|
 |
 |
 |
 |
|
ภาพยนตร์เรื่องสิ้นสุดความยากจน ?
ภาพยนตร์เรื่องสิ้นสุดความยากจน ? (จาก //povertythinkagain.com/files/about-the-film-the-end-of-poverty-a-word-from-our-sponsor/ )
มูลนิธิ Robert Schalkenbach ได้ร่วมกับ Cinema Libre Studio ผลิตภาพยนตร์เรื่อง The End of Poverty? โดยหวังว่าจะเกิดคำถามขึ้นหลายคำถามในใจของผู้ชม ท่านจะหากำหนดการฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ได้จาก //www.theendofpoverty.com
ความมุ่งหมายของมูลนิธิคือเพื่อแนะนำให้ผู้คนได้รู้จักกับความคิดของ Henry George นักเศรษฐศาสตร์และนักปฏิรูปสังคมในระยะปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ภาพยนตร์เริ่มด้วยคำถามที่เฮนรี จอร์จได้ถามเมื่อกว่าหนึ่งศตวรรษมาแล้ว คือ ทำไมความยากจนจึงกลายเป็นปัญหาหนักขึ้นในขณะที่สังคมเจริญรุ่งเรืองขึ้น นั่นคือปฏิทรรศน์หรือความขัดแย้ง (paradox) ขั้นพื้นฐานที่เฮนรี จอร์จกล่าวในหนังสือ Progress and Poverty ซึ่งขายได้หลายล้านเล่มและแปลเป็นภาษาต่าง ๆ กว่าสิบภาษา ถือกันว่าแนวคิดของเฮนรี จอร์จเป็นทางเลือกแนวมูลวิวัติหรือหัวรุนแรงเปลี่ยนถึงรากฐาน (radical) นอกจากแนวมาร์กซ์จนถึง ค.ศ. 1917
วิธีง่าย ๆ ที่จะอธิบายความคิดที่เป็นแกนกลางของจอร์จ คือกล่าวว่า การแยกคนรวยคนจนมักจะตรงกับการแบ่งระหว่างพวกที่เป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์และทรัพยากรธรรมชาติ กับพวกที่ไม่ใช่เจ้าของสิ่งเหล่านี้ ในประเทศที่กำลังพัฒนา คนรวยครอบครองที่ดินเกษตรและทรัพยากรแร่ ในประเทศที่พัฒนาแล้ว คนรวยครอบครองอสังหาริมทรัพย์ในย่านชุมชนเมือง (มีค่านับล้านล้านหรือ trillions ดอลลาร์) และหุ้นกับหุ้นกู้ของบรรษัทที่เป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ในเมืองหรือไม่ก็เหมืองแร่ คนจนจะทำงานรับจ้างคนรวยในระบบตลาดซึ่งทำให้คนจนยังยากจนต่อไปเพราะความเหลื่อมล้ำในกรรมสิทธิ์
ส่วนที่ 2 ของสารจากจอร์จคือคนรวยไม่เพียงแต่ครอบครองทรัพยากร พวกเขายังกักตุนโดยหวังว่าราคาจะสูงขึ้น ตัวอย่างคือการเฟื่องฟูและแฟบฟุบ (boom and bust) ของธุรกิจบ้านและที่ดินทั่วโลก ค.ศ. 2008-9 นี่เอง วัฏจักรนั้นเพิ่มความยากจน 3 ทาง 1. ทำให้บ้านและที่ดินมีราคาสูงเกินกำลังซื้อของคนจน 2. กระตุ้นให้เกิดการกักตุนแทนที่จะใช้อสังหาริมทรัพย์ 3. เพิ่มการว่างงานหลังจากธุรกิจหดตัวรุนแรง ความเดือดร้อนเกิดกับทุกคนในโลก แม้แต่ผู้อยู่ในชุมชนแออัดที่โด่งดังขึ้นมาจากการเป็นเศรษฐีชาวสลัม
ภาพยนตร์นี้แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างการกักตุนที่ดินกับความยากจน (และสิ่งที่ Miloon Kothari เรียกว่า ความรุนแรงทางอสังหาริมทรัพย์) อยู่บ้าง แต่โดยที่ภาพยนตร์นี้สร้างเสร็จก่อนฟองสบู่บ้านและที่ดินแตก จึงมิได้กล่าวถึงผลลัพธ์ของภัยพิบัตินั้น
