bloggang.com mainmenu search










“เวทนามี ๒ ชนิด”

เวทนามี ๒ ชนิด คือเวทนาที่เกิดขึ้นทางกาย

เป็นเรื่องของธรรมชาติ

แต่เวทนาทางจิต เราสามารถดับได้

 ใจไม่วุ่นวายกับเวทนาทางกาย ใจก็ไม่ทุกข์

เราดับทุกข์ทางจิตใจได้ แต่ทุกข์ทางกาย

ก็ต้องเป็นไปตามเรื่องของเขา

ถ้าเราเข้าใจว่า เวทนาของกายเป็นสิ่งที่

เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป

เราควบคุมบังคับให้เป็นไปตามความต้องการไม่ได้

เราก็ปล่อยวาง ใจเราก็ไม่เดือดร้อน

 แต่ถ้าไม่เข้าใจ เวลาเกิดเวทนาขึ้นมาหน่อยใจก็วิตก

 จะตายหรือเปล่า จะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้หรือเปล่า

 สร้างความทุกข์ใจขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง

 ทั้งๆที่ยังไม่ได้เป็นเลย แต่ถ้าใจสักแต่ว่ารู้เฉยๆ

 เวทนาเกิดขึ้นก็รู้ รู้ว่าเป็นไตรลักษณ์ เป็นของไม่เที่ยง

 เดี๋ยวก็ต้องดับ ต้องหายไป หรือเบาลงไป

หรือเพิ่มขึ้นอีก ก็สุดแท้แต่เวทนา

ต้องเป็นไปตามเรื่องของเวทนา

 ถ้าใจรู้ ใจเข้าใจ ใจก็จะเฉย

 การปฏิบัติก็เพื่อให้ใจเข้าสู่อุเบกขา

 คือการวางเฉย ปล่อยวาง

 สัมผัสกันอยู่ แต่ไม่ยินดียินร้ายกับเขา

 สังเกตดู คนที่เราเจอนี่ จะมี ๓ แบบด้วยกัน

 คือคนที่เราชอบ คนที่เราไม่ชอบ และคนที่เราเฉยๆ

 คนที่เราเฉยๆนี่สบายที่สุดใช่ไหม เราไม่ดีใจไม่เสียใจ

 เขาจะมาเขาจะไปเราไม่เดือดร้อน

แต่ถ้าคนที่เราชอบเวลามาเราดีใจ

 เวลาไปเราก็เสียใจ

 คนที่เราไม่ชอบเวลามาเราก็เดือดร้อน

 แต่พอเขาไปเราก็โล่งใจ สบายใจ

ความชอบกับความไม่ชอบ

ทำให้ใจต้องแกว่งไปแกว่งมา

เป็นนิสัยที่ได้ปลูกฝังมา

คนบางคนชอบสีแดง บางคนไม่ชอบสีแดง

 คน ๒ คนมองสิ่งเดียวกัน คนหนึ่งมีความสุข

 อีกคนหนึ่งมีความทุกข์

เกิดจากความชอบหรือไม่ชอบ

 ที่ถูกปลูกฝังมาด้วยอวิชชา ถ้ามีปัญญาก็จะเห็นว่า

เป็นสีเท่านั้นเอง เป็นรูปที่มาสัมผัสกับตาแล้วรับรู้ที่ใจ

 ใจนี้ไม่มีอะไรไปทำลายได้ ใจเป็นเหมือนกระจก

 ที่สะท้อนความเป็นจริงของรูปภาพ

 กระจกก็เป็นกระจกเหมือนเดิม

ไม่ว่าจะเป็นรูปภาพชนิดใดก็ตาม

คนจะฆ่ากันตายต่อหน้ากระจก

กระจกก็ยังเป็นกระจกอยู่เหมือนเดิม

คนจะฉลองแต่งงานกัน

 กระจกมันก็ยังเป็นเหมือนเดิมอยู่

 ใจของเราก็เป็นแบบนั้นแหละ

