ยูโทเพียไทย
เศรษฐศาสตร์
เพื่อความเป็นธรรม

 

ค่าแรงมีแนวโน้มต่ำลง ๆ ขณะที่ราคาที่ดินมีแนวโน้มสูงขึ้น ๆ

ค่าแรงในที่นี้คือค่าแรงตามธรรมชาติ มิใช่ค่าจ้างที่กำหนดขั้นต่ำตามกฎหมาย
ผลผลิต = ค่าเช่าที่ดิน + ค่าแรง + ดอกเบี้ย
เมื่อที่ดินชายขอบขยายออกไป ที่ดินชั้นใน ๆ ก็มีค่าเช่าสูงขึ้น
และค่าแรงที่ชายขอบใหม่มักจะลดลง (อย่างน้อยที่สุดก็ลดลงเมื่อเทียบส่วนกับค่าเช่าที่ดินที่เพิ่มขึ้น)
ความเจริญขึ้นอย่างมากของเครื่องจักรกลทุ่นแรงที่ทำให้เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมในราว ค.ศ.1800
ในที่สุดจึงกลับทำให้ผู้มีแต่แรงงานพื้นฐานเดือดร้อน แทนที่จะเป็นผลดีแก่พวกเขาตามที่หวังกันไว้

ที่ดินชายขอบ หรือ ขอบริมแห่งการผลิต (Margin of Production ) คือ ที่ดินที่เลวที่สุดที่จำเป็นต้องใช้กัน
ซึ่งในขณะเดียวกันก็เป็นที่ดินที่ดีที่สุดที่จะหาได้โดยไม่ต้องเสียค่าตอบแทน

กฎวิภาคกรรม (Laws of Distribution) หรือ กฎการแบ่งผลตอบแทนการผลิตออกเป็น ค่าเช่า ค่าแรง และ ดอกเบี้ย
ค่าเช่าที่ดินกำหนดด้วยผลผลิตของที่ดินนั้น ที่เกินกว่าผลผลิตที่ขอบริมแห่งการผลิต เมื่อใช้แรงงานและทุนเท่ากัน
ค่าแรงทั่วไปกำหนดด้วยผลผลิตที่แรงงานสามารถผลิตได้ ณ ขอบริมแห่งการผลิต
ดอกเบี้ยย่อมสูงขึ้นหรือต่ำลงเช่นเดียวกับค่าแรง และขึ้นอยู่กับขอบริมแห่งการผลิตเช่นเดียวกัน

ถ้าคนเราโดยเฉลี่ยเป็นส่วนรวมมีความขยันมากขึ้น ค่าเช่าที่ดินก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย
เช่น เดิมเคยทำงานวันละ 5 ชั่วโมง แล้วจะเพิ่มเป็น 10 ชั่วโมง
หรือเดิมสามีทำงานผู้เดียว แต่ต่อมาภรรยาก็ต้องออกทำงานด้วย
หรือเดิมเคยทำนาปีละ 1 ครั้ง แล้วเพิ่มเป็นปีละ 2 ครั้งเป็นต้น
เพื่อให้ง่าย ๆ จะสมมติว่าผลผลิตหรือรายได้ก็เพิ่มเป็น 2 เท่าเหมือนกันหมดทุกที่
ค่าเช่าที่ดินก็จะสูงขึ้นเป็น 2 เท่าทุกที่ด้วยเช่นเดียวกัน โดยเจ้าของที่ดินไม่ต้องทำอะไร

ความเจริญก้าวหน้าในวิชาการหรือเครื่องจักรกลทุ่นแรงที่ช่วยเพิ่มผลผลิตก็มีผลทำให้ค่าเช่าที่ดินสูงขึ้นแบบเดียวกัน
นอกจากนี้ ยังทำให้ที่ดินชายขอบขยายออกไป ที่ดินเดิม ๆ ก็ยิ่งมีค่าเช่าสูงขึ้น เจ้าของที่ดินได้เพิ่มไปฟรี ๆ

ความเป็นเมืองซึ่งทำให้ที่ดินมีมูลค่าสูงก็ไม่ได้เกิดจากการกระทำของเจ้าของที่ดิน
แต่เกิดจากการรวมตัวร่วมมือกันของผู้ทำงานและผู้ลงทุนผลิต รวมทั้งภาษีที่พวกเขาจ่าย
และภาษีที่เจ้าของที่ดินจ่ายก็มาจากค่าเช่าที่ดินจากผู้ทำงานและผู้ลงทุน
หาใช่จากการมีส่วนร่วมในการผลิตเศรษฐทรัพย์ไม่

การลงทุนสะสมที่ดินมิใช่การลงทุนผลิต แต่คือการแสวงสิทธิ์เรียกส่วนแบ่งจากผู้ทำงานและผู้ลงทุนผลิต
คนหนึ่ง ๆ อาจมี 1, 2 หรือ 3 ฐานะในฐานะทั้งสาม คือ เจ้าของที่ดิน ผู้ใช้แรงกาย/แรงสมอง และผู้ลงทุน
แต่จะพิจารณาเหตุผลกันก็ต้องคิดแยกฐานะทั้งสาม

ที่ดินต่างกับเศรษฐทรัพย์หรือทุน ไม่ควรจะถือเป็นอย่างเดียวกับทุน
มนุษย์ไม่ได้ใช้แรงงานของตนผลิตที่ดิน ผู้มีสิทธิเป็นเจ้าของจึงควรเป็นส่วนรวม มิใช่เอกชน
ที่ดินเป็นทั้งที่อยู่อาศัย และเป็นแหล่งทรัพยากรสำหรับมนุษย์ที่จะลงแรงลงทุนผลิตสิ่งจำเป็นต่อชีวิต
การเก็งกำไรด้วยการเก็บสะสมที่ดินไว้มากกว่าที่ควรมี เป็นการเบียดคนจนออกพ้นที่ดิน
คนจนต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อจ่ายค่าเช่าที่ดินที่สูงเพราะการเก็งกำไร ให้แก่เจ้าของที่ดิน
เจ้าของที่ดินมีแต่จะได้เพิ่มขึ้น ๆ โดยไม่ต้องมีส่วนร่วมในการผลิต
แต่ค่าแรงมีแต่จะต่ำลงอย่างที่ได้กล่าวไว้ ซ้ำร้ายยังหางานทำได้ยากขึ้นด้วย

ส่วนทุนหรือสินค้าทั้งหลาย ถ้ามีการกักตุน เกิดการขาดแคลน หรือราคาแพงกว่าปกติ คนก็จะหันไปหาสินค้าอื่นทดแทน
หรือในไม่ช้าก็จะมีผู้ผลิตรายอื่น ๆ เพิ่มเข้ามาเพื่อทำกำไรโดยผลิตสินค้านั้น ๆ ขาย สินค้านั้นก็จะลดราคาลง

ถ้าเก็บภาษีจากมูลค่าที่ดินสูงขึ้น ราคา/ค่าเช่าที่ดินจะถูกลง เพราะเจ้าของที่ดินต้องหาทางทำประโยชน์ในที่ดิน
คือต้องแข่งกันหาแรงงานและทุนมาทำงานมากขึ้น หรือต้องแข่งขันกันหาคนมาเช่าหรือซื้อที่ดินที่ตนเก็บกักไว้

การเก็บภาษีที่ดินน้อยไปทำให้รัฐต้องเก็บภาษีทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการลงแรงลงทุนผลิต
เป็นการถ่วงรั้งการผลิต ความอยู่ดีกินดี และความเจริญของส่วนรวม
ภาษีทางตรงทำให้รายได้หลังภาษีของผู้ทำงานและผู้ลงทุนลด
ภาษีทางอ้อมทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้น – ส่งผลร้ายต่อผู้ทำงานและผู้ลงทุนทั้งนั้น
ของแพงความสามารถแข่งขันกับต่างประเทศก็ลด
เมืองไทยก็ไม่ดึงดูดนักท่องเที่ยวเหมือนฮ่องกง สิงคโปร์
การเก็บภาษีที่ดินน้อยไปทำให้เกิดการเก็งกำไรเก็บกักที่ดิน จึงเสมือนพื้นที่แผ่นดินไทยลดลง
งานที่จะทำก็ลด คนต้องแข่งกันหางานทำ ค่าแรงจึงถูกกดต่ำ
นี่คือ ลดรายได้ – เพิ่มรายจ่าย – สลายโอกาส
ซึ่งตรงข้ามกับนโยบายของรัฐบาล

เมื่อค่าแรงต่ำลงเรื่อย ๆ คนจนที่มีแต่แรงงานขั้นพื้นฐานก็เดือดร้อน
เมื่อพิจารณาร่วมกับเรื่องที่มูลค่าที่ดินไม่ได้เกิดจากการกระทำของเจ้าของที่ดิน
แต่เกิดจากการทำงานและการลงทุนของส่วนรวม
ผลประโยชน์จากที่ดินก็ควรเป็นของส่วนรวม
ซึ่งรวมถึงผู้มีแต่แรงงานพื้นฐานด้วย
มันจะชดเชยให้พวกเขาสำหรับค่าแรงที่ต่ำลง ๆ

แต่การเปลี่ยนแปลงภาระภาษีจากผู้ทำงานและผู้ลงทุนผลิตไปยังเจ้าของที่ดินก็ควรค่อยเป็นค่อยไป
เพื่อมิให้เจ้าของที่ดินเดือดร้อนมากนัก อาจต้องใช้เวลาหลายสิบปี




 

Create Date : 29 ตุลาคม 2550    
Last Update : 29 ตุลาคม 2550 22:53:02 น.
Counter : 612 Pageviews.  

