bloggang.com mainmenu search










“รูปขันธ์และนามขันธ์”

การเจริญวิปัสสนา เพื่อให้เข้าใจ

ให้เห็นไตรลักษณ์ เห็นอนิจจังทุกขังอนัตตา

ในสภาวธรรมทั้งหลาย

ไม่ว่าจะเป็นร่างกายของเรา

หรือร่างกายของคนอื่น

 หรือนามขันธ์ที่อยู่ในจิต

 ได้แก่เวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ

 ก็เป็นไตรลักษณ์เหมือนกัน

เวทนาก็เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

 เดี๋ยวสุขเดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวไม่สุขไม่ทุกข์

วนไปเวียนมา เหมือนกับฝนตก แดดออก

ที่สลับกันไป ถ้าเข้าใจแล้วก็จะไม่ยึดไม่ติด

 จะได้ไม่เดือดร้อน

แต่เราถูกความหลงครอบงำจึงไม่รู้กัน

 จึงยึดติดกับสุขเวทนา

 ส่วนทุกขเวทนากับไม่สุขไม่ทุกขเวทนา

จะไม่อยากเจอเลย

ทุกขเวทนาเป็นตัว ที่เราเกลียดมากที่สุด

 รองลงมาก็คือไม่สุขไม่ทุกขเวทนา คือเฉยๆ

ที่ทำให้เบื่อทำให้เซ็ง

 เพราะอยากจะให้สุข ตลอดเวลา

 จึงอยากสัมผัสอยากได้ยินได้ฟัง

สิ่งที่ทำให้เกิดสุขเวทนา

 แต่เราไม่สามารถบังคับสิ่งต่างๆในโลกนี้

ที่หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาได้

 เราจึงต้องสัมผัสกับเวทนาทั้ง ๓ นี้อยู่เสมอ

 สัมผัสทุกข์บ้าง สัมผัสสุขบ้าง

สัมผัสไม่สุขไม่ทุกข์บ้าง

ปัญหาของเราจึงอยู่ตรงที่ต้องทำใจ

ให้รับกับเวทนาทั้ง ๓ นี้ให้ได้

 คืออย่าไปจงเกลียดจงชังทุกขเวทนา

อย่าไปจงเกลียดจงชังไม่ทุกข์ไม่สุขเวทนา

 อย่าไปรักษาอย่าไปยินดี แต่กับสุขเวทนา

 ต้องทำใจให้เป็นอุเบกขา

ด้วยการเจริญสมาธิทำจิตให้สงบ

ให้เป็นอุเบกขา

 เพราะหลังจากนั้นแล้ว

จะสัมผัสกับอะไรก็ได้ทั้งนั้น

 ร้อนก็ได้เย็นก็ได้ สุขก็ได้ทุกข์ก็ได้

ไม่เดือดร้อนอะไร

 เพราะตัวที่สร้างความอยาก

 สร้างความรัก สร้างความชังนี้

ถูกกำลังของสมาธิกดไว้

 เพราะเวลาจิตสงบกิเลสก็ต้องสงบตามไปด้วย

 จะออกมาเพ่นพ่านแสดงอาการต่างๆไม่ได้

ถ้าสามารถเจริญสมถภาวนา

ได้ตลอดเวลาอย่างต่อเนื่อง

 จนจิตสงบนิ่งอยู่ตลอดเวลาในอิริยาบถทั้ง ๔ แล้ว

 กิเลสตัณหาต่างๆจะไม่ออกมาเพ่นพ่าน

เหมือนตอนที่จิตยังไม่สงบ

จะออกมาบ้างก็เป็นช่วงๆ

ในเวลาที่ได้สัมผัสกับบางสิ่งบางอย่าง

บางเหตุการณ์ กิเลสตัณหา

ก็จะผุดขึ้นมาเหมือนภูเขาไฟระเบิด

