ยูโทเพียไทย
เศรษฐศาสตร์
เพื่อความเป็นธรรม

 

อย่าเชื่อ

อย่าเชื่อ

1. อย่าเชื่อว่าเราได้ผ่านระบบเจ้าที่ดินหรือศักดินามาแล้ว ถ้ายังมีการเก็งกำไรที่ดิน

2. อย่าเชื่อว่าถ้าไม่เอาทุนนิยมก็ต้องเอาสังคมนิยม เราเลือกเอาแต่สิ่งที่ดีมาประสานกันได้

3. อย่าเชื่อว่าระบบรัฐสวัสดิการจะดีด้วยภาษีรายได้แบบก้าวหน้า เพราะภาษีที่แรงเช่นนี้ไม่ส่งเสริมการลงทุน ผู้มีรายได้สูงส่วนหนึ่งย้ายออกนอกประเทศ

4. อย่าเชื่อว่าระบบภาษีของเราดีเพราะปรับปรุงกันตลอดมา ระบบนี้ไม่คิดถึงต้นเหตุความยากจน ได้แต่กระจายภาระไปยังภาษีทุกชนิดที่คิดได้ ให้คิดว่าเสียเพียงอย่างละเล็กละน้อย

5. อย่าเชื่อข้อเสนอให้เก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า มันแสดงว่าไม่ได้คิดเก็บภาษีที่ดินทั่วไปให้สูงเสมือนว่าเจ้าของเป็นผู้เช่าจากรัฐ แต่ใช้ภาษีเป็นเครื่องมือปรับเอากับผู้ที่รัฐคิดว่าทำไม่ดีโดยไม่ทันคิดว่ารัฐนั่นแหละคือต้นเหตุแห่งการทำไม่ดีนั้น (เก็งกำไรที่ดิน) แล้วยังใช้อัตราก้าวหน้าอีก อัตราก้าวหน้านี้จะทำให้การใช้ประโยชน์ที่ดินถูกบิดเบือนไปจากที่ควรจะเป็น ประสิทธิภาพการใช้ที่ดินโดยรวมจะต่ำ และอาจเป็นการส่งเสริมให้มีการคบคิดแจ้งเท็จว่าทำประโยชน์ในที่ดินแล้ว นอกจากนี้ ในกรณีใช้อัตราภาษีก้าวหน้าตามขนาดที่ดิน ยังอาจเกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างบุคคลธรรมดากับนิติบุคคลซึ่งขณะเดียวกันหุ้นส่วนก็เป็นบุคคลธรรมดาด้วย ซ้ำเขายังอาจเป็นหุ้นส่วนในนิติบุคคลอื่น ๆ อีก

6. อย่าเชื่อว่าต้องยอมได้อย่างเสียอย่าง (tradeoff) ระหว่างความยุติธรรมกับประสิทธิภาพ เพราะระบบภาษีการถือครองที่ดิน (ซึ่งทำให้ลด/เลิกภาษีเงินได้และภาษีจากการลงแรงลงทุนผลิตและค้าได้) จะช่วยให้เราได้ทั้งสองอย่าง

7. อย่าเชื่อว่า *ไม่มี free lunch* free lunch ที่มโหฬารและฟุ่มเฟือยที่สุด คือการอุดหนุนจากรัฐบาลที่ให้แก่เจ้าของที่ดิน โดยการเก็บภาษีที่ดินน้อยไป และช่วยเพิ่มมูลค่าที่ดินให้เรื่อย ๆ โดยการตัดหรือขยายถนน จัดโครงการรถไฟฟ้า ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ด้วยภาษีจากพลเมืองทั่วไป



Tax bads, not goods.

Tax waste, not work.

Pay for what you take, not what you make.

Polluter pays.

To spare the earth, let’s share her worth.




 

Create Date : 31 สิงหาคม 2551    
Last Update : 8 ธันวาคม 2551 8:16:07 น.
Counter : 640 Pageviews.  