ภูมิเศรษฐศาสตร์โดยย่อ

ภูมิเศรษฐศาสตร์โดยย่อ
(จาก Geonomics in a Nutshell ที่ //www.progress.org/geonomy/ ตามที่ปรากฏเมื่อ 16 ตุลาคม 2550)

โลกไม่ได้กำเนิดมาโดยไร้หนทางที่มนุษย์จะเจริญมั่งคั่งและโลกเองจะรักษาตนให้อยู่ดีได้ หนทางนั้นคือภูมิเศรษฐศาสตร์

เศรษฐกิจเป็นส่วนประกอบของระบบนิเวศ ทั้งคู่ทำให้เกิดส่วนเกินและเดินตามวงวนป้อนกลับที่ควบคุมตนเอง (self-regulating feedback loops) วัฏจักรทำนองกฎอุปทานอุปสงค์เป็นวงวนเปิด/ปิดวงหนึ่งของระบบเศรษฐกิจ ค่าใช้จ่ายที่หมดไปกับที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ (สิ่งที่ไม่มีใครทำและทุกคนต้องใช้) คือส่วนเกินของสังคมของเรา

กำไรที่มีผู้ได้ไปโดยไม่ต้องทำการผลิตเหล่านั้น (ไม่มีใครผลิตโลก) สามารถจะกลายมาเป็นสมบัติร่วมกัน (commonwealth) ของพวกเรา ถ้าจะแบ่งปันกันเราก็อาจจะใช้วิธีจ่ายค่าถือครองที่ดินเข้าคลังแผ่นดิน (บริษัทน้ำมันจะไม่ชอบหรือ ?) และรับกลับมาในรูปเงินปันผลค่าเช่าที่ดิน ตามแบบเงินปันผลน้ำมันของรัฐอะแลสกา วิธีนี้จะทำให้เราสามารถเลิกหรือลดภาษีต่าง ๆ และเลิกเงินอุดหนุนได้

ภาษีและเงินอุดหนุนมีผลเป็นการบิดเบือนราคา (DNA ของการค้าขายแลกเปลี่ยน) ละเมิดการต่างตอบแทนกันโดยเอื้อประโยชน์แก่ผู้ที่มีเส้นสายดีมากกว่าผู้อื่น เสริมกำลังให้แก่การปกครองตามลำดับชั้นของรัฐเหนือพลเมือง และสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการบริหารมาก (คุณไม่ต้องการอมาตยาธิปไตยที่มากเกินไปใช่ไหม ?) ตรงกันข้าม การเสียค่าถือครองที่ดินจะจูงใจประชาชนให้ไม่ทำความสูญเปล่าแก่ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และระบบนิเวศ ขณะเดียวกัน เงินปันผลค่าเช่าที่ดินก็จูงใจประชาชนไม่ให้ทำความสูญเปล่าแก่ตนเอง

การได้เงินเสริมรายได้นี้ (เงินปันผลแก่พลเมือง) จะทำให้ประชาชนสามารถลงทุนในเทคโนโลยีที่ตนชอบหรือเติบโตขึ้นพ้นจากภาวะ “มนุษย์เศรษฐกิจ” และลดเวลาการทำงานต่อสัปดาห์ลง เพื่อใช้เวลามากขึ้นกับครอบครัว มิตรสหาย ชุมชน และธรรมชาติ ซึ่งในช่วงเวลาที่เป็นอิสระเหล่านั้น เราอาจจะได้ความคิดว่าเรามาเกิดที่นี่เพื่ออะไร.




 

Create Date : 16 ตุลาคม 2550    
Last Update : 16 ตุลาคม 2550 14:48:12 น.
Counter : 1348 Pageviews.  

เทคโนโลยีก้าวหน้า ที่ดินก็ลดความสำคัญ ?

เทคโนโลยีก้าวหน้า ที่ดินก็ลดความสำคัญ ?

To spare the earth, let's share her worth.
Tax bads, not goods.
Tax waste, not work.
Pay for what you take, not what you make.

เทคโนโลยีก้าวหน้าไม่ได้ทำให้ที่ดินลดความสำคัญ
ตรงกันข้าม ที่ดิน หรือ แผ่นดิน หรือ โลก ของเรา รวมทั้งทรัพยากรธรรมชาติ กำลังมีไม่พอกับความต้องการ
แหล่งพลังงานที่ปลอดภัยมากหน่อยกำลังลดลง น้ำมันดิบมีราคาสูงขึ้นเรื่อย ๆ
มลภาวะรุนแรงขึ้น โลกร้อนขึ้น แผ่นดินถูกผืนน้ำบุกรุก
โลกใบเดียวดูว่าไม่พอรับมนุษย์ในจำนวนปัจจุบัน

ผลผลิตปกติย่อมถูกแบ่งระหว่างเจ้าของปัจจัยการผลิต 3 ปัจจัย – 1. ที่ดิน 2. แรงงาน 3. ทุน
ที่ดินคือ 1. ที่อยู่อาศัย 2. แหล่งวัตถุดิบที่จะผลิตเป็นของกินของใช้ 3. ที่ทำกิน ผลิตของกินของใช้
ดังนั้น ขาดที่ดิน มนุษย์เกิดไม่ได้ ที่มีชีวิตอยู่แล้วก็ต้องตาย
ปกติที่ดินมีราคาสูงขึ้น ๆ ตรงข้าม ค่าแรงกลับต่ำลง ๆ เมื่อเทียบกับค่าครองชีพ

ความก้าวหน้าทั้งหลาย เครื่องมือที่สูงส่งด้วยเทคโนโลยี
ทำให้ใช้แรงงานน้อยลง และใช้ที่ดินน้อยลงได้
แต่ ดังคำของ Henry George ในหนังสือลือลั่น Progress and Poverty ค.ศ. 1879 –
“ ไม่สามารถจะทำให้เราไม่ต้องพึ่งพาที่ดิน
มันทำได้แต่เพียงเพิ่มความสามารถในการผลิตเศรษฐทรัพย์ (wealth) จากที่ดินเท่านั้น
และดังนั้นเมื่อที่ดินถูกผูกขาด ความก้าวหน้าทางวัตถุก็อาจจะไปถึงอนันตภาพ (infinity)
โดยไม่ทำให้ค่าแรงสูงขึ้นหรือทำให้สภาพของผู้ที่มีแต่แรงงานดีขึ้นเลย
มันจะเพียงแต่เพิ่มราคาที่ดินและเพิ่มอำนาจเนื่องจากการได้ครอบครองที่ดินนั้น
ทุกแห่งทุกสมัยในบรรดาประชาชนทุกชาติ การครอบครองที่ดินนับเป็นมูลฐานของอภิชนาธิปไตย (aristocracy)
เป็นรากฐานของมหาโชคลาภ เป็นแหล่งกำเนิดของอำนาจ” [1]

เรื่องแรงงานสมองเป็นเรื่องสำคัญมาก อย่างที่เดี๋ยวนี้มีการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญากัน
มีการไล่จับและลงโทษกันอยู่เรื่อยมา
เทคโนโลยีสารสนเทศก็ทำให้เกิดผลเช่นเดียวกับเครื่องจักรกลทุ่นแรงทั้งหลายด้วย
ไม่ว่าจะเป็นร้อยๆ ปีมาแล้วหรือปัจจุบัน หรืออนาคต
คือที่ดินมีราคาสูงขึ้น ๆ แต่ค่าแรงกลับต่ำลง ๆ
ถ้าไม่ถือเอา “ที่ดิน” เป็นทรัพย์สินของส่วนรวมร่วมกัน โดยวิธีภาษีเดี่ยว (single tax)

ทำไมประเทศที่พัฒนาแล้วก็ยังมีปัญหาความยากจนให้ต้องแก้ไขอยู่
Henry George กล่าวไว้แล้ว -
“ข้อเท็จจริงอันเป็นสากลก็คือในที่ซึ่งที่ดินมีราคาแพงที่สุด
อารยธรรมก็จะแสดงความฟุ่มเฟือยหรูหราอย่างที่สุดเคียงข้างกับความยากไร้อย่างน่าสังเวชที่สุด
ถ้าต้องการจะเห็นมนุษยชาติในสภาพที่เสื่อมทรามที่สุด อนาถาที่สุดและไร้ความหวังที่สุด
ท่านจะต้องไม่ไปยังท้องทุ่งที่ไม่มีรั้วกั้นและกระท่อมที่ทำด้วยซุงในบริเวณซึ่งเพิ่งถากถางใหม่ ๆ ในป่าทึบ
ซึ่งคนเรากำลังเริ่มต่อสู้กับธรรมชาติอย่างโดดเดี่ยวและที่ดินยังไม่มีราคาแต่อย่างใด
แต่จะต้องไปยังเมืองใหญ่ซึ่งการเป็นเจ้าของที่ดินเพียงเล็กน้อยก็นับเป็นโชคลาภมหาศาล” [2]

