bloggang.com mainmenu search










“เจตนารมณ์ของการทำทาน”

เจตนารมณ์ของการทำทานของการบริจาคทรัพย์

ก็เพื่อให้เราหยุดใช้ทรัพย์

ไปทำตามความอยากนั่นเอง

 พอเราไม่ได้ทำตามความอยากแล้ว

ความอยากก็จะอ่อนกำลังลงไป

เช่นถ้าเราจะเอาทรัพย์ไปซื้อสุรามาดื่ม

 เราเอาทรัพย์นี้ไปให้ผู้อื่น จะให้ใครก็ได้

ให้พ่อให้แม่ให้เพื่อนให้ญาติสนิท

มิตรสหายให้โรงเรียน

 โรงพยาบาลให้วัดให้อะไรก็ได้

 ขอให้เราเอาไปให้เพื่อเราไม่เอาเงินนี้

มาซื้อสุรามาดื่มเท่านั้นเอง

พอทุกครั้งที่เราต้องการจะดื่มสุรา

เราก็เอาเงินนี้ไปซื้อของแล้วก็เอาไปให้คนอื่น

 หรือเอาเงินก้อนนี้ไปให้คนอื่น

 ต่อไปเราก็จะไม่ดื่มสุรา เราก็จะเลิกดื่มสุราได้

อันนี้คือเจตนารมณ์ของการทำทาน

 เพื่อให้เราหยุดความอยากในการใช้เงินทอง

ซื้อความสุขต่างๆ เพราะถ้าเราใช้เงินทอง

ซื้อความสุขต่างๆ เราก็ต้องวุ่นวาย

กับการหาเงินทองอยู่เรื่อยๆ

เพราะเมื่อเราใช้เงินทองไปแล้วเดี๋ยวมันก็หมด

 หมดแล้วเราก็ต้องไปหามาใหม่

หามาใหม่แล้วก็มาใช้ให้มันหมดอีก

แล้วก็ไปหามาอีก ก็จะเป็นวัฏจักรแบบนี้

 เป็นวงจรแบบอุบาทว์

เพราะเวลาใดที่เราไม่สามารถหาเงินหาทองได้

เวลานั้นเราก็จะเดือดร้อน

 เพราะความอยากมันไม่ได้หมดไป

กับการไม่มีเงินทอง

เราก็อาจจะต้องไปทำบาปทำกรรม

ไปทำอาชีพที่ไม่ถูกกฎหมาย

ก็จะทำให้เราต้องไปเสี่ยงกับการติดคุกติดตะราง

 เสี่ยงกับการที่จะต้องไปมีปัญหาไปมีเรื่องราวกับผู้อื่น

อันนี้ก็เป็นขั้นแรกที่พวกเราทำกันอยู่ในตอนนี้

ก็คือเราทำทานเพื่อหยุดความอยากต่างๆ

ทุกครั้งที่เราอยากจะซื้อของที่ไม่จำเป็น

 เช่นสุรา บุหรี่ หรือไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ

 หรือซื้อเสื้อผ้าชุดใหม่

ทั้งๆที่เรามีเสื้อผ้าอยู่เต็มตู้แล้ว

 รองเท้าคู่ใหม่ กระเป๋าใบใหม่

 หรือไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ

 เราเอาเงินนี้มาทำบุญ จะทำกับการกุศล

แบบไหนก็ได้ที่เราชอบใจ

ถ้าเราชอบช่วยเด็กก็ทำกับเด็ก

 ชอบช่วยคนแก่ก็ทำกับคนแก่

 ชอบช่วยโรงพยาบาลก็ทำกับโรงพยาบาล

 ชอบช่วยวัดก็ทำกับวัด เลือกทำเอาได้ทั้งนั้น

 ผลอยู่ที่ใจของเรา คือทำให้บั่นทอน

หรือตัดกำลังของความอยาก

ให้มันน้อยลงไปอ่อนลงไป

 ถ้าเราสามารถทำได้ทุกครั้ง

รับรองได้ว่าต่อไปเราจะอยู่บ้านอย่างมีความสุข

 ไม่ต้องออกนอกบ้านก็ได้ เช่นหยุด ๔ วันนี้

เราไม่ต้องไปไหนก็ได้ อยู่บ้าน จิตอยู่เฉยๆ

ไม่อยากออกไหน ก็จะมีเวลามาเจริญสติได้

 มีเวลารักษาศีลให้สะอาดบริสุทธิ์ได้

พอเราเจริญสติได้ มีเวลานั่งสมาธิ ใจก็จะสงบได้

