ยูโทเพียไทย
เศรษฐศาสตร์
เพื่อความเป็นธรรม

 

รัฐสวัสดิการดีจริงหรือ ?

ระบบรัฐสวัสดิการเป็นสิ่งที่เรียกกันว่า *ทางสายกลาง* ระหว่างคอมมิวนิสต์กับนายทุน ซึ่งก็เลยทำให้ยังมีข้อบกพร่องที่ทั้งคอมมิวนิสต์และลัทธินายทุนต่างก็มีอยู่ นั่นก็คือ การคิดสับสนปะปนกันระหว่าง *ที่ดิน* กับ *ทุน* คอมมิวนิสต์โจมตีชนชั้นเจ้าของปัจจัยการผลิตทั้งสองนี้รวม ๆ กันไปไม่พยายามแยกประเภท ส่วนระบบนายทุนหรือเสรีวิสาหกิจปัจจุบันก็พยายามต่อสู้ป้องกันชนชั้นทั้งสองนี้ไว้รวม ๆ กันไปโดยพยายามไม่แยกประเภทเช่นเดียวกัน (จริงอยู่ มีอยู่มากรายที่เจ้าของที่ดินและเจ้าของทุนเป็นบุคคลคนเดียวกัน แต่ในการคิดหาเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ เราจะต้องแยกฐานะความเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตที่ต่างกันออกจากกัน) รัฐสวัสดิการ *ทางสายกลาง* ก็เลยยอมให้เอกชนเป็นเจ้าของได้ทั้งที่ดินและทุน แต่ว่าได้เฉพาะรายย่อย ส่วนรายใหญ่ต้องโอนเป็นของรัฐ ซึ่งรัฐวิสาหกิจมักจะมีคอร์รัปชัน ความเป็นเจ้าขุนมูลนาย และ ประสิทธิภาพต่ำ

ทางสายกลางที่แท้จริงน่าจะได้แก่ ระบบภาษีมูลค่าที่ดิน* ซึ่งเปรียบเสมือนโอนปัจจัยการผลิตแต่เพียงปัจจัยเดียวเป็นของรัฐ คือที่ดิน ส่วนทุนจะมากน้อยเพียงใดยังคงยอมให้เอกชนมีกรรมสิทธิ์อยู่และได้ผลตอบแทนเต็มที่ ไม่ต้องเสียภาษี แต่จะต้องหาทางกำจัดการผูกขาด แรงงานก็ไม่ต้องเสียภาษี

การสวัสดิการในสวีเดนและเดนมาร์กนับว่าดี เช่น คนเจ็บป่วย คนชรา คนว่างงาน จะไม่อดตาย มีการรักษาพยาบาลฟรีอย่างดี แต่ถ้ารัฐให้สวัสดิการดีตั้งแต่เกิดลงเปลไปจนถึงตายลงหลุม (from the cradle to the grave) กิจการของรัฐก็จะต้องใหญ่โตมีเจ้าหน้าที่มาก เกิดคอร์รัปชันและระบบเจ้าขุนมูลนายมากขึ้น รัฐจะต้องเข้ามาก้าวก่ายเสรีภาพส่วนบุคคลมากขึ้นและภาษีก็จะต้องสูงตั้งแต่เกิดลงเปลไปจนถึงตายลงหลุมเช่นเดียวกัน ซึ่งราษฎรของทั้งสองประเทศนี้ก็รู้สึกกันทั่วไปว่าตนต้องเสียภาษีแรงมาก เพราะรัฐบาลไม่มีทางได้เงินจากไหนมาทำสวัสดิการ นอกจากจะรีดเอาจากพลเมืองด้วยกัน ภาษีเงินได้สูงทำให้คนที่รายได้สูงย้ายออกนอกประเทศ ไม่เป็นการส่งเสริมการลงทุน ทำให้หางานทำยาก ว่างงานมาก และภาษีที่เก็บจากการลงแรงลงทุนของแต่ละบุคคล เพื่อเอาไปบำรุงคนอื่นนั้นก็ไม่ยุติธรรม ซ้ำยังทำให้ของแพงและถ่วงการผลิต แต่ถ้าเป็นการสวัสดิการโดยใช้ภาษีมูลค่าที่ดินซึ่งควรจะเป็นรายได้อันชอบธรรมของรัฐ (เพราะมูลค่าราคาของที่ดินเกิดจากการกระทำของทุกคนรวมกัน รวมทั้งภาษีที่ทุกคนจ่ายไปบำรุงส่วนรวม) นั่นแหละ จึงจะเป็นการสมควรอย่างยิ่ง