และ:-
“ในนิคมใหม่ ๆ ซึ่งที่ดินมีราคาถูก ท่านจะไม่ได้เห็นคนขอทาน
และความมีสภาพไม่เท่าเทียมกันก็มีเพียงเล็กน้อย
ตามเมืองใหญ่ ๆ ซึ่งที่ดินมีราคาสูงอย่างยิ่งจนวัดกันเป็นถึงตารางฟุต
ท่านจะได้พบทั้งความยากแค้นอย่างที่สุดและความฟุ่มเฟือยอย่างที่สุด
ความแตกต่างกันในระหว่างสภาพสังคมปลายสุดทั้งสองนี้อาจจะวัดได้ด้วยราคาที่ดินเสมอ” [3]

ในสหรัฐฯ ปัจจุบันมีคนจนมากมาย ดีแต่ว่าเขามีเงินช่วยเหลือเหล่าผู้ว่างงานทั้งหลาย

“ที่ดิน” จากคำอธิบายในหนังสือ “ความยากจนที่ไม่เป็นธรรม” ของผมเอง หน้า 7 :-
“ก. ที่ดิน คือ เอกภพ (Universe) หรือสิ่งทั้งหลายนอกจากตัวมนุษย์และ เศรษฐทรัพย์
“คำว่า ‘ที่ดิน’ นี้นอกจากจะหมายถึงที่ว่าง (Space) แล้ว
ยังหมายความรวมถึงสิ่งทั้งหลายอันมีอยู่ตามธรรมชาติ หรือทรัพยากรธรรมชาติ (Natural Resources) ด้วย

“การที่ถือว่าที่ดินเป็นปัจจัยที่ 1 นำหน้าเพื่อน ในบรรดาปัจจัยการผลิตทั้งสาม
ก็เพราะที่ดินเป็นสิ่งที่เกิดมีขึ้นก่อนหน้าปัจจัยอื่นๆ และเป็นสิ่งจำเป็นอันจะขาดเสียมิได้ในการผลิต
กล่าวคือ ที่ดินเป็นแหล่งที่ให้ทรัพยากรธรรมชาติสำหรับเปลี่ยนแปลงให้เป็นเศรษฐทรัพย์
ปัจจัยการผลิตที่ 2-3 คือ แรงงานและทุน จะต้องอาศัยตั้งอยู่บนที่ดิน และทำการผลิตบนที่ดิน
มนุษย์เราจะมีชีวิตอยู่มิได้ถ้าปราศจากเสียซึ่งที่ดิน
. . . . . . . . . . . . . .
. . . . . . . . . . . . . .
“คำว่า ‘ที่ดิน’ นี้หมายเฉพาะถึงบรรดาสิ่งซึ่งมีอยู่ตามธรรมชาติ มิได้ใช้แรงงานของมนุษย์กระทำขึ้น
กล่าวคือ ยังไม่มีเรื่องการใช้แรงงานของมนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้อง
(แต่เศรษฐทรัพย์ซึ่งผลิตขึ้นด้วยแรงงานมนุษย์ เมื่อเสื่อมสภาพแล้วจะกลับกลายคืนสู่ความเป็น ‘ที่ดิน’ ดังเดิม)

“สาเหตุที่เราเอา ‘ทรัพยากรธรรมชาติ’ และ ‘ที่ว่าง’ มารวมอยู่ในคำว่า ‘ที่ดิน’
ก็เพราะทรัพยากรธรรมชาตินั้นส่วนมากอยู่บนที่ดินหรือในพื้นดิน
ซึ่งผู้ที่จะใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติได้ก็คือ ผู้มีสิทธิเข้าถึง หรือ คือมีสิทธิครอบครอง
หรือสิทธิใช้ที่ดินในบริเวณนั้น ๆ ซึ่งรวมทั้งที่ว่างเหนือขึ้นไปในอากาศ และต่ำลงไปใต้ดินด้วย
เนื้อดินเองก็เป็นทรัพยากรธรรมชาติอันหนึ่ง ซึ่งเราใช้ประโยชน์ได้ เช่นเพื่อการเพาะปลูก เป็นต้น

“ในชั้นนี้จะไม่พูดถึงปัญหาทะเล หรืออวกาศ ซึ่งรวมอยู่ในคำว่า ‘ที่ดิน’ ด้วย
เพราะจะทำให้เกิดความยุ่งยากซับซ้อนมากเกินไป” [4]

นิยามศัพท์ “ที่ดิน” นี้โปรดสังเกตจาก “คำนำของผู้แปล” ใน Progress and Poverty ด้วย -
“ความแตกต่างระหว่าง ‘ทุน’ ซึ่งมนุษย์สร้างขึ้น กับ ‘ทุนที่เป็นของธรรมชาติ’ (ตามที่ดูว่าจะนิยมเรียกกันมากขึ้นเรื่อยๆ) คือ ‘ที่ดิน’ (ซึ่งนิยามว่ารวมถึงแร่ เชื้อเพลิงจากฟอสซิลหรือซากดึกดำบรรพ์ คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า วงโคจรดาวเทียม เวลา – เช่นการแบ่งช่วงเวลาลงสู่พื้นท่าอากาศยาน และทรัพยากรอื่น ๆ ที่มีในธรรมชาติ)” [5]

จาก Progress and Poverty หน้า 252-254
(ตอนท้ายของ ภาค 4 บทที่ 3 ผลของความก้าวหน้าทางวิทยาการต่อการวิภาคเศรษฐทรัพย์) :-

“ . . . . สิ่งที่ข้าพเจ้าต้องการให้เข้าใจกันแจ่มแจ้งก็คือ ถึงแม้จำนวนประชากรจะไม่เพิ่มขึ้น
ความก้าวหน้าในการค้นคิดประดิษฐ์ก็มีแนวโน้มที่จะทำให้เจ้าของที่ดินได้รับผลผลิตไปเป็นสัดส่วนมากขึ้นเสมอ
และทำให้แรงงานและทุนได้รับส่วนแบ่งน้อยลง ๆ

“และโดยที่เราไม่สามารถจะกำหนดขอบเขตจำกัดให้แก่ความก้าวหน้าในการค้นคิดประดิษฐ์ได้
เราก็ไม่สามารถจะกำหนดขอบเขตจำกัดให้แก่การเพิ่มค่าเช่าได้ นอกจากผลผลิตทั้งสิ้น
เพราะว่าถ้าการประหยัดแรงงานดำเนินต่อไปจนกระทั่งถึงจุดที่สมบูรณ์ที่สุด
และไม่จำเป็นจะต้องใช้แรงงานในการผลิตเศรษฐทรัพย์ต่อไปแล้ว
เราก็จะได้รับทุกสิ่งที่โลกจะสามารถให้ได้โดยไม่ต้องใช้แรงงานเลย
และขอบริมแห่งการผลิตจะถูกขยายออกไปถึงระดับที่เป็นศูนย์
ค่าแรงจะเป็นศูนย์ และดอกเบี้ยจะเป็นศูนย์
ในขณะเดียวกันค่าเช่าก็จะได้รับทุกสิ่งทุกอย่างที่ผลิตขึ้นมา
เพราะว่าเมื่อเจ้าของที่ดินสามารถจะได้รับเศรษฐทรัพย์ทั้งสิ้นเท่าที่จะสามารถหาได้จากธรรมชาติ
โดยไม่ต้องใช้แรงงานแล้ว แรงงานหรือทุนก็จะไม่มีประโยชน์เลย
และไม่มีทางเป็นไปได้ที่ทั้งสองสิ่งนี้จะเรียกร้องเอาส่วนแบ่งจากเศรษฐทรัพย์ที่ผลิตขึ้นมา
และไม่ว่าจำนวนประชากรจะมีน้อยเพียงไร
ถ้ายังคงมีผู้ที่มิใช่เจ้าของที่ดินอยู่แล้ว ก็จะขึ้นอยู่กับอารมณ์หรือความกรุณาของเจ้าของที่ดิน –
บุคคลเหล่านี้จะถูกเลี้ยงไว้เพื่อความหรรษาของเจ้าของที่ดิน หรือไม่ก็ด้วยความโอบเอื้อของเจ้าของที่ดิน
ในฐานะยาจก

