ยูโทเพียไทย
เศรษฐศาสตร์
เพื่อความเป็นธรรม

 

ผิดศีลคือระบบภาษีของไทยและแทบทุกประเทศทั่วโลก

ศีลที่ว่านี้คือ อทินนาทานา เวรมณี (เว้นการลักขโมย รวมทั้งเอาทรัพย์ของผู้หนึ่งไปให้แก่ผู้อื่น) จึงได้เกิดความยากจนแก่คนส่วนใหญ่ และโลกต้องเดือดร้อนเป็นระยะๆ เรื่อยมาจากวิกฤตฟองสบู่วัฏจักรอสังหาริมทรัพย์จากการเก็งกำไรที่ดิน โดยรัฐให้เก็บภาษีจากสิ่งที่ควรเป็นของส่วนบุคคลมาบำรุงส่วนรวม เช่น ภาษีจากการลงแรงลงทุนทำการผลิต การค้า และการบริการ แต่สิ่งที่ควรเป็นของส่วนรวมกลับเก็บภาษีเพียงน้อยนิด เช่นภาษีที่ดิน ซึ่งที่ดินมิใช่สิ่งที่มนุษย์ผู้ใดสร้าง และการที่ที่ดินมีราคา/ค่าเช่าขึ้นมาก็เป็นเพราะการมีชุมชนและกิจกรรมของส่วนรวม ดังจะเห็นได้จากที่ดินว่างเปล่า เจ้าของที่ดินไม่ได้ทำอะไร แต่อยู่กลางเมือง กลับมีราคาตารางวาละเป็นแสน

แม้แรงงาน (กาย/สมอง) จะมีการศึกษามีความรู้ความเชี่ยวชาญสูงขึ้นเป็นการทั่วไป หรือเกิดความเจริญก้าวหน้า พลังความสามารถการผลิตจะสูงขึ้นด้วยนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีก็ตาม แต่ถ้าภาษีที่ดินต่ำ ค่าแรงย่อมจะขึ้นสูงไม่ได้ เพราะมันไปเพิ่มความคาดหวังว่าที่ดินจะยิ่งมีราคาสูงขึ้นไปอีก ก็ยิ่งมีการซื้อกักตุนที่ดิน ราคา/ค่าเช่าที่ดินยิ่งสูง ส่วนแบ่งผลตอบแทนที่เหลือสำหรับแรงงานและทุนจึงไม่เพิ่มหรือกลับลด

การแก้ปัญหาที่ถูกต้องเป็นธรรม คือ ค่อย ๆ เพิ่มภาษีที่ดิน จนในที่สุดเท่าค่าเช่าศักย์ของที่ดินนั้นๆ ขณะเดียวกันก็ลดภาษีการผลิตการค้าการบริการ และภาษีเงินได้ ลงชดเชยกันครับ

แนวคิดคือควรถือว่าที่ดินเป็นของส่วนรวมทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน มิใช่ว่าใครจะถือครองเท่าไรก็ได้ มิฉะนั้น จะมีคนที่ไม่มีที่ดินอยู่ด้วย และเขาจะรอดชีวิตอยู่ได้ก็แต่โดยจ่ายค่าเช่าให้แก่ผู้มาถือครองไว้ก่อน ที่ดินนั้นมีที่ดินชั้นดีเลวซึ่งราคาก็ลดหลั่นตามกันไป ซึ่งขึ้นกับทำเล (location) ที่เขาพูดกันว่ามีเกณฑ์พิจารณา ๓ ประการ คือ ๑. ทำเล ๒. ทำเล และ ๓. ทำเล

ที่ดินที่ขณะนี้ไม่มีราคา เรียกว่า ที่ดินชายขอบ หรือ ขอบริมแห่งการผลิต (margin of production) ซึ่งมีนิยามว่าคือ “ที่ดินที่เลวที่สุดที่จำเป็นต้องใช้กัน ซึ่งในขณะเดียวกันก็เป็นที่ดินที่ดีที่สุดที่จะหาได้โดยไม่ต้องเสียค่าตอบแทน” (จาก นิยามศัพท์และกฎมูลฐานทางเศรษฐศาสตร์แบบของจอร์จ//www.oknation.net/blog/utopiathai/2011/06/29 )

ค่าเช่าศักย์ของที่ดินหรือคือค่าเช่าที่ทางการประเมิน ซึ่งถ้าถูกต้องดี ก็ควรจะเท่ากับค่าเช่าตามกลไกตลาด และจะเป็นตัวบอกความได้เปรียบเสียเปรียบกันในการได้ครองที่ดินดีเลวผิดกัน ดังนั้น ถ้าค่อย ๆ เพิ่มภาษีที่ดิน สมมุติว่าเพิ่มปีละ ๑/๓๐ ของค่าเช่าศักย์ในแต่ละปี ราว ๓๐ ปีก็จะได้ภาษีที่ดินเท่าค่าเช่า ราคาที่ดินก็จะเป็นศูนย์ วิธีนี้ผมถือว่านิ่มนวลในการปฏิรูปที่ดินด้วยภาษี ต่อไปจะไม่มีใครได้เปรียบใครในด้านการถือครองที่ดิน และทุกคนจะไม่ต้องจ่ายภาษีที่เกิดจากผลตอบแทนการผลิต การค้า และ การบริการ (รวมทั้งภาษีเงินได้) อีกต่อไป


"เศรษฐศาสตร์ที่ปฏิเสธหรือไม่ยอมรับค่านิยมทางศีลธรรมหาใช่เศรษฐศาสตร์ไม่"
อมตวาจาของมหาตมา คานธี รวบรวมและแปลโดย กรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย

