ผสมสองทฤษฎีสกัดเศรษฐกิจฟองสบู่
(ไม่สงวนสิทธิในภาคไทย แต่โปรดระบุว่ามาจากตำราเศรษฐศาสตร์ของ ศ. ดร. Fred E. Foldvary ที่ //www.foldvary.net/economics.html บทที่ 12: The Business Cycle สำหรับท่านที่ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม จะดูได้ที่ //www.foldvary.net/works/geoaus.html เรื่อง The Business Cycle: A Geo-Austrian Synthesis เป็นภาษาอังกฤษ)
ก. ลักษณะของวัฏจักร ๑. จุดต่ำสุด (bottom ) ของวัฏจักร เรียกว่า ระยะหดตัวต่ำสุด (depression หรือ trough) ๒. ต่อมาจะเป็น ระยะแกว่งตัวขึ้น (upswing) หรือ ระยะขยายตัว (expansion) . . ๒.๑ ส่วนแรกของ ระยะแกว่งตัวขึ้น คือ ระยะฟื้นตัว (recovery) . . ๒.๒ ส่วนที่ ๒ ถ้าเป็นการสูงขึ้นอย่างชัน (steep) จะเรียกว่า ระยะเฟื่องฟู (boom) ๓. จุดสูงสุด (top) เรียกว่า peak คือระยะรุ่งเรืองสูงสุด (prosperity) ๔. ระยะแกว่งตัวลง (downswing) เรียกว่า ระยะหดตัว หรือ ถดถอย (recession) ซึ่งถ้าเป็นการต่ำลงอย่างชันมาก (very steep) จะเรียกว่า เศรษฐกิจหดตัวรุนแรง (crash หรือ bust)
ข. ทฤษฎีวัฏจักร นักเศรษฐศาสตร์ได้พากันพยายามหาเหตุผลที่เกิดวัฏจักรเศรษฐกิจขึ้น ได้มีการตั้งทฤษฎีขึ้นหลายทฤษฎี ซึ่งอาจแบ่งได้เป็น ๒ ประเภท คือ ประเภทสาเหตุจริง และ ประเภทสาเหตุทางการเงิน ทฤษฎีสาเหตุจริงถือว่าวัฏจักรเกิดขึ้นจากสาเหตุจริง เช่น การเปลี่ยนแปลงอุปทานหรืออุปสงค์ ส่วนทฤษฎีสาเหตุทางการเงินถือว่าวัฏจักรเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงปริมาณเงินตราหรือราคา แต่นักเศรษฐศาสตร์ก็ยอมรับกันว่า ทฤษฎี หรือสมมุติฐานเหล่านี้ส่วนมากอธิบายเหตุผลได้ไม่ดีนัก
อย่างไรก็ดี มีอยู่ ๒ ทฤษฎีที่สมเหตุสมผลมากที่สุด ทฤษฎีหนึ่งเป็นด้านการเงิน อีกทฤษฎีหนึ่งเน้นสาเหตุจริง ซึ่งเมื่อนำมาพิจารณารวมกัน จะได้คำอธิบายวัฏจักรเศรษฐกิจครบถ้วน รวมทั้งวิธีหยุดยั้งวัฏจักรนี้
Henry George ค้นพบทฤษฎีด้านสาเหตุจริงเป็นคนแรก ท่านเห็นว่าอสังหาริมทรัพย์มีบทบาทสำคัญที่หยุดยั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจ
George ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ในหนังสือ Progress and Poverty ปี ค.ศ.๑๘๗๙ ว่าเศรษฐกิจลงต่ำสุดภายหลังภาวะเฟื่องฟูที่มีการเก็งกำไรที่ดิน ติดตามด้วยอาการที่ผลิตกรรมลดลง (หน้า ๒๖๘) อุปสรรคใหญ่ต่อการผลิตก็คือที่ดินมีราคา/ค่าเช่าสูง ซึ่งเท่ากับเป็น การปิดกั้นแรงงานและทุนจากที่ดิน (หน้า ๒๗๐) ราคาที่ดินที่มีการเก็งกำไรนั้นคือการเรียกเอาผลผลิตส่วนหนึ่งในอนาคต ณ เวลาปัจจุบัน ทฤษฎีของ George พยายามที่จะแก้ปัญหาการที่แรงงานและทุนต้องว่างงานในระยะเศรษฐกิจลงต่ำสุด เหตุที่ตลาดมีปัญหาก็เพราะแรงงานและทุนถูกตัดขาดจากโอกาสธรรมชาติอันจำเป็น ซึ่งที่ดินเท่านั้นที่ให้ได้