“จุดแห่งการทุ่นแรงงานที่สมบูรณ์เช่นนี้อาจจะอยู่ห่างไกลมากหรืออาจจะไม่มีวันไปถึงได้เลย
แต่ก็เป็นจุดที่การค้นคิดประดิษฐ์กำลังมีแนวโน้มเข้าไปหาอยู่ทุกขณะ . . . .
ดูเหมือนว่าเครื่องทุ่นแรงงานเหล่านี้จะเป็นสิ่งเลวร้ายในตัวเอง
และเราจะได้ยินคนพูดกันถึงเรื่องงาน
ราวกับว่าความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อเป็นสิ่งที่น่าปรารถนาในตัวเอง
. . . . . . . . . . . . . .
. . . . . . . . . . . . . .
“. . . . ความเจริญก้าวหน้าซึ่งทำให้ค่าเช่าสูงขึ้นนั้น
มิใช่จะมีแต่ความเจริญก้าวหน้าที่เพิ่มความสามารถในการผลิตโดยตรงเท่านั้น
แต่รวมถึงความเจริญก้าวหน้าในการปกครอง มารยาท และศีลธรรม
ซึ่งเพิ่มความสามารถในการผลิตโดยทางอ้อมด้วย
เมื่อพิจารณาว่าเป็นพลังทางวัตถุ ผลของสิ่งต่าง ๆ ทั้งหมดนี้ก็คือจะเพิ่มความสามารถในการผลิตขึ้น
และเช่นเดียวกับความเจริญก้าวหน้าในวิทยาการในการผลิต
ผลประโยชน์ของสิ่งเหล่านี้ย่อมจะถูกผู้ครอบครองที่ดินผูกขาดเอาไปในที่สุด . . . . ” [6]

ผลเสียที่ร้ายแรงใหญ่หลวง คือ การเก็งกำไรสะสมเก็บกักที่ดิน
ทำให้มีที่ดินที่ไม่ได้ทำประโยชน์หรือทำประโยชน์น้อยไปกระจายอยู่ทั้งในเมืองและนอกเมือง
และค่าเช่า/ราคาที่ดินยิ่งมีราคาสูง ซึ่งยิ่งลดผลตอบแทนต่อผู้ลงแรงและผู้ลงทุน
และเป็นการเบียดคนจนออกไปจากโอกาสที่จะเป็นเจ้าของที่ดิน
ต้องเช่าที่ดินคนอื่นเป็นที่พักอาศัยและที่ทำกินโดยเสียค่าเช่าแพง
ซ้ำยังต้องเสียภาษีทางอ้อมเมื่อซื้อของกินของใช้และสินค้าทุนสำหรับทำงานหาเลี้ยงชีวิต

การเก็งกำไรสะสมเก็บกักที่ดินยังมีผลถ่วงการผลิตอย่างมากด้วย
คือหาที่ดินทำกินได้ยาก ทำให้แรงงานและทุนหางานทำได้ยากขึ้น
ต้องว่างงาน ค่าแรงต่ำ คนจนยิ่งช่วยเหลือตนเองได้น้อยลงไปอีก
กลายเป็นเหยื่อแก่นายทุนเงินกู้และนายทุนผู้จ้างอีกต่อหนึ่งโดยง่ายดาย
และยังทำให้ต้องสิ้นเปลืองภาษีเป็นค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างสาธารณูปโภคขยายออกไปนอกเมือง
เพื่อบริการผู้คนที่สู้ราคาที่ดินในเมืองไม่ไหวต้องออกไปหาที่พักอาศัยห่างเมือง

นอกจากนั้นยังทำให้วัฏจักรเศรษฐกิจแกว่งตัวขึ้นลงรุนแรง ก่อความเสียหายใหญ่หลวงทั่วระบบเศรษฐกิจ

ทั้งหมดนั้นแก้ได้โดยทำให้ที่ดินเป็นของส่วนรวมร่วมกันด้วยระบบภาษีเดี่ยวจากมูลค่าที่ดินแบบค่อยเป็นค่อยไป.


เชิงอรรถ
[1] ความก้าวหน้ากับความยากจน – //geocities.com/utopiathai/ProgressAndPoverty หน้า 296
[2] ความก้าวหน้ากับความยากจน หน้า 224
[3] ความก้าวหน้ากับความยากจน หน้า 288
[4] ความยากจนที่ไม่เป็นธรรม – //geocities.com/utopiathai/UnjustPoverty หน้า 7
[5] ความก้าวหน้ากับความยากจน หน้า ix - x (คำนำของผู้แปล)
[6] ความก้าวหน้ากับความยากจน หน้า 252-254




 

Create Date : 30 กันยายน 2550    
Last Update : 1 ตุลาคม 2550 12:52:31 น.
Counter : 903 Pageviews.  

รัฐสวัสดิการจะดีต้องไม่ใช่ภาษีก้าวหน้า

รัฐสวัสดิการจะดีต้องไม่ใช่ภาษีก้าวหน้า

พจนานุกรมศัพท์เศรษฐศาสตร์ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 7 พ.ศ.2546 โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีคณะผู้เขียน 11 ท่านรวมทั้งบรรณาธิการเอง (คืออาจารย์วันรักษ์ มิ่งมณีนาคิน) อธิบายคำ รัฐสวัสดิการ (welfare state) ไว้ว่า

“เป็นแนวคิดที่ประเทศทุนนิยมนำมาใช้ โดยรัฐจัดให้มีการประกันความมั่นคงให้แก่ประชาชนอย่างกว้างขวางและเป็นระบบ การประกันดังกล่าวเป็นการให้เปล่าหรือเกือบให้เปล่า เช่น การศึกษา การรักษาพยาบาล การสงเคราะห์มารดาและทารก การสงเคราะห์เด็กกำพร้า คนชราและคนพิการ การให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ตกงาน และการฌาปนกิจ เป็นต้น นั่นคือการให้ความมั่นคง ‘จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน’ (from the cradle to the grave) (เป็นชื่อบทความหนึ่งของ ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์)

“รัฐสวัสดิการจะมีการแทรกแซงทางเศรษฐกิจจากรัฐ โดยจัดให้มีการกระจายรายได้ด้วยการเก็บภาษีรายได้อัตราก้าวหน้าสูง การดำเนินกิจการผลิตสินค้าและบริการที่สำคัญโดยรัฐ ในด้านการเมืองการปกครองมีพรรคการเมืองมากกว่าหนึ่งพรรค และมีการเลือกตั้งทั่วไป ประเทศที่นำแนวคิดรัฐสวัสดิการมาใช้เป็นครั้งแรกได้แก่สหราชอาณาจักร โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลพรรคแรงงาน ระหว่าง ค.ศ.1945-1951 [สิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ค.ศ.1945 - ผู้เขียน] นอกจากนี้มีประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย ยุโรปตะวันตก ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา และสหรัฐอเมริกา ประเทศเหล่านี้นำมาใช้มากบ้างน้อยบ้างต่างกันไป พวกอนุรักษ์มักโจมตีรัฐสวัสดิการว่าเป็น ‘รัฐสังคมสงเคราะห์’ เป็นการบั่นทอนแรงจูงใจ ทำลายความคิดริเริ่มของเอกชน ขาดความรับผิดชอบทางการคลัง ส่วนพวกมาร์กซิสต์ที่นิยมการปฏิวัติก็โจมตีรัฐสวัสดิการว่า เป็นการยืดอายุของทุนนิยมที่กำลังร่อแร่ให้พ้นจากวาระสุดท้าย เป็นการถ่วงเวลาในการปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพ”

[ทำนองเดียวกัน Karl Marx ก็เรียกแนวคิดภาษีเดี่ยวซึ่งเก็บจากที่ดินของ Henry George ว่าเป็น ‘ที่มั่นด่านสุดท้ายหรือการต่อสู้ดิ้นรนเฮือกสุดท้ายของลัทธินายทุน’ (Capitalism's Last Ditch) ด้วย แต่พวกทุนนิยมจำนวนมากกลับเรียกว่าเป็น ‘สังคมนิยม’ - ผู้เขียน]

เมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ.2549 หนังสือเนชั่นสุดสัปดาห์มีรายงานพิเศษ โดย นภาพร แจ่มทับทิม เรื่อง 'รัฐสวัสดิการ' ที่แท้จริง สังคมต้องเมตตาต่อผู้คน ได้ให้ข่าวว่าในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อต้นปี 2548 มีการเปิดตัวพรรคทางเลือกที่สาม อย่างพรรคมหาชน ภายใต้แนวคิดรัฐสวัสดิการนิยมก้าวหน้า และเมื่อ 25 พ.ค.49 ณ ห้องประชุม 12 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการจัดสัมมนาเรื่อง “รัฐสวัสดิการกับการปฏิรูปการเมืองไทย” โดยมีอาจารย์ นักวิชาการ รวมทั้งนักศึกษาเข้าร่วมสัมมนาเป็นจำนวนมาก (จากเรื่อง นักวิชาการแนะรัฐสวัสดิการคือสิ่งที่รัฐพึงให้ประชาชนอย่างเท่าเทียม ที่ //www.thaimisc.com/freewebboard/php/vreply.php?user=midnightuniv&topic=13127 โดยอ้าง บทความประชาธรรม และบทความที่ //www.parliament.go.th/news/news_detail.php?prid=7709) สรุปเรื่องที่เกี่ยวข้องกับนโยบายภาษีได้ดังนี้