"การผูกขาดที่ดินมิใช่การผูกขาดเพียงชนิดเดียว แต่ก็เป็นการผูกขาดที่ใหญ่หลวงที่สุด -
เป็นการผูกขาดตลอดกาล และ เป็นต้นกำเนิดของการผูกขาดอื่น ๆ ทุกรูปแบบ . . . "
"ที่ดิน ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นต่อการมีชีวิตอยู่ของมนุษย์ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดแหล่งที่มาแห่งทรัพย์สินทั้งสิ้น
ซึ่งมีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งมีตำบลที่ทางภูมิศาสตร์คงที่
- ที่ดิน ข้าพเจ้าขอกล่าว แตกต่างจากทรัพย์สินในรูปแบบอื่น ๆ ทั้งมวล . . . . "
"ข้าพเจ้าหมายถึงกระบวนการมากกว่าตัวเจ้าของที่ดินแต่ละคน
ข้าพเจ้าไม่ประสงค์จะทำให้ประชาชนเกิดความเกลียดชังชนชั้นหนึ่งชั้นใดขึ้น
ข้าพเจ้ามิได้คิดว่าผู้ที่หาเงินจากส่วนเพิ่มจากที่ดินอันมิใช่เกิดจากการลงแรงลงทุนนั้นเลวกว่าบุคคลอื่นที่หากำไร
เท่าที่อาจจะหาได้ในโลกที่มีความลำบากนี้โดยไม่เป็นการผิดกฎหมายและเป็นไปตามที่ปฏิบัติกันทั่วไป
ที่ข้าพเจ้าโจมตีนั้นไม่ใช่บุคคล แต่เป็นระบบ ไม่ใช่บุคคลเลว แต่เป็นกฎหมายต่างหากที่เลว
ที่ควรจะถูกติเตียนนั้นไม่ใช่บุคคลผู้กระทำการอันกฎหมายได้อนุญาตไว้และผู้อื่นก็กระทำกัน
แต่ควรจะเป็นรัฐที่ถูกตำหนิหากไม่หาทางปฏิรูปกฎหมายและแก้ไขการปฏิบัติ
เราไม่ต้องการจะลงโทษเจ้าของที่ดิน แต่เราต้องการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย"
วินสตัน เชอร์ชิลล์
(www.progress.org/banneker/chur.html)




 

Create Date : 25 พฤศจิกายน 2554    
Last Update : 25 พฤศจิกายน 2554 0:40:56 น.
Counter : 625 Pageviews.  

ระบบรัฐสวัสดิการทำให้ผู้ลงแรงผู้ลงทุนยากจน

ระบบรัฐสวัสดิการทำให้ผู้ลงแรงผู้ลงทุนยากจน
(ยินดีให้เผยแพร่ต่อด้วยความขอบคุณ)

ทำไมประเทศที่ใช้ระบบรัฐสวัสดิการหรือมีการใช้จ่ายด้านสวัสดิการในระดับสูงจึงเก็บภาษีเงินได้และภาษีการผลิตการค้า (เช่นภาษีมูลค่าเพิ่ม) แรงมาก ? ภาษีเหล่านี้ลดรายได้สุทธิของผู้ลงแรงผู้ลงทุน และทำให้ราคาสินค้าและบริการแพงขึ้น (เพิ่มรายจ่าย) ทำให้ผู้ลงแรงผู้ลงทุนยากจนลง หรือไม่ได้รับผลตอบแทนเท่าที่ควร และทำให้กำลังใจที่จะทำงานและลงทุนลด โดยเฉพาะในกิจการใหม่ ๆ ที่ยังไม่แน่ใจในผลประกอบการ และเมื่อสินค้าและบริการแพงก็แข่งขันกับต่างประเทศได้ยาก

ภาษีที่น่าจะเก็บแรง ๆ คือภาษีที่ดิน เพราะอุปทานที่ดินมีความยืดหยุ่นน้อยมาก ผลิตเพิ่มได้ยาก ส่วนที่ผลิตเพิ่มส่วนมากคือสิ่งปรับปรุง (improvements) การที่ที่ดินมีมูลค่า/ค่าเช่าสูงขึ้นส่วนใหญ่ทีเดียวเกิดจากความเจริญของชุมชนอันเนื่องจากจำนวนประชากรและการมีโครงสร้างพื้นฐานสิ่งอำนวยความสะดวกสบายความรวดเร็วปลอดภัยในการดำเนินกิจการและการอยู่อาศัยและพักผ่อน การบันเทิง สะสมกันมากขึ้นดีขึ้นจากกิจกรรมของบรรดาผู้ทำงานผู้ลงทุนทั้งหลาย และกิจกรรมของรัฐที่ใช้ภาษีจากราษฎร ซึ่งมันกลับไปเพิ่มมูลค่า/ค่าเช่าที่ดิน เมื่อภาษีที่ดินต่ำ ก็มีการเก็งกำไรกักตุนที่ดินมาก ราคา/ค่าเช่าที่ดินสูงเกินควร ที่ดินของชาติได้รับการทำประโยชน์น้อย ผลผลิตน้อย ทำให้คนหางานทำยาก ค่าแรงต่ำ

ผลเสียร้ายแรงของการเก็งกำไรที่ดิน คือ ก่อให้เกิดวิกฤตวัฏจักรเศรษฐกิจฟองสบู่เป็นระยะๆ เรื่อยมา กิจการล้ม คนงานถูกปลด ครั้งสุดท้ายที่สหรัฐฯ สามปีมาแล้ว และลามไปทั่วโลกถึงบัดนี้ยังมีอาการหนัก