เราต้องยอมรับความจริงข้อหนึ่งว่า คนเราเกิดมาไม่เท่าเทียมกัน สมองดีบ้าง ทึบบ้าง ร่างกายสมประกอบบ้าง ง่อยเปลี้ยบ้าง ความขยันขันแข็งความรู้สึกรับผิดชอบเอาใจใส่ในหน้าที่การงานก็ไม่เท่ากัน สิ่งเหล่านี้ขึ้นอยู่กับพันธุกรรมบ้าง สิ่งแวดล้อมบ้าง เป็นการยากที่จะวินิจฉัยว่าเป็นความผิดของเจ้าตัวหรือเปล่า และเป็นการยากที่จะช่วยให้ทุกคนเกิดความเท่าเทียมกัน เราจะทำให้เกิดความเท่าเทียมกันได้ก็เฉพาะในเรื่องของโอกาส ซึ่งระบบภาษีมูลค่าที่ดินจะเปิดโอกาสให้มนุษย์มีสิทธิ์เท่าเทียมกันในการใช้ที่ดินอันเป็นของธรรมชาติและเป็นรากฐานจำเป็นแก่การอยู่อาศัยและการประกอบอาชีพ การช่วยให้เกิดความเท่าเทียมกันในเรื่องอื่น ๆ บางครั้งก็ไม่สมควร เช่น จะช่วยให้คนเกียจคร้านมีรายได้ฐานะเท่าเทียมกับคนขยันเป็นต้น ทั้งในระบบปัจจุบันก็มิได้มีมาตรการที่ได้ผลแต่อย่างไรในการที่จะแก้ไขความไม่เท่าเทียมกันของมนุษย์เช่นที่กล่าวมานี้

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ยากไร้มีความเป็นอยู่ต่ำกว่ามาตรฐานอันหนึ่ง (ตามที่จะคิดกำหนดขึ้น) ก็ควรจะได้รับการอุ้มชูจากรัฐ (หรือ คือ สังคมส่วนรวมนั่นเอง) แต่มาตรฐานที่กำหนดไว้นี้ก็ต้องระวังไม่ให้ดีเกินไป จนกลายเป็นเครื่องล่อใจให้คนไม่คิดช่วยตัวเอง กลายเป็นภาระของสังคมที่จะต้องคอยอุ้มชูกันเรื่อยไป ตัวอย่างในสิ่งที่ควรจะช่วยเหลือก็เช่นให้การศึกษาพื้นฐาน ที่จะออกไปประกอบอาชีพได้ตามสมควรและประพฤติตนเป็นพลเมืองดีของสังคม (การศึกษาภาคบังคับควรจะตรงตามความมุ่งหมายนี้ แต่ไม่ใช่ให้การศึกษาขั้นปริญญาฟรีโดยในการศึกษาภาคบังคับชั้นประถมกลับหาที่เรียนฟรีที่ดีพอสมควรไม่ได้) เมื่อเจ็บป่วยก็ควรจะให้การรักษาพยาบาลฟรี (แต่ก็ต้องระวังผู้ที่แกล้งทำเป็นป่วยเพราะได้อาหารฟรีและไม่ต้องทำงาน) มีการฝึกอาชีพให้ใหม่เมื่อต้องว่างงาน เช่น เมื่ออุตสาหกรรมในครอบครัวต้องพ่ายแพ้แก่เครื่องจักรกลในอาชีพเดียวกัน มีการสงเคราะห์คนพิการ หูหนวก ตาบอด ปัญญาอ่อน ฯลฯ

ข้อที่ควรระลึก ก็คือ ระบบภาษีเดี่ยวจากการถือครองที่ดิน (ซึ่งไม่เก็บภาษีจากการลงแรงลงทุน เช่น ภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม) จะช่วยบรรเทาปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ลงไปโดยอัตโนมัติ ทำลายการเก็งกำไรเก็บกักที่ดิน ของกินของใช้จะราคาถูกลง การว่างงานจะลดลง หางานทำได้ง่าย ค่าแรงจะสูงขึ้น ช่วยให้ผู้ใช้แรงงานมีฐานะดีขึ้นโดยทั่วไป และมีความภาคภูมิใจที่สามารถยืนอยู่ด้วยลำแข้งของตนเอง ประสบผลสำเร็จทำมาหาเลี้ยงชีพเป็นที่พึ่งแก่ครอบครัวได้ โดยไม่ต้องรอรับ *รัฐสวัสดิการ* เหมือนขอทานอีกต่อไป ถ้าพื้นฐานดีเสียแล้วการจะแก้ปัญหาส่วนที่เหลือก็จะพลอยง่ายขึ้นไปด้วย.