รศ.สุชาย ตรีรัตน์ ซึ่งกล่าวนำการอภิปรายกล่าวถึงเรื่องภาษีว่าควรจะมีการใช้ครรลองของกฎหมายเกิดขึ้นใหม่ เช่น การเปลี่ยนแปลงของระบบภาษี เพื่อให้เกิดความชอบธรรมระหว่างคนรวยกับคนจน โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษีก้าวหน้าคนรวย

รศ.แล ดิลกวิทยรัตน์กล่าวว่า การจัดระบบสวัสดิการต้องคิดบนฐานของความคิดที่มองคนเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่ทุน เพราะหากเอาทุนเป็นตัวตั้งจะเป็นการขัดขวางกระบวนการสะสมทุน

อาจารย์ใจ อึ๊งภากรณ์เห็นว่า รายได้ในการสร้างรัฐสวัสดิการต้องมาจากการเก็บภาษีก้าวหน้า

[พจนานุกรมที่ผมอ้างไว้บรรทัดแรกของบทความนี้ก็บอกว่า “รัฐสวัสดิการจะมีการแทรกแซงทางเศรษฐกิจจากรัฐ โดยจัดให้มีการกระจายรายได้ด้วยการเก็บภาษีรายได้อัตราก้าวหน้าสูง”]

จอน อึ๊งภากรณ์ อดีต ส.ว. กทม. คณะอนุกรรมการวุฒิสภา ที่ศึกษาเรื่องหลักประกันทางสังคม ได้กล่าวว่า

"เรายังอยู่ในโลกที่มองการแก้ปัญหาทางสังคมเป็นลักษณะการช่วยคนที่เป็นปัจเจก เป็นรายคนไป มากกว่าเป็นระบบ แล้วเรายังมองว่า รัฐสวัสดิการเหมือนเป็นความเมตตาที่สังคมมีต่อคน มากกว่าเป็นเรื่องหน้าที่ของรัฐที่จะต้องประกันให้ทุกคน ให้การแบ่งปันทรัพยากรของประเทศนั้นมีความยุติธรรม และรัฐมีหน้าที่ดูแลให้ทุกคนเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นต่อการมีชีวิตอยู่ ผมว่าสิ่งนี้ยังเป็นเรื่องที่คนยังมองไม่เป็นเอกภาพ เป็นสิ่งที่เราต้องพยายามผลักดัน”

ข้อความที่อาจารย์จอนพูด (ซึ่งผมเห็นว่าเป็นจุดเด่น) คือ “ส่วนรูปแบบของรัฐสวัสดิการ ที่ต้องสร้างกลไกเพื่อให้เกิดการปฏิบัติคือ การประกันการว่างงาน โดยต้องเริ่มที่การปฏิรูปที่ดิน”

สำหรับผมแล้วการปฏิรูปที่ดินเป็นเรื่องสำคัญมากที่สุดเรื่องหนึ่ง แต่สามารถทำได้ดีโดยไม่ต้องปฏิรูปกรรมสิทธิ์ที่ดินหรือจัดสรรที่ดินให้คนจนให้เป็นภาระเพิ่มขึ้นแก่รัฐและเพิ่มโอกาสคอร์รัปชันแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ขอเพียงปฏิรูปภาษี โดยค่อยๆ เพิ่มภาษีที่ดินพร้อมกันไปกับการเลิกภาษีอื่นๆ ทดแทนกัน ก็จะเป็นการเพิ่มเสรีภาพและความยุติธรรมให้แก่ราษฎรได้อย่างดี และทำให้ทุกคนเป็นเจ้าของที่ดินร่วมกันโดยเท่าเทียม คือเก็บภาษีที่ดินมาใช้เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของทุกคน ใครถือครองที่ดินก็จ่ายภาษีที่ดินมากน้อยตามแต่มูลค่าของที่ดินที่ถือครอง

ที่สำคัญ ผมเชื่อว่าระบบภาษีที่ดินที่ใช้พร้อมกับการยกเลิกภาษีอื่นๆ ตามแนวคิดของเฮนรี จอร์จจะกลับบรรเทาภาระด้านสวัสดิการที่รัฐจะต้องแบกรับลงได้มหาศาล เพราะมีคนจำนวนมากถึงกับเรียกแนวคิดของเฮนรี จอร์จว่า Economics of Abundance แทนที่ Economics of Scarcity หรือ Dismal Science แห่งยุคปัจจุบัน อุปสรรคใหญ่ของระบบภาษีที่ดินอยู่ที่ผู้มีอำนาจซึ่งต้องการรักษาประโยชน์รักษาสถานะเจ้าของที่ดินของพวกตนไว้ จุดนี้จะแก้ได้เมื่อภาคประชาชนมีความรู้เรื่องนโยบายภาษีและที่ดินดีพอ

ภาษีเงินได้แบบก้าวหน้าคือการลงโทษคนขยันและมีประสิทธิภาพ เป็นภาษีที่โดนใจพวกขี้อิจฉา ก็รู้ๆ กัน อยู่ว่าใครผลิตสินค้าและบริการเอามาแลกเปลี่ยนซื้อขายกับคนอื่นได้มากเพราะคนที่เขาค้าขายด้วยได้ประโยชน์ (ถ้าเสียประโยชน์เขาก็ไม่ค้าขายด้วย) อย่าใช้วิธีตีคลุมเหมาเอาว่าผู้ค้าได้กำไรมากเพราะการใช้เล่ห์เหลี่ยมทุจริตไปเสียทุกคน มีภาษิตอยู่ว่าปล่อยคนผิดสิบคนดีกว่าลงโทษผู้บริสุทธิ์เพียงคนเดียว การแลกเปลี่ยนค้าขายเป็นการร่วมมือแบบแบ่งงานกันทำก่อให้เกิดการแยกกันเก่งเฉพาะด้าน มีผู้ชำนาญการในสาขาต่างๆ มากมาย เกิดความอยู่ดีกินดีและอารยธรรมความเจริญแก่ส่วนรวมด้วย รัฐบาลเองต่างหากต้องตามให้ทันในการแสวงประโยชน์ของผู้ค้าส่วนที่ไม่สุจริต

ภาษีเงินได้จากการทำงานและการลงทุนยิ่งมีอัตราสูงยิ่งทำลายความร่วมมือแบบแบ่งงานกันทำ (คือทำลายความเจริญ) และไม่ยุติธรรมเพราะเป็นการเอาจากปัจเจกชนไปให้แก่ผู้อื่น

ภาษีเงินได้เป็นหลักคิดที่ตรงข้ามกับภาษีที่ดิน เพราะที่ดินไม่ได้เกิดจากการลงแรงลงทุนผลิต และมูลค่าของที่ดินส่วนใหญ่ (โดยเฉพาะที่ดินย่านชุมชนซึ่งมีราคาสูง) เกิดจากกิจกรรมของส่วนรวมที่แยกไม่ออกว่าเป็นของคนไหนเท่าไร และภาษีที่เก็บเอาไปสร้างสิ่งสาธารณูปโภค แต่ที่แน่ๆ คือมูลค่าที่ดินไม่ได้เกิดจากบุคคลในฐานะเจ้าของที่ดิน (ยกเว้นการเก็งกำไรที่ดิน) เจ้าของที่ดินอาจลงแรงลงทุนก่อสร้างและทำการผลิตหรือค้าในที่ดินของตนเอง แต่ที่ทำเช่นนั้นเขาทำในฐานะผู้ลงแรงและหรือผู้ลงทุนต่างหาก ซึ่งเขาควรได้รับผลตอบแทนจากการลงแรงหรือลงทุนของเขาเต็มที่ ส่วนประโยชน์จากมูลค่าที่ดินควรเป็นของส่วนรวม (ไม่ใช่เอาที่ดินมาแบ่งกันเพราะที่ดินมีมูลค่าแตกต่างกันตามตำบลที่และจะต้องแบ่งกันไม่รู้จบเพราะคนในครอบครัวมีตายมีเกิดทำให้จำนวนเปลี่ยนแปลงเรื่อยๆ) แต่เมื่อเราเคยชินมานานกับระบบปัจจุบัน ก็ต้องมีผ่อนสั้นผ่อนยาว ค่อยๆ เปลี่ยนแปลง คือค่อยๆ เพิ่มภาษีที่ดิน ขณะเดียวกันก็เลิก/ลดภาษีอื่นๆ ทดแทนกัน

ก็ต้องกล่าวซ้ำถึงผลดีของการเพิ่มภาษีที่ดินและลด/เลิกภาษีอื่นๆ (เช่น ภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งขณะนี้ไปลงที่ผู้ใช้แรงงานและผู้ลงทุน) ดังนี้

1) เกิดความยุติธรรมขั้นฐานราก รัฐบาลไม่ต้องผิดศีลข้ออทินนาทานเอาจากคนหนึ่งไปให้แก่อีกคนหนึ่ง เพราะประโยชน์หรือมูลค่าที่ดินไม่ได้เกิดจากเจ้าของที่ดิน แต่เกิดจากธรรมชาติและกิจกรรมของส่วนรวม