เหตุการณ์จะเลวร้ายขนาดไหน

ถ้าเราสามารถควบคุมจิตใจ

สอนจิตใจด้วยสติด้วยปัญญา

ใจก็จะเป็นเหมือนกับกระจก

 สะท้อนรับรู้ความเป็นจริงของสภาพที่มีอยู่เป็นอยู่

นี่แหละคือเหตุที่เราต้องมาศึกษาให้เข้าใจ

 กับทุกสิ่งทุกอย่างที่เราสัมผัสในโลกนี้

ส่วนใหญ่เราจะหลงตามอวิชชา

 อยากจะให้ทุกอย่างเจริญ ไม่ให้มีอะไรเสื่อม

พอเกิดอะไรเสื่อมขึ้นมา

 เราก็จะเสียใจ ร้องห่มร้องไห้

 พอมีการเจริญขึ้นมาก็ดีใจ

 เช่นเวลาได้ลูกได้หลานก็ดีอกดีใจกันใหญ่

พอเสียคุณพ่อคุณแม่

คุณตาคุณยายไปก็เศร้าโศกเสียใจ

 เพราะมองด้านเดียว ไม่คำนึงถึงอีกด้านหนึ่งว่า

 เด็กคนนี้เกิดมาวันนี้ สักวันหนึ่งเขาก็ต้องตาย

 ถ้ารู้ล่วงหน้าไว้ก่อนแล้ว

เวลาเขาตายไปก็จะไม่รู้สึกอะไร

แต่ใจของเราทุกขณะ จะพยายามฝืนความจริงนี้

คือความตาย จนถึงขั้นที่คิดถึงเรื่องความตายไม่ได้เลย

 สมัยนี้ใครไปคิดเรื่องความตายหาว่าเป็นอัปมงคล

 ทั้งๆที่เป็นปัญญาทางศาสนา

 เป็นการศึกษาถึงแก่นของความจริง

 เมื่อทราบความจริงแล้ว ใจก็จะรับความจริงนั้นได้

 แต่ทุกวันนี้คนเราไม่ยอมรับความจริงนี้กัน

 ไม่ยอมคิดถึงเรื่องนี้ พอเกิดความตายขึ้นมา

 ก็ทำใจกันไม่ได้ ไม่ได้ซ้อมไว้

 ถ้าเป็นทหารก็ไม่คิดว่าจะมีข้าศึกศัตรูมารุกราน

 คิดว่าปลอดภัยเสมอ ไม่ต้องซ้อมรบ ไม่ต้องมีทหาร

 ไม่ต้องมีตำรวจก็ได้ พอวันดีคืนดี

เกิดมีข้าศึกศัตรูบุกเข้ามา ก็จะป้องกันตัวเอง

กับบ้านเมืองไม่ได้ ก็จะถูกทำลายไปหมด

 ใจที่ไม่มีสติไม่มีปัญญาก็เป็นลักษณะนี้

 มีแต่ความหลง

 มีแต่ความต้องการให้เจริญอย่างเดียว

 ไม่ให้เสื่อม พอเสื่อมก็รับไม่ได้

 บางคนถึงกับเสียสติไปเลย กลายเป็นคนบ้าไป

เวลาสูญเสียอะไรที่ตนเองรัก

ก็จะเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ

เคยร่าเริงเบิกบาน

 ก็กลายเป็นเศร้าสร้อยหงอยเหงาไป

 ถ้าเจอสภาพที่รุนแรงมากๆ

 ก็จะถึงกับทำร้ายชีวิตของตนเอง

เพราะไม่สามารถทนอยู่กับสภาพนั้นได้

 เพราะไม่ได้ศึกษาเตรียมตัวไว้ล่วงหน้าก่อนนั่นเอง

 ถ้าได้ซ้อมไว้ก่อนแล้วว่า

 สักวันหนึ่งจะต้องอยู่คนเดียว

คนที่เรารักจะต้องจากเราไป ก็จะไม่เศร้าโศกเสียใจ

เวลาเกิดเหตุการณ์นั้นขึ้นมา

เหตุที่พวกเราเข้าวัดปฏิบัติธรรมกัน