 จะแสดงอาการให้เห็นอย่างชัดเจน

เช่นเกิดความไม่พอใจ

ก็จะเกิดความร้อนใจขึ้นมาทันที

ตอนนั้นเป็นเวลาที่ต้องใช้วิปัสสนาเข้าไปดับ

 พอโกรธขึ้นมาปั๊บก็ต้องรีบดับทันที

 ต้องรู้ว่าจะต้องทำอย่างไร

 ถ้าไม่รู้ก็จะโกรธไปเรื่อยๆ

จนกว่าจะหมดแรงไปเอง

 จะทดสอบการปฏิบัติกันก็ทดสอบกันตรงนี้

เวลาที่กิเลสเกิดขึ้นมา ว่าจะดับมันได้หรือไม่

จะดับได้ช้าหรือเร็ว

เพราะกิเลสไม่ได้ตายด้วยอำนาจของสมาธิ

เพียงแต่ถูกกดไว้ ไม่ให้ออกมาเพ่นพ่าน

เหมือนในขณะที่ไม่มีสมาธิ

คนที่ไม่มีสมาธิจะแสดงความโลภ โมโทสัน

ออกมามากกว่าคนที่มีสมาธิ

คนที่มีสมาธิจะเป็นคนสมถะสงบเสงี่ยมเจียมตัว

 แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า สิ้นกิเลสแล้ว

 เพียงแต่กิเลสไม่ออกมาเพ่นพ่าน

เหมือนเมื่อก่อนนี้ จะออกมาก็ต่อเมื่อ

มีอะไรไปกระตุ้น

 เช่นไปเห็นอะไรที่รักจริงๆอยากได้จริงๆ

 ถึงจะโผล่ออกมา

หรือโกรธจริงๆ เกลียดจริงๆ

 ถึงจะโผล่ออกมา

เวลาโผล่ออกมาก็เหมือนกับบอกให้รู้ว่า

ฉันยังไม่ตายนะ ฉันยังอยู่

 บางทีผู้ปฏิบัติเองก็ไม่รู้ คิดว่าสิ้นกิเลสแล้ว

 ถึงต้องไปหาคนเก่งๆอย่างหลวงตา

คอยช่วยกระทุ้งให้

 กิเลสมีเท่าไหร่เดี๋ยวก็ออกมาหมด

 เพราะท่านรู้วิธีกระทุ้งกิเลส

ท่านมีเทคนิคมีอุบายมีลีลาต่างๆเยอะแยะไปหมด

 มีทั้งลูกล่อลูกไล่

การไปอยู่กับครูบาอาจารย์

ที่ผ่านกิเลสมาอย่างโชกโชนแล้วจะมีประโยชน์มาก

 เพราะท่านจะช่วยทดสอบจิตใจของเรา

 ให้รู้ว่าสิ้นกิเลสหรือยัง

หรือมีแต่ตัวโลภโกรธหลงชนิดหยาบๆ

ที่ได้ถูกทำลายลงไปแล้ว

แต่ตัวขนาดกลางและขนาดละเอียดยังหลบซ่อนอยู่

เวลาเจริญปัญญาใหม่ๆ

จะพบกับกิเลสได้อย่างง่ายดายเพราะมีเต็มไปหมด

 ไม่ต้องไปตามหา เพราะกิเลสเพ่นพ่านอยู่ตลอดเวลา

 แต่พอพวกกิเลสส่วนหยาบถูกทำลายไปหมดแล้ว

 ขั้นต่อไปก็ต้องขุดคุ้ยหากิเลส

 เพราะจะหลบซ่อน ไม่ออกมาเพ่นพ่าน

เหมือนกิเลสหยาบๆทั้งหลาย

การปฏิบัติก็จะเป็นขั้นๆไป

จากรูปขันธ์ก็ขยับเข้าไปสู่นามขันธ์

 ในเบื้องต้นก็พิจารณารูปขันธ์ก่อน

 พิจาณาร่างกายให้เข้าอกเข้าใจ

อย่างถ่องแท้เลยว่าเป็นอย่างไร

 ก็มีอยู่สองสามลักษณะด้วยกันคือ

๑. อนิจจัง เห็นว่าร่างกายต้องแก่เจ็บตาย

ทั้งของเราและของผู้อื่น

ต้องมีการพลัดพลาดจากกันเป็นธรรมดา