ในการตรวจสอบทฤษฎีของ George เราจะเริ่มที่ระยะเศรษฐกิจลงต่ำสุด (depression or trough) เนื่องจากอุปสงค์มีน้อย และมีที่ดินว่างมาก เพราะการล้มละลายและการหยุดลงทุน ค่าเช่าและราคาที่ดินในแหล่งธุรกิจจึงลดลงต่ำสุด การแกว่งตัวลงได้หยุดแล้ว เพราะกิจการที่เปราะบางและไม่เหมาะสมได้ล้มไปเกือบหมดสิ้น กิจการที่แข็งแรงเริ่มขยายตัวใหม่ โดยได้ประโยชน์จากค่าแรงต่ำ ดอกเบี้ยต่ำ และอสังหาริมทรัพย์ราคาถูก ถึงแม้อุปสงค์จะเพิ่ม แต่ในระยะฟื้นตัว ราคาจะยังเกือบคงเดิม เพราะยังมีทรัพยากรที่ว่างไม่ได้ใช้ประโยชน์อยู่มาก
เมื่อการขยายตัวดำเนินต่อไป ก็เข้าสู่ระยะแกว่งตัวขึ้น เพราะการจ้างงานมากขึ้นย่อมหมายความว่าจะมีการใช้จ่ายมากขึ้น กระตุ้นให้เกิดกิจการมากขึ้น อสังหาริมทรัพย์ที่ว่างเหลือน้อยลง ราคาและค่าเช่าเริ่มสูง การก่อสร้างเริ่มเข้าสู่ระยะเฟื่องฟู กระตุ้นอุปสงค์ในที่ดิน ระยะฟื้นตัวกลายเป็นระยะเฟื่องฟู อัตราเพิ่ม (ความชัน) ของการแกว่งตัวขึ้นเข้าสู่ขั้นสูงสุด ระยะนี้นักเก็งกำไรจะเข้าสู่ตลาด เพราะคาดกันว่าอสังหาริมทรัพย์จะมีราคาสูงขึ้นในอนาคต จึงทำให้ที่ดินยิ่งมีราคาสูงขึ้นไปอีก การก่อสร้างส่วนใหญ่ก็เป็นการเก็งกำไร เพราะผู้ก่อสร้างก็คาดหวังว่ามูลค่าที่ดินของตนจะสูงขึ้นจะทำให้ตนได้กำไร
แต่ผู้ประกอบการเริ่มเห็นว่าราคาอสังหาริมทรัพย์ชักจะสูงกว่าที่ควรสำหรับปัจจุบัน เพราะมันสูงขึ้นจากการคาดหวังสำหรับอนาคต สิ่งขวางกั้นที่มองไม่เห็น ซึ่งทำให้ไม่มีการก่อสร้างอาคารและเมืองไม่ขยายออก คือ ราคาอันสูงของที่ดิน ราคาที่จะเพิ่มเมื่อเห็นแน่นอนว่าประชากรที่เพิ่มจะต้องใช้ที่ดิน (George, Social Problems, 1883, p.126) มือที่มองไม่เห็น ของแอดัม สมิธ ถูกสกัดด้วย สิ่งขวางกั้นที่มองไม่เห็น ของ George เป็นธรรมดาที่จะมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้น เช่น ดอกเบี้ย วัตถุดิบ และแรงงาน แต่การเก็งกำไรเป็นอิทธิพลที่มีพลังสูงเป็นพิเศษที่ทำให้ราคาที่ดินขึ้นสูง
ผู้ประกอบการพากันชะลอการขยายกิจการ วัฏจักรมาถึงจุดที่เส้นโค้งลดความชัน (inflection point) คือยังคงสูงขึ้น แต่ความชันเปลี่ยนเป็นน้อยลง ถึงแม้ธุรกิจจะยังขยายตัวรวดเร็ว แต่อัตราขยายตัวก็ลดลงเพราะอสังหาริมทรัพย์มีราคาสูงเกินไปแล้ว สิ่งที่มีส่วนชะลอการขยายกิจการด้วย คือ ค่าแรงและสิ่งอื่นที่นำมาใช้มีราคาสูงขึ้น แต่ก็ไม่ได้เพิ่มมากนัก ผิดกับที่ดิน ซึ่งอุปสงค์ที่เพิ่มมีผลเต็มที่ต่อราคา เพราะอุปทานของที่ดินในบริเวณหนึ่งๆ ไม่สามารถเพิ่มได้!