ในเดนมาร์กมีพรรคยุติธรรม (//www.retsforbundet.dk ) ที่สนับสนุนระบบภาษีเดี่ยวจากที่ดินตามแนวของเฮนรี จอร์จ นักปฏิรูปอเมริกัน (สมัยนี้ควรเพิ่มภาษีหรือค่าชดเชยสองประการที่เกี่ยวกับแผ่นดินโลกด้วย คือ ค่านำทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญมาใช้หมดเปลืองไปในการผลิต และ ค่าก่อมลพิษออกสู่โลก ทั้งนี้เพื่อรักษาให้โลกเป็นที่อยู่ที่ทำกินได้ยั่งยืนต่อไป) แต่ก็น่าเสียดายที่อิทธิพลของฝ่ายเจ้าของที่ดินยังมีอยู่มาก

ส่วนที่มีผู้เห็นด้วยกับการเก็บภาษีที่ดิน แต่เห็นว่าภาษีที่ดินจะให้รายได้แก่รัฐน้อยไป Prof. Mason Gaffney มีคำตอบอยู่ที่ The Hidden Taxable Capacity of Land: Enough and to Spare //economics.ucr.edu/papers/papers08/08-12old.pdf

จาก //www.utopiathai.webs.com




 

Create Date : 02 พฤศจิกายน 2554    
Last Update : 2 พฤศจิกายน 2554 10:29:23 น.
Counter : 600 Pageviews.  

เก็บภาษีที่ดินแรง ๆ ค่าเช่าหรือราคาที่ดินและสินค้าจะกลับต่ำ

เก็บภาษีที่ดินแรง ๆ ค่าเช่าหรือราคาที่ดินและสินค้าจะกลับต่ำ
ยินดีให้เผยแพร่ต่อด้วยความขอบคุณ
(บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวเพื่อแนะนำภาษีเดี่ยวจากที่ดินตามแนวของเฮนรี จอร์จ ซึ่งควรค่อย ๆ เพิ่มขึ้น พร้อมกับลดภาษีจากการลงแรงลงทุนชดเชยกัน เพื่อแก้ความเหลื่อมล้ำ และ ความยากจน)

ขอพูดถึงคำอธิบายทางวิชาการก่อน
ที่ดินเป็นของมีอยู่ตามธรรมชาติ ผลิตเพิ่มไม่ได้และถึงใช้ก็ไม่สิ้นเปลืองไป ซึ่งผิดกับเศรษฐทรัพย์ (wealth) การเก็บภาษีที่ดินที่คิดตามส่วนกับค่าเช่าหรือราคาที่ดินในอัตราเดียวกันจึงไม่กระทบกระเทือนต่ออุปทานของที่ดิน คือ ปริมาณที่ดินมิได้เพิ่มหรือลด และไม่ทำให้ต้นทุนการผลิตที่ดินสูงขึ้น (เพราะไม่มีการผลิตที่ดินอยู่แล้ว) ราคาหรือค่าเช่าที่ดินจึงจะไม่สูงขึ้น

อีกประการหนึ่ง จากกฎว่าด้วยค่าเช่า ค่าเช่าที่ดินจะมากหรือน้อยเพียงไร ย่อมขึ้นอยู่กับประโยชน์ของที่ดินแห่งนั้นเมื่อเทียบกับที่ดินที่ขอบริมแห่งการผลิต ภาษีที่ดินไม่ได้ทำให้ประโยชน์ดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปสำหรับผู้เช่า ดังนั้นถึงแม้เจ้าของที่ดินจะถูกเก็บภาษีที่ดิน เขาก็เรียกค่าเช่าเพิ่มจากผู้เช่าไม่ได้

ทีนี้ถ้าสมมติบ้างว่ารัฐบาลเรียกเก็บภาษีที่ดินจากผู้เช่า แทนที่จะเก็บจากเจ้าของที่ดินหรือถ้าเจ้าของจะซัดไปให้ผู้เช่าเป็นผู้ชำระภาษีที่ดินก็ตาม ผลประโยชน์ของที่ดินแห่งนั้นย่อมจะลดลงสำหรับผู้เช่าเท่ากับภาษีที่จะต้องเสีย ดังนั้นค่าเช่าที่ดินแห่งนั้นๆ ย่อมจะลดลงได้ส่วนกัน ซึ่งเป็นไปตามกฎธรรมชาติว่าด้วยค่าเช่า

ต่อไปนี้ผมขออธิบายแบบธรรมดาๆ
ถ้าเก็บภาษีที่ดินแรงขึ้น ผู้ถือครองที่ดินโดยเก็งกำไรโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์หรือใช้ประโยชน์เหมือนกันแต่ไม่เต็มที่ จะหาทางใช้ประโยชน์จากที่ดินให้มากขึ้น เช่น ให้ผู้ อื่นเช่าทำประโยชน์อีกต่อหนึ่งหรือดำเนินการเอาเองหรือจ้างคนอื่นมาใช้ประโยชน์ที่ดินไม่ว่า จะเป็นการทำไร่นา หรือประกอบธุรกิจหรืออุตสาหกรรม หัตถกรรม หรือสร้างบ้านหรือแฟลตให้เช่า การจะหาทางใช้ที่ดินให้เป็นประโยชน์มากขึ้นเช่นนี้จะต้องแข่งขันกันเองในบรรดาเจ้าของที่ดิน เพราะถ้าที่ดินไม่ได้รับการทำประโยชน์มากขึ้น ก็จะไม่คุ้มกับภาษีที่จะต้องจ่าย ดังนั้นเจ้าของที่ดินจะเรียกค่าเช่าได้ต่ำลง สำหรับการหาคนมาทำงานในที่ดินก็จะต้องจ่ายค่าแรงสูงขึ้น

ถ้าเจ้าของที่ดินไม่รู้ว่าจะใช้ประโยชน์อย่างไรดี จึงจะคุ้มกับภาษีที่จะต้องเสีย หรือไม่อยากยุ่งยากเป็นภาระ ก็มีอีกทางหนึ่งคือ ขายที่ดินไปเสียเลย ซึ่งเมื่อมีผู้ต้องการขายที่ดินมากขึ้น ราคาที่ดินก็ย่อมจะลดต่ำลง สำหรับผู้จะซื้อที่ดินก็จะไม่ยินยอมซื้อในราคาสูงเพราะรู้อยู่ว่าตนจะต้องรับภาระภาษีที่ดินอีกอย่างหนึ่งด้วย

