bloggang.com mainmenu search









“วิธีคลายความมืดบอด

ที่ปิดกั้นดวงจิตดวงใจ”

การปฏิบัติธรรมจึงเป็นวิธีเดียว

ที่จะทำให้เห็นสิ่งต่างๆ

 เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าทรงรู้ ทรงเห็น

 พระพุทธเจ้าไม่สามารถเสกเป่า

ให้เห็นผิดถูกดีชั่วได้

แต่ทรงสามารถสอนให้ปฏิบัติ

จนกำจัดสิ่งที่เป็นเครื่องปกปิดจิตใจ

 ที่ทำให้มืดบอดออกไปได้

ทำให้มีดวงตาสว่าง เห็นทุกสิ่งทุกอย่างได้

การปฏิบัติธรรมจึงเป็นสิ่งเดียวเท่านั้น

 ที่จะทำให้รู้เห็น แยกแยะเรื่องผิดเรื่องถูก

 เรื่องดีเรื่องชั่วได้ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง

สำหรับการดำเนินชีวิต

ให้เป็นไปในทิศทางที่ดี ที่งาม ที่สุข ที่เจริญ

 จึงต้องปฏิบัติธรรมกัน เพื่อให้ดวงตาสว่าง

 มีแสงสว่างแห่งธรรม

การปฏิบัติธรรมแบ่งเป็น ๒ ขั้น

 ขั้นแรกเรียกว่าสมาธิ ขั้นที่สองเรียกว่าปัญญา

ทั้ง ๒ ขั้นนี้จะเป็นเครื่องมือ

 ที่จะทำให้โมหะความมืดบอดหมดไปจากจิตจากใจ

 เวลาที่ทำสมาธิแล้ว จิตจะสงบลง

แล้วก็จะใส เหมือนกับน้ำที่ขุ่น

 หลังจากได้รับการแกว่งสารส้มอยู่สักพักหนึ่ง

 ตะกอนต่างๆ ก็จะตกลงไปนอนก้น

 ทำให้น้ำใสขึ้น เห็นอะไรได้ชัด

ทำให้เห็นสิ่งต่างๆที่มีอยู่ในน้ำได้

ไม่ว่าจะเป็นปูปลา หรืออะไรก็ตามที่อยู่ในน้ำ

 ก็จะเห็นได้ชัด ฉันใดเวลาทำจิตให้สงบ

ด้วยการทำสมาธิ เวลาจิตสงบนิ่งลงจิตก็จะใส

 จิตก็จะเห็นความสุข เห็นความทุกข์

 เห็นความดีความชั่วที่มีอยู่ในใจ

 แต่การทำสมาธิเป็นเพียงการกระทำจิตให้ใสได้

เป็นครั้งเป็นคราว ขณะที่จิตสงบเป็นสมาธิอยู่

ตอนนั้นจิตก็จะใส

 แต่พอจิตถอนออกมาจากสมาธิแล้ว

เริ่มคิดถึงเรื่องราวต่างๆ เริ่มไปทำโน่นทำนี่

ตะกอนต่างๆที่อยู่ก้นของจิต ก็จะลอยขึ้นมา

 ทำให้น้ำจิตนั้นขุ่นไป เหมือนกับน้ำในตุ่ม

ที่หลังจากที่ได้แกว่งสารส้มทำให้ตกตะกอนแล้ว

 ถ้าเอาอะไรไปกวนน้ำในตุ่ม ตะกอนที่นอนก้นอยู่

 ก็จะลอยขึ้นมาปะปนกับน้ำอีก

ทำให้น้ำขุ่นมัวได้อีก

 จิตก็เช่นเดียวกันเวลาออกจากสมาธิ

ออกจากความสงบ ความใสก็จะหายไป

ทำให้เกิดความขุ่นมัวความมืดบอด กลับคืนมาอีก

 เวลาไปทำอะไรก็จะต้องทำ แบบผิดๆถูกๆอีก

แต่ถ้าใช้ธรรมะขั้นที่ ๒ ที่เรียกว่าปัญญา

 ให้แยกแยะว่าอะไรผิดอะไรถูก อะไรดีอะไรชั่ว

 ทุกครั้งเวลาสัมผัสกับอะไร ทำอะไร

 คิดเสียก่อนว่าทำอย่างนี้ถูกหรือไม่ หรือผิด