การก่อสร้างที่ชะลอตัวลงทำให้กิจการอื่นๆ ชะลอลงด้วย เช่น ความต้องการเฟอร์นิเจอร์ เหล็ก และ ไม้ ลด อุตสาหกรรมที่ผลิตสินค้าทุนเหล่านี้ ซึ่งได้ขยายอย่างรวดเร็ว ก็หดตัวลง คนงานที่ถูกปลดหรือลดเวลาทำงานก็ใช้จ่ายน้อยลง อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจยิ่งช้าลงอีก จนมาถึงจุดที่เส้นเฉียงขึ้นเปลี่ยนเป็นเส้นแนวนอน คือ หยุดขยาย เศรษฐกิจอยู่ที่จุดสูงสุด แต่กำลังจะต่ำลง เพราะอัตราการขยายตัวได้ลดลง และกำลังจะเป็นลบ
เมื่อเห็นว่าการขยายตัวหยุด ผู้ลงทุนจำนวนมากก็จะอยากขายหุ้น การลดลงอย่างมากของดัชนีตลาดหุ้นมักจะเป็นสิ่งบ่งชี้ว่า กำลังจะเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ แต่นั่นเป็นเพียงการเริ่มต้น และเป็นเพียงการออกอาการของปัญหา มิใช่สาเหตุแรกเริ่ม ถึงแม้การลดลงของราคาหุ้นจะมีส่วนด้วยต่อการหดตัวของเศรษฐกิจ เพราะผู้ที่ขาดทุนจะไม่ใช้จ่ายในรายการใหญ่ๆ
ภาวะถดถอยเองยิ่งทำให้เกิดการถดถอยมากขึ้น โดยที่การลดการผลิตทำให้รายได้ลด และรายจ่ายก็ลด ซึ่งก็ยิ่งทำให้การผลิตลดลงอีก ราคาอสังหาริมทรัพย์ยังคงสูง ถึงแม้จะมีว่างมากขึ้น เพราะเจ้าของยังไม่อยากขายต่ำกว่าราคาที่เคยสูงมา ปรากฏการณ์นี้ดำเนินมาซ้ำซากทุกวัฏจักร! แต่ในที่สุด เมื่อมีการล้มละลายมากขึ้น เจ้าของที่ดินก็ได้รับค่าเช่าน้อยลง ส่วนหนึ่งของเจ้าของที่ดินซึ่งมีรายจ่ายเกินรายได้ก็ต้องขาย ราคาอสังหาฯ จึงเริ่มหักหัวลง เจ้าของที่ดินจำนวนมากล่มจม หมดความสามารถชำระหนี้ ส่วนใหญ่มีหนี้มากเกินมูลค่าทรัพย์สินของตน เมื่อไม่มีการชำระหนี้ ธนาคารก็ขาดเงินมากมาย และล้มลงหลายแห่ง
หลังจากการหดตัวรุนแรง การล้มละลายและการหดตัวก็ลดความเร็วลง นับเป็นการถึงจุดที่เส้นโค้งลดความชัน (inflection point) ครั้งที่ ๒ ซึ่งเศรษฐกิจยังคงหดตัว แต่ความชันเปลี่ยนเป็นน้อยลง และกำลังลงไปสู่จุดต่ำสุด ซึ่งที่จุดนี้ ทรัพยากรเป็นอันมาก โดยเฉพาะคือ แรงงาน และ อสังหาริมทรัพย์ จะอยู่ว่าง และมีราคาต่ำ แต่การหดตัวได้จบลงแล้ว เส้นความเติบโตเข้าสู่แนวนอน แล้วอัตราการเติบโตก็กลับเป็นบวกใหม่เมื่อธุรกิจทั้งเก่าและใหม่ต่างถือโอกาสจากราคาที่ลดลงเพื่อขยายตัว
แต่นี่เป็นเพียงครึ่งเรื่อง เราต้องเข้าสู่ครึ่งหลังต่อไป ซึ่งเป็นภาคการเงิน
ตามที่ Friedrich Hayek กล่าวในงานเขียน ค.ศ.๑๙๓๓ หน้า ๙๐ แม้จะไม่มีข้อสงสัยว่าทฤษฎีวัฏจักรเศรษฐกิจทั้งหลายที่มิใช่ด้านการเงินจะตั้งข้อสมมุติกันไว้อย่างเงียบๆ ว่า การผลิตสินค้าประเภททุนนั้นเป็นไปได้ก็โดยการก่อสินเชื่อขึ้นใหม่ . . . แต่ยังไม่มีผู้ใดพิสูจน์ว่า ควรถือสถานการณ์นี้เป็นมูลฐานอย่างเดียวสำหรับการอธิบาย ธุรกิจและผู้เก็งกำไรได้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ในระยะเศรษฐกิจเฟื่องฟูด้วยเงินที่กู้ยืมมา เราจะต้องตรวจสอบว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับระบบธนาคาร
เหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้น (scenario) ซึ่งสำนักเศรษฐศาสตร์ออสเตรียนอธิบาย โดยเฉพาะคือ Friedrich Hayek เริ่มด้วยการที่ธนาคาร (โดยเฉพาะคือธนาคารกลางสำหรับปัจจุบัน) อัดเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ ถ้าเป็นระยะเศรษฐกิจหดตัวต่ำสุดก็เป็นธรรมดาที่ธนาคารกลางจะเพิ่มปริมาณเงินตราเพื่อกระตุ้นการขยายตัวให้ฟื้นตัวเร็วขึ้น อาจมีการเพิ่มปริมาณเงินเพื่อรองรับการเฟื่องฟูของอสังหาริมทรัพย์ด้วย แต่ไม่ว่าจะเพราะสาเหตุใด ปริมาณเงินตราที่เพิ่มขึ้นมาจะมีผลชั่วคราวเหมือนกับการที่เงินออมเพิ่มขึ้น เมื่อมีเงินที่พร้อมจะให้กู้มากขึ้น อัตราดอกเบี้ยก็ลด หรือไม่เพิ่มขึ้นมากตามที่ควรจะเป็นในระยะเศรษฐกิจฟื้นตัว
กิจการที่ผลิตสินค้าทุนขั้นสูงป้อนอุตสาหกรรมอื่นๆ จะมีความรู้สึกอ่อนไหวเป็นพิเศษต่ออัตราดอกเบี้ย เพราะการลงทุนจะต้องเป็นระยะยาวมาก บริษัทเหล่านี้ต้องกู้เงินเพื่อขยายกิจการ แต่การขยายนี้ไม่ใช่ของจริง เพราะอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำไม่ได้เกิดตามธรรมชาติและมีลักษณะชั่วคราว เมื่อราคาสินค้าสูงขึ้นจากการเพิ่มปริมาณเงิน ก็ต้องหยุดการเพิ่มนี้ มิฉะนั้นอัตราเงินเฟ้อจะสูง เพราะประชาชนจะคาดการณ์ล่วงหน้าว่าราคาสินค้าจะยิ่งสูงขึ้น แล้วก็เพิ่มราคาสินค้าและค่าแรงสูงขึ้นไปอีก เมื่อการเพิ่มปริมาณเงินลดลง ก็ทำให้หาสินเชื่อได้ยากขึ้น อัตราดอกเบี้ยจึงสูงขึ้น ทำให้บริษัทที่อ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ ต้องหยุดขยายกิจการ
เมื่อไม่มีการอัดฉีดเงินเข้ามา อัตราดอกเบี้ยก็จะสูงขึ้นอยู่แล้ว เพราะมีความต้องการเงินกู้มากขึ้นสำหรับการเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์ ดังนั้นปัจจัยด้านเงินตราและการที่อัตราดอกเบี้ยเพิ่ม ผสมกับกับการสูงขึ้นของราคาที่ดิน จะทำให้ต้นทุนของการลงทุนใหม่สูง และได้รับผลตอบแทนต่ำ สาเหตุทั้งสองประการนี้ทำให้เกิดจุดที่เส้นโค้งลดความชัน (inflection point) ในระยะเฟื่องฟู เมื่ออัตราการเพิ่มลดความเร็วลง ซึ่งหมายถึงว่าในระยะเศรษฐกิจเฟื่องฟูมาก ก็เกิดความวิบัติด้วย การหดตัวรุนแรงมีสาเหตุจากการเฟื่องฟูที่ผ่านมา
ค. วิธีกำจัดวัฏจักรธุรกิจ วัฏจักรธุรกิจก่อความสูญเสียทางเศรษฐกิจและทำให้เกิดความทุกข์ยากแก่ผู้ที่ถูกปลดออกจากงาน ชีวิตของคนทั่วไปก็ลำบากขึ้น ยิ่งกว่านั้น ในระยะเฟื่องฟูที่ไม่ใช่ของจริง ก็มีการนำทรัพยากรไปใช้ในโครงการซึ่งสุดท้ายก็สูญเปล่า เช่น ศูนย์การค้าที่มีอัตราว่างถึงครึ่งหนึ่งตลอดหลายปี เป็นที่รับรู้กันสำหรับรัฐบาลเป็นอย่างน้อย ว่าการที่เศรษฐกิจหดตัวนั้นไม่ใช่สิ่งที่น่าชื่นชอบ แต่ยังพยายามบำบัดเพียงอาการและผลกระทบของวัฏจักรเท่านั้น เช่น กระตุ้น เศรษฐกิจ ซึ่งอาจกระตุ้นผิดจังหวะ และช่วยบรรเทาเพียงชั่วคราว แต่มักก่อผลร้ายตามมา