ยังมีอีกประการหนึ่ง คือ เมื่อมีการทำประโยชน์ในที่ดินมากขึ้น ก็หมายถึงว่ามีการผลิตมากขึ้นหรือสร้างอาคารมากขึ้น ดังนั้นราคาสินค้าและค่าเช่าอาคารก็จะลดลง ยิ่งถ้าลดภาษีเงินได้และภาษีอื่นๆ ซึ่งถ่วงการผลิตและทำให้ของแพงเป็นการชดเชยกับภาษีที่ดินซึ่งเพิ่มขึ้น มนุษย์ก็จะมีกำลังใจทำงานหรือผลิตมากขึ้น และสินค้าจะยิ่งมีราคาต่ำลงอีก

นี่คือเหตุผลกว้างๆ ที่ว่าภาษีที่ดินจะไม่ทำให้ค่าเช่าที่ดินหรือราคาสินค้าสูงขึ้น แต่กลับต่ำลง

แต่ก็มีผู้ท้วงว่า ที่ดินซึ่งมีการเช่ากันอยู่ก่อนแล้วนั่นแหละเจ้าของจะขอขึ้นค่าเช่าโดยอ้างเอาการถูกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นมาเป็นเหตุผล ข้อนี้เองครับที่จะต้องอธิบายเพิ่มเติมกันให้มากขึ้น
การเช่าโดยปกติจะมีสัญญาเช่า เจ้าของที่ดินจะต้องรอให้ครบกำหนดเสียก่อนจึงจะเรียกค่าเช่าเพิ่มได้ การเรียกค่าเช่าเพิ่มนี้ปกติในระบบปัจจุบันก็มีอยู่แล้วโดยอ้างว่าค่าเช่าที่ดินทั่วไปสูงขึ้นก็ต้องขอเพิ่มบ้างเป็นเรื่องของธุรกิจ และเพราะเห็นว่าผู้เช่าต้องยอม เช่น ผู้เช่าได้ลงทุนตั้งโรงงานไว้แล้ว ผู้เช่ามีธุรกิจการค้าซึ่งลูกค้าในย่านนั้นรู้จักและติดอยู่ในความนิยมแล้ว หรือถ้าเป็นไร่นาผู้เช่าก็อาจจะปรับปรุงบำรุงที่ดินไว้แล้วคงไม่อยากจะไปบุกเบิกหักร้างถางพงใหม่ การเรียกค่าเช่าเพิ่มแบบนี้มีอยู่แล้วในระบบปัจจุบัน
ส่วนการทำสัญญาเช่าที่กำหนดให้ผู้เช่าเป็นผู้จ่ายค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินด้วยนั้น อาจแก้ได้โดยออกบทเฉพาะกาลให้ผู้เช่าไม่ต้องจ่ายภาษีที่ดินตามระบบใหม่ในส่วนที่เกินกว่าค่าเช่าขณะนั้นบวกค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินเดิมที่ถูกแทนที่ด้วยภาษีที่ดินตาม พ.ร.บ.ฉบับใหม่ โดยเจ้าของที่ดินต้องรับภาระในส่วนที่เกินเอง
ส่วนในระบบภาษีที่ดิน ถึงแม้เจ้าของที่ดินจะมีเหตุผลว่าถูกเก็บภาษีเพิ่มขึ้น แต่ผู้เช่าก็มีเหตุผลโต้แย้งว่าภาษีนี้รัฐบาลเรียกเก็บเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมเป็นธรรมในสังคม ไม่ใช่จะให้เจ้าของที่ดินผลักภาระมาให้แก่ผู้เช่า ซ้ำเมื่อค่าเช่าที่ดินโดยทั่วไปลดลงแล้ว เจ้าของที่ดินจะกล้าเรียกเอาค่าเช่าจากผู้เช่าเดิมให้เพิ่มรุนแรงขึ้นกว่าในระบบปัจจุบันได้อย่างไรก็ยังน่าสงสัย

หากเจ้าของที่ดินจะขอขึ้นค่าเช่าให้ได้ ก็เป็นธรรมดาที่ผู้เช่าอาจต้องยินยอมบ้าง อย่างที่ยินยอมมาแล้วในระบบปัจจุบัน แต่โอกาสที่ผู้เช่าจะไม่ยินยอมเสียค่าเช่าเพิ่มขึ้นจะมีมากขึ้น เพราะสามารถย้ายออกไปหาที่เช่าใหม่ได้ง่ายขึ้นโดยเสียค่าเช่าต่ำกว่าในระบบปัจจุบันด้วยซ้ำ ย่านธุรกิจเองก็เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ เช่น จากบางลำพู พาหุรัด ไปเป็นราชประสงค์ และสยามสแควร์ เป็นต้น และถึงแม้การย้ายจะทำไม่ได้ทุกราย แต่ถ้ามีผู้สามารถย้ายได้เพียง 10% หรือ 20% ก็จะมีผลอย่างมากต่อการกำหนดอัตราค่าเช่าทั่วไป เพราะเจ้าของที่ดินจะถูกบังคับทางอ้อมด้วยภาษีที่ดินให้ต้องดิ้นรนงอนง้อหาคนเช่า เพื่อให้คุ้มกับที่ตนจะต้องรับภาระภาษีตามระบบใหม่