 เพราะทุกการกระทำมีทั้งดีและชั่ว ทั้งผิดและถูก

 เวลาจะลักทรัพย์ถามตัวเองเสียก่อนว่า

 เป็นการกระทำที่ถูกหรือผิด

 เป็นคุณหรือเป็นโทษ ถ้ารู้ว่าผิดก็ไม่ทำเสีย

 โทษก็ไม่ตามมา

เวลาทำอะไรที่เป็นคุณเป็นประโยชน์

 เช่นเวลาทำบุญทำทาน

ได้ช่วยเหลือผู้อื่น อย่างนี้ถามตัวเองว่า

 เป็นคุณหรือเป็นโทษ

 เมื่อพิจารณาดูก็จะเห็นว่ามีแต่คุณไม่มีโทษ

 ถ้าเป็นคุณทำไปก็มีแต่ผลดีตามมา

 ไม่มีผลเสียตามมา นี่คือการใช้ปัญญา

 รู้จักแยกแยะผิดออกจากถูก ดีออกจากชั่ว

 นี่คือการเจริญปัญญาในระดับหนึ่ง

ส่วนปัญญาอีกระดับหนึ่ง

ก็คือการศึกษาทำความเข้าใจ

ถึงธรรมชาติของทุกสิ่งทุกอย่าง

ที่เราเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยว่า

 สิ่งต่างๆที่เราอยากมีอยากได้มาเป็นสมบัตินั้น

 ธรรมชาติที่แท้จริงของเขาเป็นอย่างไร

 เป็นสิ่งที่ให้ความสุขกับเราตลอดไปได้หรือเปล่า

 หรือเป็นสิ่งที่ให้ความสุขในเบื้องต้นแล้ว

กลายเป็นความทุกข์ในเบื้องปลาย

ถ้าใช้ปัญญาวิเคราะห์ดู ก็ต้องถามว่า

สิ่งไหนที่เราอยากได้นั้น

ถ้าเป็นของที่เที่ยงแท้แน่นอน

เป็นสิ่งที่อยู่ภายใต้การควบคุมบังคับของเราได้

สิ่งนั้นย่อมสามารถให้ความสุขกับเราได้ไปตลอด

 ไม่ใช่เป็นแต่ความสุขในเบื้องต้น

เช่นไปได้อะไรมาสักอย่างหนึ่ง

ของชิ้นนั้นจะอยู่กับเราไปตลอดหรือเปล่า

 เราสามารถควบคุมดูแลให้อยู่กับเรา

 ให้เป็นเหมือนเดิม

 เหมือนกับที่ได้มาในวันแรกหรือเปล่า

ถ้าสามารถควบคุมได้

สามารถทำไม่ให้เปลี่ยนแปลงได้

 ของชิ้นนั้นก็สามารถให้ความสุขกับเราได้ไปตลอด

 แต่ความจริงแล้วของแบบนั้นมีหรือไม่ในโลกนี้

คิดว่าไม่มี เพราะว่าไม่ว่าอะไรก็ตามที่เราได้มา

 เวลาได้มาในเบื้องต้นก็จะเป็นของใหม่

แต่ปล่อยทิ้งไว้สักระยะหนึ่ง

ก็จะต้องเป็นของเก่าไป

 เสื้อผ้าเวลาซื้อมาก็ใหม่

แต่พอใช้ไปใส่ไปได้สักระยะหนึ่งก็เก่า

 แล้วก็ขาดได้ หรือถ้าไปแขวนไว้ ไปตากไว้

เวลาเผลอก็อาจจะมีคนมาหยิบมาขโมยไปก็ได้

 เมื่อเป็นสิ่งที่เรารักแล้วต้องสูญเสียไป

ใจของเรายังจะมีความสุขอยู่หรือเปล่า

 หรือจะต้องเศร้าโศกเสียใจ

ร้องห่มร้องไห้ กินไม่ได้นอนไม่หลับ

นี่คือการวิเคราะห์ด้วยปัญญา

ทุกครั้งที่ต้องการจะได้อะไรมา

เพื่อให้ความสุขกับเรา

ต้องถามตัวเองเสมอว่า

สิ่งที่จะให้ความสุขกับเรานี้

จะเป็นความสุขไปตลอดหรือเปล่า

 หรือจะเป็นสุขตอนต้นแล้วเป็นทุกข์ตอนปลาย