ปัญหาความยากจนจาก *ระบบ* ของรัฐเอง

ปัญหาความยากจนจาก *ระบบ* ของรัฐเอง
1. ความก้าวหน้าอย่างมโหฬารของเครื่องจักรกลที่ช่วยเพิ่มผลผลิต กลับทำให้คนงานยากจนจากค่าแรงต่ำ
2. ค่าแรงทั่วไปมีแต่จะต่ำลงในขณะที่ที่ดินกลับมีแนวโน้มแพงขึ้น เพราะความเจริญก้าวหน้าของส่วนรวมไปเพิ่มราคาให้ที่ดิน
3. การเก็งกำไรกักตุนที่ดินยิ่งทำให้ที่ดินแพง หาที่ดินทำกินและหางานทำยากมากขึ้นไปอีก ค่าแรงยิ่งต่ำ
และทำให้วัฏจักรเศรษฐกิจแกว่งตัวรุนแรง ก่อความเดือดร้อนทุกข์ยากมากขึ้น

สาเหตุ
1. รัฐปล่อยให้เอกชนถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโดยเก็บภาษีเพียงเล็กน้อย
2. ทำให้รัฐต้องเก็บภาษีจากการลงแรงลงทุนของแต่ละบุคคลเป็นส่วนใหญ่
ยิ่งเป็นการลดรายได้ของเอกชน และเพิ่มต้นทุนการผลิตทำให้ค่าครองชีพสูง
ถ้าปล่อยไว้ ไม่แก้ไข เจ้าของที่ดินยิ่งได้ประโยชน์ คนจนยิ่งเดือดร้อน

วิธีแก้ไข
1. เก็บภาษีการถือครองที่ดินเท่าหรือเกือบเท่าค่าเช่ารายปีที่ควรเป็น
2. ยกเลิกภาษีทั้งหลายที่เป็นภาระแก่การลงแรงลงทุน เช่น ภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม
[ผมเห็นว่าควรค่อย ๆ เพิ่มภาษีที่ดิน เพื่อมิให้เจ้าของที่ดินเดือดร้อนมากนัก และค่อย ๆ ลดภาษีจากแรงงานและทุนชดเชยกัน อาจใช้เวลา 25-30 ปี]

มองในด้านลัทธิ
ลัทธิภาษีเดี่ยวจากมูลค่าที่ดินของเฮนรี จอร์จเช่นนี้จะว่าเป็นสังคมนิยม แรงงานนิยม หรือ ทุนนิยม ก็ได้ทั้งนั้น

ที่ว่าเป็นสังคมนิยมนั้นถูกเมื่อคิดเฉพาะปัจจัยที่ดิน (คือถือว่าที่ดินเป็นของสังคม จึงเก็บภาษีที่ดินมาบำรุงสังคม เพราะภาษีที่ดินจะตัดความได้เปรียบเสียเปรียบจากการได้ใช้ที่ดินมากน้อยดีเลวผิดกันออกไป)
แต่ไม่ต้องการให้รัฐเข้าไปจัดการที่ดินโดยตรง เช่น บังคับจัดแบ่งที่ดิน ทั้งนี้ตามหลักให้รัฐมีหน้าที่น้อยที่สุด เพื่อให้ตรวจสอบง่าย ไม่กลายเป็นอำนาจกดขี่คอร์รัปชัน และเพราะแบ่งอย่างไรก็จะไม่ได้ตรงตามความพอใจ ความชอบ ความถนัดในอาชีพ แบ่งแล้วก็จะต้องแบ่งใหม่อีกเรื่อย ๆ เพราะมีคนเกิดคนตาย แต่งงานมีครอบครัวเพิ่มขึ้น จึงควรปล่อยให้เจ้าของมีกรรมสิทธิ์ที่ดินตามเดิม ไม่ต้องบังคับย้ายผู้คนไปสู่ที่ดินที่รัฐจัดแบ่ง รัฐไม่ต้องบงการว่าจะใช้ที่ดินอย่างไร ปล่อยเสรี ถ้าไม่มีผลเสียต่อคนใกล้เคียง แต่การเก็บภาษีที่ดินนั้น เพื่อมิให้เจ้าของที่ดินเดือดร้อนเกินไป ผมเห็นว่าควรค่อย ๆ เพิ่มขึ้น จนในที่สุด สัก 30 ปี ให้ภาษีเท่าหรือเกือบเท่ากับค่าเช่าศักย์ของที่ดินนั้น ๆ ไม่ว่าเจ้าของจะใช้ที่ดินเองหรือให้เช่า (เก็บแต่ภาษีที่ดิน ไม่คิดภาษีบ้านอาคารโรงเรือนโรงงาน พืชผลต้นไม้)

