bloggang.com mainmenu search









“ความกลัว”

เวลาเกิดความกลัวท่านสอนว่า

อย่าส่งจิตไปคิดถึงเรื่องนั้น

 ให้คิดถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

สวดอิติปิโสฯ สวากขาโตฯ

 สุปฏิปันโนฯไปเรื่อยๆ

 ทำสมาธิด้วยการสวดมนต์

เจริญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ

 เมื่อจิตไม่คิดถึงเรื่องที่ทำให้กลัวแล้ว

 ความกลัวก็หายไป ความกลัวไม่ได้อยู่ข้างนอก

 แต่อยู่ข้างในใจเรา

 เกิดจากจิตไปคิดปรุงแต่งขึ้นมา

 มีอุปาทานกลัวตายนั่นเอง

 กลัวจะเจอกับสิ่งที่ไม่ปรารถนา

ถ้าจิตไม่มีโอกาสได้คิดก็จะไม่กลัว

อย่างตอนนี้ไม่กลัวใช่ไหม เพราะไม่ได้คิด

 แต่พอไปคิดปั๊บก็จะกลัว ตอนนี้นั่งอยู่ที่นี่กันเยอะๆ

ไม่มีใครกลัว แต่เย็นนี้ถ้านั่งอยู่คนเดียว ก็จะกลัว

 ที่ก็ที่เดียวกัน ไม่มีอะไรแตกต่างกัน

ความกลัวอยู่ในใจ

ถ้าอยู่ที่นี่ด้วยกันทั้งคืนก็ไม่กลัว

แต่ถ้าอยู่คนเดียวก็จะกลัว

เวลากลัวอย่าส่งจิตไปคิดถึงสิ่งที่กลัว

นี่เป็นอุบายอย่างหนึ่ง

 อุบายอย่างที่สองก็คือการเจริญปัญญา

ใช้ปัญญา เกิดมาแล้วต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย

ถ้าจะตายตอนนี้ก็ให้มันรู้ไป ยอมตาย

ถ้ายอมตายได้ก็หายกลัว

ถ้ายังไม่กล้าพอที่จะสละชีวิตก็อย่าไปคิดถึงมัน

 สวดมนต์ไปก่อน คิดถึงพระพุทธ

พระธรรม พระสงฆ์ไปเรื่อยๆ

เวลาตกใจมากๆก็พุทโธๆๆ อรหังสัมมาฯ

 จิตก็จะสงบได้นะ ที่พระท่านต้องไปอยู่ที่กลัวๆ

 ก็จะได้บังคับจิตให้เข้าหา

พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

 ให้เข้าหาบทสวดมนต์

พอสวดแล้วก็ไม่ได้คิดเรื่องที่ทำให้กลัว

พอสวดไปปั๊บเดียว

ดีไม่ดีจิตก็รวมลงสงบนิ่งเลย

 แล้วก็จะรู้ว่า เมื่อสักครู่นี้กลัว

แต่เดี๋ยวนี้ไม่กลัวแล้ว

 พอไม่กลัวแล้วก็ไม่เห็นมีอะไร

 เพราะใจไปคิดเอง

 เห็นใบไม้ขยับหน่อยก็คิดว่าอะไรมาแล้ว

 ใจไปคิดเอง ลมอาจจะพัดมาก็ได้

หรือตุ๊กแกหรือจิ้งจกหรือหนูมันวิ่งกัน

 ก็คิดว่าเป็นนู่นเป็นนี่ไปแล้ว

 เป็นพวกไม่มีปัญญา

พวกกระต่ายตื่นตูม

พอได้ยินเสียงอะไรหน่อยก็กลัวแล้ว

 ถ้ากลัวแล้วไม่รู้จะทำอย่างไร

 ก็ให้ระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

 สวดอิติปิโสฯหรือพุทโธๆๆไปอย่างเดียวก็ได้

 พุทโธๆๆ ธัมโมๆๆ สังโฆๆๆไปเรื่อยๆ

 อย่าให้ใจไปคิดเรื่องที่เรากลัว

หลับหูหลับตา อย่าส่งจิตไปหา

 ให้เกาะอยู่กับพุทโธไว้ ไม่ต้องไปไหน

แต่ถ้าอยู่ไปนานๆแล้วมันก็ชิน

 บางทีก็ต้องย้ายที่ ถ้ามั่นใจว่าไม่กลัวอีกแล้ว

 จะไปอยู่ที่ไหนก็ไม่กลัว อย่างนั้นไม่ต้องไปไหนก็ได้

 อยู่อย่างปกติธรรมดา

 เพราะการไปอยู่ตามที่ต่างๆเป็นการทำจิตบำบัด

ไปรักษาใจ ใจมีความกลัว ก็ไปแก้ความกลัว

 เมื่อไม่กลัวแล้วอยู่ที่ไหนก็อยู่ได้

ไม่มีปัญหาอะไร ไม่จำเป็น

จะต้องไปอยู่ป่าช้าตลอดชีวิต

 เหมือนกับคนที่ไปโรงพยาบาล

 เพราะต้องไปรักษาตัว

พอหายแล้วก็กลับบ้านอยู่ตามปกติ

ใจก็เหมือนกัน ใจก็เหมือนร่างกาย

ใจมีโรค คือความทุกข์ กลัวความแก่ กลัวความเจ็บ

 กลัวความตาย ไม่ได้กลัวอะไรหรอก

 กลัวการพลัดพรากจากกัน

แต่ถ้าเราไปทำจิตบำบัดแล้ว

จิตยอมรับความจริงได้ ก็กลับมาอยู่อย่างปกติ

 ยังไม่แก่ก็ไม่เดือดร้อน ยังไม่ตายก็ไม่เดือดร้อน

 แต่พอจะแก่ พอจะเจ็บ

พอจะตายก็ไม่เดือดร้อน

เหมือนกัน เป็นตายเท่ากัน

 แต่ถ้ายังไม่ได้รับการบำบัด

 พอคิดถึงความแก่หน่อยก็กลัวแล้ว

 คิดถึงความเจ็บไข้ได้ป่วยก็กลัวแล้ว

 คิดถึงความตายก็กลัวแล้ว

 ทั้งๆที่ยังไม่เกิดขึ้นเลย

 เพียงแต่คิดเท่านั้นมันก็กลัวแล้ว

ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่ความแก่ ความเจ็บ ความตาย

 แต่อยู่ที่ความกลัว คือความทุกข์นั่นเอง

พระพุทธเจ้าจึงทรงตรัสว่า ความทุกข์ก็คือ

ความแก่ ความเจ็บ ความตาย

 เหตุของความทุกข์ก็คือสมุทัย

ความไม่อยากแก่ ไม่อยากเจ็บ ไม่อยากตาย

เราจึงต้องละสมุทัย ตัวที่ไม่อยากแก่

 ไม่อยากเจ็บ ไม่อยากตาย

ให้จิตนิ่งเฉย แก่ก็แก่ เจ็บก็เจ็บ ตายก็ตาย

ความทุกข์ก็จะไม่มีภายในใจ

เช่นเวลานั่งสมาธิถ้ามันเจ็บก็ปล่อยให้มันเจ็บไป

 ให้คิดว่าเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย ก็ต้องเจ็บอย่างนี้

