ยูโทเพียไทย
เศรษฐศาสตร์
เพื่อความเป็นธรรม

 

วิธีแก้ไขการเก็งกำไรเก็บกักที่ดินสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช


วิธีแก้ไขการเก็งกำไรเก็บกักที่ดินสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

เมื่อ 28 พ.ย.49 มีกระทู้ในโต๊ะห้องสมุด กลุ่มย่อยประวัติศาสตร์ เรื่อง แผ่นดินทอง - ตำนานภาษีอากรบางอย่าง ที่ //www.pantip.com/cafe/library/topic/K4915792/K4915792.html มีตอนหนึ่งอ้างพระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
เรื่องลัทธิธรรมเนียมต่างๆ ภาคที่ ๑๖ ตำนานภาษีอากรบางอย่าง มีข้อความตอนหนึ่งว่า

"ในหนังสือที่มองสิเออร์เดอลาลุแบร์ราชทูตแต่ง อธิบายว่า เมื่อครั้งรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้น เก็บส่วยสาอากรต่างๆ (คิดตามอัตราเงินที่ใช้ในปัจจุบัน) ดังนี้ คือ

๑. จังกอบเรือ (บรรทุกสินค้า) เดินเก็บตามขนาดเรือ ยาววาละบาท ๑ มีอธิบายว่า เมื่อในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ฯเพิ่มพิกัดขนาดปากเรือขึ้น เรือลำใดปากดกว่ากว่า ๖ ศอก (ถึงเรือนั้นจะยาวไม่ถึง ๖ วา) เก็บลำละ ๖ บาท และจังกอบเรือนี้ว่าตรวจเก็บที่ด่านขนอน

๒. จังกอบเรือสินค้า เก็บทั้งสิ่งสินค้าเข้า และสินค้าออก

๓. อากรค่านา ว่าเก็บไร่ละ ๒๕ สตางค์ มีอธิบายว่า แต่ก่อนถ้านาแห่งใดไม่ทำก็ไม่ต้องเสียค่านา สมเด็จพระนารายณ์ฯมีพระราชประสงค์จะมิให้คนหวงที่นาไว้เปล่าๆ ให้เก็บค่านาทั้งนาที่ทำและมิได้ทำ

๔. อากรสวน ทุเรียนเก็บต้นละ ๕๐ สตางค์ พลูเก็บค้างละบาทหนึ่ง (ดูแรงเกินไป ที่จริงพิกัดเห็นจะเป็นไร่ละบาท) หมาก เดิมเก็บพิกัดต้นละ ๓ ผล ถึงรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ฯเก็บเป็นเงิน (แต่พิกัดเท่าใดหากล่าวถึงไม่) มะพร้าวเก็บต้นละ ๕๐ สตางค์ ต้นส้ม ต้นมะม่วง ต้นมังคุด ต้นพริก (Pimentieri) เก็บต้นละบาท ๑ (ดูแรงเกินไป เห็นจะผิด) มีอธิบายว่า พริกไทยนั้น เดิมก็เสียอากร แต่สมเด็จพระนารายณ์ฯโปรดให้งดเก็บอากรเสีย มีพระราชประสงค์จะให้คนปลูกพริกไทยเป็นสินค้าให้มากขึ้น

๕. อากรสุรา เก็บตามจำนวนเตาที่ตั้งต้มสุราขาย ถ้าและที่เมืองใดไม่มีเตาสุรา (ปล่อยให้ราษฎรต้มกลั่นตามอำเภอใจ) เก็บอากรสุราเรียงตัวคน(ชายฉกรรจ์) คนละบาท ๑ มีอธิบายว่า ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ฯเพิ่มพิกัดอากรสุราขึ้นกว่าแต่ก่อนอีกเท่าหนึ่ง และเก็บอากรจากคนขายสุราด้วย คือขายย่อยเก็บร้านละบาท ๑ ถ้าขายเป็นจำนวนมาก เก็บตามจำนวนสุราโอ่งใหญ่(เท?)ละบาท ๑

๖. อากรค่าน้ำ เก็บจากอนุญาตที่ลหารให้คนหาปลา มีอธิบายว่า เป็นหน้าที่ออกญาท้ายน้ำเป็นพนักงานเก็บ

๗. อธิบายว่ามีอากรที่เกิดขึ้นใหม่ หรือตั้งขึ้นในรัชกาลนั้นเองอีก ๒ อย่าง คือ อากรบ่อนเบี้ยอย่าง ๑ และค่าอนุญาตให้ออกญาแมนตั้งโรงหญิงนครโสเภณีอย่าง ๑

(มีอากรอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเข้าใจว่าเก็บมาแต่โบราณ แต่มองสิเออร์เดอลาลุแบร์มิได้กล่าวถึง คือ อากรตลาด เก็บจากผู้ที่ออกร้านขายของในท้องตลาด แต่พิกัดอย่างไร หาทราบชัดไม่)"

จากข้อความดังกล่าว ส่วนที่น่าสนใจคือ

"ข้อ ๓. อากรค่านา ว่าเก็บไร่ละ ๒๕ สตางค์ มีอธิบายว่า แต่ก่อนถ้านาแห่งใดไม่ทำก็ไม่ต้องเสียค่านา สมเด็จพระนารายณ์ฯ มีพระราชประสงค์จะมิให้คนหวงที่นาไว้เปล่าๆ ให้เก็บค่านาทั้งนาที่ทำและมิได้ทำ"

นี่แสดงว่าการเก็งกำไรเก็บกักที่ดินมีมานานแล้ว และวิธีแก้ไขของสมเด็จพระนารายณ์ก็เป็นวิธีที่ดี เงิน ๒๕ สตางค์สมัยนั้นคงจะเท่ากับหลายร้อยบาทสมัยนี้

แต่อากรสวน ซึ่งเก็บตามจำนวนต้นไม้ เคยมีผลดังในหนังสืออเมริกันดีเด่น ชื่อ ความก้าวหน้ากับความยากจน หน้า 409 ว่า

"ภาษีที่โมฮัมเหม็ด อาลีเรียกเก็บจากต้นอินทผลัมได้ทำให้ชาวไร่ในอียิปต์ตัดต้นอินทผลัมของตนทิ้ง แต่ภาษีมากกว่านี้ 2 เท่าซึ่งเรียกเก็บจากที่ดินมิได้ทำให้เกิดผลเช่นนี้เลย"

(โมฮัมเหม็ด อาลี ค.ศ.1769-1849 แม่ทัพ ต่อมาได้เป็น Pasha หรือ อุปราชอียิปต์)




 

Create Date : 01 ธันวาคม 2549    
Last Update : 2 ธันวาคม 2549 14:11:07 น.
Counter : 567 Pageviews.  

