bloggang.com mainmenu search










“ขั้นตอนการปฏิบัติเพื่อบรรลุ

มรรคผลนิพพาน”

การปฏิบัติเพื่อบรรลุมรรคผล นิพพาน

ก็มีขั้นมีตอนเหมือนกัน เพราะธรรมแต่ละขั้นนี้

จะเป็นผู้ที่สนับสนุนธรรม ขั้นที่สูงขึ้นไปนั่นเอง

เช่นสติก็จะเป็นผู้สนับสนุนให้เกิดสมาธิขึ้นมา

สมาธิก็จะสนับสนุนให้เกิดปัญญาขึ้นมา

ปัญญาก็จะสนับสนุนให้บรรลุมรรคผล นิพพาน

ให้จิตได้หลุดพ้นจากความทุกข์ต่างๆ

ถ้าไม่มีสติก็จะไม่สามารถ

ที่จะทำให้เกิดสมาธิขึ้นมาได้

 ถ้าไม่มีสมาธิก็จะไม่สามารถผลิตปัญญา

เพื่อตัดต้นเหตุของความทุกข์

คือความโลภ ความโกรธ

 ความหลง ความอยากต่างๆ ได้

 ถ้าไม่มีปัญญาตัดกิเลสความโลภ ความโกรธ

 ความหลงต่างๆ

ก็จะไม่สามารถดับความทุกข์ต่างๆ ได้

 ไม่สามารถบรรลุมรรคผล นิพพานได้

ดังนั้นผู้ปฏิบัติจะต้องใจเย็นๆ

 ต้องทำตามขั้นตอนอย่าข้ามขั้นแล้ว

จะเสียเวลาไปเปล่าๆ

 เพราะจะไม่ได้ผลอะไร เช่นสติยังไม่มี

สมาธิยังไม่มีก็จะไปขั้นปัญญาเลย

ปัญญาก็จะไม่เป็นปัญญาจริง จะเป็นปัญญาปลอม

 คือจะเป็นสัญญาจะจำได้แต่เวลาที่จะใช้ก็ลืมนึกไม่ถึง

 เวลาเกิดความโลภ เกิดความโกรธ เกิดความหลงขึ้นมา

 ก็ลืมนึกถึงปัญญาไป อย่างนี้ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร

