ยูโทเพียไทย
เศรษฐศาสตร์
เพื่อความเป็นธรรม

 

แก้ความยากจนให้ได้ผลต้องตัดต้นเหตุเท่านั้น

แก้ความยากจนให้ได้ผลต้องตัดต้นเหตุเท่านั้น
(ยินดีให้เผยแพร่ต่อด้วยความขอบคุณ)

ภาษีที่เก็บจากการทำงานและการลงทุนผลิตและค้าสินค้าหรือสิ่งดี ๆ (goods) และบริการ
คือ การปล้นจากปัจเจกชนไปให้แก่ส่วนรวม ไม่ควรทำถ้ายังมิได้เก็บภาษีที่ควรเก็บให้เต็มที่เสียก่อน

ภาษีที่ควรเก็บ คือ ภาษีการถือครองที่ดิน ภาษีหรือค่าภาคหลวงหรือค่าเอกสิทธิ์สัมปทานการนำทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญมาใช้หมดเปลืองไป ภาษีหรือค่าชดเชยการปล่อยของเสียหรือมลพิษ (bads)
และค่าเอกสิทธิ์สัมปทานการประกอบการแบบผูกขาด

ภาษีเหล่านี้ถ้าไม่เก็บก็คือการเอื้อประโยชน์แก่บางคนบางส่วน โดยเสียประโยชน์แก่ส่วนรวม (ก็ปล้นนั่นแหละ)
สำหรับภาษีการถือครองที่ดิน ถ้าไม่เก็บหรือเก็บน้อยไป จะทำให้มีการเก็งกำไรกักตุนที่ดิน มีการใช้ประโยชน์ที่ดินน้อยไป เหมือนประเทศมีแผ่นดินน้อยลง ทำให้ที่ดินแพง คนจนหาที่อยู่ที่ทำกินได้ยาก หางานทำยาก ค่าแรงถูกกดต่ำ แต่สินค้าแพงเพราะที่ดินคือปัจจัยหนึ่งของการผลิตมีราคา/ค่าเช่าแพง

ซ้ำการเก็บภาษีที่ดินต่ำยังทำให้ต้องเก็บภาษีจากการผลิตการค้า เป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิต ทำให้สินค้าแพง
และภาษีเงินได้ทำให้รายได้ของผู้ผลิตผู้ค้าลด
สิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลต้องเสียไปโดยต้องสละเวลาทำรายการยื่น บริษัทห้างร้านต้องหาคนเก่งภาษีมาช่วยเพื่อมิให้ผิดพลาด มิฉะนั้น อาจถูกลงโทษหรือเสียค่าปรับ และต้องอยู่ใต้อำนาจสอบสวนของเจ้าพนักงานภาษี

รวมแล้ว ที่ดินก็แพง สินค้าก็แพง รายได้ก็ลด ผลคือตรงข้ามกับการส่งเสริมการลงทุน
ความสามารถแข่งขันกับต่างประเทศก็ลด ผิดกับฮ่องกง สิงคโปร์ ที่ผู้คนนิยมไปจับจ่ายใช้สอย
งานที่หาได้ยากอยู่แล้วยิ่งน้อยลงไปอีก คนจนจึงจนซับจนซ้อน หนี้สินยิ่งเพิ่ม หมุนวนติดอยู่ในวงจรอุบาทว์

ที่ดินนั้น ไม่มีมนุษย์หน้าไหนสร้าง มูลค่าที่ดินที่เพิ่มขึ้น ๆ ก็เพราะความเป็นชุมชนและกิจกรรมของส่วนรวม คนหนึ่งตั้งร้านค้า ที่ดินใกล้เคียงก็มีมูลค่าสูงขึ้นด้วย เมื่อสร้างถนนหรือรางรถไฟฟ้า ที่ดินบริเวณนั้นก็ราคาพุ่ง ที่ห่างไปก็ได้เพิ่มลดหลั่นกันไป มูลค่าหรือราคาเช่นนี้ควรเป็นของส่วนรวม การปล่อยให้เอกชนเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินได้ไปได้ทำให้เกิดความยากจนขึ้นเคียงคู่ไปกับความเจริญของบ้านเมืองและความมั่งมีของเจ้าของที่ดิน การเก็งกำไรกักตุนที่ดินยิ่งทำให้สถานการณ์เสื่อมทรามลงไปร้อยเท่าพันทวี รวมทั้งการเกิดวิกฤตฟองสบู่วัฏจักรเศรษฐกิจเป็นระยะ ๆ เรื่อยมา ก่อความเดือดร้อนแก่ทั้งคนรวยคนจนนายจ้างลูกจ้าง

วิธีแก้ไขความอยุติธรรมและความยากจน เราไม่จำเป็นต้องเก็บภาษีการถือครองที่ดินเท่ากับค่าเช่าที่ควรเป็นทันที ค่อย ๆ ทำก็ได้ แล้วลดเลิกภาษีการลงแรงลงทุนผลิตและค้าชดเชยกัน ค่าเช่านี้ไม่รวมถึงค่าเช่าอาคารโรงเรือน จะทำให้สำเร็จในระยะเวลากี่ปี ปีละเท่าไร ก็แล้วแต่ความเห็นส่วนใหญ่ เท่ากับชดใช้ให้เจ้าของที่ดินไปด้วยในตัว ส่วนจะให้ชดเชยความเสียหายแก่เจ้าของที่ดินต่างหากนั้น ก็ลองคิดถึงความลำบากยากแค้นที่คนยากจนควรจะได้ชดเชยบ้าง เขาเป็นฝ่ายเสียเปรียบและทนทุกข์สืบต่อกันมาหลายชั่วคนแล้ว และนึกบ้างว่าการลด/เลิกภาษีการลงแรงลงทุนผลิตและค้านั้นคือการชดใช้แล้ว บางคนอาจได้มากกว่าเสีย