คาร์ล มาร์กซ์ กับ เฮนรี จอร์จ

คาร์ล มาร์กซ์ กับ เฮนรี จอร์จ

มาร์กซ์เกิด ค.ศ.1818 ตาย 1883 จอร์จเกิด ค.ศ.1839 ตาย 1897
ปัญหาที่ทั้งมาร์กซ์และจอร์จเห็นคือ สมัยอุตสาหกรรมปฏิวัติ คนงานกลับยากจน ไม่ได้มีชีวิตดีขึ้นตามที่คาดหวังกัน
มาร์กซ์เห็นว่านายทุนขูดรีด เหลือให้แรงงานเพียงที่จำเป็นสำหรับการมีชีวิตต่อไป วิธีแก้คือให้ทรัพย์สินเป็นของส่วนรวม จากแต่ละคนตามความสามารถ แก่แต่ละคนตามความจำเป็น
จอร์จเห็นว่าเจ้าของที่ดินเป็นผู้ได้ประโยชน์ไปตามกฎการแบ่งผลตอบแทน วิธีแก้คือให้ที่ดินเป็นของส่วนรวมโดยใช้ภาษีมูลค่าที่ดินแทนภาษีจากการลงแรงลงทุน

ข้อความข้างล่างสองย่อหน้า ได้จาก //en.wikipedia.org/wiki/Land_value_tax ครับ

คำวิจารณ์ของมาร์กซ์เรื่องภาษีที่ดิน (ในฐานะที่นอกไปจากการเป็นมาตรการหนึ่งที่ใช้ในระยะเปลี่ยนแปลงสู่ลัทธิคอมมิวนิสต์) นับว่ามีอิทธิพลมากอยู่ มาร์กซ์แย้งว่า “ทั้งหมดเป็น . . . เพียงความพยายามตกแต่งแสดงร่วมกับลัทธิสังคมนิยมเพื่อรักษาฐานะการมีอำนาจครอบงำของฝ่ายนายทุนไว้และเพื่อก่อตั้งมันขึ้นใหม่ให้กว้างขวางกว่าปัจจุบัน” มาร์กซ์ยังคัดค้านการที่ลัทธิภาษีมูลค่าที่ดินเน้นให้เห็นความสำคัญของมูลค่าที่ดินด้วย โดยโต้แย้งว่า “โดยทฤษฎี ผู้นี้ [Henry George] เป็นคนล้าหลังอย่างสิ้นเชิง! เขาไม่เข้าใจอะไรเลยเกี่ยวกับสภาพของมูลค่าส่วนเกิน จึงเฉไฉออกไปในเรื่องการเก็งกำไรที่ดินซึ่งเป็นการเอาอย่างอังกฤษ แต่ปัจจุบันได้ล้าสมัยไปแล้วแม้ในหมู่คนอังกฤษ เรื่องส่วนต่างๆ ของมูลค่าส่วนเกินซึ่งถือว่ามีอยู่จริงโดยอิสระ และ เรื่องความสัมพันธ์ของกำไร ค่าเช่า และ ดอกเบี้ย ฯลฯ คำสอนหลักของเขา [Henry George] คือทุกสิ่งจะเรียบร้อยถ้ามีการจ่ายค่าเช่าที่ดินให้แก่รัฐ” (จาก //www.marxists.org/archive/marx/works/1881/letters/81_06_20.htm )

อย่างไรก็ตาม ใน ค.ศ.1875 [ก่อนมีจดหมายฉบับข้างบน] มาร์กซ์ก็ยอมรับอานุภาพของที่ดิน เขาเขียนในจดหมายอีกฉบับหนึ่งว่า “ในสังคมปัจจุบันเครื่องมือของแรงงานถูกผูกขาดโดยเจ้าของที่ดิน (การผูกขาดกรรมสิทธิ์ที่ดินถึงกับเป็นมูลฐานของการผูกขาดทุน) และนายทุน . . . นายทุนปกติมิใช่เจ้าของที่ดิน แม้แต่ที่ดินอันเป็นที่ตั้งแห่งโรงงานของเขาเอง” (จาก Marginal Notes to the Programme of the German Workers’ Party Written by Karl Marx, เม.ย./พ.ค. 1875 ตีพิมพ์ใน Die Neue Zeit, No. 18, Vol. I, 1891, พร้อมด้วยฉบับตัดย่อ ต้นฉบับเป็นภาษาเยอรมัน //www.oppressedpeople.org/library/cgp75.html )

และใน Das Kapital, vol. III, p. 901-2 คาร์ล มาร์กซ์ได้กล่าวว่า - "จากมุมมองของรูปแบบทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นของสังคม การให้เอกชนบางคนมีกรรมสิทธิ์ในแผ่นดินโลกเป็นความเฉาโฉดเหมือนกับการให้บุคคลหนึ่งมีกรรมสิทธิ์ในอีกบุคคลหนึ่ง แม้แต่สังคมหนึ่ง หรือแม้แต่ทุกสังคมรวมกัน ก็ไม่ใช่เจ้าของแผ่นดินโลก พวกเขาเป็นเพียงผู้ครอบครอง ผู้ใช้แผ่นดินโลก และจะต้องส่งต่อไปยังชนรุ่นหลังๆ ในภาวะที่ดีขึ้น เสมือนบิดาที่ดีของครอบครัว" (จาก //www.progress.org/geonomy/thinkers.html )