ถ้าสาเหตุใหญ่ของวัฏจักร คือ ภาวะเฟื่องฟูแบบเก็งกำไรด้านอสังหาริมทรัพย์และการจงใจเพิ่มปริมาณเงินตรา วิธีแก้ไขก็คือหยุดเหตุการณ์ทั้งสองนั้น
เราสามารถหยุดการจงใจเพิ่มปริมาณเงินตราได้อย่างถาวรด้วยการใช้ระบบการธนาคารเสรี ให้ธนาคารเอกชนมีสาขาได้ไม่จำกัด และออกธนบัตรได้เอง (สิ่งที่ใช้แทนเงินตรา ซึ่งไถ่ถอนได้เป็นเงินตราแท้ เช่น ทองคำ มิฉะนั้นก็เป็นบัตรของธนาคารสำรองเงินตราที่กำหนดปริมาณตายตัว) ระบบธนาคารเสรีทำให้มีความอ่อนตัว หรือยืดหยุ่น ในการสนองตอบต่อการเปลี่ยนแปลงอุปสงค์ในเงินตรา แทนที่จะเป็นการพยายามยัดเยียดเสถียรภาพด้วยการเพิ่มปริมาณเงินขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งยากต่อการวัดและควบคุม และยังมีปัญหาว่าปริมาณเท่าไรจึงจะให้ผลดีสูงสุด (ส่วนที่เกี่ยวข้องคือ Chapter 11: Money, Inflation, and Banking รายละเอียดเรื่อง การธนาคารเสรี ดู The Theory of Free Banking by George A. Selgin, Totowa, NJ, 1988)
ส่วนด้านอสังหาริมทรัพย์ ในระยะอสังหาฯเฟื่องฟู ที่ดินมีราคาสูงเพราะคิดจากค่าเช่าในอนาคต ผู้เก็งกำไรคาดหวังค่าเช่าที่ดินจะสูงขึ้น ถ้าค่าเช่าที่ดินทั้งหมด หรือส่วนมาก ถูกรัฐหรือประชาคมเก็บเป็นภาษี ก็จะไม่มีการเก็งกำไรที่ดิน เพราะค่าเช่าที่จะเพิ่มในอนาคตก็จะถูกเก็บเป็นภาษี ราคา/ค่าเช่าอสังหาฯ จะแสดงถึงประโยชน์ปัจจุบันเท่านั้น มิใช่ประโยชน์ที่คาดหวังสำหรับอนาคต เมื่อไม่มีการเก็งกำไรที่ดิน ความต้องการเงินกู้ก็ลดด้วย อัตราดอกเบี้ยก็จะไม่สูงนัก เมื่ออัตราดอกเบี้ยและราคาอสังหาฯ ถูกกำหนดโดยกิจการปัจจุบัน เศรษฐกิจก็จะไม่ขยายตัวไปถึงขั้นเฟื่องฟูชนิดไม่ยั่งยืน
ดังนั้น วิธีแก้ไขวัฏจักรเศรษฐกิจก็คือ การให้รัฐหรือประชาคมเก็บค่าเช่าที่ดินเป็นภาษี และใช้ระบบการธนาคารเสรี การธนาคารเสรีจะถ่วงวัฏจักรให้ช้าลง แต่เมื่อใช้ทั้งสองวิธีผสมกันจะสามารถป้องกันการเกิดวัฏจักรขนาดใหญ่ได้ วัฏจักรขนาดเล็ก ระยะสั้น ยังอาจเกิดขึ้น แต่จะไม่ทำให้เกิดการว่างงานและการล้มละลายขนานใหญ่ ในเศรษฐกิจระบบตลาดที่แท้จริง การขยายตัวอาจยังไม่ราบเรียบ เมื่อเทคโนโลยีทำให้เกิดผลผลิตใหม่ๆ ที่มาแรงเป็นพักๆ แต่วัฏจักรขนาดใหญ่ที่กินกว้างไปทั่วโลกจะเหลือเป็นเพียงประวัติศาสตร์.
(ฟรี ออนไลน์ ความยากจนที่ไม่เป็นธรรม เศรษฐศาสตร์ที่ลงถึงราก และ หนังสือดีเด่นแปล ความก้าวหน้ากับความยากจน ของ Henry George ที่ //geocities.com/utopiathai ครับ).
Create Date : 25 มกราคม 2551 | | |
Last Update : 15 เมษายน 2551 12:34:26 น. |
Counter : 874 Pageviews. |
| |
|
|
|