2) การเลิก/ลดภาษีเช่นนี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างมาก ซึ่งดีกว่าแบบของสหรัฐฯ ที่ทำมาหลายครั้งแล้ว แต่ก็ทำได้เพียงชั่วคราว มิฉะนั้นรัฐบาลจะเป็นหนี้มหาศาล เพราะไม่ได้เก็บค่าเช่าที่ดินมาชดเชย (ซึ่งการที่รัฐเก็บค่าเช่าที่ดินก็เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอีกแรงหนึ่ง)

3) ราคา/ค่าเช่าที่ดินจะลด เพราะที่ดินจะไม่ถูกเก็งกำไรเก็บกักปิดกั้นไว้ แต่จะเปิดออกเพื่อหาประโยชน์ให้คุ้มกับการเสียค่าเช่าให้รัฐ รวมทั้งให้เช่า หรือทำประโยชน์เอง หรือมิฉะนั้นก็ขายให้แก่ผู้ที่เห็นทางทำประโยชน์ การทำประโยชน์ก็มักต้องหาคนมาทำงานให้ เจ้าของที่ดินต่างคนต่างต้องทำอย่างนี้ ก็เกิดแข่งขันกันเอง การว่างงานจะลด ค่าแรงจะเพิ่ม ผลตอบแทนต่อการใช้ทุนก็เพิ่ม

4) ซ้ำแรงงานและทุนไม่ต้องเสียภาษีทางตรงจำพวกภาษีเงินได้ หรือเสียน้อย จึงมีรายได้สุทธิเพิ่ม

5) สินค้าจะมีราคาถูก เพราะการลดภาษีทางอ้อมจำพวกภาษีมูลค่าเพิ่ม อากรสรรพสามิต และอากรขาเข้า ความสามารถแข่งขันกับต่างประเทศจะสูงขึ้นด้วย และต่างชาติจะนิยมมาลงทุนและเที่ยวรวมทั้งซื้อสินค้าในไทย แบบฮ่องกง สิงคโปร์

6) เกิดความคล่องตัวในการย้ายถิ่นฐาน เพราะทั้งที่ดินและบ้านจะมีราคา/ค่าเช่าถูกลง และหาได้ง่ายขึ้น ที่ดินในเมืองจะได้รับการใช้ประโยชน์มากขึ้น มีบ้าน แฟลต คอนโดให้เช่ามากขึ้น ค่าเช่าต่ำลง ปัญหาการเดินทางเช้าเข้าเมืองเย็นกลับออกนอกเมืองที่ติดขัดอัดแอเสียเวลามากจะบรรเทาลง ปัญหาแหล่งเสื่อมโทรมหรือชุมชนแออัดในเมืองจะบรรเทาลงเช่นเดียวกัน

7) กรณีพิพาทขัดแย้งแย่งกรรมสิทธิ์ที่ดินจะลดลงมากโดยอัตโนมัติ (ถ้ารัฐเก็บค่าเช่าที่ดินเท่าค่าเช่าศักย์ ราคาที่ดินจะเป็นศูนย์หรือเกือบศูนย์ คนเราจะเลือกซื้อหาที่ดินได้ง่าย แม้ราคาที่ดินจะเป็นศูนย์ เอาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันไม่ได้ แต่การซื้อขายที่ดินเองก็ราคาต่ำจนไม่น่าต้องกู้ยืมแล้ว และก็จะทำให้คนเรากู้หนี้เพื่อลงทุนอย่างอื่นเกินตัวไม่ได้ ถูกหลักเศรษฐกิจพอเพียง)

ท้ายสุด Utopia หรือสังคมอุดมคติของผมคือ สังคมที่เป็นธรรมและอยู่ดีมีสุข หางานทำง่าย ค่าแรงกายแรงสมองสูงโดยไม่ต้องใช้กฎค่าจ้างขั้นต่ำ ไม่มีภาษีจากแรงงาน-ทุน ส่วนที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติเป็นสิทธิร่วมกัน รับรู้สิทธิเท่าเทียมกันของผู้อื่น โดยการจ่ายค่าเอกสิทธิ์สัมปทาน ค่าถือครองที่ดิน ค่าใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ค่าถ่ายเทของเสียออกสู่โลก ซึ่งจะทำให้เกิดการประหยัดทรัพยากรธรรมชาติ การนำกลับมาใช้ใหม่ และระบบกำจัดของเสียที่มีประสิทธิภาพ อันจะทำให้โลกเป็นที่อยู่ที่ทำกินได้ยั่งยืนต่อไป

(ขอเชิญดูเรื่องเกี่ยวข้องได้ที่ //geocities.com/utopiathai ครับ)




 

Create Date : 13 กันยายน 2550    
Last Update : 13 กันยายน 2550 23:47:56 น.
Counter : 746 Pageviews.  

วาทะของนักคิดเรื่องที่ดินและการกระจายรายได้

วาทะของนักคิดเรื่องที่ดินและการกระจายรายได้
(เรียงตามวันเดือนปีเกิด)

Confucius (ขงจื๊อ 551-479 BC): เมื่อมหามรรคามีชัย ก็มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างเต็มที่เพื่อทุกคน โดยไม่มีการถือเอาไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว . . . นี่คือยุคแห่งทรัพย์สินร่วมกันอันยิ่งใหญ่แห่งสันติภาพและความรุ่งเรือง [1]

Plato (427-347 BC): เมื่อมีภาษีเงินได้ ผู้ที่ยุติธรรมจะจ่ายมากกว่า และผู้ไม่ยุติธรรมจะจ่ายน้อยกว่า สำหรับรายได้จำนวนเท่ากัน [2]

Aristotle (384-322 BC): ที่ดินทั้งหมด (ของ Attica) อยู่ในมือของคนไม่กี่คน และถ้าผู้เพาะปลูกไม่ได้จ่ายค่าเช่าที่ดิน เขาก็อาจถูกพันธนาการหรือกลายเป็นทาส [3]

Pliny the Elder (23-79 AD): การผูกขาดที่ดินนำหายนะมาสู่โรม [3]

Pope Saint Gregory the Great (540-604 AD): แผ่นดินโลกเป็นทรัพย์สินร่วมกันของทุกคน . . . . ผู้ถือเอาของขวัญจากพระเจ้าเป็นทรัพย์สินส่วนตัวแสร้งทำโดยไร้ผลว่าตนเป็นผู้สุจริต . . . . เพราะโดยครอบครองเครื่องหาเลี้ยงชีพของคนจนดังนี้ พวกเขาคือฆาตกรสำหรับผู้ซึ่งตายทุกวันเพราะความขาดแคลนสิ่งนั้น [4]

John Locke (1632-1704): แผ่นดินเป็นสิทธิเก็บกินของผู้มีชีวิตและถูกประทานมาเป็นสมบัติร่วมกันสำหรับมนุษย์อยู่อาศัยและทำงาน [5]

Baruch Spinoza (1632-1677): ที่ดินทั้งหมดควรเป็นทรัพย์สินสาธารณะ [3]

William Penn (1644-1718): ถ้าทุกคนเป็นผู้เช่าที่ดินสาธารณะและมีการนำธัญญาหารส่วนเกินและการใช้จ่ายส่วนเกินไปให้แก่ส่วนที่ขาด ก็จะไม่ต้องมีการเก็บภาษีต่าง ๆ อีกต่อไป [3]

Voltaire (1694-1778): ผลแห่งแผ่นดินคือมรดกร่วมกันของทุกคน ซึ่งทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน [1]

Jean Jacques Rousseau (1712-1778): จะเป็นอันหมดหวังสำหรับท่านถ้าท่านลืมว่าผลแห่งแผ่นดินเป็นของเราทุกคน และแผ่นดินเองมิใช่ของใคร ๆ [1]

Mirabeau the Elder (1715-1789): การใช้ระบบภาษีที่ดินจะเป็นความก้าวหน้าทางสังคมเทียบได้กับการคิดประดิษฐ์ด้านการเขียนและเงินตรา [6]

Adam Smith (1720-1790): ทั้งค่าเช่าที่ดินที่ตั้งอาคารและค่าเช่าที่ดินเกษตรต่างเป็นรายได้ชนิดที่ส่วนมากเจ้าของได้รับโดยตนเองมิต้องเอาใจใส่หรือสนใจ ถึงแม้จะเก็บเอาส่วนหนึ่งของรายได้นี้จากเจ้าของมาเป็นค่าใช้จ่ายของรัฐก็จะไม่ทำให้เกิดการท้อถอยแก่อุตสาหกรรมชนิดใด ๆ . . . . ดังนั้นค่าเช่าที่ดินที่ตั้งอาคารและค่าเช่าที่ดินเกษตรอาจเป็นรายได้ชนิดที่สามารถจะเก็บภาษีเป็นพิเศษได้ดีที่สุด [1]

Thomas Paine (1737-1809): มนุษย์มิได้สร้างแผ่นดิน . . . นั่นคือมูลค่าของการปรับปรุงเท่านั้น และมิใช่แผ่นดินเองที่เป็นทรัพย์สินของแต่ละบุคคล . . . เจ้าของที่ดินทุกคนเป็นหนี้ค่าเช่าต่อชุมชนสำหรับที่ดินที่เขาถือครอง . . . จากค่าเช่าที่ดินนี้ . . . ข้าพเจ้า . . . เสนอ . . . ตั้งกองทุนแห่งชาติ ซึ่งจากกองทุนนี้จะจ่ายเงินจำนวนหนึ่งให้แก่ทุกคน [3]