วิธีแก้ไขเช่นนี้เท่ากับทำให้ที่ดินกลายเป็นทรัพย์สินของส่วนรวมร่วมกันโดยเท่าเทียมกันตามที่ควรจะเป็น และเลิกภาษีการผลิตการค้าได้ ทำให้ผู้ทำงานผู้ลงทุนได้รับผลตอบแทนเต็มที่ (ยกเว้นส่วนที่ได้จากการใช้ที่ดินมากน้อยดีเลวต่างกัน ถ้าเช่าก็จ่ายค่าเช่า ถ้าผู้ทำงานผู้ลงทุนเป็นเจ้าของที่ดินเองก็จ่ายภาษีเท่าหรือเกือบเท่าค่าเช่าเฉพาะในส่วนที่ดิน) การเก็งกำไรกักตุนที่ดินจะหายไป คนจนจะหาที่ทำกินเองได้ง่ายในราคาหรือค่าเช่าที่ต่ำ หรือจะหางานทำก็ได้ง่ายโดยค่าแรงไม่ถูกกดต่ำ ก็จะได้อยู่ดีมีสุขมากขึ้น ภาระที่รัฐจะต้องให้ความช่วยเหลือด้านสวัสดิการจะลด พลอยทำให้การสวัสดิการได้ผลดีขึ้นด้วย อาชญากรรมที่เกิดจากความยากจนก็ลด สังคมจะน่าอยู่ขึ้น


อย่าเชื่อ
1. อย่าเชื่อว่าเราได้ผ่านพ้นระบบเจ้าที่ดินมาแล้ว ถ้ายังมีการเก็งกำไรกักตุนที่ดิน
2. อย่าเชื่อว่าถ้าไม่เอาทุนนิยมก็ต้องเอาสังคมนิยม เราเลือกเอาแต่สิ่งที่ดีมาประสานกันได้
3. อย่าเชื่อว่าระบบรัฐสวัสดิการจะดีด้วยภาษีเงินได้แบบก้าวหน้า ภาษีที่แรงเช่นนี้ไม่ส่งเสริมการลงทุน
4. อย่าเชื่อว่าระบบภาษีของเราดีเพราะปรับปรุงกันตลอดมา ระบบนี้ไม่คิดถึงต้นเหตุความยากจน ได้แต่กระจายภาระไปยังภาษีทุกชนิดที่คิดได้ ให้คิดว่าเสียเพียงอย่างละเล็กละน้อย
5. อย่าเชื่อข้อเสนอให้เก็บภาษีที่ดินที่ไม่ได้ทำประโยชน์ในอัตราก้าวหน้า มันแสดงว่าไม่ได้คิดเก็บภาษีที่ดินทั่วไปให้สูงเสมือนว่าเจ้าของเป็นผู้เช่าจากรัฐ แต่ใช้ภาษีเป็นเครื่องมือปรับเอากับผู้ที่รัฐคิดว่าทำไม่ดีโดยไม่ทันคิดว่ารัฐนั่นแหละคือต้นเหตุแห่งการทำไม่ดีนั้น (เก็งกำไรที่ดิน) ภาษีอัตราก้าวหน้าจะทำให้การใช้ประโยชน์ที่ดินถูกบิดเบือนไปจากที่ควรจะเป็น ประสิทธิภาพการใช้ที่ดินโดยรวมจะต่ำ และเพิ่มโอกาสคอร์รัปชัน
6. อย่าเชื่อข้อเสนอจำกัดการถือครองที่ดิน เพราะคนรวยที่รวมกันตั้งนิติบุคคลหรือบริษัท นอกจากสิทธิถือครองรายบุคคลแล้ว จะมีสิทธิในฐานะหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้นมาฟรี ๆ และเพียงลดการกักตุนที่ดินลงไปเล็กน้อยในส่วนของไร่นาสวน ไม่ใช่ที่ดินในเมืองซึ่งราคาสูงกว่าลิบลิ่ว

จาก เว็บเศรษฐศาสตร์เพื่อความเป็นธรรม utopiathai.webs.com




 

Create Date : 16 ธันวาคม 2550    
Last Update : 14 กันยายน 2554 23:26:16 น.
Counter : 888 Pageviews.  

พรรคยุติธรรมเดนมาร์กว่าที่ดินไม่ใช่ปัจจัยการผลิต !

