bloggang.com mainmenu search










เดี๋ยวนี้เราเข้าใจคำว่า ‘บุญ’ และ ‘ทาน’ แคบลง

หรือเข้าใจคลาดเคลื่อน

ปัจจุบันคนส่วนใหญ่เข้าใจว่า

การทำบุญ คือ การถวายของให้พระหรือวัดเท่านั้น

 ความคิดนี้ไม่ผิด แต่ก็ไม่ถูกเสียทีเดียว

 เนื่องจากการถวายของแก่พระสงฆ์นั้น

 ก็ถือว่าเป็น ‘ทาน’ อย่างหนึ่ง

‘ทาน’ ในพระพุทธศาสนานั้น หมายถึง

 การสละสิ่งของจะให้ใครก็ตาม

 ไม่ว่าจะเป็นพระ หรือฆราวาส ก็เรียกว่า ‘ทาน’ ทั้งสิ้น

 อย่างทานที่ถวายพระสงฆ์ก็ เรียกว่า ‘สังฆทาน’

แต่คนมักจะเข้าใจผิดว่า การให้ของแก่ฆราวาส เรียกว่า ‘ทาน’

แต่การให้ของแก่พระ เรียกว่า ‘บุญ’ อันนี้ไม่ใช่

‘บุญ’ ในพระพุทธศาสนานั้นมี 10 อย่าง

โดยมี ‘ทาน’ เป็นหนึ่งในบุญเหล่านั้น

 นอกจากนี้ ก็จะมีการทำบุญอีก 9 วิธี

ที่เราไม่จำเป็นต้องใช้เงินเลย เช่น การรักษาศีล

การบำเพ็ญภาวนา การบำเพ็ญประโยชน์เพื่อส่วนรวม

 หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ‘เวยยาวัจจมัย’

คือ บุญที่เกิดจากการทำเพื่อส่วนรวม

ซึ่งใกล้เคียงกับคำว่า ‘จิตอาสา’

แต่คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า ‘บุญ’ เกิดจาก

การถวายของให้พระ ทำให้คนส่วนใหญ่มุ่งแต่จะถวายสิ่งของ

 ถวายเงินให้พระอย่างเดียว ไม่สนใจที่จะช่วยเหลือผู้อื่น

 ปฏิเสธที่จะเป็นจิตอาสารักษาสิ่งแวดล้อม

 มองข้ามการทำงานช่วยเหลือสังคม ฯลฯ

เหตุผลเพราะ ประการที่หนึ่ง เราไปเน้นการให้ด้วยเงิน

 ทั้ง ๆ ที่สามารถให้อย่างอื่นได้ด้วย

เช่น ให้เวลา ให้แรงงาน หรีอให้ความรู้

ประการที่สอง เรามักไปเน้น

 ‘ผู้รับ’ ที่เป็น ‘พระ’ มากกว่าคนทั่วไป

คนในอดีตจะเข้าใจคำว่า ‘บุญ’ กว้างกว่าคนในปัจจุบัน

 ยกตัวอย่างง่ายๆ คนเมืองเพชร

แต่ก่อนเวลาเขาจะปลูกต้นไม้สักต้น

เขาจะมีคาถาเรียกว่า “คาถากลบดิน”คือ

‘พุทธัง ผลาผล นกเกาะได้บุญ คนกินเป็นทาน
ธัมมัง ผลาผล นกเกาะได้บุญ คนกินเป็นทาน
สังฆัง ผลาผล นกเกาะได้บุญ คนกินเป็นทาน’

จะเห็นได้ว่า การปลูกต้นไม้นั้นก็ถือเป็นการทำบุญ

เป็นการให้ทานที่ไม่ต้องใช้เงินเลย

 แต่เกิดจากจิตที่เมตตาทั้งกับคนและสัตว์.

พระไพศาล วิสาโล






ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ

Create Date :24 กรกฎาคม 2559 Last Update :24 กรกฎาคม 2559 11:12:57 น. Counter : 682 Pageviews. Comments :1