 มารู้ปัญญาตอนที่ยังไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง

แต่พอเกิดความโลภ เกิดความโกรธ

เกิดความหลงขึ้นมาก็ลืมปัญญาไป

กลับไปทำตามความโลภ ความโกรธ ความหลง

ก็จะไม่สามารถที่จะดับความทุกข์ได้

การที่จะไม่หลงไม่ลืมปัญญานี้จำเป็นจะต้องมีสติ

มีสมาธิก่อน ถ้ามีสติ มีสมาธิแล้วเวลาพิจารณาอะไร

 ก็จะติดอยู่กับใจ แล้วเวลาเกิดปัญหาขึ้นมา

เกิดความทุกข์ขึ้นมา

เกิดความโลภ ความโกรธ ความหลง

 เกิดความอยากขึ้นมาก็จะมีปัญญา

 เข้ามากำจัดความโลภ ความโกรธ ความหลง

 กำจัดความอยากต่างๆได้

ก็จะดับความทุกข์ที่ปรากฏขึ้นมาภายในใจได้

 ทำให้บรรลุมรรคผล นิพพานขั้นต่างๆ ได้

ดังนั้นถ้าเราจะเริ่มต้นเราต้องเริ่มต้นที่การเจริญสติ

ต้องเพียรสร้างสติขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง

ต้องทำตั้งแต่เวลาที่เรา ตื่นขึ้นมาเลย

 สติก็คือผู้ที่จะมาควบคุมสังขาร

ความคิดปรุงเเต่งนี่เอง

 ถ้าเราปล่อยให้สังขารความคิดปรุงเเต่งคิดไปเรื่อยๆ

 มันก็จะคิดไปในทางของกิเลสตัณหา

 เพราะว่าใจของปุถุชนนี้ยังอยู่ภายใต้อำนาจ

ของอวิชชา ปัจจยา สังขารา อวิชชา ปัจจยา

 สังขาราก็คืออวิชชาเป็นผู้ผลักดันเป็นผู้ชักจูงให้คิด

ไปในทางของกิเลสตัณหา ของความโลภ

ของความโกรธ ของความหลง

คือจะคิดให้ออกไปหาสิ่งต่างๆ ภายนอกใจ

ให้ออกไปหารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

ให้ไปหาความสุขจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

แล้วก็ให้เกิดตัณหาความอยาก

ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

 แล้วก็เกิดความทุกข์ตามมา

เวลาที่ได้ไม่ได้ตามความอยาก

หรือเวลาที่สูญเสีย สิ่งที่ได้มาไป

อันนี้ไม่ใช่เป็นทางที่จะพาไปสู่ความดับทุกข์

 แต่เป็นทางที่จะพาให้ไปสู่ความทุกข์เพิ่มมากขึ้นไป

ดังนั้นเราจึงต้องหยุดอวิชชา ปัจจยา สังขาราให้ได้

 ด้วยการเจริญธัมมา ปัจจยา สังขารา

คือให้ธรรมะคือสตินี้

 เป็นผู้ควบคุมสังขารให้หยุดคิด

ไปในทางกิเลสตัณหา ในทางควมโลภ

ในทางความอยากต่างๆ

ด้วยการบริกรรมพุทโธๆ เป็นต้น

 ถ้าสังขารมีแต่การบริกรรมพุทโธๆไป

 อวิชชา ปัจจยา สังขาราก็จะไม่สามารถ ทำงานได้

เพราะอวิชา ปัจจยา สังขาราก็จะต้องใช้สังขาร

ความคิดปรุงเเต่งอันเดียวกัน

ถ้าสังขารความคิดปรุงเเต่ง ปรุงเเต่งไปในทาง

การบริกรรมพุทโธๆ สังขารความคิดปรุงเเต่ง

ก็จะไม่สามารถปรุงเเต่งไปในทาง

อวิชชา ปัจจยา สังขาราได้

ไม่สามารถไปคิดถึงรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

ไม่สามารถไปคิดถึงลาภยศ สรรเสริญได้

พอไม่สามารถที่จะไปคิดถึงเรื่องราวต่างๆ ได้

ใจก็จะว่างจะเย็น จะสบาย

ถ้านั่งเฉยๆ ได้ ควบคุมความคิด

ให้อยู่กับการบริกรรมพุทโธต่อเนื่องได้

 ใจก็จะรวมเข้าสู่ความสงบได้ เป็นสมาธิได้

 เป็นอุเบกขาได้ พอใจเป็นอุเบกขา

ก็จะได้พบกับความสุขอีกรูปแบบหนึ่ง

 ที่เรียกว่าสันติสุข

 ซึ่งเป็นความสุขที่เหนือกว่าความสุข

ทั้งหลายในโลกนี้

ถ้าได้เข้าพบกับสันติสุขอันนี้แล้ว

ก็จะเกิดความเบื่อหน่าย

ต่อความสุขต่างๆ ที่เคยได้รับ

ผ่านทางลาภยศ สรรเสริญ

ผ่านทางตา หู จมูก ลิ้น กาย

จะเกิดศรัทธา จะเกิดฉันทะ วิริยะ

ที่จะเจริญที่จะรักษาอุเบกขา

รักษาความสุขที่เกิดจากความสงบนี้ให้อยู่ไปนานๆ

 ให้เป็นถาวร อันนี้ก็จะทำให้เกิดมีกำลังจิตกำลังใจ

ถ้าจิตได้รวมลงเป็นอุเบกขาแล้ว

จะรู้แล้วว่าความสุขที่แท้จริงที่ยิ่งใหญ่

 ที่ดีกว่าความสุขทั้งหลายนี้ไม่ได้อยู่ที่ภายนอกใจ

 แต่อยู่ที่ภายในใจ อยู่ที่ความสงบของใจนี่เอง

พอได้พบอย่างนี้แล้วก็จะมีความเพียรพยายาม

ที่จะดึงใจให้เข้าข้างในเพื่อที่จะได้รักษาความสุข

ที่เกิดจากความสงบอันนี้ไว้