ภาพยนตร์เรื่อง สิ้นสุดความยากจน ? ไม่ได้มุ่งที่เหตุการณ์ปัจจุบัน แต่ได้พิจารณาปัญหาเกี่ยวกับวิถีโคจรระยะยาวของโครงการต่อต้านความยากจนเพื่ออธิบายว่าทำไมโครงการเหล่านี้จึงล้มเหลว ผู้ดูจะเข้าใจได้ว่าปัญหาไม่ได้เกิดจากการขาดความสามารถส่วนตัวของคนจนดังที่ทัศนะแบบอนุรักษนิยมทัศนะหนึ่งต่อความยากจนอยากจะให้เราเชื่อเช่นนั้น แต่ตามประวัติศาสตร์ ความยากจนเกิดจากชาวนายุโรปถูกยึดที่ดิน ต่อมาก็มีการใช้นโยบายเดียวกันนี้ทั่วโลกด้วยลัทธิอาณานิคม ดินแดนที่ไม่ถูกล่าเป็นอาณานิคม เช่น รัฐเกรละ (Kerala) ของอินเดีย ยังมีความเท่าเทียมกันในกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินอยู่ในระดับสูงและไม่มีความยากจนของคนหมู่มากให้เป็นปัญหา
สภาพทางโครงสร้างก่อให้เกิดความยากจนในทุกประเทศ ทั้งประเทศร่ำรวยและประเทศยากจน แต่วิธีบังคับใช้ระบอบที่ก่อความยากจนในประเทศกำลังพัฒนานั้นปรากฏเห็นได้ชัดเจนกว่าในสหรัฐฯ หรือยุโรป โดยการตรวจสอบรากเหง้าของความยากจนในโลกที่ 3 ตามที่ภาพยนตร์เรื่องนี้กระทำ ปรากฏชัดว่าความยากจนเป็นผลจากความไม่เท่าเทียมกันในอำนาจ ลัทธิอาณานิคมและระบบทาสต้องอาศัยการมีพลังอำนาจทางทหาร เมื่อลัทธิอาณานิคมจบลงเป็นทางการ รัฐที่ได้เอกราชใหม่มีภาระหนักในเรื่อง 1. กฎหมายที่ดินซึ่งกำหนดให้ที่ดินรายใหญ่ยังอยู่ในมือของผู้มาตั้งถิ่นฐาน 2. หนี้สินระหว่างประเทศซึ่งตกทอดมาจากผู้ปกครองอาณานิคมและยังคงมีดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 3. การขาดดุลการค้า เพราะสินค้าส่งออกเป็นวัตถุดิบ แทนที่จะเป็นสินค้าประดิษฐกรรม
สัญญาความช่วยเหลือจากต่างประเทศและการพัฒนาเศรษฐกิจเท่าที่ผ่านมามักจะเป็นการหลอกลวงที่โหดร้าย ตราบเท่าที่ยังมีโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรมอยู่ ผลของการช่วยเหลือและการพัฒนาจะถูกสูบออกไปเป็นดอกเบี้ยสำหรับหนี้หรือเป็นผลประโยชน์พิเศษแก่อภิชนในท้องถิ่น ผลคือนับวันความยากจนยิ่งเลวร้ายลง
เฮนรี จอร์จเขียนหนังสือหลังจากสงครามกลางเมืองสหรัฐฯ ไม่นาน พวกจักรวรรดินิยมในยุโรป สหรัฐฯ และญี่ปุ่นยังไม่ได้เฉือนโลกแบ่งกันและแสวงอำนาจครอบครองทางเศรษฐกิจ เขาตายก่อนที่สหรัฐฯ จะยึดฟิลิปปินส์เป็นอาณานิคมใน ค.ศ. 1900 แม้จะดูเหมือนว่าน่าเป็นไปได้ที่เขาจะคัดค้านการล่าอาณานิคมเช่นนั้น อย่างไรก็ดี งานเขียนของเฮนรี จอร์จไม่ได้อธิบายหลาย ๆ ประเด็นในภาพยนตร์โดยตรง ด้วยเหตุนั้นภาพยนตร์นี้จึงทำให้เกิดคำถามมากพอ ๆ กับที่ตอบ
ทางมูลนิธิหวังว่าท่านจะพบว่าเว็บไซต์นี้เป็นประโยชน์ในการคิดหาวิธีที่อาจจะใช้เพื่อเลิกความยากจน กฎและระเบียบต่าง ๆ ได้ก่อปัญหาที่เราเผชิญอยู่ทุกวันนี้ ถ้าทำงานร่วมกัน เราจะสามารถเปลี่ยนแปลงกฎและระเบียบที่ทำให้ความยากจนยังคงอยู่ เราจะสามารถลบเครื่องหมายคำถามออกจากชื่อเรื่อง สิ้นสุดความยากจน ?