ได้เปิดดูเว็บของพรรคยุติธรรมของเดนมาร์ก //www.retsforbundet.dk/politik/english.htm
เห็นแปลกดี เลยนำมาบอกต่อ คือเขาบอกว่าการแบ่งการเมืองดั้งเดิมเป็นฝ่ายซ้าย-ฝ่ายขวานั้นง่ายเกินไป เพราะมันทำให้เราไม่ได้มองว่าสิทธิในทรัพย์สินนั้นแบ่งได้เป็นแบบหลัก 4 แบบ สังคมจึงแบ่งเป็น 4 แบบด้วย โดยเขาบอกว่า

1. ที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติคือพื้นฐาน (basis) ของการผลิต
2. แรงงาน และ ทุน คือปัจจัย (means) ของการผลิต

สังคม 4 แบบนี้คือ

1. ทุนนิยม ทั้งพื้นฐานของการผลิตและปัจจัยของการผลิตเป็นทรัพย์สินส่วนบุคคล
2. สังคมนิยม ทั้งพื้นฐานของการผลิตและปัจจัยของการผลิตเป็นทรัพย์สินส่วนรวม
3. สังคมเสรีนิยม (social-liberal) พื้นฐานของการผลิตเป็นทรัพย์สินส่วนบุคคล ปัจจัยของการผลิตเป็นทรัพย์สินส่วนรวม (โดยเก็บภาษีมากจากรายได้ การขาย ฯลฯ) พรรคการเมืองที่นิยมแนวนี้อาจใช้ชื่อว่า พรรคสังคมประชาธิปไตย พรรคสังคมเสรี พรรคอนุรักษนิยม พรรคเสรีนิยม จุดหมายคือเพื่อให้สังคมปลอดจากความเลวร้ายของลัทธิทุนนิยมและการบีบบังคับของลัทธิสังคมนิยม คนจำนวนมากเห็นดีด้วยกับจุดหมาย แต่การใช้ศักยภาพการผลิต (ทรัพยากรธรรมชาติ แรงงาน และ ทุน) เป็นไปอย่างไม่สร้างสรรค์ เพราะยังมีการเก็งกำไรเก็บกักที่ดิน และภาษีจากรายได้และการค้ายิ่งมากก็ยิ่งถ่วงกำลังใจผลิตและทำให้ค่าครองชีพสูง

4. ยุติธรรมเสรีนิยม (justice-liberal) พื้นฐานของการผลิตเป็นทรัพย์สินส่วนรวม (โดยเพิ่มภาษีมูลค่าที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ) ปัจจัยของการผลิตเป็นทรัพย์สินส่วนบุคคล (ลด/เลิกภาษีจากรายได้ การขาย ฯลฯ) จุดหมายคือความยุติธรรม โดยทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันในสิ่งที่ธรรมชาติให้มา (ที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ) และทุกคนมีสิทธิในมูลค่าของงานที่ตนมีส่วนทำการผลิต

แน่นอนครับ พรรคยุติธรรม (Retsforbundet) ย่อมเลือกที่จะให้สังคมเป็นแบบที่ 4

พรรคยุติธรรมมีหลักการดังนี้
1. ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันในทรัพยากรธรรมชาติทั้งสิ้นและในองค์ความรู้ที่มีอยู่
2. ทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกันในมูลค่าทางเศรษฐกิจของที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ
3. แต่ละบุคคลมีสิทธิ์ในเสรีภาพส่วนบุคคลและความเป็นส่วนตัวในขอบเขตที่ไม่เป็นการละเมิดสิทธิ์ในเสรีภาพและความเป็นส่วนตัวของผู้อื่น และในขอบเขตที่ไม่เป็นการละเมิดหลักการข้อ 1 และ 2 เสรีภาพส่วนบุคคลหมายความรวมถึงสิทธิ์ของแต่ละบุคคลในการเป็นเจ้าของมูลค่าทางเศรษฐกิจแห่งแรงงานของตน


สนใจดูเพิ่มเติมได้ตามเว็บที่บอกไว้ตั้งแต่ต้นเรื่องครับ.


//geocities.com/utopiathai เว็บเศรษฐศาสตร์เพื่อความเป็นธรรม




 

Create Date : 02 ธันวาคม 2550    
Last Update : 31 มกราคม 2551 7:12:08 น.
Counter : 740 Pageviews.  

กำลังผลิตเพิ่ม ค่าเช่าเพิ่มยิ่งกว่า ค่าแรงจึงลด

ระยะนี้ปรากฏข้อเขียนกันทำนองว่า การลงทุนจากต่างประเทศช่วยแก้ความยากจนได้ บ้าง ความก้าวหน้าในการผลิตใหม่ ๆ จะขจัดความยากจนให้กลายเป็นประวัติศาสตร์ไป บ้าง

ยังสงสัยว่าถ้าไม่มีการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ ค่าแรงหรือค่าจ้างจะอยู่ที่ระดับใด ?

จริงอยู่ ค่าแรงอาจสูงขึ้นได้ในระยะแรก ๆ ของการขยายการลงทุนหรือความเจริญก้าวหน้าในการผลิต

แต่เฮนรี จอร์จได้เขียนไว้เกือบ 130 ปีแล้วในหนังสือ Progress and Poverty (เลขท้ายข้อความคือเลขหน้าของหนังสือ ซึ่งภาคภาษาไทยดูได้ที่ //geocities.com/utopiathai/ProgressAndPoverty.html ) :

“ศตวรรษนี้ อำนาจการผลิตเศรษฐทรัพย์ (wealth) ได้เพิ่มขึ้นอย่างใหญ่หลวง . . . .