 เราก็จะเข้าสู่ความสุขที่ดีกว่าเหนือกว่า

การออกไปหาความสุขด้วยการไปเที่ยวตาม

 สถานที่ต่างๆ และเราก็ไม่ต้องเหน็ดเหนื่อย

กับการเดินทาง ช่วงนี้เดินทางไปไหนมาไหน

ก็มีรถติดยาว ไปไหนก็มีคนมาก

ก็ต้องไปแย่งกันชุลมุน

 ไปซื้อของก็ไปแย่งกันซื้อ

ไปรับประทานอาหาร

ก็ไปแย่งกันรับประทานอาหาร

เพราะว่าทุกคนมีวันหยุดวันเดียวกัน

 แล้วก็มีความอยากเหมือนกันก็เลยไปที่เดียวกัน

พอคนหลายๆคนไปที่เดียวกัน

ก็ต้องเกิดการแก่งแย่งกันขึ้นมา

 แทนที่จะมีความสุขกลับมี

ความโกลาหลมีความวุ่นวายใจ

 แทนที่จะมีความสุขกลับไม่มีความสุข

บางทีก็คิดว่าไม่น่ามาเลย สู้อยู่บ้านดีกว่า

แต่อยู่บ้านก็อยู่ไม่ได้เพราะสู้ความอยากไม่ได้

เพราะเราไม่เคยทำบุญกัน

 ไม่เคยเอาเงินที่เราจะทำตามความอยากนี้

มาทำบุญกัน ถ้าทุกครั้งที่เราอยากแล้วเราเอาเงิน

ที่เราจะใช้กับความอยากนี้มาทำบุญมาทำทาน

ต่อไปความอยากจะไปข้างนอก

ไปหาความสุขจากรูปเสียงกลิ่นรส

 ไปหาความสุขจากสถานที่ต่างๆ นี้จะจางหายไป

ก็จะทำให้เราอยู่บ้านได้

อยู่บ้านเราก็สามารถที่จะเจริญสติ นั่งสมาธิได้

ฟังเทศน์ฟังธรรมได้

ฟังเทศน์ฟังธรรมก็จะเกิดปัญญาขึ้นมา

 แล้วเราก็จะเอาปัญญาที่ได้จาก

 การฟังเทศน์ฟังธรรมนี้

 มาใช้กับการปฏิบัติ มาหยุดความอยาก

คำสอนของพระพุทธเจ้า

ไม่ว่าจะมีมากน้อยเพียงไรนั้น

ก็มีเป้าอยู่ที่จุดเดียวก็คือ

การทำลายความอยากต่างๆ

 ให้หมดจากใจไปเท่านั้นเอง

ดังนั้นเราจึงต้องทำทานกัน

ทำจากน้อยไปหามาก

 ถ้าเราทำแล้วมีความสุข

 เราก็อยากจะทำเพิ่มมากขึ้นไปเรื่อยๆ

 จนถึงขีดหนึ่งเราก็อยากจะทำให้หมดเลย

 มีสมบัติข้าวของเงินทองมากน้อยเพียงไร

ก็ยกให้คนอื่นไปเลย

เพราะต้องการที่จะไปอยู่ตามสถานที่สงบสงัดวิเวก

 ก็คือการออกบวชนั่นเอง เพราะถ้าไม่ได้ออกบวชแล้ว

จะเป็นการยากต่อการที่จะไปอยู่ตามสถานที่วิเวกต่างๆ

เพราะเป็นฆราวาสนี้ก็จะเสี่ยงภัยได้

เพราะผู้อื่นก็จะคิดว่ามีทรัพย์สมบัติมีอะไร

 ก็อาจจะถูกโจรผู้ร้ายมาคอยจี้คอยปล้นได้

เวลาไปอยู่ตามสถานที่สงบสงัด

ห่างไกลจากบ้านเมือง แต่ถ้าบวชเป็นพระแล้ว

เขาก็รู้แล้วว่าไม่มีทรัพย์สมบัติอะไร

มีเพียงบริขารอยู่ ๘ ชิ้นที่เรียกว่า อัฐบริขารเท่านั้น

มีบาตรอยู่ ๑ ใบ มีผ้าอยู่ ๓ ผืน มีประคดเอว ๑ อัน

ประคดเอวก็คือเข็มขัด แล้วก็มีใบมีดโกน ๑ เล่ม

 มีด้ายกับเข็ม ๑ ชุด แล้วก็มีที่กรองน้ำ ๑ อัน

 นี่คือสมบัติของพระ ไปไหนก็จะมีเพียงแค่นี้

ก็จะไม่มีใครที่จะมาคิดมาปล้นมาจี้

เพราะไม่มีทรัพย์อะไรที่เขาต้องการนั่นเอง

เอาบาตรไปเขาก็เอาไปทำอะไรไม่ได้

เอาขายเขาก็รู้ว่าเป็นโจรไปขโมยของพระมา