 ต้องพิจารณาจนปล่อยวางร่างกายได้

 จะแก่ก็ไม่เดือดร้อน จะเจ็บไข้ได้ป่วยก็ไม่เดือดร้อน

 จะตายก็ไม่เดือดร้อน

จะพลัดพรากจากกันก็ไม่เดือดร้อนอะไร

จะรู้สึกเฉยๆ เป็นเรื่องธรรมดา

 ๒. พิจารณาดูความเป็นธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ

 ให้เห็นว่าร่างกายประกอบขึ้น

มาจากดินน้ำลมไฟ ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน

 มีการไหลเข้าออกของดินน้ำลมไฟอย่างต่อเนื่อง

ได้แก่อาหารชนิดต่างๆ

 อาหารก็มาจากดินน้ำลมไฟ

ข้าวก็ต้องออกมาจากดิน

 ผักก็ต้องออกมาจากดิน

 สัตว์ก็ต้องกินผักกินหญ้า

 ก็มาจากดินน้ำลมไฟ

 เมื่อเข้าสู่ร่างกายก็แปลงจากผัก

จากข้าวจากเนื้อสัตว์ มาเป็นผม เป็นขน เป็นเล็บ

 เป็นฟัน เป็นหนัง เป็นเอ็น เป็นกระดูก

 เป็นอวัยวะต่างๆ เมื่อร่างกายแตกสลายดับไป

 ก็กลับคืนสู่ดินน้ำลมไฟ ไม่ได้ไปไหน

ต้องพิจารณาอยู่เรื่อยๆ พิจารณาจนช่ำชอง

 คิดถึงปั๊บก็รู้เลย จนปล่อยวางได้

เหมือนกับถือก้อนดินไว้ก้อนหนึ่ง

 จะเสียดายทำไม

 จะคิดว่าเป็นของเราได้อย่างไร

เมื่อรู้ว่าเป็นดิน ถ้าเอามาใช้ประโยชน์ได้ก็ใช้ไป

เอามาปั้นเป็นลูกเล็กๆไว้ใช้กับหนังสติ๊ก

ไว้ยิงสัตว์ที่มารบกวน ก็ใช้ไป

 แต่ไม่ยึด ไม่ติด ไม่คิดว่าเป็นเรา เป็นของเรา

 ร่างกายก็เป็นเหมือนก้อนดินก้อนหนึ่ง

 เมื่อถึงเวลาที่จะกลับคืนสู่สภาพเดิม

 ก็ต้องกลับคืนไป

นี่คือการพิจารณาให้เกิดปัญญา

ในส่วนของร่างกาย

เพื่อกำจัดกิเลสชนิดต่างๆให้หมดสิ้นไป

 ๓. การพิจารณาอสุภะความไม่สวยงาม

เพราะถ้าไม่พิจารณา ก็จะเห็นแต่ความสวยงาม

 ทำให้เกิดราคะตัณหาความกำหนัดยินดีในกาม

 ก็ต้องพิจารณาจนเห็นว่าไม่สวยไม่งาม

เพราะถูกซ่อนอยู่ใต้ผิวหนัง

ถ้ามีตาเอ็กซเรย์ก็สามารถมองทะลุเข้าไปได้

 ก็จะเห็นอาการต่างๆ เช่นโครงกระดูก

ตับไตไส้พุงต่างๆ เป็นส่วนที่ไม่สวยงามเลย

เหมือนกับตับไตไส้พุง

ของหมูของวัวที่ขายในตลาด

แต่ถูกหุ้มห่อไว้ด้วยหนัง

จึงมองไม่เห็นความไม่สวยไม่งามนี้

จึงต้องใช้ปัญญาพิจารณาดูอยู่เรื่อยๆ

 จนติดตาติดใจ หรือจะพิจารณาดู

ตอนที่ตายไปแล้วว่าเป็นอย่างไรก็ได้

เวลาขึ้นอืดเป็นอย่างไร เช่นเวลาไปงานศพ

ควรไปปลงอนิจจังกัน คือความตาย

 ความไม่เที่ยงแท้แน่นอน

ควรพิจารณาอสุภะกัน

ว่าร่างกายนี้ไม่สวยไม่งามเลย