ที่ว่าเป็นแรงงานนิยมก็ถูกเพราะพยายามไม่เก็บภาษีจากแรงงานเลย

และก็ต้องถือว่าเป็นทุนนิยมสุดขั้วอย่างไม่เคยปรากฏ เพราะพยายามไม่เก็บภาษีจากทุนเหมือนกัน

แนวคิดของเฮนรี จอร์จนี้ไม่ต้องการเอาของที่ส่วนบุคคลควรมีควรได้ (ลงแรงลงทุนหามาได้) คือค่าแรงสมอง/แรงกาย และผลตอบแทนต่อทุน มาเป็นของส่วนรวมเลย
จึงคิดเลิกภาษีเงินได้ ภาษีกำไร และภาษีทางอ้อมที่ไปเพิ่มต้นทุนการผลิตทำให้ของแพงทั้งสิ้น เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิต ภาษีศุลกากร จะเก็บแต่ภาษีที่ดินอย่างเดียว

(สมัยนี้คงต้องเก็บภาษีการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้สิ้นเปลืองไป หรือค่าภาคหลวง ค่าเอกสิทธิ์ ค่าสัมปทาน และค่าชดใช้การก่อมลภาวะทำความเสียหายแก่แผ่นดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และ สิ่งแวดล้อม ด้วย)

วิธีของเฮนรี จอร์จซึ่งแก้ไขบางอย่างแล้วเช่นนี้จะ
1. ให้เสรีมากขึ้น ลดการถูกเรียกตรวจสอบจากเจ้าพนักงานภาษีของรัฐ เพราะเหลือแต่ภาษีที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม
2. เกิดความยุติธรรม คือใครทำงาน ใครลงทุน ได้เท่าไรก็เป็นของเขาทั้งหมด โดยตัดความได้เปรียบเสียเปรียบจากการได้ครอบครองที่ดินดีเลว มากน้อยผิดกัน หรือไม่มีที่ดินเลย ออกไปด้วยภาษีที่ดิน
3. เกิดผลดี คือที่ดินไม่เสียเปล่ามากมายมหาศาลจากการเก็บกักเก็งกำไร การว่างงานจะลด ค่าแรงเพิ่ม และเมื่อคนไม่เสียภาษีเงินได้ก็ได้ค่าจ้างเงินเดือนกลับบ้านเต็มที่ ของกินของใช้ไม่ถูกภาษี ก็จะราคาต่ำลง คนจนก็สบายขึ้น และพลอยขายแข่งกับต่างประเทศได้สบายขึ้นด้วย คนต่างชาติก็จะอยากมาเที่ยวมาใช้เงินมาลงทุนที่เมืองไทยมากขึ้น ที่เป็นปัญหาก็คือแรงงานต่างด้าวจะทะลักเข้าไทย ต้องป้องกันให้ได้ผลมากกว่าปัจจุบัน.




 

Create Date : 11 กรกฎาคม 2551    
Last Update : 7 มีนาคม 2552 9:28:36 น.
Counter : 626 Pageviews.  