(จาก หนังสือ ความยากจนที่ไม่เป็นธรรม - เศรษฐศาสตร์ที่ลงถึงราก
//geocities.com/utopiathai/UnjustPoverty หน้า 79-80)

หมายเหตุ ระบบภาษีมูลค่าที่ดิน ดูที่ //th.wikipedia.org/wiki/เฮนรี_จอร์จ
และที่ //th.wikipedia.org/wiki/ภาษีเดี่ยว

บทความเกี่ยวกับเรื่องรัฐสวัสดิการ
รัฐสวัสดิการแบบไทยต้องใช้เงินขั้นต่ำ 4 แสนล้าน
บทสรุปบางส่วนจากบทความเรื่อง คนไทยพร้อมจะจ่ายค่ารัฐสวัสดิการหรือ ?
//www.nidambe11.net/ekonomiz/2007q4/2007november07p4.htm
สำหรับฉบับเต็ม (ซึ่งมีข้อมูลรายละเอียด) เรื่อง คนไทยพร้อมจะจ่ายค่ารัฐสวัสดิการหรือ? โดย ดร. วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ เสนอสำหรับกลุ่มที่ 3 การต่อสู้กับความยากจนด้วยระบบรัฐสวัสดิการ ในการสัมมนาวิชาการประจำปี 2550 เรื่อง จะแก้ปัญหาความยากจนกันอย่างไร: แข่งขัน แจกจ่าย หรือสวัสดิการ ร่วมจัดโดย มูลนิธิชัยพัฒนา และ มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย วันที่ 10-11 พฤศจิกายน 2550 ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ ซิตี้ จอมเทียน ชลบุรี ดูได้ที่
//www.tdri.or.th/ye_07/g3_worawan.pdf (27 หน้า)
รัฐสวัสดิการทางเลือกใหม่ของการเมืองไทย
//www.bbznet.com/scripts2/view.php?user=tangnamo&board=1&id=194&c=1&order=numtopic
รัฐสวัสดิการจะดีทำไมต้องภาษีก้าวหน้า?
//www.bbznet.com/scripts2/view.php?user=tangnamo&board=1&id=109&c=1&order=numtopic




 

Create Date : 21 พฤษภาคม 2551    
Last Update : 21 สิงหาคม 2551 23:54:35 น.
Counter : 1026 Pageviews.  

เรื่องย่อหนังสือความยากจนที่ไม่เป็นธรรม (ฉบับเต็มอ่านฟรีบนเว็บ)

(ฉบับเต็มอ่านได้ที่ //utopiathai.webs.com/UnjustPoverty.html)

ลัทธิที่ดินนิยมคือกาฝากร้ายของทุนนิยม การที่ฝ่ายทุนนิยมล้มเหลวไม่สามารถขจัดความยากจนได้ การที่วัฏจักรเศรษฐกิจเหวี่ยงตัวขึ้นลงรุนแรงก่อความเสียหายใหญ่หลวง ธุรกิจล้มละลาย ผู้คนสิ้นเนื้อประดาตัว ก็เพราะที่ดินนิยมเป็นสาเหตุหลักให้เกิดการเก็งกำไรที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีที่ดินเป็นส่วนสำคัญ ถ้าเราสามารถขจัดลัทธิที่ดินนิยมออกไปจากลัทธิทุนนิยม ทุนนิยมก็จะเป็นทั้งแรงงานนิยมไปด้วยอีกอย่างหนึ่งคู่กันไป เพราะที่ดินนิยมคือสิ่งขวางกั้นมหึมาต่อมือที่มองไม่เห็นของแอดัม สมิธ อันเป็นหัวใจของทุนนิยมหรือลัทธิเสรีวิสาหกิจ

ที่ดินคือเงื่อนไขแห่งชีวิต การปล่อยให้เอกชนมีกรรมสิทธิ์แทบจะเต็มที่ในที่ดิน ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติ มิได้มีมนุษย์ผู้ใดลงทุนลงแรงสร้างขึ้นมา การไม่เก็บภาษีที่ดินสูง ๆ ทำให้เกิดการเก็งกำไรเก็บกักที่ดิน ทำให้แผ่นดินของประเทศชาติไม่ได้รับการทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ ความไม่เท่าเทียมกันในกรรมสิทธิ์ที่ดินเนื่องจากความยากจนทำให้คนจำนวนมากต้องยอมจ่ายค่าตอบแทนโดยเช่าที่ดินจากผู้อื่น การเก็บภาษีทั้งหลายแหล่ยกเว้นภาษีที่ดิน ได้ก่อผลร้าย เช่น ทำให้ของแพงและค่าแรงต่ำ ถ่วงความร่วมมือในการผลิต ทั้งภายในประเทศด้วยกัน และกับต่างประเทศ ทำให้ผลผลิตลดลง และการว่างงานรุนแรงขึ้น

การที่รัฐบาลออกกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ซึ่งกลายเป็นการส่งเสริมอภิสิทธิ์อำนาจผูกขาด ทำให้เกิดการกดขี่ขูดรีด ทำให้ราษฎรส่วนใหญ่เดือดร้อน เหล่านี้คือสาเหตุของความยากจนที่เริ่มจากความไม่เป็นธรรม

ภาษีนั้นไม่ควรจะให้เป็นภาระแก่ผู้ลงทุนลงแรงสร้างผลผลิตและบริการ แต่ควรจะเก็บตาม “หลักผลประโยชน์” หรือถือตามหลักความยุติธรรม คือส่วนที่เกิดจากเอกชนแต่ละคนก็ต้องเป็นของเอกชนแต่ละคนนั้น ๆ ส่วนที่เกิดจากสังคมก็จักต้องไม่ยอมให้ตกไปเป็นของเอกชน แต่ต้องใช้วิธีการภาษีหรืออื่น ๆ นำกลับมาเป็นของรัฐหรือสังคมส่วนรวม