 ต้องพิจารณาจนกำจัดราคะตัณหา

ความกำหนัดยินดีให้หมดไป

เมื่อหมดไปแล้วการพิจารณาร่างกาย

ก็ไม่ต้องทำอีกต่อไป เพราะไม่มีปัญหาแล้ว

กลัวตายก็ไม่กลัวแล้ว กลัวแก่ก็ไม่กลัวแล้ว

กลัวเจ็บไข้ได้ป่วยก็ไม่กลัวแล้ว ไม่ยึดไม่ติดแล้ว

 รู้แล้วว่าเป็นเพียงดินน้ำลมไฟเท่านั้นเอง

จะไปหลงไปชอบ ว่าสวยว่างามได้อย่างไร

การพิจารณาร่างกายก็จบลงโดยปริยาย

 เพราะไม่เป็นปัญหากับจิตใจอีกต่อไป

 ต่อจากนั้นก็มีงานที่ละเอียดกว่านั้นอีก

ที่ต้องทำต่อ คือการพิจารณานามขันธ์ที่อยู่ในจิต

 ได้แก่เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

ที่จิตยังหลงยึดติดอยู่ ยังติดอยู่กับสังขาร

ความคิดปรุงแต่ง ยังชอบคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้

คิดแล้วก็มีความสุขบ้างมีความทุกข์บ้าง

 แต่พอมีความทุกข์ก็ไม่รู้จักระงับดับมัน

 เพราะติดสังขาร ไม่รู้จักหยุดคิด

จึงต้องพิจารณาแยกจิตผู้รู้

ออกจากสังขารความคิดปรุง

 แยกจิตออกจากเวทนา แยกจิตออกจากสัญญา

แยกจิตออกจากวิญญาณ

ให้เห็นว่าจิตกับขันธ์เป็นคนละส่วนกัน

 ขันธ์ออกมาจากจิต เป็นอาการของจิต

เหมือนกับฟองน้ำกับคลื่น

ที่ต้องอาศัยน้ำทำให้เกิดขึ้นมา

 เช่นเดียวกับเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ

 ต้องมีจิตถึงจะเกิดขึ้นมาได้

ท่านจึงเรียกว่าอาการของจิต แต่ไม่ใช่ตัวจิต

 ตัวจิตเป็นตัวที่ถาวร ไม่เปลี่ยนแปลง

 ไม่ตายไม่เกิดไม่แก่ไม่เจ็บ

 แต่ตัวขันธ์มีการเกิดดับๆอยู่เสมอ

มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ ดังที่ได้แสดงไว้

 เช่นเวทนาก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ จากสุขเป็นทุกข์

จากทุกข์เป็นสุข เป็นไม่สุขไม่ทุกข์

 วิญญาณที่รับรู้เรื่องต่างๆ ที่ผ่านมา

ทางตาทางหูทางจมูกทางลิ้นทางกาย

ก็รับรู้ไปแล้วก็ดับไป เกิดดับๆตลอดเวลา

 เห็นรูปนี้แล้วก็รับรู้ พอรูปนี้ดับไป

ความรับรู้รูปนี้ก็ดับไปด้วย

 เช่นเห็นรูปของนาย ก. พอนาย ก. เดินผ่านไป

 ความรับรู้รูปของนาย ก. ก็หายไป

พอเห็นนาย ข. ก็รับรู้นาย ข. ต่อ

ก็เกิดดับๆ รับรู้อยู่อย่างนี้ไปเรื่อยๆ

เปลี่ยนไปตามสิ่งที่มาสัมผัส

กับตาหูจมูกลิ้นกาย

 เรียกว่าวิญญาณผู้รับรู้

รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