จาก George on socialism //members.aol.com/_ht_a/tma68/george.htm#socialism
“เราผิดกับพวกสังคมนิยมที่การวินิจฉัยความชั่วร้าย และเราผิดกับพวกเขาที่วิธีแก้ไข เราไม่กลัวทุน โดยถือว่าทุนทำจากฝีมือตามธรรมชาติของแรงงาน เรามองว่าดอกเบี้ย [ผลตอบแทนการลงทุน] เป็นไปตามธรรมชาติและเป็นธรรม เราจะไม่กำหนดขีดจำกัดต่อการสะสม จะไม่ก่อภาระให้แก่คนรวยโดยไม่เป็นภาระเท่าเทียมกันแก่คนจน เราไม่เห็นว่าการแข่งขันเป็นความชั่วร้าย แต่ถือว่าการแข่งขันโดยไม่มีข้อจำกัดเป็นสิ่งจำเป็นต่อสุขภาพแห่งองคาพยพทางอุตสาหกรรมและสังคมประดุจการหมุนเวียนโดยเสรีของโลหิตที่จำเป็นต่อสุขภาพของกายินทรีย์ เป็นตัวกระทำที่จะช่วยให้เกิดการร่วมมือกันเต็มที่” (The Condition of Labor, p. 61)

“สังคมนิยมไม่ได้สนใจกฎธรรมชาติ ไม่แสวงหา และไม่ใช้ความพยายามปฏิบัติให้สอดคล้องกับกฎธรรมชาติ . . . . ลัทธินี้ขาดแคลนหลักการที่เป็นแกนกลางและเป็นเครื่องนำทางมากกว่าปรัชญาใดๆ ที่ข้าพเจ้ารู้จัก” (The Science of Political Economy, p. 198)

“ที่จริงแล้ว ข้าพเจ้าคิดว่าการพยายามเข้าใจพวกสังคมนิยมมีแต่ทำให้ท่านเองสับสน ซึ่งข้าพเจ้าไม่ประหลาดใจ ความจริงคือพวกเขาไม่เข้าใจตัวเอง สำหรับคาร์ล มาร์กซ์ เขาคือเจ้าชายผู้ฟุ้งซ่าน” (An Anthology of Henry George's Thought, p. 78)

ในคำนำของหนังสือ Progress and Poverty นั้น Henry George เองกล่าวไว้ว่าสิ่งที่ตนได้พยายามกระทำถือว่าก่อให้เกิดความสอดคล้องต้องกันระหว่างอุดมคติของฝ่ายเสรีนิยมในเรื่อง "เสรีภาพ" และ "ปัจเจกนิยม" (Individualism) กับจุดประสงค์ของฝ่ายสังคมนิยมในเรื่อง "ความยุติธรรม" ทางเศรษฐกิจ "เป็นการเชื่อมสัจจะตามความคิดของสำนัก Smith และ Ricardo กับสัจจะตามความคิดของสำนัก Proudhon และ Lassalle ให้รวมเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน"

คำโต้วาทีภาษาอังกฤษระหว่าง เฮนรี จอร์จ กับ Serge Schevitch ผู้แทนพรรคสังคมนิยมที่นิวยอร์ก ค.ศ. 1887
และกับ H. M. Hyndman ที่ลอนดอน ค.ศ.1889 สามารถอ่านดูได้ที่
//www.cooperativeindividualism.org/george_socialist_debate.html และที่
//www.wealthandwant.com/HG/debate_hyndman_1889.html ครับ



หมายเหตุ เรื่องหน้าที่ของรัฐบาลนั้น จาก George on government //members.aol.com/_ht_a/tma68/george.htm#govt จอร์จกล่าวไว้บางตอนดังนี้:--

“เพื่อป้องกันมิให้รัฐบาลฉ้อโกงและกดขี่ การจัดองค์การและวิธีการของรัฐควรให้เป็นแบบธรรมดาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ หน้าที่ของรัฐบาลควรจำกัดเฉพาะที่จำเป็นต่อความอยู่ดีกินดีร่วมกัน . . . .
ความมุ่งหมายประการแรกและประการสำคัญของรัฐบาลมีกล่าวไว้อย่างน่าชื่นชมในเอกสารยิ่งใหญ่ซึ่งเราชาวอเมริกันให้เกียรติสูงมาก และละเลยอย่างมาก คือ คำประกาศเอกราช ความมุ่งหมายนี้คือให้มีหลักประกันสิทธิอันเท่าเทียมกันและไม่อาจโอนกันได้แก่ประชาชนตามที่พระผู้สร้างประทานไว้” (Social Problems, p. 171)

“ . . . . รัฐบาลไม่ควรควบคุมมากเกินกว่าที่จำเป็นในการประกันเสรีภาพด้วยการคุ้มครองสิทธิเท่าเทียมกันของแต่ละบุคคลจากการรุกรานของผู้อื่น และเมื่อการห้ามของรัฐบาลขยายออกล้ำเส้นนี้ ก็อาจมีอันตรายซึ่งเป็นการทำลายจุดหมายปลายทางที่ข้อห้ามเหล่านี้ตั้งใจจะรักษา” (Social Problems, p. 173)




 

Create Date : 31 ตุลาคม 2549    
Last Update : 9 พฤศจิกายน 2549 7:08:16 น.
Counter : 1354 Pageviews.  

การเปลี่ยนแปลงราคาที่ดินในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พ.ศ.2528-2550

การเปลี่ยนแปลงราคาที่ดินในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พ.ศ.2528-2550

มีฉบับใหม่ โปรดดูที่ //thaiappraisal.org/Thai/Market/Market160.htm





 

Create Date : 21 ตุลาคม 2549    
Last Update : 19 กันยายน 2550 13:07:54 น.
Counter : 621 Pageviews.  