Create Date : 20 พฤศจิกายน 2552 | | |
Last Update : 20 พฤศจิกายน 2552 7:18:30 น. |
Counter : 865 Pageviews. |
| |
|
|
|
|
ผลของความก้าวหน้าทางวัตถุต่อการกระจายเศรษฐทรัพย์
ผลของความก้าวหน้าทางวัตถุต่อการกระจายเศรษฐทรัพย์ (จาก ความก้าวหน้ากับความยากจน ฉบับ supercondensed ที่ //utopiathai.webs.com/PPsupercondensed.html )
โดยที่เศรษฐทรัพย์ทุกรูปแบบคือผลผลิตของแรงงานซึ่งกระทำต่อที่ดินหรือผลผลิตของที่ดิน ดังนั้นเมื่ออุปสงค์ในเศรษฐทรัพย์ไม่รู้จักพอเพียง ความสามารถที่เพิ่มขึ้นของแรงงานก็จะถูกใช้ไปในการจัดหาเศรษฐทรัพย์ให้มากขึ้น และทำให้เกิดอุปสงค์ในที่ดินมากขึ้น
และโดยที่เราไม่สามารถจะกำหนดขอบเขตจำกัดให้แก่ความก้าวหน้าในการค้นคิดประดิษฐ์ได้ เราก็ไม่สามารถจะกำหนดขอบเขตจำกัดให้แก่การเพิ่มค่าเช่าได้ นอกจากผลผลิตทั้งสิ้น เพราะว่าถ้าการประหยัดแรงงานดำเนินต่อไปจนกระทั่งถึงจุดที่สมบูรณ์ที่สุด และไม่จำเป็นจะต้องใช้แรงงานในการผลิตเศรษฐทรัพย์ต่อไปแล้ว เราก็จะได้รับทุกสิ่งที่โลกจะสามารถให้ได้โดยไม่ต้องใช้แรงงานเลย
และไม่ว่าจำนวนประชากรจะมีน้อยเพียงไร ถ้ายังคงมีผู้ที่มิใช่เจ้าของที่ดินอยู่แล้ว ก็จะขึ้นอยู่กับอารมณ์หรือความกรุณาของเจ้าของที่ดิน กล่าวคือบุคคลเหล่านี้จะถูกเลี้ยงไว้เพื่อความหรรษาของเจ้าของที่ดิน หรือไม่ก็ด้วยความโอบเอื้อของเจ้าของที่ดิน ในฐานะยาจก
จุดแห่งการทุ่นแรงงานที่สมบูรณ์เช่นนี้อาจจะอยู่ห่างไกลมากหรืออาจจะไม่มีวันไปถึงได้เลย แต่ก็เป็นจุดที่การค้นคิดประดิษฐ์กำลังมีแนวโน้มเข้าไปหาอยู่ทุกขณะ
ความเจริญก้าวหน้าซึ่งทำให้ค่าเช่าสูงขึ้นนั้นมิใช่จะมีแต่ความเจริญก้าวหน้าที่เพิ่มความสามารถในการผลิตโดยตรงเท่านั้น แต่รวมถึงความเจริญก้าวหน้าในการปกครอง มารยาทและศีลธรรม ซึ่งเพิ่มความสามารถในการผลิตโดยทางอ้อมด้วย ผลของสิ่งต่าง ๆ ทั้งหมดนี้ก็คือจะเพิ่มความสามารถในการผลิตขึ้น และเช่นเดียวกับความเจริญก้าวหน้าในการช่างผลิตกรรม ผลประโยชน์ของสิ่งเหล่านี้ย่อมจะถูกผู้ครอบครองที่ดินผูกขาดเอาไปในที่สุด