ผู้อยู่ในบ้านซึ่งมีบริเวณที่ดินกว้างขวาง ก็อาจต้องแบ่งที่ดินขาย หรือให้เช่า หรือปลูกบ้านหรืออาคารในที่ดินของตนให้เช่า เพื่อมิให้ตนเองรับภาระภาษีคนเดียวซึ่งหนักไป บ้านชั้นเดียวแคบๆ อาจกลายเป็นตึก 10 ชั้น กว้างขวางเกือบเต็มพื้นที่ เพื่อให้คุ้มกับภาษี ทำให้คนมีที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นมากมาย และค่าเช่าถูกลง

อีกประการหนึ่ง ถ้าผู้เช่าจะต้องเสียค่าเช่าเพิ่มขึ้นโดยเหตุที่เจ้าของที่ดินจะผลักภาระภาษีให้แก่ผู้เช่าแทนที่จะลดลง โรงงานและธุรกิจต่างๆ อาจจะย้ายไปอยู่ห่างเมืองออกไป (ซึ่งที่ดินราคาถูกและภาษีที่ดินก็ต่ำ) นี่เป็นการต่อต้านกันไปในตัว ซึ่งจะทำให้ค่าเช่าที่ดินทำเลดีในเมืองสูงไปกว่าเดิมมิได้ ซ้ำ ที่ดินในเมืองหรือใกล้เมืองที่ยังว่างอยู่ก็มี ซึ่งจะรับธุรกิจหรือโรงงานเหล่านี้ไว้ได้ไม่น้อย

ค่าเช่าที่ดินย่อมมีแนวโน้มที่จะเป็นไปตาม “กฎว่าด้วยค่าเช่า” เสมอ สำหรับภาษีที่ดินเป็นเพียงส่วนแบ่งค่าเช่าที่รัฐบาลเรียกเก็บจากเจ้าของที่ดิน เท่ากับว่ารัฐบาลมีหุ้นส่วนอยู่ในที่ดินด้วยเท่านั้น ถ้ารัฐบาลเรียกเก็บภาษีมากขึ้นก็เท่ากับว่ารัฐบาลมีหุ้นส่วนมากขึ้น และเอกชนเจ้าของที่ดินมีหุ้นส่วนน้อยลง

อย่างไรก็ดี ถ้าสมมติว่าเจ้าของที่ดินจะเกิดสามารถขึ้นค่าเช่าได้จริง ตามที่หลายคนกลัวกัน เราก็ยังมีทางแก้ คือ ให้รัฐบาลประกาศควบคุมค่าเช่าสำหรับที่ดินที่มีการเช่ากันอยู่แล้ว (เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า) พร้อมกันกับที่ประกาศใช้ระบบภาษีที่ดิน เมื่อพ้นระยะหนึ่งไปแล้วจะมีการสร้างบ้านหรืออาคารมากขึ้น ค่าเช่าย่อมจะลดลงตามธรรมชาติ

ในเรื่องของราคาสินค้าที่เกรงว่าจะสูงขึ้นนั้น เมื่อค่าเช่าที่ดินไม่สูงขึ้น (และโดยทั่วไปจะกลับต่ำลง) ต้นทุนการผลิตสินค้าก็จะไม่สูงขึ้น และถึงแม้ค่าแรงจะสูงขึ้นก็เป็นในส่วนที่ได้จากการต้องยอมเสียของเจ้าของที่ดิน และเมื่อการผลิตมีมากขึ้นตามที่ได้อธิบายมาแล้ว ราคาสินค้าก็จะลดต่ำลง

ขออธิบายเพิ่มเติมเล็กน้อยว่า ในกรณีที่บริษัทผู้ผลิตเป็นเจ้าของที่ดินเอง ต้นทุนการผลิต (Cost of Production) ก็จะยังคงคิดรวมค่าเช่าที่ดินไว้ด้วย (โดยคิดราคาที่ดินเป็นทุนหรือ Capital ที่จะต้องได้ดอกเบี้ย) สำหรับในระบบภาษีที่ดินซึ่งที่ดินเป็นเสมือนทรัพย์สินของส่วนรวมร่วมกัน ราคาที่ดินจะเป็นศูนย์หรือต่ำมาก ในกรณีนี้ต้นทุนการผลิตในด้านที่ดินจะคิดจากภาษีที่ดินซึ่งบริษัทจะถูกเก็บ หรือค่าเช่า แทนที่จะคิดจากดอกเบี้ยของราคาที่ดิน

ขอหมายเหตุไว้อีกชั้นหนึ่งว่า การคิดค่าเช่าที่ดินเป็นต้นทุนการผลิตตามที่กล่าวไว้นั้นได้อธิบายตามหลักการคิดบัญชีหรือธุรกิจ แต่ตามหลักเศรษฐศาสตร์ ต้นทุนการผลิตน่าจะคิดจากการลงแรงลงทุนที่ขอบริมแห่งการผลิต ถ้าเป็นที่ดินแห่งอื่นๆ ซึ่งมีค่าเช่าก็ย่อมจะได้ผลผลิตหรือมีรายได้มากขึ้น (โดยลงทุนลงแรงเท่าเดิม) เป็นการชดเชยกันไปในตัว ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์จึงกล่าวว่าค่าเช่าที่ดินไม่ใช่สาเหตุที่ไปเพิ่มต้นทุนการผลิต (แต่เป็นผลจากการได้ผลผลิตหรือมีรายได้เพิ่มขึ้น) อย่างไรก็ดีถ้ามีการเก็งกำไรเก็บกักที่ดิน ขอบริมแห่งการผลิตก็จะขยายออกไปยังที่ดินซึ่งเลวลง ต้นทุนการผลิตจะต้องสูงขึ้นกว่าเดิม จึงทำให้สินค้ามีราคาสูงขึ้น

