|
 |
 |
 |
 |
|
จาก ๓ ชนชั้น เหลือ ๒
จาก ๓ ชนชั้น เหลือ ๒
ที่จริงเราก็รู้กันอยู่ว่ามนุษย์นั้นขาดที่ดินไม่ได้ มิฉะนั้น ไม่มีทางทำมาหาเลี้ยงชีพ หรือแม้ที่ซุกหัวนอน อารยชนจึงควรให้มีสิทธิเสมอภาคที่จะใช้ที่ดินซึ่งมีมาตามธรรมชาติก่อนมนุษย์เกิด มิใช่จะให้ผู้มาก่อนหรือผู้มีอำนาจกอบโกยเอาไว้เป็นของตนแบบคนไร้อารยธรรม ระบบปัจจุบันปล่อยให้เอกชนถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน โดยได้รับผลประโยชน์จากที่ดินไปแทบทั้งหมด ซื้อขายกันได้ คนมีอำนาจมีเงินก็พากันเก็งกำไรซื้อหาเก็บกักที่ดินกันไว้คนละมากๆ แบบรวมหัวผูกขาด โดยไม่ต้องนัดหมาย ราคาที่ดินพุ่งสูงเกินจริง คนยากจนด้อยโอกาสจึงหมดสิทธิ์ จะหาที่ซุกหัวนอนหรือทำกินต้องจ่าย ส่วย คือ ค่าเช่า ให้แก่เจ้าของที่ดิน
วิธีปฏิรูปเศรษฐกิจขั้นฐานรากของ Henry George ตามแนวทางในหนังสือ Progress and Poverty น่าจะเหมาะสม ซึ่งธนาคารโลกก็เคยเสนอเมื่อต้นปี ๒๕๑๘ ให้ไทยใช้วิธีเก็บภาษีที่ดิน อันเป็นไปตามหลักการ ไม่ถือเอาของผู้อื่นมาเป็นของตน หรือ ศีลข้อ ๒
เพราะประโยชน์ที่ไปทำให้ราคาที่ดินสูงขึ้น หรือ แม้แต่ดำรงราคาอยู่ได้ ไม่ได้เกิดจากการกระทำของเจ้าของที่ดิน แต่เป็นเพราะการมีชุมชน ยิ่งประชากรหนาแน่นเป็นย่านธุรกิจ ที่นั่นยิ่งมีราคาสูง และเพราะการบริการ/การบริหารของราชการ ซึ่งก็ได้ไปจากเงินภาษีของส่วนรวม รวมทั้งจากคนจนที่ต้องจ่ายส่วยให้แก่เจ้าของที่ดินอยู่แล้ว ดังนั้นค่าเช่าที่ดินซึ่งขณะนี้เจ้าของได้ไป ไม่ว่าจะให้เช่าโดยตรง หรืออยู่อาศัย หรือทำกิจการเองในที่ดินนั้น หรือเก็งกำไรปล่อยว่างไว้ ควรเก็บเป็นภาษีทั้งหมด (แต่ค่อยๆ เพิ่มภาษี อาจใช้เวลา ๒๐-๓๐ ปี)
ค่าเช่าที่ดินที่จะเก็บเป็นภาษีทั้งหมดนี้ เป็นเครื่องมือตามธรรมชาติที่ทำให้ผลตอบแทนต่อการลงทุนลงแรงที่แท้มีความเท่าเทียมกัน แม้จะลงทุนลงแรงในที่ดินดีเลวถูกแพงผิดกัน เพราะที่ทำเลดีซึ่งจะให้ผลตอบแทนสูง ค่าเช่าที่ดินก็แพง เป็นการลดผลตอบแทนต่อการลงทุนลงแรงในที่ดินดีลงไปในตัว
อีกประการหนึ่ง เราอยากให้ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน แต่การจะเอาทรัพย์สินที่ได้จากการลงทุนลงแรงของคนหนึ่งไปให้แก่อีกคนหนึ่งย่อมผิดศีล ส่วนที่จะแบ่งให้เท่าเทียมกันได้ก็คือ ที่ดิน ซึ่งมิได้เกิดจากการลงทุนลงแรงที่แท้
ภาษีที่ดินที่เก็บมาได้นั้นควรแบ่งให้แก่ราษฎรทุกคน รวมทั้งทารกเกิดใหม่ ให้เท่าๆ กัน ในฐานะเจ้าของที่ดินเท่าเทียมกัน หรือมิฉะนั้นก็ใช้แทนภาษีอื่นๆ ที่เก็บอยู่ขณะนี้ โดยค่อยๆ ยกเลิกภาษี (และหน่วยจัดเก็บ) ไปทีละอย่างๆ ตามที่ควร
เหตุผลที่ควรยกเลิกภาษีจากการลงทุนลงแรงหรือเก็บน้อยที่สุดเพียงที่จำเป็นนั้น เพราะการที่แต่ละคนมาร่วมมือกัน แบ่งงานกัน ก่อผลผลิตและบริการ แล้วนำมาแลกเปลี่ยนขายซื้อกัน ทำให้มนุษย์สามารถมุ่งความสนใจไปฝึก/ศึกษาให้มีความรู้ความชำนาญเฉพาะอย่างได้ ทำให้เกิดความรู้สั่งสม ศิลปะวิทยาและอารยธรรมเจริญก้าวหน้า เป็นการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการสนองความต้องการแก่ทั้งตนเองและผู้อื่น ก่อประโยชน์ให้แก่กันและกัน ทำให้เกิด ความอยู่ดีกินดี แก่คนหมู่มากในสังคมอยู่แล้ว ผู้ใดมีรายได้มากก็แสดงว่ามีคนอื่นอยากมาซื้อขายแลกเปลี่ยนกับเขามาก โดยเขาให้ประโยชน์ตอบแทนแก่ผู้อื่นมาก ควรได้รางวัลเพื่อส่งเสริมกำลังใจด้วยซ้ำ แทนที่จะถูกลงโทษปรับด้วยภาษีให้เกิดความท้อถอย