 ก็เพื่อฝึกอยู่คนเดียว อยู่แบบเรียบๆง่ายๆ

 ไม่ต้องอาศัยสิ่งภายนอกเป็นเครื่องให้ความสุขกับเรา

 เพราะเราสามารถมีความสุขได้

โดยที่ไม่ต้องมีใครมีอะไร มาให้ความสุขกับเรา

 แต่พวกเราไม่ยอมตัด ยังเสียดาย

เป็นเหมือนกับคนพิการ จะไปไหนต้องมีรถนั่งไป

 ต้องมีไม้เท้าไว้คอยค้ำ ทั้งๆที่ไม่ได้พิการเลย

 สามารถเดินเหินไปไหนได้อย่างสบาย

 กลับไม่เอาอยากจะใช้ไม้ค้ำ อยากจะนั่งรถเข็น

ทั้งๆที่เดินเหินไปไหนได้เอง

 ใจของเราก็ไม่พิการอะไรเลย

 ไม่ต้องพึ่งพาอาศัยอะไรเลยทั้งสิ้น

ที่จะทำให้ใจมีความสุข ไม่ต้องพึ่งพา

รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

ไม่ต้องพึ่งพาลาภ ยศ สรรเสริญ

 แต่กลับต้องพึ่งพาลาภ ยศ สรรเสริญ

สุขกันตลอดเวลา เวลาได้มาก็ดีอกดีใจ

เงินเดือนขึ้นก็ดีใจ พอถูกตัดเงินเดือนก็เสียใจ

 เป็นเพราะไม่เคยฝึกจิต ให้อยู่โดยไม่ต้องมีสิ่งต่างๆ

มาค้ำมาพยุงนั่นเอง

เราจึงต้องปฏิบัติธรรมเพื่อทำจิตให้เป็น

อัตตา หิ อัตตโน นาโถ ให้เป็นที่พึ่งของตน

 เพราะจิตที่สงบแล้ว จะไม่ต้องการอะไรเลย

 ที่อยู่ที่กินก็เป็นเรื่องของร่างกาย

 ที่ต้องมีปัจจัย ๔ ถึงจะอยู่ได้ การเลี้ยงดูร่างกาย

ก็เพื่อเอามาทำประโยชน์ให้กับผู้อื่นเท่านั้นเอง

ภารกิจของตนได้สำเร็จลุล่วงไปแล้ว

อย่างพระพุทธเจ้ากับพระอรหันตสาวก

ท่านไม่มีภารกิจอะไรที่จะต้องทำอีกต่อไปแล้ว

จิตของท่านเป็นที่พึ่งของตนเองได้แล้ว

 จิตของท่านหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงแล้ว

แต่ท่านยังมีร่างกายเหลืออยู่

จึงใช้ร่างกายนี้เป็นเครื่องมือ

 ในการอบรมสั่งสอนผู้อื่น

 เวลาจะสอนคนอย่างพวกเรานี้

ต้องมีปากพูดถึงจะฟังกันรู้เรื่อง

ถ้าสอนพวกเทวดา ก็ไม่ต้องใช้ร่างกาย

สอนทางจิตได้เลย เช่นพระพุทธเจ้า

ก็ทรงสอนพวกเทวดาด้วยกระแสจิต

 พวกเทวดาไม่มีรูปหยาบเหมือนพวกเรา

 มีจิตที่ยังมีกิเลสอยู่ ยังไม่เข้าใจอะไรหลายอย่าง

 จึงต้องศึกษาจากพระพุทธเจ้า

พระองค์ก็ทรงสอนพวกเทวดา

เหมือนกับสอนพวกเรา

 คือสอนเรื่องพระอริยสัจ ๔

นี่คือเหตุที่เราต้องเจริญสติปัฏฐานกัน

 เพื่อให้เข้าใจถึงธรรมชาติของสิ่งต่างๆ

ที่ใจเราไปเกี่ยวข้องด้วย ว่าเป็นของไม่เที่ยง

 อย่าไปยึดติด อย่าไปหวังอะไร

 เพราะเวลาไม่เป็นไปตามที่หวัง เราก็จะเสียใจ