และถ้าเจ้าหน้าที่ปกครองที่คดโกงแห่งเมืองต่าง ๆ ของสหรัฐฯ จะทำตัวอย่างแห่งความบริสุทธิ์และการประหยัดแล้ว ผลก็จะเป็นเพียงทำให้ราคาที่ดินสูงขึ้นเท่านั้น มิใช่ว่าจะยกระดับค่าแรงหรือดอกเบี้ยขึ้นเลย
(ผลของความก้าวหน้าเช่นนี้จะเป็นจริงสำหรับระบบภาษีและการถือครองที่ดินดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน คือมิได้แก้ไขให้มุ่งเก็บภาษีมูลค่าที่ดินและลด-เลิกภาษีเงินได้และภาษีการลงแรงลงทุนผลิตและค้า ตามข้อเสนอของเฮนรี จอร์จ)
Create Date : 13 พฤศจิกายน 2552 | | |
Last Update : 13 พฤศจิกายน 2552 14:38:35 น. |
Counter : 669 Pageviews. |
| |
|
|
|
|
การปฏิรูปที่ดินแคลิฟอร์เนีย ค.ศ.1887
การปฏิรูปที่ดินแคลิฟอร์เนีย ค.ศ.1887 แต่เดิม ชาวไร่และนักร่อนแร่จำนวนมากต้องขาดน้ำสำหรับประกอบอาชีพ เพราะพวกโคบาลอย่างเฮนรี มิลเลอร์ครอบครองที่ดินเป็นล้านเอเคอร์ มิลเลอร์สามารถต้อนฝูงโคของเขาจากเม็กซิโกผ่านรัฐแคลิฟอร์เนียขึ้นไปยังรัฐออริกอนโดยนอนค้างคืนในที่ดินที่เป็นของเขาเองได้ทุกคืน ในปี 1886 มิลเลอร์ได้รับสิทธิ์เต็มที่ในน้ำของแม่น้ำ Kern
ผู้คนบางส่วนที่รักความยุติธรรมเห็นว่าพวกโคบาลชักจะเอาเปรียบมากเกินไปแล้ว รัฐแคลิฟอร์เนียจึงออกกฎหมายที่เรียกว่า Wright Act ปี 1887 กำหนดให้ชุมชนต่าง ๆ มีสิทธิ์ออกเสียงตั้งเขตชลประทาน (irrigation district) เพื่อสร้างเขื่อนและคูคลองโดยค่าใช้จ่ายจะได้จากการเก็บภาษีจากมูลค่าที่ดินที่สูงขึ้นเนื่องจากการชลประทานนั้นเอง
เมื่อมีการชลประทาน ที่ดินก็มีมูลค่ามากเกินกว่าที่จะใช้เลี้ยงสัตว์ และภาษีก็สูงเกินกว่าที่จะกักตุนที่ดินไว้ พวกโคบาลจึงขายที่ดินให้แก่ชาวไร่ในราคาซึ่งชาวไร่สามารถซื้อได้
ในชั่วเวลาเพียงสิบปี Central Valley ก็แปลงโฉมจากทุ่งหญ้าเป็นไร่นาอิสระกว่า 7,000 แห่ง และต่อมาอีก 2-3 ทศวรรษท้องทุ่งที่ค่อนข้างจะแห้งแล้งไร้ไม้ยืนต้นเหล่านั้นก็กลายเป็น bread basket of America เป็นพื้นที่ซึ่งให้ผลผลิตสูงสุดแห่งหนึ่งในโลก (magazine of the Historical Society of California) (จาก WHERE A TAX REFORM HAS WORKED: 28 CASE SUMMARIES //www.progress.org/geonomy/geono05.php )