นี่คือการทำทาน

สำหรับผู้ที่ต้องการที่จะเข้าหาความสงบ

ไม่ต้องการที่จะใช้เงินใช้ทองหาความสุข

ทำตามความอยากต่างๆ

 ก็จะสละสมบัติข้าวของเงินทองแล้วก็ไปบวช

ไปอยู่ตามวัดป่า วัดเขาที่อยู่ห่างไกลจากแสงสีเสียง

จากรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะชนิดต่างๆ

 แล้วก็รักษาศีลให้บริสุทธิ์ การรักษาศีลนี้ก็จะง่าย

 เพราะถ้าไม่มีความโลภอยากได้เงินทองแล้ว

ก็จะไม่มีปัญหากับเรื่องการรักษาศีล

 เหตุที่คนเราไม่สามารถรักษาศีลกันได้

เพราะยังมีความอยาก อยากได้เงินทอง

อยากได้ความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกายอยู่

พอไม่สามารถหาได้ด้วยวิธีที่ถูกต้อง

ไม่ผิดศีลไม่ผิดธรรม ก็จะหาโดยที่วิธีที่ไม่ถูกต้อง

เช่นฆ่าสัตว์ตัดชีวิต

 ลักทรัพย์ ประพฤติผิดประเวณี

โกหกหลอกลวง เสพสุรายาเมา

 แต่ถ้าเราไม่มีความอยากที่จะหาความสุข

ไม่มีความอยากที่จะหาเงินหาทอง

เราก็ไม่มีความจำเป็น

ที่จะต้องไป ทำบาปทำกรรมแต่อย่างใด

 เมื่อจิตใจของเราไม่ได้ทำบาปทำกรรม

มันก็จะไม่มีความว้าวุ่นขุ่นมัว

 ไม่มีความวิตกกังวล

หวาดกลัวกับวิบากกรรมต่างๆที่ได้ทำไว้

 เพราะไม่ได้ทำอะไรที่เป็นสิ่งที่จะทำให้

เกิดผลเสียหายตามมานั่นเอง ใจก็จะเย็นสบาย

ไปอยู่ในที่เปลี่ยนคนเดียวก็ไม่หวาดกลัว

 เพราะไม่ได้ไปทำบาป ทำกรรมไว้ให้กับใคร

 ก็จะสามารถอยู่ในสถานที่สงบสงัดได้

 ก็จะสามารถเจริญสติได้อย่างต่อเนื่อง

 พอเจริญสติได้อย่างต่อเนื่องเวลานั่งสมาธิ

ใจก็จะเข้าสู่ความสงบ

เวลาเข้าสู่ความสงบก็จะได้พบกับ

ความสุขที่ยิ่งใหญ่

ก็จะเห็นว่านี่แหละคือความสุขที่แท้จริง

 และเป็นสมบัติที่แท้จริง

 เป็นสิ่งที่ควรจะรักษาไว้ให้ได้

 เพราะว่าหลังจากที่ออกจากสมาธิมาแล้ว

 ถ้าไม่ควบคุมความอยาก

ความอยากก็จะมาทำลายความสงบอันนี้ได้

มาขโมยสมบัติอันนี้ได้

ดังนั้นเวลาออกจากสมาธิมาแล้ว

 จิตยังมีความสงบอยู่ถ้าไม่มีความอยาก

 แต่ถ้าเกิดความอยากขึ้นมาแล้ว

ความสงบความสุขนั้นก็จะจางหายไป

ถ้าอยากจะรักษาความสุขความสงบที่ได้จากสมาธิ

 หลังจากออกจากสมาธิมาแล้ว

จึงจำเป็นต้องใช้ปัญญาคอยสกัดความอยากต่างๆ

 คอยเตือนใจว่าอย่าทำตามความอยาก

เพราะการได้ทำตามความอยากนี้

 ได้ความสุขที่ปลอม เป็นความสุขเดี๋ยวเดียว

 และเป็นความสุขที่จะทำให้ต้องคอยเติมอยู่เรื่อยๆ

ถ้าเราไม่ทำตามความอยาก หยุดความอยากได้

เราก็จะรักษาความสุขที่ได้จากความสงบต่อไปได้

อันนี้คือการใช้ปัญญาสอนใจให้เห็นว่า

สิ่งที่เราอยากนั้นไม่ได้ให้ความสุขอย่างแท้จริง

 เพราะว่ามันไม่แน่นอน มันไม่เที่ยงแท้