หากเราเกรงราคาสินค้าจะสูงขึ้นเนื่องจากภาษีที่ดินแล้ว ที่น่าจะเกรงมากกว่าก็คือราคาสินค้าจะสูงเพราะภาษีอื่นๆ ซึ่งเก็บกันอยู่ในระบบปัจจุบัน เพราะภาษีอื่นๆ เหล่านี้สามารถผลักภาระภาษีได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือภาษีทางอ้อม และแม้แต่ภาษีมรดกหรือภาษีเงินได้ซึ่งถือกันว่าเป็นภาษีทางตรงก็ยังทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้นได้ เพราะเมื่อจะต้องถูกเก็บภาษีมากๆ การลงทุนลงแรงก็จะได้รับผลตอบแทนสุทธิต่ำทำให้กำลังใจที่จะขยายการผลิตลดลง ถ้าเป็นภาษีมรดกก็จะทำให้กำลังใจที่จะทำงานเพื่อสะสมมรดกลดลง เพราะฉะนั้นการผลิตหรือโรงงานจะไม่ขยายหรือไม่เพิ่มขึ้นเท่าที่ควร ผลร้ายจะกลับเกิดแก่ประเทศชาติและผู้ใช้แรงงาน คือ ผลผลิตของทั้งประเทศต่ำ การว่างงานมีมากขึ้น ค่าแรงต่ำ และเมื่อการผลิตน้อย สินค้าก็จะมีราคาสูงขึ้นครับ

บทความที่เกี่ยวข้อง
นิยามศัพท์และกฎมูลฐานทางเศรษฐศาสตร์แบบของจอร์จ
//www.oknation.net/blog/utopiathai/2011/06/29

จากเว็บ utopiathai.webs.com




 

Create Date : 05 กันยายน 2554    
Last Update : 5 กันยายน 2554 22:35:07 น.
Counter : 774 Pageviews.  

ขอให้ขึ้นภาษีที่ดินจะได้ผลดีกว่าขอขึ้นค่าจ้างโดยตรง

ยินดีให้เผยแพร่ต่อด้วยความขอบคุณ

ค่าจ้างแรงงานกับภาษีที่ดินมีความสัมพันธ์กัน แต่คนธรรมดาอาจมองไม่ออก

การเก็บภาษีที่ดินต่ำทำให้เจ้าของที่ดินได้ประโยชน์จากการที่ที่ดินมีราคา-ค่าเช่าสูงขึ้นเรื่อยๆ เกือบตลอดมา
เจ้าของที่ดินไม่มีส่วนในการลงแรงหรือลงทุนผลิต แต่มีสิทธิได้ส่วนแบ่งจากการผลิต
ย่อมทำให้ผู้ทำงานและผู้ลงทุนได้ผลตอบแทนน้อยลง

เมื่อเจ้าของที่ดินได้ส่วนแบ่งมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ทำให้ผู้ทำงานและผู้ลงทุนได้ผลตอบแทนลดลงเรื่อยๆ
อย่างน้อยก็โดยอัตราส่วนเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเช่าที่ดิน
เพราะการผลิตมีปัจจัยที่นำมาใช้เพียงสามปัจจัยเท่านั้น แต่ครอบคลุมหมด นั่นคือ ที่ดิน แรงงาน และ ทุน
ผู้จัดการก็เป็นผู้ใช้แรงงานด้านสมองมากกว่าแรงกาย เขาอาจมีส่วนเป็นผู้ลงทุนในกิจการอยู่ด้วยก็ได้
และอาจเป็นเจ้าของที่ดินที่ใช้ในกิจการนั้นอีกด้วย
ถึงแม้คนหนึ่งๆ จะเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตครบทั้งสามปัจจัยดังกล่าว แต่เราก็ต้องพิจารณาปัจจัยทั้งสามแยกกัน

การแบ่งผลตอบแทนแก่ปัจจัยการผลิตทั้งสามนี้มีกฎธรรมชาติด้านสังคมเป็นตัวกำหนด นั่นคือ --

ค่าเช่าที่ดินคือผลต่างระหว่างผลผลิตของที่ดินแปลงนั้นกับผลผลิตที่ขอบริมแห่งการผลิตหรือที่ดินชายขอบ เมื่อใช้แรงงานและทุนเท่ากัน
(ที่ดินชายขอบหรือขอบริมแห่งการผลิต คือ ที่ดินเลวที่สุดที่ใช้กันอยู่ ซึ่งในขณะเดียวกันก็เป็นที่ดินดีที่สุดที่หาได้โดยไม่เสียค่าตอบแทน
ถ้าการผลิตต้องขยายออกไปจากขอบริมแห่งการผลิตขอบเดิม ขอบริมใหม่มักจะให้ผลผลิตต่ำกว่าขอบริมเดิม ที่ขอบริมเดิมก็มีค่าเช่าเกิดขึ้น
ที่ดินที่มีค่าเช่าอยู่แล้ว ค่าเช่าก็สูงขึ้นไปอีก เป็นส่วนที่เจ้าของที่ดินได้เพิ่มขึ้นมาเฉยๆ)

ค่าแรงคือผลผลิตที่แรงงานสามารถผลิตได้ ณ ขอบริมแห่งการผลิต
(ยิ่งที่ดินชายขอบขยายออกไป ค่าแรงยิ่งลด ยกเว้นไว้แต่ถ้าแรงงานมีประสิทธิภาพสูงขึ้น)

ดอกเบี้ยหรือค่าใช้ทุนจะสูงขึ้นหรือต่ำลงเช่นเดียวกับค่าแรง โดยขึ้นอยู่กับขอบริมแห่งการผลิตเหมือนกัน