“เมื่อเริ่มยุคอันน่าอัศจรรย์นี้ก็เป็นธรรมดาที่จะหวัง และก็ได้หวัง กันว่า
สิ่งประดิษฐ์ที่ทุ่นแรงงานจะบรรเทาความยากลำบากและทำให้สภาพของกรรมกรดีขึ้น . . . . (3)

“อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เรากำลังผจญกับข้อเท็จจริงซึ่งจะไม่มีวันผิดไปได้เลย . . . . (5)

“. . . . พลังใหม่ ๆ นั้นถึงแม้จะมีลักษณะที่จะช่วยปรับปรุงให้ดีขึ้น แต่ก็มิได้กระทำต่อโครงสร้างของสังคมขึ้นมาจากเบื้องล่างดังที่ได้หวังและเชื่อกันมานานแล้ว หากได้อัดแทรกเข้าที่จุดกึ่งกลางระหว่างยอดกับฐาน เปรียบเสมือนมีลิ่มอันใหญ่โตตอกแทรกเข้าไปในระหว่างสังคม มิใช่หนุนสังคมขึ้นจากเบื้องล่าง ผู้ที่อยู่เหนือจุดแบ่งแยกนั้นถูกยกขึ้น แต่ผู้ที่อยู่ใต้จุดนั้นถูกบดขยี้ลง (9)
“การที่ความยากจนเกิดร่วมกับความก้าวหน้าเช่นนี้นับเป็นปริศนาใหญ่หลวงสำหรับสมัยของเรา
มันเป็นแก่นของข้อเท็จจริง ซึ่งทำให้เกิดความยุ่งยากทางอุตสาหกรรม ทางสังคมและทางการเมือง อันทำความฉงนสนเท่ห์ให้แก่โลก และซึ่งความเป็นนักปกครองและความรักเพื่อนมนุษย์และการศึกษาได้ปลุกปล้ำด้วยโดยไร้ผล . . . .” (10)

แล้วเฮนรี จอร์จก็อธิบายเรื่องราวยืดยาว จนถึงสาเหตุและทางแก้ สรุปอย่างสั้นมากได้ดังนี้:
“. . . . การที่ราคาที่ดินเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อันเป็นผลจากความก้าวหน้าทางวัตถุก็ยิ่งทำให้การเพิ่มราคานี้กลับเป็นไปโดยรวดเร็วยิ่งขึ้น เราจะได้เห็นสาเหตุอันรองนี้แสดงผลอย่างเต็มที่ ในการคลั่งเก็งกำไรจากที่ดิน อันเป็นเครื่องหมายแห่งความเจริญก้าวหน้า . . . .(259)
“. . . เมื่อความสามารถในการผลิตเพิ่มขึ้น ค่าเช่าจะมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นไปยิ่งกว่า
จึงทำให้เกิดแนวโน้มที่จะทำให้ค่าแรงต้องลดต่ำลงอยู่เป็นนิตย์ (282)
“. . . เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นกรรมกรแต่เพียงอย่างเดียว จึงไม่มีผลประโยชน์ในความสามารถผลิตที่เพิ่มขึ้นโดยทั่วไป มากไปกว่าที่ทาสชาวคิวบาจะมีผลประโยชน์ในราคาน้ำตาลที่สูงขึ้น . . . . (283)

“ทฤษฎีง่าย ๆ ซึ่งข้าพเจ้าได้กล่าวไว้อย่างย่นย่อ . . . ได้อธิบายถึงเหตุที่ความยากจนเกิดร่วมกับความมั่งคั่ง
ค่าแรงต่ำเกิดร่วมกับกำลังผลิตสูง . . . .
ทฤษฎีนี้อธิบายให้ทราบว่าทำไมดอกเบี้ยและค่าแรงในประชาคมใหม่ ๆ จึงสูงกว่าในประชาคมดั้งเดิม ถึงแม้การผลิตเศรษฐทรัพย์โดยเฉลี่ยและโดยส่วนรวมจะน้อยกว่าก็ตาม
มันอธิบายให้ทราบว่าทำไมความเจริญก้าวหน้า ซึ่งช่วยเพิ่มกำลังการผลิตให้แก่แรงงานและทุน
จึงไม่เพิ่มรางวัลให้แก่ปัจจัยทั้งสองนั้น
มันอธิบายในสิ่งที่เราเรียกกันทั่วไปว่าความขัดแย้งระหว่างแรงงานกับทุน
ในขณะเดียวกันก็พิสูจน์ว่าปัจจัยทั้งสองนี้มีผลประโยชน์ประสานสอดคล้องกันอย่างแท้จริง . . . . (287)

“. . . ข้าพเจ้าใช้คำว่าค่าแรง มิใช่ในความหมายที่เป็นปริมาณ แต่ในความหมายที่เป็นอัตราส่วน เมื่อข้าพเจ้ากล่าวว่าค่าแรงต่ำลงในขณะที่ค่าเช่าสูงขึ้น ข้าพเจ้ามิได้หมายความว่าปริมาณเศรษฐทรัพย์ที่กรรมกรได้รับเป็นค่าแรงจะต้องลดลง แต่หมายความว่าอัตราส่วนที่มันมีต่อผลผลิตทั้งสิ้นต้องลดลง อัตราส่วนอาจจะลดลงได้ในขณะเดียวกับที่มีปริมาณเท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ . . . . (216)

“. . . ความเจริญก้าวหน้าซึ่งทำให้ค่าเช่าสูงขึ้นนั้นมิใช่จะมีแต่ความเจริญก้าวหน้าที่เพิ่มความสามารถในการผลิตโดยตรงเท่านั้น แต่รวมถึงความเจริญก้าวหน้าในการปกครอง มารยาทและศีลธรรม ซึ่งเพิ่มความสามารถในการผลิตโดยทางอ้อมด้วย
. . . . ผลของสิ่งต่าง ๆ ทั้งหมดนี้ก็คือจะเพิ่มความสามารถในการผลิตขึ้น
และเช่นเดียวกับความเจริญก้าวหน้าในวิทยาการในการผลิต
ผลประโยชน์ของสิ่งเหล่านี้ย่อมจะถูกผู้ครอบครองที่ดินผูกขาดเอาไปในที่สุด . . . .
และถ้าฝ่ายปกครองที่คดโกงแห่งนครต่าง ๆ อันยิ่งใหญ่ของสหรัฐฯ จะทำตัวอย่างแห่งความบริสุทธิ์และการประหยัดแล้ว
ผลก็จะเป็นเพียงทำให้ราคาที่ดินสูงขึ้นเท่านั้น มิใช่ว่าจะยกระดับค่าแรงหรือดอกเบี้ยขึ้นเลย (254)

