bloggang.com mainmenu search







“การฝึกสติ”

วิธีทำจิตให้สงบ ต้องมีสติเป็นพื้นฐาน

คอยกำกับจิต ให้อยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง

 ถ้าจะคิดก็คิดในทางธรรมะ คิดเรื่องไตรลักษณ์

 อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

แล้วรับรองได้ว่า ไม่ช้าก็เร็วจิตจะต้องสงบลง

 เมื่อสงบแล้วก็จะมีกำลังจิตกำลังใจ

เพราะความสงบเป็นความมหัศจรรย์ใจอย่างยิ่ง

 เหมือนกับเวลาแบกของหนักๆไว้บนไหล่

แล้วเอาวางลง ได้พักได้กินน้ำแล้ว

จะรู้สึกเบาอกเบาใจ ชื่นอกชื่นใจ

ทุกวันนี้เรายังหนักใจอยู่ตลอดเวลา

ไม่เรื่องนั้นก็เรื่องนี้

ถ้าไม่มีเรื่องก็ไปหาเรื่องมาแบกกัน

เพราะอยู่เฉยๆไม่ได้ ต้องหาเรื่องอยู่เรื่อยๆ

จิตถ้าไม่ได้คิดแล้วจะรู้สึกว่าขาดอะไรไป

หยุดไม่เป็น จึงต้องมาฝึกทำจิตให้สงบ

 เมื่อนิ่งแล้วก็จะรู้ว่าความสุขอยู่ที่ไหน

 จะเข้าใจความหมายที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่า

 สุขที่เหนือกว่าความสงบนั้นไม่มี

ความสุขที่แท้จริงอยู่ตรงนี้

เป็นความสุขที่อยู่กับเราตลอดเวลา

 ไม่ต้องไปหาอะไรมาให้ความสุขกับเรา

เพราะหาอะไรมาก็เท่ากับหาความทุกข์มาด้วย

 เพราะเป็นเหรียญสองด้าน

 ด้านหนึ่งก็เป็นความสุข

 อีกด้านหนึ่งก็เป็นความทุกข์

เพราะด้านหนึ่งเจริญ

อีกด้านหนึ่งก็เสื่อม มาคู่กัน

นอกจากการทำบุญให้ทาน การรักษาศีลแล้ว

 ก็ควรฝึกทำสมาธิ ฝึกตั้งสติอยู่เรื่อยๆ

มีโอกาสก็ไปอยู่วัดปฏิบัติ วัดที่มีความสงบเงียบ

 แล้วก็หัดอยู่ตามลำพัง

 เพราะการฝึกสตินี้ ถ้าอยู่ด้วยกันหลายๆคนแล้ว

จะทำไม่ได้ เพราะจิตจะต้องไปอยู่ที่คนนั้นคนนี้

 เรื่องนั้นเรื่องนี้ แต่ถ้าอยู่คนเดียวแล้วก็ไม่มีที่จะไป

 ไม่มีอะไรมาดึงจิตไป นอกจากความคิดในใจ

 บางทีไปอยู่ในป่าในเขาแล้ว

ก็ยังอดที่จะคิดถึงบ้านไม่ได้

 คิดถึงลูก คิดถึงสามี คิดถึงภรรยาไม่ได้

แต่อย่างน้อยก็ยังพอดึงไว้ได้ ต่อสู้ได้

แต่ถ้ามีคนอยู่ร่วมกันนี้ เดี๋ยวก็ชวนกันคุย

 ทำสิ่งนั้นทำสิ่งนี้

ก็จะดึงความสนใจไปจากตัวเรา ทำให้ขาดสติไป

 จึงต้องพยายามหาที่สงบสงัดวิเวกอยู่คนเดียว

 เมื่อได้ฝึกทำแล้ว จะมีนิสัยมาทางนี้

ต่อไปเวลาอยู่กับใครก็ยังดึงใจเราไว้ได้

ไม่ลอยตามเขาไป ถ้าลอยไปบ้างก็แค่ชั่วขณะหนึ่ง

 เพื่อให้รู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้น มีอะไรจำเป็นจะต้องรู้

