bloggang.com mainmenu search









“โลกธรรม ๘”

โลกธรรม ๘ มีอยู่ ๔ คู่
คือ

๑. การเจริญลาภเสื่อมลาภ

๒. การเจริญยศเสื่อมยศ

๓. การสรรเสริญนินทา

๔. ความสุขความทุกข์

เป็นของคู่กัน มาตลอด

 เป็นเหมือนเหรียญที่มี ๒ ด้าน

ถ้าอยากจะได้ด้านหนึ่ง

 ก็ต้องได้อีกด้านหนึ่งแถมมาด้วย

 ถ้าอยากจะเจริญลาภ

ก็ต้องมีการเสื่อมลาภตามมา

 ถ้าอยากจะเจริญยศ

ก็มีการเสื่อมยศตามมา

ถ้าต้องการสรรเสริญ

ก็จะต้องมีนินทาตามมา

 ถ้าต้องการสุขก็จะมีทุกข์ตามมา

 ถ้าไม่มีสุข ก็จะไม่มีทุกข์ตามมา

 ถ้าไม่มีลาภยศสรรเสริญ

 ก็จะไม่มีการเสื่อมลาภเสื่อมยศ

 ไม่มีนินทาตามมา

คำว่าไม่มีหมายความว่าไม่ยินดี

 ถ้าไม่ยินดีกับความเจริญ

 ก็จะไม่เดือดร้อนกับความเสื่อม

 ถ้ายินดีก็จะเดือดร้อน

เพราะอยากจะให้เจริญอย่างเดียว

 ไม่อยากจะให้เสื่อม

 แต่ความจริงของโลก

แห่งอนิจจังทุกขังอนัตตานี้

มันเป็นไปไม่ได้ มันเป็นธรรมดา

ของสิ่งต่างๆ ที่จะเจริญและเสื่อมไป

 เป็นอนัตตา คือเราไม่สามารถสั่ง

ให้เจริญอย่างเดียวได้

ไม่สามารถป้องกันไม่ให้เสื่อมได้

 ไม่สามารถยับยั้งการครหา

นินทาของผู้อื่นได้

 พวกเราอยู่ในโลกนี้ก็ต้องรู้ทัน

พระพุทธเจ้าทรงเป็นโลกวิทู

 แปลว่าผู้รู้ทันโลกธรรม ๘

 ไม่หลงยึดติดกับโลกธรรม ๘

 เพียงแต่สัมผัสรับรู้

 แต่ไม่ซึมซับเข้าไปในใจ

 เหมือนหยดน้ำบนใบบัว

 ที่ไม่ซึมเข้าไปในใบบัว

 เพราะใบบัวไม่ดูดซับน้ำ

ฉันใดจิตของผู้ที่รู้ทันโลกธรรม ๘

 ก็เป็นเช่นนั้น ไม่ซึมซับ

ไม่ดีอกดีใจเวลาเกิดความเจริญ

 ไม่เสียใจเวลาเกิด

การเสื่อมไปเปลี่ยนไป

 นี่คือการรักษาจิตใจ ไม่ให้เครียด

ไม่ให้ทุกข์ ไม่ให้วิตก ไม่ให้กังวล

ไม่ให้หวาดกลัว กับความจริงต่างๆ

ที่เกิดขึ้นในโลกนี้

จึงต้องภาวนาเพื่อสอนจิตให้รู้ทัน

 ให้ปล่อยวาง ให้รู้เฉยๆ

 บางท่านฟังแล้วอาจจะปล่อยวางได้เลย

 แสดงว่าจิตมีกำลัง ปล่อยวางได้

คือมีอุเบกขา มีสมาธิ

พอรู้ความจริงว่า

โลกธรรม ๘ เป็นทุกข์

ก็จะปล่อยวางได้ทันที

 แต่สำหรับผู้ที่ฟังแล้ว

ยังปล่อยวางไม่ได้

ยังวิตกกังวลหวาดกลัวกับความเสื่อม

ของลาภยศสรรเสริญสุข ก็จะต้องภาวนา

 การภาวนาก็คือการดึงใจ

ให้ออกจากลาภยศสรรเสริญ

 ออกจากความสุข

ทางตาหูจมูกลิ้นกายนี้เอง

ผู้ที่จะอยู่เหนือโลกธรรม ๘

ต้องไม่ติดกับลาภยศสรรเสริญสุข

การจะไม่ติดก็ต้องอยู่ห่างไกล

จาก ลาภยศสรรเสริญสุข

ต้องไปปลีกวิเวก

อยู่ตามสถานที่สงบสงัด

 ห่างไกลจากแสงสีเสียงต่างๆ

ห่างไกลจากลาภยศสรรเสริญ

 แล้วก็พยายามสู้กับความอยาก

ที่ยังมีอยู่ภายในใจ คือกามฉันทะ

 ความอยากกลับไป

หาลาภยศสรรเสริญ

 กลับไปหาแสงสีเสียง

 หารูปเสียงกลิ่นรสต่างๆ

 เป้าหมายของภาวนาก็คือ

การปล่อยวางลาภยศสรรเสริญสุข

ถ้าปล่อยได้แล้ว

เวลาลาภยศสรรเสริญสุข

เสื่อมหรือเปลี่ยนไป

 จะไม่เป็นปัญหา ถ้ายังปล่อยไม่ได้

 เวลาเกิดความเสื่อมขึ้นมา

 ก็จะเกิดความเศร้าโศกเสียใจ

ทุกข์ทรมานใจ นี่คือวิธีสอนใจให้ฉลาด

 ให้รู้ทันโลกธรรม ๘ แล้วก็ปล่อยวาง.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

................

จุลธรรมนำใจ กัณฑ์ที่ ๔๕๐ “โรคจิต”

วันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๕








ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ

Create Date :29 ธันวาคม 2559 Last Update :1 มกราคม 2560 6:08:21 น. Counter : 681 Pageviews. Comments :0