การเก็บภาษีที่ดินเต็มขนาด แล้วยกเลิกภาษีการลงทุนลงแรง จะเกิดผลดีดังนี้ ๑. มนุษย์มีความเท่าเทียมกันมากขึ้น เพราะภาษีที่ดินแบบนี้ทำให้ทุกคน รวมทั้งทารก เสมือนเป็นเจ้าของที่ดินเสมอภาคกัน ๒. ที่ดินจะไม่ถูกเก็งกำไรเก็บกักปิดกั้นไว้ แต่จะเปิดออกเพื่อหาประโยชน์ให้คุ้มภาษีที่ดิน (ที่ดินเปิด คือโอกาสทำงานเปิด) ๓. ค่าเช่าที่ดินจะลดต่ำลง (เพราะการเก็งกำไรที่ดินลด) แรงงานและทุนจึงได้ส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นจากการผลิต ๔. ซ้ำแรงงานและทุนไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ หรือเสียน้อยลง จึงมีรายได้สุทธิเพิ่มขึ้นด้วย ๕. สินค้าจะมีราคาถูกลง เพราะการลดภาษีมูลค่าเพิ่ม อากรสรรพสามิต และอากรขาเข้า เป็นต้น ๖. ความสามารถแข่งขันกับต่างประเทศจะสูงขึ้น เพราะต้นทุนการผลิตต่ำลง ต่างชาติจะนิยมมาเที่ยวไทยมากขึ้น ดีกว่าฮ่องกง สิงคโปร์ เพราะเราจะปลอดภาษี (ส่วนที่ทำให้ของแพง) มากกว่า ๗. เกิดความคล่องตัวในการย้ายถิ่นฐาน เพราะที่ดินและบ้านจะมีราคาหรือค่าเช่าถูกลง และหาได้ง่ายขึ้น ที่ดินในเมืองจะได้รับการใช้ประโยชน์มากขึ้น มีบ้าน แฝลต หรือคอนโดให้เช่ามากขึ้น แต่ค่าเช่าต่ำลง ปัญหาการเดินทางเช้าเข้าเมืองเย็นกลับออกนอกเมืองที่ติดขัดอัดแอเสียเวลามากจะบรรเทาลง ปัญหาแหล่งเสื่อมโทรม (slums) ในเมืองจะบรรเทาลงเช่นเดียวกัน ๘. กรณีพิพาทขัดแย้งแย่งกรรมสิทธิ์ที่ดินจะลดลงมากโดยอัตโนมัติ
เมื่อเก็บภาษีที่ดินได้เต็มขั้น ตามระยะเวลาที่น่าจะเป็น คือ ๒๐๓๐ ปีแล้ว ชนชั้นเจ้าของที่ดินจะหายไปโดยไม่ต้องพบกับความรุนแรง คงเหลือเพียง ๒ ชนชั้นคือ เจ้าของปัจจัยการผลิตที่เรียกว่า แรงงาน และ ทุน ที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งเราก็อาจเรียกระบบใหม่ได้ว่า แรงงาน-ทุนนิยม
เหตุที่กล่าวว่า นายทุนกับแรงงานมีผลประโยชน์ร่วมกัน ก็เพราะ ทุนคือแรงงานในอดีต คือแรงงานที่ได้ใช้ไปแล้วเพื่อการผลิต แต่นำผลผลิตนั้นมาใช้ประโยชน์ภายหลัง บางท่านเรียกทุนว่า คือ แรงงานที่สะสมไว้ ประการที่ ๒ ค่าแรง และ ดอกเบี้ย (ผลตอบแทนต่อทุน) ตามปกติจะสูงขึ้นหรือต่ำลงไปด้วยกัน เช่น ถ้าเกิดเครื่องจักรกล (คือ ทุน) จะแพงเกินไปเมื่อเปรียบเทียบกับค่าแรง ผู้ประกอบการก็จะไม่ซื้อเครื่องจักรกลนั้นมาใช้ แต่จะจ้างคนทำงานแทนเครื่องจักรกลเพิ่มขึ้น หรือมีการใช้แรงงานผลิตเครื่องจักรกลให้มากขึ้น เป็นการปรับแต่งตามธรรมชาติ ส่วนความพยายามที่จะให้ตนเองได้รับผลตอบแทนมากกว่าผู้อื่นฝ่ายอื่น ทำให้เกิดการแก่งแย่ง การต่อรองกันนั้น ถือได้ว่าเป็นเรื่องธรรมดาของปุถุชน แม้แรงงานด้วยกันเองก็ต้องแข่งขันกัน แต่ก็ต้องมีกฎกติกาและพยายามควบคุมดูแลให้ความเป็นธรรม
คนหนึ่งๆ อาจเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตทั้ง ๓ อย่าง (ที่ดิน แรงงาน ทุน) หรือ ๒ อย่างก็ได้ แต่ในการพิจารณาให้เกิดความเข้าใจเพื่อแก้ปัญหา เราก็จะต้องว่ากันเป็นส่วนๆ ไป
Create Date : 31 พฤษภาคม 2550 |
Last Update : 31 พฤษภาคม 2550 7:24:35 น. |
|
1 comments
|
Counter : 944 Pageviews. |
 |
|
|
|
|
|
|
 |
 |
 |
 |
|
|