bloggang.com mainmenu search















“มรรคของนักบวช”

มรรคก็คือเครื่องมือที่จะทำให้หยุดความอยากได้

ถ้าหยุดความอยากได้ ก็จะหยุดความทุกข์ได้

 มรรคที่ทรงสอนให้แก่นักบวช

ก็คือมรรคที่มีองค์ ๘

 คือสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ

สัมมาสังกัปโป ความดำริชอบ

 สัมมากัมมันโต การกระทำชอบ

 สัมมาวาจา การพูดวาจาชอบ

สัมมาอาชีโว การมีอาชีพชอบ มีสัมมาอาชีพ

สัมมาวายาโม มีความขยันหมั่นเพียรชอบ

สัมมาสติ มีการระลึกรู้ชอบ

 และสัมมาสมาธิ มีความตั้งมั่นของจิตชอบ

 นี่ก็คือมรรคที่มีองค์ ๘

 เป็นคุณธรรมที่จะทำให้จิต

สามารถหยุดความอยากต่างๆ

 ที่มีอยู่ภายในใจได้

 สามารถดับความทุกข์ต่างๆ

 ที่เกิดขึ้นมาภายในใจได้

ต้องมีมรรคที่เป็นองค์ ๘ นี้

ที่ทรงแสดงมรรคที่เป็นองค์ ๘ ก็เพราะว่า

ทรงแสดงให้แก่นักบวชนั่นเอง

ซึ่งถ้าย่อมรรคที่เป็นองค์ ๘ นี้ลงมา

ก็จะได้ ๓ ส่วนคือ ศีล สมาธิ ปัญญา

ศีลก็คือสัมมากัมมันโต

 สัมมาวาจา และสัมมาอาชีโว

 คือการกระทำชอบ

การพูดชอบ การมีอาชีพชอบ

 การกระทำชอบคืออะไร

 ก็คือการไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต

 ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดประเวณี

ไม่เสพสุรายาเมาและอบายมุขต่างๆ

เรียกว่า สัมมากัมมันโต คือศีล

 และก็มีสัมมาวาจา คือมีการพูดที่ชอบ

การพูดที่ชอบก็คือการไม่พูดปด

การไม่พูดคำหยาบ การไม่พูดเพ้อเจ้อ

การไม่พูดส่อเสียด นี่เรียกว่า สัมมาวาจา

 ส่วนสัมมาอาชีโวก็คือ การมีอาชีพชอบ

ก็คืออาชีพที่ไม่ไปเบียดเบียน ไปสร้างความทุกข์

ความเดือดร้อน ให้แก่ผู้อื่น หรือส่งเสริมให้ผู้อื่น

ไปสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น

 เช่นการจำหน่ายสุรายาเมา

อันนี้ก็เป็นการส่งเสริมให้ผู้อื่น

 ดื่มแล้วเกิดอาการมึนเมาก็จะไปสร้าง

ความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น

หรือมีอาชีพขายศาสตราวุธที่จะเอาไปฆ่าฟันกัน

หรือมีอาชีพขายสิ่งที่ใช้กับการดักสัตว์

อันนี้ก็จะไปทำลายชีวิตของสัตว์

หรือทำอาชีพที่มีการฆ่าสิ่งที่มีชีวิต

เช่น ฆ่าเป็ด ฆ่าไก่ ฆ่าวัว ฆ่าควาย ฆ่าหมู

อาชีพเหล่านี้เป็นการเบียดเบียนผู้อื่น

 เป็นอาชีพที่ไม่พึงกระทำ นี่คือองค์ของศีล

ส่วนองค์ของสมาธิก็มีอยู่ ๓ ได้แก่

 สัมมาวายาโม ความเพียรชอบ

สัมมาสติ ความระลึกชอบ

 และสัมมาสมาธิ ความตั้งมั่นของจิตชอบ

 สัมมาวายาโม คืออะไร ก็เพียรปฏิบัติ

เจริญสติอย่างต่อเนื่อง

 เพียรรักษาศีล ให้สะอาดบริสุทธิ์

 แล้วก็เพียรเจริญสติในอิริยาบถ ๔

ตั้งแต่ตื่นจนหลับ

 ไม่ให้จิตลอยไปลอยมา

ไม่ให้จิตไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้

ให้จิตระลึกรู้อยู่กับอารมณ์ของกรรมฐาน

 อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งจะใช้พุทโธก็ได้

ก็ให้ระลึกถึงคำว่าพุทโธไปทั้งวัน

ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม

ก็ให้บริกรรมพุทโธๆ ไปภายในใจ

หรือว่าจะใช้ร่างกาย เป็นที่ระลึกรู้ก็ได้