หลักการพื้นฐานเรื่องสิทธิในที่ดิน

หลักการพื้นฐานเรื่องสิทธิในที่ดิน

การแบ่งประเภทของสิ่งต่างๆ

ในทัศนะของมนุษย์ ซึ่งย่อมถือตนเองเป็นศูนย์กลาง หรือเป็นใหญ๋ สรรพสิ่งทั้งหลายแบ่งได้เป็น ๓ ประเภทใหญ่ คือ
๑. สิ่งที่เกิดเองตามธรรมชาติ โดยรวมก็คือสากลจักรวาล หรือเอกภพ บางทีเราก็คิดเป็นส่วนย่อยที่เราเกี่ยวข้องด้วย เช่น โลก แผ่นดิน ทางเศรษฐศาสตร์คือ “ที่ดิน” ซึ่งหมายความรวมถึง เนื้อที่ หรือ ที่ว่าง (space) และทรัพยากรธรรมชาติ
๒. มนุษย์ มนุษย์เป็นทั้งผู้ผลิต และผู้บริโภค ที่ก่อผลกระทบกระเทือนใหญ่หลวงต่อทรัพยากรธรรมชาติ และ สิ่งแวดล้อม ยิ่งมีความสามารถผลิต (เจริญมาก?) ยิ่งก่อผลกระทบกระเทือนมาก การบริโภคก็วิจิตรประณีต หลากหลายขึ้นตามส่วน ด้านการผลิตนั้น มนุษย์ต้องใช้ “แรงงาน” (แรงกาย แรงสมอง รวมถึง การประกอบการ) กระทำต่อที่ดิน และต้องกระทำอยู่บนที่ดิน แม้ยามไม่ได้ผลิต เช่น เวลานอน ก็จำเป็นต้องมีเนื้อที่ หรือที่ดิน รองรับ หากถูกพรากไปจากที่ดิน มนุษย์จะมีชีวิตอยู่หาได้ไม่ เงื่อนไขแห่งการมีชีวิตคือต้องมีที่ดิน
๓. สิ่งที่มนุษย์ลงแรงลงทุนผลิตได้มา ปกติก็คือ “เศรษฐทรัพย์” (wealth) เศรษฐทรัพย์ย่อมเสื่อมสลายไปเรื่อยๆ เหมือนมนุษย์ ในที่สุดก็คืนสภาพกลับสู่ดิน หรือที่ดิน เศรษฐทรัพย์แบ่งได้เป็น ๒ ชนิด แล้วแต่เจตนาของการใช้ประโยชน์ (ซึ่งเปลี่ยนแปลงได้) คือ “โภคทรัพย์” ได้แก่เศรษฐทรัพย์ที่ใช้บริโภคโดยตรง และ “ทุน” คือ เศรษฐทรัพย์ที่ใช้ในการผลิตเศรษฐทรัพย์สำหรับการแลกเปลี่ยน ได้แก่เครื่องมือ จักรกล โรงงาน เป็นต้น และเศรษฐทรัพย์ที่ใช้ในการแลกเปลี่ยน เช่น สินค้าที่อยู่ในร้าน

ปัจจัยการผลิต มี ๓ ปัจจัย โดยถือหลักทำนองเดียวกับการแบ่งประเภทของสิ่งต่างๆ
๑. ที่ดิน ผลตอบแทนต่อการใช้ที่ดิน คือ ค่าเช่าที่ดิน ไม่ว่าจะใช้ที่ดินของเราเองหรือเช่าจากผู้อื่น
๒. แรงงาน ผลตอบแทนคือ ค่าแรง ไม่ว่าผู้นั้นจะทำงานของตนเอง หรือรับจ้างผู้อื่นทำงาน
๓. ทุน ผลตอบแทนคือ ดอกเบี้ย ควายไถนาเป็น “ทุน” ของมนุษย์ ผลตอบแทนของการใช้ควายจึงมิใช่ “ค่าแรง” แต่เป็น “ดอกเบี้ย” และที่เรียกว่า “ค่าเช่ารถ” นั้น ทางเศรษฐศาสตร์ถือว่าเป็น “ดอกเบี้ย” สำหรับการใช้รถ ส่วนเงินตราถือว่าเป็นตัวแทนของเศรษฐทรัพย์ และเรียกผลตอบแทนว่า ดอกเบี้ย เหมือนกัน

Sir William Petty (ค.ศ.1623-1687) เปรียบเทียบว่า ที่ดินคือมารดาของผลผลิต (passive factor) และ แรงงานคือบิดาของผลผลิต (active factor)
การผลิตจะเกิดขึ้นได้ต้องมีอย่างน้อย ๒ ปัจจัยแรก คือ ที่ดิน และ แรงงาน เช่น การเก็บของป่า แต่ถ้ามีทุนช่วยก็ทำให้ความสามารถผลิตสูงขึ้น สะดวกสบายขึ้น

ความเท่าเทียมกันควรใช้เฉพาะกับสิ่งที่เกิดเองตามธรรมชาติ
อารยชนถือว่า “มนุษย์เกิดมาเท่าเทียมกัน”
สิ่งที่ควรให้มีเท่าเทียมกันคือ สิ่งต่างๆ ประเภทที่ ๑ คือ “ที่ดิน” ซึ่งรวมทั้งทรัพยากรธรรมชาติ
ส่วนประเภทที่ ๒ ตัวมนุษย์เอง ควรเป็นของแต่ละคน
ประเภทที่ ๓ คือ สิ่งที่มนุษย์ลงแรงลงทุนผลิตขึ้นมา ใครผลิตใครสร้าง ก็ควรเป็นของผู้นั้น และยกให้กันหรือขายให้กันได้ ผู้รับก็ควรมีสิทธิในสิ่งที่รับมาหรือซื้อมาเต็มที่

แต่ในการผลิตจะต้องแบ่งผลตอบแทนให้แก่เจ้าของปัจจัยการผลิตทั้งสาม หรืออย่างน้อยก็สองปัจจัยแรก ยกเว้นถ้าทำการผลิต ณ ที่ดินชายขอบ หรือ ขอบริมแห่งการผลิต (Margin of Production) ซึ่งที่ดินที่นี่ไม่มีราคา และไม่มีการใช้ทุน แรงงานจึงจะได้รับผลตอบแทนไปทั้งหมด ซึ่งก็คือผลผลิตของเขาเอง