ค่าเช่าหรือราคาที่ดินยังสูงขึ้นได้อีกจากการมีประชากรมากขึ้นและความเจริญก้าวหน้าทั้งหลาย
การมารวมตัวของผู้คนเป็นชุมชนที่ค่อยๆ ขยายตัวออกเป็นเมือง นคร มหานคร
การทำงานและการลงทุนของทั้งเอกชนและรัฐ (รัฐก็ใช้ภาษีจากเอกชนนั่นเอง) ช่วยให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกสบาย ปลอดภัย การขนส่ง สื่อสาร การผลิต การค้าทำได้รวดเร็วและค่าใช้จ่ายต่ำลง การแบ่งงานกันทำแยกกย่อยมากขึ้น ความรู้ความชำนาญสั่งสมแยกเป็นเฉพาะทางมากขึ้น อารยธรรมและประสิทธิภาพการผลิตก็สูงขึ้นๆ
แต่สิ่งเหล่านี้กลับไปทำให้ค่าเช่า/ราคาที่ดินในเมืองสูงขึ้นมากมาย

ทั้งหมดนี่ไม่ใช่เจ้าของที่ดินทำ ผู้ทำงานและผู้ลงทุนผลิตต่างหากที่ทำ
ถ้าเจ้าของที่ดินทำเขาก็ทำในฐานะผู้ทำงานหรือผู้ลงทุน
ซึ่งย่อมจะได้รับผลตอบแทนในฐานะผู้ทำงานหรือผู้ลงทุนอยู่แล้ว
การเข้าครอบครองที่ดินหรือหาซื้อที่ดินมาไว้ในครอบครองไม่ใช่การลงทุนผลิต
แต่เป็นการแสวงหาหรือสืบทอดอภิสิทธิ์ที่จะเรียกแบ่งเอาผลตอบแทนจากผู้ทำงานและผู้ลงทุนผลิต
เจ้าของที่ดินจึงถูกเรียกว่า ผู้เก็บเกี่ยวโดยไม่ได้ไถหว่าน
รายได้ของเจ้าของที่ดินจึงถูกเรียกว่า unearned income
และเจ้าของที่ดินส่วนหนึ่งก็เป็นประเภท absentee landlords

เมื่อที่ดินให้ราคาหรือค่าเช่าสูงขึ้นเรื่อยๆ ก็ทำให้ผู้คนที่มีเงินพากันสะสมหาซื้อที่ดินเก็บกันไว้ ที่เรียกว่า การเก็งกำไร
ที่ดินที่เราเห็นว่างๆ ร้างรกอยู่มักมีเจ้าของแล้ว ยกเว้นที่ดินที่ทางราชการสงวนเอาไว้ ซึ่งก็ยังถูกบุกรุก
การเก็งกำไรกักตุนที่ดินคือผลแห่งระบบภาษีที่เอื้อประโยชน์แก่เจ้าของที่ดิน
ซึ่งส่งผลเสียหายร้ายแรงซ้ำแก่ประเทศชาติและประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแก่ผู้มีแต่แรงงานสามัญ
คือทำให้ราคา/ค่าเช่าที่ดินสูงเกินจริง และเบียดคนจนออกจากโอกาสการเป็นเจ้าของที่ดิน
คนจนต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อให้ได้เงินมาจ่ายค่าเช่าที่ดินและเลี้ยงปากท้องตนและครอบครัว
ส่วนหนึ่งหาได้ไม่พอจ่ายต้องกู้หนี้ยืมสิน จ่ายดอกเบี้ยแพง เพราะไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน

การเก็งกำไรทำให้ที่ดิน 70 % ทั้งในเมือง ชานเมือง และชนบทไม่ได้ใช้ประโยชน์หรือใช้ก็ไม่เต็มที่
ซึ่งหมายถึงมีการจ้างงานน้อยกว่าที่ควร ค่าแรงก็ต่ำลง ยิ่งเดือดร้อนคนจน ผลผลิตของชาติก็ต่ำ
เมืองมีขนาดใหญ่แต่หลวม ผู้คนต้องหาบ้านอยู่นอกเมือง สาธารณูปโภคต้องขยายไปไกล ต้นทุนค่าใช้จ่ายจึงสูง
ซ้ำต้องมีการใช้พาหนะเดินทางเช้าเข้าเมือง เย็นออก การจราจรติดขัดเสียเวลา สิ้นเปลืองเชื้อเพลิง เกิดมลภาวะ

ถ้ารัฐบาลขึ้นภาษีที่ดินจนเสมือนเจ้าของที่ดินเป็นผู้เช่าจากรัฐ การเก็งกำไรที่ดินจะหมดไป
ที่ดินจะเปิดออกหาคนมาทำประโยชน์ให้คุ้มกับภาษี หรือให้เช่า ไม่ก็ต้องขาย
ราคาที่ดินจะเป็นศูนย์ ค่าเช่าส่วนที่สูงกว่าปกติจะหายไป
ผู้คนจะสามารถซื้อหรือเช่าที่ดินทำกินเป็นนายตนเองได้ง่ายขึ้น
จะมีการจ้างงานมากขึ้น ค่าแรงจะสูงขึ้น นายทุนก็ไม่สามารถกดค่าจ้างไว้ได้
ชาติก็จะเจริญดีขึ้น ภาระของรัฐที่จะต้องช่วยเหลือคนจนจะลดลง

อีกทั้งรายได้จากภาษีที่ดินจะทำให้รัฐบาลสามารถลด-เลิกภาษีจากการลงแรงและการลงทุนชดเชยกัน
ทำให้ผู้ทำงานผู้ลงทุนมีรายได้เพิ่ม ซ้ำราคาของกินของใช้ก็ต่ำลง แข่งขันสู้ต่างชาติได้ดีขึ้น
นี่คือผลดีของการให้ทุกคนมีส่วนเป็นเจ้าของแผ่นดินไทยเท่าเทียมกัน โดยไม่ต้องแบ่งที่ดินจริง