ลองคิดภาพสังคมที่เจริญถึงขั้นหุ่นยนต์ทำงานแทนมนุษย์

ลองนึกภาพดูว่าสังคมจะมีลักษณะอย่างไร ถ้าเทคโนโลยีการผลิตสินค้าและบริการเจริญก้าวหน้ามาก
มีเครื่องจักรกลและหุ่นยนต์ทำงานและควบคุมดูแลการทำงานผลิตสินค้า
ตั้งแต่การเกษตร การดึงวัตถุดิบมาจากพื้นโลก อุตสาหกรรม การขนส่ง และการค้าขายที่รวมถึงการค้าปลีก
ตลอดจนการบริการชนิดต่างๆ และ . . . การกำจัดขยะและมลพิษที่เกิดจากการทำงานของเครื่องจักรกล
หุ่นยนต์ และการกินอยู่ของมนุษย์ รวมทั้งชิ้นส่วนเก่าๆ ของเครื่องจักรกล หุ่นยนต์ และมนุษย์เอง

คงจะดูเหมือนยุคพระศรีอาริย์
มนุษย์คงแทบไม่ต้องทำงาน

แต่ . . ถ้าไม่ทำงานจะได้เงินมาซื้อสินค้าและบริการหรือ?
ใครจะให้เงินมาฟรีๆ ?
นายทุนเขาก็ต้องการผลตอบแทนจากการลงทุน
เจ้าของที่ดินก็ต้องการผลตอบแทนจากที่ดินของเขา

ความต้องการของมนุษย์ไม่มีที่สิ้นสุด
ยิ่งมีความต้องการก็ยิ่งต้องใช้ที่ดินมาก
บ้านพวกเขาต้องหรูหราอ่าโอ่ ตั้งอยู่กลางสวน มีสนามเทนนิส
สระว่ายน้ำ สปา เซาน่า ห้องพักรับรองแขก ฯลฯ
มีบ้านพักตากอากาศ มีเรือสำราญ หรือขอขึ้นอวกาศสักหน
ถ้าเป็นนายทุนก็ขอมีที่ดินไว้เป็นหลักประกันยามแก่เฒ่าด้วย
เจ้าของที่ดินก็อาจเป็นนายทุนไปพร้อมกัน

แรงงานที่มีฝีมือและแรงงานใช้สมองอาจได้ผลตอบแทนมาก
สามารถเป็นเจ้าของที่ดิน หรือ/และ นายทุนไปแล้ว

คนที่ไร้ที่ดินไร้ทุนคงมีแต่แรงงานชั้นล่าง
แม้จะเข้ายุคพระศรีอาริย์ก็ต้องพยายามหางานทำ
แต่งานแทบไม่มีให้ทำเสียแล้ว
อยากอยู่ในสังคมเมืองที่มีแสงสีศิวิไล
ที่ปลอดภัย สะดวกสบาย มีสิ่งน่ารื่นรมย์นานาชนิด
ก็คงเป็นไปได้เฉพาะแรงสมองแรงกายที่มีความรู้ความชำนาญสูง
นอกนั้นคงต้องออกไปหางานทำไกลสังคมเมือง
ทั้งที่พวกเขามีส่วนร่วมสร้างเมืองทำให้ที่ดินในเมืองสูงค่าขึ้นมา
พวกเขาอาจถึงต้องไปยังที่ดินชายขอบ !

ที่ดินชายขอบ !
เมื่อเทคโนโลยีเจริญก้าวหน้า การผลิตก็ขยายไกลเมืองออกไป
ชายขอบเดิมที่ไม่มีราคาเพราะไม่ค่อยมีคนใช้ ก็มีราคาขึ้นมา
ที่ดินที่มีราคาอยู่แล้วก็มีราคาสูงขึ้นตามส่วนไปด้วยกัน
ที่ดินชายขอบใหม่มักให้ผลผลิตเป็นค่าแรงลดลง
(แต่ก็มีคนไปจับจองไว้ก่อนแล้ว)