 ศึกษาเพื่อจะได้ปล่อยวาง

ดูร่างกายนี้จนเข้าใจว่าเป็นอย่างไร

จึงทรงสอนให้ไปเยี่ยมป่าช้า ไปชมป่าช้า

 ไปดูสภาพของร่างกายของเรา

ที่จะต้องเป็นไปในวันข้างหน้า

ที่จะต้องกลายเป็นซากศพไป

 มีแร้งมีกามากัดมากิน

 และเน่าเปื่อยไป เหลือแต่โครงกระดูก

แล้วก็กลายเป็นดินไปในที่สุด นี่

คือการศึกษากายหรือรูป ขันธ์

เรียกว่ากายคตาสติภาวนา ให้รู้ ๒ ลักษณะด้วยกัน

 คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา และอสุภะไม่สวยไม่งาม

ถึงจะหลุดพ้นจากอุปาทาน

การยึดติดในร่างกายนี้ไปได้

 ผู้ที่พิจารณาร่างกาย

ได้อย่างละเอียดลออหมดจดทุกส่วน

 จนปล่อยวางร่างกายได้แล้ว ก็จะเป็นพระอนาคามี

 ไม่ยินดีกับร่างกายอีกต่อไป ไม่มีราคะตัณหา

 ไม่เห็นว่าสวยว่างาม ไม่อยากเอามาเป็นคู่ครอง

ไม่อยากกอดโครงกระดูกที่ถูกหนังหุ้มห่ออยู่

 ไม่อยากกอดอวัยวะต่างๆ เช่นตับไตไส้พุง

 ที่มีอยู่ในร่างกาย ที่ปุถุชนคนธรรมดามองไม่เห็น

 เพราะไม่ได้มองด้วยปัญญา

 แต่มองด้วยโมหะความหลง

 มองอสุภะเป็นสุภะ เป็นของสวยงามไป

มองอนิจจังว่าเป็นนิจจัง มองสิ่งที่ไม่จีรังถาวร

เป็นสิ่งที่จีรังถาวร

 มองสิ่งที่ให้ความทุกข์เป็นความสุข

 เวลาได้คู่ครองมาแล้วมันสุขที่ตรงไหน

 มีแต่ทะเลาะกันบ้าง มีเรื่องมีราวกัน

 เป็นห่วงเป็นใยกัน

 จิปาถะร้อยแปดพันประการ

 ที่เป็นความทุกข์ใจทั้งนั้น

จึงเรียกว่าเป็นทุกข์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

เป็นแค่กองดินน้ำลมไฟเท่านั้นเอง ที่มารวมตัวกัน

 เหมือนกับการทำขนม ที่เราเอาน้ำตาลเอาแป้ง

เอาไข่มาผสมกัน แล้วก็เอามาใส่ในแม่พิมพ์

ทำเป็นรูปต่างๆ จะเป็นขนมชนิดไหน

 ก็ต้องทำมาจากแป้งน้ำตาลกับไข่นี้เอง

แต่เราสามารถทำให้เป็นขนมได้หลากหลายชนิด

 เป็นเค้กก็ได้ เป็นคุกกี้ก็ได้ ฯลฯ

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

........................

กัณฑ์ที่ ๒๓๐ วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๘

 (จุลธรรมนำใจ ๒)

“ศาสนาสอนให้เห็นความจริง”







ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ

Create Date :19 กันยายน 2559 Last Update :19 กันยายน 2559 12:16:11 น. Counter : 818 Pageviews. Comments :0