ก็ปล่อยให้เจ็บไป เราก็พุทโธๆๆไป

ถ้าไม่คิดถึงความเจ็บ เดี๋ยวความเจ็บก็หายไปเอง

วิธีต่อสู้กับความเจ็บทางร่างกาย

ก็คือรักษาจิตไม่ให้ไปรับรู้เรื่องของกาย

ให้อยู่กับพุทโธอย่างเดียว ความกลัวก็แบบเดียวกัน

 ความกลัวกับ ความเจ็บก็แบบเดียวกัน

 อย่าส่งจิตไปหามัน

เพราะยิ่งส่งไปก็ยิ่งอยากให้มันหาย

 ยิ่งอยากจะหนีจากมันไป

ก็ยิ่งทำให้เกิดความทุกข์เพิ่มมากขึ้นไปอีก

 ยิ่งเจ็บมากกว่าความเจ็บของร่างกาย

 อย่างเวลาเรานั่งฟังธรรมะกันอย่างนี้

บางทีไม่ค่อยรู้สึกเจ็บเท่าไร

เพราะใจไม่ได้อยู่กับความเจ็บ

ใจอยู่กับธรรมะที่เราฟังอยู่

แต่ถ้านั่งอยู่คนเดียว

 จะนั่งไม่ได้นานขนาดนี้หรอก

 เดี๋ยวก็ต้องขยับตัวแล้ว

 เพราะใจมันไม่ได้อยู่กับอารมณ์ที่จะทำให้มันนิ่ง

แต่ไปอยู่กับความเจ็บ แล้วก็เกิดสมุทัย

อยากให้ความเจ็บหายไป ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง

ด้วยการขยับก็ดีหรือลุกขึ้นก็ดี

หรือเดินหนีไปก็ดี

 เวลาเจ็บจึงไม่ต้องไปกลัวมัน

 เพราะยิ่งกลัวจะยิ่งเจ็บ

ถ้าไม่กลัวแล้วความเจ็บก็น้อย

เจ็บเพียงที่กายเท่านั้นเอง เพียง ๑๐ เปอร์เซ็นต์

ความเจ็บที่ใจจะไม่มี แต่ตอนฝึกใหม่ๆ

มันจะยากเพราะว่ามันเป็นอัตโนมัติ

พอเจ็บกายปั๊บใจจะเจ็บขึ้นมาพร้อมๆกัน

 แต่เราต้องฝืนบริกรรมพุทโธๆไปเรื่อยๆ

 หรือสวดมนต์ไปเรื่อยๆ อย่าไปสนใจกับความเจ็บ

 บางทีเดี๋ยวเดียวมันก็หายไป

แล้วเดี๋ยวก็กลับมาใหม่ จะต้องกลับมาอยู่เรื่อยๆ

 จะมาหลายระลอกด้วยกัน

 ถ้าดึงจิตไม่ให้ไปยุ่งกับมันได้ จิตก็จะปล่อยวางได้

 แล้วก็จะไม่มีปัญหาอะไร

 จะหายไปหรือไม่หายไป ก็ไม่เป็นปัญหา

 ถ้าใจไม่มีปัญหาแล้วก็นั่งอยู่ในที่เดิมได้

 จะนั่งอยู่ในท่าไหนก็นั่งต่อไปได้ ไม่เดือดร้อนอะไร

 ก็กลับมาที่ตัวสตินี้ ต้องมีสติคอยดึงใจ

ให้อยู่กับอารมณ์ที่เป็นเครื่องผูกใจ

อย่าปล่อยให้ไปคิด ไปรับรู้เรื่องอื่น

ที่ทำให้ใจต้องทุกข์ขึ้นมา ถ้าใจไม่ทุกข์แล้ว

 ไม่ว่ากายจะอยู่ในสภาพใด ใจก็ไม่เดือดร้อน

 นี่แหละคือการแยกกายออกจากใจ

แยกตรงที่เวลามันเจ็บนี้ ธรรมดามันจะติดกัน

เหมือนปลาท่องโก๋