ผลตอบแทนต่อปัจจัยการผลิตที่ ๑ คือ ค่าเช่าที่ดิน มีลักษณะพิเศษ คือ เป็นสิ่งที่ทำให้ แรงงาน และ ทุน ได้รับผลตอบแทนเท่าเทียมกันไม่ว่าจะทำการผลิต ณ ที่ดินอุดมมากน้อยผิดกันเพียงไร ถ้าที่ดินอุดมมาก (โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ดินย่านธุรกิจซึ่งให้ผลตอบแทนได้มาก เพราะการแลกเปลี่ยนซื้อขายผลผลิตและบริการเป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็ว) ค่าเช่าก็จะสูง หักแล้วเหลือเป็นค่าแรงและดอกเบี้ยพอๆ กับค่าแรงและดอกเบี้ย ณ ที่ดินชายขอบ

แต่ไม่มีมนุษย์คนไหนลงแรงหรือลงทุนผลิตหรือสร้างที่ดินขึ้นมา จึงไม่ควรมีใครอ้างว่ามีสิทธิ์ในที่ดิน และมูลค่าของที่ดินส่วนใหญ่ (โดยเฉพาะที่ดินย่านชุมชนซึ่งมีราคาสูง) เกิดจากกิจกรรมของส่วนรวมที่แยกไม่ออกว่าเป็นของคนไหนเท่าไรและจากภาษีที่เก็บเอาไปสร้างสิ่งสาธารณูปโภค แต่ที่แน่ๆ คือมูลค่าที่ดินไม่ได้เกิดจากบุคคลในฐานะเจ้าของที่ดิน (ยกเว้นการเก็งกำไรที่ดิน) เจ้าของที่ดินอาจลงแรงลงทุนก่อสร้างและทำการผลิตหรือค้าในที่ดินของตนเอง แต่ที่ทำเช่นนั้นเขาทำในฐานะผู้ลงแรงและหรือผู้ลงทุน ซึ่งเขาควรได้รับผลตอบแทนจากการลงแรงหรือลงทุนของเขาเต็มที่ ส่วนประโยชน์จากมูลค่าที่ดินควรเป็นของส่วนรวม

การจะให้มีความเท่าเทียมกันในที่ดินนั้น เราไม่ต้องแบ่งที่ดินให้ทุกคนเท่าๆ กัน (โดยมูลค่า) ซึ่งเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว ธรรมชาติของสังคมมนุษย์มีวิธีที่ง่ายมาก ผิดกับปัจจุบันที่ปล่อยให้เจ้าของที่ดินได้ประโยชน์จากที่ดินไปเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นต้นเหตุของการเก็งกำไรสะสมแสวงหาที่ดิน ทำให้ที่ดินแพงขึ้นอย่างมากมาย คนจนต้องเสียค่าเช่าที่ดินแพงกว่าปกติ และยังต้องเสียภาษีอื่นๆ ซึ่งไม่น่าเก็บ แต่จำเป็นต้องเก็บ เพราะแหล่งรายได้ที่ชอบธรรมของรัฐคือที่ดิน รัฐกลับปล่อยให้รายได้นั้นตกแก่เจ้าของที่ดิน

มิเพียงเท่านั้น การเก็บภาษีอื่นๆ และการเก็งกำไรที่ดินยังเกิดผลเสียแก่ส่วนรวมมากมาย ได้แก่ การลงทุนมีต้นทุนการผลิตสูง มีการลงทุนผลิตน้อย การจ้างงานน้อย ค่าแรงต่ำ แต่ของแพง มีผลร้ายต่อการดึงดูดนักท่องเที่ยวและความสามารถแข่งขันกับต่างประเทศ

ที่ดินผิดกับทรัพย์สินอื่นๆ ที่เกิดด้วยการลงแรงลงทุน เช่น สินค้า ซึ่งเมื่อแพงขึ้นเพราะมีผู้ต้องการเพิ่ม ก็จะมีผู้ผลิตเพิ่มทำให้ราคากลับสู่ดุล แต่สถานที่หรือทรัพยากรธรรมชาติผลิตเพิ่มไม่ได้ เมื่อความต้องการเพิ่ม ราคาจึงเพิ่ม
ถ้าเราต้องการผลิตทรัพย์สินชิ้นหนึ่ง เราก็จำเป็นต้องมีที่ดิน อันเป็นแหล่งกำเนิดของทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ถ้ามีการกักตุนสินค้า แม้จะเป็นจำนวนมาก ผู้อื่นสามารถผลิตเพิ่ม แต่ถ้ากักตุนทรัพยากรธรรมชาติ – แหล่งที่มาของทรัพย์สิน – และที่ดิน – สถานที่ซึ่งใช้ทำงาน – จะเป็นการกีดกันผู้อื่นมิให้ทำงานผลิต
ดังนั้น เพื่อประโยชน์และความมั่นคงของคนส่วนใหญ่ ที่ดินจึงไม่ควรกลายเป็นสินค้าที่ซื้อขาย ให้เช่า หรือหาประโยชน์อื่นๆ กันโดยไม่มีการวางเงื่อนไขพิเศษจากรัฐ

ถ้าเก็บภาษีที่ดินสูงขึ้น ที่ดินก็จะเปิดออกหาคนทำงานในที่ดิน หรือขายออกไปในราคาต่ำลง
คนก็จะหางานทำได้ง่ายขึ้น การว่างงานลด ค่าแรงเพิ่ม
ฝ่ายนายทุนจะกลับต้องง้อคนงาน เพราะคนงานบางส่วนจะสามารถจ้างตนเอง เป็นเจ้าของกิจการเอง
และหาซื้อที่ดินเป็นที่อยู่ที่ทำกินได้ในราคาต่ำแทบจะเป็นศูนย์ ถึงจะต้องเสียภาษีที่ดิน แต่ภาษีอื่นๆจะลดลง ราคาสินค้าจึงลดตาม
เมื่่อค่าแรงเพิ่ม แต่ราคาสินค้าลด ความต้องการสวัสดิการก็ลด จึงไม่ต้องใช้ระบบรัฐสวัสดิการที่เก็บภาษีเงินได้อัตราก้าวหน้า

