีเงินได้) อีกต่อไป
"เศรษฐศาสตร์ที่ปฏิเสธหรือไม่ยอมรับค่านิยมทางศีลธรรมหาใช่เศรษฐศาสตร์ไม่" อมตวาจาของมหาตมา คานธี รวบรวมและแปลโดย กรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย "การผูกขาดที่ดินมิใช่การผูกขาดเพียงชนิดเดียว แต่ก็เป็นการผูกขาดที่ใหญ่หลวงที่สุด - เป็นการผูกขาดตลอดกาล และ เป็นต้นกำเนิดของการผูกขาดอื่น ๆ ทุกรูปแบบ . . . " "ที่ดิน ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นต่อการมีชีวิตอยู่ของมนุษย์ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดแหล่งที่มาแห่งทรัพย์สินทั้งสิ้น ซึ่งมีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งมีตำบลที่ทางภูมิศาสตร์คงที่ - ที่ดิน ข้าพเจ้าขอกล่าว แตกต่างจากทรัพย์สินในรูปแบบอื่น ๆ ทั้งมวล . . . . " "ข้าพเจ้าหมายถึงกระบวนการมากกว่าตัวเจ้าของที่ดินแต่ละคน ข้าพเจ้าไม่ประสงค์จะทำให้ประชาชนเกิดความเกลียดชังชนชั้นหนึ่งชั้นใดขึ้น ข้าพเจ้ามิได้คิดว่าผู้ที่หาเงินจากส่วนเพิ่มจากที่ดินอันมิใช่เกิดจากการลงแรงลงทุนนั้นเลวกว่าบุคคลอื่นที่หากำไร เท่าที่อาจจะหาได้ในโลกที่มีความลำบากนี้โดยไม่เป็นการผิดกฎหมายและเป็นไปตามที่ปฏิบัติกันทั่วไป ที่ข้าพเจ้าโจมตีนั้นไม่ใช่บุคคล แต่เป็นระบบ ไม่ใช่บุคคลเลว แต่เป็นกฎหมายต่างหากที่เลว ที่ควรจะถูกติเตียนนั้นไม่ใช่บุคคลผู้กระทำการอันกฎหมายได้อนุญาตไว้และผู้อื่นก็กระทำกัน แต่ควรจะเป็นรัฐที่ถูกตำหนิหากไม่หาทางปฏิรูปกฎหมายและแก้ไขการปฏิบัติ เราไม่ต้องการจะลงโทษเจ้าของที่ดิน แต่เราต้องการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย" วินสตัน เชอร์ชิลล์ (www.progress.org/banneker/chur.html)
Create Date : 25 พฤศจิกายน 2554 |
Last Update : 25 พฤศจิกายน 2554 0:40:56 น. |
|
0 comments
|
Counter : 731 Pageviews. |
 |
|
|
|
|
|
|
 |
 |
 |
 |
|
|