Thomas Jefferson (1743-1826): แผ่นดินเป็นสิ่งประทานมาให้เป็นสมบัติร่วมกันสำหรับมนุษย์จะได้ทำงานและอยู่อาศัย . . . ถ้ามีที่ดินว่างเปล่าและมีคนจนที่ไม่มีงานทำไม่ว่าในที่ใดในแผ่นดินใด ก็ชัดเจนว่ากฎแห่งทรัพย์สินได้ถูกขยายออกมากไปจนละเมิดสิทธิโดยธรรมชาติ [1]

Simonde de Sismondi (1773-1842): โดยทั่วไปเมื่อไม่มีที่ดินว่างอีกแล้ว เจ้าของที่ดินก็จะมีอำนาจผูกขาดชนิดหนึ่งเหนือผู้อื่นในโลก [1]

John Stuart Mill (1806-1873): เจ้าของที่ดินรวยขึ้นขณะนอนหลับโดยไม่ต้องทำงาน เสี่ยง หรือ หาทางประหยัด การที่ที่ดินมีมูลค่าสูงขึ้น อันเนื่องมาจากการใช้ความพยายามของทั้งประชาคม ควรเป็นของประชาคม มิใช่เป็นของปัจเจกชนผู้ถือกรรมสิทธิ์ [1]

Pierre Joseph Proudhon (1809-1865): ตราบใดที่ยังมีการดำรงการผูกขาดที่ดิน จะมีไม่กี่คนที่สามารถเป็นเจ้าของสิ่งที่ธรรมชาติได้ให้เปล่าแก่ทุกคน และการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราจะแผ่ไปทั่วทั้งสังคม และเราจะมีธนาคาร ซึ่งแทนที่จะเป็นผู้รับใช้ในการแลกเปลี่ยนสินค้า จะกลายเป็นผู้ขู่กรรโชกที่ทรงอิทธิพล [3]

Abraham Lincoln (1809-1865): ที่ดิน แผ่นดินโลก ที่พระเป็นเจ้าประทานแก่มนุษย์เพื่อเป็นบ้าน เป็นหนทางยังชีพ และค้ำจุนเขา ไม่ควรกลายเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ใด บรรษัทใด สังคมใด หรือรัฐบาลอมิตรใด มากไปกว่าอากาศหรือน้ำ [1]

Karl Marx (1818-1883): การผูกขาดที่ดินคือมูลฐานแห่งการผูกขาดทุน [1]
: จากมุมมองของรูปแบบทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นของสังคม การให้เอกชนบางคนมีกรรมสิทธิ์ในแผ่นดินโลกเป็นความเฉาโฉด เหมือนกับการให้บุคคลหนึ่งมีกรรมสิทธิ์ในอีกบุคคลหนึ่ง แม้แต่สังคมหนึ่ง หรือแม้แต่ทุกสังคมรวมกัน ก็ไม่ใช่เจ้าของแผ่นดินโลก พวกเขาเป็นเพียงผู้ครอบครอง ผู้ใช้แผ่นดินโลก และจะต้องส่งต่อไปยังชนรุ่นหลัง ๆ ในภาวะที่ดีขึ้น เสมือนบิดาที่ดีของครอบครัว [3]

Herbert Spencer (1820-1910): สิทธิของแต่ละคนที่จะใช้ประโยชน์จากแผ่นดิน ซึ่งจำกัดก็แต่โดยสิทธิเช่นเดียวกันของเพื่อนมนุษย์นั้น สามารถจะพิสูจน์เชิงนิรนัยได้ทันทีจากกฎเสรีภาพเท่าเทียมกัน เราเห็นว่าการดำรงสิทธินี้ทำให้ต้องห้ามมิให้เอกชนมีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน [1]

Count Leo Tolstoy (1828-1910): วิธีที่มิต้องสงสัยเลยวิธีเดียวในการปรับปรุงฐานะของคนงาน ซึ่งในขณะเดียวกันก็เป็นไปตามพระประสงค์แห่งพระผู้เป็นเจ้าด้วย คือการปลดปล่อยที่ดินจากการยึดครองของเจ้าที่ดิน . . . . แผนการที่ยุติธรรมที่สุดและปฏิบัติได้ดีที่สุดในความเห็นของข้าพเจ้าคือแผนของเฮนรี จอร์จที่เรียกกันว่าระบบภาษีเดี่ยว [1]

Mark Twain (Samuel Langhorne Clemens 1835-1910): แผ่นดินโลกเป็นของประชาชน ข้าพเจ้าเชื่อคำสอนเรื่องภาษีเดี่ยว [1]

Henry George (1839-1897): เราเสนอให้ยกเลิกภาษีทุกชนิดยกเว้นภาษีอย่างเดียวที่คิดจากมูลค่าที่ดิน (land values) โดยไม่รวมมูลค่าของสิ่งปรับปรุง (improvements) [7]
: . . . วิธีแก้ไขง่าย ๆ แต่ได้ผลใหญ่หลวง ซึ่งจะยกค่าแรงขึ้นสูง เพิ่มผลตอบแทนของทุน กำจัดความข้นแค้น ยกเลิกความยากจน ทำให้มีงานรายได้ดีว่างสำหรับผู้ใดก็ตามที่ต้องการงานทำ ทำให้ไม่มีขอบเขตจำกัดพลังความสามารถของมนุษย์ ทำให้อาชญากรรมลดลง ยกระดับศีลธรรม รสนิยม และสติปัญญา ทำให้การปกครองบริสุทธิ์หมดจดขึ้น และทำให้อารยธรรมเจริญสูงส่งยิ่งขึ้น [8]
: . . . ในบรรดาภาษีทั้งหลาย ภาษีมูลค่าที่ดินมีคุณสมบัติครบถ้วนที่สุดตามข้อกำหนดแห่งภาษีที่ดี โดยที่ที่ดินนั้นไม่สามารถซ่อนเร้นหรือพาหนีไปได้ ภาษีที่ดินจึงสามารถประเมินได้แน่นอนกว่า และเก็บได้ง่ายกว่าโดยสิ้นเปลืองน้อยกว่าภาษีอื่น ๆ ขณะเดียวกันก็ไม่มีผลถ่วงการผลิตหรือลดแรงจูงใจในการผลิตเลย ที่จริงแล้วมันเป็นภาษีเพียงในรูปแบบ แต่โดยสภาพแล้วมันคือค่าเช่าที่ดิน – คือส่วนที่เก็บจากมูลค่าอันมิได้เกิดจากความพยายามของแต่ละบุคคล แต่เกิดจากการเจริญเติบโตของประชาคม เพื่อนำมาใช้ประโยชน์สำหรับประชาคม เพราะสิ่งที่เจ้าของหรือผู้ใช้ที่ดินแต่ละคนทำนั้นมิได้ไปทำให้ที่ดินมีมูลค่าขึ้น มูลค่าที่แต่ละคนก่อคือมูลค่าที่เกิดกับสิ่งปรับปรุง มูลค่านี้ ซึ่งเป็นผลแห่งการใช้ความพยายามของแต่ละบุคคล ย่อมเป็นของแต่ละบุคคลโดยชอบ [9]

Daniel C. Beard (1850-1941): ข้าพเจ้าเชื่อในเฮนรี จอร์จ . . . ข้าพเจ้าได้เป็นผู้ปฏิบัติงานเพื่ออุดมการณ์ภาษีเดี่ยวมาเป็นเวลานาน [1]

George Bernard Shaw (1856-1950): ค่าเช่าที่ดินทั้งหมดควรจ่ายเข้ากองทุนของส่วนรวมและใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ [3]

John Dewey (1859-1952): ข้าพเจ้าไม่อวดอ้างว่าวิธีแก้ไขของจอร์จคือยาครอบจักรวาลที่จะรักษาความป่วยไข้ทั้งหมดของเราได้ตามลำพัง แต่ข้าพเจ้าอวดอ้างว่าเราจะไม่สามารถขจัดความเดือดร้อนขั้นพื้นฐานทั้งหลายของเราได้ถ้าไม่ใช้วิธีนี้ [10]

David Lloyd George (1863-1945): เป็นการดีมากที่จะจัดทำร่างพระราชบัญญัติอาคารสงเคราะห์สำหรับชนชั้นแรงงาน แต่จะไม่มีประสิทธิผลจนกว่าท่านจะจัดการเรื่องภาษีมูลค่าที่ดินเสียก่อน [1]

Sun Yat-sen (1866-1925): คำสอนของเฮนรี จอร์จจะเป็นมูลฐานแห่งโครงการปฏิรูปของเรา . . . . [ภาษีที่ดิน] ในฐานะวิธีเดียวสำหรับสนับสนุนรัฐบาลเป็นภาษีที่ยุติธรรมอย่างยิ่ง มีเหตุผล และ กระจายตัวอย่างชอบธรรม และเราจะก่อตั้งระบบใหม่ของเราด้วยภาษีนี้ [1]