การเก็บภาษีที่ดินเพิ่ม มีการชดเชยโดยลดภาษีอื่นๆ ลงเท่าๆ กัน
ถ้าครอบครัวหนึ่งมีฐานะเจ้าของที่ดินสมส่วนกับฐานะผู้ลงแรงและผู้ลงทุน ครอบครัวนั้นจะเสียภาษีรวมแล้วเกือบเหมือนเดิม
ถ้าครอบครัวนั้นมีฐานะเจ้าของที่ดินมากเกินส่วนความเป็นผู้ลงแรงลงทุน ก็ควรแล้วที่จะต้องรับภาระภาษีมากขึ้น
เพราะนั่นคือการเก็งกำไรที่ดิน ซึ่งผลร้ายได้กล่าวไว้แล้ว

เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ในระบบปัจจุบัน มีคนเป็นจำนวนมาก รวมทั้งเด็กทารก ซึ่งเกิดเข้ามาสู่โลกนี้โดยไม่มีสิทธิที่จะได้มีชีวิตอยู่อาศัยบนแผ่นดินโลกและทำมาหากินในแผ่นดินโลก ยกเว้นแต่จะต้องจ่ายค่าใช้แผ่นดินให้แก่เจ้าของที่ดินแต่ละบุคคล มิฉะนั้นก็จะต้องเนรเทศตนเองไปอยู่ ณ ขอบริมแห่งการผลิต หรือที่ดินชายขอบอันแร้นแค้นทุรกันดาร ซึ่งก็ไม่แน่ว่าจะหาได้ก่อนอดตายหรือไม่ และนี่ย่อมแสดงว่าเขาไม่มีโอกาสตามธรรมชาติเท่าเทียมกับผู้อื่น เมื่อแม้แต่โอกาสตามธรรมชาติอันเป็นรากฐานแห่งการดำรงเลี้ยงชีวิตก็เกิดความเหลื่อมล้ำกันเสียแล้ว ย่อมไร้ความหมายที่จะกล่าวถึงคำขวัญอันโก้หรูที่ว่า “มนุษย์ทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกัน” หรือ “ความเสมอภาค”
ความผิดของพ่อแม่ที่ไม่ขวนขวายหรือไม่สามารถหาที่ดินไว้ให้ลูกหลานนั้น สมควรจะให้ลูกหลานต้องรับกรรมรับชดใช้ด้วยการต้องแบ่งผลตอบแทนแห่งการใช้หยาดเหงื่อแรงงานของตนไปให้แก่ผู้ครองสิทธิเหนือแผ่นดินที่ตนอยู่อาศัยและทำกิน ทั้งๆ ที่ตนเองก็ต้องขาดแคลนอยู่แล้ว กระนั้นหรือ ?

ใช้ระบบภาษีที่ดินแล้ว ไม่ต้องจำกัดการถือครอง ไม่ต้องยึดที่ดินเป็นของรัฐ ไม่ต้องจัดสรรที่ดินให้คนจน
ปล่อยให้ราษฎรซื้อขายหรือทำอะไรกับที่ดินได้เสรี
ภาษีที่ดินก็เก็บอัตราเดียวเหมือนกันหมด คือเท่ากับค่าเช่าที่ควรเป็น

ระบบสวัสดิการของรัฐก็ไม่ต้องใช้วิธีเก็บภาษีเงินได้อัตราก้าวหน้าให้คนหมดกำลังใจทำงาน
หรือหาทางเลี่ยงภาษี หรือย้ายประเทศ (ที่จริงระบบภาษีที่ดินไม่ต้องการเก็บภาษีเงินได้เลย)
เพราะคนที่หมดหนทางช่วยตัวเองจะเหลืออยู่น้อยมากที่รัฐต้องช่วย

ข้อที่ขอย้ำ คือ การเปลี่ยนแปลงควรค่อยเป็นค่อยไป อาจต้องนานหลายสิบปี
เพื่อให้ทุกคนมีเวลาปรับตัวได้พอควร และถือเป็นการชดใช้ให้แก่เจ้าของที่ดินไปด้วยในตัว
จะชดใช้ให้แก่เจ้าของที่ดินวิธีอื่นก็ไม่ควร เพราะเงินชดใช้นั้นจะได้มาจากใครถ้ามิใช่ผู้ลงแรงผู้ลงทุน
ซึ่งเป็นฝ่ายเสียเปรียบอยู่นานมากแล้วและยิ่งรุนแรงขึ้น ไม่รู้ว่าจะต้องเสียเปรียบไปอีกนานเท่าไร

ท่านที่สนใจวิธีแก้ไขความยากจนจากความอยุติธรรมขั้นฐานราก ขอเชิญดูบทความและหนังสือที่เว็บ //geocities.com/utopiathai/
ครับ




 

Create Date : 30 กันยายน 2549    
Last Update : 16 มกราคม 2550 11:24:43 น.
Counter : 883 Pageviews.  