ต่อจากนั้นสัญญาก็ทำงานต่อ

 รูปนี้เป็นใครหนอ อ๋อเป็นคุณนั่นคุณนี่

 เรียกว่าสัญญาความจำได้หมายรู้

 รู้ว่าคนนี้น่ารักไม่น่าชังเพราะเคยให้เงินให้ทอง

 จึงน่ารัก ก็ดีอกดีใจ

แต่คนนี้เคยมาทวงหนี้ทวงสิน

 ก็น่าเบื่อน่ารังเกียจ

เรียกว่าสัญญาความจำได้หมายรู้

แล้วก็ทำให้เกิดเวทนาตามมา

เวลาเห็นภาพที่ถูกใจ ก็เกิดสุขเวทนา

เห็นภาพที่ไม่ถูกใจก็เกิดทุกขเวทนา

 เห็นภาพที่เฉยๆก็เกิดไม่สุขไม่ทุกขเวทนาขึ้นมา

 ต่อจากนั้นก็เกิดสังขาร

ความคิดปรุงแต่งตามมา ว่าจะทำอย่างไรดี

ถ้าเห็นคนน่ารักน่ายินดีก็ต้อนรับขับสู้

เป็นอย่างไร สบายดีหรือ

 เป็นการทำงานของสังขารความคิดปรุงแต่ง

 ถ้าเจอเจ้าหนี้ก็เตรียมทางหนีทีไล่

มองซ้ายมองขวา

 เป็นการทำงานของสังขารความคิดปรุงแต่ง

 คิดว่าจะไปทางไหนดี

ถ้าหลบไม่ได้หลีกไม่ได้ก็ทำใจดีสู้เสือ

เป็นหน้าที่ของสังขาร

 แล้วก็ทำให้เกิดทุกข์สุขขึ้นมา

 ถ้ามีปัญญาสังขารก็จะอยู่ในกระแสของธรรม

ของเหตุของผล โดยคิดไปว่า

เกิดมาแล้วก็ต้องใช้กรรมที่สร้างเอาไว้

เมื่อผลปรากฏขึ้นมาก็ไม่ต้องไปกลัวมัน

 เจ้าหนี้มาทวงหนี้ก็คุยกันไป

มีอะไรให้เขาได้ก็ให้เขาไป

ไม่มีอะไรก็ให้เขาด่าให้เขาบ่นไป

หรือจะจับเข้าคุกเข้าตะรางก็ยอมให้จับไป

 ไม่หนี ไม่หวั่นไหว พร้อมที่จะชดใช้กรรม

นี้คือคิดด้วยธรรมะ คิดไม่ให้เกิดกิเลสตัณหา

 คือความอยากจะหนี

วิภวตัณหาคือความไม่อยากเจอคนนี้

 อยากจะหนีจากคนนี้ไป

หรือเวลาเกิดเจ็บไข้ได้ป่วย

 หมอก็บอกว่ามีเวลาอยู่ได้อีกหกเดือนเท่านั้น

 ถ้าคิดไปทางธรรมะ

ก็จะยอมรับความจริง จะไม่กลัว

 อะไรจะเกิดก็เกิด หนีไม่พ้น

เกิดมาก็ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตายด้วยกันทุกคน

 แต่ถ้าไม่มีธรรมะเลย

พอหมอบอกว่าอยู่ได้อีกหกเดือน

 หัวใจก็หล่นลงไปอยู่ที่เท้าเลย

 หมดกำลังใจที่จะอยู่ต่อไป

ไม่รู้จะทำอย่างไรดี

นี่คือสังขารความคิดปรุงแต่ง

การที่เรามาเจริญวิปัสสนาภาวนากันนี้

ก็เพื่อสร้างสังขาร

ให้คิดปรุงแต่งไปในทางธรรมะ

 เพื่อรับกับการทำงาน

ของเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ

 เวลาสัมผัสกับเหตุการณ์ต่างๆ

 เวลาไปอยู่ต่างประเทศ

ถ้าไม่รู้ภาษาที่เขาพูดกัน

 เราก็จะไม่รู้เรื่อง

เพราะสัญญาไม่สามารถสื่อความหมายได้