ให้ระลึกรู้เฝ้าดูอยู่กับการเคลื่อนไหวของร่างกาย

ไม่ว่าร่างกายกำลังจะทำอะไร

 ก็ให้รู้อยู่กับการกระทำนั้นๆ

ไม่ให้ทำแล้วก็ไปคิดเรื่องอื่น

 ถ้าเรากำลังรับประทานอาหาร

แล้วเราไปคิดถึงเรื่องงานการที่เราจะทำ

 อย่างนี้เรียกว่าไม่มีสติ ไม่มีการระลึกชอบ

ถ้าเป็นการระลึกชอบนี้จะต้องรู้อยู่ทุกอิริยาบถ

ของการรับประทานอาหาร

ขณะที่ตักอาหารเข้าปาก

 ขณะที่เคี้ยวอาหารอยู่ในปาก

 ขณะที่กลิ่นอาหารเข้าไป

 ใจจะเฝ้าดูการกระทำของร่างกายอย่างต่อเนื่อง

ถ้าเวลานักปฏิบัติหรือพระฉันอาหาร

รับประทานอาหาร

เราจะสังเกตเห็นว่าท่านไม่คุยกัน

 เพราะว่าท่านกำลังเจริญสติ

ควบคู่กับการรับประทานอาหาร

 ท่านจะเฝ้าดูทุกอิริยาบถ

ของการรับประทานอาหาร

 ตั้งแต่ตักอาหารเข้าไปในปาก

 เคี้ยวอาหารกลืนอาหารเข้าไป

 ถ้าเป็นผู้ที่ไม่ปฏิบัติ เช่น ฆราวาสญาติโยม

เราจะเห็นว่าเวลารับประทานอาหารกัน

ก็จะมีการสนทนากัน มีการหัวเราะกัน

 มีการกระทำอะไรต่างๆ

นอกจากการรับประทานอาหาร

นั่นแสดงว่าไม่มีสติ ไม่มีความระลึกชอบ

นี่คือเรื่องของสติ เพราะก่อนที่จะนั่งสมาธิ

ให้มีสัมมาสมาธิให้มีความสงบตั้งมั่นได้

จำเป็นจะต้องสติคอยควบคุมความคิด

คอยควบคุมจิตไม่ให้ลอยไปลอยมา

 ไม่ให้ลอยไปในอดีต ไม่ให้ลอยไปในอนาคต

 ให้ตั้งอยู่ในปัจจุบัน

 ให้อยู่กับการบริกรรมพุทโธก็ได้

 หรือให้อยู่กับการกระทำ

การเคลื่อนไหวของร่างกายก็ได้

 ถ้ามีสติระลึกรู้อยู่อย่างนี้ เวลานั่งสมาธิ

จิตก็จะสงบได้อย่างง่ายดาย

เพราะจิตจะไม่ไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้

 เมื่อไม่คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้

 จิตก็จะรวมตัวเข้าสู่ความสงบ

เวลาจิตสงบนี้ก็จะมี ๒ ลักษณะ ว่าตั้งอยู่ที่ไหน

 ตั้งอยู่ที่ความว่าง ความเป็นอุเบกขา

หรือตั้งอยู่ที่การรับรู้ เรื่องราวต่างๆ

 ถ้าตั้งอยู่กับการรับรู้เรื่องราวต่างๆ

เช่นรู้นรก รู้สวรรค์ รู้เรื่องอดีต เช่นระลึกชาติได้

 หรืออะไรต่างๆ ที่มาปรากฏให้รับรู้นั้น

 อย่างนี้ไม่เรียกว่าเป็นสัมมาสมาธิ

เรียกว่าเป็นมิจฉาสมาธิ เป็นสมาธิที่ไม่ถูกไม่ควร

 เพราะไม่เป็นสมาธิที่จะทำให้จิตมีกำลัง

ที่จะเอาไปใช้ในการเจริญปัญญา

เพื่อหยุดความอยากต่างๆ

สมาธิแบบนี้จะไม่ได้ทำให้จิตเป็นอุเบกขา

จะไม่ได้ทำให้จิตวางเฉยปล่อยวาง

แต่กลับทำให้จิตมีความโลภ มีความอยาก

 เวลาได้เห็นสัมผัสกับเรื่องที่น่ายินดี

ก็อยากจะสัมผัสไปนานๆ

 เวลาไปสัมผัสรับรู้กับเรื่องที่ไม่น่ายินดี

 ก็อยากจะให้มันหายไป นี่คือมิจฉาสมาธิ

 ถ้าจิตไปรับรู้เรื่องราวต่างๆ

ขณะที่จิตเข้าสู่ความสงบ

ควรจะดึงจิตกลับมาหาองค์ภาวนา

มาภาวนาต่อถ้าบริกรรมพุทโธ

 ก็บริกรรมพุทโธต่อไป ถ้าดูลมก็ดูลมต่อไป

หรือถ้าสติดึงให้จิตกลับเข้ามาสู่ความว่างได้

ก็ดึงกลับเข้ามา ให้กลับมาสู่

ความเป็นอุเบกขาวางเฉย

 สักแต่ว่ารู้ ไม่รับรู้อะไร ให้รู้อยู่กับความว่าง

 ให้รู้อยู่กับความรู้ของตนคือ รู้อยู่กับตัวรู้เท่านั้น

 อันนี้ถึงจะเรียกว่าเป็นสัมมาสมาธิ

 เวลาที่จิตอยู่ในสมาธิที่เป็นสัมมาสมาธินี้