“. . . . กรรมสิทธิ์ของเอกชนในที่ดินคือหินโม่ส่วนล่าง ความก้าวหน้าทางวัตถุคือหินโม่ส่วนบน ระหว่างกลางสองสิ่งนี้ ชนชั้นกรรมาชีพกำลังถูกบดอยู่ ด้วยแรงกดดันที่หนักขึ้น ๆ (357)

“สิทธิอันเท่าเทียมกันของมนุษย์ทุกคนที่จะใช้ที่ดินย่อมปรากฏชัดเจนเช่นเดียวกับสิทธิอันเท่าเทียมกันของเขาที่จะสูดอากาศหายใจ นั่นคือสิทธิที่ประกาศด้วยข้อเท็จจริงที่ว่าเขามีตัวมีตนอยู่ ทั้งนี้เพราะเราย่อมไม่สามารถจะสมมติได้ว่าบางคนมีสิทธิที่จะอยู่ในโลกนี้และคนอื่น ๆ ไม่มีสิทธิ (338)

“เราจะต้องทำให้ที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของส่วนรวมร่วมกัน (328)

“เพราะฉะนั้นสิ่งที่ข้าพเจ้าเสนอในฐานะวิธีแก้ไขง่าย ๆ แต่ได้ผลใหญ่หลวง ซึ่งจะยกค่าแรงขึ้นสูง เพิ่มผลตอบแทนของทุน กำจัดความข้นแค้น ยกเลิกความยากจน ทำให้มีงานรายได้ดีว่างสำหรับผู้ใดก็ตามที่ต้องการงานทำ ทำให้ไม่มีขอบเขตจำกัดพลังความสามารถของมนุษย์ ทำให้อาชญากรรมลดลง ยกระดับศีลธรรม รสนิยม และสติปัญญา ทำให้การปกครองบริสุทธิ์หมดจดขึ้น และทำให้อารยธรรมเจริญสูงส่งยิ่งขึ้น เหล่านี้ ก็คือ – การริบเอาค่าเช่าโดยการเก็บภาษี (405-406)

“. . . เราก็อาจจะเปลี่ยนข้อเสนอให้เป็นรูปทางใช้การได้โดยเสนอให้ -
ยกเลิกภาษีทั้งสิ้น ยกเว้นแต่ภาษีที่เก็บจากมูลค่าที่ดิน

“. . . . ในประเทศที่พัฒนาก้าวหน้าไปไกล มูลค่าที่ดินจะมากเกินพอมาก ดังนั้นจึงไม่เป็นการเพียงพอถ้าจะกระทำเพียงนำเอาภาษีทุกอย่างไปรวมที่มูลค่าที่ดินเท่านั้น แต่ยังจะต้องเพิ่มปริมาณที่ต้องการในการเก็บภาษีขึ้นอีกตามส่วนด้วยในประเทศที่ค่าเช่ามีปริมาณมากกว่ารายได้ปัจจุบันของรัฐบาล และจะต้องเพิ่มปริมาณที่ต้องการนี้ขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อสังคมก้าวหน้าออกไปและค่าเช่าสูงขึ้น . . . .(406)

“. . . . ภาษีจากมูลค่าที่ดินซึ่งเป็นภาษีที่กำหนดตามชอบใจได้น้อยที่สุดย่อมมีความแน่นอนอยู่ในระดับสูงสุด เราอาจจะประเมินและเก็บภาษีนี้ได้ด้วยความแน่นอนตามลักษณะที่เคลื่อนที่ไม่ได้และซ่อนพรางมิได้ของที่ดินนั้นเอง . . . .
ถ้าเราเก็บภาษีทั้งสิ้นจากมูลค่าที่ดิน โดยไม่รวมสิ่งปรับปรุง โครงการภาษีจะง่ายและแจ่มชัดมาก
และประชาชนจะหันมาเอาใจใส่อย่างมาก ซึ่งจะทำให้สามารถประเมินภาษีได้ด้วยความแน่นอน
เช่นเดียวกับที่นายหน้าขายที่ดินจะสามารถกำหนดราคาที่ผู้ขายควรจะได้รับได้ (418)