การเร่งรัดพัฒนาประเทศ จะทำได้ก็แต่โดยรัฐบาลจะต้องเก็บภาษีให้มากขึ้น ผู้เสียภาษีคือราษฎรทั่วไป ผลร้ายของภาษีคือทำให้ของแพง ถ่วงการผลิต และค่าแรงต่ำ แต่ส่วนผลดีของการพัฒนาประเทศ เช่นการสร้างถนน สะพาน การชลประทาน กลับไปตกอยู่กับเอกชนเจ้าของที่ดินแต่ละคน ผู้เช่าที่ดินซึ่งต้องเสียภาษีต่าง ๆ มากขึ้นอยู่แล้ว ก็กลับต้องเสียค่าเช่าที่ดินเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลของภาษีที่เอาไปพัฒนานั่นเอง นับได้ว่าเป็นการเสีย 2 ต่อ ความอยุติธรรมเช่นนี้ได้ส่งผลพอกพูนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตลอดมาเป็นเวลานานแล้ว ดังนั้น ผลของการพัฒนาประเทศจึงเสมือนลิ่มที่ตอกผ่ากลางระหว่างกลุ่มคนจนกับกลุ่มคนรวย แยกชน 2 กลุ่มนี้ให้เกิดช่องว่างระหว่างกลางมากขึ้น ยกกลุ่มที่ร่ำรวยอยู่แล้วให้ยิ่งร่ำรวยขึ้น และกดกลุ่มที่ยากจนลงให้เกิดความยากแค้นมากยิ่งขึ้น จึงเกิดคำถามกันขึ้นว่า “เราพัฒนาไปเพื่อใคร ?”

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาประเทศเป็นสิ่งที่ดีงาม ควรกระทำต่อไป แต่ประโยชน์ที่เกิดขึ้นก็ควรจะให้กระจายออกไปทั่วหน้ากัน โดยการพยายามลดหรือยกเลิกภาษีต่าง ๆ แล้วเก็บภาษีมูลค่าที่ดินแทน




 

Create Date : 28 เมษายน 2551    
Last Update : 19 มิถุนายน 2554 7:54:38 น.
Counter : 2354 Pageviews.  

แอดัม สมิธ: ภาษีที่ดีและที่เลว

(จากบทความเรื่อง Adam Smith's Recommendations on Taxation โดย Nadia Weiner ผู้อำนวยการสโมสรแอดัม สมิธแห่งซิดนีย์ ออสเตรเลีย ที่ //www.progress.org/banneker/adam.html )

แอดัม สมิธ (ค.ศ.1723-90) ผู้ได้รับสมญาว่า “บิดาแห่งเศรษฐศาสตร์” คัดค้านระบบการค้าแบบคุ้มครอง (protectionist) คือระบบที่ใช้วิธีตั้งกำแพงภาษีหรือโควตาแก่สินค้าเข้าเพื่อคุ้มครองอุตสาหกรรมภายในจากการแข่งขันของต่างประเทศ ในด้านภาษีท่านได้ใช้เนื้อที่เกินกว่า 1 ใน 3 ของหนังสือเล่มสำคัญของท่านชื่อ An Inquiry into the Nature and Causes of the Wealth of Nations (เรียกกันสั้น ๆ ว่า Wealth of Nations) เพื่อกล่าวถึงเรื่องรายได้ของรัฐบาลและวิธีดีที่สุดในการหารายได้ รวมทั้งภาษีใหม่ ๆ

แอดัม สมิธได้กำหนดหลัก (maxim) 4 ข้อเกี่ยวกับการภาษีโดยทั่วไป ดังนี้ (หนังสือ Wealth of Nations ที่ //www.econlib.org/LIBRARY/Smith/smWNtoc.html ภาค 5 บทที่ 2 ย่อหน้า 24 หรือย่อว่า V.2.24)