 เมื่อรู้แล้วก็กลับมาอยู่ที่เดิม

 แต่ในเบื้องต้นพอไปรับรู้เรื่องแล้วก็จะไหลไปเลย

เป็นลูกโซ่ไปเลย

เห็นคนนั้นปั๊บก็คิดถึงเรื่องของเขา

 ปัญหาของเขา สามีของเขา

 ภรรยาของเขา ลูกของเขา

 ต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ไปเลย

 แต่ถ้าได้ฝึกทำสติจนเป็นแล้ว

ต่อไปเวลาเห็นใครพอรู้ว่าเป็นใครก็จบ

แล้วก็ดึงกลับมาอยู่ที่ตัวเรา

นอกจากมีความจำเป็น มีธุระที่จะต้องคิด

หรือพูดคุยอะไรกัน ก็ทำไป

แต่เมื่อเสร็จแล้วก็เหมือนกับปิดสวิตช์ไฟ

เวลาเข้าห้องน้ำก็เปิดไฟ

พอเสร็จธุระแล้วออกจากห้องน้ำก็ดับไฟ

ไม่เปิดไฟทิ้งไว้

จิตก็เป็นอย่างนั้น ถ้าไม่เคยฝึกมาก่อน

ก็จะไหลไปกับเรื่องต่างๆตลอดเวลา

แต่ถ้าได้ตั้งสติอยู่เรื่อยๆแล้ว

 ต่อไปจะไม่ไหลไปตามกระแสของเรื่องต่างๆ

ที่มากระทบมาสัมผัสกับใจ ใจจะไม่แกว่งไปมาก

 จะไม่ฟุ้งซ่าน เวลาจะทำให้สงบก็จะง่าย

เพราะได้ทำไว้ครึ่งหนึ่งแล้วในขณะที่ยังไม่ได้นั่งสมาธิ

 ในขณะที่ทำกิจกรรมต่างๆ

 ก็มีสติอยู่กับกิจกรรมที่ทำอยู่

 อย่างนี้ก็ถือว่ากำลังทำสมาธิแบบหลวมๆ

เป็นรองพื้นไว้ก่อน พอมีเวลามีโอกาสอยู่ตามลำพัง

 ก็กำหนดจิตให้อยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง

 จิตก็จะไม่ไปไหน จะอยู่กับอารมณ์นั้น ไม่นานก็สงบ

 จะสงบมากสงบน้อยก็ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติ

 ถ้าปฏิบัติมามาก ปฏิบัติอย่างช่ำชอง

 ก็จะสงบมากสงบนาน

 ก็เหมือนกับการรับประทานอาหาร

ถ้ารับประทานน้อยก็อิ่มน้อย

 ถ้ารับประทานมากก็อิ่มมาก

ถ้าปฏิบัติมากๆและปฏิบัติถูก

คือมีสติอยู่กับอารมณ์ที่กำหนดไว้อย่างต่อเนื่อง

 ก็จะสงบได้ง่ายและนาน นี่คือตัวสำคัญ

ที่จะจุดประกายแห่งศรัทธาความเพียรให้เกิดขึ้นมา

เพราะรู้แล้วว่า รางวัลที่จะได้รับจากการปฏิบัติ

 ที่ลำบากยากเย็นนี้มันคุ้มค่า

 เหมือนกับซื้อล็อตเตอรี่ ถึงจะไม่เคยถูกเลย

 แต่ก็รู้ว่าถ้าถูกเพียงครั้งเดียวก็คุ้มค่า

 ซื้อทีละร้อยสองร้อย แต่ถูกทีได้เป็นล้าน

ทำให้มีกำลังใจที่จะซื้ออยู่เรื่อยๆ

บางทีซื้อมาตั้งยี่สิบปีสามสิบปีก็ยังไม่เคยถูก

 แต่ก็ไม่ถอย เพราะยังมีความหวังอยู่

ฉันใดการบำเพ็ญสมาธิก็เป็นอย่างนี้เหมือนกัน

 การทำจิตใจให้สงบมีคุณค่ามาก

 เพียงแต่เราไม่เห็นเท่านั้นเอง

ก็เลยทำให้ไม่มีกำลังจิตกำลังใจ