ยุคพระศรีอาริย์ อนาคตแรงงานชั้นล่างกลับยิ่งดูมืดมัว
ความเจริญก้าวหน้าดูว่าจะต้องมีความยากจนเกิดขึ้นตามมา
ทั้งๆ ที่ผู้ทำงานและผู้ลงทุนร่วมกันผลิต สร้าง ซื้อ ขาย เช่า ให้เช่า
และจ่ายภาษีบำรุงสังคม เช่นเอาไปสร้างถนน ประปา ไฟฟ้า
ยิ่งเจริญ ยิ่งมีสิ่งอำนวยความสะดวก ที่ดินยิ่งมีราคา/ค่าเช่า
ผู้ทำงานและผู้ลงทุนควรได้ผลตอบแทนนี้ ไม่ใช่เจ้าของที่ดิน

เจ้าของที่ดินหามีส่วนในการผลิตไม่ จึงมิใช่ผู้ทำให้ที่ดินมีค่า
(ยกเว้นที่ราคาสูงเพราะการเก็งกำไร)
การซื้อที่ดินหาใช่การลงทุนผลิต
เป็นเพียงการสืบต่อสิทธิ์เรียกผลตอบแทนจากผู้ผลิต
ภาษีซึ่งเจ้าของที่ดินจ่ายก็มาจากผู้ผลิต
ผู้ผลิตต้องเลี้ยงดูเจ้าของที่ดินด้วยค่าเช่าที่สูงขึ้นๆ ไม่สิ้นสุดหรือ?
ภาระนี้ทำให้ผู้มีแต่แรงงานชั้นล่างพ้นจากความจนได้ยาก

ก็ถูก – ใครใช้ที่ดินดีเลวมากน้อยเท่าไรควรเสียค่าเช่าตามส่วน
แต่ค่าเช่านี้ทำไมจึงปล่อยให้เจ้าของที่ดินได้ไปไม่มีวันสิ้นสุด
และนับวันยิ่งมากขึ้นๆ จริงอยู่เขาอาจต้องเสียเงินซื้อหาที่ดิน
ซึ่งไม่ผิดกฎหมาย ใครๆ ที่มีเงินก็มักทำกัน แต่มันไม่เป็นธรรม
จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเพื่อช่วยผู้ลงแรงลงทุนผลิตหรือ?
ช่วยให้เขาได้ความเป็นธรรม – ไม่ใช่ช่วยให้ได้เปรียบผู้อื่น
อย่างที่เจ้าของที่ดินได้เปรียบมาตลอด

วิธีแก้ไม่ใช่จัดสรรที่ดินให้คนจน เพราะมีคนเกิดใหม่เรื่อยๆ
แต่ควรเก็บภาษีจากเจ้าของที่ดินเท่าค่าเช่าตามที่ควรเป็น
และติดตามแก้ไขให้ทันสมัยเป็นระยะๆ
แต่เพื่อมิให้เจ้าของที่ดินเดือดร้อนมาก
ควรใช้วิธีค่อยๆ ลดความได้เปรียบของเจ้าของที่ดิน
โดยค่อยๆ เพิ่มภาษีที่ดินอาจเป็นปีละ 2-3 % ของค่าเช่า
แล้วนำมาแจกราษฎรทุกคนเท่าๆ กัน
หรือลด/เลิกภาษีการลงแรงลงทุนชดเชยกับภาษีที่ดินที่เพิ่ม
หรือจะแบ่งทำทั้งสองอย่างก็ได้ – แล้วแต่เสียงข้างมาก

ถ้าทำแบบนี้ไม่ต้องกลัวหุ่นยนต์มาแย่งงานมนุษย์
ทุกคนจะมีสุขเหมือนถึงยุคพระศรีอาริย์
เพราะทุกคนจะเสมือนเป็นเจ้าของที่ดินเท่าเทียมกัน
แม้ไม่ได้ทำงานก็มีรายได้ . . จากที่ดิน.




 

Create Date : 08 กรกฎาคม 2551    
Last Update : 11 กรกฎาคม 2551 23:41:54 น.
Counter : 553 Pageviews.  