“เพราะฉะนั้นภาษีที่เก็บจากมูลค่าที่ดินจึงนับว่ายุติธรรมและให้ความเท่าเทียมกันที่สุดในบรรดาภาษีทั้งหลาย มันจะตกเป็นภาระเฉพาะแก่ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์อันมีลักษณะพิเศษและมีค่าจากสังคมเท่านั้น และจะเป็นภาระแก่เขาตามส่วนของผลประโยชน์ที่เขาได้รับด้วย มันเป็นมูลค่าที่ประชาคมก่อให้เกิดขึ้นและประชาคมรับมา เพื่อใช้ประโยชน์สำหรับประชาคม มันเป็นการนำเอาทรัพย์สินร่วมกันมาใช้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน ต่อเมื่อมีการเก็บค่าเช่าทั้งหมดมาเป็นภาษีเพื่อประโยชน์ของประชาคมแล้วนั่นแหละ เราจึงจะได้รับความเท่าเทียมกันตามประกาศิตของธรรมชาติ จะไม่มีพลเมืองผู้ใดได้เปรียบพลเมืองผู้อื่น นอกจากที่ได้รับจากความอุตสาหะ ความเชี่ยวชาญ และสติปัญญาของเขาเอง และแต่ละคนจะได้รับสิ่งที่เขาลงทุนลงแรงหามาได้อย่างเป็นธรรม เมื่อนั้นแหละ และต่อเมื่อนั้นเท่านั้น แรงงานจึงจะได้รับรางวัลโดยเต็มที่ และทุนก็จะได้รับผลตอบแทนตามธรรมชาติ (421)

“. . . . ประโยชน์ที่จะได้จากการใช้ภาษีเดี่ยวที่เก็บจากมูลค่าที่ดินแทนภาษีมากชนิดที่เป็นเครื่องมือหารายได้สาธารณะอยู่บัดนี้นั้นจะปรากฏความสำคัญยิ่งขึ้น ๆ ถ้าจะพิจารณาให้มากขึ้น นี่เป็นเคล็ดลับที่จะเปลี่ยนหมู่บ้านเล็ก ๆ ให้กลายเป็นนครใหญ่ได้ ถ้าภาระทั้งหลายซึ่งกดขี่อุตสาหกรรมและถ่วงรั้งปริวรรตกรรมอยู่ขณะนี้ถูกกวาดล้างไป การผลิตเศรษฐทรัพย์ก็จะดำเนินไปอย่างรวดเร็วชนิดที่ไม่ได้คาดฝันกันในขณะนี้ . . . .(433)

“. . . . จะเปรียบเสมือนการยกเอาน้ำหนักมหาศาลออกไปจากสปริงที่ทรงพลัง . . . . วิธีการเก็บภาษีในปัจจุบัน . . . . มีผลต่อพลังงาน ความอุตสาหะ ความเชี่ยวชาญ และความมัธยัสถ์ เสมือนสินไหมที่ใช้ปรับคุณสมบัติเหล่านี้ . . . .
ถ้าผู้หนึ่งต่อเรือขึ้นมา เราก็บังคับให้เขาต้องชำระค่าปรับเนื่องจากความอาจหาญของเขา ราวกับว่าเขาได้ทำความเสียหายให้แก่รัฐ . . .
ถ้าตั้งโรงงานประดิษฐกรรมขึ้นมา เราก็จะเก็บภาษีรายปีจากโรงงาน
ซึ่งมิฉะนั้นแล้วก็จะได้รับกำไรมากมาย
เราพูดว่าเราต้องการทุน แต่ถ้าผู้หนึ่งผู้ใดสะสมมันขึ้นมา หรือนำมันมาให้แก่พวกเรา เราก็จะคิดภาษีจากทุนนั้น ราวกับว่าเราได้ให้เอกสิทธิ์แก่เขา . . . .”(434)


Count Leo Tolstoy (1828-1910) กล่าวว่าวิธีที่มิต้องสงสัยเลยวิธีเดียวในการปรับปรุงฐานะของคนงาน ซึ่งในขณะเดียวกันก็เป็นไปตามพระประสงค์แห่งพระผู้เป็นเจ้าด้วย คือการปลดปล่อยที่ดินจากการยึดครองของเจ้าที่ดิน . . . . แผนการที่ยุติธรรมที่สุดและปฏิบัติได้ดีที่สุดในความเห็นของข้าพเจ้าคือแผนของเฮนรี จอร์จที่เรียกกันว่าระบบภาษีเดี่ยว . . . . การแก้ปัญหาที่ดินหมายถึงการแก้ปัญหาสังคมทั้งมวล (
//cooperativeindividualism.org/georgism_01.html )

และ John Dewey (1859-1952) กล่าวว่าข้าพเจ้าไม่อวดอ้างว่าวิธีแก้ไขของจอร์จคือยาครอบจักรวาลที่จะรักษาความป่วยไข้ทั้งหมดของเราได้ตามลำพัง แต่ข้าพเจ้าอวดอ้างว่าเราจะไม่สามารถขจัดความเดือดร้อนขั้นพื้นฐานทั้งหลายของเราได้ถ้าไม่ใช้วิธีนี้ (
//progressandpoverty.org/quotes.htm )

ความยากจนไม่ใช่เรื่องของเทคโนโลยีหรือความรู้ในการผลิต แต่อยู่ที่การแบ่งผลตอบแทนการผลิต
ขณะนี้เจ้าของที่ดินผู้ไม่ได้ลงแรงลงทุนผลิตได้อยู่ดีกินดีถึงขั้นฟุ่มเฟือยโอ่อวดอย่างมาก แต่คนจนไร้ที่ดินต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อแบ่งผลตอบแทนส่วนของตน ส่งให้เป็นส่วยแก่เจ้าของที่ดินมากขึ้น ๆ

//geocities.com/utopiathai เว็บเศรษฐศาสตร์เพื่อความเป็นธรรม




 

Create Date : 21 พฤศจิกายน 2550    
Last Update : 31 มกราคม 2551 7:19:42 น.
Counter : 776 Pageviews.  

นโยบายประชานิยมทำได้ง่าย ๆ !!