มันไม่คงเส้นคงวา มันไม่เหมือนเดิม

เวลาได้อะไรมาใหม่ก็มีความสุข

แต่พอเวลาผ่านไปสิ่งที่ได้มาก็เริ่มเปลี่ยนไป

 พอเปลี่ยนไป ความสุขที่ได้จากสิ่งนั้นก็หายไป

 ก็จะได้ความทุกข์เข้ามาแทนที่

 เช่นของที่ดีเราใช้มันได้เราก็มีความสุข

พอของมันเสียขึ้นมา

 เราใช้มันไม่ได้เราก็มีความทุกข์

 นี่คือธรรมชาติของสิ่งต่างๆ ทั้งหลายในโลกนี้

 เขาเป็นอย่างนี้ เขาไม่เที่ยง เขามีเจริญมีเสื่อม

 มีเกิดมีดับ มีมามีไป

 มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

 แล้วเราก็ไม่สามารถไปควบคุมบังคับ

ไปสั่งให้เขาไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ให้ดับ

ไม่ให้หายไม่ให้เสื่อมได้

นี่คือธรรมชาติของสิ่งต่างๆ ทั้งหลายในโลกนี้

ที่พวกเรามักจะมองข้ามกันไปไม่คิดถึงมัน

 เวลาเราเห็นอะไรที่เราอยากได้

เราจะคิดว่ามันจะดี มันจะอยู่กับเราไปตลอด

 จะให้ความสุขกับเราไปตลอด

 เเต่พอได้มาแล้วความสุขที่ได้มาใหม่ๆ

ไม่นานก็หายไป มีความทุกข์กลับมาแทนที่

 เช่นความสุขที่ได้จากการมีคู่ครอง

เวลาที่ยังไม่มีคู่ครองนี้จะคิดว่า

ถ้ามีคู่ครองแล้วจะมีความสุข จะได้ขึ้นสวรรค์

 จะได้อยู่กันไปอย่างมีความสุขไปตลอด

จนถึงวันสิ้นสุดของชีวิต แต่ที่ไหนได้

หม้อข้าวยังไม่ทันดำเลย ก็หย่ากันแล้วก็มี

เพราะว่าเมื่อมาอยู่ใกล้กันแล้ว

ก็จะเกิดการเห็นสิ่งต่างๆ ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

 เวลานานๆ เจอกันครั้งหนึ่ง

ต่างฝ่ายต่างจะเอาด้านดีมาเสนอกัน

แต่พอมาอยู่ด้วยกันแล้ว มันก็อดไม่ได้

ที่จะต้องปล่อยให้ด้านที่ไม่ดีออกมา

 พอเห็นด้านที่ไม่ดีแล้ว ก็เลยเกิดความเสียใจ

 เกิดความผิดหวังขึ้นมา เกิดความทุกข์ใจขึ้นมา

 ก็จะไม่อยากจะอยู่กันต่อไป บางคู่นี้อยู่ด้วยกัน

ไม่ถึง ๖ เดือนก็แยกทางกันแล้ว

อันนี้คือความไม่เที่ยงนี่เอง อนิจจัง

 ความทุกข์ที่เกิดจากอนิจจัง

ทุกข์ที่เกิดจากอนัตตา

ก็คือเขาไม่ใช่ของเรา

เขาไม่อยู่ภายใต้คำสั่งของเรา

เราไปสั่งให้เขาเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ไม่ได้

 อันนี้คือปัญญาที่เราควรที่จะ สอนใจอยู่เรื่อยๆ

โดยเฉพาะเวลาที่เราอยากได้อะไร

พยายามมองให้เห็นส่วนที่ไม่ดีของสิ่งที่เราอยากได้

ถ้าเห็นแล้วเราก็จะไม่อยากได้

 เช่นอยากจะได้ใครมาเป็นคู่ครอง

ลองถาม ถ้าเกิดเขาตายไปจะทำอย่างไร

ถ้าเกิดเขาพิกลพิการไปจะทำอย่างไร

เขาจะให้ความสุขกับเราได้หรือเปล่า

 ถ้าเกิดเขาเป็นบ้าไปอย่างนี้ จะทำอย่างไร

ถ้าเกิดเขาเปลี่ยนจากคนดีมาเป็นคนไม่ดี

จะเป็นอย่างไร

 ถ้าเราถามปัญหาเหล่านี้แล้ว