มนุษย์กับแผ่นดิน

The great cause of inequality in the distribution of wealth is inequality in the ownership of land.
สาเหตุใหญ่แห่งความไม่เสมอภาคกันในการแบ่งเศรษฐทรัพย์คือความไม่เสมอภาคกันในการถือครองที่ดิน

The ownership of land is the great fundamental fact which ultimately determines the social, the political, and consequently the intellectual and moral condition of a people.
กรรมสิทธิ์ในที่ดินเป็นข้อเท็จจริงหลักมูลอันยิ่งใหญ่ ซึ่งมีผลเด็ดขาดในการกำหนดสภาพทางสังคม ทางการเมืองของประชาชนกลุ่มหนึ่ง ๆ และจึงกำหนดสภาพทางปัญญาและทางศีลธรรมด้วย

And it must be so. For land is the habitation of man, the storehouse upon which he must draw for all his needs, the material to which his labor must be applied for the supply of all his desires;
และมันจะต้องเป็นเช่นนี้ เพราะว่าที่ดินเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ เป็นคลังซึ่งมนุษย์จะได้มาซึ่งสิ่งจำเป็นทั้งปวงสำหรับตน เป็นสสารที่มนุษย์ต้องใช้แรงงานเข้ากระทำเพื่อให้ได้สิ่งทั้งหลายที่ตนปรารถนา

for even the products of the sea cannot be taken, the light of the sun enjoyed, or any of the forces of nature utilized, without the use of land or its products.
เพราะว่าแม้แต่ผลผลิตจากทะเลเขาก็ไม่สามารถจะเอามาได้ ไม่ได้รื่นรมย์กับแสงแดด หรือได้ใช้ประโยชน์จากพลังใด ๆ ของธรรมชาติ ถ้าเขาไม่ได้ใช้ที่ดินหรือผลผลิตของที่ดิน

On the land we are born, from it we live, to it we return again - children of the soil as truly as is the blade of grass or the flower of the field.
เราเกิดขึ้นมาบนแผ่นดิน เรามีชีวิตอยู่ได้จากแผ่นดิน และเราก็กลับไปสู่แผ่นดินอีก – เราคือบุตรแห่งแผ่นดินโดยแท้ เช่นเดียวกับใบหญ้าหรือดอกไม้ของท้องทุ่ง

Take away from man all that belongs to land, and he is but a disembodied spirit.
หากเอาทุกสิ่งที่เป็นของแผ่นดินออกไปจากตัวมนุษย์ แล้วมนุษย์จะเป็นเพียงวิญญาณที่ไร้เรือนกาย

Material progress cannot rid us of our dependence upon land;
ความก้าวหน้าทางวัตถุไม่สามารถจะทำให้เราพ้นจากการพึ่งพาที่ดินได้

it can but add to the power of producing wealth from land;
มันทำได้แต่เพียงเพิ่มความสามารถในการผลิตเศรษฐทรัพย์จากที่ดินเท่านั้น

and hence, when land is monopolized, it might go on to infinity without increasing wages or improving the condition of those who have but their labor.
และดังนั้นเมื่อที่ดินถูกผูกขาด ความก้าวหน้าทางวัตถุก็อาจจะไปถึงอนันตภาพโดยไม่ทำให้ค่าแรงสูงขึ้น หรือทำให้สภาพของผู้ที่มีแต่แรงงานดีขึ้นเลย

It can but add to the value of land and the power which its possession gives.
มันทำได้แต่เพียงเพิ่มมูลค่าของที่ดินและเพิ่มอำนาจเนื่องจากการได้ครอบครองที่ดินนั้น

Everywhere, in all times, among all peoples, the possession of land is the base of aristocracy, the foundation of great fortunes, the source of power.
ทุกแห่ง ทุกสมัย ในบรรดาประชาชนทุกชาติ กรรมสิทธิ์ที่ดินคือฐานของอภิชนาธิปไตย รากฐานของมหาสมบัติ แหล่งที่มาของอำนาจ.