นโยบายประชานิยมเพื่อให้ประชาชนชื่นชอบนั้นทำได้ง่าย ๆ โดยไม่เกิดผลร้ายครับ
ปลุกใจให้ผู้คนนึกถึงความเป็นธรรมและเห็นใจในความเดือดร้อนของผู้ที่ยากจนจากความไม่เป็นธรรมเข้าไว้
แล้วค่อย ๆ เพิ่มภาษีที่ดิน ขณะเดียวกันก็ค่อย ๆ เลิกหรือลดภาษีเงินได้และภาษีการลงแรงลงทุนผลิตและค้า
ภาษีที่ดินจะทำลายการเก็งกำไรเก็บกักสะสมที่ดิน ทำให้หาที่ดินทำกินได้ง่ายในราคาถูกลง ค่าแรงจะสูงขึ้น
การเลิกลดภาษีอื่น ๆ จะทำให้รายได้เพิ่ม และของกินของใช้ราคาถูกลง แข่งขันกับต่างประเทศได้ดีขึ้น
ทั้งการมีรายได้สุทธิสูงขึ้น และรายจ่ายต่ำลง ย่อมเป็นที่พึงปรารถนาของทุกคน ทำให้อยู่ดีมีสุขทั่วหน้าขึ้น

การเก็บภาษีที่ดินเพิ่ม และเลิกภาษีอื่น ๆ มีความเป็นธรรม เพราะ:-

1. ทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้ต้องมีที่ดินเพื่ออยู่อาศัยและทำกิน เพราะถ้าไม่มี เขาตาย แต่เขาเกิดมาแล้ว เขาก็มีสิทธิ์มีชีวิตต่อไป

2. ไม่มีมนุษย์คนไหนลงแรงหรือลงทุนผลิตหรือสร้างที่ดินขึ้นมา จึงไม่ควรมีใครอ้างว่ามีสิทธิ์ในที่ดิน

3. มูลค่าของที่ดินส่วนใหญ่ (โดยเฉพาะที่ดินย่านชุมชนซึ่งมีราคาสูง) เกิดจากกิจกรรมของส่วนรวมที่แยกไม่ออกว่าเป็นของคนไหนเท่าไรและจากภาษีที่เก็บเอาไปสร้างสิ่งสาธารณูปโภค แต่ที่แน่ ๆ คือมูลค่าที่ดินไม่ได้เกิดจากบุคคลในฐานะเจ้าของที่ดิน (ยกเว้นการเก็งกำไรที่ดิน) เจ้าของที่ดินอาจลงแรงลงทุนก่อสร้างและทำการผลิตหรือค้าในที่ดินของตนเอง แต่ที่ทำเช่นนั้นเขาทำในฐานะผู้ลงแรงและหรือผู้ลงทุน ซึ่งเขาควรได้รับผลตอบแทนจากการลงแรงหรือลงทุนของเขาเต็มที่ ส่วนประโยชน์จากมูลค่าที่ดินควรเป็นของส่วนรวม (แต่ไม่ใช่เอาที่ดินมาแบ่งกันเพราะที่ดินมีมูลค่าแตกต่างกันตามทำเลและสภาพอื่น ๆ ที่แตกต่างกัน ซึ่งให้ผลตอบแทนแก่การลงแรงลงทุนต่างกัน และจะต้องแบ่งกันไม่รู้จบเพราะคนในครอบครัวมีตายมีเกิดทำให้จำนวนเปลี่ยนแปลงเรื่อย ๆ)

4. การซื้อที่ดินมิใช่การลงทุนที่แท้ คือลงทุนผลิตของกินของใช้ (โภคทรัพย์) หรือเครื่องมือช่วยการผลิต (ทุน) แต่เป็นการซื้อสิทธิ์สืบต่อตามกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมเพื่ออำนาจเรียกแบ่งผลตอบแทนจากผู้ทำงานและนายทุน และการเก็งกำไรกักตุนที่ดินกันไว้มาก ๆ ทำให้ที่ดินแพง ค่าแรงต่ำ หางานทำยาก คนจนก็เดือดร้อนยิ่งขึ้น

5. การเก็บภาษีจากรายได้จากการลงแรงลงทุนผลิต (รวมทั้งจำหน่าย) ไม่ยุติธรรม เพราะเป็นการเอาจากแต่ละคนไปบำรุงส่วนรวม ควรเก็บจากมูลค่าที่ดินเพราะมูลค่าที่ดินเกิดจากการมีอยู่ของชุมชนและกิจกรรมของส่วนรวม




 

Create Date : 11 พฤศจิกายน 2550    
Last Update : 31 มกราคม 2551 7:20:48 น.
Counter : 672 Pageviews.  

ศาสตราจารย์เวียดนามแนะให้เพิ่มภาษีที่ดิน

ศาสตราจารย์ Dang Hung Vo หน.ภาควิชาการสำรวจที่ดิน Hanoi National University อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเวียดนาม กล่าวว่าราคาที่ดินในประเทศ ซึ่งนับว่าสูงที่สุดประเทศหนึ่งในโลก จะสามารถหยุดยั้งได้ก็แต่โดยทำให้นักเก็งกำไรที่ดินต้องจ่ายภาษีที่ดินสูงขึ้นมาก ๆ

นักเศรษฐศาสตร์บางคนเห็นว่าที่ดินมีราคาสูงขึ้นเพราะเวียดนามมีประชากรวัยหนุ่มสาวมาก ชุมชนเมืองขยายตัวรวดเร็ว เศรษฐกิจเติบโตอย่างมั่นคงเข้มแข็ง มีการลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น และรายได้สูงขึ้น แต่รายได้ของประชากรมีเพียงคนละ 835 ดอลลาร์ต่อปีเท่านั้น นักเศรษฐศาสตร์เหล่านี้กล่าวด้วยว่าตลาดหุ้นที่ซบเซาลงอาจทำให้มีการหันไปลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น

