bloggang.com mainmenu search









มีคำเก่าได้ยินมานานแล้วประโยคหนึ่ง

คือที่พูดว่า “คนเราเกิดมาเพื่อใช้กรรมเก่า”

ความเชื่ออย่างนั้นไม่ใช่พุทธศาสนา

และต้องระวังจะเป็นลัทธินิครนถ์
.
ที่พูดกันมาอย่างนั้น

ความจริงก็คงประสงค์ดี

 คือมุ่งว่าถ้าเจอเรื่องร้าย

ก็อย่าไปซัดทอดคนอื่น

 และอย่าไปทำอะไรที่ชั่วร้าย

ให้เพิ่มมากขึ้น

 ด้วยความโกรธแค้นเป็นต้น

 แต่ยังไม่ถูกหลักพระพุทธศาสนา

 และจะมีผลเสียมาก
.
ลัทธินิครนถ์

 ซึ่งก็มีผู้นับถือในสมัยพุทธกาล

จนกระทั่งในอินเดียทุกวันนี้

 เป็นลัทธิกรรมเก่าโดยตรง เขาสอนว่า

 คนเราจะได้สุขได้ทุกข์อย่างไร

ก็เป็นเพราะกรรมที่ทำไว้ในชาติปางก่อน

 และสอนต่อไปว่า ไม่ให้ทำกรรมใหม่

 แต่ต้องทำกรรมเก่าให้หมดสิ้นไป

ด้วยการบำเพ็ญตบะ

จึงจะสิ้นกรรมสิ้นทุกข์

นักบวชลัทธินี้จึงบำเพ็ญตบะ

ทรมานร่างกายด้วยวิธีต่างๆ
.
คนที่พูดว่า เราอยู่ไปเพื่อใช้กรรมเก่านั้น

 ก็คล้ายกับพวกนิครนถ์นี่แหละ

 คิดว่าเมื่อไม่ทำกรรมใหม่

 อยู่ไปๆ กรรมเก่าก็คงจะหมด ต่างแต่ว่า

พวกนิครนถ์ไม่รอให้กรรมเก่าหมดไปเอง

 แต่เขาบำเพ็ญตบะ

เพื่อทำกรรมเก่าให้หมดไป

ด้วยความเพียรพยายามของเขาด้วย
.
มีคำถามที่น่าสังเกตว่า

“ถ้าไม่ทำกรรมใหม่ อยู่ไปๆ

 กรรมเก่าจะหมดไปเองไหม”
.
เมื่อไม่ทำกรรมใหม่

อยู่ไป กรรมเก่าก็น่าจะหมดไปเอง

 แต่ไม่หมดหรอก ไม่ต้องอยู่เฉยๆ

 แม้แต่จะชดใช้กรรมเก่าไปเท่าไรๆ

ก็ไม่มีทางหมดไปได้
.
เหตุผลง่ายๆ คือ
.
๑. คนเรายังมีชีวิต ก็คือเป็นอยู่

ต้องกินอยู่ เคลื่อนไหวอิริยาบถ

ทำโน่นทำนี่ เมื่อยังไม่ตาย ก็ไม่ได้อยู่นิ่งๆ
.
๒. คนเหล่านี้เป็นมนุษย์ปุถุชน

ก็มีโลภ โกรธ หลง

โดยเฉพาะความหลง หรือโมหะนี้

มีอยู่ประจำในใจตลอดเวลา

เพราะยังไม่ได้รู้เข้าใจ

ความจริงถึงสัจธรรม
.
เมื่อรวมทั้งสองข้อนี้ก็คือ

คนที่อยู่เพื่อใช้กรรมนั้น

เขาก็ทำกรรมใหม่อยู่ตลอดเวลา

 แม้แต่โดยไม่รู้ตัว

แม้จะไม่เป็นบาปกรรมที่ร้ายแรง

 แต่ก็เป็นการกระทำที่ประกอบด้วยโมหะ

 เช่นกรรมในรูปต่างๆ ของความประมาท

ปล่อยชีวิตเรื่อยเปื่อย
.
ถ้ามองลึกเข้าไปในใจ โลภะ โทสะ โมหะ

ก็ผุดโผล่ขึ้นมาในใจของเขาอยู่เรื่อยๆ

 ในลักษณะต่างๆ เช่น เศร้า ขุ่นมัว กังวล

อยากโน่นอยากนี่ หงุดหงิด เหงา

 เบื่อหน่าย กังวล คับข้อง ฯลฯ

นี่ก็คือทำกรรมอยู่ตลอดเวลา

 แถมเป็นอกุศลกรรมเสียด้วย

เพราะฉะนั้นอย่างนี้จึงไม่มีทางสิ้นกรรม

ชดใช้ไปเท่าไรก็ไม่รู้จักสิ้นสุด

 มีแต่เพิ่มกรรม
.
“แล้วทำอย่างไรจะหมดกรรม ?”

การที่จะหมดกรรม ก็คือ

ไม่ทำกรรมชั่ว ทำกรรมดี

และทำกรรมที่ดียิ่งขึ้น

คือแม้แต่กรรมดีก็เปลี่ยนให้ดีขึ้น

จากระดับหนึ่งขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง
.
พูดเป็นภาษาพระว่า

เปลี่ยนจากทำอกุศลกรรม

เป็นทำกุศลกรรม

และทำกุศลระดับสูงขึ้นไป

จนถึงขั้นเป็นโลกุตตรกุศล
.
ถ้าใช้ภาษาสมัยใหม่ ก็พูดว่า

 พัฒนากรรมให้ดียิ่งขึ้น

เราก็จะมีศีล มีจิตใจ มีปัญญา ดีขึ้นๆ

 ในที่สุดก็จะพ้นกรรม
.
พูดสั้นๆ ว่า กรรมไม่หมดไป

ด้วยการชดใช้กรรม

แต่หมดกรรมด้วยการพัฒนากรรม

 คือปรับปรุงตัวให้ทำกรรมที่ดียิ่งขึ้นๆ

จนพ้นขั้นของกรรมไป

ถึงขั้นทำ แต่ไม่เป็นกรรม

คือทำด้วยปัญญาที่บริสุทธิ์

ไม่ถูกครอบงำหรือชักจูง

ด้วยโลภะ โทสะ โมหะ

จึงจะเรียกว่า พ้นกรรม
.
พระพรหมคุณาภรณ์

(ป.อ.ปยุตฺโต)

.............................





ขอบคุณที่มา fb. วัดป่า
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ

Create Date :30 กันยายน 2559 Last Update :30 กันยายน 2559 18:44:23 น. Counter : 572 Pageviews. Comments :0