1. คนในบังคับของรัฐทุกรัฐพึงจ่ายเงินค้ำจุนรัฐบาลตามส่วนกับความสามารถของตน นั่นคือ ตามส่วนกับประโยชน์ที่ตนได้รับภายใต้การคุ้มครองของรัฐ
2. ภาษีที่แต่ละคนต้องจ่ายพึงมีความแน่นอน ไม่ใช่กำหนดตามอำเภอใจ กำหนดเวลาชำระ วิธีชำระ และจำนวนที่ต้องชำระ พึงมีความชัดเจน เข้าใจง่ายสำหรับผู้ชำระและทุกคน
3. พึงเก็บภาษีทุกชนิดในเวลาหรือโดยวิธีที่น่าจะสะดวกที่สุดสำหรับผู้จ่าย
4. พึงคิดหาวิธีที่สิ้นเปลืองน้อยที่สุดในการจัดเก็บภาษีทุกชนิดแก่ทั้งรัฐและผู้จ่ายภาษี
ความสิ้นเปลืองนี้แบ่งได้เป็น 4 ประการ คือ
1) ใช้เจ้าหน้าที่จำนวนมาก หรือต้องตั้งรางวัลมาก
2) ภาษีอาจขัดขวางความอุตสาหะของราษฎร พลอยทำให้การมีงานทำและรายได้ลดลง
3) การริบทรัพย์หรือปรับผู้ที่พยายามหลบเลี่ยงภาษีมักทำให้พวกเขาหมดตัว ทำให้กลายเป็นคนไร้ประโยชน์ต่อสังคม
ภาษีที่เลวมักล่อใจให้คนลักลอบค้าของเถื่อน และโทษก็จะเพิ่มขึ้นตามแรงดึงดูดใจ ในขั้นแรกกฎหมายซึ่งขัดกับหลักยุติธรรมจะล่อใจให้อยากละเมิด แล้วก็จะลงโทษอย่างรุนแรงในสถานการณ์ซึ่งควรลดแรงล่อใจให้ก่ออาชญากรรม
4) การที่ราษฎรถูกเยี่ยมกรายบ่อยและถูกตรวจสอบอย่างน่ารังเกียจจะก่อความเดือดร้อน รบกวน และกดขี่อย่างมากโดยไม่จำเป็น แม้การรบกวนจะมิใช่ค่าใช้จ่าย แต่ทุกคนก็ยินดีจ่ายเพื่อไถ่ตนเองให้พ้นจากการรบกวนนี้

แอดัม สมิธเห็นว่าภาษีสรรพสามิต ภาษีศุลกากร ภาษีกำไร (ส่วนใหญ่คือดอกเบี้ยสำหรับทุน) จะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมากเกินไปในการเก็บ เช่น ภาษีสรรพสามิต หรือทำให้ผู้ผลิตท้อถอย เช่น ภาษีกำไร สมิธคัดค้านภาษีที่เปิดโอกาสให้มีการรุกล้ำความเป็นส่วนตัว สำหรับภาษีสรรพสามิตนั้น ท่านกล่าวว่า “ทำให้ทุกครอบครัวอาจถูกเยี่ยมกรายและตรวจสอบอย่างน่ารังเกียจจากเจ้าพนักงานภาษี . . . ไม่สอดคล้องกับเสรีภาพเลย” (V.3.75)

ภาษีที่แอดัม สมิธเสนอแนะให้เก็บมี 2 ชนิด คือ ภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย และ ภาษีค่าเช่าที่ดิน (มูลค่าครอบครองที่ดินรายปี)

สำหรับสินค้าฟุ่มเฟือย แอดัม สมิธอธิบายคำว่า ‘จำเป็น’ ว่าอาจเปลี่ยนไปได้แล้วแต่สถานที่และเวลา ซึ่งขณะนั้น เสื้อผ้าลินิน รองเท้าหนัง อาหารและที่อยู่อาศัยขั้นต่ำถือว่าเป็นสิ่งจำเป็น ท่านตำหนิรุนแรงว่าภาษีที่เก็บจากสินค้าจำพวกเกลือ สบู่ ฯลฯ เป็นการเอาจากคนที่ยากจนที่สุดโดยไม่เป็นธรรม ท่านถือว่าภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย เช่นยาสูบ เป็นภาษีที่ดีเลิศ เพราะไม่มีใครถูกบังคับให้ต้องจ่าย “ภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยไม่มีแนวโน้มที่จะไปเพิ่มราคาโภคภัณฑ์อื่น ๆ เว้นแต่โภคภัณฑ์ที่ถูกเก็บภาษี … ภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยนั้นในที่สุดผู้บริโภคสิ่งนั้นจะเป็นผู้จ่ายโดยไม่ใช่เป็นการลงโทษ” (V.2.154)

ภาษีที่น่ายกย่องมากกว่าคือภาษีที่ดิน “ทั้งค่าเช่าที่ดินที่ตั้งอาคาร (ground-rents) และค่าเช่าที่ดินเกษตร (ordinary rent of land) ต่างเป็นรายได้ชนิดที่ส่วนมากเจ้าของได้รับโดยตนเองมิต้องเอาใจใส่หรือสนใจ แม้จะแบ่งรายได้นี้ส่วนหนึ่งไปเป็นค่าใช้จ่ายของรัฐก็จะไม่เกิดการท้อถอยแก่อุตสาหกรรมใด ๆ ผลผลิตรายปีของที่ดินและแรงงานแห่งสังคม ซึ่งเป็นทรัพย์และรายได้จริงของประชาชนส่วนใหญ่ จะยังคงเดิมหลังจากมีการเก็บภาษีนี้ ดังนั้นค่าเช่าที่ดินที่ตั้งอาคารและค่าเช่าที่ดินเกษตรอาจเป็นรายได้ชนิดที่สามารถจะเก็บภาษีเป็นพิเศษได้ดีที่สุด” (V.2.75)