Lord Bertrand Russell (1872-1970): เป็นความจำเป็นที่ควรมีค่าเช่าที่ดิน แต่ค่าเช่าที่ดินนี้ควรจ่ายให้แก่รัฐหรือหน่วยที่ทำงานบริการสาธารณะ ถ้าค่าเช่าที่ดินทั้งหมดมีมากกว่าที่ต้องการเพื่อการนั้น ก็อาจจ่ายเข้ากองทุนร่วมกันและแบ่งให้ราษฎรเท่า ๆ กัน [1]

Winston Churchill (1874-1965): การผูกขาดที่ดินมิใช่การผูกขาดเพียงชนิดเดียว แต่ก็เป็นการผูกขาดที่ใหญ่หลวงที่สุด - เป็นการผูกขาดตลอดกาล และเป็นต้นกำเนิดของการผูกขาดอื่น ๆ ทุกรูปแบบ [1]

Albert Einstein (1879-1955): บุคคลเช่นเฮนรี จอร์จ หาได้ยาก ซึ่งนับว่าน่าเสียดาย ไม่มีใครที่จะนึกเห็นความแหลมคมทางปัญญา รูปแบบอันเป็นศิลปะ และความรักยุติธรรมอย่างรุนแรง ซึ่งจะผสมผสานกันอย่างงดงามกว่านี้ได้ [1]

Helen Keller (1880-1968): ท่านขอให้สตรีมีสิทธิออกเสียงลงคะแนน คะแนนเสียงสามารถจะทำให้อะไรดีขึ้นหรือในเมื่อที่ดินของบริเตนใหญ่ 10 ใน 11 ส่วนเป็นของคน 200,000 และเพียง 1 ใน 11 ส่วนเป็นของคนที่เหลือของ 40,000,000 ? บุรุษของท่านซึ่งมีคะแนนเสียงหลายล้านเสียงได้ปลดปล่อยตนเองจากความอยุติธรรมนี้แล้วหรือ ? [11]

Aldous Huxley (1894-1963): ถ้าบัดนี้ข้าพเจ้าจะเขียนหนังสือนี้ [Brave New World] ขึ้นใหม่ ข้าพเจ้าจะเสนอทางเลือกที่ 3 . . . ความเป็นไปได้ของความมีสติ เศรษฐศาสตร์จะเป็นแบบกระจายการและแบบเฮนรี จอร์จ [1]

Milton Friedman (1912-2006): ควรเก็บภาษีจากที่ดินให้มากเท่าที่จะมากได้และจากสิ่งปรับปรุงให้น้อยเท่าที่จะน้อยได้ [1]

William Vickrey (1914-1996): มัน [ภาษีมูลค่าที่ดิน] เป็นสิ่งประกันว่าจะไม่มีผู้ใดพรากสิทธิของเพื่อนพลเมือง โดยการแสวงหาส่วนแบ่งที่มากเกินควร ในสิ่งที่ธรรมชาติมอบให้แก่มนุษยชาติ [12]

Paul Samuelson (1915- ): ค่าเช่าที่ดินแท้ ๆ มีสภาพของ "ส่วนเกิน" ซึ่งอาจเก็บมาเป็นภาษีได้อย่างหนัก โดยไม่ทำให้พลังกระตุ้นการผลิต หรือประสิทธิภาพ บิดเบี้ยวไป [1]

Herbert Simon (1916-2001): ถ้าสมมุติว่ามีความจำเป็นต้องเพิ่มภาษี จะเห็นชัดว่าควรเพิ่มต้นทุนของที่ดิน โดยเพิ่มภาษีที่ดิน มากกว่าที่จะเพิ่มภาษีค่าจ้างเงินเดือน . . . การใช้ประโยชน์และการอยู่อาศัยในทรัพย์สินเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความจำเป็นต้องมีบริการต่าง ๆ ของเทศบาล ซึ่งปรากฏว่าเป็นรายการใหญ่ที่สุดในงบประมาณ - - ได้แก่ การป้องกันอัคคีภัยและการคุ้มครองจากตำรวจ การกำจัดสิ่งปฏิกูล และงานสาธารณะทั้งหลาย [1]

James Tobin (1918-2002): ข้าพเจ้าคิดว่า โดยหลักการ เป็นความคิดที่ดีที่จะเก็บภาษีจากที่ดินโดยไม่รวมสิ่งปรับปรุง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกำไรส่วนทุน (ลาภลอย) ที่ได้เพิ่ม ทฤษฎีกล่าวว่าเราควรพยายามเก็บภาษีจากสิ่งที่มีความยืดหยุ่นน้อยหรือเป็นศูนย์ ซึ่งรวมถึงทำเลด้วย [1]

Franco Modigliani (1918-2003): เป็นความสำคัญที่จะรักษาค่าเช่าที่ดินไว้เป็นแหล่งรายได้แหล่งหนึ่งของรัฐ บางคนที่สามารถจะใช้ประโยชน์ที่ดินได้เป็นเลิศอาจไม่สามารถหาเงินได้มากพอสำหรับราคาซื้อ การเก็บค่าเช่าเป็นรายปีจะช่วยให้ผู้ที่มีขีดจำกัดในการเข้าถึงสินเชื่อสามารถเข้าถึงที่ดินได้ [1]

Pope John Paul II (1920 –2005): การกระจุกตัวอย่างมากของกรรมสิทธิ์ที่ดินทำให้ควรมีการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร ไม่มีเหตุผลใด ๆ เลยที่จะมีการกระจุกตัวเช่นนั้น [3]

Robert Solow (1924- ): ผู้ใช้ที่ดินไม่ควรได้สิทธิ์ที่ไม่จำกัดระยะเวลาเพียงเพราะการจ่ายเงินครั้งเดียว เพื่อประสิทธิภาพ เพื่อให้มีรายได้เพียงพอ และเพื่อความยุติธรรม ผู้ใช้ที่ดินทุกคนควรจะต้องจ่ายเป็นรายปีให้แก่องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นเท่ากับมูลค่าของค่าเช่าในขณะนั้น สำหรับที่ดินซึ่งเขาทำให้ผู้อื่นหมดสิทธิที่จะใช้ [1]


เชิงอรรถ
[1] //cooperativeindividualism.org/georgism_01.html
[2] //quotationspage.com/quotes/Plato/40
[3] //progress.org/geonomy/thinkers.html
[4] //cooperativeindividualism.org/garrison-frank_on-the-single-tax.html
[5] //wealthandwant.com/themes/Usufruct.html
[6] //answersanswers.com/html/supporters.html
[7] //schalkenbach.org/library/george.henry/SingleTax.htm
[8] //geocities.com/utopiathai/PP-p395-429bk08.doc (หน้า 405-406)
[9] //econlib.org/library/YPDBooks/George/grgPFT26.html (ย่อหน้า 40)
[10] //progressandpoverty.org/quotes.htm
[11] //progress.org/archive/fourquo.htm
[12] //schalkenbach.org/library/SaratogaBatt.pdf (เชิงอรรถ 38: Vickrey)




 

Create Date : 25 สิงหาคม 2550    
Last Update : 26 สิงหาคม 2550 8:38:44 น.
Counter : 795 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  
 
 

สุธน หิญ
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




แก้ความอยุติธรรมขั้นฐานราก
ตามแนวเฮนรี จอร์จ
http://utopiathai.webs.com
เลิกภาษีการลงแรงลงทุนผลิตและค้า
เลิกภาษีเงินได้ เพิ่มภาษีที่ดิน
ค่อยๆ เปลี่ยนแปลง ใช้เวลาสัก 30 ปี


เปิดเว็บต่างแดนดูไม่ได้ ให้ google ช่วยหา free anonymous proxy server ของต่างประเทศซึ่งมีอยู่มากเพื่อเปิดให้แทนครับ (ในไทยอาจมีการปิดกั้นเว็บของต่างแดน เว็บย่อยที่คนไทยอาศัยใช้กันก็พลอยถูกปิด)

เว็บหลักของผม ยูโทเพียไทย_1
* หน้ารวมลิงก์ยูโทเพียไทย_1 *

หนังสือดีเด่นแปล Progress and Poverty หนังสือ ความยากจนที่ไม่เป็นธรรม และ บทความ ของผม ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ยินดีให้เผยแพร่ต่อด้วยความขอบคุณ ยกเว้นบทความแปลกรุณาอ่านเงื่อนไขจากต้นฉบับภาษาอังกฤษที่อ้างไว้ครับ


- ศัพท์เศรษฐศาสตร์ ดร.บุญเสริม
- ภาษีทรัพย์สินสหรัฐฯ
- ภาวะตลาดอสังหาฯ
- ภาวะตลาดที่อยู่อาศัย 2537-51
- ราคาที่ดินทั่วไทยรายแปลง
- สรุปราคาประเมินใน กทม.ปี 2551-54
- การเปลี่ยนแปลงราคาที่ดินใน กทม.และปริมณฑลปี 2528-50


[Add สุธน หิญ's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com
pantip.com pantipmarket.com pantown.com