ศาสตราจารย์ Vo ผู้ได้รับความนิยมจากประชาชนในช่วงที่เป็นรัฐมนตรี กล่าวว่านักเก็งกำไรที่ดินเป็นสาเหตุทำให้ที่ดินมีราคาสูงขึ้น ที่ดินในเวียดนามถูกโอนเป็นของรัฐ แต่เอกชนและธุรกิจได้สมคบกับเจ้าหน้าที่แสวงหาประโยชน์จากที่ดินกันมากมาย ราคาที่ดินของทางการจะต่ำกว่าราคาตลาดอยู่เสมอ Vo กล่าวว่าเจ้าหน้าที่รัฐบางคนและเศรษฐีต้องการให้ราคาที่ดินของทางการต่ำกว่าราคาตลาดมากที่สุดและนานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

Vo กล่าวว่าวิธีที่เร็วและได้ผลในการทำให้ราคาที่ดินต่ำลงคือการเก็บภาษีอัตราก้าวหน้าสำหรับที่ดินที่ไม่ทำประโยชน์หรือที่เจ้าของที่ดินถือครองไว้มากเกินไป

ที่ดินแปลงหนึ่งขนาด 1,400 ตารางเมตรในย่านการค้าของนครโฮจิมินห์ได้ตั้งราคาไว้ 24.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อไม่นานมานี้ ในไต้หวันที่ดินย่านการค้าราคา 3.7 ล้านดอลลาร์จะถูกเก็บภาษีปีละ 40,000 ดอลลาร์ ถ้าเป็นในรัฐวิกตอเรียของออสเตรเลียจะถูกเก็บภาษี 74,000 ดอลลาร์

ผู้ย่อความอธิบายว่า โดยที่ที่ดินมีมูลค่าสูงมากในทำเลชั้นดี จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้อัตราภาษีก้าวหน้าเพื่อหยุดการเก็งกำไร แต่ควรใช้ภาษีอัตราเดียว (flat rate) ที่สูงเท่ากันในทุกแห่งเพื่อกระตุ้นให้มีการพัฒนาที่เหมาะสมตามสภาพ

(จากบทความภาษาเวียดนามเรื่องการปฏิรูปภาษีเพื่อชะลอราคาที่ดิน โดย Tuyet Nhung 18 ต.ค.50 ตามที่ย่อไว้ในบทความเรื่อง Warren Buffett, a Kiwi central banker, and a Vietnamese ex-minister need to talk ใน The Progress Report ที่ //www.progress.org/2007/nwzlvtnm.htm พ.ย.50 โดย Jeffery J. Smith ผู้สร้างเว็บ geonomics.org )

สำหรับผมเองบอกได้ว่า ประเทศใดใช้ระบบภาษีที่ดินและเลิก/ลดภาษีจากการลงแรงลงทุนผลิตและค้าก่อน ประเทศนั้นก็จะนำหน้าทั้งในเรื่องความเป็นธรรม ความอยู่ดีมีสุข และการแข่งขันทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

เชิญอ่านบทความและหนังสือเกี่ยวกับความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจได้ที่ ยูโทเพียไทย ครับ




 

Create Date : 07 พฤศจิกายน 2550    
Last Update : 9 พฤศจิกายน 2550 18:05:07 น.
Counter : 757 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  
 
 

สุธน หิญ
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




แก้ความอยุติธรรมขั้นฐานราก
ตามแนวเฮนรี จอร์จ
http://utopiathai.webs.com
เลิกภาษีการลงแรงลงทุนผลิตและค้า
เลิกภาษีเงินได้ เพิ่มภาษีที่ดิน
ค่อยๆ เปลี่ยนแปลง ใช้เวลาสัก 30 ปี


เปิดเว็บต่างแดนดูไม่ได้ ให้ google ช่วยหา free anonymous proxy server ของต่างประเทศซึ่งมีอยู่มากเพื่อเปิดให้แทนครับ (ในไทยอาจมีการปิดกั้นเว็บของต่างแดน เว็บย่อยที่คนไทยอาศัยใช้กันก็พลอยถูกปิด)

เว็บหลักของผม ยูโทเพียไทย_1
* หน้ารวมลิงก์ยูโทเพียไทย_1 *

หนังสือดีเด่นแปล Progress and Poverty หนังสือ ความยากจนที่ไม่เป็นธรรม และ บทความ ของผม ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ยินดีให้เผยแพร่ต่อด้วยความขอบคุณ ยกเว้นบทความแปลกรุณาอ่านเงื่อนไขจากต้นฉบับภาษาอังกฤษที่อ้างไว้ครับ


- ศัพท์เศรษฐศาสตร์ ดร.บุญเสริม
- ภาษีทรัพย์สินสหรัฐฯ
- ภาวะตลาดอสังหาฯ
- ภาวะตลาดที่อยู่อาศัย 2537-51
- ราคาที่ดินทั่วไทยรายแปลง
- สรุปราคาประเมินใน กทม.ปี 2551-54
- การเปลี่ยนแปลงราคาที่ดินใน กทม.และปริมณฑลปี 2528-50


[Add สุธน หิญ's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com
pantip.com pantipmarket.com pantown.com