ในภาคแรกแอดัม สมิธกล่าวไว้ว่า “ดังนั้นค่าเช่าที่ดิน ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่จ่ายสำหรับการใช้ที่ดิน จึงเป็นราคาแบบผูกขาดโดยธรรมชาติ มิใช่เป็นอัตราส่วนกับการซึ่งเจ้าที่ดินอาจลงทุนไปเพื่อปรับปรุงที่ดินแต่อย่างใดเลย หรือมิใช่ตามส่วนกับความสามารถที่เขาจะเรียกเอา แต่เป็นตามส่วนกับความสามารถของชาวนาที่จะให้" (I.11.5)

และในตอนสรุปของบทนี้ของภาคแรก แอดัม สมิธได้ตั้งข้อสังเกตว่า “การทำให้สภาวการณ์ของสังคมดีขึ้นทุกอย่างมีแนวโน้มที่จะทำให้ค่าเช่าแท้จริงของที่ดินสูงขึ้นไม่ทางตรงก็ทางอ้อม จะเพิ่มความมั่งคั่งแท้จริงให้แก่เจ้าที่ดิน เพิ่มกำลังซื้อของเขาต่อแรงงาน หรือผลผลิตแห่งแรงงานของผู้อื่น” (I.11.255)

“การขยายสิ่งปรับปรุงและการเพาะปลูกมักจะทำให้ค่าเช่าที่ดินสูงขึ้นโดยตรง ส่วนแบ่งของเจ้าที่ดินในผลผลิตย่อมจะต้องเพิ่มขึ้นเมื่อผลผลิตเพิ่มขึ้น” (I.11.256)

ภาษีที่สมิธคัดค้านรุนแรงที่สุดคือภาษีที่เก็บจากค่าแรงของผู้ใช้แรงงาน - “ในทุกกรณี ภาษีทางตรงที่เก็บจากค่าแรง ในระยะยาวแล้วย่อมจะทำให้ทั้งค่าเช่าที่ดินลดลงมากกว่าและราคาสินค้าประดิษฐกรรมแพงขึ้นมากกว่าที่จะเป็นถ้ามีการประเมินเก็บภาษีส่วนหนึ่งจากค่าเช่าที่ดินและอีกส่วนหนึ่งจากสินค้าแทน (ภาษีจากค่าแรง)” (V.2.132).




 

Create Date : 21 เมษายน 2551    
Last Update : 28 เมษายน 2551 8:14:17 น.
Counter : 722 Pageviews.  

ดร. Fred Foldvary ทำนาย 9 ปีแล้วว่าปีนี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ทรุด

ดร. Fred Foldvary อาจารย์เศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย Santa Clara และบรรณาธิการอาวุโส The Progress Report (//www.progress.org) ได้ทำนายไว้เมื่อ 9 ปีมาแล้วว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะถดถอยอย่างมากในราวปี 2008 ซึ่งเป็นเวลา 18 ปีจากการถดถอยครั้งก่อน (ค.ศ. 1990) คำทำนายนี้อยู่ในตอน Conclusion ของบทความเรื่อง The Business Cycle: A Geo-Austrian Synthesis (//foldvary.net/works/geoaus.html) เมื่อ 11 มี.ค. 1999 บทความนี้ผมอ้างไว้สำหรับผู้สนใจจะอ่านเพิ่มเติมด้านวัฏจักรธุรกิจเมื่อได้อ่านบทเรียนเรื่อง The Business Cycle ของท่านที่ผมแปลตามที่มีผู้ขอร้องใน พ.ศ.2546 โดยใช้ชื่อเรื่องว่า ผสมสองทฤษฎีสกัดเศรษฐกิจฟองสบู่ (//bbznet.com/scripts2/view.php?user=tangnamo&board=1&id=46&c=1&order=numtopic)

สองทฤษฎีนี้คือทฤษฎีเก็งกำไรที่ดินของ Henry George และทฤษฎีการเงินของสำนักออสเตรีย

บทความที่เกี่ยวข้อง
- เก็งกำไรที่ดินสาเหตุสำคัญเศรษฐกิจถดถอย (//bbznet.com/scripts2/view.php?user=tangnamo&board=1&id=129&c=1&order=numtopic)
- เก็งกำไรที่ดินผลเสียร้ายแรง (//www.bbznet.com/scripts2/view.php?user=tangnamo&board=1&id=219&c=1&order=numtopic)




 

Create Date : 16 เมษายน 2551    
Last Update : 21 เมษายน 2551 23:44:02 น.
Counter : 643 Pageviews.  