เวลาออกมาจากความสงบก็จะใช้ปัญญาเป็นเครื่องมือ

ในการต่อสู้กับ ความอยากต่างๆ

ที่ยังไม่ได้ตายไปจากการเข้าไปในสมาธิ

 เวลาอยู่ในสมาธิความอยากต่างๆ

 ก็จะหยุดทำงาน ชั่วคราว เป็นเหมือนกับหินทับหญ้า

สมาธินี้เป็นเหมือนหิน หญ้านี้เป็นเหมือนกิเลสตัณหา

ความโลภ ความอยากต่างๆ เวลาเข้าไปในสมาธิ

ก็เหมือนกับเอาหินไปทับหญ้าเอาไว้

หญ้าก็จะไม่สามารถเจริญงอกงาม ขึ้นมาได้

 แต่หญ้าที่ถูกหินทับอยู่นี้ ยังไม่ตาย

เพราะยังมีรากอยู่ในดิน

เวลาเอาหินออกมาหินออกจากหญ้าไป

ไปรับน้ำ น้ำค้าง ได้รับน้ำฝนหญ้าก็จะงอกงาม

กลับคืนขึ้นมาใหม่ ฉันใด

เวลาที่จิตเข้าไปในสมาธิ เข้าไปในความสงบ

กิเลสตัณหาความโลภ ความโกรธ ความหลง

 ความอยากต่างๆ ก็จะหยุดทำงานชั่วคราว

ไม่สามารถทำงานได้ เพราะกิเลสตัณหา

ความโลภ ความโกรธ ความหลง

ต้องอาศัยสัญญา สังขารเป็นเครื่องไม้ เครื่องมือ

ในการทำงาน แต่เวลาที่จิตสงบ

สัญญา สังขารนี้จะไม่ทำงานก็เลย

 ไม่สามารถออกมาได้ แต่พอออกจากสมาธิมา

 จิตเริ่มคิดปรุงเเต่ง เริ่มใช้สัญญา สังขาร กิเลสตัณหา

ก็จะแย่งกับธรรมะทันที

ถ้าไม่มีสติไม่มีการบริกรรมพุทโธต่อ

หรือถ้าไม่มีปัญญา

คือการพิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

 อวิชชา ปัจจยา สังขาราก็จะกลับมาทำงานต่อ

ก็จะคิดถึงความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย

คิดถึงรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

แล้วก็จะเกิดตัณหาความอยาก

ที่จะเสพรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

 เกิดความอยากที่จะไปหา

ลาภยศ สรรเสริญ สุขต่ออีก

ดังนั้นถ้าออกมาจากสมาธิแล้ว

 ถ้ายังอยากจะรักษาความสงบความสุข

ที่ได้จากความสงบของสมาธินี้

ก็จำเป็นจะต้องใช้สติ

หรือใช้ปัญญารักษาไว้

ถ้ายังใช้ปัญญาไม่เป็นก็ใช้สติไปก่อน

 เช่นเวลาเข้าสมาธิใช้อะไรเป็นสติกำกับ

ก็ใช้อย่างนั้นต่อ

ถ้าใช้การบริกรรมพุทโธก็บริกรรมพุทโธต่อ

 ถ้าใช้การเฝ้าดูร่างกาย เรียกว่ากายคตาสติ

ก็เฝ้าดูร่างกายต่อ

อย่าปล่อยให้ใจไปคิดถึงเรื่องต่างๆ

ในอดีตก็ดี ในอนาคตก็ดี ให้จิตอยู่กับปัจจุบัน

 ให้สักแต่ว่ารู้ เช่นรู้การเคลื่อนไหวของร่างกาย

รู้การกระทำต่างๆ ของร่างกาย

 อย่างนี้ก็จะรักษาความสงบความอุเบกขาของจิต

ที่ได้จากสมาธิไว้ได้ แต่มันก็เป็นการรักษาไม่ถาวร

เวลาใดที่เผลอไม่ได้ควบคุมไม่ได้บริกรรมพุทโธ

 ไม่มีการจดจ่ออยู่กับการเคลื่อนไหว

กับการกระทำของร่างกาย

เผลอไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้

ก็จะเกิดความอยากขึ้นมา

 แล้วพอไปทำตามความอยาก

ก็จะทำให้อุเบกขา

 ความสงบที่ได้จากสมาธินี้จางหายไปได้

 แต่ถ้าอยากจะรักษาแบบที่จะให้อยู่อย่างถาวร

ก็จำเป็นที่จะต้องเจริญปัญญา

 ต้องรู้จักการพิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

 ในสิ่งต่างๆ ที่ใจไปอยากได้

 เช่นอยากได้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

ก็ต้องพิจารณาให้เห็นว่ารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

 เป็นอนิจจัง เป็นของชั่วคราวเป็นความสุขชั่วคราว

เวลาที่ความสุขชั่วคราวนี้หมดไป

ก็จะมีความทุกข์กลับมาแทนที่

เป็นอนัตตาก็คือไม่สามารถควบคุมบังคับ

ไปสั่งให้ความสุขชั่วคราวนี้เป็นความสุขถาวรได้.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

...........................

ธรรมะบนเขา วันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๕๗

“ต้องศึกษาให้ถ่องแท้”






ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ

Create Date :05 กันยายน 2559 Last Update :5 กันยายน 2559 11:23:31 น. Counter : 845 Pageviews. Comments :0