การเก็บภาษีที่ดินเสมือนเจ้าของที่ดินเป็นผู้เช่าก็คือการนำความยุติธรรมกลับคืนมาสู่ผู้ลงแรงและผู้ลงทุน
ดังที่ได้อธิบายไว้แล้วว่าราคา/ค่าเช่าที่ดินที่สูงขึ้นนั้นมิใช่เพราะการกระทำของเจ้าของที่ดิน
แต่เป็นเพราะกิจกรรมของผู้ทำงานและผู้ลงทุน

อย่างไรก็ดี ไม่ควรมีการเปลี่ยนแปลงฮวบฮาบ เพื่อมิให้เกิดเดือดร้อนวุ่นวายเกินไป เพราะระบบเก่าให้อภิสิทธิ์เขาไว้เอง
แต่ขอให้ค่อยๆ เพิ่มภาษีที่ดิน เช่น ปีละ 3.3 % ของค่าเช่าที่ดินที่ควรเป็นซึ่งจะกินเวลาราว 30 ปีก็จะครบ 100%.

จาก //www.utopiathai.webs.com




 

Create Date : 01 สิงหาคม 2554    
Last Update : 1 สิงหาคม 2554 23:33:08 น.
Counter : 678 Pageviews.  

ถ้าพวกเราคิดพึ่งแต่กฎหมายในการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ....

ถ้าพวกเราคิดพึ่งแต่กฎหมายในการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ ความขัดแย้งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างก็จะไม่มีวันหมดไปได้

ทำไมเราจึงไม่ไปให้ถึงข้อยุติทางตรรกะ (logical conclusion) ที่ว่าจะให้ค่าแรงสูงตามที่ควรจะเป็นก็ต้องสลายการเก็งกำไรกักตุนที่ดินด้วยภาษีที่ดินที่สูงเท่าค่าเช่าของที่ดินแต่ละแห่ง (แต่ต้องค่อย ๆ เพิ่มภาษีที่ดิน พร้อมกับลดภาษีจากการลงแรงลงทุนผลิตและค้าผลผลิตและบริการชดเชยกัน อาจต้องใช้เวลาถึง 30 ปี ระหว่างนี้ก็ยังจำเป็นต้องพึ่งการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำไปก่อน แต่ไม่ใช่พึ่งไปไม่รู้จบ มิฉะนั้นความขัดแย้งจะไม่รู้จบเหมือนกัน)

เหตุผลคือ การเก็บภาษีที่ดินสูงจะทำให้เจ้าของที่ดินต้องทำประโยชน์ในที่ดินให้คุ้มกับภาษี มิฉะนั้นก็ต้องเปิดที่ดิน ให้เช่าหรือขายไป ซึ่งต้องแข่งขันกันเองระหว่างเจ้าของที่ดินทั้งนั้น ทำให้ค่าแรงสูงขึ้น ค่าเช่า-ราคาที่ดินลดลง ทำให้คนที่เดิมไม่สามารถซื้อหรือเช่าที่ดินได้ กลับมีความสามารถขึ้นมา จำนวนลูกจ้างที่ต้องพึ่งนายจ้างก็ลด การแข่งขันกันหางานทำก็ลดความรุนแรงลง

นี่คือสาเหตุที่ทำไมภาษีที่ดินสูงจึงทำให้ค่าแรงสูงด้วย ซ้ำภาษีที่ดินสูงยังทำให้ลดภาษีการลงแรงลงทุนลงได้อีกด้วย ยิ่งทำให้มีผู้ต้องการลงทุนเพิ่ม ความต้องการแรงงานยิ่งสูง ค่าแรงก็สูงขึ้นไปอีก

ธรรมชาติของมนุษย์เป็นอย่างนี้ เราก็ควรทำให้สอดคล้องกับธรรมชาติ แล้วจะไม่มีความขัดแย้ง

จาก utopiathai.webs.com




 

Create Date : 31 กรกฎาคม 2554    
Last Update : 31 กรกฎาคม 2554 6:26:56 น.
Counter : 642 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  
 
 

สุธน หิญ
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




แก้ความอยุติธรรมขั้นฐานราก
ตามแนวเฮนรี จอร์จ
http://utopiathai.webs.com
เลิกภาษีการลงแรงลงทุนผลิตและค้า
เลิกภาษีเงินได้ เพิ่มภาษีที่ดิน
ค่อยๆ เปลี่ยนแปลง ใช้เวลาสัก 30 ปี


เปิดเว็บต่างแดนดูไม่ได้ ให้ google ช่วยหา free anonymous proxy server ของต่างประเทศซึ่งมีอยู่มากเพื่อเปิดให้แทนครับ (ในไทยอาจมีการปิดกั้นเว็บของต่างแดน เว็บย่อยที่คนไทยอาศัยใช้กันก็พลอยถูกปิด)

เว็บหลักของผม ยูโทเพียไทย_1
* หน้ารวมลิงก์ยูโทเพียไทย_1 *

หนังสือดีเด่นแปล Progress and Poverty หนังสือ ความยากจนที่ไม่เป็นธรรม และ บทความ ของผม ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ยินดีให้เผยแพร่ต่อด้วยความขอบคุณ ยกเว้นบทความแปลกรุณาอ่านเงื่อนไขจากต้นฉบับภาษาอังกฤษที่อ้างไว้ครับ


- ศัพท์เศรษฐศาสตร์ ดร.บุญเสริม
- ภาษีทรัพย์สินสหรัฐฯ
- ภาวะตลาดอสังหาฯ
- ภาวะตลาดที่อยู่อาศัย 2537-51
- ราคาที่ดินทั่วไทยรายแปลง
- สรุปราคาประเมินใน กทม.ปี 2551-54
- การเปลี่ยนแปลงราคาที่ดินใน กทม.และปริมณฑลปี 2528-50


[Add สุธน หิญ's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com
pantip.com pantipmarket.com pantown.com