ปัญหาเศรษฐกิจแทบทุกปัญหาจะมีปัญหาที่ดินรวมอยู่

หลายคนคงไม่เชื่อ!! ก็ต้องลองคิดดู
ผมอยากจะบอกว่า โลกเราที่เดือดร้อนกันมาจนถึงบัดนี้
เป็นเพราะเราต้องเสียภาษีต่าง ๆ หลากหลาย เพราะรัฐ “ต้องหาทางเพิ่มฐานภาษี”
เพื่อเฉลี่ยกันไปให้คนในทุกภาคส่วนเสียภาษีเท่าเทียมกัน
เราก็เลยต้องเสียภาษีเงินได้ ทำให้รายได้เราต่ำลง
ภาษีมูลค่าเพิ่มทำให้ข้าวของแพง (ดีที่ยังเก็บแค่ 7 % แต่ก็ยังจะเพิ่มเป็น 10 % ถ้าเศรษฐกิจดี)
ซึ่งก็เหมือน ๆ กับภาษีสรรพสามิต ภาษีสินค้าเข้า และอื่น ๆ
ภาษีพวกนี้คือการเก็บจากการลงแรงลงทุนผลิตและค้า
ทำให้รายได้ของเราลด แต่รายจ่ายเพิ่ม ทั้ง ๆ ที่การลงแรงลงทุนดังนี้ก่อผลดีแก่ส่วนรวม

“ไม่เห็นจะเกี่ยวกับที่ดินตรงไหน” หลายคนอาจคิด
นี่ละครับเรื่องสำคัญของทุกคน และความเป็นธรรม ความเดือดร้อนเป็นตายของผู้ยากไร้
ถ้าเราหันไปมุ่งเก็บภาษีจากที่ดิน ซึ่งรวมทั้งทรัพยากรธรรมชาติ และการทำความเสียหายแก่สิ่งแวดล้อม
เราก็จะไม่ต้องเก็บภาษีจากการลงแรงลงทุนผลิตและค้า
รายได้ของผู้ลงแรงลงทุนจะสูงขึ้น แต่ราคาข้าวของจะต่ำลง

เกี่ยวกับที่ดินแล้วครับ และเกี่ยวข้องด้วยทุกลมหายใจเข้าออก
เพราะทุกคนต้องอาศัยมีที่อยู่ ไม่ที่ใดก็ที่หนึ่ง
อากาศก็สำคัญ แต่อากาศก็คือทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งรวมอยู่ในคำว่า “ที่ดิน”
เราจะหายใจเอาอากาศเข้าปอดได้ก็ต่อเมื่อเรามีที่อยู่ในโลกนี้
และค่าเช่าที่ดินก็คิดกันตามทำเล เนื้อที่ และเวลา ทุกลมหายใจเข้าออก
ถ้าไม่มีที่ดิน ทุกคนตาย !

แล้วใครหน้าไหนสร้างแผ่นดินนี้ขึ้นมา ?
จึงจะถือสิทธิ์ยึดเอาเป็นของตนตลอดกาล ถึงลูกหลานเหลนลื่อ ฯลฯ
หรือสามารถยกหรือขายสิทธิ์ให้ใครก็ได้ตามความพอใจ
กฎหมายของแทบทุกประเทศให้สิทธิ์นี้ไว้โดยไม่เป็นธรรม
มิใช่เพราะมันเป็นระบบที่ดี
แต่เพราะเหล่าผู้อยู่ในวงอำนาจปกครองพยายามรักษาผลประโยชน์เช่นเดียวกันนี้ของตนไว้

ราคา/ค่าเช่าที่ดินที่เพิ่มสูงขึ้นตามจำนวนประชากร พัฒนาการของชุมชน และเทคโนโลยีการผลิตนั้น
มิใช่เพราะเจ้าของที่ดินทำอะไร
แต่เป็นเพราะผู้คนเข้ามาอยู่รวมกันเพื่อความสะดวกปลอดภัยและประโยชน์ในการทำมาหากิน
กิจกรรมของทุกคนที่ร่วมกันทำโดยวิธีแบ่งงานกันแบบเป็นไปเองโดยสมัครใจ
และการบริหารบริการ การให้ความปลอดภัยจากโจรกรรมและอัคคีภัย การสาธารณูปโภค
ไม่ว่าจะด้วยภาษีหรือเอกชนผู้ประกอบการที่หวังกำไร ต่างมีส่วนทำให้ที่ดินทั่วไปมีราคา/ค่าเช่าสูงขึ้น
แต่เจ้าของที่ดินกลับเป็นฝ่ายได้ส่วนเพิ่มนี้ไปสบาย ๆ
คนจนเสีย 2 ต่อ คือ เสียภาษี (ทางอ้อมเป็นอย่างน้อย) และเสียค่าเช่าสูงขึ้น ๆ