(จากหนังสือดีเด่น Progress and Poverty ค.ศ. 1879 โดย Henry George
ดูได้ที่ย่อหน้า [33] ตอนท้ายของ //www.schalkenbach.org/library/george.henry/pp052.html
ส่วนภาษาไทยคือ ความก้าวหน้ากับความยากจน ภาค 5 บทที่ 2 หน้า 295-296
ดูได้ที่ //geocities.com/utopiathai/ProgressAndPoverty ครับ)




 

Create Date : 06 กรกฎาคม 2551    
Last Update : 8 กรกฎาคม 2551 22:22:07 น.
Counter : 637 Pageviews.  

มีด้วยหรือ - ระบบภาษีที่เป็นธรรมในอัตราก้าวหน้า ?

คำประกาศเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนและเครือข่ายองค์กรประชาชน เรื่อง เปลี่ยนผ่านการเมืองอย่างสันติ ประชาชนร่วมกำหนด เมื่อ 11 มิ.ย. 51 //www.prachatai.com/05web/th/home/12471 ในประการที่ 6 มีเรื่องการปรับโครงสร้างระบบภาษีที่เป็นธรรมในอัตราก้าวหน้า

ซึ่งผมไม่เห็นด้วย เพราะผมไม่เชื่อว่าระบบภาษีที่เป็นธรรมต้องเป็นระบบภาษีก้าวหน้า ภาษีก้าวหน้ามีผลบิดเบือนการทำงานโดยเสรีของกลไกเศรษฐกิจ

ถ้าเป็นภาษีก้าวหน้าที่เก็บจากการลงแรงหรือลงทุนผลิตและค้า ผลก็คือการยังความท้อถอยแก่ผู้ลงแรงและลงทุน อนึ่ง หลักความเป็นธรรม คือ ผู้ใดลงแรงลงทุนผลิตสิ่งใดขึ้นมา สิ่งนั้นควรเป็นของผู้นั้น จะยกให้ใคร หรือจะแลกเปลี่ยนซื้อขายกับใครก็มีสิทธิทำได้

ถ้าเป็นในกรณีของที่ดิน ที่จริงที่ดินควรเป็นของทุกคนเท่าเทียมกัน เพราะ:-
- ขาดที่ดิน คนใดก็มีชีวิตอยู่ไม่ได้
- ที่ดินไม่มีคนไหนผลิตขึ้นมา
- คุณค่าและราคาที่ดินไม่ได้เกิดจากเจ้าของที่ดินแต่ละคนทำ (เจ้าของที่ดินอาจเป็นคนเดียวกับผู้ลงแรง ผู้ลงทุน แต่ในการพิจารณา เราต้องแยกฐานะทั้งสามออกจากกัน) แต่เกิดจากภาษีที่เอาไปสร้างสาธารณประโยชน์ ถนน ทางระบายน้ำเสีย กิจการของเอกชน จำพวกการขนส่ง โทรคมนาคม เกิดขึ้นในย่านชุมชน เพราะเขาเห็นทางทำกำไร และกิจการของแต่ละคนที่ทำกับคนอื่น ๆ ล้วนทำให้ที่ดินมีคุณค่า/ราคาขึ้นมาเรื่อย ๆ ตามความหนาแน่นของประชากร และความเจริญที่เกิดขึ้น

แต่การเก็บภาษีที่ดินน้อยไป (ซึ่งทำให้ต้องหันไปเก็บภาษีจากการลงแรงลงทุนผลิต เช่น ภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม) ทำให้เจ้าของที่ดินเป็นฝ่ายได้ประโยชน์

สิ่งที่ทำความเดือดร้อนให้แก่คนยากจนมากที่สุดคือ การเก็งกำไรเก็บกักที่ดิน ซึ่งทำให้ที่ดินมีราคา/ค่าเช่าสูงเกินจริงยิ่งขึ้น ๆ เรื่อย ๆ ที่ดินกลายเป็นของหายาก ทั้งที่เห็น ๆ อยู่ว่าเป็นที่ดินว่างเปล่ามากมาย คนจนต้องเสียทั้งภาษี และค่าเช่าที่ดิน แพงขึ้น ๆ เรื่อยมา