 แต่ถ้าได้เห็นผลแม้แต่ครั้งเดียวแล้ว

 ต่อไปไม่ต้องมีใครมาชวน ไม่ต้องมีใครมาบังคับ

 จิตจะเรียกร้องของมันเอง

อยากจะทำ มีฉันทะ มีวิริยะตามมา

จึงต้องพยายามทำให้ได้

เมื่อทำได้แล้วต่อไปก็จะสบาย จะมีความสุข

มีความรื่นเริงใจ

 ไม่มีอะไรจะสุขเท่ากับการปฏิบัติธรรม

 ถ้าปฏิบัติได้แล้วมีแต่จะทำให้ใจเบา

 มีความสุขเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ

 ความทุกข์ความกังวลใจ

ความเดือดเนื้อร้อนใจต่างๆ

จะถอยออกไปจากจิตจากใจ

 ไม่เหมือนกับสิ่งอื่นๆในโลกนี้

ต่อให้ได้มามากเท่าไหร่

ความทุกข์ความกังวลใจ

ก็ไม่ได้น้อยถอยลงไป

 มีแต่เพิ่มขึ้นตามสิ่งที่มีนั่นแหละ

 มีอะไรก็ต้องกังวล ต้องห่วงต้องหวง

แต่มีความสงบมากน้อยเท่าไร

 ความกังวลความห่วงความหวงก็น้อยลงไปเรื่อยๆ

 จนไม่หลงเหลืออยู่เลย จึงขอให้ท่านทั้งหลาย

จงมีความมั่นใจในการบำเพ็ญ

สิ่งที่ทำมานี้ก็ถูกแล้ว การให้ทานก็ถูกแล้ว

 ไม่ควรเสียดายข้าวของเงินทองที่มีเหลือใช้

ไม่ควรเอาไปใช้ในทางที่จะส่งเสริมให้เกิด

 ความโลภ ความโกรธ ความหลง

 ควรจะใช้ไปในทางที่สกัดกั้น

คือการทำบุญให้ทาน

 ส่วนการรักษาศีลก็เป็นสิ่งที่จำเป็น

 ถ้าต้องการรักษาให้ใจไม่ให้ไปมีเรื่องมีปัญหา

 เวลาทำอะไรผิดศีลผิดธรรมแล้วใจจะวุ่นวาย

 มีความรุมร้อน จึงต้องรักษาศีลไป ทำทานไป

 แล้วก็ควรจะภาวนา ฝึกทำสมาธิ

 ฝึกตั้งสติอยู่เรื่อยๆ

 ถ้าทำอย่างนี้ได้แล้วไม่ช้าก็เร็วสักวันหนึ่ง

ก็จะได้สัมผัสกับความสงบที่เกิดจากการปฏิบัติ

 แล้วต่อไปก็จะสบาย จะปฏิบัติไปได้เรื่อยๆ

เวลาประสบกับความทุกข์ต่างๆ

 เช่นความแก่ ความเจ็บ ความตาย

 ก็จะไม่สร้างความวุ่นวายให้กับจิตใจ จิตจะนิ่ง

เป็นเหมือนก้อนหิน

 ไม่มีอะไรสามารถทำให้หวั่นไหวได้

ก็อยากจะชวนเชิญให้พยายามปฏิบัติตามทางนี้

 เป็นทางเดียวที่จะพาไปสู่ความร่มเย็นเป็นสุข

 ความเจริญอย่างแท้จริง

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

..........................

กัณฑ์ที่ ๒๕๒ วันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๔๙

 (จุลธรรมนำใจ ๖)

“ใจไม่ดับ”









ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ

Create Date :29 กันยายน 2559 Last Update :29 กันยายน 2559 10:16:38 น. Counter : 758 Pageviews. Comments :0