แล้วก็มีเรื่องซ้ำเติมที่ร้ายแรงตามติดกันมา คือการเก็งกำไร แสวงหา และกักตุนที่ดิน
มิใช่เฉพาะเศรษฐี คนทั่วไปที่พอมีเงินขึ้นมาก็จะขอมีที่ดินไว้ก่อนเพื่อ “ความมั่นคงในชีวิต”
ที่ดินในชาติจึงเสมือนมีน้อยลง ราคาแพงขึ้น ที่ดินทำกินหาได้ยากขึ้น และผลเป็นลูกโซ่ คนงานก็หางานได้ยาก
ทีนี้นายทุนเงินกู้และนายทุนผู้ประกอบการก็ได้โอกาสขูดรีดโก่งดอกเบี้ย กดค่าแรง
ทั้งยังมีผู้แสดงตนเป็นนายหน้าหางานและอื่น ๆ สุดแต่จะคิดกันได้มาหลอกลวงรีดเลือดกับปูกันอีก
คนจนผู้มีแต่แรงงานพื้นฐานจึงกลายเป็น “ผู้ถูกฉกชิงตลอดกาล”
คนรวยก็มิใช่จะพ้นเดือดร้อน เพราะอาชญากรรมต่าง ๆ ย่อมเพิ่มทวีขึ้น

เราเห็นกันหรือเปล่าว่าปัญหามันวนเวียนอยู่กับ ของแพง ค่าแรงต่ำ หางานยาก โดยไม่ทันคิดว่าปัญหาขั้นฐานรากคือที่ดิน

วิธีแก้คือค่อย ๆ เพิ่มภาษีที่ดินจนในที่สุดสัก 30 ปีก็เท่ากับค่าเช่าตามที่ควรจะเป็น
ขณะเดียวกันก็ค่อย ๆ ลด/เลิกภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีอื่น ๆ ทั้งหลายที่เก็บจากการทำงานและการลงทุนผลิตและค้า

วิธีนี้จะทำให้การเก็งกำไรที่ดินหมดไป ที่ดินทำกินมีมากขึ้น ราคา/ค่าเช่าถูกลง แรงกดดันต่อการหางานในโรงงานจะลด เงินเดือนค่าจ้างก็สูงขึ้นเพราะไม่ถูกเก็บภาษีอีกด้วย สินค้าก็ราคาถูกเพราะไม่ถูกเก็บภาษีเหมือนกัน ซึ่งก็จะพลอยทำให้ความสามารถแข่งขันกับต่างประเทศสูงขึ้น

ระบบของเราจะเรียกว่าเสรีวิสาหกิจได้อย่างไร ถ้ายังมีภาษีจากการทำงานและการลงทุน และที่ดินยังถูกผูกขาดอยู่.

จากเว็บเศรษฐศาสตร์เพื่อความเป็นธรรม //geocities.com/utopiathai
ถ้าเปิดดูเว็บนี้ไม่ได้เพราะพลอยถูกปิดกั้นตามเว็บใหญ่ geocities.com ก็ให้ google.com ช่วยหา free anonymous proxy server ซึ่งมีอยู่มากในต่างแดนมาช่วยเปิดให้ได้ง่าย ๆ ครับ




 

Create Date : 02 เมษายน 2551    
Last Update : 16 เมษายน 2551 9:53:00 น.
Counter : 583 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  
 
 

สุธน หิญ
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




แก้ความอยุติธรรมขั้นฐานราก
ตามแนวเฮนรี จอร์จ
http://utopiathai.webs.com
เลิกภาษีการลงแรงลงทุนผลิตและค้า
เลิกภาษีเงินได้ เพิ่มภาษีที่ดิน
ค่อยๆ เปลี่ยนแปลง ใช้เวลาสัก 30 ปี


เปิดเว็บต่างแดนดูไม่ได้ ให้ google ช่วยหา free anonymous proxy server ของต่างประเทศซึ่งมีอยู่มากเพื่อเปิดให้แทนครับ (ในไทยอาจมีการปิดกั้นเว็บของต่างแดน เว็บย่อยที่คนไทยอาศัยใช้กันก็พลอยถูกปิด)

เว็บหลักของผม ยูโทเพียไทย_1
* หน้ารวมลิงก์ยูโทเพียไทย_1 *

หนังสือดีเด่นแปล Progress and Poverty หนังสือ ความยากจนที่ไม่เป็นธรรม และ บทความ ของผม ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ยินดีให้เผยแพร่ต่อด้วยความขอบคุณ ยกเว้นบทความแปลกรุณาอ่านเงื่อนไขจากต้นฉบับภาษาอังกฤษที่อ้างไว้ครับ


- ศัพท์เศรษฐศาสตร์ ดร.บุญเสริม
- ภาษีทรัพย์สินสหรัฐฯ
- ภาวะตลาดอสังหาฯ
- ภาวะตลาดที่อยู่อาศัย 2537-51
- ราคาที่ดินทั่วไทยรายแปลง
- สรุปราคาประเมินใน กทม.ปี 2551-54
- การเปลี่ยนแปลงราคาที่ดินใน กทม.และปริมณฑลปี 2528-50


[Add สุธน หิญ's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com
pantip.com pantipmarket.com pantown.com