ใน ค.ศ.1909 สภานิติบัญญัติมลรัฐแคลิฟอร์เนียได้กำหนดให้เขตชลประทานใหม่ (และให้สิทธิเขตชลประทานเดิมที่จะเลือก) เก็บภาษีมูลค่าที่ดินอย่างเดียว โดยยกเว้นสิ่งปรับปรุง พืชผล ฯลฯ
ปัจจุบันมีเขตชลประทานใช้ระบบนี้กว่า 100 เขตรวมพื้นที่ 4 ล้านเอเคอร์ซึ่งเป็นที่ดินไร่นาดีที่สุดและให้พืชผลประมาณ 75 % ของทั้งมลรัฐ การเก็งกำไรที่ดินหายไป และบทบาทสำคัญของแคลิฟอร์เนียด้านการเกษตรของสหรัฐฯ ได้เริ่มขึ้นในช่วงนั้น (จาก ภาษีมูลค่าที่ดินทั่วโลกโดยสรุป //bbznet.com/scripts2/view.php?user=tangnamo&board=1&id=53&c=1 )
Create Date : 13 พฤศจิกายน 2552 | | |
Last Update : 13 พฤศจิกายน 2552 8:23:20 น. |
Counter : 674 Pageviews. |
| |
|
|
|
|
กฎว่าด้วยความก้าวหน้าของมนุษย์
กฎว่าด้วยความก้าวหน้าของมนุษย์
อารยธรรม คือความร่วมมือกัน ความสามัคคีและเสรีภาพเป็นปัจจัยของมัน
สิ่งที่ได้ทำลายอารยธรรมเดิม ๆ มาแล้วทุกรุ่นก็คือแนวโน้มไปสู่ความไม่เสมอภาคกันในการแบ่งเศรษฐทรัพย์และอำนาจ แนวโน้มอันเดียวกันนี้ซึ่งกำลังดำเนินอยู่ด้วยพลังที่รุนแรงยิ่งขึ้นได้ปรากฏให้สังเกตได้ในอารยธรรมของเราในปัจจุบัน
เมื่อความเสื่อมทรามกลายเป็นสิ่งเรื้อรัง เมื่อน้ำใจที่จะกระทำเพื่อประชาชนสูญสิ้นไป เมื่อประเพณีแห่งเกียรติยศ คุณความดี และความรักชาติอ่อนแอลง เมื่อกฎหมายมีลักษณะที่น่าดูหมิ่น และการปฏิรูปกลายเป็นสิ่งที่ไร้ความหวัง พลังแห่งภูเขาไฟก็จะเกิดขึ้นในมวลชนที่ขมขื่น ซึ่งจะระเบิดออกเมื่อมีอุบัติเหตุเปิดทางให้
บุรุษผู้เข้มแข็งปราศจากธรรมะซึ่งพุ่งขึ้นสูงตามโอกาสจะกลายเป็นตัวแทนแห่งความปรารถนาอันมืดมัวหรือความรู้สึกอันรุนแรงของประชาชน และเขี่ยรูปแบบต่าง ๆ ที่สูญสิ้นความเข้มแข็งแล้วกระเด็นไป ดาบจะกลับคมยิ่งกว่าปากกา และในเทศกาลแห่งการทำลายล้าง พลังอันโหดเหี้ยมและความโกลาหลป่าเถื่อนจะเกิดขึ้นสลับกับความซบเซาแห่งอารยธรรมที่กำลังเสื่อม
คนป่าเถื่อนจำพวกใหม่จะมาจากที่ไหนกันหรือ? จงไปยังย่านซอมซ่อตามนครใหญ่ ๆ แล้วท่านจะได้เห็นพวกเขารวมกันอยู่เป็นฝูงแม้กระทั่งขณะนี้! การเล่าเรียนศึกษาจะสิ้นสูญไปได้อย่างไรหรือ? มนุษย์จะหยุดอ่าน ตำรับตำราจะก่อให้เกิดไฟ และจะกลายเป็นชนวนระเบิด!