 ก็ไม่ควรไปรบกวน ไม่ควรไปทำอะไรในตอนนั้น

เช่นไม่ควรเจริญปัญญา

 เวลานั้นเป็นเวลาที่จะพักจิต เวลาให้อาหารกับจิต

อาหารของจิตก็คือความสงบ

 ความเป็นอุเบกขานี่เอง

ถ้าจิตได้สงบนานเท่าไร มีอุเบกขานานเท่าไร

 จิตก็จะมีกำลังมากขึ้นไปเท่านั้น

 กำลังที่จะต่อสู้กับความอยากต่างๆ

หลังจากที่ออกจากสมาธิมาแล้ว

พอออกจากสมาธิมาแล้ว จิตก็ต้องเจริญปัญญา

 คือเจริญสัมมาทิฏฐิกับสัมมาสังกัปโปเต็มที่

สัมมาทิฏฐิคืออะไร ก็คือความเห็นชอบ

เห็นอะไรจึงเห็นว่าเห็นชอบ

 ก็เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้

เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั่นเอง

เห็นว่าทุกอย่างไม่เที่ยง มีเกิด มีดับ

 เห็นว่าทุกอย่างไม่ใช่ตัวเราของเรา

 ไม่ใช่เป็นสิ่งที่เราจะสามารถไปสั่ง

ให้เขาเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ได้

ถ้าไปเกิดความอยากให้เขาเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้

เวลาเขาไม่เป็นก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมา

นี่คือสัมมาทิฏฐิ ต้องให้เห็นว่า

ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์

 ไม่อยู่ภายใต้อำนาจของเรา

ถ้าเราเห็นว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

เราก็จะไม่อยากได้ แต่ที่เราเห็นอะไรแล้ว

เรามักจะอยากได้กัน ก็เพราะว่าเราเห็นว่า

เป็นนิจจัง ทุกขัง อัตตานั่นเอง

 นิจจังก็คือว่าเที่ยงแท้ แน่นอน

สุขังก็คือ ได้มาแล้วจะให้มีความสุข จะได้ความสุข

 ได้มาแล้วจะเป็นของเรา จะอยู่กับเราไป

 จะอยู่ภายใต้คำสั่งของเรา

แต่ความจริงมันไม่ได้เป็นอย่างนั้น

ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม พอได้มาแล้วไม่ช้าก็เร็ว

มันก็มีการเปลี่ยนแปลงไป มีการเสื่อมไป

มีการชำรุดทรุดโทรมมีการสูญไปหายไปเสียไป

เวลานั้นถ้าเกิดความอยากให้เขาไม่สูญไม่เสีย

 ไม่เปลี่ยนก็จะเกิดความทุกข์ใจขึ้นมา

 ดังนั้นเราต้องเจริญสัมมาทิฏฐิอยู่เรื่อยๆ

คือปัญญาสอนใจอยู่เรื่อยๆว่า

ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ ไม่เที่ยงแท้แน่นอน

 ไม่ใช่เป็นของเรา เราสั่งเขาไม่ได้

ถ้าเราไปอยากให้เขาเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้

เวลาเขาไม่เป็นตามความอยาก

ก็จะเกิดความทุกข์ใจขึ้นมา

 แล้วก็ให้พิจารณาความไม่สวยไม่งามของร่างกาย

ว่าร่างกายนี้ไม่สวยงามอย่างที่เราคิดกัน

สวยงามเพราะว่า มีการตกแต่งเฉพาะผิว

 ถ้ามองลึกเข้าไปใต้ผิวหนังแล้ว

ก็จะเห็นส่วนที่ไม่สวยงามของร่างกาย

 ร่างกายไม่ใช่แต่หน้า มีแต่ผม มีแต่หนังเท่านั้น

 ยังมีอวัยวะต่างๆ อีกถึง ๓๒ อาการด้วยกัน

มีเนื้อมีเอ็นมีกระดูก

กระดูกก็ตั้งแต่กระโหลกศีรษะลงไป

โครงกระดูก กระดูกแขน กระดูกขา กระดูกมือ

 กระดูกอะไรต่างๆ เหล่านี้

นี่คือส่วนที่ไม่สวยงามของร่างกาย

ที่มองไม่เห็นกัน

ถ้าไม่ใช้ปัญญา ไม่ใช้สัมมาสังกัปโป

คือใช้ความคิด คิดขึ้นมา เราต้องพิจารณา

คำว่าพิจารณาก็คือให้คิด

ในสิ่งที่จะทำให้เราเห็นความจริง

 เพื่อที่เราจะได้ไม่หลง จะได้ไม่ถูกความหลง