ค่าเช่าที่ดินถ้าเป็นไปตามกฎธรรมชาติจะเป็นสิ่งที่ให้ความยุติธรรม

ค่าเช่าที่ดินถ้าเป็นไปตามกฎธรรมชาติจะเป็นสิ่งที่ให้ความยุติธรรม

กฎว่าด้วยค่าเช่าที่ดิน (Law of Rent) ซึ่งเป็นกฎธรรมชาติในด้านการแบ่งผลตอบแทนแก่เจ้าของปัจจัยการผลิต บอกว่า “ค่าเช่าที่ดินกำหนดได้ด้วยผลผลิตของที่ดินนั้น ในส่วนที่เกินกว่าผลผลิตจากขอบริมแห่งการผลิต ในเมื่อใช้แรงงานและทุนเท่ากัน”

กฎนี้หมายความว่า เมื่อหักผลตอบแทนต่อเจ้าของที่ดินแล้ว ผู้ใช้แรงงานจะได้รับผลตอบแทนเท่ากันไม่ว่าจะทำงานบนที่ดินดีหรือเลว (คงจะเป็นไปตามส่วนกับค่าครองชีพของแต่ละแห่งด้วย) และเท่ากับผลตอบแทนที่ขอบริมแห่งการผลิต (margin of production จะเรียกว่า ที่ดินชายขอบ ก็ได้) ซึ่งที่ที่ดินชายขอบนี้ ค่าเช่าอยู่ในระดับต่ำสุด คือเท่ากับศูนย์ กฎค่าแรงมีว่าดังนี้ “ค่าแรงทั่วไปถูกกำหนดด้วยผลผลิตที่แรงงานสามารถผลิตได้ ณ ขอบริมแห่งการผลิต”

ผลตอบแทนต่อเจ้าของทุนก็เป็นเช่นเดียวกับผลตอบแทนต่อผู้ใช้แรงงาน - “ดอกเบี้ยจะสูงขึ้นหรือต่ำลงเช่นเดียวกับค่าแรง และขึ้นอยู่กับขอบริมแห่งการผลิตเช่นเดียวกัน”

คิดแล้วก็ดูยุติธรรมดี คือไม่ว่าจะทำงานในที่ดินดีหรือเลว เมื่อหักค่าเช่าที่ดินแล้วจะได้รับผลตอบแทนเท่ากัน
พูดได้ว่าค่าเช่าที่ดินทำให้การลงแรงและลงทุนทุกแห่งได้ผลตอบแทนเท่ากัน เพราะโดยปกติที่ดินที่ดี (ส่วนมากดีจากทำเลหรือตำบลที่ตั้ง ซึ่งทำให้การลงแรงและลงทุนได้ผลตอบแทนสูง) ก็จะมีค่าเช่าสูงมาแบ่งเอาไป

ค่าเช่าที่ดินซึ่งสูงสำหรับทำเลดีๆ ถ้าไม่ได้แพงกว่าปกติเนื่องจากการเก็งกำไร จะไม่ไปทำให้ต้นทุนการผลิต (และการค้า) ต่อหน่วย สูงขึ้น เพราะในทำเลที่ดีนั้นผู้ผลิตผู้ค้าจะผลิตหรือค้าได้จำนวนมากกว่าที่จะได้ในทำเลที่ไม่ดี และต้นทุนด้านอื่นๆ ในทำเลที่ดีก็จะลดลงด้วย

แต่เนื่องจากที่ดินถูกเก็งกำไรเก็บกักกันไว้มากมาย (มี effective demand หรืออุปสงค์ที่มีประสิทธิผลมาก) ราคา/ค่าเช่าที่ดินโดยทั่วไปจึงสูงเกินควร ส่วนที่สูงเกินควรนี่แหละที่มีผลทำให้ต้นทุนการผลิตการค้าสูงกว่าปกติ จึงทำให้ราคาสินค้าสูงเกินปกติไปด้วย

ค่าแรงและดอกเบี้ยที่ได้รับตามเดิมจึงกลายเป็นต่ำกว่าปกติไปเมื่อเทียบกับราคาสินค้า

ถึงแม้ค่าเช่าที่ดินจะเป็นสิ่งที่ควรมีเพราะมันทำให้เกิดความเท่าเทียมกันสำหรับการลงแรงและการลงทุนเท่าๆ กันในที่ดินดีเลวต่างกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าค่าเช่านั้นควรเป็นของเจ้าของที่ดินแต่ละคน ตรงข้าม ค่าเช่าที่ดินควรเป็นของส่วนรวม เพราะ

1. ทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้ต้องมีที่ดินเพื่ออยู่อาศัยและทำกิน เพราะถ้าไม่มี เขาตาย

2. ไม่มีมนุษย์คนไหนลงแรงหรือลงทุนผลิตหรือสร้างที่ดินขึ้นมา จึงไม่ควรมีใครอ้างว่ามีสิทธิ์ในที่ดิน

3. มูลค่าของที่ดินส่วนใหญ่ (โดยเฉพาะที่ดินย่านชุมชนซึ่งมีราคาสูง) เกิดจากกิจกรรมของส่วนรวมที่แยกไม่ออกว่าเป็นของคนไหนเท่าไรและจากภาษีที่เก็บเอาไปสร้างสิ่งสาธารณูปโภค แต่ที่แน่ๆ คือมูลค่าที่ดินไม่ได้เกิดจากบุคคลในฐานะเจ้าของที่ดิน (ยกเว้นการเก็งกำไรที่ดิน) เจ้าของที่ดินอาจลงแรงลงทุนก่อสร้างและทำการผลิตหรือค้าในที่ดินของตนเอง แต่ที่ทำเช่นนั้นเขาทำในฐานะผู้ลงแรงและหรือผู้ลงทุน ซึ่งเขาควรได้รับผลตอบแทนจากการลงแรงหรือลงทุนของเขาเต็มที่ ส่วนประโยชน์จากมูลค่าที่ดินควรเป็นของส่วนรวม

4. การซื้อที่ดินมิใช่การลงทุนที่แท้ คือมิใช่การลงทุนผลิตของกินของใช้ (โภคทรัพย์) หรือผลิตเครื่องมือช่วยการผลิต (ทุน) แต่เป็นการซื้อสิทธิ์สืบต่อตามกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมเพื่ออำนาจเรียกแบ่งผลตอบแทนจากผู้ทำงานและนายทุน
และกฎหมายที่เข้าข้างเจ้าของที่ดินทำให้มีการเก็งกำไรกักตุนที่ดินกันไว้มากๆ ทำให้ที่ดินแพง ค่าแรงต่ำ หางานทำยาก คนจนก็เดือดร้อนยิ่งขึ้น ผลผลิตของชาติต่ำ วัฏจักรเศรษฐกิจแกว่งตัวขึ้นลงรุนแรง