ในการเสื่อมลงของอารยธรรมนั้น ประชาคมต่าง ๆ มิได้กลับลงไปทางเดียวกับที่ขึ้นมา ตัวอย่างเช่นความเสื่อมแห่งอารยธรรมดังที่ปรากฏในการปกครองจะไม่นำเราจากระบอบสาธารณรัฐกลับไปสู่ระบบฟิวแดลอีก แต่จะนำเราไปสู่ระบบบงการ (Imperatorship) และอนาธิปไตย
เสรีภาพเกิดขึ้นที่ใด ที่นั่นคุณงามความดีย่อมเติบโตขึ้น เศรษฐทรัพย์มีมากขึ้น ความรู้ขยายออก การค้นคิดประดิษฐ์ทำให้ความสามารถของมนุษย์เพิ่มขึ้น และชาติที่มีเสรีภาพมากกว่าก็จะพุ่งขึ้นสูงในด้านพลังอำนาจและจิตวิญญาณในท่ามกลางประเทศเพื่อนบ้าน
ที่ใดเสรีภาพเสื่อมลง ที่นั่นคุณงามความดีจะเลือนหายไป เศรษฐทรัพย์จะลดลง ความรู้ถูกลืม การค้นคิดประดิษฐ์หยุดชะงัก และจักรวรรดิที่เคยทรงอานุภาพในด้านกำลังทหารและศิลปะวิทยาการจะกลายเป็นเหยื่อที่น่าสมเพชแก่พวกป่าเถื่อนที่มีเสรีกว่า !
เสรีภาพได้ส่องสาดมายังหมู่มนุษย์เพียงด้วยลำแสงที่ขาดเป็นช่วง และสว่างเพียงบางส่วน แต่เสรีภาพก็ได้แสดงออกซึ่งความก้าวหน้าทั้งหลาย
เราจะไม่เชื่อมั่นในเทวีแห่งเสรีภาพหรือ ? ในสมัยของเรา พลังอันเคลือบแฝงได้คืบคลานเข้ามาเช่นเดียวกับในสมัยก่อน ๆ ซึ่งได้ทำลายเทวีแห่งเสรีภาพ โดยก่อให้เกิดความไม่เสมอภาคกันขึ้น ณ ขอบฟ้า เมฆเริ่มลดต่ำลง เทวีแห่งเสรีภาพเรียกร้องเราอีกแล้ว
ไม่เป็นการเพียงพอที่มนุษย์จะมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ไม่เป็นการเพียงพอที่มนุษย์จะมีความเสมอภาคกันทางทฤษฎีต่อหน้ากฎหมาย มนุษย์จะต้องมีเสรีภาพที่จะใช้ประโยชน์จากโอกาสและปัจจัยแห่งชีวิต มนุษย์จะต้องมีความเสมอภาคกันในความกรุณาของธรรมชาติ
นี่เป็นกฎสากล นี่เป็นบทเรียนของศตวรรษต่าง ๆ ถ้าไม่วางรากฐานอยู่บนความยุติธรรม โครงร่างแห่งสังคมก็จะยืนหยัดอยู่มิได้
.
(จากหัวข้อสุดท้ายในหนังสืออเมริกันดีเด่น ความก้าวหน้ากับความยากจน หรือ Progress and Poverty ฉบับตัดตอนเหลือเพียง 2 % Henry George แต่ง พ.ศ. 2422, James L. Busey ย่อ พ.ศ. 2500 ที่ //utopiathai.webs.com/PPsupercondensed.html ฉบับย่อภาษาอังกฤษอยู่ที่ //unitax.org/progress).