หลอกให้เห็นความไม่จริง

 ความไม่จริงก็คือความสวยงาม

ความน่ารักของร่างกายนี่เอง

 ถ้าจะว่าสวยงามน่ารัก

ก็เป็นน่ารักสวยงามเพียงบางส่วน

 และก็บางเวลาเท่านั้น แม้แต่หน้าตาที่น่ารักนี้

 ไม่ช้าก็เร็วก็ต้องเสื่อมไป

 ผิวหนังก็ต้องเหี่ยวย่นลงไป

ผมเผ้าก็จะต้องบางหรือกลายเป็นสีขาวไป

 อันนี้ก็จะทำให้รูปร่างหน้าตาที่สวยงามนั้น

กลายเป็นรูปร่างหน้าตาที่ไม่สวยงามไป

หรือเวลาที่ร่างกายนี้ไม่หายใจแล้ว

ถ้าปล่อยไว้ไม่ทำอะไรต่อไปก็จะต้องขึ้นอืด

พองขึ้นมาแล้วก็จะเปลี่ยนสี

เป็นช้ำเขียวช้ำเลือดช้ำหนอง

 แล้วก็จะพองแล้วก็จะแตก น้ำที่มีอยู่ในร่างกาย

ก็จะไหลซึมออกมาส่งกลิ่นเหม็น

นี่คือความไม่สวยงามของร่างกาย

ที่ ถ้าไม่มีสัมมาทิฏฐิจะมองไม่เห็น

จะเห็นแต่ส่วนที่สวยงามเพียงอย่างเดียว

 จึงต้องใช้สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป คือความคิด

คิดไปในส่วนที่ไม่สวย

เพื่อจะได้ไม่หลงยึดติดกับร่างกาย

 ไม่หลงไปรักร่างกายที่สวยเฉพาะบางส่วนบางเวลา

 พอได้มาแล้วก็จะเห็นส่วนที่ไม่สวยตามมาต่อไป

ถ้าเห็นว่าร่างกายไม่สวย

ก็จะไม่เกิดความอยากที่จะมีคู่ครอง

 ที่มีคู่ครองกันนี้ก็เพราะว่ามองไม่เห็น

ส่วนที่ไม่สวยของร่างกายนั่นเอง

 ที่หย่ากันก็เพราะว่าไปเห็นส่วนที่ไม่สวยกัน

 หลังจากที่แต่งงานกันแล้ว

จึงไปเห็นส่วนที่ไม่สวยงามของร่างกาย

จึงทนอยู่ด้วยกันไม่ได้ ต้องหย่าร้างกันไป

อันนี้ก็เป็นเรื่องของปัญญา

หรือเรียกว่าเรื่องของสัมมาทิฏฐิสัมมาสังกัปโป

 นี่คือองค์ประกอบของมรรค ๘

ที่แบ่งได้เป็น ๓ กลุ่ม ๆ ของศีล กลุ่มของสมาธิ

 และกลุ่มของปัญญา เป็นมรรคที่พระพุทธเจ้า

ทรงสอน ให้แก่นักบวช

แต่ถ้าเวลาสอนให้แก่ฆราวาสผู้ครองเรือน

 ก็ทรงสอนทาน ศีล ภาวนา

เพราะว่าฆราวาสต่างกับ นักบวชตรงที่

นักบวชไม่มีทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทอง

 ส่วนฆราวาสยังมีทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทองอยู่

 จึงจำเป็นต้องสอน

ให้สละทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทอง

 ถ้าไม่สละก็จะไม่สามารถรักษาศีลได้

ไม่สามารถภาวนาได้

 ภาวนาก็เป็นส่วนของสมาธิและปัญญานี่เอง

 เรียกว่า สมถภาวนาก็แปลว่า สมาธิคือความสงบ

วิปัสสนาภาวนาก็คือ การรู้เเจ้งเห็นจริง

ก็ต้องเห็นด้วยปัญญา จึงจะรู้แจ้งเห็นจริง

เห็นอะไรก็เห็นไตรลักษณ์นี่เอง

เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

เห็นว่าทุกข์เกิดจากความอยาก

 การจะดับความทุกข์

ก็ต้องเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

 ถึงจะหยุดความอยากได้.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

.............................

ธรรมะบนเขา วันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๕๖

“วันเกิดของพระพุทธศาสนา”






ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ

Create Date :11 กันยายน 2559 Last Update :11 กันยายน 2559 10:44:28 น. Counter : 722 Pageviews. Comments :1