เราจะ ไม่อยากได้อะไร

 ทุกสิ่งทุกอย่างนี้ มีสิทธิที่จะเปลี่ยน

จากดีไปเป็นไม่ดีได้

ทุกสิ่งทุกอย่าง จะเปลี่ยนจากการมี

เป็นการไม่มีไปก็ได้

อันนี้คือเรื่องที่เราต้องพยายาม

มองให้เห็นอยู่ตลอดเวลา

 แล้วเราจะไม่อยากได้อะไร เราจะหยุดความอยากได้

 พอหยุดความอยากได้ แทนที่เราจะมีความทุกข์

เรากลับมีความสุขเพราะใจของเราจะสงบ

จะกลับเข้าสู่ความสงบ จะไม่วุ่นวาย

จะไม่กระวนกระวายกระสับกระส่าย

 จะไม่มาเศร้าโศกเสียใจ

กับสิ่งที่ได้มาแล้วต้องเปลี่ยนไป

 ในภายหลัง นี่คือปัญญาที่เราต้องใช้

 แต่ก่อนที่เราจะใช้ปัญญาได้

เราต้องมีความสงบก่อน

เพราะเราไม่มีความสงบ เราจะไม่รู้ว่า

เราหยุดความอยากนี้เพื่ออะไร

คนที่ไม่มีสมาธิจึงหยุดความอยากไม่ได้

เพราะว่ายังไงๆก็ดีกว่าไม่มีอะไรเลย

 เพราะไม่รู้ว่าการไม่มีความอยากนี้เป็นความสุข

 เพราะเรายังไม่ได้เข้าสู่จุดนั้น

 เรายืนอยู่บนจุดของความอยากตลอดเวลา

 เวลาเกิดความอยากแล้วไม่ได้ทำตามความอยากนี้

 มันเหมือนตกนรก เช่นหยุด ๔ วันนี้

ถ้าไม่ได้ออกจากบ้านไปเที่ยวแล้ว

 จะเหมือนกับตกนรกทั้งเป็น เหมือนติดอยู่ในคุก

ต้องออกไปกัน ออกนอกบ้านกัน

 แต่ไม่รู้หรอกกลับมาก็จะเหมือนเดิม

ออกไป ๔ วันกลับมาอยู่ที่บ้านก็ซึมเศร้า

 เศร้าสร้อยหงอยเหงาเหมือนเดิม

 อยากจะออกไปอีก

แต่ถ้าเราทนต่อสู้กับความอยาก

จนความอยากนี้สลายตัวไป

 เราจะเห็นความสงบที่เกิดขึ้นตามมา

อันนี้เราไม่เห็นกัน

เราจึงไม่มีกำลังที่จะสู้กับความอยากได้

 เราจึงต้องทำใจให้สงบก่อน

 ต้องหยุดความอยากชั่วคราวก่อน

 ด้วยการเจริญสติ ควบคุมความคิด

ควบคุมความอยาก พอจิตไม่คิดไม่อยากแล้ว

จิตก็จะเข้าสู่ความสงบได้ พอเข้าสู่ความสงบแล้ว

ก็จะเห็นคุณค่าของความสงบ

 เห็นโทษของความอยาก

 แล้วเวลาออกจากความสงบมา

พอเริ่มเกิดความอยากก็จะได้ใช้ปัญญาสอนใจได้

 พอสอนใจปั๊บ ใจก็จะหยุดความอยากตาม

เพราะไม่อยากจะทุกข์นั่นเอง

 ถ้ารู้ว่าคนนี้เป็นต้นเหตุ ของความทุกข์

 ใครอยากจะไปทุกข์กัน ก็หยุดความอยากกัน

 ที่มีพระวามอยากพุทธเจ้ามีพระอรหันต์

เพราะท่านมีปัญญาอย่างนี้

 ท่านจึงเป็นพระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ได้.


พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

............................

ธรรมะบนเขา วันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๖

“ความสงบ”







ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ

Create Date :17 กันยายน 2559 Last Update :17 กันยายน 2559 9:34:34 น. Counter : 985 Pageviews. Comments :0