Create Date : 23 ตุลาคม 2552 | | |
Last Update : 23 ตุลาคม 2552 7:47:00 น. |
Counter : 726 Pageviews. |
| |
|
|
|
|
มุมมองวิกฤตเศรษฐกิจฟองสบู่ของพรรคยุติธรรมเดนมาร์ก
มุมมองวิกฤตเศรษฐกิจฟองสบู่ของพรรคยุติธรรมเดนมาร์ก จากเว็บของพรรคยุติธรรมของเดนมาร์ก ที่ //www.retsforbundet.dk/politik/english.htm
ระบบภาษีของเดนมาร์กทำงานแบบตรงข้ามกับโจรผู้ดีที่ชื่อ Robin Hood รายได้ที่เราหามาด้วยการทำงานก่อผลผลิตถูกเก็บภาษีเงินได้อย่างหนัก แต่รายได้จากมูลค่าที่ดินแทบจะไม่ถูกเก็บภาษี
ในระยะ ค.ศ.1994-2006 ราคาอสังหาริมทรัพย์ได้พุ่งสูงขึ้นมากอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งทำให้เกิดการปรับการกระจายเศรษฐทรัพย์ (redistribution of wealth) ครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่ทราบในประวัติศาสตร์เดนมาร์ก เนื่องจากมูลค่าทำเลที่ดินที่สูงขึ้น (นิยามคำ wealth คือ All material things produced by labor for the satisfaction of human desires and having exchange value. จาก //www.henrygeorge.org/def2.htm หรือดูภาษาไทยที่ //bbznet.pukpik.com/scripts2/view.php?user=tangnamo&board=1&id=27&c=1 )
คนส่วนมากไม่ได้ร่วมใน “งานเลี้ยง” ครั้งนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้เช่าที่ไม่ได้เป็นเจ้าของอสังหาฯ หรือที่ดินใด ๆ เจ้าของบ้านส่วนหนึ่งได้กำไรน้อยมากในขณะที่อีกส่วนหนึ่งได้กำไรเป็นล้านโดยไม่ต้องทำอะไร
คนหนุ่มสาวจำนวนมากต้องจ่ายค่าบ้านหลังแรกของเขาในราคาที่สูงมาก ผลก็คือครอบครัวหนุ่มสาวจำนวนมากที่มีบุตรต้องรับภาวะเศรษฐกิจรัดตัว ต้องทำงานหนักขึ้นมากในช่วงเวลาที่อ่อนไหวหลายปีเมื่อลูก ๆ ยังเล็ก
ในระยะวิกฤตทางการเงินปัจจุบัน (ปี 2009) อันเป็นผลจากฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์แตก ผู้คนถูกยึดบ้าน และเกิดการว่างงานมากขึ้น
เราสามารถแก้ปัญหาและทำให้เกิดการกระจายเศรษฐทรัพย์ที่เป็นธรรมด้วยการย้ายภาระภาษีเงินได้จากการทำงานที่ก่อผลผลิตไปเก็บจากมูลค่าที่ดินแทน โดยผู้มีสิทธิใช้ที่ดินแต่ละแปลงจะต้องจ่ายภาษีให้แก่ชุมชนของตนตามส่วนกับมูลค่าทำเลของทรัพย์สินของตน
การปฏิรูปภาษีเช่นนี้จะหยุดการเก็งกำไรอันกว้างขวางที่ทำให้มูลค่าทำเลสูงขึ้น การกระจายเศรษฐทรัพย์ที่ไม่เป็นธรรม และวิกฤตเศรษฐกิจจากการเก็งกำไรที่ดิน มันจะทำให้เราได้ทั้งสิทธิของส่วนรวมร่วมกันในธรรมชาติพร้อมทั้งมูลค่าทางเศรษฐกิจของธรรมชาติ และสิทธิของปัจเจกชนแต่ละบุคคลในมูลค่าของงานที่ก่อผลผลิตของตนเอง