 พอเวลาเจ็บกาย ต้องทำใจให้นิ่ง

 ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้กับความเจ็บของร่างกาย

 ใจก็ไม่จะเจ็บด้วย ก็จะแยกออกจากกันได้

เบื้องต้นก็ต้องฝึกทำสมาธิไปก่อน

 ทำให้มาก ทำให้จิตสงบ ให้มีสติอยู่เสมอๆ

 ถ้าใช้ปัญญาได้ด้วยก็ดี

 จริตบางคนจะถนัดไปทางปัญญา

 พิจารณาทำให้จิตสงบได้ ก็ใช้อย่างนั้นก็ได้

 พิจารณาว่าเวทนาก็ไม่ได้เป็นอย่างนี้ไปตลอด

 เดี๋ยวก็ต้องหมดไป

ร่างกายก็เป็นเหมือนกับพื้นที่เรานั่งอยู่นี้

มันไม่รู้ว่ามันเจ็บ กระดูกก็ไม่รู้ว่ามันเจ็บ

 ตัวรู้ไม่ได้อยู่ที่กาย ไม่ได้อยู่ที่กระดูก

ตัวรู้ก็คือใจ ใจก็ไม่ได้เจ็บ

ไม่ได้สัมผัสอย่างที่ร่างกายกำลังสัมผัสอยู่

 ทำไมใจไปเจ็บแทนมันด้วย

ถ้ารู้อย่างนี้ใจก็ไม่ไปเจ็บ เมื่อไม่เจ็บมันก็สบาย

 รับกับความเจ็บของร่างกายได้

จะมากจะน้อยเพียงไรก็ไม่เป็นปัญหาอย่างไร

 ความสุขความทุกข์ของใจมีอานุภาพ

มากกว่าของร่างกาย ร่างกายสุขสบายดีอยู่

ถ้าใจไม่สบาย ก็ไม่สบายไปหมด

 กังวลเรื่องนั้นห่วงเรื่องนี้ กินไม่ได้นอนไม่หลับ

ก็เหมือนกับคนเจ็บไข้ได้ป่วย

บางคนถึงกับจะฆ่าตัวตายไปก็มี

ทั้งๆที่ร่างกายก็ไม่ได้เป็นอะไร

แต่ใจมันทุกข์มาก ทรมานมาก

 ในทางตรงกันข้าม

ถึงแม้ร่างกายจะเจ็บปวดอย่างไร

 แต่ถ้าใจไม่ทุกข์ด้วย ก็จะมีแต่ความสุข

 เช่นใจของพระพุทธเจ้า ของพระอรหันต์

ไม่มีความทุกข์อยู่เลย

 เพราะความทุกข์ของร่างกาย

ไม่สามารถแทรกเข้าไปในใจได้

 ไม่สามารถเข้าไปลบล้างความสุขได้

 แต่ความสุขของใจ

กลับกลบความทุกข์ของร่างกายได้

 เราจึงควรมาสร้างความสุขที่ใจ

ดับความทุกข์ที่ใจให้หมดไป

 ต่อไปร่างกายจะเป็นอย่างไ

 ก็จะไม่เป็นปัญหา อยู่ก็สุข ตายก็สุข

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

...............................

กัณฑ์ที่ ๒๕๒ วันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๔๙

 (จุลธรรมนำใจ ๖)

“ใจไม่ดับ”







ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ

Create Date :30 กันยายน 2559 Last Update :30 กันยายน 2559 11:10:52 น. Counter : 707 Pageviews. Comments :0