ทางแก้ไม่ใช่การปฏิรูปที่ดิน ไม่ใช่การหาที่ดินให้คนจน ไม่ใช่การแบ่งที่ดินให้ทุกคนได้เท่ากัน (เพราะจำนวนคนมีเกิด ตาย เปลี่ยนไปตลอด ที่ดินมีทำเลแตกต่าง ราคาแตกต่าง คนถนัดใช้ที่ดินแตกต่าง ทั้งทำเลและขนาดพื้นที่ ให้เสรีเขาเลือกได้เองดีกว่า)

แต่แก้ได้อย่างเป็นธรรม ให้เสรีดีขึ้น และเกิดผลดีนานัปการ โดยวิธีเก็บภาษีที่ดินเท่าหรือเกือบเท่าค่าเช่าที่ควรเป็น (แต่ไม่ใช่ฮวบฮาบทันทีทันใด ควรค่อย ๆ เพิ่ม อาจใช้เวลา 30 ปี เป็นต้น) แล้วลด/เลิกภาษีที่เก็บจากการลงแรงลงทุนผลิตและค้า

ข้อพึงจำคือ เก็บภาษีจากการลงแรงลงทุนของแต่ละบุคคลไม่เป็นธรรม เก็บภาษีจากการครอบครองที่ดินสูงเท่าหรือเกือบเท่าค่าเช่าที่ควรเป็นจึงจะเป็นธรรม รวมทั้งภาษีค่าก่อมลภาวะแก่โลก ค่าดึงทรัพยากรธรรมชาติไปใช้หมดเปลืองไป และค่าเอกสิทธิ์ต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องให้แก่ผู้ประกอบการบางประเภท

ดูเพิ่มเติมได้จากวิกิพีเดียภาษาไทยเรื่อง ภาษีเดี่ยว ครับ //th.wikipedia.org/wiki/ภาษีเดี่ยว




 

Create Date : 18 มิถุนายน 2551    
Last Update : 6 กรกฎาคม 2551 13:55:53 น.
Counter : 600 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  
 
 

สุธน หิญ
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




แก้ความอยุติธรรมขั้นฐานราก
ตามแนวเฮนรี จอร์จ
http://utopiathai.webs.com
เลิกภาษีการลงแรงลงทุนผลิตและค้า
เลิกภาษีเงินได้ เพิ่มภาษีที่ดิน
ค่อยๆ เปลี่ยนแปลง ใช้เวลาสัก 30 ปี


เปิดเว็บต่างแดนดูไม่ได้ ให้ google ช่วยหา free anonymous proxy server ของต่างประเทศซึ่งมีอยู่มากเพื่อเปิดให้แทนครับ (ในไทยอาจมีการปิดกั้นเว็บของต่างแดน เว็บย่อยที่คนไทยอาศัยใช้กันก็พลอยถูกปิด)

เว็บหลักของผม ยูโทเพียไทย_1
* หน้ารวมลิงก์ยูโทเพียไทย_1 *

หนังสือดีเด่นแปล Progress and Poverty หนังสือ ความยากจนที่ไม่เป็นธรรม และ บทความ ของผม ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ยินดีให้เผยแพร่ต่อด้วยความขอบคุณ ยกเว้นบทความแปลกรุณาอ่านเงื่อนไขจากต้นฉบับภาษาอังกฤษที่อ้างไว้ครับ


- ศัพท์เศรษฐศาสตร์ ดร.บุญเสริม
- ภาษีทรัพย์สินสหรัฐฯ
- ภาวะตลาดอสังหาฯ
- ภาวะตลาดที่อยู่อาศัย 2537-51
- ราคาที่ดินทั่วไทยรายแปลง
- สรุปราคาประเมินใน กทม.ปี 2551-54
- การเปลี่ยนแปลงราคาที่ดินใน กทม.และปริมณฑลปี 2528-50


[Add สุธน หิญ's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com
pantip.com pantipmarket.com pantown.com