จะมีความเป็นไปได้ที่ครอบครัวหนุ่มสาวจะซื้อบ้านหลังใหม่โดยพ่อแม่ที่เป็นหนุ่มสาวนั้นยังมีความสามารถที่จะใช้ช่วงเวลาที่วิเศษอยู่กับลูก โดยไม่ต้องใช้เวลาถึงวันละ 10 ชั่วโมงห่างจากบ้าน คนรุ่นหนุ่มสาวจะไม่ต้องจ่ายเงินเพื่อช่วยให้ผลกำไรจากมูลค่าทำเลแก่คนรุ่นแก่กว่า วิกฤตเศรษฐกิจที่มีสาเหตุจากการเก็งกำไรจะไม่เกิดขึ้นอีก และธรรมชาติจะมีโอกาสฟื้นคืนสภาพและดำรงสภาพอยู่ได้โดยมีดุลยภาพในตัวระหว่างเศรษฐกิจกับนิเวศวิทยา ตอนท้ายของข้อความนี้เขาบอกไว้ว่า Please fell free to send us an email with questions or comments. sekretariat@retsforbundet.dk
และที่ตอนท้ายของเว็บเพจนี้เขาอ้างถ้อยคำของคนสำคัญในอดีต 9 ท่านดังนี้
William Blackstone: “แผ่นดิน และทุกอย่างในดิน เป็นสมบัติของมนุษยชาติทั้งมวล ที่พระเป็นเจ้าโปรดประทาน” Adam Smith: “มูลค่าที่ดินคือรายได้ที่เจ้าของได้รับโดยตนเองไม่ต้องออกความพยายามแต่อย่างใด มูลค่าที่ดินอาจเป็นรายได้ที่เหมาะที่สุดสำหรับภาษีพิเศษ” Thomas Jefferson: “ที่ดินเป็นของประทานแก่มนุษย์ เพื่อเขาจะได้ทำกินและอยู่อาศัย” Richard Cobden: “ท่าน ผู้ซึ่งจะปลดปล่อยที่ดิน จะทำเพื่อประเทศมากกว่าเรา ผู้ได้ปลดปล่อยการค้า” John Stuart Mill: “เจ้าของที่ดินรวยขึ้นขณะนอนหลับโดยไม่ต้องทำงาน ไม่ต้องเสี่ยง ไม่ต้องอดออม ดังนั้นการที่ที่ดินมีมูลค่าสูงขึ้น อันเนื่องมาจากการทำงานของทั้งสังคม จะต้องเป็นของสังคม มิใช่เป็นของเจ้าของผู้ถือหนังสือสำคัญ” Henry George: “ฐานรากสำหรับความเป็นระเบียบแห่งความยุติธรรมของสังคมของเราคือการปฏิเสธความยุติธรรม โดยการยินยอมให้คนหนึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน ซึ่งคนอื่นต้องใช้เป็นที่อยู่อาศัย เราก็ได้ทำให้พวกเขาต้องกลายเป็นทาสของผู้นั้นในระดับที่จะสูงขึ้นไปตามความก้าวหน้าทางวัตถุ นั่นคือสิ่งที่ได้ทำให้พรแห่งความก้าวหน้าทางวัตถุกลายเป็นคำสาปไป” Leo Tolstoy: “วิธีแก้ปัญหาที่ดินจะหมายถึงวิธีแก้ปัญหาสังคม” Sun Yat-Sen: “ภาษีมูลค่าที่ดินในฐานะเครื่องมืออย่างเดียวในการชำระค่าใช้จ่ายของรัฐ เป็นวิธีที่ยุติธรรมและมีเหตุผลในการกระจายภาระภาษี ซึ่งเราจะใช้เป็นมูลฐานของระบบใหม่ของเรา” Winston Churchill: “การผูกขาดที่ดินมิใช่การผูกขาดชนิดเดียว อย่างไรก็ดี มันเป็นการผูกขาดที่ใหญ่ที่สุด เป็นการผูกขาดตลอดกาล และเป็นต้นกำเนิดของการผูกขาดอื่น ๆ ทั้งสิ้น”
ท่านที่สนใจวาทะของนักคิดกว่า 40 ท่านเรื่องที่ดินและการกระจายรายได้ (ภาษาไทย) เชิญดูได้ที่ //bbznet.pukpik.com/scripts2/view.php?user=tangnamo&board=1&id=182&c=1 ครับ
สุธน หิญ เว็บเศรษฐศาสตร์เพื่อความเป็นธรรม //utopiathai.webs.com
Create Date : 07 ตุลาคม 2552 | | |
Last Update : 7 ตุลาคม 2552 21:45:20 น. |
Counter : 812 Pageviews. |
| |
|
|
|
|
|
|
|
|
 |
 |
 |
 |
|
|