5. การเก็บภาษีจากรายได้จากการลงแรงลงทุนผลิต (รวมทั้งจำหน่าย) ไม่ยุติธรรม เพราะเป็นการเอาจากแต่ละคนไปบำรุงส่วนรวม

สังคมอุดมคติ (UTOPIA) ของผมคือ สังคมที่เป็นธรรม คนส่วนใหญ่เป็นสุข หางานทำง่าย ค่าแรงกายแรงสมองสูงโดยไม่ต้องมีกฎค่าจ้างขั้นต่ำ มนุษย์มีสิทธิเท่าเทียมกันในสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติ รับรู้สิทธิเท่าเทียมกันของผู้อื่น มีการชดเชยค่าดูดทรัพยากรธรรมชาติมาใช้สิ้นเปลืองไป มีการจ่ายค่าปล่อยของเสียออกสู่โลกทั้งในดิน น้ำ และอากาศตามควร ซึ่งจะทำให้เกิดการประหยัดทรัพยากรธรรมชาติ การนำกลับมาใช้ใหม่ และเกิดระบบกำจัดของเสียที่มีประสิทธิภาพสูง อันจะทำให้โลกเป็นที่อยู่ที่ทำกินได้ยั่งยืนต่อไป

สำหรับการเสนอให้เก็บภาษีที่ดินเท่ากับค่าเช่าที่ควรเป็นเพื่อนำมาใช้บำรุงสังคมแทนภาษีอื่นๆ แล้วยกเลิกภาษีอื่นๆ นี้ (ภาษีอื่นๆ ก็คือภาษีจากผู้ลงแรงและผู้ลงทุนนั่นเอง เพราะในสังคมมีคนอยู่เพียง 3 ฐานะ คือ เจ้าของที่ดิน ผู้ลงแรง และ ผู้ลงทุน ถึงแม้ผู้หนึ่งๆ จะอาจมีฐานะได้หลายฐานะก็ตาม) ผลทางปฏิบัติก็เหมือนกับการยึดที่ดินกลับคืนมาเป็นของรัฐ หลังจากที่ปล่อยให้เป็นประโยชน์แก่เจ้าของที่ดินมานานแสนนาน จะชดใช้ให้แก่เจ้าของที่ดินก็ไม่ควร เพราะเงินชดใช้นั้นจะได้มาจากใครถ้ามิใช่ผู้ลงแรงผู้ลงทุน ซึ่งเป็นฝ่ายเสียเปรียบอยู่นานมาแล้ว และไม่รู้ว่าจะต้องเสียเปรียบไปอีกนานเท่าไร (เพราะเสียงเรียกหาความยุติธรรมนั้นเบาเต็มที) วิธีที่ดีคือค่อยๆ เพิ่มภาษีที่ดิน ค่อยๆ ลดภาษีอื่นๆ โดยใช้เวลาเป็นสิบๆ ปีแบบวิธีเลิกทาสของไทยเรา โดยพระมหากรุณาธิคุณแห่งพระบาทสมเด็จพระปิยมหาราช

ในที่สุดเมื่อการเก็บภาษีที่ดินสูงเท่ากับค่าเช่าที่ควรเป็นแล้ว และมีการปรับภาษีที่ดินต่อไปเป็นระยะๆ ให้ตรงกับค่าเช่าที่เปลี่ยนแปลงไป การเก็งกำไรที่ดินจะหมดไป ค่าเช่าที่ดินจะไม่สูงเกินไปเพราะปัจจัยการเก็งกำไร และจะทำหน้าที่ได้ดีในการให้ความยุติธรรมให้การลงแรงลงทุนในที่ดินดีเลวผิดกันได้ผลตอบแทนเท่ากันหลังหักค่าเช่าที่ดินออกแล้ว

จาก //geocities.com/utopiathai




 

Create Date : 23 กันยายน 2549    
Last Update : 23 กันยายน 2549 23:01:47 น.
Counter : 671 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  
 
 

สุธน หิญ
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




แก้ความอยุติธรรมขั้นฐานราก
ตามแนวเฮนรี จอร์จ
http://utopiathai.webs.com
เลิกภาษีการลงแรงลงทุนผลิตและค้า
เลิกภาษีเงินได้ เพิ่มภาษีที่ดิน
ค่อยๆ เปลี่ยนแปลง ใช้เวลาสัก 30 ปี


เปิดเว็บต่างแดนดูไม่ได้ ให้ google ช่วยหา free anonymous proxy server ของต่างประเทศซึ่งมีอยู่มากเพื่อเปิดให้แทนครับ (ในไทยอาจมีการปิดกั้นเว็บของต่างแดน เว็บย่อยที่คนไทยอาศัยใช้กันก็พลอยถูกปิด)

เว็บหลักของผม ยูโทเพียไทย_1
* หน้ารวมลิงก์ยูโทเพียไทย_1 *

หนังสือดีเด่นแปล Progress and Poverty หนังสือ ความยากจนที่ไม่เป็นธรรม และ บทความ ของผม ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ยินดีให้เผยแพร่ต่อด้วยความขอบคุณ ยกเว้นบทความแปลกรุณาอ่านเงื่อนไขจากต้นฉบับภาษาอังกฤษที่อ้างไว้ครับ


- ศัพท์เศรษฐศาสตร์ ดร.บุญเสริม
- ภาษีทรัพย์สินสหรัฐฯ
- ภาวะตลาดอสังหาฯ
- ภาวะตลาดที่อยู่อาศัย 2537-51
- ราคาที่ดินทั่วไทยรายแปลง
- สรุปราคาประเมินใน กทม.ปี 2551-54
- การเปลี่ยนแปลงราคาที่ดินใน กทม.และปริมณฑลปี 2528-50


[Add สุธน หิญ's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com
pantip.com pantipmarket.com pantown.com