 ถ้าหมอบอกว่าคุณจะตายภายในหกเดือน

 ฟังแล้วก็ไม่รู้เรื่อง ก็จะรู้สึกเฉยๆ ไม่ตื่นเต้น

นี่คือการทำหน้าที่ของสัญญา

 เราสามารถปรับเปลี่ยนสัญญาได้

 ถ้าเราถูกสอนมาให้เห็นผิดเป็นชอบ

 เช่นสอนว่าร่างกายนี้เป็นเรา

ถูกสอนมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์

ถูกอวิชชาโมหะสอนมาตั้งแต่ก่อนเราเกิดแล้ว

 ว่าร่างกายนี้เป็นตัวเรา เป็นของเรา

นี่ก็เป็นสัญญาที่ไม่ถูก

การฟังเทศน์ฟังธรรม

ก็เป็นการแก้สัญญาที่ผิดให้ถูก

 แก้อวิชชาที่เป็นสัญญาที่ผิด

ให้เป็นธรรมะที่เป็นสัญญา

ที่ถูกตรงตามความเป็นจริง เรียกว่าวิปัสสนา

รู้ตามความเป็นจริง

 รู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริง

 ถ้ารู้ตามอวิชชาก็จะหลงผิด

ไม่เห็นตามความเป็นจริง

 แต่เห็นตรงกันข้ามกับความเป็นจริง

 เห็นกลับตาลปัตร เห็นตัวตนในสิ่งที่ไม่มีตัวตน

 เห็นความถาวรในสิ่งที่ไม่ถาวร

 เห็นความสุขในสิ่งที่เป็นความทุกข์

นี่คืออวิชชาความไม่รู้จริง โมหะความหลง

 ซึ่งมีอยู่ในใจของเราทุกคน เพราะยังวิ่งเข้าหา

ความทุกข์อยู่ตลอดเวลาโดยไม่รู้สึกตัว

เหมือนกับแมลงเม่าที่บินเข้ากองไฟ

ไม่รู้ว่าไฟมันร้อน

เห็นแสงสว่างก็คิดว่ามันสวยงาม

 น่าจะสนุกเพลิดเพลินดี

 พอได้มาแล้วก็ได้ความทุกข์มาแบกด้วย

 พอได้สามีได้ภรรยามา

ก็ต้องแบกความทุกข์กับสามีกับภรรยา

 พอได้ลูกมาก็ต้องแบกเพิ่มขึ้นไปอีก

 เพราะถูกโมหะอวิชชาหลอกให้แบก

เราจึงต้องเข้าวัดฟังเทศน์ฟังธรรมกัน

 เพื่อให้เกิดปัญญา แล้วก็ต้องเอาไปปฏิบัติ

 มันยากตรงที่ต้องปฏิบัติ เวลาฟังมันง่าย

 เหมือนคนติดยาเสพติด

ที่รู้ว่ายาเสพติดมีโทษมากกว่ามีคุณ

 แต่ก็เลิกไม่ได้

 พอถึงเวลาเสพใจจะสั่น ต้องมีความกล้าหาญ

 ต้องกล้าทิ้งมันไป หนีมันไป

 ถ้าอยู่ใกล้จะเลิกไม่ได้ ถ้ารู้ว่ากำลังติดอะไรอยู่

ก็ต้องตัดใจเลิกให้ได้.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

..........................

กัณฑ์ที่ ๒๗๔ วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๙

 (จุลธรรมนำใจ ๗)

“สมถะ วิปัสสนา”







ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ

Create Date :02 ตุลาคม 2559 Last Update :6 ตุลาคม 2559 9:23:26 น. Counter : 923 Pageviews. Comments :0