 ถ้าเป็นเช่นนั้นอย่าเอามาไม่ดีกว่า

หรือ ถ้าไม่มีสิ่งนั้นเสียแต่ต้น

 ก็ไม่ต้องมาร้องห่มร้องไห้ในภายหลัง

เพราะว่าของทุกสิ่งทุกอย่าง

ไม่ว่าจะเป็นวัตถุหรือเป็นบุคคล

 เป็นมนุษย์หรือเป็นเดรัจฉาน

ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้อยู่ภายใต้กฎ

ของไตรลักษณ์ทั้งสิ้น คืออนิจจังไม่เที่ยง

ทุกขัง เป็นทุกข์ อนัตตา

 ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมบังคับของใครทั้งสิ้น

ทุกสิ่งทุกอย่างไหลเวียนไป เปลี่ยนแปลงไป

 มีเหตุมีปัจจัยเหมือนกับเมฆบนท้องฟ้า

 ไม่มีใครสามารถไปบังคับ

ให้เมฆเป็นไปตามความต้องการได้

 เมฆจะต้องลอยไปตามลม

 แล้วจะต้องตกลงมาเมื่อมีความหนักเกินกว่า

ที่จะลอยอยู่บนท้องฟ้าได้ ก็ตกลงมากลายเป็นฝน

 เมื่อเป็นฝนก็ไหลลงไปในลำน้ำลำคลองลำห้วย

 ไหลลงไปในทะเล แล้วในที่สุดก็จะระเหย

กลับขึ้นไปบนฟ้า กลายเป็นเมฆไป

นี่เป็นเรื่องของสิ่งต่างๆในโลกนี้

ไม่มีอะไรคงสภาพเหมือนเดิมไปตลอดเวลา

 มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

 เหมือนกับร่างกายของเรา ที่ไม่อยู่คงเส้นคงวา

ตั้งแต่เกิดมาก็มีการเปลี่ยนแปลงมาตลอด

 ไม่เชื่อลองกลับไปดูภาพ

ที่ถ่ายตอนคลอดออกมาใหม่ๆ

กับตอนนี้เหมือนกันไหม ไม่เหมือนกัน

 ส่วนภาพที่ถ่ายในวันนี้ถ้ารออีกสัก ๑๐ หรือ ๒๐ ปี

มาเปรียบเทียบดูอีก

 ก็จะรู้ว่าไม่เหมือนกันอีกเช่นกัน

 เพราะนี่ก็คือสภาพของทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้

จึงทรงสอนว่าเป็นของไม่เที่ยงอนิจจัง เป็นอนัตตา

 เป็นสิ่งที่ไม่มีใครควบคุมบังคับได้

 เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย

ถ้าไปยึดไปติดคิดว่าเป็นสิ่งที่จะให้ความสุขกับตน

 ก็จะต้องมีความทุกข์กับสิ่งนั้นๆ

 ในยามที่สิ่งนั้นๆเปลี่ยนแปลงไป สูญหายไป หมดไป

 จึงต้องมีปัญญา คือมีทั้งความเฉลียวและความฉลาด

 เป็นผู้นำทาง เพื่อจะได้ไม่ต้องมาเสียใจในภายหลัง.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

..........................

กัณฑ์ที่ ๑๗๓ วันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๔๖

 (กำลังใจ ๑๒)

“ฉลาดกับเฉลียว”

 






ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ

Create Date :14 ตุลาคม 2559 Last Update :14 ตุลาคม 2559 9:13:59 น. Counter : 816 Pageviews. Comments :0